แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่วงนี้คำถามที่อยู่ในใจของคนทั้งประเทศหรือคนทั้งโลก ก็คือ เมื่อไหร่มันจะสิ้นสุดกันสักที มันในที่นี้คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid รวมทั้งมาตรการที่สืบเนื่องตามมา เช่น การล็อคดาวน์หรือว่าการปิดกิจการต่างๆเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม คำถามนี้จริงๆแล้วมันก็ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร เพราะว่ามันไม่อยู่ในอำนาจของเราที่จะควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งคิดไปยิ่งจะทำให้จิตใจห่อเหี่่ยว เครียด เพราะว่าแนวโน้มยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไร ยิ่งไปนึกถึงคำตอบนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว กลับจะทำให้เรารู้สึกแย่ลง ท้อแท้หนักกว่าเดิม
คำถามที่สำคัญกว่าคือ เราจะอยู่กับมันให้ดีที่สุดได้อย่างไรถ้ามีการแพร่ระบาดโควิด มาตรการต่างๆที่เกิดขึ้นตามมา เราจะอยู่กับมัน จะรับมืออย่างไรให้ดีที่สุดหรือว่าเป็นทุกข์น้อยที่สุด อันนี้สำคัญกว่าเพราะเป็นสิ่งที่เราทำได้ เราพอจะจัดการได้ ให้เกิดประโยชน์กับเราและคนรอบตัวได้มากที่สุดในเวลานี้
อย่างแรกที่เราจะต้องใส่ใจและตระหนักให้มาก คือ เราจะป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรค covid ได้อย่างไร ด้วยมาตรการป้องกัน ก็คือ การใส่หน้ากากอนามัย การวางระยะห่างทางสังคม รวมทั้งงดการเดินทางหรือว่าลดการเดินทางให้น้อยที่สุด เรียกว่าเป็นการตั้งการ์ด ต้องไม่ให้การ์ดตก หรือตั้งการ์ดตลอดเวลาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราทำได้และควรทำ อันนี้เป็นการตั้งการ์ดให้กับร่างกายของเรา แล้วก็ต้องมาดูแลรักษาใจหรือตั้งการ์ดให้กับใจด้วยที่ถือว่าสำคัญเพราะว่าขณะที่เราพยายามเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่ออกไปที่ไหน ร่างกายปลอดภัยก็จริงแต่ว่าจิตใจอาจจะเป็นทุกข์เพราะความเครียด ความเบื่อ เพราะว่าต้องอยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่งนานๆซ้ำซาก ทำอะไรก็จำเจอ ถ้าเราปล่อยให้ความเบื่อความเครียดครอบงำในสถานการณ์เช่นนี้ ก็อาจจะทำให้เราเผลอทำในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเองได้ต่อสุขภาพของเรา
เพราะหลายคนเวลาเบื่อ ก็ทนไม่ไหว ก็อยากออกไปเที่ยว ไปเจอผู้คน ไปเที่ยวห้าง กินอาหารนอกบ้าน เจอสิ่งแปลกๆใหม่ๆ ความเบื่อถ้าเราปล่อยให้มันครองใจ มันก็จะผลักให้เราทำในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เราลดการ์ดลง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เก็บตัวอยู่ที่บ้าน เราก็ควรจะรักษาใจของเรา ถ้าเรารู้สึกว่ามันซ้ำซากจำเจ ก็ควรพยายามหาอะไรใหม่ๆทำ คิดค้นสร้างสรรค์ทำกันเองบ้าง หรือว่าร่วมกับคนที่บ้านทำกิจกรรม จัดบ้าน ทำสวน ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซม เพื่อจะได้มีกิจกรรมใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากจำเจ และจะได้เกิดความสนุกสนานร่วมกัน หรือว่าจะทำในสิ่งที่ซ้ำเดิมจะทำให้ความรู้สึกใหม่ก็ได้ ด้วยความรู้สึกขอบคุณที่ได้ยังมีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้แม้ว่ามันจะซ้ำไปซ้ำมา แต่ยังดีที่เรายังได้ทำ เพราะนั่นแปลว่าเรายังมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ยังมีกำลังวังชา มีคนรักอยู่กับเรา
เพราะฉะนั้น หากว่าเรารู้จักวางจิตวางใจให้ดี ความเบื่อความเซ็งก็จะน้อยลง มันจะผลักไสให้เราไปทำมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติด covid ก็น้อยลง
นอกจากการป้องกันตัวไม่ให้โควิดมาทำร้ายสุขภาพของเราแล้ว สิ่งที่เราควรจะระลึกนึกถึงอยู่เสมอควบคู่ไปด้วยก็คือ เตรียมรับมือกับความเจ็บป่วย เตรียมรับมือกับโรค covid ถ้าหากว่ามันเข้ามาสู่ร่างกายของเราทำให้เจ็บป่วย เพราะไม่ว่าเราจะป้องกันตัวดีอย่างไร โอกาสที่เราจะติดเชื้อโควิดมันก็มีอยู่ ยิ่งในยามนี้มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เราจะรับมือกับมันอย่างไร อย่างแรกคือเตรียมใจว่า ตระหนักว่ามันเกิดขึ้นได้ โควิดอาจจะติด เข้าสู่ร่างกายของเราได้ หลายคนไม่นึกไม่ฝันว่าจะติดได้ แต่ก็ติดแล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราแต่ละคนจะติดเชื้อนี้ ก็มีความเป็นไปได้ จึงควรเผื่อใจไว้ว่าเรามีสิทธิ์ติดโรคนี้ แต่อย่าตื่นตระหนก เพราะว่า 80% ของคนที่ติดเชื้อโควิด เขาไม่ได้เป็นอะไรมาก ไม่ต้องถึงกับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และไม่ใช่ว่าติดแล้วต้องตายกันทุกคน แค่ 1% ที่ติดโควิดแล้วป่วยหนักจนถึงตาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราประมาท ความไม่ประมาทเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักว่าต้องเตรียมใจเสมอ แล้วก็ต้องเตรียมตัวด้วย ว่าเรามีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคนี้ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยๆเราควรมียาพื้นฐานเอาไว้ติดตัวหรือติดบ้านไว้ เช่น ฟ้าทะลายโจร ตามที่มีข้อมูลมากมายที่ชี้ว่าช่วยบรรเทาอาการได้ ยิ่งในยามนี้การจะพึ่งคนอื่นพึ่งระบบสุขภาพ อาจจะไม่พอ เพราะว่าตอนนี้โรงพยาบาล หมอ พยาบาลทำงานหนักกันมาก
ให้เราลองคิดถึงเรื่องการช่วยตัวเองเอาไว้ด้วย ว่าถ้าเกิดว่าเราป่วย หรือแค่ติดเชื้อโควิด แล้วเราต้องกักตัวที่บ้านหรือที่ไหน เราจะใช้ชีวิตอย่างไรใน 14 วัน แม้จะไม่ป่วย แต่ติดแล้ว ต้องกักตัว ทำการทำงานไม่สะดวกแล้ว เราจะทำอย่างไร ต้องคิดไว้บ้าง งานการต่างๆ หรือว่าการดูแลคนในบ้าน ลูกหลาน พ่อแม่ จะทำอย่างไร จะมีใครมาช่วยดูแลแทนเรา อันนี้คือสิ่งที่เราควรจะเตรียมตัวไว้เพื่อรับมือกับความเจ็บป่วยด้วยโรค covid
คราวนี้เราเตรียมรับมือกับมันแล้ว เตรียมตัวเตรียมใจแล้ว แต่ถ้ามันมีอันเป็นไป ติดเชื้อนี้จริงๆหรือว่าถึงขั้นเจ็บป่วย เราควรจะทำใจอย่างไร เรื่องการรักษาก็ต้องอาศัยหมอพยาบาลเป็นกำลังสำคัญ ถ้าไม่หนักก็ดูแลตัวเองด้วยยาพื้นฐาน นั้นคือรักษากาย แต่เรื่องรักษาใจมันก็สำคัญ เพราะว่าป่วยกายมันก็แย่อยู่แล้ว ถ้าเราป่วยใจด้วยก็ยิ่งหนักขึ้น และบ่อยครั้งป่วยใจมันสร้างความทุกข์ยิ่งกว่าป่วยทางกายเสียอีก ป่วยใจหมายถึงความตื่นตระหนก ความกลัว ความเครียด ความท้อแท้ ถ้าเกิดว่าเราต้องป่วยด้วยโรคนี้ต้องตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดเชื้อเขาไม่ได้ป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล บางคนก็ไม่ได้มีอาการมากมายเท่าไร เราติด covid แล้ว โอกาสที่จะตายหรือป่วยหนักมัน น้อยกว่าเป็นมะเร็ง หรือจะน้อยกว่าการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เสียด้วย
เพราะฉะนั้น เราต้องตั้งสติให้ดีไม่ตื่นตระหนก ก็จะช่วยลดความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา ก็มีแต่ความป่วยกาย แต่ว่าใจอาจจะเป็นทุกข์ไม่มาก ยอมรับความจริงเป็นสิ่งที่ช่วยได้ คือไม่โวยวายไม่ตีโพยตีพาย ว่าทำไมต้องเป็นฉัน ไม่โทษคนนั้นคนนี้หรือว่าโกรธเพราะคิดแต่ว่าคนนั้นคนนี้ทำให้เราป่วย ไม่มีประโยชน์ แถมยังทำให้เราเป็นทุกข์มากขึ้น ในขณะที่ร่างกายเราเจ็บป่วย เราก็พยายามรักษาใจของเราไปด้วยพร้อมๆกันกับการรักษากาย พยายามอยู่กับปัจจุบันหมายความว่า อย่าเพิ่งมองไปข้างหน้า บางคนป่วยอาจจะไม่ค่อยหนักเท่าไหร่แต่นึกถึงอนาคตข้างหน้าแล้วว่าอีก 3-4 วันจากนี้อาการจะรุนแรงมากขึ้น บางทีคิดไปถึงว่ามันจะตายไหมทั้งที่อาการก็ยังไม่ได้หนักอะไร ถ้าเราคิดข้ามช็อตมองไปไกลๆหรือไปพะวงอยู่กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น มันจะทำให้เราเป็นทุกข์ เครียดมากขึ้น อะไรที่ยังไม่เกิดก็อย่าเพิ่งพะวงคิดไปถึงมัน ถ้าอาการเรายังไม่มากแต่ไปปรุงแต่งหรือมโนไปแล้วว่าจะต้องป่วยหนักถึงขั้นตายเลยทีเดียว ใจก็เสีย สุขภาพก็จะย่ำแย่ลง
เพราะฉะนั้น อาตมาขอแนะนำใครที่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็พยายามอยู่กับปัจจุบัน รักษาใจให้อยู่เฉพาะวันนี้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ร่างกายจะมีทุกขเวทนายังไงก็พยายามอดทนอยู่กับมัน อย่าเพิ่งไปมโนไปว่ามันจะเลวร้ายไปกว่านี้ในวันพรุ่งนี้ในวันมะรืนนี้ เพราะมันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้
แต่สำหรับบางคนซึ่งอาการหนักหายใจลำบาก การรักษาใจไม่ให้ตื่นตระหนกสำคัญมาก เพราะว่าถ้าตื่นตระหนก การหายใจจะติดขัดมากขึ้น คนเราเวลาตระหนกตกใจการหายใจมันจะมีปัญหา แล้วคนที่ป่วยเป็นโควิด ปอดก็แย่อยู่แล้วถ้ามีอาการหนัก ถ้าตื่นตระหนกก็จะยิ่งหายใจลำบาก อาการก็จะทรุดลงได้เร็ว การรักษาสติ การครองสติเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งก็หมายถึงการดูแลรักษาใจให้ดี
มีบางท่านบอกว่า ตอนที่ป่วยหนัก จะไม่พยายามที่นับวันเวลาเลยว่าเมื่อไหร่จะออกจากโรงพยาบาล นั่นเป็นอนาคต แต่จะนึกถึงกิจกรรมที่จะต้องทำในแต่ละวันว่า จะไปอาบน้ำ จะไปต้มน้ำ หรือว่าจะไปซักผ้า จดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่กำลังจะทำ มันช่วยทำให้ใจไม่ไปพะวงถึงอนาคต ไม่ไปย้อนถอยหลังว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้านหรือว่าไปพะวงว่าอาการจะทรุดลงหนักกว่านี้หรือเปล่า รักษาใจให้ดี จุดสำคัญคือว่าให้มีสติ ไม่ตื่นตระหนก มันก็เป็นธรรมดาที่เราเจ็บป่วย มันจะมีความเจ็บปวด มันจะมีความติดขัด มันจะมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น
บางคนเป็นไข้เหมือนตกนรก มันเป็นไข้ราวกับไฟเผาร่างกายหายใจก็ลำบาก ในยามนี้ยาก็ช่วยได้แต่ว่าไม่เพียงพอ แต่ว่าสิ่งที่ช่วยคือใจ ทำอย่างไรเราจะรักษาใจเพื่อจะรับมือกับทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น รวมทั้งทุกขเวทนาทางใจ เช่น ความตื่นตระหนก ความกังวล หลายท่านพบว่าการมีจิตมุ่งจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขาศรัทธามันช่วยได้ ในยามที่เราทุกข์ ในยามที่มีความเจ็บปวด ในยามที่มีทุกขเวทนาบีบคั้น ถ้าใจเราไปจดจ่ออยู่กับความเจ็บปวด อยู่กับอาการทางกายที่ติดขัด จะยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้นทั้งกายทั้งใจ แต่ถ้าเอาใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นแทน เช่น บางคนมีศรัทธาในพระรัตนตรัย เป็นคนที่ฝักใฝ่ในบุญกุศล พอใจน้อมไปทางนั้น นอกจากจิตจะลืมความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับกายแล้ว ยังเกิดความรู้สึกปิติที่เกิดจากศรัทธาด้วย
อย่างคุณยายคนหนึ่ง แกรู้สึกปวด ยาก็เอามไม่อยู่ แกป่วยเป็นมะเร็ง มีพยาบาลคนหนึ่งมาชวนคุยถึงสิ่งที่คุณยายทำอะไรในชีวิตแล้วมีความสุขมากที่สุด คุณยายบอกว่าหล่อพระ ก็เลยชวนแกคุยเรื่องหล่อพระ แล้วถามคุณยายว่าจำได้ไหม วันนั้นยายใส่เสื้อสีอะไร นุ่งผ้าสีอะไร ยายจำได้หมดเลยแม้ผ่านไป 10 ปีเพราะเป็นสิ่งที่ยายปลาบปลื้มปิติมาก พยาบาลชวนสนทนาเรื่องหล่อไปประมาณ 10-20 นาทีได้ ปรากฏว่าความเจ็บปวดมันทุเลาเบาบางลงไปมากเลย ทั้งที่ทีแรกร้องครวญคราง พอมีคนชวนคุยให้นึกถึงสิ่งที่ตัวเองศรัทธา เรื่องของบุญกุศล เรื่องของพระ จิตใจเกิดปิติขึ้นมา พอเกิดปิติมันก็เหมือนมีสารความสุขที่หลั่ง ทำให้ความเจ็บปวดทุเลาเบาบาง ทั้งๆที่ตอนนั้นยาก็เอาไม่อยู่ อันนี้ก็แสดงว่า ศรัทธาหรือสิ่งที่เรามีความน้อมนำดิ่งไปในทางนั้น มันช่วยทำให้เรารับมือความเจ็บปวดได้
สมาธิก็ช่วยได้ ใครที่สามารถทำสมาธิหรือแม้จะไม่เคยทำสมาธิเลย แต่ว่าถ้าพยายามเอาใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองศรัทธา หรือว่าทำอะไรก็ตามที่ทำให้จิตแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้น เช่น บางคนขณะที่เจ็บป่วยอยู่ก็สวดมนต์ สวดมนต์ไม่ได้ก็เปิดเทปบทสวดมนต์แล้วก็น้อมนึกตามไปด้วย พอใจเป็นสมาธิกับการสวดมนต์ เขาก็รู้สึกว่าความเจ็บปวดมันทุเลาลง สำหรับบางคน เจ็บป่วยด้วยโรคปกติ ด้วยโรคอื่นๆ ถ้ายังพอหายใจได้สะดวกอยู่ เขาก็จะมีสมาธิอยู่กับการหายใจ มีสมาธิอยู่กับลมหายใจ ภาวนาพุท-โธ หายใจเข้า-พุท หายใจออก-โธ แต่คนที่ป่วยด้วยโรคโควิด หายใจลำบาก การตามลมหายใจก็จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้านึกถึงพุท-โธ ๆ อยู่เรื่อยๆ ก็ช่วยให้ใจเป็นสมาธิได้ ทำให้จิตวางจากความเจ็บความปวด
เพราะถ้าจิตไม่มีอะไรทำ มันก็จะไปจดจ่ออยู่ตรงที่เจ็บที่ปวดนั่นแหละ ก็ทำให้ปวดทั้งกายปวดทั้งใจ แต่ก็จิตไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นแทน ถ้าหายใจได้ก็จดจ่ออยู่กับลมหายใจ ถ้าหายใจลำบากก็ไปจดจ่ออยู่กับพุท-โธ อยู่กับบทสวดมนต์เท่าที่จะทำได้ หรือว่าอยู่กับนิ้วที่กำลังคลึง หายใจลำบากแต่ว่าพอคลึงนิ้วได้ พลิกมือไปพลิกมือมา เอาใจไปอยู่กับมือที่พลิกไปพลิกมา เกิดเป็นสมาธิ ก็ช่วยทำให้จิตวางจากความเจ็บปวดได้ การแผ่เมตตาก็ช่วยได้เพราะว่าในขณะที่ปวด มันเป็นธรรมดาที่เราจะมีความโกรธเกิดโทสะขึ้นมา เกิดความรู้สึกลบอยากจะผลักไสความเจ็บปวด อย่างน้อยๆ เกิดอาการหงุดหงิด แต่ถ้าปวดมากๆมันจะโกรธ แต่ถ้าเราแผ่เมตตา จิตใจจะสงบเย็น มันจะบรรเทาความปวดได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นโรคสะเก็ดเงิน เป็นสะเก็ดเงินที่แรงมากจนกระทั่งต้องนอนอยู่บนใบตอง เธอก็อยู่กับโรคนี้ได้โดยที่ไม่ได้มีความทุกข์ทรมานมาก เธอชอบทำบุญ ฝากคนไปทำบุญ พอทำบุญเสร็จ เวลาที่ปวดมากๆก็จะพูดกับสะเก็ดเงินว่า สะเก็ดเงินถ้าเธอจะไป ก็อย่าลืมเอาบุญกุศลของฉันไปด้วย แต่ถ้าเธออยู่ เธอต้องระวังนะเพราะว่ายามันแรงมาก เธออาจจะตายได้ น้ำเสียงของเธอไม่ได้มีทีท่าของความโกรธ แต่เป็นน้ำเสียงหรือความรู้สึกที่เมตตา ทั้งที่เธอเจ็บปวดเพราะโรคสะเก็ดเงิน แต่ว่าเธอก็วางใจให้เป็นกุศล แทนที่จะโกรธสะเก็ดเงิน ก็แผ่เมตตาให้
ถ้าเราป่วยด้วยโรคโควิดแล้วรู้สึกโกรธก่นด่าเชื้อโรคนี้ เราก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น หรือเกิดความหงุดหงิดกับร่างกาย อวัยวะที่มันไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม ปอดที่ไม่ทำงาน หรือว่าอวัยวะส่วนอื่นที่มันผันผวนแปรปรวนไป ทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้น เพราะฉะนั้นรักษาใจ อย่าไปโกรธเขา พยายามแผ่เมตตาให้เขา เพราะว่าเขาก็พยายามที่จะช่วยเราอยู่แล้ว อย่างสุดความสามารถที่จะฟื้นคืนความเป็นปกติให้เรากลับมาเป็นปกติเพื่อให้มีสุขภาพเหมือนเดิม หรือถ้าเราสามารถจะแผ่เมตตาแม้กระทั่งเชื้อโควิดได้ มันก็ไม่ได้ดีต่อโควิดเท่ากับดีต่อจิตใจของเรา
การมีสติสำคัญ แต่ว่าสติในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการที่ไม่ตื่นตระหนกตกใจอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงว่าการรู้จักรับมือกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ไปยึดติดถือมั่นกับมัน คนที่ฝึกสติปัฏฐานจะทราบดีอยู่แล้วว่า สติช่วยทำให้เห็นความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งทุกขเวทนาที่ปรากฏ โดยที่ไม่เข้าไปยึดติดถือมั่นกับมัน
ครูบาอาจารย์อย่างหลวงพ่อคำเขียน ซึ่งเป็นหลวงพ่อของอาตมาบอกว่าเห็น อย่าเข้าไปเป็น เห็นความปวด อย่าเป็นผู้ปวด ความเจ็บปวดมันไม่ได้ลงโทษเราเท่ากับความเป็นผู้ปวด ความปวดมีไว้ดู มีไว้ให้เห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น ความปวดไม่ได้ทำร้ายจิตใจเรา ถ้าเราเห็นมัน แต่ที่เราเป็นทุกข์มากขึ้นเพราะว่าเข้าไปเป็นผู้ปวดคือจิตเข้าไปยึดความปวดเอาไว้ ลองสังเกตดูเวลาเราปวด เมื่อยตรงไหน จิตเข้าไปจดจ่อตรงนั้นแหละ แล้วมันจะไม่ใช่แค่กายปวด มันจะรู้สึกว่าเราเป็นผู้ปวด มีตัวกูผู้ปวดเกิดขึ้น ตอนนี้เราเข้าไปเป็นผู้ปวด
ถ้ามีสติ มันจะเห็นความปวด แต่ว่าไม่เป็นผู้ปวด ความปวดก็อันหนึ่ง แต่ว่าจิตไม่เข้าไปยึดติด จิตไม่เข้าไปแบก ถ้าจิตเข้าไปยึดเข้าไปแบกไปจดจ่อเมื่อไร มันจะทุกข์ทรมานมากเลย แต่จิตแค่เห็นเฉยๆ มันจะไม่เป็นผู้ปวด มีทุกขเวทนาแต่ไม่มีทุกข์ทรมาน บางคนไม่ได้มีประสบการณ์การปฏิบัติธรรม แต่เขาก็พยายามปลุกปลอบจิตใจให้คลายเครียด ให้คลายจากความวิตกกังวล ไม่จดจ่ออยู่กับความปวดหรือว่าปรุงแต่งไปในทางลบทางร้ายเกี่ยวกับอาการของตัว วิธีการเข้าคือก็ฟังเพลงจาก YouTube โทรศัพท์มือถือ ใจไปจดจ่อที่เสียงเพลง ช่วยกล่อมใจไม่ให้เครียดไม่ให้วิตกกังวล อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่มันทำได้ และเดี๋ยวนี้เราก็โชคดี ที่แม้ว่าจะต้องเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่ว่าในฐานะผู้ที่ติดเชื้อโควิด หรือผู้เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด อย่างน้อยเราก็มีโทรศัพท์มือถือเป็นเพื่อนที่ช่วยในการรักษาใจ ช่วยกล่อมจิตกล่อมใจไม่ให้ทุกข์ทรมานได้ รวมทั้งใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการติดต่อคนที่เรารัก ญาติสนิทมิตรสหายที่มีความห่วงใย กำลังใจของคนเราซึ่งติดต่อกับเราผ่านโทรศัพท์มือถือและผ่าน LINE มันช่วยทำให้หลายคนมีกำลังใจที่จะสู้ มีกำลังใจที่จะอดทนต่อความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยได้
อันนี้ก็เป็นวิธีการย่อๆ ในการรับมือกับความเจ็บปวดหรือเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดทุกขเวทนามากขึ้น ประการต่อมา นอกจากการทำใจรับมือกับความเจ็บป่วยแล้ว อาตมาคิดว่าแม้ว่าในสถานการณ์ที่ปกติ ไม่ได้มีโควิดแพร่ระบาด สิ่งที่อาตมาพูดก็สำคัญก็คือการเตรียมตัวเผชิญกับความตาย สิ่งนี้มันจำเป็นไม่ใช่เฉพาะกับคนที่ป่วยไม่ว่าป่วยโรคโควิด หรือป่วยด้วยโรคอื่น เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ไตวาย แม้คนที่มีสุขภาพดี ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรก็ต้องนึกถึงตรงนี้ไว้บ้างหรือว่าควรจะนึกถึงบ่อยๆเพราะว่าในที่สุดเราทุกคนก็ต้องตาย อาจจะไม่ตายด้วย covid ก็จะตายด้วยโรคอื่น ไม่ตายในวันนี้ วันพรุ่ง ก็จะตายในวันข้างหน้า ในเมื่อมันคือความจริงของชีวิตที่หลีกหนีไม่พ้น มันจะดีกว่าไหมถ้าเราระลึกถึงสิ่งนี้อยู่เสมอ ยิ่งในสถานการณ์ตอนนี้ มันเห็นได้ชัดว่าความตายมันใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที
ที่จริงความตายใกล้ตัวเราอยู่แล้วแม้จะไม่มีโรคโควิด ทุกวันนี้คนที่ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์บนท้องถนน วันหนึ่งๆก็ไม่ได้น้อยไปกว่าที่ตายเพราะโรคโควิด ในปัจจุบันอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำคือวันละ 60-70 คน ฉะนั้นจะว่าไป แม้ไม่มีโควิดก็ตายด้วยสาเหตุอื่นอยู่แล้ว โควิดมาเตือนให้เราเห็นว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะมีสุขภาพดีหรือว่าติดเชื้อโควิด หรือกำลังป่วยด้วยโรคโควิด การเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญความตายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
การเตรียมอย่างแรกคือ การเตรียมใจ ระลึกว่า หนึ่ง ในที่สุดเราทุกคนต้องตาย สอง เราจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว มันมีภาษิตทิเบต พูดดีมากว่า ระหว่างพรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน อย่าไปคิดว่ามีพรุ่งนี้แล้วจะมีชาติหน้า อย่าไปคิดว่าจะมีชาติหน้าหลังจากวันพรุ่งนี้ บางทีพ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้าเลยก็ได้ อันนี้มันไม่เกี่ยวกับโรคโควิดเลย แต่มันมาย้ำเตือนความจริงตรงนี้ให้เราเห็นชัดมากขึ้น ในเมื่อเราไม่รู้ว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของเราหรือไม่ เพราะฉะนั้น การมีชีวิตราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะเดียวกัน การเตือนใจให้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ก็ควรจะทำอยู่เสมอ การเจริญมรณสติเป็นประจำจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราสามารถรับมือกับความตาย ถ้ามันมาแบบปุบปับได้ เจริญมรณสติทุกวันก่อนนอนคือ ระลึกว่า สักวันหนึ่งเราต้องตายแล้วจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจจะ 50 ปีข้างหน้าหรือ 10 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเดือนหน้าหรือพรุ่งนี้ หรืออาจจะคืนนี้ก็ได้ ใครจะไปรู้ การเจริญมรณสติแบบนี้มันช่วยทำให้เรารับมือความตายได้ดีขึ้น เมื่อมันมาถึงก็จะไม่ตื่นยตระหนกมากเพราะว่าเราเตรียมใจเผื่อไว้แล้วเป็นประจำ
ยิ่งโควิดระบาดอย่างนี้มันก็ยิ่งย้ำเตือนว่าเราควรนึกถึงความจริงตรงนี้อยู่เสมอ ทำใจยอมรับและคุ้นชินกับความตาย จะพิจารณาบทอภิณหปัจจเวกก็ยิ่งดี แปลเป็นไทยว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
ถ้าเราเตรียมใจตรงนี้ เมื่อความตายมาถึงไม่ว่าเพราะโรค covid หรือสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ เราจะตื่นตระหนกตกใจน้อยลงเราจะทุรนทุรายน้อยลง คราวนี้นอกจากเตรียมใจแล้ว ที่ควรทำควบคู่กับการเตรียมตัวคือการทำหน้าที่ ทำกิจต่างๆให้ดีก่อนที่จะไม่มีโอกาส เช่น ทำดีที่สุดกับคนที่เรารัก ให้ความใส่ใจกับเขา ดูแลเขา ฟังเขามากๆอย่าเอาใจตัวเองเป็นใหญ่ ถ้าเราทำดีที่สุดกับคนที่เรารัก ถึงเวลาที่เรามีอันเป็นไป เราก็จะไม่ห่วงแล้วจะไม่เสียใจมาก
นอกจากการทำดีกับคนที่เรารักแล้วนั้น หน้าที่สำคัญอะไรที่เราควรทำก็รีบทำ อย่าผัดผ่อน เรามีหน้าที่ที่ต้องทำหลายอย่าง ไม่ได้หมายถึงอาชีพการงาน การประกอบอาชีพอย่างเดียว ยังหมายถึงอย่างอื่นด้วย ในการทำดีกับคนที่เรารักก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง แต่ว่าหน้าที่หลายอย่างเป็นสิ่งที่ดี ที่เราก็ต้องทำ เช่น การทำพินัยกรรม การสั่งเสีย ถ้าเรามีโอกาสทำแต่เนิ่นๆไม่ผัดผ่อน มันก็จะช่วยทำให้เราพร้อมตายได้มากขึ้น
พยายามเตือนใจตัวเองว่า เราจะใช้ชีวิตเหมือนกับว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย เราจะทำอะไรบ้าง หรือเราควรจะทำอะไรบ้าง มันจะมีคำตอบเอง แล้วเราจะพบว่า หลายสิ่งหลายอย่าง มันไม่ควรทำ หรือไม่ต้องเร่งรีบทำ แต่หลายสิ่งหลายอย่างเราควรจะทำ เช่น การฝากภาระหน้าที่การงานให้กับคนที่เรารัก บอกเขา สั่งเสียเขาในขณะที่เรามีสุขภาพดี
ที่พูดมานี้ ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคโควิดหรือไม่ ก็ควรจะตระหนักอยู่เสมอ ประการสุดท้าย เตรียมใจในวาระสุดท้าย โดยเฉพาะคนที่ป่วยด้วยโรค covid แล้วอาการหนักขึ้นได้เรื่อยๆ หรือไม่ก็โรคอื่น เช่น มะเร็ง พระพุทธเจ้าเมื่อทรงนำทางคนใกล้ตาย ก็มีวิธีที่ทรงปฏิบัติอยู่ คล้ายๆกันในหลายกรณีก็คือ
น้อมใจให้เขาก็ระลึกถึงสิ่งที่เขาศรัทธาคือพระรัตนตรัย น้อมใจให้นึกถึงความดีที่เขาได้ทำ ศีลที่เขาได้บำเพ็ญ แล้วก็น้อมใจให้เขาปล่อยวางทุกสิ่ง พูดย่อๆให้จำง่ายๆคือ ให้นึกถึงพระ แล้วก็ละทุกสิ่ง ในยามที่ใกล้ตายมันจะมีทุกขเวทนาบีบคั้น มีความกลัว ความตื่นตระหนก แต่ถ้าเรานึกถึงสิ่งที่เราศรัทธาในบุญกุศลที่เราได้บำเพ็ญ ความกลัวจะน้อยลง ความตื่นตระหนกจะเบาบางลง แล้วเราจะมั่นใจว่าเราจะไปดี เพราะว่า ได้น้อมถึงสิ่งที่เป็นกุศล รวมทั้งได้น้อมถึงความดีที่ได้ทำ บุญกุศลที่ได้บำเพ็ญ ฝึกใจน้อมนึกถึงสิ่งเหล่านี้เอาไว้ แม้จะยังไม่เจ็บไม่ป่วย เพราะพอถึงเวลาเจ็บป่วย หรือใกล้ตาย มันจะตระหนกตกใจ บางทีลืม ตั้งสติไม่ได้
แต่ถ้าเราทำอยู่สม่ำเสมอในขณะที่เรามีสุขภาพดี พอถึงเวลาที่จะหมดลมหรือระยะสุดท้าย เราจะจำได้ว่าจะวางจิตไว้อย่างไร นึกถึงพระรัตนตรัย หมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ที่เรานับถือ นึกถึงบุญบารมีของท่านเหล่านั้นที่จะช่วยปกปักรักษาให้เราได้พบกับความสงบในวาระสุดท้าย รวมถึงความดีที่ได้ทำ อาจจะใช้การภาวนาพุทโธเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธองค์ ถ้าใจเราอยู่กับพุทโธ จิตใจก็จะมีปลาบปลื้ม มีความอบอุ่น มีความมั่นคง และจะกลัวความตายน้อยลง
นอกจากนึกถึงพระ แล้วก็ให้ละทุกสิ่ง เริ่มตั้งแต่สิ่งที่เรารัก คนที่เรารัก ลูก หลาน พ่อแม่ คู่ครอง ถ้าเรามีความห่วงอาลัย เขาน้อยเท่าไร เราก็จะไปง่ายไปสงบ เพราะฉะนั้น การปล่อยวางคนที่เรารัก เป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะปล่อยวางได้ก็ต่อเมื่อเราทำดีที่สุดกับคนที่เรารักแล้ว ถ้าเราทำดีจนที่ไม่มีอะไรที่ค้างคา การปล่อยวางก็จะง่าย แต่ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย มัวแต่ทำงานทำการหรือมัวแต่สนุกสนาน ถึงเวลาเราจะไป เราจะไปลำบากเพราะว่าเรายังห่วงเขาอยู่ ถ้าเราทำหน้าที่ที่พึงต่อเขาจนสำเร็จเสร็จสิ้น มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องห่วง หรือมีห่วงก็น้อยลง และพร้อมที่จะไป พร้อมที่จะปล่อยวางได้ง่าย
งานการอะไรที่สำคัญก็รีบๆทำ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ค้างคา พอจะตายก็มานึกเสียใจหรือเป็นห่วงว่ายังไม่ได้ทำ ห่วงว่ายังไม่ได้ทำพินัยกรรม ห่วงว่ายังไม่ได้สั่งเสีย ห่วงว่ายังไม่ได้จัดการเรื่องการเงินให้กับลูกหลาน มันก็ทำให้ตายไม่สงบได้ แต่ถ้าเราสั่งเสีย จัดการเรียบร้อย มันก็หมดห่วง ถึงเวลาเราจะไป ก็ไปง่าย ไปอย่างเบา
แต่นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรายึดแล้วควรจะปล่อยวางให้หมดให้สิ้นเชิง สิ่งนั้นคือสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเราคือ ความโกรธ ความกลัว ความรู้สึกผิด หลายคนตายไม่ได้เพราะยังมีความโกรธ ความแค้น หลายคนตายด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะยังมีความรู้สึกผิด รู้สึกเสียใจที่ยังไม่ได้ขอโทษใครบางคน แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้จักให้อภัยแต่เนิ่นๆ หรือว่ารู้จักขอโทษเขาในขณะที่เรายังสุขสบายดี มันก็ไม่มีอะไรค้างคาใจ
ฉะนั้น ที่อาตมาบอกว่า ให้ทำสิ่งที่ดีที่สุด ให้ทำ หรือว่าอยู่เสมือนว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา ก็รวมถึงว่า ถ้าเรามีเรื่องค้างคาใจกับใคร ผิดใจใคร ก็พยายามที่จะเคลียร์ความรู้สึกนั้น ขอโทษเขา หรือให้อภัยเขา เพราะว่าถึงเวลาที่เราจะไป เราก็จะไปได้ดี ไปอย่างสงบ ไปด้วยใจที่เบา อันนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้ เพื่อที่เราจะอยู่กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างดีที่สุดหรือว่าเป็นทุกข์น้อยที่สุด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมทาง Facebook Live วันที่ 2 กรกฏาคม 2564 จัดโดยเสมสิกขาลัย