แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อีกไม่ถึงเดือนจะเข้าพรรษาแล้ว เตรียมคิดได้แล้วว่า ในพรรษานี้เราจะทำอะไรดีๆที่เป็นกุศลให้เกิดกับชีวิตของเรา หรือกับคนที่อยู่รอบข้าง หรือไกลออกไปก็ได้ เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับชาวพุทธ
พูดถึงการเข้าพรรษาทำให้นึกถึงสมัยพุทธกาล มีสมัยหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่เชตวันวิหาร เมืองสาวัตถี จนกระทั่งใกล้เข้าพรรษา ท่านตั้งใจไปประทับจำพรรษาที่อื่น ปรากฏว่าพอพระเจ้าปเสนทิโกศลทราบเข้า ก็อยากกราบนิมนต์ให้พระองค์อยู่ประทับจำพรรษาที่เชตวันต่อ ไปทูลขออาราธนานิมนต์ พระองค์ก็ปฏิเสธ เพราะว่าเตรียมตัวแล้ว เตรียมตัวที่จะเดินไปประทับที่อื่น ฝ่ายอนาถบิณฑิกเศรษฐีพอทราบ ก็ร้อนใจ ไปกราบทูลนิมนต์ให้เสด็จอยู่ที่เชตวันวิหารต่อ แต่พระองค์ก็ยังคงไม่เปลี่ยนใจ บังเอิญนางทาสีคนหนึ่งของอนาถบิณฑิกะชื่อ นางปุณณาทราบเข้าก็เลยขออาสา ว่าจะไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จประทับที่เชตวันต่อ ไปขอจากอนาถบิณฑิกะ คนอื่นพอทราบเข้าก็คิดว่า ขนาดพระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลนิมนต์ พระพุทธองค์ก็ยังไม่เปลี่ยนใจเลย แล้วนางปุณณาซึ่งเป็นนางทาสี จะทำได้อย่างไร
แต่ว่านางก็ตั้งใจแล้วก็เลยรีบเดินไป แล้วก็ไปทันขบวนของพระพุทธองค์ ซึ่งกำลังจะเดินออกจากสาวัตถี แล้วก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นคนยากไร้ ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในการเลี้ยงชีพ ไม่มีความสามารถในการถวายทานแก่พระพุทธองค์ได้ แต่ถ้าพระองค์จำพรรษาที่เชตวัน แต่ถ้าหากพระองค์จะจำพรรษาที่เชตวัน ข้าพระองค์ก็รับปากว่า จะบำเพ็ญธรรม จะให้ทาน จะรักษาศีล ตลอดทั้งพรรษาเลย
ปรากฏว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ฟังเช่นนี้ก็เปลี่ยนใจ ตกลงจำพรรษาที่เชตวันต่อ ซึ่งคนก็ประหลาดใจมาก ขนาดพระเจ้าปเสนทิโกศล ยังทำไม่ได้เลย แต่ว่านางปุณณทาทำได้ พอได้เวลาจำพรรษาเข้าพรรษา นางปุณณาก็ได้ปฏิบัติตามที่ได้รับปากเอาไว้ รักษาศีล ฟังธรรม และทำมากกว่านั้นคือเจริญภาวนาไปด้วย ปรากฏว่าในพรรษานั้นนางปุณณทาก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
ผลจากการที่นางสามารถทูลเชิญนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาที่ใช้ตะวันได้ ก็ได้รางวัลจากอนาถบิณฑิกะคือให้นาเป็นอิสระ เป็นเสรีชน นางก็เลยถือโอกาสบวชเลยเป็นภิกษุณี ทั้งปฏิบัติธรรมและฟังธรรม จากพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ในที่สุดก็บรรลุอรหันตผล เป็นพระอรหันต์
อันนี้ก็เป็นเกร็ดเล็กๆที่น่าคิดเหมือนกัน ว่าพระพุทธเจ้าทรงรับฟังคำอาราธนาของนางทาส ในขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี ทูลเชิญอาราธนาไม่สำเร็จ แต่ว่านางทาสีซึ่งเป็นคนเล็กคนน้อย กลับทำให้พระองค์เปลี่ยนพระทัยได้ ในแง่หนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้มองคนด้วยฐานะ จะเป็นพระราชา จะเป็นเศรษฐี หรือยาจกเข็ญใจ ก็มีความสำคัญเท่าๆกัน
การที่พระองค์ทรงรับอาราธนาของนางปุณณานั้น แสดงว่าพระองค์มีเมตตากรุณาก็ได้ แต่ว่าถ้ามองให้ลึก เป็นเพราะพระองค์เห็นแก่พระธรรม อยากจะส่งเสริมธรรมให้เกิดขึ้นแก่นางปุณณา นางปุณณาเป็นปุถุชนแต่ว่ามีความศรัทธา ในเมื่อนางปุณณารับปากว่า ถ้าพระองค์จำพรรษาที่นี้ นางจะทำความเพียร รักษาศีล
พระองค์ทรงเคารพพระธรรม ไม่เพียงแต่มีพระกรุณาต่อนางปุณณา แต่ทรงเคารพพระธรรม และยังส่งเสริมธรรมให้เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม จะเป็นพระราชาหรือยาจก มีคุณค่าทั้งนั้น ในเมื่อการส่งเสริมธรรมะของพระองค์มีความหมาย พระองค์ก็เลยรับปาก อันนี้แง่หนึ่งก็เป็นการแสดงความเคารพพระธรรมของพระองค์
พระพุทธองค์ทรงเป็นมหาบุรุษ แต่ว่าทรงมีความเคารพพระธรรมมาก ไม่ว่าธรรมนั้นจะอยู่ในใจของใครก็ตาม แม้กระทั่งการแสดงธรรม จะเป็นปุถุชนหรือพระสาวก พระองค์ก็เคารพ เวลาพระสาวกแสดงธรรมในอาคารที่เรียกว่าสังขาทาน พระองค์จะเสด็จเข้าไปพอดี พอรู้ว่ามีการแสดงธรรม พระองค์ก็หยุด แล้วก็รอ ยืนรอ แล้วก็ฟังธรรมไปด้วย พระองค์ไม่เข้าไปเพื่อให้การแสดงธรรมสะดุด บางครั้งพระองค์ยืนรอเป็นชั่วโมงชั่วโมงเลยเพราะว่าการแสดงธรรมยืดยาวมาก ยืนจนเมื่อยเลย แต่พระองค์ก็ทำเพราะเคารพพระธรรม
พวกเราฟังเรื่องนี้แล้วก็ ให้ระลึกว่าขนาดพระองค์ยังเคารพพระธรรมเลย แล้วเราจะไม่ทำเช่นนั้นหรือ เคารพพระธรรมไม่ใช่หมายถึงการกราบไหว้การบูชาด้วยอามิส หรือว่าการยกขึ้นหิ้ง แต่หมายถึงการน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นกับตน รวมถึงการส่งเสริมให้คนอื่นมีธรรมะด้วย ถ้ามีช่องทางใดที่เขาจะมีธรรมะมากขึ้น หรือธรรมะจะเจริญงอกงามก็ส่งเสริมเขา อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงทำเป็นแบบอย่าง ทรงตัดสินใจจำพรรษาเพราะเป็นโอกาสที่จะทำให้นางปุณณาได้บำเพ็ญหรือเจริญปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังตามที่รับปาก ถ้านางไม่รับปากหรือเสนอแบบนี้ พระองค์ก็คงไม่สนใจ แต่เมื่อนางรับปาก จะรักษาศีลจะปฏิบัติธรรม แม้จะเป็นแค่ปุถุชนคนเล็กคนน้อย แต่ถ้าหากว่าธรรมะสามารถจะเจริญงอกงามในใจเขาได้ มีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นได้ พระองค์ก็ส่งเสริม
เราก็ควรจะเจริญรอยตามพระองค์ด้วยการเคารพพระธรรม น้อมนำธรรมะมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นกับตนไม่ต้องรอ เข้าพรรษาเลยก็ได้ ทำเดี๋ยวนี้ และก็มีช่องทางใด โอกาสใดที่จะส่งเสริมผู้อื่น ให้เขามีธรรมะก็ทำ เพราะว่าขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้ว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน ก็ล้วนแต่มีคุณค่าทั้งนั้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 26 มิถุนายน 2564