แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันหนึ่งๆ เรามีหลายอย่างที่ต้องทำหรือว่าตั้งใจจะทำ แต่เราก็มักจะพบว่า มีหลายอย่างที่ไม่ได้ทำ ทั้งๆ ที่ตั้งใจ เพราะว่าลืม ลืมทำ ลืมกินยาลืม ลืมเอาผ้าห่มไปซัก ลืมอวยพรวันเกิดเพื่อน หรือว่าลืมทำสมาธินั่งสมาธิ แต่ว่าสิ่งที่เราไม่ค่อยลืมเท่าไร ก็คือ การทำสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตร อะไรที่เป็นกิจวัตรเราไม่ค่อยลืม เช่น ถูฟัน อาบน้ำ กินข้าว รวมทั้งมาทำวัตรสวดมนต์ อะไรที่ลืมบ่อยๆ ก็มักจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยทำเป็นกิจวัตร นาน ๆ ทำที หรือว่าเพิ่งมาเริ่มทำ ยังไม่เป็นกิจวัตรเสียทีเดียว แต่อะไรที่เป็นกิจวัตร เราไม่ลืม เพราะอะไร เพราะว่าเราทำบ่อยๆ มันคุ้นเคย ถึงเวลาเราก็รู้แล้วจะต้องทำอะไร ไม่ค่อยลืมไม่ค่อยพลาด
แต่ว่าอะไรก็ตามที่พอเราทำเป็นกิจวัตร เป็นความคุ้นเคยแล้ว มันจะลืมอีกแบบหนึ่ง ก็คือตัวลืม จะลืมบ่อย ไม่ลืมทำแต่ว่าลืมตัว ลืมตัวที่ว่าหมายความว่าลืมกายลืมใจ เช่น ขณะที่เราอาบน้ำ ถูฟัน ใจก็ไม่รู้ไปไหน ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ตอนนั้นไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเป็นอัตโนมัติไปแล้ว ใจไปอยู่กับสิ่งอื่น อาจจะไปนึกถึงสิ่งที่ต้องทำในวันถัดไป นึกถึงงานการที่รออยู่ข้างหน้า นึกถึงปัญหาที่จะต้องเจอหรือคาดว่าจะต้องเจอ ไม่ได้ทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว เรียกว่าลืมตัว
เหมือนกัน เวลาเรามาทำวัตรสวดมนต์ ยิ่งเราสวดจนคล่องสวดจนชำนาญ จำได้ทุกคำทุกประโยค แต่พอสวดไปๆ ก็ลืมตัวเสียแล้ว ใจก็ลอยไปคิดโน่นคิดนี่ ปากจำได้ว่าสวดอะไร สวดไม่ผิด แต่ว่าลืมกายลืมใจไม่ได้ลืมบทสวดมนต์ แต่ว่าลืมกายลืมใจคือ ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะใจตอนนั้นมันล่องลอย ใจไม่รู้ว่าอยู่ไหน กินข้าวก็เหมือนกัน ยิ่งเป็นเวลาที่เราลืมตัวได้ง่ายที่สุดเลย ปากเคี้ยวไป แต่ใจก็ไหลไปในอดีตบ้าง ลอยไปอนาคตบ้าง อันนี้เรียกว่าลืมตัว
มันก็เป็นธรรมดา เวลาเราทำอะไรที่คุ้นเคยที่เป็นนิสัย หรือเป็นกิจวัตร คล้ายๆว่าร่างกายเรา โดยเฉพาะสมอง นี้มันก็สามารถที่จะพัฒนาวงจรที่ทำให้เราทำอะไรได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้มือใช้ไม้ใช้ขาใช้แขนใช้ปาก หรือว่าดึงเอาข้อมูลต่างๆออกมา ทำให้ทำสิ่งต่างๆได้ถูกต้อง อย่าว่าแต่ทำกิจวัตรได้ถูกต้อง แม้กระทั่งคนที่ละเมอ คนละเมอนั้น ใจเขาหลับอยู่ ไม่ได้ตื่นตัวเต็มที่ แล้วก็สามารถที่จะเดินออกจากบ้าน หรือออกจากห้องก็ได้ บางทีเดินลงบันไดก็ได้ บางทีเดินไปเปิดเอาอาหารในตู้เย็น ทั้งหมดนี้ทำโดยไม่รู้ตัว แต่ว่าที่มันทำได้ถูก เพราะว่าสมองก็ดี ระบบประสาทของเราก็ดี มันได้ก่อรูปก่อร่างจนกระทั่งมันเป็นวงจรที่ทำให้ทำอะไรได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ผิดพลาด
แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะว่าความผิดพลาดหลายครั้ง ก็เกิดขึ้นจากการที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวในสิ่งที่ทำ และที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเพราะว่ามันเป็นความเคยชินไปเสียแล้ว ยิ่งขับรถ เราขับรถจนชำนิชำนาญบนเส้นทางที่เราคุ้น ใจมันจะลอยได้ง่าย ขับรถไปคุยโทรศัพท์ไป หรือว่าขับรถไป คิดโน่นคิดนี่ไป บางทีก็หลง บางทีก็เลย แล้วก็บางครั้งก็เกิดอุบัติเหตุ ขับรถมาเส้นทางสายนี้ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ก็เลยประมาท ยิ่งใจลอยเข้าไปใหญ่ เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจำนวนมากก็เกิดบนเส้นทางที่คุ้นเคย หรือเพราะขับรถจนคุ้นเคย คนที่เป็นมือใหม่หัดขับ แทบจะไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุเท่าไร มีความใส่ใจเต็มที่ ระมัดระวังเต็มที่
ทำนองเดียวกันคนที่เข้าห้องน้ำ เราเข้าห้องน้ำเป็นประจำวันอยู่แล้ว ทุกวันวันละไม่รู้กี่เที่ยว เพราะฉะนั้นเวลาเข้าห้องน้ำก็เลยไม่ค่อยได้ใส่ใจเท่าไร เราก็ลืมตัว เดินเข้าห้องน้ำ ใจก็ลอยคิดนั่นคิดนี่ ก็เลยไม่ระวังว่าพื้นมันลื่น พอเดินเหยียบ ก็ลื่นไถล หัวฟาดพื้น เกิดปัญหาตามมามากมาย เพราะว่าลืมตัว
บ่อยครั้งอาจจะไม่มีเหตุร้ายขนาดนั้น แต่ความลืมตัวก็ทำให้เกิดความทุกข์ตามมา เป็นความทุกข์ใจเพราะว่าเผลอคิดนั่นคิดนี่ ใจมันก็ไหลไปในเรื่องราวที่เจ็บปวดในอดีต ไปขุดคุ้ยเรื่องที่สร้างความทุกข์ใจสร้างความเจ็บปวด สร้างความโกรธแค้นให้กับตัวเอง หรือมิเช่นนนั้น ใจก็ลอยไปปรุงแต่งเกี่ยวกับภาพอนาคต แล้วก็จินตนาการ มโนว่ามันจะมีเหตุร้าย มันจะมีปัญหาต่างๆลุกลามขยายตัว
ธรรมชาติของคนเราก็คิดลบคิดร้ายแบบนี้อยู่บ่อยๆเวลาที่ลืมตัว ก็เกิดความเครียดเกิดความวิตกกังวลเกิดความหนักอกหนักใจ อันนี้ก็เพราะความลืมตัว พอลืมตัวเมื่อไรความทุกข์ก็เข้ามาครองใจเราได้ง่ายเมื่อนั้น โดยเฉพาะในสิ่งที่เราทำคุ้นเคย ที่เป็นกิจวัตร
เพราะฉะนั้น เวลาเราทำอะไรที่เป็นกิจวัตร ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้คอยเตือนใจเราว่า แม้เราจะทำอยู่บ่อยๆ แต่ว่าควรจะมีความใส่ใจ ควรจะมีสติอยู่กับสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ปล่อยใจลอยไปตามสบาย แต่จะทำอย่างนั้นได้ มันต้องมีการเตือน เตือนตนเตือนใจอยู่เสมอ เตือนอยู่บ่อยๆ เพราะถ้าไม่เตือน มันก็ไหลออกไปนอกตัว มันก็ไหลออกไปจากปัจจุบัน ใหม่ๆ สิ่งที่จะเตือนเราได้ดีก็คือคำสอนของครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์ท่านได้ย้ำเตือนเรื่องสติ เรื่องความไม่ประมาท เรื่องความรู้สึกตัว พอได้ฟังบ่อยๆ เวลาเราทำกิจวัตร เช่น อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ล้างจาน ใจลอย ทำครัว ทีแรกใจก็ลอยไปโน่นไปนี่ เสร็จแล้วก็นึกขึ้นมาได้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าให้มีสติ ให้มีความรู้เนื้อรู้ตัว มันก็ดึงจิตกลับมา อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งที่ทำ คนเราจะทำความดีหรือคุณธรรมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานคือ ทานหรือศีล ส่วนใหญ่ มันก็เริ่มต้นจากการระลึกได้ถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ หรือระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างการที่คนเราจะมีอริยทรัพย์ได้ ก็เพราะเราระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ ผู้มีปัญญาควรก่อสร้างศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมให้เนืองๆ
จะมีอริยทรัพย์ รุ่มรวยด้วยอริยทรัพย์ได้ ก็เพราะว่าเริ่มต้นจากการที่ระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระองค์ ก็ทำให้เห็นความจำเป็นของการสร้างศรัทธา ศีล และความเลื่อมใส และพัฒนาจิตให้เห็นธรรม เราก็ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์เมื่อมาฝึกใหม่ๆ เหมือนกับเด็กจะทำกิจวัตรต่างๆเช่น ถูฟัน อาบน้ำ กินข้าว ได้เพราะระลึกได้ถึงคำสั่งของพ่อแม่ให้ทำอย่างนั้นอยู่บ่อยๆ ถึงเวลาก็ต้องทำ อันนั้นเป็นเรื่องของกิจวัตร
ในเรื่องของการทำความรู้สึกตัวหรือสติ ใหม่ๆก็ต้องอาศัยคำสอนของครูบาอาจารย์หรือพระพุทธเจ้า ภาษาพระเรียกว่า ปรโตโฆสะ คือเสียงอื่น กำลังกินข้าวเพลิน นึกได้ ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ให้มีสติ ใจก็กลับมาอยู่กับการกิน อาบน้ำ ถูฟัน ล้างจาน ปล่อยใจลอย ครูบาอาจารย์สอนให้กลับมามีสติ แต่ประเดี๋ยวมันก็ไปใหม่ แต่ว่าเดี๋ยวก็กลับมาอีก การระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี ของครูบาอาจารย์ก็ดี อันนี้ก็เป็นงานของสติ สติอีกความหมายหนึ่ง ก็คือ ความระลึกได้ แต่เมื่อเราทำบ่อยๆ เรากลับมารู้สึกตัวบ่อยๆ ไม่ลืมเนื้อไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ทำเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ ต่อไปเวลาใจลอย มันก็จะกลับมาได้ง่ายขึ้น ได้เร็วขึ้น เพราะว่ามีสติอีกชนิดหนึ่งมาช่วย
สติที่ว่านี้ ไม่ใช่ความระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือของครูบาอาจารย์แล้ว แต่ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน การระลึกได้ว่าทำกำลังทำอะไรอยู่ปัจจุบัน ก็ถือว่างานของสติ สติที่เรียกว่าสัมมาสติ เป็นสติคนละตัวกับที่ทำให้เราระลึกได้ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือของครูบาอาจารย์ แต่ว่ามันก็ทำหน้าที่ หรือว่าเกิดประโยชน์คล้ายๆกันคือ ทำให้เรากลับมารู้สึกตัว ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ
สัมมาสติเป็นเรื่องความระลึกได้ในปัจจุบัน กำลังทำอะไรอยู่ กำลังกินข้าวอยู่ กำลังอาบน้ำอยู่ กำลังถูฟันอยู่ หรือแม้กระทั่งกำลังสวดมนต์อยู่ มันต่างจากการระลึกถึงคำสอนครูบาอาจารย์ อันนั้นอาจจะเป็นการระลึกได้เป็นข้อความ หรือคำพูด หรือเป็นเสียง มันเป็นการระลึกได้ทำนองเดียวกับการที่เราระลึกถึงความรู้ที่เรียนมา ทำให้เรามาประกอบอาชีพการงานได้ เวลาจะทำงานทำการมีปัญหา ก็ระลึกขึ้นมาได้ว่า ตำราเขาว่าอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ ก็เอาความรู้นั้นมาใช้แก้ไขปัญหา พอความระลึกได้อย่างนั้น มันได้เป็นข้อความ เป็นคำพูด มันเชื่อมโยงกับความคิด แล้วก็สัญญา
แต่การระลึกได้ในสิ่งที่ทำในปัจจุบัน มันไม่ต้องอาศัยความคิดเลย มันเป็นเรื่องของใจล้วนๆ ใจในความหมายที่ว่าไม่ต้องใช้ความคิด มันไม่มีเสียง ไม่เหมือนกับปรโตโฆสะ หรือเสียงอื่น มันระลึกได้ขึ้นมาเอง นึกว่ากำลังทำอะไรอยู่ อันนี้เรียกว่ารู้ตัว เช่น ใจลอยขณะที่สวดมนต์อยู่ นึกได้ว่าสวดมนต์อยู่ มันก็กลับมาเลย หรือว่ากำลังฟังคำบรรยายอยู่ แล้วใจลอยไปนึกถึงลูก ไปนึกถึงพ่อแม่ ไปนึกถึงงานการ แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า กำลังฟังคำบรรยายอยู่ การระลึกอย่างนี้ มันทำให้ใจกลับมา อยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัว แล้วก็มีสติกับการฟัง
เราอาศัยสัมมาสติ ในการช่วยทำให้ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ถ้าเรามีสัมมาสติอย่างนี้ เราจะทำกิจวัตรต่างๆด้วยความรู้สึกแจ่มใส ความรู้สึกชัดเจนเหมือนกับตื่น ไม่ได้ทำแบบงัวเงีย ถ้าเราทำกิจวัตรหรือทำอะไรก็ตาม ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกมันเหมือนกับงัวเงีย เบลอๆ มันไม่ชัดเจน แต่พอมีความรู้สึกตัวขึ้นมา มันชัดเลย
แล้วพอมีความรู้สึกตัว หรือทำอะไรอย่างมีสติ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ มันก็ช่วยป้องกันความทุกข์เข้ามาครอบงำจิตใจ ถ้าใจเราไม่มีความรู้สึกตัวอยู่ มันก็เหมือนกับบ้าน บ้านที่ไม่มีคน ถ้าทิ้งไว้นานๆก็จะมีพวกหนู พวกงูเงี้ยวเขี้ยวขอมาอาศัย หรือบางทีก็มีมิจฉาชีพเข้ามายึดบ้านนั้น หรือใช้บ้านนั้น ใจเราก็เหมือนกัน ถ้าใจเราไม่มีความรู้สึกตัว ทำอะไรไม่มีสติ มันก็เหมือนกับบ้านที่มีงูเงี้ยวเขี้ยวขอ หรือพวกมิจฉาชีพ จะเข้ามายึดครองได้ อันนั้นก็หมายความว่า เมื่อใจไม่มีความรู้สึกตัว ความทุกข์หรืออกุศลจิต ความคิดที่ลบความคิดที่ร้ายเข้ามาครองใจเราได้
ถึงตอนนั้นเราก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน คนเราจะครองตนในทางที่ชอบได้ อย่างที่เราสวดทุกวัน บ่อยๆ มงคล 38 การตั้งตนไว้ชอบก็คือการครองตนในทางที่ชอบ ชอบทำและเป็นปกติ จะครองตนได้ ก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกตัวมาครองใจ ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวมาครองใจ มันก็เหมือนกับเปิดช่องให้ความทุกข์ต่างๆเข้ามา ถ้าเราเผลอแต่ละครั้งๆก็คือ การเปิดช่องให้ความเครียด ความโกรธ ความเศร้า ความหนักอกหนักใจเข้ามาสะสมอยู่ในจิตใจมากขึ้น หลงเท่าไร ลืมตัวมากเท่าไร มันก็เกิดการสะสมของความทุกข์เหล่านี้อารมณ์อกุศลเหล่านี้มากขึ้นทุกที
คนเดี๋ยวนี้มีความเครียดสะสม มีความผิดหวังสะสม มีความเศร้าสะสม ก็เพราะว่า การที่ไม่มีสติครองใจ ไม่มีความรู้สึกตัวมาครองใจ แต่เมื่อไรที่เราเริ่มมีความรู้สึกตัวขึ้นมาในแต่ละขณะๆ ทำอะไรด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ทำอะไรอย่างมีสติ มีใจใส่ลงไปในสิ่งนั้น มันก็เหมือนกับว่าค่อยๆไถ่ถอนความรู้สึกเครียด ความผิดหวัง ความโกรธ หรือความทุกข์เหล่านี้ไปทีละน้อยๆ นอกจากจะปิดกั้นไม่ให้เข้ามาสะสมมากขึ้นแล้ว ยังช่วยระบายถ่ายเทออกไปทีละน้อย ๆ คล้ายๆการดีท็อกซ์
เรานิยมดีท็อกซ์กันเพื่อเอาของเสียในร่างกายออกไป จากที่มันสะสมตามอวัยวะต่างๆ เรานิยมดีท็อกซ์เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี แต่เราลืมดีท็อกซ์จิตใจเพื่อให้สารพิษหรือว่าสิ่งที่เป็นพิษในจิตใจออกไป แต่ถ้าเรามีสติมีความรู้สึกตัว มันจะค่อยๆช่วยไถ่ถอนสิ่งต่างๆเหล่านี้ออกไป มันทำให้จิตใจของเราผ่องใสหรือว่าเป็นปกติสุขมากขึ้น มีพิษมีภัยน้อยลง นอกจากไม่สะสมมากขึ้นแล้ว มันยังช่วยไถ่ถอนถ่ายเทออกไป เพราะเราเห็น เห็นความคิดที่มันเข้ามาเล่นงานจิตใจ พอเห็นปุ๊บ ความคิดอารมณ์เหล่านั้นก็ชะงัก แล้วมันก็ละลายหายไป ตอนหลังก็จะเห็นของเก่าที่สะสมที่เกิดจากการคิดเป็นนิสัย เกิดจากการยึดติดถือมั่นเป็นนิสัย พอเห็นบ่อยๆก็วางได้ง่าย วางได้เร็วไถ่ถอนออกไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตใจผ่องใสเบิกบาน
อันนี้เพราะเรามีความรู้สึกตัว มีสติเป็นเครื่องรักษาใจเอาไว้ ถ้าเราไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ความทุกข์สะสมมันก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลง และมันเป็นวิธีที่ช่วยรักษาตัวได้ดีไม่น้อยกว่าการที่เรารักษาสุขภาพด้วยการกินอาหารด้วยการออกกำลังกาย การรักษากายสำคัญแต่ก็อย่าลืมรักษาใจให้มีสติครองใจ มีความรู้สึกตัวในสิ่งที่ทำอยู่เสมอ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 26 มิถุนายน 2564