แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะหรือสิ่งที่เป็นความดีงาม สิ่งที่ควรปฏิบัติ ในทางพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่เราลองสังเกตดู เป็นภาษาบาลี เช่น บุญ ทาน ศีล ศรัทธา ขันติ เมตตา กรุณา สันโดษ เป็นต้น พวกนี้จริงๆเป็นภาษาบาลี แต่มีคำหนึ่งที่เป็นธรรมที่สำคัญเลย เป็นข้อพึงปฏิบัติที่สำคัญ แต่ว่าเป็นภาษาไทย พยางค์เดียว คือคำว่า เห็น
คำว่าเห็น เป็นคำสามัญ แต่ว่าเป็นธรรมะที่สำคัญมากในทางพุทธศาสนา อย่างเวลาเราสวดมนต์ที่พูดถึงอริยทรัพย์ อริยธนคาถา ท่านก็แจกแจงธรรมะ 4 ประการ ศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส ความเห็นธรรม ศรัทธาคือศรัทธาในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสคือเลื่อมใสในพระอริยสงฆ์ แต่ที่สำคัญไม่น้อยคือความเห็นธรรม
คำว่าเห็น ท่านจะพูดถึงบ่อย ในบทสวดมนต์จะพูดถึงบ่อย หรือเอ่ยถึงคำนี้ อย่างเช่น ติลักขณาคาถา เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด เห็นว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เห็นว่าธรรมทั้งปวงอนัตตา
อันนี้เป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญมากทีเดียว จะพ้นทุกข์จะเข้าถึงพระนิพพานเพราะเห็นนี้แหล่ะ เห็นสังขารหรือว่าเห็นความจริงของสังขาร ในบทหนึ่งในภัทเทกรัตตคาถา จะมีประโยคหนึ่งบอกว่า ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ สำคัญมากเลย การเห็นธรรม ยังไม่ต้องไปถึงขั้นเห็นพระนิพพานหรือเห็นโลกุตตรธรรม แค่เห็นแม้แต่อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก
เห็นอกุศลธรรมก็คือ เห็นความโกรธ เห็นความเศร้า เห็นความหดหู่ เห็นความโลภ เห็นความหงุดหงิด ถ้ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า อันนั้นถือว่าดี ท่านบอกว่าพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ คือ ทำบ่อยๆ เห็น ในที่นี้คือเห็นของจริงหรือเห็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นความจริงฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบก็ตาม มันไม่ต้องอาศัยความคิด มันต่างจากความเห็น เห็นที่พูดมานี้ คนละอันกับความเห็น ความเห็นนี้มันต้องใช้ความคิด จะเห็นถูกเห็นผิดก็แล้วแต่ ความเห็นที่ถูกความเห็นที่ผิด มันเป็นเรื่องของความคิด
เห็นที่พูดมาตั้งแต่ต้น มันไม่ใช่ความคิดทีเดียว คือการเห็นด้วยใจ หรือพูดให้ถูกต้องคือ การเห็นด้วยสติแล้วก็ด้วยปัญญา แต่ก่อนจะเห็นด้วยปัญญาได้ ต้องเห็นด้วยสติก่อน จริงๆในชีวิตประจำวันก็เห็นอะไรต่ออะไรมากมาย แต่ว่าเกือบทั้งหมดมันเป็นการเห็นด้วยตา อันนี้ก็คนละความหมายกับเห็นที่พูดมา เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างแจ่มแจ้ง อันนี้คือ เห็นด้วยสติ สติท่านก็เปรียบเหมือนกับตาใน
สติทำหน้าที่หลายอย่าง ช่วยให้ระลึกได้ หรือนึกขึ้นมาได้ นึกออก อันนี้ก็ต้องอาศัยสติ อย่างเรานึกได้ว่า หรือจำได้ว่า เมื่อเช้านี้อาตมาเทศน์เเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไร ถ้านึกออกนึกได้ อันนี้ก็คือสติ
สติมันทำงานได้มากกว่านั้น ที่สำคัญคือการที่มันเห็น หรือทำให้รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งความคิดด้วย ก่อนที่มันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา ส่วนใหญ่มันก็มีความคิดเป็นตัวนำ การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา อาจจะเริ่มต้นได้ทาน แล้วก็เริ่มตามมาด้วยศีล แต่ว่ามันจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เลย ถ้าหากว่าไม่มีการเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของตน
เพราะถ้าไม่เห็นอาการของใจ ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความโลภ ที่มันเกิดขึ้น ก็จะโดนความโกรธ ความโลภหรืออกุศลธรรมเหล่านี้เข้ามาครอบงำจิต แล้วก็ชักนำให้การกระทำและคำพูด มันเป็นไปในทางที่ถูกต้องได้ยาก มันก็นำไปสู่การผิดศีล นำไปสู่การเบียดเบียน นำไปสู่ความเห็นแก่ตัวเอารัดเอาเปรียบ ทานก็ดี ศีลก็ดีมันเกิดขึ้นไม่ได้ จำเป็นมากเลยที่เราจะต้องฝึกตนฝึกใจให้เห็นสิ่งที่มันเป็นความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่แต่เห็นด้วยตา เห็นด้วยตานี่ก็คือเห็นรูป
เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า เห็นผู้คน เห็น สถานที่ เห็นสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็มีประโยชน์ มันช่วยทำให้เราหลีกหนีห่างไกลจากอันตราย เห็นงูเงี้ยวเขี้ยวขอ เราก็ไม่เดินไปเหยียบ เห็นหลุมเห็นบ่อเราก็เดินข้ามเดินเบี่ยง เห็นถนนลื่นๆ หรือน้ำเฉ่อะแฉะ เราก็ไม่เดินเหยียบ มิเช่นนั้นเราก็จะหกล้มหรือลื่นไถล เราก็ปลอดภัยได้ เพราะว่าเราอาศัยตาเนื้อที่ทำให้เห็นอันตราย ที่มีอยู่ข้างหน้า อันตรายนี่มันไม่ได้อยู่ข้างหน้าเราอย่างเดียว มันอยู่ข้างในใจเราด้วย
อันตรายที่ว่านี้ก็คืออารมณ์ที่เป็นอกุศล รวมทั้งกิเลส พวกนี้มันสามารถที่จะครอบงำจิตใจได้ และชักนำชีวิตของเราให้ตกไปในทางที่ต่ำ หรือว่าถลำเข้าไปสู่ความทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นอารมณ์เหล่านี้ว่ามันเกิดขึ้น เราไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิต เราก็จะสามารถนะครองตน หรือว่าทรงใจให้เป็นปกติ หรือว่าตั้งมั่นอยู่ในความดีงามได้
หลวงพ่อเขียน ท่านเน้น ย้ำมากเลยว่า ให้เห็น อย่าเข้าไปเป็น เห็นที่ว่านี้คือ เห็นความคิด เห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่เห็นเมื่อไร ก็เข้าไปเป็นเมื่อนั้นแหละ คือจมเข้าไปในอารมณ์ ท่านเปรียบว่า เห็น ถ้าเข้าไปเป็นเหมือนกับคนที่จมอยู่ในน้ำ คนที่อยู่ในนี้เพราะว่าเข้าไปเป็น หมายถึงเข้าไปอยู่ในอารมณ์เข้าไปในความคิด เข้าไปในความคิดเข้าไปในอารมณ์ก็เหมือนกับอยู่ในน้ำ เผลอๆ จมน้ำด้วย เพราะว่าสำลักอารมณ์หรือว่าจมดิ่งเข้าไปในอารมณ์ โศกเศร้าทั้งวันทั้งคืน โกรธรุ่มร้อนเป็นวันเป็นเดือน จนกระทั่ง เจ็บป่วยหรือว่าจนกระทั่งหาความสุขไม่ได้เลย อย่างนี้เรียกว่ามันไม่ได้แค่อยู่ในน้ำแล้ว มันจมน้ำไปเลย
บางคนอยู่ในความซึมเศร้า ออกมาไม่ได้ จนกระทั่งหาหนทางคิดถึงการฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่ามันเป็นหนทางเดียวที่จะยุติหรือออกจากความซึมเศร้าได้ อันนี้เรียกว่าเข้าไปเป็นแล้ว แต่ว่าเห็น หลวงพ่อคำเขียนเปรียบเหมือนกับว่า ผู้ที่อยู่บนฝั่งหรือว่าขึ้นฝั่ง ขึ้นฝั่งนี้ก็ตัวไม่เปียกแล้ว ก็เห็นอะไรต่ออะไรที่อยู่ในน้ำ เห็นน้ำแต่ว่าไม่เปียกน้ำ ก็คือเห็นอารมณ์ แต่ว่าไม่ถูกอารมณ์นั้นกระทำ หรือว่าเบียดเบียนย่ำยี เราชอบแบบไหน ระหว่างการอยู่ในน้ำกับการขึ้นฝั่ง
การเห็นเป็นการปฏิบัติที่สำคัญ ที่จะช่วยทำให้เราครองตนได้อย่างปกติ หรือว่ามีชีวิตที่ผาสุก รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการที่จะนำพาเราให้เห็นสัจธรรมความจริง เห็นสังขารว่าไม่เที่ยง เห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ จนเห็นว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา อันนี้ท่านว่าเห็นด้วยปัญญา แต่จะเห็นด้วยปัญญาได้ ต้องเห็นด้วยสติก่อน และการเห็นด้วยสติคือ เห็นอารมณ์ เห็นความคิด มันก็สามารถจะเกิดขึ้นได้พร้อมๆกับการที่เห็นด้วยตา แล้วก็ควรทำด้วย
ในขณะที่เราเห็นนอกด้วยนัยน์ตา เราก็เห็นในด้วยสติ เห็นในคือเห็นความคิดเห็นอารมณ์ ปกติเราไม่ค่อยตระหนักเวลาเห็นรูป เราไม่ใช่แค่สักแต่ว่าเห็น มันส่งผลกระทบต่อจิตใจด้วย ตาเห็นรูป ใจก็กระเพื่อม จะขึ้นหรือลงก็แล้ว แต่เช่นเดียวกับพอหู มันก็เกิดความยินดีหรือยินร้ายขึ้นในใจ เกิดการปรุงแต่งข้างในซึ่งทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น แต่ถ้าหากว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงแล้ว แล้วก็มีสติเห็นความคิดและอารมณ์ มันก็ช่วยทำให้ใจสงบลงได้ ในเป็นปกติได้ อารมณ์ที่เกิดขึ้นเพราะมันถูกเห็น มันก็จะบรรเทาเบาบางลง
ความคิดปรุงแต่งเหมือนกัน พอมันถูกเห็นเข้า มันก็ละลายเลย หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่าละลาย พอเราเห็นความคิดหรือว่าจ๊ะเอ๋ความคิดเข้า ความคิดมันละลายเลย มันไม่ใช่แค่ความคิดละลายอย่างเดียว อารมณ์มันก็ละลายด้วย และความสงบในจิตใจก็เกิดขึ้นได้ตรงนี้แหละ
ในขณะเดียวกัน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ ก็เพราะการที่เราไม่มีสติเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เห็นความทุกข์ที่ปรากฏ แล้วก็ปล่อยให้มันลุกลาม และบ่อยครั้งก็ไปคิดว่า ตัวการที่ทำให้ทุกข์นี่มันอยู่ที่ข้างนอก เพราะว่าไปสนใจแต่สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของเราโดยที่ไม่รู้ทันความคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้น
มีฝรั่งคนหนึ่งมาบวชเป็นพระที่ประเทศอินเดีย สำนักของวัชรยาน มาด้วยศรัทธา แต่ก็ไม่คุ้นกับชีวิตแบบอาราม ที่นั่นอาหารก็ไม่ได้เอร็ดอร่อยเท่าไร แล้วก็ซ้ำซากจำเจ แต่ว่าก็จำต้องทนอยู่กับอาหารเหล่านั้น วันหนึ่งทางวัดมีไอติมมาเลี้ยง แต่ว่าก่อนจะกินไอติม ต้องกินอาหารเท่านั้น ตอนเพลเป็นหน้าร้อน แดดก็ร้อน ทีแรกเห็นไอติมก็ดีใจว่า จะได้ฉันไอติม เพราะมันเย็นชื่นใจ คิดอย่างนั้น แต่ว่าพอพระมัคคุเทศก์วางไอติมบนโต๊ะแล้ว ก็ตามมาด้วยวางอาหารข้าว ผัก แกง ต้องฉันพวกนี้ก่อน ต้องฉันข้าว ผักก่อน และต้องฉันช้าๆด้วย ฉันนานครึ่งชั่วโมงได้
ระหว่างที่ฉันข้าว ก็เห็นไอติมมันค่อยๆ ละลาย เพราะตอนนั้นอากาศร้อน จะฉันไอติมเลยก็ไม่ได้ เพราะว่ายังฉันข้าวไม่หมด ต้องฉันข้าวให้หมดก่อน แต่ระหว่างที่ฉัน เห็นไอติมละลายทั้งเสียดายแล้วก็โมโหว่าทำไมถึงไม่ให้เราฉันไอติมก่อนเลย ไหนๆเอาไอติมมาเสิร์ฟแล้ว ทำไมปล่อยให้มันละลายแบบนี้ ไม่เข้าท่าเลย ใจก็บ่น ใจก็โวยวาย แต่ก็จะทำยังไงได้เพราะว่ายังฉันอาหารอยู่ กว่าจะฉันอาหารหมด เคี้ยวหมดจาน ไอติมมันก็ละลายจนกลายเป็นน้ำ
พระรูปนี้โมโหมาก ตอนที่ไอติมเริ่มละลาย รู้สึกผิดหวัง นึกว่าจะได้ฉันไอติมที่อร่อย ไม่ได้ฉันมาเป็นปีแล้ว ระหว่างที่โมโหอยู่ ท่านก็หันมาสังเกตที่ใจของตัว ก็เห็นเลยเห็นความโมโห เป็นความโมโหที่เกิดจากการที่ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น คาดหวังว่าจะได้กินไอติมอร่อยๆตอนนี้มันละลายไปแล้ว ผิดหวังมาก ไม่ยอมรับ ก็เลยบ่นโวยวายตีโพยตีพายเกิดความทุกข์ แต่พอมีสติ เห็นอาการของใจอย่างนั้น มันสงบเลย ความทุกข์ความโกรธความหงุดหงิดนี้มันหายไปเลย แล้วก็มาเห็นว่า
ที่จริงความทุกข์ที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะไอติมละลายต่อหน้าแต่ว่าเป็นเพราะใจที่ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็เป็นเพราะปล่อยให้ความโกรธความหงุดหงิดมันมาเล่นงานจิตใจ ทุกข์เพราะลืมดูใจของตัวเอง ทุกข์เพราะไม่รู้ทันใจของตัว ไปจดจ่อแต่สิ่งภายนอก ใช้แต่ตามองเห็นรูป แต่ว่าลืมใช้สติมองเห็นอารมณ์หรือว่ารู้ทันจิตใจที่เกิดขึ้น แต่พอมารู้ทันใจของตัว เห็นใจของตัว มันสงบเลย
ถ้าเปรียบด้วยคำของหลวงพ่อคำเขียนว่า ทีแรกมันจมอยู่ในน้ำ สำลักน้ำ แต่ว่าพอมีสติเห็น ไม่เข้าไปเป็น มันก็เหมือนกับว่าขึ้นฝั่ง เห็นความโกรธ เห็นความหงุดหงิด เห็นความไม่พอใจ แต่ว่าอารมณ์เหล่งนี้ก็ทำอะไรจิตใจไม่ได้ เหมือนกับน้ำที่มันทำอะไรคนที่อยู่บนฝั่งไม่ได้
ธรรมดาของคนเรา ย่อมมีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นเมื่อเกิดการกระทบ หรือเกิดผัสสะขึ้นมา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ก็โกรธได้ หงุดหงิดได้ เศร้าได้ แต่ว่าอย่าให้มันครองใจ การปฏิบัติ มันไม่ได้แปลว่า เราจะโกรธไม่ได้ แปลว่าเราจะหงุดหงิดไม่ได้ เราจะฟุ้งไม่ได้ แต่โกรธได้ เศร้าได้ หงุดหงิดได้ แต่ให้รู้ทันมัน คืองานของนักภาวนา หมั่นเห็นอารมณ์ เห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยไม่เข้าไปเป็นมัน และเมื่อเห็นแล้วก็ให้รู้ซื่อๆอันนี้ก็เป็นคำสอนที่หลวงพ่อคำเขียนท่านย้ำ เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น ท่านสำทับแล้วย้ำว่า รู้ซื่อๆ คือเห็นทำให้รู้ แต่พอรู้แล้ว บางทีมันเผลอ เผลอที่จะปรุงแต่ง ไม่ใช่แค่รู้ซื่อๆ
รู้ซื่อๆ คือ ไม่ปรุงแต่ง รู้แบบไม่ปรุงแต่ง
ปกติเรารู้อะไรเราเห็นอะไร เรามักจะเผลอปรุงแต่ง เช่น เราเห็นคนเขาซุบซิบนินทา เราก็ปรุงแต่งไปว่าเขากำลังนินทาเรา หรือบางทีเห็นเขามองหน้าเรา ก็นึกว่าเขาชอบเรา หรือว่าอาจจะมองว่าเขากำลังประสงค์ร้ายต่อเรา อันนี้เรียกว่าปรุงแต่งแล้ว มันไม่ใช่แค่รู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆหมายถึงการที่แค่รู้เฉยๆโดยที่ไม่ผลักไส เวลาได้ยินเสียง สังเกตดูใจเราเป็นยังไง เรารู้ว่มีเสียง เรารู้ว่ามีรถ เรารู้ว่ามีหมาเห่า แต่ว่าเราไม่ได้รู้แค่นั้น มันเกิดอาการผลักไส ไม่ชอบ อันนี้เรียกว่าไม่ได้รู้ซื่อๆแล้ว
ก็เหมือนกับพระที่ท่านเห็นไอติมละลาย ไม่ได้รู้อย่างเดียว หรือว่ารู้ซื่อๆเท่านั้น แต่ว่าใจมันผลักไส ไม่เอา ฉันไม่ยอม ไอติมกำลังละลาย ทนไม่ไหว ทำไมอาจารย์มาแกล้งฉันอย่างนี้ ทำไมไม่ให้ฉันกินไอติมเลย ทำไมมาแกล้งให้ฉันดูไอติมละลาย ใจมันผลักไส ใจมันไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อันนี้เรียกว่าไม่ได้รู้ซื่อๆ ถ้ารู้ซื่อๆ มันจะเห็น ขณะที่ตาเห็นไอติมละลาย ก็รู้ว่ามันมีความไม่พอใจเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้ปฏิเสธ ผลักไส กดข่มความไม่พอใจ ก็แค่รู้เฉยๆ ตรงนี้ยาก เพราะว่าเวลามันมีอารมณ์ ทั้งๆที่เรารู้ว่ามันมีอารมณ์ที่ไม่ประสงค์ ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น เราจะไม่ใช่แค่รู้เฉยๆ และพยายามเข้าไปกดข่มมัน เช่น พอมีความคิดเกิดขึ้น ขณะที่กำลังเดินจงกรม ขณะที่กำลังสร้างจังหวะ ขณะที่กำลังตามลมหายใจ มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เราไม่ชอบ เพราะมันทำลายความสงบ หรือว่ามันทำให้ใจไม่สงบ ก็ผลักไสมัน
เหมือนกับเสียงดัมากระทบหู เราไม่ชอบก็พยายามผลักไส หารู้ไม่ว่า ยิ่งทำอย่างนั้น มันยิ่งทุกข์ ยิ่งผลักไสยิ่งยึดติด แต่ถ้าแค่รู้เฉยๆ มันก็จะหมดพิษสงไปเลย เหมือนกับที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่า มันก็จะละลายไปเลย ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์
มีคนหนึ่ง พูดไว้ดี บอกว่า สิ่งใดที่เธอผลักไสจะคงอยู่ สิ่งใดที่เธอตระหนักรู้จะหายไป ตระหนักรู้คือรู้ซื่อๆ ถ้าไม่รู้ซื่อๆ มันจะเผลอเข้าไปเป็น ผลักไสความโกรธก็กลายเป็นจมเข้าไปในความโกรธเป็นผู้โกรธขึ้นมา ผลักไสความเครียด ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ก็กลายเป็นว่า กลายเป็นผู้เครียดเข้าไปเลย อันนี้เรียกว่ามันเข้าไปเป็นแล้ว การฝึกให้เห็นความคิดและอารมณ์นี่ มันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน 4 เป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนาเลยทีเดียว
วิปัสสนาคือการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง จนกระทั่งเห็นสัจธรรมความจริง เห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ว่าไม่เที่ยง เห็นกระทั่งว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่แน่นอน ก่อนที่จะเห็นธรรม หรือเห็นอารมณ์ความคิดเหล่านั้นได้ มันต้องฝึกให้มารู้กายก่อน เพราะว่ากายเป็นเรื่องหยาบๆ เห็นกายในที่นี้หมายถึงรู้สึก รู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว เท้าขยับ หรือว่ามือกำลังเขยื้อน ไม่ว่าจะอาบน้ำ ถูฟัน เดินจงกรม สร้างจังหวะ ถ้าเราทำอย่างมีสติ มันจะรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว ถ้าเกิดว่ามันเผลอคิดนึกไป ก็มีสติเห็นใจคิดนึก ถ้าไม่มีความคิดนึกเกิดขึ้นก็มารู้กาย หรือรู้สึกกับกายไป อันนี้เรียกว่า รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก ต้องหมั่นฝึก
ที่นี่เราก็พูดอยู่เรื่อย เรื่องการเห็น เห็น เห็นหรือรู้ทัน เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปฏิบัติ แล้วก็เป็นวิชาที่ใช้ได้ตลอดจนกว่าจะพ้นทุกข์เลยก็ได้ เพราะว่าการเห็น ทีแรกเห็นด้วยสติ ต่อไปก็เห็นด้วยปัญญา เมื่อเห็นด้วยปัญญา เห็นชัดแจ้งในสัจธรรมของสังขาร มันจะเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด พระนิพพานเกิดขึ้นได้เพราะการเห็นด้วยปัญญาอย่างที่ว่า แต่จะเห็นด้วยปัญญาได้ ต้องเห็นด้วยสติก่อนจนชำนิชำนาญ การเห็นด้วยปัญญาก็จะเกิดขึ้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 25 มิถุนายน 2564