แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดไปแล้วว่า คนเราเมื่อจะทำอะไร ควรจะรู้ถึงเป้าหมายของสิ่งนั้น และถ้าเป้าหมายของสิ่งนั้นมีค่ามีความหมาย เราก็จะเกิดใจรักในการทำสิ่งนั้น และเมื่อได้ลงมือทำ มันก็จะมีความสุข หรือว่าพอใจ ยินดีที่ได้ทำโดยที่ยังไม่ต้องรอให้ผลมันเกิดขึ้น หรือว่ามีความสำเร็จเกิดขึ้นก่อนจึงจะมีความสุขได้
ไม่ใช่แต่เฉพาะทำงาน หรือว่าการทำกิจวัตรที่เราควรจะมีเป้าหมาย หรือรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ในชีวิตของเราก็ควรจะรู้ว่ามีจุดมุ่งหมายอะไร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า เราควรจะมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิต ชีวิตของเราควรจะมีเป้าหมาย ถ้าเราไม่มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตแล้วนี้ ชีวิตก็กลายเป็นเรื่องที่อยู่ไปแบบซังกะตายก็ได้
มีคำถามหนึ่งที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆว่า เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร คำถามนี้ก็ตอบยาก เพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนกำหนดให้ตัวเองเกิดมา กว่าจะรู้ความก็เกิดมาเรียบร้อย เราไม่ได้เป็นคนที่กำหนดการเกิดของตัวเรา แต่ว่าการดำเนินชีวิตนั้นอีกแบบหนึ่ง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การดำรงชีวิตหรือการอยู่ มันเกิดจากการตัดสินใจของเรา การที่เรากินอาหารทุกวันทุกมื้อ การที่เราระมัดระวังตัวเวลาข้ามถนน หรือว่าเวลาการเดินในป่า เพราะเราอยากจะมีชีวิตอยู่ เราเลือกที่จะมีชีวิต เราเลือกที่จะอยู่
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องถามตัวเองว่า อยู่ไปเพื่ออะไร ส่วนคำถามว่าเกิดมาทำไม อาจจะตอบไม่ได้ ตอบยาก แต่ว่าอยู่เพื่ออะไร หรือมีชีวิตไปทำไม อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะตอบให้ได้ คนเราถ้าหากว่า ชีวิตมีเป้าหมาย มันก็จะมีชีวิตที่มีชีวา มีความแจ่มใส มีความกระตือรือร้น
ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่า ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม การมีชีวิตจะกลายเป็นของยาก มีหลายคนมีความรู้สึกแบบนี้ ไม่รู้อยู่ไปทำไม มีหลายคนมีความรู้สึกอย่างนี้หลังจากที่เกษียณแล้ว ตอนที่ทำงาน ไม่เคยมีความรู้สึกแบบนี้ อาจเป็นเพราะว่า มีงานให้ทำจนไม่ได้คิดเรื่องนี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะว่า ชีวิตของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อการทำงาน ทำงานเพื่อให้ได้เงิน ทำงานเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เพื่อให้ได้ไปถึงจุดสูงสุดของหน้าที่การงาน จะเป็นงานเอกชนหรืองานราชการก็แล้วแต่ พอมีจุดหมายแบบนี้ก็เกิดความกระตือรือร้น
แต่พอเกษียณแล้ว ก็เกิดความรู้สึกว่างเปล่าขึ้นมา ทุกวันที่ตื่นขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม มาเจอคำถามนี้ บางคนอาจจะพบคำตอบว่าอยู่เพื่อลูก พอลูกโตขึ้นพึ่งพาตัวเองได้ มีหลานก็อยู่เพื่อหลาน แต่พอลูกแล้วก็หลานเจริญก้าวหน้า มีชีวิตของตัวเอง ก็เริ่มเคว้ง ตื่นมาทุกวันนี้ ไม่รู้ว่าอยู่ไปทำไม ยิ่งลูกหลานเหินห่าง ไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่หรืออยู่กับปู่ย่าตายาย ก็รู้สึกว่างเปล่า การมีชีวิตก็กลายเป็นเรื่องทรมานมาก
บางคนก็มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิต หรือว่ารู้ว่าจะอยู่ไปทำไม แต่ว่าจุดมุ่งหมายนั้น ถ้ามันไม่มีคุณค่ามากเท่าไร ก็ทำให้อยู่แบบซังกะตายเหมือนกัน เหมือนกับบางคนทำงาน ถ้าหากว่าทำงานไม่ใช่ด้วยใจรัก แต่ทำงานเพราะว่ามันเป็นหน้าที่ หรือทำงานเพื่อให้มีค่าจ้างมีเงินมาซื้ออาหารเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง ถ้าจุดมุ่งหมายเป็นเพียงเท่านั้น ก็ทำงานแบบซังกะตาย ทำงานเพียงเพื่อจะให้ได้เงิน แต่ถ้าหากว่าทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือว่าเพื่อช่วยทำให้สังคมมันดีขึ้น
อย่างที่เคยยกตัวอย่าง คนก่ออิฐ คนหนึ่งทำงานแบบซังกะตาย ทำงานแบบเฉื่อยชา รอให้เวลาเลิกงานอีกคนหนึ่งทำงานด้วยความกระตือรือร้น ไม่อู้งานเลย แม้ว่าแดดจะร้อนเหงื่อจะโทรมกาย แต่ว่าเขาก็ยังขยันขันแข็ง ทำงานจนเลิก เลิกแล้วบางทียังทำต่อไป ไปถามคนแรกว่าทำอะไร เขาบอกว่าก่อกำแพง แต่พอถามคนที่ 2 เขาตอบว่าเขากำลังสร้างวัด ทำงานอย่างเดียวกันแต่คนหนึ่งทำงานเฉื่อยชา เพราะจุดมุ่งหมายของเขาเห็นเพียงว่าก่อกำแพง แต่ที่จริงจุดมุ่งหมายของเขาจริงเพื่อให้มีเงินมีค่าจ้าง
แต่อีกคนหนึ่ง เขาก็ปรารถนาค่าจ้างเหมือนกัน แต่เขามีความสุขเพราะว่าเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ มันไม่ใช่แค่ก่ออิฐไม่ใช่แค่ก่อกำแพง กำลังสร้างวัดเลยทีเดียว และถือว่ากำลังมีส่วนช่วยบำรุงศาสนาอุปถัมภ์ศาสนา กำลังทำมหากุศล สองคนมีเป้าหมาย แต่ว่าเป้าหมายมันคนละระดับ มันต่างกัน คนที่ 2 นี้เขาทำงานเหนื่อย แต่ว่าเขามีความสุข แม้จะเหนื่อย แต่ก็มีความพอใจ เพราะว่าเป้าหมายของการทำงานของเขา ไม่ใช่แค่เพื่อเงิน แต่มีคุณค่ายิ่งกว่านั้น มันเป็นการช่วยเติมเต็มความสุขให้กับจิตใจ
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรามีเป้าหมายที่มันไม่ค่อยได้มีคุณค่าน่าภาคภูมิใจเท่าไร มันก็ทำให้อยู่แบบไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเท่าไร ยิ่งถ้าไม่มีเป้าหมายเลยยิ่งแย่ ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม บางคนก็เลยนึกถึง อยากจะตายเร็วๆ จะได้หมดความทรมาน ไม่รู้สึกถึงความว่างเปล่าชีวิต
คนเราควรจะรู้ว่า อยู่ไปทำไม ในทางพุทธศาสนา ที่จริงเราก็มีคำตอบ ซึ่งเราได้สาธยายอยู่ทุกวันๆ ทุกเช้า ประโยคที่ว่า ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้ หรือว่า ขอให้พรหมจรรย์ของเรา จงเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้เทอญ อันนี้เป็นการเตือนะว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ที่เรามาบำเพ็ญชีวิตพรหมจรรย์ ก็เพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ หรือเพื่อความดับทุกข์นั่นเอง มันเป็นเป้าหมายของสูงสุดชีวิต ที่คนเราควรจะมี
ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า คนเราเกิดมาเพื่อให้ได้ หรือเข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้นั่นคือชีวิตที่ไม่มีทุกข์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นิพพานนั่นเอง คนเราถ้าหากว่ามีเป้าหมายอยู่ที่การดับทุกข์ หรือทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น มันจะทำให้ชีวิตของเรา รู้ว่าอยู่ไปเพื่ออะไร
จริงอยู่เป้าหมายนี้ดูไกล แต่แม้ว่าเป้าหมายจะไกลแค่ไหน ก็ไม่ใช่เป็นเหตุผลที่เราจะต้องรู้สึกท้อแท้หรือรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ เป้าหมายแม้อยู่ไกล แต่เมื่อถึงเวลาลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ ท่านสอนให้อยู่กับปัจจุบัน เป้าหมายจะอยู่ไกลแค่ไหน ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน
อย่าว่าแต่เป้าหมายที่เป็นปรมัตถ์เลย หรือเป้าหมายทางทางธรรมขั้นสูง แม้เป็นเป้าหมายทางโลก เช่น การเดินทาง ทางมันจะไกลแค่ไหน ทางจะกี่ร้อยกี่พันกิโลเมตร เมื่อถึงเวลาที่เราลงมือเดิน จะดีที่สุดถ้าหากว่าเราอยู่กับปัจจุบัน ใจอยู่กับแต่ละก้าวที่เดิน ขอเพียงแต่ว่าเดินไม่หยุด หรือว่าเดินอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็ย่อมถึงจนได้ แต่ถ้าเดินไม่เป็น เป้าหมายแม้จะเพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตร แต่ว่าใจมันนึกถึงแต่เป้าหมายตลอดเวลา เดินไปเดินไปแต่ละก้าวก็นึกว่าเมื่อไรจะถึงๆ นึกแบบนี้มันก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันทีเลย เกิดความเครียด บางทีเกิดความท้อได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเป้าหมายมันไกลเป็นสิบเป็นร้อยกิโลเมตร
มีนักปีนเขาคนหนึ่ง สำเร็จหรือพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในทุกทวีปมาแล้วรวมทั้งยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก เอเวอเรตส์ และไม่ได้ไปถึงแค่ครั้งเดียว แต่ไปถึงหลายครั้ง เขาบอกว่าเคล็ดลับในการปีนเขาของเขาก็คือ ให้ลืมยอดเขาที่ต้องการไปให้ถึง หรือว่าอย่าไปสนใจมัน ให้สนใจแค่พื้นดินที่กำลังเหยียบอยู่ หรือพื้นดินใต้ฝ่าเท้า แล้วใส่ใจเดินแต่ละก้าว ๆ ถึงเวลาพักก็ต้องพัก แต่ถ้าเดินไม่หยุด แล้วก็เดินถูกทาง ในที่สุดก็จะถึงยอดเขา ถึงจุดหมายที่ต้องการพิชิตได้ ยอดขายมันสูงมาก ใช้เวลาเป็นเดือน แล้วก็เสี่ยงอันตราย แต่เขาพบเคล็ดลับในการเดินให้ถึงก็คือลืม หรือว่าอย่าเพิ่งไปสนใจยอดเขา สนใจแต่พื้นดินใต้ฝาเท้า แล้วก็เดินไปแต่ละก้าวให้ดีที่สุด
ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เช่น ขณะที่เดิน ใจไปพะวง นึกไปแต่ถึงยอดเขา มันก็จะเกิดความพะวง มันก็จะเกิดความกลัว เกิดความท้อ เส้นทางอีกยาวไกล อันตรายมากมาย นึกถึงปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า นึกถึงความยากลำบากที่อาจจะต้องเจอ มันก็ท้อแล้ว แต่ความรู้สึกมันจะเปลี่ยนไปทันที ถ้าเมื่อเรา ใจมาอยู่กับปัจจุบัน นักปีนเขาคนนี้ก็ไม่ได้พูดประโยคนี้ว่า ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน แต่สิ่งที่เขาพูดก็คืออันนี้แหละ สนใจพื้นดินใต้ฝ่าเท้า แล้วก็เดินไปทีละก้าวๆ มันจะดูง่ายมาก สำหรับการพิชิตยอดเขา เพียงแต่สนใจสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะ ในปัจจุบันขณะ เดินแต่ละก้าว เดินให้มันดี เอาใจใส่อยู่กับการเดิน ไม่ประมาท อันนี้คือจุดมุ่งหมายทางโลก
จุดมุ่งหมายในทางธรรมก็เหมือนกัน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ หรือว่าการดับทุกข์ หรือว่านิพพานหรือว่าชีวิตที่อิสระ หรือชีวิตที่เข้าถึงสิ่งสูงสุด หรือสิ่งดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มันอยู่ไกลก็จริง แต่ว่ามันจะเข้าถึงได้หรือเป็นไปได้ ก็เพราะการที่เราอยู่กับปัจจุบัน หรือว่าทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เมื่อเราทำความเพียรในแต่ละขณะๆ อย่างดี ไม่ปล่อยให้ความท้อแท้เข้ามา ด้วยกันรักษากายรักษาใจเอาไว้
เมื่อเราต้องการที่จะทำให้เข้าถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ เราก็เริ่มต้นจากการรักษาศีลในแต่ละขณะ เราก็ดูแลกาย วาจา ของเราให้ดี ไม่ไปเบียดเบียนใคร มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล พูดในสิ่งที่เป็นปิยวาจา และในขณะเดียวกัน เราก็รักษาใจในแต่ละขณะๆ มีอะไรมากระทบ ก็ไม่ปล่อยให้ใจกระเพื่อม หรือว่าใจกระเทือน เจอทุกข์ แต่ว่าสามารถจะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ ไม่ปล่อยให้ความโกรธ ความเกลียด ความท้อแท้ ความเศร้าครอบงำในแต่ละขณะๆ อันนี้แหละมันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะพาเราไปสู่จุดหมายสูงสุดที่เป็นประโยชน์สูงสุดคือ ปรมัตถะ ประโยชน์ขั้นสูงสุด ซึ่งมันเหนือกว่าการมีโชคมีลาภ ความร่ำรวย การประสบความสำเร็จในการงาน หรือแม้กระทั่งการมีครอบครัวที่อบอุ่นด้วยซ้ำ อันนั้นมันเป็นประโยชน์เบื้องต้นไม่ใช่ประโยชน์ที่เป็นระดับปรมัตถ์หรือประโยชน์สูงสุด
มันก็เริ่มต้นจากตรงนี้แหละนะ การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ประโยคนี้เราก็ได้ยินบ่อย ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แต่ความหมายบางทีมันก็คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจไม่ตรงกัน มันมีคำพูด 2 ประโยค ที่พูดทำนองล้อเลียนว่า อย่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่งั้นพรุ่งนี้จะไม่มีอะไรทำ พูดเชิงล้อหรือเพื่อประชด หรืออาจจะเกิดจากความที่ไม่เข้าใจว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด หมายถึงอะไร ที่จริงทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถ้าเราทำจริงๆ ไม่ต้องห่วงว่า พรุ่งนี้จะไม่มีอะไรทำ เพราะว่าการทำวันนี้ให้ดีที่สุดไม่ได้หมายถึง การไปเอางานของพรุ่งนี้มาทำวันนี้ แต่หมายถึงงานของวันพรุ่งนี้ก็ปล่อยให้เป็นงานพรุ่งนี้ไป เช่นพรุ่งนี้นักเรียนจะไปสอบ หรือว่าชายหนุ่มหญิงสาวจะไปสอบสัมภาษณ์ มันเป็นเรื่องวันพรุ่งนี้ ยังไม่ต้องเอามากังวลในวันนี้ วันนี้มีอะไรเป็นหน้าที่ที่เราควรทำ ก็ทำให้ดีที่สุด ถ้าเราทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้ว อย่าไปห่วงว่าพรุ่งนี้จะไม่มีอะไรทำ มันก็ยังมีอะไรให้ทำอยู่เรื่อยๆ อย่างพระเราก็ต้องบิณฑบาตอยู่ทุกวัน มีบ้านต้องกวาด สำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็มีลูกให้ต้องดูแลต้องเอาใจใส่
แต่ว่าสิ่งสำคัญคือว่า ไม่ว่าเรากำลังทำอะไรในแต่ละขณะ เราก็ทำให้มันดีที่สุด ทำวันนี้ให้ดีที่สุดหมายความว่า อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ วันนี้ ชั่วโมงนี้ วินาทีนี้ มันมีค่า ถ้าเราใช้แต่ละนาที แต่ละชั่วโมง แต่ละวัน อย่างมีคุณค่า ทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยไร้ประโยชน์ เช่น เอาแต่เพลิดเพลินสนุกสนานเฮฮา อันนี้ก็เรียกว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุดเหมือนกัน คือเป็นการอยู่อย่างไม่ประมาท เป็นการอยู่อย่างไม่เผลอ หลงใหลในความสุขเฉพาะหน้า จนลืมสิ่งที่ควรทำ
เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยู่อย่างไม่ประมาท ใช้เวลาแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละนาทีให้มีคุณค่า อันนี้ก็เรียกว่าเรากำลังทำวันนี้ให้ดีที่สุด
เจอปัญหาเจอเหตุร้ายก็ไม่บ่นไม่โวยวายไม่ตีโพยตีพาย แต่ว่ายอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราปล่อยใจให้เป็นทุกข์ โวยวายตีโพยตีพาย ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น นี้แสดงว่าเราก็ยังไม่ได้อยู่กับความจริง เราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะ เรากำลังอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็น หรือสิ่งที่อยากจะให้เป็น ไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง
การอยู่กับปัจจุบันขณะ รวมถึงการอยู่กับความเป็นจริง และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และทำหรือเผชิยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุด ซึ่งในแง่หนึ่งคือการรักษาใจ ไม่ให้ท้อแท้ ไม่ให้เป็นทุกข์ ไม่ให้กลัดกลุ้ม
เมื่อเจ็บป่วยก็ยอมรับความจริงว่า นี่เราไม่สบายแล้ว ป่วยการที่จะโวยวายตีโพยตีพายหรือว่าโกรธแค้นคนนั้นคนนี้ว่าทำให้เราป่วย แต่ว่ายอมรับ อย่างน้อยก็รักษาใจ ให้มันป่วยจะกาย แต่ว่าใจไม่ป่วยไปด้วย แล้วขณะเดียวกันเยียวยารักษาตัวให้ดีที่สุด
นี้คือแง่หนึ่งของความหมาย เป็นความหมายแง่หนึ่งของการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเป็นสิ่งสำคัญมากของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเราจะมุ่งหมายความสำเร็จในทางโลก หรือประโยชน์สูงสุดในทางธรรม การที่เราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้หรือการดับทุกข์ได้
ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงการที่เราหยั่งถึง ชัดเจน แจ่มแจ้งในสัจธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเรารู้ชัดในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การดับทุกข์ หรือการทำที่สุดแห่งทุกข์ มันก็จะเกิดขึ้นได้ แต่การที่คนเราจะรู้จักในสัจธรรม มันเริ่มต้นด้วยขั้นตอนที่พื้นฐานที่สุด ก็คือว่าการรู้ตัว ก่อนจะรู้ความจริง รู้สัจธรรม เราต้องเริ่มจากการที่รู้ตัวในแต่ละขณะๆ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ และสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องทำในขณะนี้เลย ถ้าแต่ละขณะๆ เราปล่อยใจให้ลอย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว สวดมนต์ก็ไม่รู้ตัว ใจลอย กินข้าวก็ไม่รู้ตัว เพราะคิดนั่นคิดนี่ เดินไปบิณฑบาตก็เดินแบบเบลอๆ เพราะว่าใจไหลไปอดีตลอยไปอนาคต
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความรู้ตัวแบบนี้ เราก็เรียกว่ายังทำปัจจุบันให้ดีที่สุดไม่ได้ หรือยังพูดไม่ได้ว่า เราทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะว่าในแต่ละขณะๆ เรายังไม่รู้จักดูแลรักษาใจ ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง จะปล่อยวางขันธ์ ๕ ได้ จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งกองทุกข์หรือนิพพานได้ ต้องเริ่มต้นจากการปล่อยวางสิ่งที่เป็นอดีตสิ่งที่เป็นอนาคต
ถ้าเราทำแต่ละขณะๆ ทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว หรือมีสติอยู่กับการทำอะไรก็ตาม อันนั้นแหล่ะคือ สิ่งที่เป็นขั้นตอนสำคัญเลยในการที่จะเข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต อย่างที่บอกว่าแม้ว่าจุดหมายจะอยู่ไกลแค่ไหน ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี ถึงแม้ว่าเราจะบอกไม่ได้ว่าดีที่สุด เพราะว่าคำว่าดีที่สุดมันเป็นแค่สำนวน หลายคนมักจะพูดว่า ฉันทำดีที่สุดแล้ว แต่ที่จริงแล้วอาจจะทำให้ดีกว่านั้นก็ได้
เราอาจจะตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้มันดีที่สุดหรือเปล่า แต่เราสามารถจะบอกได้ว่าเราทำเต็มที่ไหม และการทำเต็มที่ในทางพระพุทธศาสนาคือการอยู่กับปัจจุบัน อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะฉะนั้น เวลาเราเดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือเวลาทำความเพียร เราก็อยู่กับแต่ละขณะที่เราประสบ รู้กายเคลื่อนไหวรู้ใจคิดนึก แต่ละขณะที่กายเคลื่อนไหว ก็เห็น หรือรู้สึก เมื่อใจคิดนึก ก็เห็นอาการของใจที่เกิดขึ้น เราจะมาเพราะหวังอะไรก็ตาม เช่น คาดหวังให้ใจสงบ อยากให้เกิดปัญญา เห็นรูปเห็นนาม อันนั้นคือจุดมุ่งหมายแต่พอถึงเวลาลงมือปฏิบัติ เราก็ต้องวางจุดมุ่งหมายหรือว่าความคาดหวังนั้น นั่นคืออนาคต
สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราควรทำคือ การอยู่กับปัจจุบัน มันฟุ้ง ก็รู้ว่ามันฟุ้ง มันเครียดก็รู้ว่ามันเครียด แม้มันจะไม่ใช่ความสงบที่คาดหวัง อันนั้นเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน อะไรเกิดขึ้นเราก็รับรู้ แล้วก็ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไสมัน แม้มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา เช่น ความฟุ้ง ความเครียด ความวิตกกังวล เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีสติรู้อาการของใจในแต่ละขณะๆ โดยที่ไม่ไปปล่อยใจให้หลงลอย จมหรือหมกมุ่นอยู่กับเป้าหมาย ไม่ว่ามันจะอยู่ใกล้หรือไกลแค่ไหน อันนั้นเรียกว่าเราอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี ซึ่งเราทำได้ทุกเวลาเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทำอะไรก็ตาม
ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เป้าหมายที่เราคาดหวังเป็นอันโมฆะได้เลย หรือว่าก็จะทำด้วยความทุกข์ เหมือนคนที่เดินทางด้วยความทุกข์ระทม ด้วยความเครียด ด้วยความล้า แต่บางทีไปไม่ถึง เพราะว่าร่างกายสังขารมันไม่ให้ มันไม่อำนวย แต่ถ้าเดินไปโดยที่ไม่เร่งไม่รีบ ใจไม่อยู่กับเป้าหมายแต่อยู่กับปัจจุบัน เดินสบายๆถึงเวลาพักก็พัก ถึงเวลาเดินก็เดิน ก็กลับกลายเป็นว่า กลับถึงได้ อาจจะเร็วกว่าคนที่อยากจะถึงไวๆด้วยซ้ำ อยากถึงเร็วกลับถึงช้า แต่พอไม่อยากถึงเร็ว มันกลับถึงเร็วกว่าคนที่อยากจะไปถึงเป้าหมายเร็วๆ บางทีไปไม่ถึงนะ เพราะว่าขับรถเร็วแล้วเกิดอุบัติเหตุ เพราะใจเขาไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เพราะไม่ระมัดระวัง แต่ใจที่อยู่กับปัจจุบัน ขับรถอย่างมีสติ และจะขับไม่เร็ว แต่ว่าอาจจะถึงเร็วกว่าคนที่อยากจะถึงไวๆก็ได้ เพราะว่าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เราต้องวางใจให้ถูก นอกจากมีเป้าหมายที่ประเสริฐที่มีคุณค่าแล้ว ก็ต้องรู้จักวางใจให้ดี เมื่อลงมือปฏิบัติก็ให้รู้จักอยู่กับปัจจุบันให้ได้ และการอยู่กับปัจจุบันแต่ละขณะๆ ถ้าเราไม่หยุด ไม่ทิ้งความเพียร ในที่สุด ก็ต้องถึงเป้าหมายได้ในที่สุด
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 25 มิถุนายน 2564