แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาเราเดินจากกุฏิมาหอไตรเพื่อมาทำวัตร เราเคยถามตัวเองไหมว่า มาทำวัตรเพื่ออะไร บางคนมาทำวัตรช่วงเย็นเป็นปีๆ ถ้านับจำนวนครั้งก็อาจจะเป็นหลายร้อยหรือหลายพันครั้งแล้ว แต่บางคนก็เพิ่งมาทำวัตรได้ไม่กี่ครั้ง แต่จะกี่ครั้งก็ตาม ลองถามตัวเองว่า มาทำวัตรสวดมนต์เพื่ออะไร อะไรคือจุดมุ่งหมายของเราในการมาทำวัตร หลายคนอาจจะไม่เคยถามเลยเพราะว่าหรือว่าทำตามๆเขา หรือว่าเห็นเป็นหน้าที่ ซึ่งก็ดีที่ยังเห็นเป็นหน้าที่ ยังดีกว่าไม่ทำหน้าที่ หรือไม่เห็นเป็นหน้าที่ บางคนก็อาจจะทำด้วยความเคยชิน เพราะทำอย่างนี้มานานกลายเป็นกิจวัตร กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว อันนั้นก็ยังดีตราบใดที่ยังมาทำวัตร ดีกว่าไม่มาเพราะความเกียจคร้านหรือขาดความสำนึกต่อส่วนรวม
แต่ยิ่งจะให้ดี ก็ต่อเมื่อเรารู้จุดมุ่งหมายของการมาทำวัตร หรือว่าเห็นประโยชน์ของมัน อันนี้ก็สัมพันธ์กันเพราะถ้าเราเห็นประโยชน์ และเราตระหนักว่าเป็นประโยชน์ที่ดี มันก็เกิดแรงจูงใจในการที่จะมาทำวัตร เห็นเป้าหมายของการมาทำวัตรสวดมนต์
ประโยชน์ที่ว่า ถ้าจะให้ดีก็ควรจะเป็นประโยชน์จากภายใน หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับภายใน ถ้าเป็นประโยชน์จากภายนอกหรือเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายการยอมรับจากภายนอก มันก็อาจจะไม่ดีเท่าไร เช่น มาทำวัตรเพื่อจะให้คนมองว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ปรารถนาจะให้คนเขายกย่องนับถือเรา หรือเพราะกลัวว่าเขาจะต่อว่าเรา เขาจะมองเราในทางลบ ก็เลยมาเพื่อให้เขายอมรับ อันนี้ก็เป็นประโยชน์ แต่มันเป็นประโยชน์จากภายนอก ซึ่งมันไม่ดีเท่ากับประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายใน เช่น มาทำวัตรเพื่อให้เกิดการตอกย้ำในศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย เป็นโอกาสที่จะน้อมใจให้สงบ ชำระจิตใจให้หายหม่นหมอง ทำงานมาทั้งวันหรือว่าผ่านอะไรมามากมาย บางทีมันก็ลืมตัว ปล่อยใจไปตามสิ่งแวดล้อมภายนอก เกิดอารมณ์อกุศลขึ้นหรือเกิดความเหนื่อยล้าจากอารมณ์ผันผวนแปรปรวนขึ้น พอมาทำวัตรมันก็ช่วยทำให้ใจสงบ ไม่ต้องไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้เกิดความกังวล ให้เกิดความวิตกหรือเกิดความเครียด
การที่เรามาสวดมนต์ น้อมนึกถึงสิ่งดีงามที่เรานับถือในช่วยทำให้ใจเป็นกุศล เกิดความสงบ หรือเพื่อฝึกสติ เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ถ้าเราเห็นคุณค่าของการทำวัตรสวดมนต์ ก็จะทำให้การมาทำวัตรสวดมนต์มีเป้าหมาย แล้วก็เป็นสิ่งที่เรายินดีที่จะทำ ถึงแม้ไม่มีใครมาทำเลย หรือว่ามีคนมาทำน้อย หรือถึงแม้จะมีคนขาดทำวัตรเยอะ เราก็ไม่ใช้สิทธิ์ขาด หรือโดดไปกับเขาด้วย เราก็มาทำ เพราะว่าเราเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ มันจะเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าฉันทะ
ฉันทะเป็นสิ่งสำคัญมาก เวลาเราทำอะไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะทำวัตรสวดมนต์ โดยเฉพาะการทำสิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่ไม่ได้ปรนเปรอตอบสนองกิเลส ถ้าหากว่าเรามีฉันทะ มันจะทำให้เราเกิดแรงจูงใจในการที่จะทำสิ่งนั้น แต่สมัยนี้คนทำอะไรก็ตามมักจะขาดฉันทะ คือไม่ได้ทำด้วยใจรัก ฉันทะแปลว่าชอบ ความอยาก มันมีอยากอยู่ 2 ประเภท อยากทำกับอยากได้ อยากทำคือฉันทะ อยากได้คือตัณหา
อยากได้นั้นไม่อยากทำ แต่ว่าถ้าจะทำก็ทำด้วยความจำใจ แต่ถ้าได้โดยที่ไม่ต้องทำ ก็เอา เช่น คนอยากรวย คนอยากรวยนั้นเขาไม่อยากทำงาน แต่ที่เขาทำเพราะมันไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามีทางเลือกโดยไม่ต้องทำแต่รวย เขาก็เอา เช่น เล่นหวย ซื้อลอตเตอรี่ หรือว่าไปบนบานศาลกล่าว หลวงพ่อที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือไปให้พระพรมน้ำมนต์ ให้เกิดโชคเกิดลาภ จะได้รวยทันตาเห็น ที่ไหนที่บอกว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยให้รวยได้เร็ว ก็ไป เดี๋ยวนี้มีพระเจ้าหรือพระพุทธเจ้าทันใจนี่มีเยอะมาก แต่ก่อนนี้มีเฉพาะที่ประเทศพม่า ต้องไปคนก็แห่กันไปจะไปกราบหลวงพ่อทันใจ ทันใจคือรวยทันใจ แต่ตอนหลังมานี้เมืองไทยก็มีเยอะ คนก็ไปเพราะอะไร เพราะอยากรวย วิธีอะไรก็ตามที่รวยได้ไม่ต้องทำ ก็เอาทั้งนั้นแหละ หนักกว่านั้นก็คือไปโกงโกงนี่มันก็ไม่ได้เหนื่อยอะไร มันเป็นวิธีทางลัดที่ทำให้รวยเร็ว อันนี้เรียกว่าตัณหา เป็นความอยากได้
ส่วนอยากทำ มันอีกอย่างหนึ่ง คือเพียงแค่ได้ทำก็มีความสุขแล้ว ถ้าเรามีความอยากทำหรือฉันทะ การมาทำวัตรสวดมนต์ก็ดี หรือว่าการมาปฏิบัติธรรมก็ดี มันก็จะไม่ใช่เป็นเรื่องลำบากลำบน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องฝืนใจทำ แต่มันเกิดความรู้สึกยินดีที่จะทำ เพราะมีใจรัก มีฉันทะ และฉันทะมีได้ก็เพราะว่าเห็นประโยชน์เห็นคุณค่า และคุณค่าหรือประโยชน์ที่ว่านี้เป็นคุณค่าหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นในใจหรือเกิดขึ้นภายใน ไม่ใช่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นการได้เงินได้ทอง หรือว่าได้ชื่อได้เสียง หรือได้คำยกย่อง อันนั้นเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งถ้าปรารถนาคุณค่าแบบนั้น ประโยชน์นั้นมันก็กลายเป็นตัณหาไป
คนเราไม่ว่าพระหรือฆราวาส ไม่ว่าจะทำงานทางโลกหรือทำงานทางธรรม ถ้าหากว่ารู้จักสร้างฉันทะให้เกิดมีขึ้น การทำอะไรก็ตามก็จะมีเป้าหมาย แล้วก็เกิดความสุข แม้แต่สิ่งที่คนเขามองว่ามันยากมันลำบาก อย่างเช่น นักเรียนถ้าเขามีฉันทะในการเรียน เขาจะเรียนอย่างมีความสุขมากเลย ที่เขามีฉันทะเพราะเขาเห็นประโยชน์ของการเรียน การเรียนทำให้เขามีความรู้ ยิ่งเขามีความใฝ่รู้ ความใฝ่รู้อยากรู้สิ่งต่างๆก็จะทำให้เขาเกิดฉันทะ แล้วเกิดความขยันตามมา
ฉันทะกับวิริยะนี่มันมาด้วยกัน มีฉันทะในการเรียนก็เกิดความเพียรในการศึกษา เจอการบ้านก็ไม่กลัวไม่รังเกียจ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องท้าทาย อยากจะลองปลุกปล้ำดูจะได้ความรู้ แม้จะทำผิด แต่ได้ความผิดเป็นครู ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ได้กำไร คือได้ความรู้แม้จะทำผิด
เด็กสมัยนี้ไม่มีหรือไม่รู้จักฉันทะในการเรียน เขาก็เรียนด้วยความทุกข์ทรมาน เว้นแต่มีตัณหามาเป็นตัวล่อ ตัณหาก็คือรางวัล รางวัลจากพ่อแม่จะซื้อโทรศัพท์มือถือให้ ถ้าไปเรียนทุกวัน ทำการบ้านทุกวัน หรือเรียนจบ บางทีถ้ารวยหน่อยก็ซื้อรถให้สำหรับลูกที่เป็นนักศึกษา หรือว่าเรียนเพราะว่ากลัว กลัวจะถูกครูตี กลัวจะถูกพ่อแม่ลงโทษ อันนี้ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เป็นวิภวตัณหา ความอยากหนี ความอยากออกห่าง ไม่อยากเจอความเจ็บความปวดเลยต้องขยัน หรือว่าเรียน แต่เป็นการเรียนแบบขอไปที หรือไม่เช่นนั้นก็เรียนเพื่อจะเอาคะแนน เด็กจำนวนไม่น้อยไม่ได้เรียนเพราะมีความรักในความรู้ แต่เรียนเพราะอยากจะได้คะแนนจะได้เกรดมากๆ และถ้าได้เกรดโดยที่ไม่ต้องขยัน ก็ยิ่งดียิ่งชอบ เพราะว่าตัณหามันอยากได้ ไม่อยากทำ
คนเรา ถ้าหากว่าไม่มีฉันทะหรือไม่รู้จักฉันทะ การทำอะไรที่เป็นเรื่องของการลงไม้ลงมือ แม้จะมีประโยชน์ มันก็กลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ สู้ไปเที่ยวไปสนุกสนานไปดูหนังฟังเพลงไม่ได้ อันนั้นมันตอบสนองตัณหาล้วนๆเลย การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเรามีฉันทะในการปฏิบัติ การปฏิบัติมันก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ เหมือนกับการเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อจำเจสำหรับเด็กที่มีฉันทะ ถ้าเราไม่มีฉันทะในการปฏิบัติ มันก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อขึ้นมา เป็นเรื่องความจำใจ
และที่ไม่มีฉันทะ ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ว่าทำไปทำไม หรือไม่รู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร แต่เมื่อไรก๋ตามที่เห็นประโยชน์ของมัน เช่นทำแล้วจิตใจเกิดความสงบ รู้สึกโปร่งโล่งสบาย ความเครียดหายไป พอเห็นประโยชน์จากตรงนี้มันก็เกิดฉันทะขึ้นมา เห็นคุณค่า พอเห็นคุณค่าก็เกิดความชอบ เกิดฉันทะและเกิดความเพียร แต่ก็ต้องระวัง ถ้าไม่ระวัง มันก็กลายเป็นตัณหาขึ้นมาได้
อย่างนักเรียนที่ขยันเรียน มีความสุขที่ได้เรียน ถึงเช้าวันจันทร์ก็ตื่นขึ้นมาอย่างกระชุ่มกระชวย เพราะอยากจะไปเรียนหนังสือ พอเรียนได้ดี ได้คะแนนดี ก็เกิดความยึดติดในคะแนน เดิมก็มีความสุขกับการเรียน แต่ตอนหลังเริ่มนึกถึงคะแนนขึ้นมาหรือเกรด เวลาสอบแต่ก่อนไม่ใช่เรื่องลำบากใจ เพราะว่าเรียนไม่ได้เพื่อจะเอาคะแนน เรียนเพื่อเอาความรู้ แต่พอเรียนได้ดีได้คะแนนเยอะ มันก็เกิดความหลง ยึดติดในคะแนนขึ้นมา เกิดสอบแล้วได้คะแนนไม่ดี คราวนี้ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาแล้ว ทั้งที่แต่ก่อนไม่ได้เรียนเพื่อเอาคะแนนเลย เรีอนเพราะอยากได้ความรู้ แต่ตอนหลังก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะว่าไม่ได้คะแนนดีอย่างที่เคยได้ คราวนี้เรียกว่าตัณหาเข้ามาแทรกแล้ว
มีเรื่องเล่า มีครูคนหนึ่ง แกเป็นครูที่ดี แต่ตอนหลังเริ่มมีความเครียด เพราะว่าครูใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร มีความขัดแย้งกับครูใหญ่ ไม่รู้ทำยังไง ใกล้ๆโรงเรียนมีวัด ชื่อวัดสระเกศหรือวัดภูเขาทอง เครียดมากๆก็เลยเดินขึ้นไปที่ยอดภูเขาทอง บันไดมันมีเป็นร้อยๆขั้นเลย พอไปถึงยอดภูเขาทอง มองออกไปทั่ว ได้เห็นท้องฟ้ากว้าง จิตใจโปร่งโล่งสบาย ก็เลยติดใจ แม้จะไม่มีความเครียด ไม่ได้มีความขัดแย้งกับครูใหญ่แต่ว่าทุกวันก็หาโอกาสขึ้นไปบนยอดภูเขาทอง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าก่อนโรงเรียนเปิดเรียน และตอนเลิกเรียน ไปแล้วสบายใจ หลังๆเที่ยงๆก็เดินขึ้นไปบนยอดภูเขา แล้วก็กลายเป็นกิจวัตรเลยเพราะว่าเกิดความรู้สึกผ่อนคลายสบาย
แกก็ทำอย่างนี้เป็นปีๆเลย เดินขึ้นไปบนยอดภูเขาทองวันละ 3 ครั้ง 4 ครั้ง เป็นปีๆ อันนี้เรียกว่าเกิดฉันทะแล้ว แม้ว่าจะเหนื่อยแต่ว่าเห็นประโยชน์ ทำอย่างนี้มา 2 - 3 ปี วันหนึ่งก็มีนักข่าว อยากจะไปทำข่าวเกี่ยวกับภูเขาทอง ก็ได้ฟังจากเจ้าหน้าที่ที่นั่น บอกว่ามีครูคนหนึ่ง แกชอบขึ้นภูเขาทองมา 2 - 3 ปีแล้ว รวมก็เป็นพันๆครั้งแล้ว มีตัวเลข เพราะว่าขึ้นแต่ละทีก็มีการจดว่าใครขึ้นใครลงบ้าง นักข่าวก็เลยสนใจว่า มีคนอย่างนี้ด้วยหรือ เดินขึ้นลงภูเขาทองเป็นพันๆครั้ง ตอนหลังก็ไปสัมภาษณ์ แล้วก็ลงหนังสือพิมพ์ ก็เริ่มดังรายการโทรทัศน์ก็มาทำข่าวมาทำสารคดี บางทีก็ไปออกรายการ ดังใหญ่เลย คนก็เลยเรียกว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทอง
แต่ถึงจะดังอย่างไร แกก็ยังทำตามกิจวัตรเดิม ขึ้นภูเขาทองทุกวัน แต่ตอนหลังพอดังมากๆ ก็มีคนก็อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง อยากจะมีชื่อว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทอง เพราะว่ามันดัง ก็มีคนหนึ่งพยายามขึ้นภูเขาทองทุกวัน ขึ้นวันละหลายครั้ง เพื่อทำลายสถิติ อยากเป็นแชมป์ขึ้นภูเขาทอง ตอนหลังเรียกว่าไล่ตามมาติดๆเลย ส่วนครูคนนั้นแต่ก่อนแกก็มีฉันทะในการขึ้น ขึ้นด้วยความสบายใจ แต่พอตอนหลังได้เป็นแชมป์ แกเกิดความหวงในตำแหน่งนี้ขึ้นมา
แล้วพอรู้ว่า จะมีคนมายึดตำแหน่งนี้ จะมาเป็นแชมป์แทน แกก็เกิดความเครียดขึ้นมาแล้ว ไม่อยากให้ใครมาเป็นแชมป์แทน ก็เลยต้องพยายามขึ้นภูเขาทองเยอะๆ จะได้เป็นแชมป์ไปเรื่อยๆ ไม่มีใครมาแย่งได้ จากเดิมที่ขึ้นไปยอดภูเขาทองเพราะความสบายใจเพราะความสมัครใจ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นความจำเป็นแล้ว ไม่ขึ้นก็ไม่ได้ กลัวเสียแชมป์ ก็กลายเป็นว่าไม้ได้มีความสุขกับการขึ้นภูเขาทองแล้ว มีความทุกข์ อันนี้เรียกว่าอะไร ฉันทะมันหายไปแล้ว ตัณหามาแทนที่
แต่ก่อนมีฉันทะในการขึ้นภูเขาทอง เพราะมีความสุขความสบายใจ แต่ตอนหลังเกิดตัณหาขึ้นมา อยากเป็นแชมป์อยากครองแชมป์ไปเรื่อยๆ หวงแหนในตำแหน่งแชมป์นี้ การขึ้นภูเขาทองก็เลยกลายเป็นความจำใจ ยิ่งมีคู่แข่งกำลังจะเอาชนะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งเครียด อันนี้คือความแตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะ
เวลาเราปฏิบัติธรรม พยายามสร้างฉันทะให้เกิดขึ้น ถ้าเรามีฉันทะในการปฏิบัติ ในการเดินจงกรม ในการเจริญสติ ในการมาทำวัตร ในการทำความเพียร แม้เราจะทำกี่ครั้ง ๆ มันก็ไม่รู้สึกเบื่อ แต่ถ้าไม่มีฉันทะ ทำบ่อยๆทำซ้ำๆมันก็กลายเป็นความเบื่อขึ้นมา ถ้าไม่มีฉันทะในการบวช ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติ กิจวัตรในแต่ละวันๆ ทำซ้ำไปซ้ำมา วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ไม่ทันถึงปีก็เบื่อแล้ว เพราะว่าเป็นการทำโดยที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่เห็นคุณค่า และเป็นการทำที่ไม่มีฉันทะ มันก็กลายเป็นการทำโดยไร้ชีวิตชีวา
ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีฉันทะในการปฏิบัติ ในการเจริญสติ ในการทำความเพียร ตื่นเช้าขึ้นมาทุกวัน มันจะรู้สึกมีชีวิตชีวา เพราะเราจะได้ทำในสิ่งที่เรารัก เหมือนกับนักเรียน พอถึงเช้าวันจันทร์ แทนที่จะห่อเหี่ยวเพราะว่าจะต้องไปโรงเรียน เบื่อ ก็กลับกระตือรือร้น เพราะว่าจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในสิ่งที่ตัวเองรัก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ารู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร หรือว่าทำไปเพื่ออะไร ยิ่งเรียนก็ยิ่งสนุก ยิ่งเรียนก็ยิ่งมีความสุข
นักปฏิบัติถ้าเราตื่นเช้าขึ้นมา เรารู้ว่าเราจะได้ทำสิ่งที่เรารัก แม้ว่ามันจะดูซ้ำซากจำเจในสายตาคนอื่น แต่ว่าเรามีฉันทะ เรามีความชอบเรามีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รัก แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ฉันทะมันกลายเป็นตัณหาขึ้นมา พอปฏิบัติไปๆ มันเกิดความอยาก ไม่ได้อยากทำแต่อยากจะบรรลุ อยากจะได้ความสงบ อยากจะได้คุณวิเศษ อันนี้อยากได้ การทำก็เลยไม่ค่อยมีความสุขแล้ว เพราะว่าทำแต่ละทีก็คอยนึกว่า ได้โน่นได้นี่ ครั้นไม่ได้อย่างที่ใจนึกใจหวังก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความผิดหวังขึ้นมา
หลายคนเวลาปฏิบัติ ไม่รู้ตัวว่า ทำไปด้วยอำนาจของตัณหา ทำไปเพราะความอยากได้ ไม่ใช่อยากได้เงินได้ทอง แต่ว่าอยากจะได้ความสงบบ้าง อยากจะได้คุณวิเศษบ้างล่ะ ใจไปอยู่กับความคาดหวังผล แต่ไม่ได้อยู่กับการปฏิบัติ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน แต่อยู่กับผลที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า หรือคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า มันก็เลยทำด้วยความเครียด
ถ้าทำด้วยฉันทะ การทำอะไรก็ตามมันกลายเป็นการทำแบบสบายๆ เป็นการทำโดยไม่หวังผล คิดว่าเป็นการทำเล่นๆก็ได้ ทำเล่นๆทำโดยไม่หวังผล โดยเฉพาะผลที่ไปสนองกิเลส อย่างนักขึ้นภูเขาทอง แกก็ทำเล่นๆ ทำสบายๆ ขึ้นภูเขาทอง เพราะว่าไม่ได้หวังผลอะไร แต่พอหวังผลขึ้นมา มันกลายเป็นความเครียดแล้ว เวลาเราเจริญสติ ถ้าเราทำเล่นๆทำสบายๆไม่ได้หวังผลอะไร แต่มีความยินดี มีความสุขที่ได้ทำ มันก็ทำไปได้เรื่อยๆ มันไม่ได้สุขแบบสนุกสนาน แต่ว่ามันก็ไม่ได้มีความเบื่ออะไร
หลายคนไม่สามารถจะมาถึงจุดนี้ได้ เพราะว่ามันนึกถึงแต่ผลที่อยากได้ การนึกอยากได้ผล แม้จะเป็นความสงบก็ตาม มันก็กลายเป็นทำให้ตัณหาครอบงำจิต ปิดช่องที่ฉันทะจะเกิดขึ้นได้ แต่ลองวางความคาดหวังในผลลง จะเป็นสติ จะเป็นความสงบก็ตาม เราก็ไม่คาดหวัง ใจไมันจะฟุ้งไปบ้างก็ช่างมัน แต่เราก็จะทำไปเรื่อยๆ ทำไปไม่ใช่เป็นเพราะว่ามันเป็นความเคยชิน หรือเป็นกิจวัตร หรือเป็นหน้าที่
แต่ทำเพราะว่ามีความชอบที่ได้ทำ ซึ่งแน่นอนส่วนหนึ่ง มันก็เกิดจากการที่ได้เห็นประโยชน์เห็นอานิสงส์ของการปฏิบัติด้วย พอเห็นอานิสงส์ของการปฏิบัติ ก็ทำให้เห็นคุณค่า พอได้เห็นคุณค่า ก็เกิดฉันทะ เกิดความชอบ พอเกิดความชอบก็เกิดความเพียรขึ้นมา เป็นความเพียรที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดหวังผลหรือไม่ได้มีตัณหาเป็นแรงผลัก แต่เป็นเพราะมีฉันทะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
ถ้าเรามีฉันทะในการปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่วัด ถึงแม้ว่าจะสิกขาลาเพศไป มันก็ยังยังทำอยู่นั่นแหละ เพราะว่ามันเป็นความชอบ ก็คงไม่ต่างจากเรามีฉันทะในการอาบน้ำ ในการถูฟัน ไม่ต้องมีใครบังคับเรา เราทำเองเพราะเราเห็นคุณค่าของมัน วันไหนที่ไม่ได้ทำรู้สึกขาดอะไรไปบางอย่าง มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเพราะว่าเราเห็นคุณค่า เพราะมันเกิดฉันทะขึ้นมา การปฏิบัติก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ ถ้าเราเกิดฉันทะเพราะเห็นคุณค่า
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 24 มิถุนายน 2564