แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้าถามว่าบ่ายวันจันทร์ เราทำอะไรหรือว่าอยู่ที่ไหน หลายคนก็ตอบได้เพราะว่ามันเพิ่งมาไม่กี่วันนี้เอง หรือบางคนก็สามารถที่จะตอบได้ว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ตอนเช้า 9:00 น อยู่ที่ไหน ทำอะไร แต่ว่าก็อย่ามั่นใจในคำตอบของตัว เพราะว่าความจำของคนเรา มันวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไม่สามารถที่จะมั่นใจในความจำของเราได้เลย อย่าว่าแต่เหตุการณ์เมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมาหรืออาทิตย์ที่แล้วเลย บางทีเหตุการณ์ที่สดๆร้อนๆ ความจำของเราอาจจะคลาดเคลื่อนก็ได้
อย่างมีอาจารย์คนหนึ่ง กำลังบรรยายต่อหน้าชั้น มีนักศึกษาเป็นร้อย บรรยายเรื่องกฎหมายอาญา กำลังบรรยายอยู่ดีๆก็มีคนหนึ่งเข้ามาในห้องบรรยาย แล้วก็มาที่อาจารย์คนนั้น รีบคว้ากระเป๋าของอาจารย์ออกจากห้องไปเลย คนตื่นตระหนกตกใจทั้งห้อง สักพักอาจารย์ก็ให้ทุกคนอยู่ในความสงบ แล้วก็ถามนักศึกษาว่าคนเมื่อตะกี้รูปร่างลูกสัณฐานเป็นอย่างไร ให้เขียนใส่กระดาษว่า สูงเท่าไหร่ ผมสีอะไร เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ใส่เสื้อ กางเกงสีอะไร
ปรากฏว่า คำตอบที่ได้จากนักศึกษาเป็นร้อย ไม่ตรงกัน บางคนก็ตอบออกทะเลไปเลย ใส่เสื้อสีอะไรก็ว่าไปกันคนละสี กางเกงก็เหมือนกัน ส่วนสูงด้วย สีผมด้วย ก็ตอบไม่ตรงกัน เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ 4-5 นาที แต่ทำไมถึงตอบไม่ตรงกัน เพราะความจำของแต่ละคนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นเหตุการณ์เมื่อ 3-4 วันก่อน หรืออาทิตย์ที่แล้ว หรือเดือนที่แล้ว ก็อย่ามั่นใจในความจำของเรา ว่ามันจะเที่ยงตรง
เมื่อเร็วๆนี้เขาก็มีการทดลอง เอาอาสาสมัครมาประมาณ 50 คน ให้ทุกคนโหลด App ชนิดหนึ่งใส่โทรศัพท์ของตน แล้วก็พกติดตัวไป จะไปอยู่ไหนทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่า App นี้คอยติดตามว่าไปอยู่ที่ไหน เวลาใด เขาให้ทุกคนทำอย่างนี้ประมาณ 1 เดือน แล้ว 1 อาทิตย์ต่อมา เขาก็ถามอาสาสมัคร คำถามในทำนองนี้ว่า วันพุธที่ 26 พฤษภาคม เวลา 08:00 น คุณอยู่ไหน ทำอะไร หรือว่า 13:00 น วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม คุณอยู่ไหน ทำอะไร เหตุการณ์ก็เพิ่งผ่านไปไม่กี่อาทิตย์ หรือไม่ถึงเดือน เขาก็ถามทำนองนี้ แล้วคำตอบก็เป็นให้เลือก ไม่ได้ตอบยากอะไร ให้เลือก มีคำตอบ ก. ข. ค….. a. b. c. ให้เลือกว่า อยู่ที่ไหน ในเวลาใด ไม่ใช่นึกจากความจำล้วนๆ เพราะฉะนั้นก็ตอบง่าย เพราะว่ามีคำตอบให้เลือก แล้วเขาก็เอาคำตอบที่ได้มาตรวจสอบกับข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของแต่ละคน เพราะว่าในโทรศัพท์มือถือของแต่ละคนจะบอกหมดเลยว่า วันนั้นเวลานั้นเขาอยู่ที่ไหน
ปรากฏว่า ทุกคนจะตอบถูกไม่ครบ จะตอบผิดประมาณ 1 ใน 3 ของคำตอบ คำตอบมีประมาณ 70 ข้อ ตอบผิดไปสัก 20 ข้อ แปลว่าอะไร แปลว่าความจำของแต่ละคน มันไม่เที่ยง มันไม่แน่นอน หลายคนเชื่อว่าหรือมั่นใจว่า ฉันจำได้ว่า เวลานั้น วันนั้น ฉันอยู่ไหน ทำอะไร แต่ว่าตอบผิด ที่รู้ว่าตอบผิดเพราะว่าเครื่องมันฟ้อง อันนี้เป็นข้อสรุปของการวิจัยศึกษาว่าคนเรามีความจำไม่ได้เที่ยงตรง แม้แต่เรื่องที่ผ่านไปไม่นาน แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากอะไร เพียงแค่บอกว่า หรือจำว่า ตนเองอยู่ที่ไหนในเวลานั้น
แล้วถ้าเป็นเรื่องอื่นด้วย ยิ่งไปกันใหญ่เลย เช่น จำได้ว่าเขาพูดอะไรวันนั้น เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เขาทำอะไรวันนั้นเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว เราจะพบว่า บางครั้งคนก็ทะเลาะกัน คนหนึ่งจำไปอย่างหนึ่ง อีกคนจำอีกอย่างหนึ่ง ฉันจำได้ว่าเมื่อวานเธอพูดอย่างนี้ อีกคนบอกว่าฉันไม่ได้พูดอย่างนั้น ฉันจำได้ว่าเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเธอตกลงแบบนี้ อีกคนบอกว่าฉันไม่ได้ตกลงแบบนี้ ก็เถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา พ่อลูก หรือว่าเพื่อน บางทีก็เถียงกันเรื่องแบบนี้ โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่า มันเป็นเพราะอความจำของเราไม่เที่ยง มันก็ได้เที่ยงตรง หลายคนมีความมั่นใจในความจำของตัวมาก พอมั่นใจแล้ว คนอื่นเขาจำไม่ตรงกับตัว ก็ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน หาว่าเขาโกหก
บางทีความจำผิดๆถูกๆมันก็เกิดผลเสียร้ายแรงยิ่งกว่านั้น ในอเมริกามีผู้ชายคนหนึ่ง ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ข้อหาข่มขืน ปรากฏว่าเจ้าตัวไม่ได้ทำ 10 ปีต่อมา เขาถูกปล่อย เพราะว่าผลตรวจดีเอ็นเอไม่ตรงกัน หรือสารพันธุกรรมในที่เกิดเหตุไม่ตรงกับของผู้ต้องขังคนนั้น
เขาไม่ได้ทำ แต่ว่าติดคุก เพราะว่าหนึ่ง โจทก์หรือเหยื่อจำคนผิด อันนั้นยังไม่เท่าไร แต่ สอง การที่เจ้าตัวบอกเวลาสถานที่ผิด ตอนที่เกิดเหตุ เวลานั้นตอนค่ำของวันนั้น เขาบอกว่าเขาอยู่ที่ทำงาน แต่ปรากฏว่าหาพยานหลักฐานมายืนยันไม่ได้ว่าเขาอยู่ตรงนั้นในวันที่เกิดเหตุ เวลาที่เกิดเหตุ ก็แสดงว่าโกหก ก็เลยถูกตัดสินจำคุก แต่ต่อมาภายหลังพบว่า เขาจำวันเวลาผิด ไปบอกว่าอยู่ที่สำนักงาน ถูกเวลาถูกวัน แต่ว่าผิดสัปดาห์ คนละสัปดาห์กัน มันก็เลยหาพยานมายืนยันไม่ได้ว่า เขาอยู่ที่สำนักงาน ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ อันนี้เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าจำผิด ก็เลยโดนจำคุกไป ยังดีที่ปล่อยตัวออกมา
เพราะฉะนั้น เรื่องความจำของคนเรา แม้คนที่จำแม่น ก็อย่าไปมั่นใจในความจำของตัวเองมาก เพราะว่ามันผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ เวลาทะเลาะกันเพราะว่าความจำไม่ตรงกัน ก็อย่าไปคิดว่าฉันจำถูก แล้วเธอโกหก บางทีเราเองนั่นแหละที่จำผิด เรียกว่าสัญญาไม่เที่ยง สัญญาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ได้ของเรา สัญญาเป็นอนัตตา ความหมายนี้แหล่ะ มันควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้มันเที่ยงก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปมั่นใจความจำของเรามาก เผื่อไว้บ้างว่า เราอาจจะจำผิด เพราะว่าบางทีเราก็สับสนเหมือนกัน เพราะหลายอย่างผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 18 มิถุนายน 2564