แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อยู่ที่นี่เราตื่นเช้าเป็นกิจวัตรคือตี 3 หลายคนที่เขาไม่ได้เป็นชาววัด จะรู้สึกว่าตี 3 นี้มันเช้ามาก อย่าว่าแต่คนที่ไม่ใช่ชาววัดเลย คนที่อยู่วัดหลายคนก็รู้สึกว่าเช้ามากๆ แต่ก็มีหลายคนที่ตื่นเช้ากว่าพวกเรา บางคนก็ตื่นตี 2 บางคนที่ตื่นตี 1 เป็นกิจวัตร เช่น ชาวบ้านที่ไปรับจ้างกรีดยางหรือว่าพ่อค้าไปรับของไปขายไปจับจ่ายตลาดตั้งแต่ตี 1 ตี 2 คนเหล่านี้เขาตื่นเช้ามาก ที่จริงเขาก็คงอยากจะหลับแล้วก็ตื่นแต่เช้า เช้าในที่นี้หมายถึงสว่าง คงไม่ต่างจากเราที่อยากจะใช้เวลาช่วงนี้ในการนอน พักผ่อน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่อย่างที่ว่ามา เขาต้องตื่นตั้งแต่ตี 1 ตี 2 บางทีก็เที่ยงคืน เพราะอะไร เพราะเป็นความจำเป็นที่ต้องทำมาหากิน ความจำเป็นในทางเศรษฐกิจที่ต้องทำให้ตื่นเช้าขนาดนั้น เพราะเป็นหนทางในการทำมาหากิน เป็นหนทางที่จะมีรายได้ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ไม่มีกิน หรือว่าชีวิตจะฝืดเคือง ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ทำให้เขาต้องทำอย่างนั้น
ไม่เหมือนพวกเรา ที่ไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ต้องตื่นขึ้นมาตี 3 แต่ที่เราตื่นขึ้นมาก็เพราะว่าเห็นว่าการทำเช่นนั้น มันเป็นส่วนสำคัญในการฝึกตน จนเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่เราเลือกคือ ชีวิตของนักบวช ชีวิตของนักภาวนา อันนี้เป็นเพราะว่าเราเห็นคุณค่าบางอย่างที่เราวางไว้เป็นจุดหมาย ทำให้เรามาเลือกมาใช้ชีวิตอย่างนี้ รวมถึงการมีกิจวัตรประจำวันที่ต้องตื่นแต่เช้า คนส่วนใหญ่หรือคนจำนวนมากตื่นเช้ากว่าเราเพราะว่าความจำเป็น อันนี้จะเรียกว่าเป็นแรงผลักก็ได้ ที่ทำให้เขาต้องตื่นขึ้นมา บางคนอาจจะไม่ตื่นเช้าขนาดนั้น แต่ว่าต้องทำงานหนักเพราะแรงผลัก อาจจะเพราะความฝืดเคือง ความยากจน ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
แต่พวกเราส่วนใหญ่ที่มาอยู่วัดแล้วเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะแรงผลัก แต่เพราะว่ามันมีบางสิ่งบางอย่างที่ดึงดูดใจเรา สิ่งนั้นอาจจะได้แก่ ความสงบ อาจจะได้แก่ ความดับทุกข์ หรือนิพพาน หรืออาจจะได้แก่อิสรภาพทางจิตใจ อันนี้มาต่างจากแรงผลักที่ทำให้ผู้คนต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อยากทำ หรือว่าต้องมาทำสิ่งที่มันต้องใช้ความเพียรพยายามมาก
วิถีชีวิตที่เราเลือกก็เหมือนกัน ก็ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก แต่ว่าที่เราเลือกทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะแรงผลัก แต่ว่าเพราะมันเป็นแรงดึง แรงดึงก็หมายถึงสิ่งที่มันดึงดูด หรือบันดาลใจให้เราเลือกทำอะไรบางอย่าง
ในชีวิตของคนเรา จะทำอะไรก็ตาม ที่ทำก็เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งในสองประการนี้ คือแรงผลัก หรือไม่ก็แรงดึง คนเราปกติก็อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากเขยื้อนขยับ แต่ที่เขยื้อนขยับเพราะ หนึ่ง มีแรงผลัก คนเราถ้าไม่หิว ก็ไม่ลุกออกไปหาอาหาร หรือว่าหาซื้ออะไรมากิน แต่บางคนที่ไปหาอาหารหรือว่าไปหาซื้ออะไรมากิน ที่ไปนั้นไม่ใช่เพราะความหิว แต่เป็นเพราะว่ากลิ่นอาหารยั่วยวน อาหารที่อร่อย มันส่งกลิ่นมา ทำให้ลุกไปหาซื้อ หรือบางทีก็แค่นึกถึงรสชาติของอาหารที่อร่อย ก็ลุกขึ้นมาปรุงอาหาร ไม่ได้ทำเพราะความหิว แต่ทำเพราะว่ามันมีสิ่งดึงดูดใจคือ รสชาติของอาหาร กลิ่นของอาหาร อาจจะได้กลิ่นจริงๆหรือในจินตนาการ ความหิวคือแรงผลัก แต่ว่ากลิ่นหอมของอาหาร หรือรสชาติของอาหารคือแรงดึง
นักเรียนหลายคนไม่อยากไปโรงเรียน แต่ที่ต้องไปเพราะอะไร เพราะแรงผลัก กลัวพ่อแม่ลงโทษ กลัวครูต่อว่า หรือกลัวครูตีที่ต้องทำการบ้านทั้งที่ไม่อยากทำ แต่ก็มีหลายคนไปโรงเรียนเพราะมีแรงดึง เพราะความสนุกที่ได้เจอเพื่อน หรือว่าความสุขที่ได้เรียนรู้วิชา โดยเฉพาะคนใฝ่รู้ ไม่ต้องมีอะไรมาผลัก ไม่ต้องมีพ่อแม่มาบังคับ เขาก็ไปโรงเรียน เขาก็ไปศึกษาหาความรู้ เพราะความใฝ่รู้ ความรู้ เหมือนกับแรงดึงดูด ความสุขที่ได้จากการรู้ ได้เห็น มันดึงดูดให้เขาไปโรงเรียนแล้วก็ขยันหมั่นเพียร
ที่จริงหลายคนมาเข้าวัดหรือว่ามาปฏิบัติธรรมก็เพราะแรงผลัก เช่น ความทุกข์ ความเจ็บป่วย ธุรกิจล้มละลาย ความเครียดหนัก อกหัก ไม่เห็นทางออกอย่างอื่น หรือว่ามองว่าธรรมะเป็นที่พึ่งสุดท้าย ความทุกข์ก็เลยผลักให้เขาเข้าหาธรรมหรือว่าเข้ามาปฏิบัติธรรม แต่ว่าพวกเราส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะแรงผลักอย่างนั้น แต่เป็นเพราะว่า เราปรารถนาความสงบ ปรารถนาคุณค่าที่ประเสริฐ ซึ่งเราเชื่อว่าชีวิตพรหมจรรย์หรือชีวิตการปฏิบัติธรรมจะพาเราไปถึงได้ เช่น ความดับทุกข์ อิสรภาพ อันนี้เรียกว่าเรามาอยู่นี่เพราะแรงดึงดูด ซึ่งมันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าเรา ชนิดที่เห็นด้วยตาหรือสัมผัสด้วยจมูกอย่างอาหารที่อร่อย ที่ส่งกลิ่นหอม ที่ดึงดูดให้เราต้องไปหาไปกิน ความสงบ ความตื่นรู้ ความเบิกบาน ความดับทุกข์ มันคือสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเรา เราไม่เห็น เรายังไม่ได้สัมผัส แต่เชื่อว่ามี และมั่นใจว่าชีวิตและการปฏิบัติอย่างนี้จะพาเราไปถึงได้ อันนี้คือแรงดึงดูดที่ทำให้เรามาบวชมาปฏิบัติ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เราเชื่อว่า มันมีอยู่และเข้าถึงได้
หลายคนอาจจะมาบวชเพราะศรัทธาในพระรัตนตรัย ไม่ได้มีใครขับไล่ไสส่งให้มา แต่เป็นเพราะพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เรามา ด้วยอำนาจความศรัทธาอย่างที่เราสวดทุกเช้าว่า เป็นผู้มีศรัทธา ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดึงดูดให้เรามาบวช มาปฏิบัติที่วัด อย่างที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่เรากำหนดไว้ในใจเป็นจุดมุ่งหมาย เป็นความใฝ่ฝัน แต่บางครั้งมันก็ลืมเลือนไปจากใจเรา พอลืมเลือนไปจากใจ แรงดึงดูดก็แผ่วลง ทำให้เราเฉื่อยเนือย
มันต่างจากแรงผลัก โดยเฉพาะแรงผลักที่เป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ความหิว ความยากจน หรือความเจ็บป่วย มันเป็นสิ่งที่คอยผลัก ดุนอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันเขยื้อนขยับก็ต้องทุกข์ ทุกข์เพราะความหิวทุกข์เพราะความเจ็บป่วย มันกระตุ้นมันผลักเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้อยู่เฉยไม่ได้ แต่สิ่งที่ดึงดูดเรามาบวชมาปฏิบัติ มันไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า แต่ว่ามันอยู่ในใจของเรา เมื่อเรากำหนดไว้ให้เป็นจุดมุ่งหมาย แต่ถ้าใจเราลืม ไม่ได้นึกถึง มันก็ไม่มีอะไรที่จะดึงดูด แรงดึงดูดก็น้อยลง ก็ทำให้เราอย่างที่ว่า เฉื่อยเนือย จนบางทีไม่รู้ว่าตื่นเช้ามาทำไม ไม่รู้ว่าทำความเพียรไปทำไม
เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องมากระตุ้นเตือนตัวเองอยู่เสมอ ถึงจุดมุ่งหมายของการมาบวชของเรา ถึงจุดมุ่งหมายของการมาใช้ชีวิตพรหมจรรย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะชีวิตแบบพระหรือแม่ชี หรือจะต้องเป็นพระ แม่ชีเท่านั้น เป็นฆราวาสก็สามารถที่จะดำรงชีวิตพรหมจรรย์ได้ เพราะว่าพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดเฉพาะการมีชีวิตไร้คู่อย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการมีธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง แม้แต่ศีล 5 รักษาศีล 5 ก็ถือว่า มีชีวิตพรหมจรรย์ได้ หรือการพอใจในคู่ครองของตัว ที่ว่าศรัทธา และสันโดษ ก็จัดว่าเป็นพรหมจรรย์ได้เหมือนกัน เพราะพรหมจรรย์แปลว่าชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่กำกับด้วยธรรม
เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตือนตนอยู่เสมอ ถึงจุดมุ่งหมายของการมาใช้ชีวิตพรหมจรรย์ หรือว่าโดยเฉพาะคนที่มาอยู่วัด เพราะไม่เช่นนั้น มันก็จะไม่มีสิ่งที่จะดึงดูดให้เราพยายามที่จะพัฒนาตนด้วยการทำความเพียร ทวนกระแสกิเลส ไม่ใช่แค่ตื่นแต่เช้า แต่รวมถึงการฝึกปฏิบัติให้กลายเป็นวิถีชีวิต แทนที่จะไปแสวงหาความสุข ความเพลิดเพลินอย่างที่เคยทำสมัยที่อยู่นอกวัด
การมาสวดมนต์ทำวัตร มันก็เป็นวิธีหนึ่ง ถ้าเราปฏิบัติถูก มันก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เราระลึกถึงจุดมุ่งหมายของการมาบวชหรือการมาใช้ชีวิตพรหมจรรย์ อย่างเช่น มันช่วยกระตุ้นให้เราเกิดศรัทธา ย้ำศรัทธา หรือเตือนให้เราตระหนักว่า เรามาบวชเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้เกิดขึ้น หรือการดับทุกข์ หรืออย่างน้อยก็เตือนให้ระลึกว่า มันมีความสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุขคือ เนกขัมมะสุข สุขจากชีวิตที่เรียบง่ายสุขที่ปลอดโปร่งจากกาม สุขที่เกิดจากสมาธิ สุขที่เกิดจากการภาวนา พอเราระลึกได้ตรงนี้ มันก็เกิดแรงกระตุ้นในการทำความเพียร แต่บ่อยครั้งเวลาเราสวดมนต์โดยเฉพาะคนที่อยู่วัดนานๆ พอสวดไปๆกลายเป็นความเคยชิน พอกลายเป็นความเคยชินมันก็สวดแต่ปาก แต่ใจไม่รู้ลอยไปไหน ข้อความที่สวดก็เลยไม่มีความหมายต่อจิตใจเท่าไหร่
แต่ถ้าเราใส่ใจกับการสวด แม้ว่าจะสวดเป็นครั้งที่ 1,000 หรือครั้งที่ 5,000 แล้วก็ตาม แต่ละครั้งมีความใส่ใจหรือเอาใจใส่ในการสวด สวดด้วยความรู้สึกตัวนั่นเอง สวดอย่างมีสติ รับรู้ถึงความหมายของทุกประโยคที่เราสวด จะทำอย่างนั้นได้ ต้องมีความรู้สึกตัว ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวเพราะใจลอย มันไม่รู้หรอกความหมายของสิ่งที่เราสวด ถึงแม้ว่าจะสวดถูกก็ตาม เพราะใจไปรับรู้สิ่งอื่นแทน แต่ถ้าใจอยู่กับการสวดเอาใจใส่ลงไปในทุกประโยคทุกวลีที่สาธยาย อาจจะไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง เพราะธรรมชาติของเราก็มีความเผลอบ้าง แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ เราก็จะรับรู้ความหมาย และความหมายที่สวดก็จะช่วยเตือนให้เรารู้ว่าเรามาอยู่ที่นี่เพราะอะไร หรือเพื่ออะไร
ต่อไปมันก็จะไม่ใช่แค่รับรู้ความหมาย ถ้าเรามีความรู้สึกตัวกับการสวดอยู่เรื่อยๆ เราจะเข้าใจความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ บางประโยคบางตอน ใหม่ๆก็ไม่เข้าใจ แต่ว่าพอเราเปิดใจรับรู้ความหมายของการสวด ด้วยการสวดอย่างมีสติ เราก็จะเริ่มเข้าใจทีละนิดๆ หรือเข้าใจเพิ่มขึ้น ยิ่งต่อไปเรามีการใคร่ครวญความหมายด้วย เราก็จะเกิดความเข้าใจธรรมะได้เพิ่มขึ้นๆ แม้ว่าจะเป็นการสวดเป็นครั้งที่ 5,000 หรือเป็น 10,000 ครั้งก็ตาม การสวดแต่ละครั้ง มันจะให้อะไรใหม่ๆแก่เรา แต่อาจจะไม่ใช่ทุกครั้ง แต่ว่าจะให้มา ให้สติ ให้ปัญญากับเราอยู่เรื่อยๆแม้จะสวดเป็น 10 ปี หรือ 20 ปีก็ตาม มันจะไม่ใช่เป็นความซ้ำซากจำเจ แต่ว่าถ้าเราไม่เอาใจใส่ลงไป มันก็จะเป็นอย่างนั้นได้ กลายเป็นความซ้ำซากจำเจขึ้นมา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเราไม่ได้เอาใจใส่ลงไป ที่เราไม่ได้เอาใจใส่ลงไป ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าทำซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน
ความเคยชินหรือสิ่งที่เป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสวดมนต์ หรือว่ากิจอย่างอื่นก็ตาม เช่น บิณฑบาตทำครัว กวาดลานวัด เมื่อมันกลายเป็นนิสัยหรือความเคยชิน เราต้องระวัง เพราะว่ามันจะเปิดช่องความหลงให้เข้ามาครอบงำได้ง่ายมาก เราทำอะไรจนเป็นความเคยชิน ไปๆมาๆก็จะทำด้วยความหลง อย่างน้อยก็ใจลอย ลอยไปโน่นลอยไปนี่ แต่ว่ามันจะไม่ใช่แค่ใจลอยอย่างเดียว มันจะตามมาด้วยปัญหาอย่างอื่น เช่น เกิดความเบื่อ ความเบื่อที่กัดกินใจผู้คนจำนวนมากเพราะว่าทำสิ่งที่ซ้ำๆจนกลายเป็นความคุ้นชินกลายเป็นนิสัย แล้วพอทำบ่อยๆทำซ้ำๆ จนคุ้นชิน ใจก็จะละทิ้งสิ่งที่ทำนั้น ไปจดจ่อทำสิ่งอื่นแทน เพราะว่ามันน่าสนใจ มันน่าตื่นเต้นกว่า อันนี้คือเหตุผลว่า ทำไมถึงใจลอยในเวลาสวดมนต์ หรือใจลอยในเวลาบิณฑบาตร ใจจะไปรับไปเสพสิ่งใหม่ๆสิ่งแปลกๆมากกว่าสิ่งที่เราทำซ้ำๆ
พอใจลอยเข้า ตอนนั้นแหล่ะ สิ่งที่เราทำ มันก็จะกลายเป็นการทำด้วยความรู้สึกที่ไร้ชีวิตชีวา สิ่งที่ทำก็เลยหมือนการทำอย่างตายซาก เพราะว่ามันไม่มีชีวิตชีวาอยู่ในนั้น มันจะมีชีวิตชีวาได้เพราะเมื่อเราเอาใจใส่ลงไป แม้ว่าสิ่งที่ทำ มันจะทำเป็นครั้งที่ร้อยที่พัน แต่ว่ากลายเป็นสิ่งที่สดใหม่ทันทีที่เราเอาใจใส่ลงไป พอมันเกิดความรู้สึกสดใหม่ขึ้นมา มันจะไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อแล้ว เพราะมันจะมีอะไรใหม่อยู่เสมอแม้ว่าจะทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม แต่มันจะไม่ใช่ซ้ำซาก มันจะมีความสดใหม่ เพราะเราทำด้วยความใส่ใจ
เวลาเรามีความรู้สึกตัวขึ้นมา สิ่งรอบตัวมันจะชัด มันจะไม่มัวๆ ไม่เบลอๆ ไม่ว่าสิ่งที่เห็นด้วยตาหรือสิ่งที่ได้ยินด้วยหู แต่ถ้าเราไม่รู้สึกตัวทั้งๆที่ตื่นอยู่ มันก็เหมือนกับเราละเมอ แล้วเผลอๆ มันก็จะมีอาการหม่นมัวเกิดขึ้นตามมา อันนี้เป็นผลของความหลง ผลของความไม่รู้สึกตัว แล้วต่อไปพอทำบ่อยๆ มันก็จะกลายเป็นความเบื่อ ที่ผู้คนทุกวันนี้มีความเบื่อกับหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะเบื่อชีวิตที่ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้านหลายคนบอกว่าต้องทำอะไรซ้ำๆ อยู่นั่นแหละ มาหลายเดือนแล้ว ก็เพราะว่า covid มาบังคับ ทำไปๆ รู้สึกเบื่อหน่าย ที่เบื่อหน่ายเพราะว่าเขาไม่ได้ทำด้วยความใส่ใจ ไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกตัว ถ้าทำด้วยความรู้สึกตัว มันจะมีความรู้สึกสดใหม่เกิดขึ้น สิ่งที่ทำ มันก็จะไม่ใช่สิ่งที่ซ้ำซากจำเจ จนกระทั่งทำให้เกิดความเบื่อ มันจะเป็นสิ่งใหม่เพราะความรู้สึกที่สด ความรู้สึกที่ใหม่ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกตัว เกิดจากการที่เอาใจใส่ลงไป
แต่ว่าความรู้สึกตัวแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะถ้าความที่ทำอะไรซ้ำๆจนรู้สึกว่ามันจำเจ ก็จะทำแบบขอไปที หรือทำไปโดยอัตโนมัติ อันนี้คือเหตุผลที่บอกว่าต้องระวัง อะไรที่เราทำบ่อยๆทำซ้ำๆทำจนเคยชินจนเป็นนิสัย จะทำให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวาหายไป มีความหลงมีความหม่นมัวขึ้นมาแทนที่ แล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา แล้วสุดท้ายสิ่งที่เคยเป็นแรงดึงดูดให้เรามาอยู่ที่นี่ มันก็เจือจางลง แล้วก็เลยคลายความเพียร แล้วก็เลยอยู่ไปวันๆ เสร็จแล้วก็กลายเป็นเบื่อขึ้นมา เรียกว่าหมดไฟ ก็เลยอยู่ไปวันๆ อยู่ไปแบบไม่มีชีวิตชีวา ก็กลายเป็นเสียเวลา ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์
แต่ถ้าเราทำอะไรก็ตามด้วยความรู้สึกตัว โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นกิจวัตร สิ่งที่ทำจนเป็นนิสัย ทำด้วยใจที่ใหม่สดอยู่เสมอ เราจะระลึกได้ถึงจุดมุ่งหมายของการมาบวชของเรา จะทำให้เกิดความเพียร เกิดความพยายาม แม้ว่ามันจะลำบากอย่างไรก็ตาม อย่าว่าแต่ตื่นเช้าเลย ยิ่งกว่านั้นก็ยังทำได้ เพราะว่ามันมีแรงกระตุ้น ไม่ใช่เกิดจากแรงผลัก แต่เกิดจากแรงดึงดูดที่ทำให้เรามีพลังในการที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดมุ่งหมายที่เรากำหนดไว้ในใจหรือใฝ่ฝัน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 18 มิถุนายน 2564