แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเรามีร่างกายและจิตใจ เป็นองค์ประกอบสำคัญ ร่างกายก็มี 2 สภาวะตลอดชีวิต ก็มีแค่ตื่นกับหลับ จิตใจก็เช่นเดียวกันมี 2 สภาวะคือ รู้กับหลง รู้หมายถึงรู้ตัว แต่เราสังเกตไหม ร่างกายเรามักจะหลับเป็นเวลา แต่ใจนี้หลงไม่เป็นเวลา ร่างกายหลับน้อยกว่าตื่น หลับสัก 7-8 ชั่วโมง แต่ตื่น 17-18 ชั่วโมง หรือ 16 ชั่วโมง
ส่วนใจ นอกจากมันจะหลงไม่เป็นเวลา แล้วหลงมากกว่ารู้ รู้สึกตัวหรือตื่นขึ้นมา 18 ชั่วโมง แต่ว่าหลงอาจจะ 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของช่วงเวลาที่ตื่นก็ได้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมเราหลงไม่เป็นเวลา แล้วก็อยู่กับความหลงมากกว่าความรู้ตัว อันนี้เป็นเพราะว่า ตัวหลงเป็นนักฉวยโอกาส ถ้าพูดแบบสั้นๆฟันธง ตัวหลงเป็นนักฉวยโอกาสที่เก่งมาก มันพยายามครองจิตครองใจตลอดเวลา แล้วก็หาช่องมาครองจิตครองใจเราไม่หยุดเลย พยายามฉวยทุกโอกาสที่จะเข้ามาบงการจิตใจของเรา ไม่ว่าทำอะไร มันก็เห็นช่องเห็นโอกาสที่จะมาครองจิตครองใจเราพาให้หลงเข้าไปในความคิดและอารมณ์ ไม่ว่าเรากินข้าว ไม่ว่าเราทำงานอะไร ตัวหลงก็หาโอกาสชักนำจิตใจให้ไหลให้ลอยไปอยู่กับอดีตบ้าง ไปจมอยู่กับอนาคตบ้าง หรือหลุดเข้าไปในความคิด
เราใจลอยได้ในทุกเหตุการณ์ทุกการกระทำทุกเวลา แม้กระทั่งเวลาเรามาทำสิ่งดีๆ ทำสิ่งที่จะช่วยให้จิตใจตื่นรู้เบิกบาน ตัวหลงไม่ละที่จะฉวยโอกาสมาครอบงำจิตใจเรา เช่น เวลาเราสวดมนต์ เราสวดมนต์เพื่ออะไร เพื่อให้ใจตื่น ตื่นเพื่อทำจิตใจเป็นกุศล เกิดความไม่ประมาท เกิดสติ เกิดปัญญา แต่บ่อยครั้งหรือแทบทุกครั้งก็ว่าได้ สวดมนต์ไปแต่ใจไม่ได้ตื่น ใจหลง หลงเข้าไปในความคิด ปากก็ว่าไป แต่ใจไม่รู้ไปอยู่ไหน บางทีก็ขุ่นมัวเพราะไปคิดถึงเรื่องที่เคยเจ็บปวดในอดีต หรือเรื่องที่เป็นปัญหาคาราคาซัง ปัญหาบางอย่างยังไม่ได้เกิดด้วยซ้ำก็ไปคิดเป็นตุเป็นตะ ก็เลยรู้สึกหนักอกหนักใจ
ทั้งที่กำลังสวดมนต์แท้ๆปากก็พูดถึงการปล่อยวาง แต่ใจนี่แบก เพราะอะไร เพราะตัวหลงครองใจ และปากก็ว่าไปว่า การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก การวางของหนักลงเสียเป็นความสุข ปากก็ว่าแต่ใจแบกเพราะตัวหลงครองใจ แล้วมันก็เข้ามาเล่นงานจิตใจเรา แม้กระทั่งในเวลาที่มากระทำเดินจงกรม สร้างจังหวะ ทำเพื่ออะไรทำเพื่อให้เกิดความรู้ตัว แต่เกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าโดนความหลงเล่นงานยกมือก็ยกไปอย่างนั้น แต่ใจไม่รู้อยู่ไหน มันหลงออกไปนอกตัวเสียแล้ว เดินจงกรมเราเดินเพื่อให้เกิดความรู้เนื้อรู้ตัว เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม แต่ว่าส่วนใหญ่เดินด้วยความหลง ตัวเดินไปแต่ใจลอย มันเป็นนักฉวยโอกาสมาก
มันไม่ใช่แค่ฉวยโอกาสในเวลาที่มีความสุขได้โชคได้ลาภ ในยามทุกข์มันก็ฉวยโอกาสเหมือนกัน ตอนที่สุขก็สุขจนลืมตัว พอสุขมากๆเข้าก็หันไปทำร้ายตัวเองหรือซ้ำเติมตัวเอง ไปกินเหล้าเมายาจนหลงหนักขึ้นจนเมามาย หรือดีใจจนลืมตัวถูกลอตเตอรี่ ใจก็ลอยไป ตอนขับรถหลงไม่ได้มีสติอยู่กับการขับรถ เกิดอุบัติเหตุขนาดในยามสุขก็ยังถูกความหลงครอบงำ ยิ่งในยามทุกข์ มันง่ายเข้าไปใหญ่
และไม่ใช่ยามสุขยามทุกข์ตัวหลงเข้ามาฉวยโอกาสครอบงำใจ แม้กระทั่งเราทำความดี เช่น มาสวดมนต์ มาปฏิบัติธรรม หรือแม้กระทั่งมาฟังธรรม ตัวนั่งฟังธรรมแต่ใจก็ลอย อันนั้นเป็นเพราะตัวหลงมาครอบงำ และไม่ใช่แค่ชักนำจิตใจให้ไหลให้หลุดลอยเข้าไปในความคิด แต่บางทีก็ยังกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ หรือไปปลุกปั่นกิเลสให้มันฟูฟ่อง เช่น เวลามาทำบุญที่วัด หรือที่ใดก็ตาม แทนที่จิตใจจะผ่องใส จิตใจก็ขุ่นมัว เพราะว่าตัวหลงมาชักนำให้เกิดอาการหมั่นไส้ ไม่พอใจคนที่มาทำบุญด้วย หาเหตุทะเลาะเบาะแว้งหรือตำหนิต่อว่าเพราะว่ามาทำให้คิวทำบุญยาว เสียเวลาที่รอทำบุญ ใจก็ขุ่นมัว อันนี้เรียกว่าความหลงเล่นงานแล้ว ตั้งโรงทานแทนที่จิตใจจะผ่องใสเพราะว่าได้ทำบุญทำกุศล ก็โดนความหลงมาบงการให้ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเต้นท์ข้างๆเต้นท์ข้างเคียง อาจเป็นเพราะเห็นมีคนมาเข้าคิวที่เต้นท์เขายาวกว่า เกิดความอิจฉาขึ้นมา ที่อิจฉาหรือไม่พอใจเพราะตัวหลงนี้แหล่ะ มันมาครอบงำใจ แล้วมันก็ปลุกปั่นทำให้ใจไม่เป็นกุศล
การรักษาศีลก็ดี แต่ว่าตัวหลงก็มาคอยฉวยโอกาสเหมือนกัน แม้เราตั้งใจจะทำความดีด้วยการรักษาศีลแต่มันก็มาฉวยโอกาสครองจิตครองใจ แล้วก็ปลุกปั่นตัวกิเลสตัวอัตตาให้มันฟูฟ่อง ว่ากูเป็นคนดีกูเป็นคนมีศีล แล้วก็ดูแคลนว่าคนอื่นไม่มีศีล อันนี้แทนที่ใจจะเป็นบุญกลับเป็นอกุศลไปเสียแล้ว กลับมีอัตตาพองโตก็เพราะว่ามีตัวหลงเช่นกัน เวลาความหลงครองใจไม่ใช่แค่พาใจเราให้ลอยออกไปนอกตัว หลุดเข้าไปในความคิดสารพัด แต่ว่ามันยังบงการจิตใจให้เกิดความขุ่นมัว เกิดความหงุดหงิดรำคาญคนอื่น ระหว่างที่สวดมนต์ก็รำคาญคนข้างๆ เขาสวดเสียงดัง หรือว่าไม่เป็นจังหวะ ไม่เข้ากับเรา แทนที่จะนึกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ แล้วจิตใจชื่นบาน ก็เกิดความหงุดหงิด เกิดโทสะ ใจหม่นหมอง อันนี้เป็นเพราะอะไรเป็นเพราะตัวหลงฉวยโอกาส หาช่องทุกโอกาสทุกเวลาที่จะครอบงำใจ
เวลาภาวนา แทนที่ใจจะตื่นรู้ แล้วก็มีสติมากขึ้น มันไม่ใช่แค่ตัวหลงทำให้ใจลอยอย่างเดียว บางทีไปเปิดช่องไปฉวยโอกาสไปยึดนั่นยึดนี่เป็นของกู แทนที่ใจจะปล่อยวางมากขึ้นจากการปฏิบัติ กลับยึดติดถือมั่นแน่นหนา
มีอยู่คนหนึ่งเดินจงกรม ได้ทางจงกรมที่ใช้ได้ สงบ ก็เดินบนทางนั้นแหละตลอดเช้า พอถึงเวลาอาหารกลางวัน ก็ออกจากทางจงกรม ไปกินอาหาร พอกลับมา ปรากฏว่าในทางจงกรมที่เคยเดิน มีคนอื่นมาใช้ไปเสียแล้ว ไม่พอใจ นึกในใจว่านี่ทางของฉัน มาเอาไปได้อย่างไร ทางจงกรมใช้ไปไม่กี่ชั่วโมง ก็มายึดแล้วว่าเป็นทางจงกรมของกู แทนที่จะเดินแล้วใจปล่อยวาง กลับยึดมั่นถือมั่น ทั้งที่มันเป็นทางที่อยู่ในวัดไม่ได้ทางจงกรมในบ้านของตัว แต่พอใช้มันแค่ 2-3 ชั่วโมงก็เผลอไปยึดแล้วว่าเป็นของกู อันนี้เรียกว่าหลง และหลงทั้งๆที่กำลังภาวนาอยู่ก็เป็นเรื่องที่ปกติมาก เพราะว่าธรรมชาติของตนหลงอย่างที่ว่า เป็นนักฉวยโอกาส
ถ้าเราปล่อยให้ตัวหลงมาฉวยโอกาสไปเรื่อยๆ แม้ในเวลามาทำบุญรักษาศีล เจริญภาวนา เข้าวัดฟังธรรมม ก็ยังโดนความหลงเข้าครอบงำปลุกปั่น กระตุ้นกิเลส หรือว่าปรุงเติมแต่งตัวกูให้ใหญ่โต มันก็ไม่สมประโยชน์ หรือไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมาเลย แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะสู้กับตัวหลงได้อย่างไร เราจะสู้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นนักฉวยโอกาสที่เก่งกว่าตัวหลง
หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยพูดว่า นักภาวนาต้องเป็นนักฉวยโอกาส ฉวยโอกาสในการภาวนา ฉวยโอกาสในการเจริญสติ ฉวยโอกาสในการรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ใช่มารอว่าเมื่อไรจะมีคอร์สปฏิบัติธรรม เมื่อไหร่จะเข้าวัด ต่อเมื่อเข้าคอร์ส ต่อเมื่อมาปฏิบัติธรรมจึงมาฝึกสติมา มาสร้างความรู้สึกตัว ไม่ใช่ ตัวรู้จะเก่งกว่าตัวหลง มีชัยชนะเหนือตัวหลงได้เพราะว่าเราเป็นนักฉวยโอกาส ฉวยโอกาสที่จะเติม สร้างตัวรู้ให้เกิดขึ้น ไม่หยุดหย่อน ฉวยโอกาสคือทุกเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนหลับไป นั่นแหละคือเวลาที่เราจะต้องฉวยมาเพื่อการเจริญสติ เพื่อการรู้สึกตัว
ตื่นนอนขึ้นมาก็ทำความรู้สึกตัวเลย ไม่ยอมปล่อยให้ความหลงเข้ามาครองใจง่ายๆ ความหลงจะพาใจให้ไปนึกถึงเรื่องงานเรื่องการ นึกถึงปัญหาต่างๆสารพัด หรือว่าอยากจะไปเปิดโทรศัพท์ดูข้อความ แต่ว่าเรามีสติยับยั้งใจ ไม่ทำตามอำนาจของมัน ไม่เปิดช่องให้มันพาเราไปไกล แต่กลับมารู้เนื้อรู้ตัว จะเข้าห้องน้ำจะถูฟันจะอาบน้ำก็ฉวยโอกาสเวลาเหล่านั้น เพื่อการเจริญสติ เพื่อการทำความรู้สึกตัว
ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น เวลากินข้าวก็ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะปล่อยใจลอย แต่ว่าใช้โอกาสนี้ในการภาวนา เป็นการภาวนาไปด้วย บำรุงกายด้วยอาหาร บำรุงทางใจด้วยการเจริญสติ ด้วยการรู้สึกตัว แม้เวลาเข้าห้องน้ำก็อย่าปล่อยให้เวลาเปล่าประโยชน์ เวลาเข้าห้องน้ำ ไม่ว่าถ่ายหนักถ่ายเบา คลึงนิ้วไปด้วย กระดิกนิ้วไปเพื่อทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น ไม่อยู่นิ่งๆ ระหว่างที่คอยเพื่อน หรือคอยรถ คอยพาหนะ แทนที่จะปล่อยใจลอย หรือปล่อยใจให้อยู่กับความหงุดหงิดรำคาญตามอำนาจตัวหลง เราก็มาทำความรู้สึกตัวคลึงนิ้วไป ตามลมหายใจไป กระดิกนิ้วไป ทำความรู้เนื้อรู้ตัว ขณะที่กระดิกนิ้ว รู้ลมหายใจขณะลมเข้าลมออก ไม่ปล่อยเวลาให้เลยไปโดยเปล่าประโยชน์
ถ้าเป็นนักภาวนา มันไม่มีคำว่าเสียเวลา แม้จะต้องคอยใคร หรือคอยทำอะไรสักอย่าง ก็ไม่เสียเวลา ระหว่างที่คอยตักอาหาร คิวยาว ยังไม่ถึงจังหวะที่เราจะตักอาหาร เราก็เจริญสติทำความรู้สึกตัวไป รู้กายรู้ใจ อย่าอยู่นิ่งๆ กระดิกนิ้ว คลึงนิ้วไป หรือว่าถ้านั่งอยู่ก็พลิกมือไปพลิกมือมาก็ได้ ระหว่างที่ตักอาหารเสร็จแล้วคอยคนอื่น รอให้เขาตักอาหารเสร็จพร้อมๆกันหรือว่าเพื่อที่เราจะได้กินพร้อมๆกัน ก็ไม่มีคำว่าเสียเวลา ระหว่างคอย เพราะว่าระหว่างที่นั่งอยู่นั้นก็คลึงนิ้วไป เจริญสติทำความรู้สึกตัวไป สำหรับนักภาวนาไม่มีคำว่าเสียเวลาและไม่มีคำว่าไม่มีเวลา เวลาปฏิบัติมีตลอด เพราะเป็นนักฉวยโอกาส ใช้เวลาทุกอย่างใช้กิจกรรมทุกอย่างเพื่อการปฏิบัติ เช่น การเจริญสติ โดยเฉพาะการทำความรู้สึกตัว
ระหว่างที่บิณฑบาต ก็ฉวยโอกาสในการเจริญสติไปด้วย ระหว่างที่ทำครัวแทนที่จิตใจว้าวุ่นไปกับงาน ก็ฉวยโอกาสมาเจริญสติไปด้วย ทำความรู้สึกตัวไปด้วย ในขณะที่ทำครัว เพราะฉะนั้นถ้าทำอย่างนี้ได้ ตั๋วรู้ก็จะมีกำลังมาก มาประทับอยู่ในใจเราอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปิดช่องตัวหลงไม่ให้เข้ามาครอบงำ และมันไม่ใช่เฉพาะการฉวยทุกเวลา หรือฉวยทุกการกระทำเพื่อการเจริญสติ เพิ่มตัวรู้ให้มากขึ้น แต่ยังฉวยทุกเหตุการณ์ไม่ว่าบวกหรือลบ ดีหรือร้าย เวลาเจอเหตุการณ์ดีๆเรียกว่าอิฏฐารมณ์ มีความสุขมีความดีใจก็เห็นความดีใจนั้น ไม่ปล่อยตัวให้หลงเพลินในความดีใจ จนลืมเนื้อลืมตัว
เวลาเจออนิฏฐารมณ์ เหตุการณ์ที่เป็นลบ เจอรูปรสกลิ่นเสียงไม่น่าพอใจมากระทบ ก็ฉวยโอกาสในการฝึกจิตฝึกใจทำความรู้สึกตัวไปโดนมดกัดยุงกัด แทนที่จะเปิดช่องให้ตัวหลงเข้ามาครอบงำใจ เกิดความทุกข์ เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นมัว โมโห ตรงข้ามนักปฏิบัติอย่างพวกเรา ต้องฉวยโอกาส มันเจ็บมันคันก็ใช้ความเจ็บความคันมาเป็นเครื่องฝึก ไม่ใช่แค่ความอดทนหรือขันติ แต่ฝึกสติไปด้วย มีความเจ็บความปวดเกิดขึ้น ก็ดูมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน อันนี้ก็จะช่วยเพิ่มความรู้เนื้อรู้ตัวให้มากขึ้น รู้ตัวมากขึ้น
เวลาเจ็บเวลาป่วย ตรงนี้เป็นช่องโอกาสที่ตัวหลงเข้ามาครอบงำใจได้มาก เพราะฉะนั้น กลายเป็นว่าไม่ได้แค่ป่วยกาย ป่วยใจด้วย เวลามีความวิตกกังวล มีความกลัดกลุ้ม บางทีมีความคับแค้นซ้ำเติมหนักขึ้นเพราะตัวหลง แต่นักปฏิบัติต้องเป็นนักฉวยโอกาสที่เก่งกว่าตัวหลง แทนที่จะปล่อยให้ใจเป็นอกุศลแบบนั้นก็ใช้โอกาสนี้มาฝึกจิตฝึกใจ ดูความปวด อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า ความปวดมีไว้ให้เห็น ไม่ได้เข้าไปเป็น ความทุกข์มีเอาไว้ให้เรารู้ ให้เราดู ไม่ได้เราเข้าไปเป็น นักปฏิบัติ นักภาวนา แทนที่จะปล่อยใจให้ทุกข์ หรือแทนที่จะทุกข์ฟรีๆ ก็ใช้ความทุกข์ใช้เหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นเครื่องเสริมสร้างตัวรู้ เพิ่มสติให้มากขึ้น
สติ กับความรู้สึกตัว มันเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน เราตั้งสติได้ในยามที่มีอะไรมากระทบ มันจะเกิดความรู้ตัวขึ้นมาทันที ถ้าเรามีสติดูกายดูใจ เห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นเวทนาที่เกิดขึ้น มันจะไม่หลง มันจะกลับมารู้ตัว และเราจะไม่มีทางที่จะเอาชนะตัวหลง หรือปิดกั้นตัวหลง หรือปิดกั้นตัวหลงไม่ให้มาชักนำใจหรือชีวิตไปในทางแย่ได้เลย
ถ้าเราไม่รู้จักเป็นผู้ฉวยโอกาสให้กับตัวรู้ รู้ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่รู้ตัว ต่อไปรวมไปถึงรู้ความจริง เรารู้ความจริงได้จากการที่เจอความเจ็บความป่วย เจอความล้มเหลว เจออุปสรรค เจอความสูญเสีย แล้วเราก็จะเห็นได้ตระหนักถึงความเป็นอนิจจังของสิ่งต่างๆ มันก็ไปเพิ่มความรู้ตัวให้เข้มแข็งมากขึ้น ถ้าเราเป็นนักภาวนา ถ้าเราไม่รู้จักฉวยโอกาสให้เก่งกว่าตัวหลง ชีวิตเราก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์เพราะถูกความหลงชักนำพาไปให้จมอยู่ในอารมณ์อกุศล
เพราะฉะนั้น ต้องเตือนตัวอยู่เสมอให้ฉวยโอกาสในทุกเวลา ทุกโอกาส ทุกสถานที่ก็ได้ หรือทุกเหตุการณ์ เพื่อให้ตัวรู้เข้มแข็งขึ้น ใช้ทุกเวลา ทุกเหตุการณ์เพื่อการเจริญสติ เพื่อการทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น รวมทั้งเปิดใจให้เห็นสัจธรรมความจริงด้วย ถ้าเราเป็นนักฉวยโอกาสจนทำเป็นนิสัย ตัวรู้ก็จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ปิดช่องไม่ให้ตัวหลงเข้ามาครอบงำใจเราได้บ่อยๆ มันจะหลงอยู่ เพราะตัวหลงก็ไม่ยอมแพ้ แต่เราจะรู้มากกว่าหลง แล้วเราก็จะสงบเย็นเป็นสุขได้ง่ายขึ้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 10 มิถุนายน 2564