แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เราชื่นชมยกย่อง และอยากให้มีขึ้นกับตัวเรานั่นคือ ความเข้มแข็ง ความแข็งแรงเวลาเราพูดถึงความเข้มแข็ง แข็งแรง เรามักจะนึกถึงความแกร่งความกร้าว ไม่โอนอ่อน เราจะนึกภาพถึงเหล็กหรือว่าหิน มันแข็งแรง แล้วมันก็กร้าวทีเดียว ตรงข้ามกับความอ่อน เวลานึกถึงความอ่อนหรือความหยุ่น เราจะมองว่าเป็นความอ่อนแอ แต่บางครั้งความเข้มแข็ง แข็งแรง กับความอ่อนหยุ่นไปด้วยกัน
อย่างร่างกายของคนเรา สิ่งสำคัญส่วนหนึ่งคือกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังที่แข็งแรง มันจะมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ อ่อน มันโค้งง่าย ลองดูสังเกตพวกที่เล่นโยคะอย่างชำนิชำนาญ หลังเขาจะแข็งแรงมาก แล้วก็อ่อนโค้งได้เมื่อถึงคราวจำเป็น โยคีหลายคนหลังเขาอ่อนโค้ง สามารถที่จะเอาขาไปวางพักบนหลังได้หรือหลังต้นคอได้ หรือว่าทำอะไรได้อีกหลายๆอย่าง ซึ่งคนธรรมดาทำไม่ได้ หลังเขาอ่อนมากแต่มีความแข็งแรง เพราะว่าในบางท่าหลังของเขาตรง สามารถที่จะรับน้ำหนักได้อย่างสบายๆ ตรงข้ามกับหลังของคนที่อ่อนแอ มันจะแข็ง มันจะโค้ง มันจะงอได้ลำบากมาก ความแข็งแรงที่คู่กับความอ่อนหยุ่นอันนี้เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้
ไม่ใช่แต่เฉพาะกระดูกสันหลังหรือหลังของคนเราเท่านั้น จิตใจก็เช่นกัน จิตใจที่เข้มแข็งกับจิตใจที่อ่อนโยนนุ่มนวลเรียกว่าไปด้วยกันได้ทีเดียว คนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง เจออะไรมากระทบแม้ว่าจะแรงแค่ไหนก็ไม่หวั่นไหว มีใครมาด่าทอต่อว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงอย่างไร เขาก็ตอบโต้ด้วยความสุภาพนุ่มนวล ตรงข้ามกับคนที่จิตใจอ่อนแอ พอมีอะไรมากระทบแม้จะเล็กน้อยก็หวั่นไหวและสะท้อนกลับ เขาด่ามาก็ด่าไปเพราะความโกรธเพราะความแค้น อันนี้ดูเผินๆเป็นคนแข็งกร้าว แต่แท้จริงแล้วสะท้อนถึงจิตใจที่อ่อนแอ คนที่ภายในจิตใจที่เข้มแข็งแม้จะโดนกระแทกอย่างไรก็ไม่สะเทือน แม้จะสะท้อนกลับไปก็สะท้อนไปด้วยความนุ่มนวลสุภาพ
มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นผู้บุกเบิกวัดถ้ำยายปริกที่เกาะสีชัง มีคราวหนึ่งท่านจะให้ก่อกำแพงหินรอบวัด ก็สั่งหินมากองไว้ที่นอกวัด เตรียมที่จะก่อกำแพงในวันรุ่งขึ้น แต่หินกองใหญ่ มันก็เลยล้ำเข้าไปในที่บ้านชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับทางวัด โดยเฉพาะหลวงพ่อ เจ้าของพื้นที่เป็นอันธพาลและเป็นผู้มีอิทธิพลด้วย ก็อยากจะฮุบที่วัด หลวงพ่อเป็นอุปสรรคก้างขวางคอเจ้าของที่ พอเจ้าของที่รู้ว่ามีกองหินมาล้ำที่ของตัวก็ไม่พอใจ ที่จริงมันก็ล้ำไม่มากแค่ 1-2 นิ้ว เขาก็ไม่พอใจมาก ถึงกับเดินมา ตะโกนต่อว่าหลวงพ่อที่หน้าวัดเลย เฮ้ย ใครหน้าไหนว่ะ เอาก้อนหินมากองที่ของกู มาเจอกันหน่อยสิว่ะ นี่ไม่ได้คุยกับโยมนะ พูดกับพระ
บังเอิญหลวงพ่อประสิทธิ์กำลังนั่งพักอยู่ตรงกุฏิใกล้หน้าวัด ท่านได้ยินก็เดินมาถึงโยมแล้วก็พูดเรียบๆว่าโยมค่อยๆพูด ค่อยๆจาก็ได้ หลวงพ่อขอเอาหินมากองที่หน้าวัดสักหน่อย พรุ่งนี้ก็จะขนออกไปแล้ว นักเลงคนนั้นไม่พอใจก็พูดตะโกนเสียงดังว่าไม่รู้ล่ะ พวกมึงต้องขนหินออกไปให้หมด วันนี้เลย ออกจากที่ของกูพร้อมกับชี้หน้าหลวงพ่อ แล้วก็ขู่ว่าจะฟ้องอำเภอฟ้องตำรวจเพื่อให้มาจับพระ ข้อหาลุกที่ของกู พวกมึงก็แค่พระเฮงซวย หลวงพ่อประสิทธิ์แม้จะเจอคำกล่าวหาหรือคำสบประมาณด้วยถ้อยคำหยาบคายท่านก็นิ่งสงบ ไม่ได้แสดงอาการหงุดหงิด โกรธแค้นเลย ในเมื่อท่านชี้แจงแล้ว ไม่ฟัง ท่านก็กลับไปที่กุฏิแล้วก็ไปนั่งพักฉันน้ำปานะต่อ
พอวันรุ่งขึ้นนายอำเภอตำรวจก็มา เพราะว่าโยมคนนี้ไปฟ้อง พอมาตรวจก็พบว่ากองหินมันก็ล้ำที่นิดเดียวแค่ 2 นิ้วเอง เลยบอกว่าไม่ต้องเอาเรื่องเอาราว นักเลงคนนี้ก็ไม่พอใจ แต่คนที่ไม่พอใจอีกกลุ่มหนึ่งคือลูกศิษย์ของหลวงพ่อ เพราะบางคนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ก็เสียใจ รู้สึกเจ็บแค้นแทนหลวงพ่อถูกสบประมาท หลวงพ่อกลับปลอบ อย่าไปถือสาอะไรเลยกับคำพูดของคนเป็นแค่ลมปาก พูดไปมันก็ดับ ลิ้นคนไม่มีกระดูก จะไปเอาจริงเอาจังกับมันทำไม อย่าไปถือสามันเลย หลวงพ่อเจอหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่แค่ถูกด่าอย่างเดียว บางทีกำลังบิณฑบาตอยู่ ก็มีคนมาเดินชนจนท่านล้มเลยบาตรหลุดมือ มาชนด้วยความตั้งใจ นักเลงหัวไม้สั่งให้มาชนหลวงพ่อ บางทีก็มายืนด่าหน้าวัด สารพัดเลย เพื่อให้พระอยู่ไม่ได้ แต่ท่านก็ไม่ได้ถือสาอะไร
ที่จริงหลวงพ่อประสิทธิ์เป็นพระที่ดุ กับลูกศิษย์ลูกหาเรียกว่าเข้มงวดมาก แต่กับคนที่เป็นอันธพาลท่านกลับไม่ถือสาหาความ จะด่าอย่างไรท่านก็ไม่ไปตอบโต้ด้วยคำที่รุนแรง ก็ชี้แจงไปตามเหตุตามผลด้วยความนุ่มนวลด้วยความสุภาพ ถ้าเป็นเราเราจะรู้สึกอย่างไรถ้าเกิดว่าถูกด่าอย่างนั้น คนธรรมดาก็จะมีความโกรธแค้น ไม่พอใจ แล้วก็ยิ่งเขาด่าแรงเท่าไหร่ก็ตอบโต้กลับไปให้แรงกว่าเดิม อันนี้เป็นนิสัยของคนทั่วไป แต่ว่าจริงๆแล้วอันนั้นมันแสดงถึงความอ่อนแอ แม้ว่าถ้อยคำที่ตอบโต้กลับไปรุนแรงกราดเกรี้ยวเต็มไปด้วยอารมณ์ แต่สะท้อนด้วยภายในที่อ่อนแอ อ่อนไหว บางคนอย่าว่าแต่ถูกด่าว่าหรือถูกตำหนิหรือถูกนินทาก็โกรธ ก็พยายามแสดงอำนาจด้วยถ้อยคำที่รุนแรง อันนี้ไม่ได้แสดงถึงความเข้มแข็ง แต่หลวงพ่อเป็นตัวอย่างเข้มแข็งที่แท้จริงเป็นความเข้มแข็งภายใน แม้ว่าจะถูกกระทบกระแทกอย่างไร ใจก็ไม่หวั่นไหว นิ่งสงบได้ มันเป็นความเข้มแข็งที่ควบคู่ไปกับความนุ่มนวลหรืออ่อนโยนก็ได้
ตรงข้ามกับที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ความเข้มแข็งต้องมาพร้อมกับความกร้าว จะต้องไม่ยอมให้ใครมาสบประมาท เขาแรงมาก็ต้องแรงไป จะต้องกำราบ ถ้ากำราบด้วยคำพูดไม่ได้ก็ต้องลงไม้ลงมือ การเข้มแข็งหมายถึงการไม่ยอมแพ้ ถ้าหากว่าอยู่นิ่งเฉยแสดงว่ายอมแพ้ แต่หลวงพ่อประสิทธิ์เป็นตัวอย่างความเข้มแข็งที่แท้จริง จะถูกกระทบกระแทกอย่างไรจิตใจก็สงบได้
หลวงพ่อคําเขียนก็มีความเข้มแข็งแบบนี้เหมือนกัน อาตมาก็ยังทัน สมัยที่หลวงพ่อท่านมีคนเข้าใจผิดเยอะโดยเฉพาะคนในหมู่บ้าน บางคนก็เป็นผู้ใหญ่เพราะเสียผลประโยชน์ เขาเชื่อข่าวลือ ก็มานินทา มาต่อว่า หลวงพ่อท่านก็นิ่ง อธิบายด้วยเหตุผลด้วยอาการยิ้มแย้ม อารมณ์ดี ไม่แสดงถึงความเจ็บแค้นหรืออะไรเลย เคยมีโยมคนหนึ่งที่อื่นเข้ามาต่อว่าหลวงพ่อว่าสอนธรรมะผิด เขาอ่านหนังสือแล้วก็สะดุดบางคำ พอพบหลวงพ่อเขาก็ต่อว่า ท่านสอนผิด
หลวงพ่อท่านรู้ธรรมเยอะแล้ว ท่านก็ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย นอกจากไม่โกรธแล้ว ท่านก็ยังคุยกับโยมคนนั้นดีๆว่าจะให้แก้ จะแก้อย่างไร เขาถึงจะคิดว่าถูก เขาก็ให้ความเห็น หลวงพ่อท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรก็คล้อยตาม ทั้งที่ท่านเป็นพระ ประสบการณ์ก็มาก แต่ไม่ได้มีความโกรธแค้น อันนี้เป็นความเข้มแข็งที่แสดงออกด้วยความนุ่มนวล และที่จริงความเข้มแข็งที่แท้จริงก็เป็นอย่างนั้นแหล่ะ ตรงข้าม ถ้าใครให้คิดว่าความเข้มแข็งคือการที่ต้องไม่ยอมแพ้ ต้องเอาชนะให้ได้ อันนี้ก็ยิ่งแสดงถึงความอ่อนแอเข้าไปใหญ่
มันมีคำพูดโบราณว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร คำว่าแพ้ เขาพูดในความหมายที่ว่า ไม่ตอบโต้ ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงด้วย คนที่จะทำอย่างนั้นได้ ใจต้องเป็นพระ หมายถึงใจต้องมีคุณธรรม มีสติ และก็มีเมตตากรุณา นอกจากความอดทนแล้ว ก็ยังมีปัญญาด้วย เพราะรู้ว่าเอาชนะไปก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าหลวงพ่อประสิทธิ์จะเอาชนะโยมคนนั้นด้วยการต่อล้อต่อเถียงด้วย เรื่องก็ไม่จบ แล้วก็ไม่เกิดผลดีกับใครเลย คนที่มีปัญญาจะรู้ว่าต่อล้อต่อเถียงหรือตอบโต้กับคนแบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์
พอไม่ตอบโต้คนเขาก็มองว่านี่คือความพ่ายแพ้ นี่คือการยอมแพ้ เป็นการยอมแพ้ทางโลก แต่เป็นการชนะทางธรรม เพราะว่าเป็นการชนะใจตัวเอง ชนะกิเลส ชนะอำนาจ อยู่เหนือตัวกูของกู ตัวกู อัตตา ถ้ามันครองใจเมื่อไหร่ มันไม่ยอมแพ้ มันจะเอาชนะให้ได้ ถ้าเอาชนะด้วยเหตุผลไม่ได้ก็เอาชนะด้วยอารมณ์ด้วยคำพูดที่รุนแรง เพียงเพื่อจะให้อีกฝ่ายหนึ่งสงบหรือยอม แต่ว่ามันจะทำให้เกิดการทะเลาะต่อล้อต่อเถียงรุนแรงมาก ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะเป็นพระเท่านั้นที่จะทำอย่างนี้ได้ ฆราวาสที่มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็งภายในก็ควรทำอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน
คำว่าชนะเป็นมาร อันนี้ก็มีความหมายว่า ถ้าคิดที่จะเอาชนะ มันก็เป็นเพราะว่าจิตใจถูกครอบงำด้วยมารหรือด้วยกิเลส อาจจะเอาชนะเขาด้วยกำลังด้วยอำนาจที่เหนือกว่า แต่มันก็พ่ายแพ้กิเลสพ่ายแพ้ต่อมาร ความเข้มแข็งที่แท้จริงมันไม่ได้แสดงออกด้วยการที่จะเอาชนะ ไม่ว่าด้วยกำลังหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันคือการชนะใจตนเอง
มีเรื่องเล่าในประเทศเกาหลีเมื่อหลายร้อยปีก่อน มีเมืองหนึ่งถูกรุกรานด้วยกองทัพของต่างแดน กองทัพ แม่ทัพไม่มีศรัทธาพุทธศาสนา และก็เป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธศาสนาด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อไปยึดเมืองใด เขาก็จะทำลายวัดทำร้ายพระ เมืองนี้ก็เช่นเดียวกัน ก็มีคนนับถือพุทธศาสนาเยอะ วัดวาอารามมากมาย พอคนรู้ว่ากองทัพกำลังจะมารุกราน จะมายึดครอง ชาวบ้านก็แตกตื่นหนี พระก็หนี เพราะรู้ว่าไม่ปลอดภัย แต่ว่ามีเจ้าอาวาสท่านหนึ่งไม่หนี ท่านชราแล้ว ท่านก็อยู่เฝ้าวัดผู้เดียว
จนกระทั่งแม่ทัพคนนั้นมาถึง ก็แปลกใจว่าเจ้าอาวาสไม่หนี เขาต้องการแสดงอำนาจ เขารู้สึกว่าการไม่หนี เท่ากับไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร ไม่รู้ว่าฉันดุร้ายแค่ไหนถึงไม่ยอมหนี อย่ากระนั้นเลยฉันจะสอนให้รู้ แม่ทัพคนนี้ก็ไปยืนประจันหน้ากับเจ้าอาวาส แล้วก็พูดกับเจ้าอาวาสว่า รู้ไหมว่าฉันเป็นใคร ฉันสามารถที่จะฟันคนให้ขาดออกเป็นสองท่อนได้โดยไม่กระพริบตา หลวงพ่อฟังแล้วก็นิ่งเฉย แล้วก็พูดต่อไปว่า โยมรู้ไหมว่าอาตมาเป็นใคร อาตมาคือคนที่พร้อมจะให้ถูกฟันขาดเป็นสองท่อนได้โดยไม่กระพริบตา คนหนึ่งขู่แสดงความเก่งว่า ฉันสามารถจะฟันให้คนขาดเป็นสองท่อนได้โดยไม่กระพริบตา แต่อีกคนหนึ่งบอกว่ายอมให้ฟันขาดเป็นสองท่อนได้โดยไม่กระพริบตา
แม่ทัพคนนั้นก็เลยรู้ว่าหลวงพ่อคนนี้เข้มแข็งกว่าตัวเองเย่อะ ทีแรกต้องการจะอวดว่ากูแน่ แต่ว่าพอเจออีกท่านหนึ่งที่พร้อมจะถูกฟันเป็น 2 ท่อนโดยไม่กระพริบตา คือโดยไม่กลัวและไม่คิดจะป้องกันหรือตอบโต้ด้วย ก็เลยแพ้ใจหลวงพ่อ เพราะว่าท่านเข้มแข็งกว่า เป็นการเข้มแข็งโดยที่ไม่ได้แสดงออกไปทำร้ายใคร แต่พร้อมที่จะถูกทำร้ายโดยไม่หวาดกลัว
เราอาจจะทำแบบนั้นไม่ได้ แต่อย่างน้อยถ้าเรารู้ว่า ความเข้มแข็งที่แท้ในแง่ของชาวพุทธคืออะไร ไม่ใช่ใครด่ามาก็ด่ากลับ ใครทำร้ายมาก็ทำร้ายกลับ แรงมาก็แรงไปจะไม่ยอมแพ้ ความเข้มแข็งที่จะเอาชนะในทุกกรณี ที่แท้ก็คือความพ่ายแพ้ คือแพ้กิเลสของตัวเอง ความพ่ายแพ้มันก็แสดงออกถึงความอ่อนแอของภายใน ซึ่งเกิดจากการที่มีกิเลสหรืออัตตาครองใจ ยิ่งปล่อยให้อัตตาหรือกิเลสครองใจมากเท่าไร ภายในก็ยิ่งอ่อนแอ ถึงแม้ว่าภายนอกจะดูเข้มแข็ง มีการใช้อำนาจ มีการตอบโต้ แต่ว่ามันสะท้อนถึงความอ่อนแอ เพราะว่าแค่ถูกกระทบนิดหน่อย ใจก็กระเพื่อมแล้ว เห็นอะไรไม่ถูกใจหน่อย จิตใจก็หวั่นไหว
อย่างที่เราสวดบทมงคลสูตรตอนท้ายมีประโยคหนึ่งว่า จิตของผู้ใดเมื่อถูกโลกธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ย่อมไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส อันนี้คือจิตใจของที่เข้มแข็ง เพราะว่าไม่มีอัตตาหรือว่าไม่มีความยึดติดถือมั่นในตัวกูแล้ว เรียกว่าไร้ตัวกูก็ได้ ยิ่งไร้ตัวกู หรือว่าไม่มีความยึดมั่นในตัวกูเท่าไรก็ยิ่งเข้มแข็ง อะไรมากระทบก็ไม่หวั่นไหว คำต่อว่าด่าทอมากระทบ ใจก็สงบนิ่งได้
หรืออย่างที่หลวงพ่อประสิทธิ์ว่า ลิ้นของเราไม่มีกระดูก อย่าไปถือสามันเลย จะไปเอาจริงเอาจังเอาเรื่องเอาราวกับมัน แล้วจะได้อะไร อันนี้เรียกว่าต้องมีปัญญา และมีสติด้วย เพราะถ้าไม่มีสติ กิเลสก็ครองใจได้ง่าย หรือว่าตัวกูก็เข้ามาบงการ เพราะมันต้องการแสดงอำนาจว่ากูเก่งกูแน่ แต่ยิ่งแสดงอำนาจมากเท่าไร มันก็ยิ่งแสดงถึงความอ่อนแอภายใน แต่ถ้าเรามีสติมีความรู้สึกตัว ไม่เปิดให้กิเลสหรืออัตตาเข้ามาครองใจ ความเข้มแข็งภายในก็จะเริ่มมั่นคง และยิ่งถ้ามีปัญญารู้ว่า การที่จะเอาชนะด้วยกำลังด้วยอารมณ์ สุดท้ายก็พ่ายแพ้กันทั้งสองฝ่าย
เดี๋ยวนี้เราก็เห็นการพยายามจะเอาชนะกัน เอาชนะคะคานกันด้วยทีแรกก็ด้วยเหตุผล ต่อมาก็ด้วยอารมณ์ เดี๋ยวนี้มีเย่อะ บางทีเราก็เห็นพระกระโดดกระโจนเข้าไป ต่อล้อต่อเถียง ที่จริงอย่างนั้นมันแสดงถึงความอ่อนแอ มันไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความลืมตัว แต่ยังสะท้อนถึงความอ่อนแอ แต่ถ้าเข้มแข็งแล้วต้องเข้มแข็งภายใน จิตใจไม่หวั่นไหว และเมื่อคิดจะเอาชนะ ก็ไม่ใช่คิดชนะคนอื่น เพราะสิ่งสำคัญคือการชนะกิเลสของตัวเอง เอาชนะอัตตา ไม่ให้มันครองใจ อันนี้คือชัยชนะที่สำคัญ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชนะผู้อื่น มันก็ไม่สู้เท่ากับการชนะตัวเอง คือชนะกิเลสนั่นเอง ถ้าเราชนะกิเลสได้ ความเข้มแข็ง มั่นคงภายในก็จะปรากฏขึ้นมา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมทำวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 10 มิถุนายน 2564