แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ความทุกข์มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของลูก ไม่ต้องรอให้ลูกเป็นวัยรุ่นถึงจะมีความทุกข์ ตอนที่ลูกเริ่มจะโต กำลังน่ารัก วัยประถม หลายคนพบว่า ลูกจากเด็กที่ว่าง่ายสอนง่าย กลายเป็นว่ายากสอนยาก เวลาพ่อแม่ตักเตือน ลูกก็เถียง พ่อแม่พูดแรงๆเตือนหนักๆ ลูกก็ยิ่งเถียงหนักขึ้น ยิ่งพ่อแม่พูดเสียงดัง ลูกก็ไม่ยอมลดราวาศอก ทำให้บ่อยครั้งพ่อแม่ก็หัวเสีย กราดเกรี้ยว ลูกก็ไม่ได้ยอมแพ้ พ่อแม่เลย ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
อันนี้ผู้รู้แนะนำหรือให้ข้อสังเกตว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยเวลาไปเจอบ่อน้ำหรือไปเจอสระน้ำ เขาจะชอบเอาหินโยนลงไปหรือเขวี้ยงลงไป พอได้ยินเสียงดัง เด็กก็ชอบแล้วก็ทำใหญ่เลย บางทีอยู่กับบ่อน้ำเป็นครึ่งชั่วโมงเป็นชั่วโมงก็มี ไม่ได้ทำอะไรนอกจากโยนก้อนหินขว้างก้อนหินลงไป เพราะอะไร เพราะเด็กชอบเสียงดัง และไม่ใช่เสียงดังจากไหน เสียงดังจากฝีมือตัวเอง เด็กชอบเวลาทำอย่างนั้นมีเสียงดัง เพราะเด็กรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ สามารถทำให้เกิดเสียงดังได้ เด็กก็มีความรู้สึกตัวกู ตัวกูอยากจะเด่นอยากจะดัง อยากจะใหญ่ อยากจะมีอำนาจ การที่ทำให้บ่อน้ำมีเสียงดังได้ เป็นการสนองความอยาก ความรู้สึกแบบนี้ในตัวเด็กหลายคน ซึ่งอาจจะมีพื้นฐานว่าตนเองไม่มีอำนาจ ด้อย มีแต่ถูกพ่อแม่สั่งให้ทำนั่นทำนี่ พอเด็กรู้สึกว่าไม่มีอำนาจ ทำอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าฉันมีอำนาจก็ยิ่งชอบยิ่งทำ เพราะฉันนั้นเพียงแค่โยนหรือขว้างก้อนหินลงไปในบ่อในสระ มีเสียงดัง เด็กก็ชอบ แสดงว่าฉันมีอำนาจทำให้เกิดเสียงดัง
ฉันใดก็ฉันนั้น เด็กหลายคนพอถูกพ่อแม่ว่า แล้วเขาพบว่า ถ้าเขาเถียง พ่อแม่ยิ่งเสียงดัง เขายิ่งชอบ ยิ่งพูด ยิ่งยั่ว ยิ่งเถียง เพื่อให้พ่อแม่เสียงดังมากขึ้น หรือถึงขั้นโกรธเลย พ่อแม่คิดว่า ถ้าตัวเองโกรธหรือเสียงดัง เด็กจะโกรธ เด็กจะกลัว เด็กจะยอม สามารถจะเอาชนะเด็กได้ การต่อว่าแรงๆหรือใช้อารมณ์ แต่กลับเป็นทางตรงข้าม เด็กรู้สึกว่า ฉันมีอำนาจ ทำให้พ่อแม่หัวเสียได้ ทำให้พ่อแม่ขึ้นเสียงได้ ก็ยิ่งทำใหญ่เลย เขารู้สึกว่าเขามีชัยชนะที่ทำให้พ่อแม่มีอาการแบบนั้นได้
ในขณะที่พ่อแม่คิดว่าตัวเองจะเอาชนะลูกได้ต้องเสียงดัง แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งทำ ลูกก็ยิ่งชอบ ผู้รู้เขาแนะนำอย่างไร เขาแนะนำว่า พ่อแม่อย่าไปสนใจ อย่าไปต่อว่าหรือคิดว่าจะเอาชนะลูกได้ด้วยวิธีนั้น การไปโต้เถียงหรือไปทะเลาะกับลูก ยิ่งทำให้ลูกได้ใจ เพราะเขารู้สึกว่าเขามีอำนาจ การไม่ไปทำอย่างนั้นกับลูก พูดดีๆแนะนำลูก ลูกไม่ฟัง ก็ไม่ไปเถียงกับเขา อันนี้เป็นวิธีที่ดีกว่า มันไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ ฉันสามารถที่จะยั่วยุให้พ่อแม่โกรธได้
การเฉยเมย หรือการที่ไม่ไปต่อล้อต่อเถียง มันเป็นวิธีที่ดีกว่า และหลายคนพบว่าพอทำอย่างนั้นมากๆเข้าก็จะค่อยๆช่วยทำให้ลูกหยุดได้ ทำให้ลูกไม่มาโต้เถียงหรือยั่วยุ ความเฉยความนิ่งของพ่อแม่หลังจากที่ได้พูดได้แนะนำแล้ว เป็นวิธีที่ดีกว่ามาก แล้วก็ทำให้ลูกสงบลงได้ ลูกไม่ยั่วยุ ไม่ปั่นป่วน
มาคิดดูอาการของเด็กแบบนี้ก็คล้ายๆกับความคิดและอารมณ์ในใจผู้ใหญ่เรา บ่อยครั้งความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น หรือว่ามีอารมณ์ลบๆ ตามมา เช่น ความเครียด ความหงุดหงิด ความคับแค้น ความเศร้า ความกังวล หรือแม้กระทั่งความเบื่อ ถ้าเราไปทำอะไรกับอารมณ์เหล่านั้น ไม่ใช่แค่คล้อยตาม แต่ว่าทำตรงข้าม ก็คือไปกดข่ม ผลักไสมัน แทนที่มันจะสงบ มันกลับมายั่วยุหรือมารบกวนจิตใจเรามากขึ้น
คล้ายกับพ่อแม่เห็นลูกทำอะไรไม่ถูก พ่อแม่ก็ว่า เด็กแทนที่จะเงียบ ก็กลับเถียง ยิ่งพ่อแม่พูดเสียงดัง เด็กก็ยิ่งเถียงหนัก ยิ่งพ่อแม่โมโหเด็กยิ่งป่วน อารมณ์เหล่านี้ก็คล้ายๆกัน ยิ่งไปเอาชนะมันด้วยการผลักไส กดข่ม หรือว่าพยายามมีอำนาจเหนืออารมณ์เหล่านี้ มันกลับชอบ เหมือนกับว่ามันมีอำนาจมากขึ้น ยิ่งเราพยายามมีอำนาจเหนือมัน กลับเป็นการทำให้มันมีอำนาจมีพลังเหนือจิตใจเรามากขึ้น คล้ายกับว่ามันได้ใจ ยิ่งไปผลักไส กดข่มมัน มันยิ่งมาก่อกวนจิตใจเรามากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่ามันชอบก็ได้ เพราะถ้าหากว่าเราไปโรมรันพันตู ไปสู้รบตบมือกับมัน มันยิ่งมีอำนาจเหนือจิตใจของเรา เราคิดว่าการทำอย่างนั้นทำให้เรามีอำนาจเหนือมัน คุมมันได้ แต่ตรงข้ามเลย มันกลับมีอำนาจเหนือเรา ยิ่งทำให้เราหัวเสีย เป็นทุกข์มากขึ้น
มันดูกลับกัน อยากจะเอาชนะ ก็กลับเป็นฝ่ายแพ้ อยากจะมีอำนาจเหนือมัน กลับกลายเป็นว่ามันมีอำนาจเหนือเรา ยิ่งพยายามใช้อำนาจกับมัน กดข่มมัน ก็ยิ่งทำให้มันมีอำนาจมากขึ้น หรือการทำอย่างนั้น การอาศัยการกดข่ม ผลักไสคือแสดงการยอมให้มันมีอำนาจเหนือเรา เป็นเรื่องเดียวกันที่พ่อแม่พอโวยวายใส่ลูก ก็กลายเป็นว่า ยอมให้ลูกมีอำนาจเหนือตัวเอง ยิ่งจะเอาชนะก็กลายเป็นยิ่งพ่ายแพ้ แต่การอยู่เฉยๆนิ่งๆ กลับเป็นวิธีการที่มีพลังมากกว่า
กับอารมณ์เหล่านี้ก็เหมือนกัน แทนที่เราจะไปสู้รบตบมือกับมัน พยายามไปกดข่มผลักไสมัน เหมือนกับว่ายิ่งเป็นการยั่วยุหรือว่าเป็นการทำให้มันได้ใจมากขึ้น เราก็อยู่เฉยๆดูมันเฉยๆ อย่างที่ครูบาอาจารย์สอนว่าให้รู้ซื่อๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยนึกมาก่อน ตอนที่ไม่สนใจธรรมะ หรือว่าตอนที่ยังไม่สนใจเรื่องจิตเรื่องใจ ก็ปล่อยใจไปตามอารมณ์ ปล่อยใจไปตามความคิด แต่พอเริ่มมาสนใจธรรมะ รู้ว่าความคิดฟุ้งซ่านก็ดี อารมณ์ต่างๆเหล่านี้ก็ดี ไม่ควรทำตามมัน ก็หันไปใช้วิธีตรงกันข้าม แทนที่จะไหลตามก็ผลักไสมัน พยายามต่อสู้กับมัน พยายามที่จะกดข่มมัน
อารมณ์พวกนี้เหมือนกับเด็ก ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ บางครั้งบางคราวมันอาจจะหลบ เวลาที่เรามีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน ก็ใช้พลังในการกดข่มมัน มันก็หลบ มันก็หาย เพราะมันรู้ว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาของมัน แต่พอเราเผลอ มันก็โผล่มาเลย พรั่งพรูมาเลย บางคนกดข่มความคิดตลอดทั้งวันเลย จนความคิดเหมือนกับว่าไม่โผล่มาเลย มันหลบใน แต่พอจะเข้านอน เป็นช่วงเวลาทีเผลอของเราเลย มันก็หาช่องเข้ามาเล่นงานเราทันทีเลย มันเป็นนักฉวยโอกาส มันคอยหาทีเผลอ พอเราเผลอเมื่อไรก็พรั่งพรูออกมาจนบางทีนอนไม่หลับ
แต่บ่อยครั้งมันก็ไม่รอนานขนาดนั้น แค่เผลอแป๊บเดียวมันก็โผล่มาเลย เช่น ความโกรธ เวลาเราโกรธหรือหงุดหงิดขึ้นมา มันร้อน เราก็เลยพยายามกดข่มมัน แต่ว่ามันหายไปประเดี๋ยวเดียวมันก็โผล่ออกมาอีกแล้ว บ่อยครั้งยิ่งไปกดข่มมัน มันก็ยิ่งแรงๆ อาจจะไม่แสดงอาการตอนนั้นทันที แต่ว่าพอเก็บๆเอาไว้ สักพักก็ระเบิดออกมา เกิดอาการปรี๊ดแตก เกิดจากการที่ไปกดข่มอารมณ์พวกนี้เอาไว้ ยิ่งไปทำอย่างนั้นก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้น พอกำลังมันมากๆกดมันเอาไว้ไม่ไหว มันก็ระเบิดออกมา เมื่อมีอะไรมาแค่สะกิดเล็กน้อย เรียกว่ายิ่งกดข่มก็ยิ่งชอบ ความคิดฟุ้งซ่านหรืออารมณ์
แต่สิ่งที่มันกลัวคือ การที่เราเฉย การที่เรานิ่ง การที่เราดูมันเฉยๆ จะทำอย่างนั้นได้มันต้องอาศัยสติ สติทำให้เราไม่ไปมีอารมณ์บวกหรือลบกับอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน ไม่เกิดความยินดียินร้าย มันช่วยทำให้เรานิ่งได้มากขึ้น แต่แน่นอนว่าอารมณ์เหล่านี้มันก็ไม่ยอมง่ายๆ พอเรานิ่งมันก็จะคอยมายั่วมายุ เพื่อให้เราเกิดความไม่พอใจ จะเข้าไปสู้รบตบมือกับมัน ยิ่งนิ่งมันยิ่งยั่ว แต่พอนิ่งไปได้นานๆมันรู้ว่ายั่วไปก็ไม่มีประโยชน์ มันก็จะค่อยๆ ลดเสียงลง แล้วก็ไม่มารบกวนอีกเลย
อารมณ์พวกนี้เหมือนกับอันธพาล เราอยู่ในบ้าน เราก็อยู่สบายดีปกติ แต่ว่ามีอันธพาลที่อยากจะแกล้งเรา อยากจะยั่วยุให้เราออกจากบ้าน มันทำอย่างไร มันก็มายืนด่าอยู่หน้าบ้าน ถ้าเราบ้าจี้ ยอมอยู่ในอำนาจของมัน หรือว่าเสียท่ามัน ก็จะไปเถียงกับมัน ไปด่ามัน ยิ่งเราไปต่อกลอนด้วย มันก็ยิ่งชอบ ยิ่งเถียงก็ยิ่งด่าหนักขึ้น บางทีก็ด่าพ่อล่อแม่ ถ้าเรายิ่งโกรธ ก็ยิ่งด่าหนักขึ้น คิดว่าการด่าให้แหลก มันจะกำราบ แต่เปล่าเลย มันกลับได้ใจ ด่าหนักขึ้น จนเราทนไม่ได้ ต้องออกจากบ้าน ถือไม้ถืออะไรเพื่อจะไปขับไล่ไสส่งเขา เขาก็หนีเราก็วิ่งตาม บางทีล่อเราไปไกลเลย ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เราออกจากบ้าน บ้านนั้นคืออะไร บ้านนั้นคือความรู้สึกตัว ถ้าออกจากบ้านเมื่อไหร่ เราก็สามารถที่จะตกเป็นเหยื่อหรือเพลี่ยงพล้ำอารมณ์เหล่านี้ได้ คนที่เป็นอันธพาลมาล่อมาก่อกวนเราให้ออกจากบ้าน พอเราออกจากบ้าน ก็มารุมทำร้ายเรา
อันนี้คืออุบายของพวกอารมณ์เหล่านี้ มันจะคอยยั่วยุให้เราทนอยู่เฉยไม่ได้ ทั้งที่ตอนนั้นเราตั้งใจว่าจะมาเจริญสติ เราจะทำความรู้สึกตัว เราจะเดินจงกรม แต่ว่ามันจะไม่ยอมให้เราอยู่กับความรู้สึกตัวง่ายๆ มันก็จะล่อจะหลอกจะยั่ว ถ้าเราเฉยถ้าเรานิ่ง มันก็แพ้ แต่มันรู้ว่าถ้ายั่วยุให้หนักขึ้น เราอาจจะหลงกลมันได้ แล้วหลายคนก็เสียท่า หลงกลมัน พอมันมีอารมณ์ใดเกิดขึ้นจากการกระทบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือคิดนั่นคิดนี่เรื่องอดีตเรื่ออนาคต เกิดอารมณ์ขึ้นมา เสียใจหรือว่าเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ก็ไปกดข่มมัน อันนี้เรียกว่าเสียท่ามันเลย มันก็เกิดการโรมรันพันตูกันขึ้นมา ก็เหมือนกับอันธพาลที่มาตะโกนด่าเพื่อที่จะล่อให้เราออกจากบ้านไปไล่ตีมัน หรือไปขับไสไล่ส่งมัน เสร็จแล้วพอออกจากบ้านไปก็หลงลอย หลุดเข้าไปในความคิดหนักขึ้น เสียท่ามัน
อันนี้เป็นอุบายของตัวหลงหรือตัวกิเลส ที่มันจะหาช่องหาโอกาสที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้เราออกจากความรู้สึกตัว และวิธีที่ใช้บ่อยคือ การยั่วให้เราเข้าไปโรมรันพันตูกับมัน ไปสู้รบตบมือกับมัน ยิ่งทำ มันก็ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งอยากจะเอาชนะมันกลับกลายเป็นว่ามันชนะเรา
วิธีที่ดีที่สุดก็คือการที่อยู่ในบ้าน แล้วก็ไม่สนใจมัน มันจะโวยวาย มันจะด่ามันจะยั่วยุก็ไม่ต้องสนใจ หรือว่าจะดูมันเฉยๆก็ได้ ดูมันโดยที่ไม่ได้รู้สึกร้อนหนาวไปกับคำพูดของมัน หรือการยั่วยุของมัน
อันนี้เป็นวิชาที่เราต้องฝึก การรู้เฉยๆหรืออุเบกขาก็ได้ ไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์เหล่านี้ เริ่มจากความคิดก่อน ความคิดที่โผล่เข้ามา แต่ก่อนมันโผล่มาทีไร เราก็กระโจนไล่ตามมันไปทุกเรื่องทุกราว จนยืดยาว แต่ตอนหลังเริ่มรู้แล้วว่า ไม่ใช่ ไม่ถูก ก็กลับทำตรงข้ามคือไปกดข่มมัน อันนี้ก็ไม่ถูกเหมือนกัน ขืนทำอย่างนั้น ก็เสียท่ามัน เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับมัน ต้องอาศัยการรู้ซื่อๆ โดยมีสติเป็นเครื่องประคองใจ
ใหม่ๆ ทำอย่างนั้นไม่ค่อยได้ ทำได้ประเดี๋ยวประด๋าว แต่พอทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ จิตเราตั้งมั่นมากขึ้นหรือจะเรียกว่ามีความเข้มแข็งก็ได้ พอเข้มแข็ง มันก็ไม่อ่อนไหวต่อสิ่งยั่วยุของอารมณ์เหล่านี้ มีความโกรธเกิดขึ้นก็ดูมัน ถึงแม้ว่าใหม่ๆจะรู้สึกมันร้อน อยากจะผลักไสให้ความร้อนหายไป แต่ตอนหลัง ก็เห็นว่าความร้อนมันก็แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ดูมัน ไม่ยินร้ายกับมัน การรู้เฉยๆ มันเป็นวิธีที่เราอาจจะรู้สึกว่าไม่มีน้ำยาอะไรในทีแรก เพราะว่าเราไม่เห็นอานุภาพของมัน แต่พอเราเริ่มพบว่า แค่เห็นและอค่รู้เฉยๆ อารมณ์พวกนี้ก็ค่อยๆหายไป
เริ่มจากความคิดก่อน เห็นความคิดแล้วก็รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ความคิดก็จะค่อยๆเลือนหายไป แล้วก็ไม่มากวนอีกเลย ตรงข้ามกับเวลามีความคิด เราไปกดข่มมันเหมือนกับไปตัดฉับมัน มันตัดมันหายไป ดูเหมือนมันหายไป แต่ไม่ เดี๋ยวมันก็มาอีกแล้ว ตอนที่ตัดฉับ เหมือนมันไปเร็ว แต่ว่ามันก็มาเร็วเหมือนกัน แต่พอเราเรียนรู้ที่จะมีสติ ดูมันเฉยๆ มันอาจจะไปช้า มันก็เลือนหายไป แต่ว่ามันก็ไม่มากวนอีกเลย
ที่เราเห็นมัน แล้วก็รู้ซื่อๆ โดยไม่ไปตัดฉับมัน ส่วนหนึ่งเราไม่ได้มีความคิดที่จะเอาชนะมัน หรือไม่มีความอยากที่จะกดข่มมัน ที่มีความอยากก็เพราะว่าเรามองว่า มันมาก็ช่าง ไม่มาก็ช่าง คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง ปฏิบัติแบบด้วยการทำเล่นๆ ไม่ใช่ทำด้วยความอยาก ไม่ได้ทำด้วยความอยากจะเอาชนะ หลายคนมาด้วยความตั้งใจ อยากจะปฏิบัติให้เต็มที่ ก็เลยคิดจะเอาชนะความคิด ความหลง แต่ยิ่งจะเอาชนะมัน ใจที่อยากจะกดข่มมันก็ยิ่งแรง และยิ่งทำอย่างนั้น ก็ยิ่งทำให้มันมีอำนาจเหนือเรามากขึ้น แต่พอเราทำเล่นๆไป ไม่ได้มีความอยาก หลงบ้าง รู้บ้าง ไม่เป็นไร
ท่องคาถาเอาไว้ว่า ไม่เป็นไร ๆๆ เอาไว้ มันก็จะค่อยๆเรียนรู้วิธีที่จะลดราวาศอกกับอารมณ์เหล่านี้ หรือความคิดเหล่านี้ มันจะนิ่งได้มากขึ้น พอนิ่งได้มากขึ้น เราเห็นการนิ่ง เพียงแค่รู้ซื่อๆ ทำให้ความคิดและอารมณ์เหล่านี้ยอมแพ้ มันสูญเสียอำนาจ เราก็ยิ่งเกิดกำลังใจที่จะทำอย่างนี้ให้มากขึ้นๆๆ พอทำบ่อยๆทำบ่อยๆเป็นนิสัยขึ้นมา มันก็กลายเป็นเรื่องง่าย
แล้วเราก็จะพบว่า แค่นิ่ง แค่รู้ซื่อๆ เห็นมันเฉยๆ มันมีพลังเหลือเกิน มันมีอำนาจมาก มันมีอานุภาพ และต่อไป กับอารมณ์ภายนอก พอเรานิ่งได้แบบนั้น ไม่ผลักไสมัน เราก็จะพบว่า แต่ก่อนมันมีอำนาจเหนือเรา ทำให้เราหัวเสีย ทำให้เราหงุดหงิด แต่ตอนนี้มันไม่มีอำนาจเหนือเราแล้ว เพราะว่าเรามีความเข้มแข็งภายใน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมวัตรเช้า วันที่ 11 มิถุนายน 2564