แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราซึ่งเป็นผู้ใฝ่ธรรม การใฝ่ธรรมจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีการลงมือปฏิบัติธรรมด้วย แต่การปฏิบัติธรรมจะเกิดผลดี หรือว่าปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าธรรมะหมายถึงอะไร ได้แก่อะไรบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าใจไปการปฏิบัติธรรมหมายถึงการเข้าวัด มานั่งหลับตา ตามลมหายใจ หรือว่าเดินจงกรมเท่านั้น หรือเข้าใจไปว่าการปฏิบัติธรรมคือการเข้ากรรมฐาน ก็ถูกแต่ยังถูกไม่หมด
การปฏิบัติธรรมมีความหมายมากกว่านั้น เพราะว่าการให้ทานก็เป็นการปฏิบัติธรรม การรักษาศีลก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่แค่การภาวนาหรือกรรมฐานเป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าเราเข้าใจว่ามีความหมายเพียงแค่นั้น มาเข้าคอร์ส ภาวนา ทำกรรมฐาน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ว่าก็จะขาดการประพฤติธรรมหรือการปฏิบัติธรรมอื่นๆที่มีประโยชน์ หรือไปเข้าใจว่าคนอื่นเขาไม่ปฏิบัติธรรมเพราะเขาไม่มาทำกรรมฐาน เขาอาจจะปฏิบัติธรรมในแบบอื่นก็ได้ อาจจะฝึกฝนตนด้วยการให้ทาน รักษาศีล หรือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง เกิดผลดี เราต้องจับหลักให้ได้ หลักก็คือว่า ธรรมะคืออะไร หมายถึงอะไร ได้แก่อะไรบ้าง ก็เหมือนการทำบุญ ต้องเข้าใจว่าการทำบุญหมายถึงอะไร ได้แก่อะไรบ้าง ไม่เช่นนั้นจะไปเข้าใจว่าแค่การบริจาคเงิน การให้ทาน การถวายสังฆทาน อันนี้เป็นการทำบุญ อย่างอื่นนั้นไม่ใช่ เดี๋ยวนี้การทำบุญมันมีความหมายแคบลงเรียวลง เพราะว่าผู้คนไม่เข้าใจว่าบุญคืออะไร ทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง ก็เลยไปคิดว่าให้ทานเท่านั้นคือการทำบุญ อย่างที่พูดติดกันว่าทำบุญให้ทาน มันก็ไม่ผิด แต่มันยังไม่ถูกทีเดียว เพราะว่านอกจากให้ทานแล้วก็ยังมีการทำบุญด้วยวิธีอื่นโดยไม่ต้องใช้เงิน เช่น การรักษาศีล ภาวนา ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวถือตน ไม่ยกตนข่มท่าน อันนี้ก็เป็นการทำบุญ บำเพ็ญบุญเหมือนกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ใส่ใจส่วนรวมที่สมัยนี้เรียกว่าจิตอาสา อันนี้ก็เป็นบุญ
การเฉลี่ยแบ่งปันความดีให้กับผู้อื่น หรือว่าอุทิศบุญให้กับผู้อื่น อันนี้ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน เรียกว่าปฏิทานมัย ซึ่งชาวพุทธเราก็ทำบ่อยๆเวลาเราทำบุญให้ทาน ถวายสังฆทาน เราก็กรวดน้ำแผ่ไปให้แก่ผู้อื่นด้วย หรือว่าใครทำความดีเราก็อนุโมทนาชื่นชม ไม่อิจฉาหรือว่าไม่ค่อนแคะ มองเขาในแง่ร้ายว่าอยากเด่นอยากดัง อันนี้ก็เป็นบุญ รวมทั้งการฟังธรรม การแสดงธรรม คำว่าธรรมในที่นี้รวมไปถึงความรู้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ข้อคิดที่ช่วยในการรักษาจิตรักษาใจให้ถูกต้องก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน รวมทั้งการทำความเห็นให้ตรง พิจารณาสิ่งต่างๆแล้วปรับความเห็นของตนให้ตรงกับความเป็นจริงอันนี้ก็เป็นบุญเหมือนกัน
พอเราไม่เข้าใจหลักหรือธรรมเรื่องบุญ เราก็เลยมีความคิดคับแคบแล้วก็พลอยทำให้การปฏิบัติของเราคับแคบไปด้วย การฝึกตนด้วยการทำบุญหรือว่าการทำประโยชน์ด้วยการทำบุญก็เลยไม่กว้างขวางหรือลึกซึ้ง ไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ที่จริงเราจะได้ประโยชน์จากการธรรมได้มาก ถ้าเรารู้หลัก คำว่ารู้หลักมีคำบาลีว่าธัมมัญญุตา ก็คือรู้ธรรมนั่นเอง แต่ธรรมในที่นี้ความหมายก็คือหลัก หลักที่จะนำไปสู่ผลที่ต้องการจะเรียกว่าเป็นเหตุก็ได้เช่น เราต้องการความสงบ มีหลักอะไรบ้างที่ทำให้ใจสงบ เราอยากจะฝึกตนให้เจริญงอกงามมีหลักอะไรบ้างเช่น หลักไตรสิกขา หลักไตรสิกขาก็คือธรรมะนั้นเอง ถ้าเราเข้าใจเรื่องการฝึกฝนอบรมตนในพุทธศาสนาว่ามี 3 ระดับ เราก็ได้ประโยชน์จากการธรรมะนั้น แทนที่จะปฏิบัติแค่ศีล เราก็มาเจริญสมาธิ แล้วก็เพิ่มพูนปัญญาด้วย ถ้าเราไม่รู้หลักหรือว่าไม่รู้ธรรม เราก็จะได้ประโยชน์จากธรรมะของพระพุทธเจ้าน้อย
เวลาเราจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่น การสร้างสามัคคีในหมู่ชนถ้าเรารู้หลัก ก็จะช่วยได้มาก หลักก็คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อย่างเช่น สังคหวัตถุ 4 ก็คือธรรมะหรือหลัก เพื่อการสมานใจหรือยึดเหนี่ยวผู้คนให้มีสามัคคี คำว่าสังฆะคือสงเคราะห์หรือสังเคราะห์ เช่น ทาน ปิยวาจา คำพูดที่ไพเราะ คำพูดที่เกื้อกูล อัตถจริยา ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อด้วยแรงกาย ด้วยสติปัญญา สมานัตตตาหรือว่าการร่วมทุกข์ร่วมสุขเสมอต้นเสมอปลาย นี้คือการที่เราจะใช้ธรรมะให้เกิดผลดีได้ เราก็ต้องรู้หลัก ว่ามีหลักอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดผลที่เราต้องการ
นอกจากการรู้หลักแล้ว เราก็ต้องรู้จุดมุ่งหมายรู้ความมุ่งหมายของธรรมะแต่ละข้อๆ หลายคนสนใจธรรมะรู้ธรรมะรู้หลักแต่ไม่รู้จุดมุ่งหมาย มันก็ปฏิบัติผิดเหมือนกัน อย่างเช่น ครูบาอาจารย์สอนมาว่า ให้รู้จักอยู่กับปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นหลักในการฝึกจิตให้สงบ ให้ไม่มีความทุกข์ครอบงำ ทำให้ใช้เวลาอย่างเกิดประโยชน์แทนที่จะมัวใจลอยหรือว่าจมอยู่กับเรื่องราวในอดีต แต่ว่าหลายคนก็ไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย ว่าที่ท่านสอนให้อยู่กับปัจจุบันเพื่ออะไร เพราะฉะนั้น เวลาจะวางแผนเกี่ยวกับอนาคตว่า อีก 3 เดือนหรือ 6 เดือนข้างหน้า เราจะทำอะไรบ้าง งานการเราจะวางแผนอย่างไร บางคนบอกว่าไม่ได้ๆ ครูบาอาจารย์หรือพระพุทธเจ้าสอนให้อยู่กับปัจจุบัน หรือว่าเวลาจะมองย้อนในชีวิตที่ผ่านมาว่าเราทำอะไรดีบ้าง หรือว่าควรปรับปรุงแก้ไขบ้าง อันนี้มันก็ดี แต่หลายคนก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ถูก พระพุทธเจ้าสอนให้อยู่กับปัจจุบัน
คนที่เข้าใจแบบนี้แสดงว่าไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของการอยู่กับปัจจุบันคืออะไร เพราะถ้าเข้าใจจุดมุ่งหมายในการที่วางแผนเกี่ยวกับอนาคต หรือการกลับไปดูอดีตเพื่อปรับปรุงแก้ไข มันไม่ได้ขัดแย้งเลย มันช่วยทำให้การอยู่กับปัจจุบันดีขึ้น หรือช่วยทำให้การทำปัจจุบันให้เกิดประโยชน์ที่สุดเป็นไปได้
การปฏิบัติธรรมจึงต้องเข้าใจจุดมุ่งหมาย ไม่เช่นนั้นก็จะปฏิบัติผิดๆถูกๆ เช่น การให้ทาน ให้ทานเพื่ออะไรเพื่อลดความตระหนี่ แต่หลายคนให้ทานแล้วกลับมีความโลภมากขึ้น เพราะว่าหวังผลตอบแทนที่เป็นเงินเป็นทอง ทำบุญก็อยากจะได้โชคได้ลาภได้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 พอไม่ได้ก็เกิดความเสียใจ เกิดความคับแค้น จิตเป็นอกุศล เศร้าหมองเสียอีก ทั้งนี้เพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายการให้ทาน
การรักษาศีลก็เหมือนกัน ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร หมายถึงเพื่อขัดเกลา เพื่อฝึกตน เพื่อลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง พูดง่ายๆคือลดกิเลสนั่นเอง ถ้าไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายการรักษาศีล ก็ทำให้กิเลสเพิ่มพูนมากขึ้น เกิดความถือตัวถือตน สำคัญตนว่าฉันเหนือกว่าผู้อื่น ฉันมีศีลมากกว่าเธอ มีอาการยกตนข่มท่าน อันนี้ก็เรียกว่าผิดพลาดแล้ว เพราะว่าไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของการรักษาศีล ไปทำแต่รูปแบบภายนอก พอไม่เข้าใจ การฝึกฝนภายในก็เลยถูกละเลยมองข้ามไป หรืออย่างการภาวนาก็ดี
อย่างเช่น การมาเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน ก็ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร บางคนมาปฏิบัติเพราะต้องการความสงบแบบว่าจิตไม่ฟุ้งซ่านเลย ไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติแนวเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน ท่านเน้นเรื่องความรู้สึกตัว ให้มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีการห้ามความคิดหรือหยุดความคิด แต่อนุญาตให้ความคิดเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจึงมีการเคลื่อนไหว และก็มีการเปิดตา หลายคนไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติแนวนี้จึงมีการเปิดตาและมีการยกมือแล้วอย่างนี้จะสรุปได้อย่างไร มันต้องหลับตาสิ มันต้องตามลมหายใจสิ มันต้องทำบริกรรมสิ พอมาปฏิบัติที่นี่หรือตามแนวหลวงพ่อเทียน จึงรู้สึกว่าอึดอัดหรือว่าเกิดความผิดหวัง หรือว่าทำแล้วไม่ได้ผล เพราะว่าตั้งใจแต่จะคุมความคิด ห้ามความคิดอย่างเดียวแล้วยิ่งทำไป ก็ยิ่งหงุดหงิด ยิ่งรำคาญ หรือว่าเกิดหัวเสีย เพราะว่าความคิดไม่ยอมหยุดสักที จิตไม่ยอมนิ่งสักที ที่จิตไม่นิ่งก็เป็นธรรมดา
แต่ท่านสอนฝึกเจริญสติให้รู้ทันความคิด เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความคิดออกมาเป็นการบ้าน เพื่อให้สติได้ฝึก รู้ทัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายภาษาบาลีเรียกว่าอัตถะ นอกจากรู้ธรรมหรือรู้หลักแล้วก็ต้องรู้อัตถะหรือจุดมุ่งหมาย พอรู้จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติแต่ละวิธี หรือจุดมุ่งหมายของธรรมะแต่ละข้อแล้ว การที่เราจะเลือกวิธีการ เลือกธรรมะ เพื่อมาฝึกฝนขัดเกลาตนเองไม่ว่าทางกาย วาจาหรือใจก็จะถูกต้องตรงตามจุดมุ่งหมาย
หลายคนมีคำถาม จะภาวนาวิธีไหนดี เพราะว่ามันมีหลายวิธีเหลือเกิน หลายสำนัก และเดี๋ยวนี้ก็มีการปฏิบัตินิกายอื่นๆเข้ามาสู่การรับรู้ คนก็สับสนว่าวิธีไหนที่เหมาะกับฉัน คำตอบนี้แต่ละคนจะสามารถพบได้ด้วยตนเอง หากว่ารู้ว่าแต่ละวิธีมีจุดมุ่งหมายอย่างไร หรือว่านอกจากรู้จุดมุ่งหมายแล้ว ก็รู้หลักด้วย รู้หลักก็คือรู้เหตุว่า วิธีนี้ถ้าอยากจะให้เกิดผลที่ต้องการก็ต้องใช้วิธีนั้นวิธีนั้น หรือจะใช้วิธีนี้วิธีนั้นก็ต้องรู้ว่ามันมีจุดมุ่งหมายอะไรนำไปสู่อะไร
อย่างเช่น การปฏิบัติที่เรียกว่ากรรมฐานนั้น ครูบาอาจารย์จำแนกไว้ถึง 40 วิธี แต่ละวิธีมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ที่แตกต่างก็เพราะว่ามีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เช่น การเจริญอนุสติ อนุสติคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เป็นต้น อันนี้เพื่อน้อมใจให้เกิดศรัทธา มีจิตใจที่สงบ แต่ถ้าต้องการเจริญสติก็สติปัฏฐาน ถ้าต้องการให้เกิดความสงบ จิตใจเยือกเย็น คลายความรุ่มร้อนก็เจริญอัปปมัญญาคือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมื่อรู้ว่า มีวิธีการอะไรบ้าง อันนี้เรียกว่ารู้หลัก แล้วก็รู้ว่าแต่ละวิธีมีจุดมุ่งหมายอย่างไร อันนี้เรียกว่าอัตถะ การปฏิบัติที่เหมาะสมกับตัว มันก็จะเป็นไปได้ แต่ว่ามันจะเหมาะกับตัวได้อย่างแท้จริงก็ต้องรู้ว่า ตนเองต้องการอะไร อันนี้เรียกว่ารู้ตน นอกจากรู้หลักหรือรู้ธรรมแล้ว รู้อัตถะหรือรู้จุดมุ่งหมายแล้ว ก็ต้องรู้ตนด้วยว่าเราต้องการอะไร จะมาปฏิบัติธรรมนั้นต้องการอะไร
ต้องการความสงบ ต้องการความรู้สึกตัว ต้องการเพิ่มพูนศรัทธา ต้องการให้จิตแน่วแน่ในพระรัตนตรัย หรือว่าต้องการลดความโกรธความเกลียด หลายคนไม่รู้ตัวว่าตนเองต้องการอะไร พอไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ก็เลยปฏิบัติผิดแบบ หรือแบบสับสน ปฏิบัติทางนี้ที ทางนั้นที เพราะคิดว่าแค่ปฏิบัติก็เป็นผลดี แต่ไม่รู้ว่ามันดีกับตัวเองอย่างไร มันเหมาะกับตัวเองไหม มันตรงกับความต้องการของตนเองหรือเปล่า คนสมัยนี้ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร แม้กระทั่งปฏิบัติธรรมไม่รู้ว่าปัญหาของตนเองคืออะไร อยากจะเอาธรรมะมาทำให้เกิดประโยชน์กับตนเองตรงไหน ถ้ารู้ว่าตนเองต้องการอะไร แล้วก็รู้ว่าธรรมะมีอะไรบ้าง แล้วก็รู้ว่าแต่ละข้อของธรรมะหรือหลัก มันมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ก็สามารถที่จะเลือกเฟ้นวิธีการแต่ละวิธีการมาให้เหมาะกับตัว
เพราะคนเราไม่เหมือนกัน ท่านจำแนกออกมาเป็นจริต จริตคือนิสัยหรือความประพฤติที่เน้นหนักไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น ราคะจริต รักสวยรักงาม หรือพวกที่ชอบของสวยของงาม ท่านก็แนะว่าให้รู้จักการเจริญอสุภะ เจริญอสุภะไม่ใช่แค่ดูซากศพอย่างเดียว แต่ให้มองเห็นโทษของสิ่งที่เราหลงว่าสวยว่างาม ส่วนพวกโทสจริตคือพวกหนักไปในทางโทสะ ใจร้อน ขี้หงุดหงิด ท่านก็แนะนำให้เจริญพรหมวิหาร 4 หรือว่าพวกที่จริตที่ชอบใช้ความคิดใคร่ครวญ ท่านก็แนะนำให้พิจารณาไตรลักษณ์ คือจะเอาธรรมะจะปฏิบัติธรรมแบบไหนที่เหมาะแก่ตัว ก็ต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรหรือมีจริตนิสัยไปในทางใด ส่วนใหญ่พอตั้งใจมาปฏิบัติธรรม ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้รู้เลยว่าตนเองต้องการอะไร ไม่รู้ตน แล้วพอได้ฟังธรรมะ สนใจขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ใคร่ครวญว่า ธรรมะแต่ละข้อ หรือวิธีการแต่ละอย่างมีจุดมุ่งหมายอะไร บางทีทำไปๆกลับเกิดผลเสียด้วย
อย่างที่ยกตัวอย่าง เรื่องการรักษาศีล แล้วก็เกิดความหลงตัวลืมตน หรือพอมาเจริญสติแล้วเกิดความรู้สึกหงุดหงิด คับข้องว่ามันไม่สงบเสียที แทนที่จะรู้ทันความหงุดหงิด ความคับข้อง ก็กลับเป็นทุกข์ กลับรู้สึกแย่ท้อแท้
ที่พูดมา 3 อย่างนี้ เป็นหลักสำคัญในธรรมะที่ชื่อว่าสัปปุริสธรรม หรือว่าคุณสมบัติของคนดี สัปปุริสหรือสัตบุรุษ ธรรมะของสัตบุรุษหรือคนดี ข้อแรกคือรู้ธรรม รู้ธรรมคือรู้หลัก หมายถึงว่า มันมีอะไรบ้างที่ควรปฏิบัติ และจะรู้ว่าปฏิบัติอย่างไรก็ต้องรู้อัตถะหรือจุดมุ่งหมายของธรรมะหรือหลักของแต่ละข้อๆ และเพื่อที่จะปฏิบัติให้เกิดผลดี ก็ต้องรู้ตน ต้องรู้จักตนว่า เราเป็นคนแบบไหน มีนิสัยแบบไหน ต้องการอะไร
รู้ธรรม รู้ตนแล้ว มันก็ต้องรู้อย่างอื่นเพิ่มเติมถึงจะเกิดผล เช่น รู้ประมาณ ประมาณคือรู้ความพอดี อันนี้จำเป็นมาก เวลาเราเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเวลาบริโภคถ้าเราบริโภคเกินประมาณหรือว่าน้อยกว่าประมาณก็เกิดผลเสีย เดี๋ยวนี้เราไม่ใช่บริโภคแค่อาหาร เราบริโภคข้อมูลข่าวสาร หรือบางทีบริโภคธรรมะจนกระทั่งสับสน เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักประมาณด้วย แม้กระทั่งเวลาลงมือปฏิบัติ มีความเพียรก็ต้องรู้ว่าเพียรเท่าไหร่ถึงจะพอดี ความเพียรเกินพอดีมันก็จะทำให้ฟุ้งซ่าน เพียรน้อยไปก็ทำให้เกียจคร้านง่วงซึม ไม่ใช่ว่าอะไรที่ดีแล้วจะทำโดยไม่รู้จักประมาณ ศรัทธาก็ดีแต่ถ้าศรัทธาเกินไปหรือเกินความพอดีไปก็กลายเป็นพวกหลงงมงาย สมาธิก็ดีแต่ถ้ามากไปก็กลายเป็นเกียจคร้าน
สันโดษไม่รู้จักประมาณหรือสันโดษโดยไม่ถูกต้องก็กลายเป็นความเกียจคร้านได้ ท่านจึงสอนว่าถ้ามีสันโดษแล้วก็ต้องมีวิริยะมาประกบด้วยเพื่อเป็นหลักประกันว่าไม่กลายเป็นความเกียจคร้าน มักน้อยนั้นดีแต่ถ้าไม่รู้จักประมาณ หรือว่าปฏิบัติไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจความมุ่งหมายของสันโดษก็จะกลายเป็นความขี้เกียจไปได้ คือพอมักน้อยก็เลยเฉื่อย ไม่ขยันขันแข็ง เพราะว่าพอแล้วไม่ต้องทำมาหากินแล้ว เพราะว่าฉันพอแล้ว เวลาที่เหลืออยู่แทนที่จะเอาไปใช้ทำประโยชน์ส่วนรวมหรือว่าฝึกตนในเรื่องของศีลสมาธิปัญญา ก็กลับนั่งๆนอนๆ อันนี้ก็เรียกว่าเกิดความเสียหายขึ้นมาได้ อันนี้เป็นเพราะไม่รู้จักประมาณ
รู้ประมาณแล้วก็ต้องรู้เวล่ำเวลาด้วย รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไร รวมทั้งรู้ว่าเวลาใดจะเหมาะ เช่น ยังหนุ่มยังสาว ยังไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ยังมีกินอิ่มนอนอุ่น อันนี้เป็นเวลาที่ดีมากสำหรับการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่รอให้เจ็บป่วยหรือว่าเจอความทุกข์ เจอความสูญเสียจึงค่อยมาปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความประมาท กาลเวลาที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติคือตอนนี้แหล่ะ ไม่ใช่เวลาไหน รู้กาล รู้บริษัทรู้ชุมชน ชุมชนที่เราเกี่ยวข้อง อันนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับการเผยแผ่ธรรม เวลาเราจะสอนธรรม เราก็ต้องรู้ว่าชุมชนหรือคนกลุ่มนี้เขาสนใจธรรมะอย่างไร คนบางกลุ่มเขาไม่สนใจพิธีกรรม เขาสนใจแต่เรื่องของธรรมเนื้อๆ เราก็ต้องอาศัยเอาธรรมะที่เป็นหลักให้เขา ไม่ต้องเอาพิธีกรรมมาเกี่ยวข้องมาก แต่ถ้าพวกที่ต้องการอาศัยพิธีกรรม ต้องการเรื่องเล่าที่กระตุ้นศรัทธา เราก็รู้ว่าจะนำเสนอธรรมะอย่างไร
รู้บริษัทรู้ชุมชนแล้ว สุดท้ายคือรู้บุคคล อันนี้เป็นประโยชน์สำหรับในการเกี่ยวข้องกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ บางทีเราปรารถนาดี อยากจะช่วยเหลือ อยากจะเอาธรรมะไปให้เขา แต่ถ้าเขาตอนนั้นยังไม่พร้อม มันก็ไม่มีประโยชน์ พระพุทธเจ้าทรงมีความเชี่ยวชาญ รู้ว่าคนแต่ละคนเหมาะจะฟังธรรมะแบบไหน เวลาใดที่เขาจะเปิดใจรับฟังธรรมะ อย่างบางคนขณะที่มีความทุกข์ความเศร้าโศกมากเช่น นางกีสาโคตมีเสียลูก ลูกตาย ไม่ยอมรับก็ส่งลูกไปให้ใครๆช่วย ไปเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแทนที่จะแสดงธรรมให้นางกีสาโคตมีเข้าใจเรื่องอนิจจังเรื่องความตายเรื่องพลัดพราก พระองค์ไม่สอนเลยเพราะรู้ว่าไม่มีประโยชน์ แต่บอกว่าเราช่วยเธอได้ ให้ไปหาบ้านที่เมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตาย
นางกีสาโคตมีดีใจก็ไปหา ปรากฏว่าทุกบ้านมีคนตายทั้งนั้น ก็เลยยอมรับว่าความตายเกิดขึ้นได้ทุกครอบครัว ความพลัดพรากเกิดกับบ้านทุกหลัง ทำใจยอมรับได้ ตอนหลังใจก็เริ่มเปิดธรรมะ พอพระองค์แสดงธรรมไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน คนบางคนกำลังหิวข้าว พระองค์ก็ไม่แสดงธรรม ให้เขากินข้าวก่อน แล้วถึงจะแสดงธรรม เขาบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเลยอันนี้เรียกว่ารู้บุคคล รู้ว่าแต่ละคนเขาต้องการอะไร เขามีนิสัยอย่างไร หรือว่าเขาอยู่ในภาวะอารมณ์ไหน พร้อมที่จะเปิดฟังรับรู้ธรรมะ บางทีเราปรารถนาดีอยากจะช่วยคนเขากำลังเจ็บป่วยระยะท้าย ก็ไปสอนธรรมะไปใส่เขา ยัดเยียด ปรากฏว่าไม่ได้ผล กลับทำให้เขาเกิดความโกรธ โมโหด้วยซ้ำหาว่าไปแช่งเขา
สัปปุริสธรรมเป็นธรรมะที่มีประโยชน์มาก แต่ว่าคนไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน รู้บุคคล เฉพาะ 3 ข้อแรกก็ช่วยได้มากแล้วสำหรับนักปฏิบัติธรรม รู้เหตุก็คือรู้ธรรมะ รู้ผลคือรู้อัตถะ แล้วก็รู้ตน ถ้าเราใคร่ครวญ 3 ประการนี้ได้ การที่จะปฏิบัติธรรมให้เกิดผลดีก็จะเป็นไปได้ ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 19 พฤษภาคม 2564