แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ความรักตนเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เราควรมี อันนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพียงแต่ว่าเมื่อเรารักตนแล้วเราก็ต้องรักให้ถูก รักให้เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสที่เราสวดเช้านี้ บุคคลผู้รักตน หวังอยู่เฉพาะคุณเบื้องสูง เมื่อระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ จงทำความเคารพพระธรรม คือ เมื่อรักตนอย่างถูกต้อง เราก็จะเห็นความสำคัญของการทำธรรมเบื้องสูงให้เกิดขึ้น หรือว่าพาจิตพาใจให้เข้าถึงธรรมะเบื้องสูง ซึ่งก็เริ่มต้นจากการที่มีความเคารพในพระธรรม หรือว่ามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะก็ได้
การรักตน ดูเหมือนว่าใครๆก็คิดว่าตัวเองมี แต่ว่าบ่อยครั้งมันกลับลงเอยด้วยการที่รู้สึกรังเกียจตัวเอง หรือว่าทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ อย่างตอนนี้ก็มีผู้คนจำนวนมากต้องเก็บตัวใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านตลอดทั้งวัน เพราะว่าสถานการณ์โควิดบังคับ หลายคนรู้สึกอึดอัด รู้สึกเหงา รู้สึกเบื่อ รู้สึกกระสับกระส่าย ถ้ารักตัวเองน่าจะมีความสุขกับการที่ได้อยู่กับตัวเอง
เวลาเรารักอะไร รักสิ่งใด หรือรักใคร เราก็อยากอยู่กับสิ่งนั้น อยากอยู่กับคนนั้นนานๆ บางคนรักรถก็อยากอยู่กับรถนานๆ บางคนรักต้นไม้ก็อยากอยู่กับต้นไม้นานๆ บางคนรักพระเครื่องก็อยากจะอยู่กับพระเครื่องอยู่ได้ทั้งวันโดยไม่รู้สึกเบื่อ เพราะอะไร เพราะรัก แต่ทำไมเวลาอยู่กับตัวเอง หลายคนกลับกระสับกระส่าย รู้สึกเหงา อึดอัด ก็แสดงว่าไม่ได้รักตัวเองจริงๆ ใจคิดแต่ว่าจะหาทางไปนั่นไปนี่ ไปเจอผู้คน ไปเที่ยวห้าง หรือว่าไปกินโน่นกินนี่ พอทำอย่างนั้นไม่ได้หรือทำไม่ได้ถนัด ต้องอยู่กับตัวเองก็เกิดรู้สึกรำคาญ รู้สึกกระสับกระส่ายขึ้นมา
คนจำนวนไม่น้อย ปากบอกว่ารักตัวเอง แต่จริงๆกลับทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ อยากจะหนีตัวเอง หรือไม่เช่นนั้นก็ชอบสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง ความทุกข์ที่ว่านี้ไม่ใช่ทุกข์กายแต่เป็นความทุกข์ใจ ชอบไปหยิบฉวยเอาเรื่องราวต่างๆซึ่งผ่านไปแล้วบ้าง ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เอามาหมกมุ่นครุ่นคิด แล้วก็เกิดความโมโห เกิดความคับแค้น เศร้าสร้อย เสียใจ เกิดความหนักอกหนักใจ วิตกกังวลสารพัด เรียกว่าเป็นการเอาความทุกข์มาเติมมาใส่ใจตัวเอง
ถ้าเรารักตนเองจริงๆ หรือเรารักตนเองถูก เราก็ไม่ควรที่จะเอาความทุกข์มาสะสมหมักหมมในใจของตัว เพราะฉะนั้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเวลาอยู่กับตนเองก็ทุกข์ทรมานมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมเวลาจะลงโทษใครสักคน เขาก็ทำด้วยการให้คนๆนั้นอยู่คนเดียว พ่อแม่ก็ขังลูกไว้ในห้องคนเดียว หรือว่าบ้านเมืองขังคนเอาไว้ ถ้าใครที่ทำผิดมาก็ขังเดี่ยวเลยไม่ต้องเจอผู้เจอคน เพราะว่าเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงมากสำหรับคนส่วนใหญ่กับการขังเดี่ยวนานๆ อย่างที่บอกรักตนเองเป็นคุณสมบัติที่เราควรจะมี และจะมีได้ มันก็ต้องมีให้ถูก จะมีให้ถูกได้ต้องอาศัยการฝึก
เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนามีคำว่า ฝึกตน ท่านจะเน้นมากกับการฝึกตน รู้จักตนหรือว่าการมองตน อันนี้เป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้คนเรารักตนเองได้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์ ฝึกตน ฝึกอะไร ขั้นพื้นฐานคือ ฝึกกาย วาจา เพื่อไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งก็สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับตนเองด้วย
ฝึกกายวาจายังไม่พอ ต้องฝึกตาหูจมูกลิ้นกาย เพื่อให้เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆอย่างถูกต้อง ไม่ตกเป็นทาสของรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรือว่ารสที่ได้รับ รวมทั้งสัมผัสที่เกิดขึ้น ถ้าหากว่าตาตกเป็นทาสของสิ่งที่เห็น หูเป็นทาสของเสียงที่ได้ยิน มันก็ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ทางใจ มันทุกข์ทางกายด้วย อย่างคนที่ลิ้นเป็นทาสของอาหาร ซึ่งถ้ากินไม่รู้จักประมาณมันก็เกิดโทษต่อสุขภาพร่างกาย ไม่นับถึงการเป็นทาสของสิ่งที่เป็นอบายมุข เหล้า ยาเสพติด ยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
ฝึกเท่านี้ยังไม่พอ ยังต้องฝึกจิตด้วย การฝึกจิตเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าฝึกจิตได้ดี ก็จะเกิดสุข อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จิตที่ฝึกไว้ดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ แต่ถ้าไม่ฝึกจิต จิตนี่แหละที่จะทำร้ายตัวเราได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า โจรทำร้ายโจรด้วยกัน หรือว่าศัตรูทำร้ายซึ่งกันและกัน ก็ไม่ก่อความเสียหายหรือความฉิบหายมากเท่ากับจิตที่ฝึกไว้ผิดหรือวางไว้ผิด คนที่ทำร้ายกันหรือว่าใครมาทำร้ายเรา มันก็ไม่ก่อความเสียหายมากเท่ากับจิตที่ฝึกไว้ผิด หรือว่าจิตที่ปรุงแต่ง หรือว่าครุ่นคิดไปในทางที่เป็นลบ
เดี๋ยวนี้เราเห็นคนจำนวนมาก ทั้งๆที่เขามีชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ว่าจิตใจมีความทุกข์มาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ บางคนก็ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บางคนก็กลัดกลุ้มมากถึงกับทำร้ายตัวเอง ยังไม่นับถึงการทำร้ายผู้อื่นก็เพราะจิตที่ฝึกไว้ผิด ในทางตรงข้ามกับจิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว ประโยชน์ต่างๆที่จะพึงมีพึงได้ก็สามารถที่จะเข้าถึงได้ชนิดที่พ่อแม่ไม่สามารถที่จะทำให้ได้ พ่อแม่ไม่ว่าจะรักลูกแค่ไหน จะปรนเปรอลูกเท่าไรก็ไม่สามารถที่จะสร้างประโยชน์สุขที่ล้ำค่าได้เท่าจิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว
อย่างเช่นในทางพุทธศาสนา เราก็เชื่อว่าการดับทุกข์เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก แต่พ่อแม่ทำให้ไม่ได้ พ่อแม่แค่หาสิ่งอำนวยความสะดวกมาให้ หรืออย่างมากก็ป้องกันอันตรายไม่ให้มากระทบกาย แต่การที่จะไปดับทุกข์ให้ความสุขอย่างลึกซึ้งชนิดที่เรียกว่าสุขสุดถึงนิพพาน พ่อแม่ทำให้ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ก็ทำไม่ได้ แต่จิตที่ฝึกไว้ดีแล้วทำได้ แต่ถ้าไม่ฝึกแล้วมันก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ
คนทุกวันนี้มีความทุกข์มาก ทั้งๆที่มีวัตถุสิ่งเสพพรั่งพร้อมมากมาย ทำไมถึงทุกข์ เพราะเขาละเลยจิตใจ ที่จริงจะเรียกว่าละเลยจิตใจก็ไม่ถูก เพราะว่าทุกข์ที่เป็นอยู่ของคนทุกวันนี้ เวลาบอกว่ารักตนๆ เน้นแต่เรื่องการปรนเปรอตน ตามใจตน การปรนเปรอตนตามใจแม้จะดูเหมือนออกมาจากความรัก แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นการทำร้ายตนเอง พ่อแม่ที่ตามใจลูกสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการทำร้ายลูก ทำให้ลูกเสียคน ถ้าเราเอาแต่ปรนเปรอตน ตามใจตน สุดท้ายก็เป็นการทำร้ายตน เป็นการพาตนไปสู่ทางต่ำคืออบาย
แต่การรักตนที่ถูกต้องก็คือ การฝึกตน และการฝึกตนที่สำคัญที่สุดก็คือ การฝึกจิต เพราะถ้าไม่ฝึกจิตแล้ว จิตนี่แหละมันจะกลายเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุด อย่างที่พูดไป ไม่มีใครที่จะทำร้ายเราได้รุนแรงหรือมากที่สุดเท่ากับจิตที่ฝึกไว้ผิด
คนทุกวันนี้ทุกข์เพราะว่าความคิดทั้งๆที่มีวัตถุสิ่งเสพพรั่งพร้อม แต่ว่าหาความสุข หาความสงบ หาความเย็นไม่ได้เพราะความคิด คนเราคิดได้สารพัด แต่ถ้าหากว่าไม่ฝึกจิตเอาไว้ให้ดี มันก็จะคิดไปในทางลบทางร้าย มันก็จะปรุงแต่งต่างๆซึ่งทำให้เกิดความคับแค้น ความวิตกกังวล ความกลัดกลุ้ม เกิดความห่อเหี่ยว
ทั้งที่บ่อยครั้งรอบตัวเราไม่มีอะไรเป็นอันตรายแต่หลายคนกระสับกระส่าย วิตกกังวล กลัว อย่างคนที่มาวัดเวลาค่ำ กลางคืน ถ้าอยู่คนเดียวในกุฏิในที่พัก หลายคนจะกลัวมาก ถามว่าความกลัวเกิดจากอะไร เกิดจากอันตรายที่รอบตัวไหม รอบตัวไม่มีอันตรายเลย สิงสาราสัตว์ก็อยู่ของเขา คนที่ประสงค์ร้ายก็ไม่มี ปลอดภัยยิ่งกว่าอยู่ในเมืองเสียอีก แต่ทำไมถึงมีความทุกข์ในเวลาอยู่คนเดียวในยามค่ำคืน ก็เพราะความกลัว ถามว่าความกลัวเกิดจากอะไร เกิดจากความคิดปรุงแต่งว่า มีผี มีสัตว์ร้าย หรือว่ามีคนจะมาลอบทำร้าย หรือว่ามาลักขโมย การปรุงแต่งทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทั้งที่ความจริงไม่มีอะไรเลย
หลายคนบอกว่ากลัวผี แต่ที่จริงไม่ได้กลัวผี แต่กลัวความคิดที่เกี่ยวกับผีมากกว่า ไม่ใช่ทุกข์เพราะผี แต่ทุกข์เพราะกลัวความคิดเกี่ยวกับผี ความทุกข์เหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะไม่รู้ทัน ไม่รู้ทันอะไร ไม่รู้ทันความคิด ความคิดของคนเรา คิดได้สารพัด แต่ถ้ารู้ทันมัน มันก็จะอยู่แต่ในขอบเขต และถ้าฝึกจิตไว้ดี รู้ทันมัน ก็สามารถที่จะน้อมความคิดไปในทางที่จิตเป็นกุศลได้ หรือทำให้ใจหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความกลัวเพราะความคิดปรุงแต่ง
ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าถึงตอนที่ท่านเป็นเด็กเล็กๆ ท่านชอบเลี้ยงปลากัด ไม่ใช่เพื่อให้มันกัดกัน แต่เพราะว่าสีมันสวยเมื่อมันผสมพันธุ์แล้ว ดูสีของปลากัดชนิดต่างๆ ท่านเล่าว่ากลางค่ำกลางคืนบ่อยครั้งต้องไปส้วม สมัยก่อนส้วมอยู่นอกบ้าน ส้วมอยู่ริมน้ำ ต้องเดินผ่านต้นโพธิ์ คนแถวนั้นโดยเฉพาะเด็กรุ่นเดียวกับท่านเวลาเดินผ่านต้นโพธิ์จะกลัวมาก กลัวผี เด็กชายเงื่อมหรือเด็กชายพุทธทาสในวัยเด็กท่านก็กลัวผี เวลาไปส้วมท่านจะใช้วิธีหลับตา ไม่มองต้นโพธิ์ แล้วก็จะนึกถึงปลากัดที่สวยงาม ปรากฏว่าความกลัวไม่เกิดขึ้นทั้งขาไปและขากลับ
ท่านรู้วิธีว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ความกลัวเกิดขึ้นในขณะที่ไปที่ส้วม ท่านรู้ว่าถ้าหากว่าไม่ปิดตา จะเห็นต้นโพธิ์ จิตจะปรุงแต่งไปนึกถึงผีขึ้นมา แม้ว่าหลับตาไม่เห็นอะไร แต่ใจก็คิดถึงได้ วิธีที่จะทำให้ใจไม่คิดถึงผีก็คือ นึกถึงปลากัดสีสวยก็เกิดความพึงพอใจ สบายใจ ความกลัวก็หายไป อันนี้เรียกว่าเป็นความรู้ที่ท่านมีมาตั้งแต่เด็กว่า ความกลัวอยู่ที่เราเห็นอะไร คิดอะไรถ้าปล่อยใจให้ว่างๆ มันก็จะคิดถึงผี เพราะฉะนั้นหาสิ่งอื่นมาทดแทน อันนี้เป็นความจริงเกี่ยวกับเรื่องของจิตว่า เราทุกข์เพราะความคิด แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักคิดให้เป็น มันก็ไม่ทุกข์ได้ นั่นคือการหางานให้จิตทำ
คนที่อยู่ว่างๆอยู่คนเดียว แล้วก็รู้สึกกระสับกระส่าย เพราะว่าจิตปรุงแต่งไปสารพัด แล้วก็ไม่รู้จักเท่าทันจิต ไม่รู้จักน้อมนำจิตไปในทางที่เป็นกุศลได้ คือห้ามจิตไม่ให้คิดนั้นมันยาก แต่ว่าสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ น้อมนำจิตไปในทางที่เป็นกุศล มันไม่เป็นทุกข์หรือไม่คิดไปในทางที่สร้างความทุกข์ให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความปรุงแต่งเกี่ยวกับอนาคตที่ชวนให้ตื่นตระหนก หรือหวนนึกไปถึงอดีตที่น่ากลัว น่าเจ็บปวด หรือว่าน่าคับแค้น
ถ้าเรารู้ธรรมชาติของจิต เราทุกข์เพราะความคิด เราก็หันมาดูแลความคิดของเรา ถ้าเรารู้ว่าจิตชอบปรุงแต่ง เราก็หันมาดูแลจิตใจ ถ้าจะปรุงแต่งก็ให้มันปรุงแต่งไปในทางที่เป็นบวก ถ้ามันจะนึก ก็นึกไปในทางที่เป็นบวก แทนที่จะไปทางลบ อย่างที่ท่านพุทธทาสสมัยเด็กๆท่านชนะความกลัวด้วยการใช้อุบายคิดถึงปลากัด เด็กยังทำได้ ผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้มากกว่านั้น เช่น ใจลอย ใจคิดปรุงแต่ง ใจมีความวิตกกังวล ก็เอาใจมาอยู่กับสิ่งอื่นแทน หางานให้จิตทำ เช่น วาดรูป ทำสวนปลูกต้นไม้ หรือว่าจัดบ้าน ทาสี ซ่อมหลังคา มีอะไรให้ทำมากมาย
หรือใครที่ฝึกจิตเอาไว้อย่างมีทักษะพอสมควรก็หันมาอยู่กับลมหายใจ หันมาอยู่กับความรู้สึกตัว ในขณะที่ทำกิจต่างๆ อยู่กับลมหายใจ ลมหายใจช่วยทำให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ช่วยให้ใจมารับรู้ถึงความเบาของลม ใจรับรู้สิ่งใด มันก็จะเป็นสิ่งนั้น ใจที่รับรู้ถึงลมหายใจที่เบา ใจก็จะคอยเบาไปด้วย ใจที่คอยรับรู้ถึงสิ่งที่โปร่งอย่างลมหายใจมันก็จะโปร่งตามไปด้วย ใจที่รับรู้สึกถึงความเบาของความรู้สึกตัว มันก็จะพลอยโปร่งเบาไปด้วย
ให้เรารู้จักน้อมใจเพื่อให้เกิดความสุข เกิดความสงบ เกิดความเย็น หรืออย่างน้อยก็ไม่ปล่อยให้จิตหรือความคิดนำพาความทุกข์มาให้กับเรา โดยเฉพาะการปรุงแต่งถึงสิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่ชวนวิตกกังวล หรือการที่จิตจมจ่อมอยู่กับเรื่องราวในอดีตที่เจ็บปวด ถ้าเราฝึกจิตเอาไว้โดยเฉพาะการฝึกจิตให้รู้ทันความคิด เมื่อเราตระหนักว่าทุกข์เกิดขึ้นเพราะความคิด เกิดความทุกข์ใจ การฝึกรู้ทันความคิดจะช่วยได้มาก เมื่อรู้ทันความคิด การที่จะพาจิตออกจากความคิด ไม่ตกเป็นทาสของความคิด มันก็จะเกิดขึ้น
คนส่วนใหญ่ไม่เคยตระหนักเลยว่า ตัวเองหลงเข้าไปในความคิด แล้วก็ตกเป็นทาสของความคิด เราคิดทั้งวัน แต่เราไม่รู้ตัว แต่พอมาเจริญสติมาถึงจุดหนึ่ง มันจะรู้สึกอัศจรรย์มากเพราะไม่เคยคิดเลยว่า คนเราจะเห็นความคิดได้ ทั้งๆที่เราอยู่กับความคิดทั้งวัน หรือตลอดคืน แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ใจเราจมอยู่ในความคิด ไม่เคยคิดว่าเราสามารถที่จะเห็นความคิดได้ มันเหมือนกับนกอยู่กับฟ้าแต่ไม่เห็นฟ้า ปลาอยู่กับน้ำไม่เห็นน้ำ หรือหนักกว่านั้นหนอนไม่เห็นอาจม หนอนมันอยู่ในอาจม อุจจาระตลอด แต่มันไม่เห็น
คนเราอยู่กับความทุกข์แต่ไม่เห็นทุกข์ อยู่กับความคิดแต่ไม่เห็นความคิด ต่อเมื่อมีสติ การเห็นความคิดจึงจะเกิดขึ้นได้ แล้วพอเห็นความคิดจะรู้สึกอัศจรรย์ มันไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อย่างเดียว แต่มันทำให้จิตหลุดออกจากความทุกข์ได้ เพราะความคิดปรุงแต่งสารพัดโดยเฉพาะในทางลบทางร้าย ก็คือทำให้จิตหลุดออกจากความคิดได้เพราะว่ามีความระลึกได้ในสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เช่น ในขณะที่เราสวดมนต์อยู่ใจมันลอย ลอยฟุ้งไปยาว ส่วนใหญ่จะมารู้สึกตัวก็ตอนที่ความคิดมันดับไปแล้ว เพราะว่ามันคิดไปสุดเรื่องแล้ว
แต่ว่าเราทำได้ดีกว่านั้น ทำได้มากกว่านั้น คือถึงแม้ยังไม่คิดสุดเรื่อง ขณะที่มันกำลังเพลินมีความคิดอยู่ จิตก็ระลึกขึ้นมาได้ว่ากำลังสวดมนต์อยู่ พอเราระลึกขึ้นมาได้ จิตจะออกมาจากความคิดเลย จะมาอยู่กับการสวดมนต์ ตอนที่ออกจากความคิด มันจะเห็นความคิด
หรือมิเช่นนั้น ขณะที่เพลินไปกับความคิด จิตเกิดรู้ทันขึ้นมา อาการกระเพื่อมขึ้นของใจในขณะที่มีความคิด สติมันไว มันเหมือนกับเซ็นเซอร์ พอมีอะไรมากระเพื่อมขึ้นมาเขย่าขึ้นมานิดหน่อย มันรู้เลย ใจที่กระเพื่อมขณะที่จมอยู่ในความคิด สติมันรู้ทัน มันก็ช่วยพาจิตออกมาจากความคิดได้ ยังคิดไม่สุดสาย แต่มันหลุดออกมาซะแล้ว แต่ก่อนคิดไป 10 เรื่องถึงค่อยรู้ตัว เพราะความคิดพาไป แต่ว่าตอนหลังคิดไปยังไม่ทันจบเรื่อง มันก็รู้ทันขึ้นมาแล้ว รู้ทันเพราะอะไร เพราะสติ สติมันเตือน มันก็ดึงจิตออกมา ออกจากความคิด ออกจากหลุมอารมณ์ที่เกิดจากความคิดนั้น
และต่อไปมันไม่ใช่แค่รู้ทันความคิดเท่านั้น มันรู้ทันอารมณ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความหนักอกหนักใจ ความเบื่อความเซ็ง รู้ทันอารมณ์มันยากกว่ารู้ทันความคิด ความคิดมันออกมาเป็นภาพเป็นคำ แต่ว่าอารมณ์เป็นอะไรที่คลุมๆจิตเอาไว้อยู่
ใหม่ๆเราก็รู้ทันความคิด ดึงจิตออกมาจากความคิด ไม่ตกเป็นทาสของความคิด ไม่เป็นทุกข์เพราะมัน ต่อไปเราก็จะสามารถรู้ทันอารมณ์ หลุดออกจากอารมณ์ได้ไวขึ้น ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ ถ้าเราทำอย่างนี้เป็นอาจิณ ใจเราก็จะรุ่มร้อนน้อยลง วิตกกังวลน้อยลง ฟุ้งซ่านน้อยลง หนักอกหนักใจน้อยลง ก็จะเกิดความเย็น ความโปร่งความเบาขึ้น แล้วก็มีความสุข
และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่รู้จักฝึกตน และเพราะทำอย่างนี้ถึงจะเรียกว่ารักตนอย่างแท้จริง รักตนแล้วก็ได้พบสิ่งดีๆจากการฝึกตน โดยเฉพาะการฝึกจิต แล้วถึงตอนนั้น การอยู่กับตนเองก็จะไม่ใช่เรื่องยาก มันจะกลายเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจด้วยซ้ำ เพราะว่าพอรักตนแล้วและรักตนอย่างถูกต้อง ก็จะพบความสุข ก็จะพบความสงบ ทั้งนี้เพราะว่าได้ฝึกตน ได้ฝึกจิตเอาไว้อย่างดี อย่างถูกต้อง
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรม วัดป่ามหาวัน วันที่ 23 พฤษภาคม 2564