แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดถึงคนที่เดินจงกรมแล้วก็ถูกมดกัดจนทนไม่ได้ หลายปีก่อนก็มีเหตุการณ์คล้ายๆกัน อาตมาพาคนเดินจงกรมตอนเช้า ก่อนหน้านั้นก็มีฝนตกพรำๆ แต่ตอนที่เดินฝนก็หยุดแล้ว แต่ระหว่างที่เดิน มดก็เดินออกมาจากรังแล้วก็มาตามทางจงกรมนั้น คนเดินไปสักพักก็มีมดมาไต่ตัว หลายคนก็เอามือปัด ปัดขากางเกง กระทืบเท้าตลอดทาง พอเดินเสร็จอาตมาก็พูดคุยกับผู้ปฏิบัติ โดยบอกเขาว่าถูกมดกัดเจ็บก็จริงแต่ว่ามันเจ็บแต่กาย ใจไม่เจ็บ ทำได้นะ ให้สังเกตดูใจเวลาถูกมดกัด เป็นอย่างไร เห็นความกลัว เห็นความไม่พอใจ เห็นโทสะเกิดขึ้นไหม หรือไม่ก็มาดูความเจ็บความปวดคือดูเวทนา ฝึกดูให้เป็น จริงๆแล้วกายหรือร่างกายมันไหว แต่ที่ไม่ไหวคือใจ ถ้าใจไหว มันไม่มีอาการอย่างที่เป็นหรอก
ก็มีนักปฏิบัติคนหนึ่ง เขาฟังแล้วก็อยากจะลองปฏิบัติ อยากจะลองทำอย่างที่อาตมาแนะนำ วันรุ่งขึ้นก็มีการเดินจงกรมอีก เขาตั้งใจว่าถ้ามีมดไต่ตามตัว เขาจะลองดู อยากจะให้มดกัดดู ปรากฏว่าพอเดินมาสักพัก มดก็ไต่ขึ้นมาตามตัว โดยเฉพาะช่วงที่อาตมาให้สัญญาณหยุด เพราะว่าเวลาเดินไม่ใช่เดินรวดเดียวให้หยุด แล้วก็เดินต่อ ช่วงที่หยุด มดก็ไต่ขึ้นมาตามขาตามตัวของนักปฏิบัติธรรมคนนั้นซึ่งก็ตั้งใจไว้แล้วว่าขอให้มีมดมาไต่ ตอนที่มดไต่มาตามขาใต้ร่มผ้า เธอก็ดูใจ เห็นความกลัว พอเห็นความกลัวเท่านั้นความกลัวก็ดับ ใจก็นิ่ง แล้วก็มีอาการหวั่นไหวขึ้นมาอีก ก็ดูมัน มันก็หายไป
ทีนี้มดไม่ใช่แค่ไต่อย่างเดียว มันก็เริ่มกัด เธอก็สังเกตดูความเจ็บความปวดที่เกิดขึ้น ก็เห็นเป็นจ้ำๆ เป็นจุดๆ เหมือนธูปจี้ ทั้งเจ็บทั้งแสบทั้งร้อน แต่ว่าก็ดูมัน เห็นลักษณะอาการของมัน บางทีความปวดก็ขยายเป็นวง วงเล็กบ้าง วงใหญ่บ้าง ก็ดูมัน แล้วก็มาดูกาย ก็เห็นกล้ามเนื้อที่มันเกร็ง หัวใจเต้นเร็ว กัดฟันเม้มปาก ช่วงนั้นจิตก็เริ่มกระสับกระส่ายขึ้นมา เธอก็เริ่มมาดูจิต เห็นความกระสับกระส่าย มันก็สงบลง
ตอนนั้นเธอพบว่าใจไม่ทุกข์เลย ความเจ็บความปวดมีอยู่ แต่ใจไม่ทุกข์เลย แล้วเธอก็เห็นว่า กายก็อันหนึ่ง ความรู้สึกหรือเวทนาก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง กายก็คือลมหายใจ หรือว่าร่างกาย เวทนาคือความเจ็บความปวดความแสบ ใจที่มีอาการกระเพื่อม ตามดูรู้ใจ ใจมันสงบ แล้วก็เห็นกาย เห็นเวทนา จิต มันแยกกัน เธอประหลาดใจมาก ไม่เคยเห็นแยกกันชัดขนาดนี้ ที่จริงกาย เวทนา จิต เป็นคนละส่วนตั้งแต่แรก แต่คนเรามักจะมองคลุมๆ เหมารวมว่าเป็นเรา เรา เรา
แต่นักปฏิบัติคนนี้ก็อาศัยสติดู ช่วงเวลามดกัด เธอเห็นเลย พอเห็นกายกับใจมันแยกกัน มารู้สึกต่อว่ากายเจ็บ ใจไม่เจ็บก็ได้ เวทนาเกิดขึ้นกับกายก็ได้ แต่ไม่เกิดขึ้นกับใจก็ได้ ใจก็เลยสงบ แล้วก็เกิดปิติ เราทำได้ พอพบว่ากายเจ็บ ใจไม่เจ็บก็ได้ เพราะว่าดูเวทนา ไม่เข้าไปเป็นผู้เจ็บ เห็นความเจ็บ ไม่เป็นผู้เจ็บ ดูจิต ความกลัว ความกระสับกระส่ายไม่เข้ามาครอบงำ ใจก็เลยไม่ทุกข์ ใจก็เลยเป็นปกติได้ ปวดก็เป็นเรื่องของกาย ใจไม่ปวด
เห็นอย่างนี้เข้า เธอก็เกิดปิติอย่างที่ว่า แล้วก็รู้สึกซาบซึ้ง ขอบคุณมด ที่มาทำให้เธอได้เห็นความจริงที่ว่า แทนที่จะโกรธมด เกิดสงสารมดขึ้นมา ว่าเราไปเหยียบหลังเขา และไม่ใช่แค่สงสารอย่างเดียว รู้สึกขอบคุณมดด้วย ที่มาทำให้เห็นธรรม แล้วก็เลยเรียกมดว่าเป็นอาจารย์มด ขอบคุณแล้วก็แทนที่จะโกรธกลับถือว่าเป็นอาจารย์เลย เป็นอาจารย์ที่มาทำให้เห็นธรรม ให้เห็นว่ากายปวด ใจไม่ปวดก็ได้ เพราะว่ากายกับใจ รวมทั้งความปวด มันคนละส่วนกัน
ประเด็นที่เล่านี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งที่เกิดความเจ็บ ความปวด หรือเกิดความทุกข์ เราก็มีโอกาสที่จะเห็นธรรมได้ และเป็นโอกาสดีที่เวลาสุขเราจะไม่เห็นธรรมเท่ากับเวลาทุกข์ โดยเฉพาะถ้ามีสติเป็นเครื่องช่วยในการพิจารณาให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เพราะฉะนั้นกายปวด ใจไม่ปวดก็ได้ ถ้าเราไม่พิจารณาดูดีๆ เราก็มักจะเหมาคลุมว่า ที่ทุกข์เพราะมดกัด ทุกข์กายนั้นใช่ แต่ทุกข์ใจไม่ใช่ ใจจะเป็นทุกข์ได้เพราะมันเผลอ ขาดสติ
ผู้หญิงคนนี้ เธอก็ได้เห็นว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็เลยขอบคุณมด เรียกมดว่าเป็นอาจารย์ มดเป็นอาจารย์ของเราได้ แม้จะกัดเรา ถ้าเรามองให้เป็น สัตว์เล็กๆแมลงน้อยๆ แม้จะนำความทุกข์ให้กับเรา เขาก็เป็นอาจารย์ของเราได้ ที่จริงไม่ใช่แค่มดอย่างเดียว ยุงก็ดี ความร้อนความหนาวที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ก็สามารถที่จะเป็นอาจารย์ของเราได้ เพราะเขามาทำให้เราเห็นเหตุปัจจัยต่างๆหรือว่าสร้างสถานการณ์ที่เป็นโอกาสให้เราได้เห็นธรรมจากความทุกข์
ไม่ใช่แค่แมลง ไม่ใช่แค่สัตว์ หรือว่าดินฟ้าอากาศอย่างเดียว คนที่ทำไม่ดีกับเรา ก็เป็นอาจารย์ของเราได้ อย่างที่เล่าให้ฟังบ่อยๆ เรื่องของหลวงพ่อพุธสมัยที่ท่านไปเดินบิณฑบาตแถวเมืองอุบล มีผู้หญิงคนหนึ่งยืนรอใส่บาตรกับลูกชายวัย 5 ขวบ ท่านก็ไปเดินรับบาตร พอเดินเข้าไปใกล้เด็กชายคนนั้นก็พูดขึ้นมาว่ามึงบ่แม่นพระดอก มึงไม่ใช่พระหรอก ที่จริงท่านโกรธ ไม่พอใจ แต่สักพักก็มีสติ รู้ทันความโกรธ มีความคิดขึ้นมาว่า เออจริงของมัน เราไม่ใช่พระ เพราะถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ พอคิดได้เช่นนั้นก็ปกติเลย ใจปกติ เดินไปรับบาตรอย่างสำรวมกับแม่ของเด็ก
ตอนหลังเวลาท่านพูดถึงเด็ก ก็จะบอกว่านฃเด็กคนนี้คืออาจารย์ของท่าน เด็กที่พูดจาไม่สุภาพก็สามารถเป็นอาจารย์ให้กับท่านได้ เพราะทำให้ท่านได้เห็นว่าตนเองมีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ทำให้เห็นความเป็นพระยังไม่พอเพราะยังมีความโกรธ ยังกระเพื่อมต่อสิ่งที่มากระทบ ถ้าเรามองอย่างนี้เราได้กำไร มองคนที่ต่อว่าเรา ตำหนิติเตียนเราว่าเป็นอาจารย์ ถ้าเรามองเป็นอย่างอื่น มองเป็นทางลบ ขาดทุนเลย เพราะว่ามันจะเกิดความโกรธ อาจจะถึงกับพยาบาท หรือเผลอทำอะไรลงไปในทางที่ไม่ดี
แต่ทันทีที่เรามองเป็นอาจารย์ เขามาสอนเรา เขามาเปิดโอกาสให้เราเห็นธรรม หรือเห็นตัวเองว่ามีข้อบกพร่อง มีจุดที่ต้องแก้ไขอย่างไร อันนี้ได้กำไร แล้วอันนี้ก็เป็นวิสัยของชาวพุทธ เป็นวิสัยของนักปฏิบัติธรรมด้วยคือ ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ นอกจากมีสติแล้ว ก็มีปัญญา ใช้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อฝึกตน แม้จะเป็นอนิฏฐารมณ์ คือรูปรสกลิ่นเสียงที่ไม่น่าพอใจ หรือเหตุร้าย เช่น เสื่อมลาภเสื่อมยศ นินทา
หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า นักปฏิบัติธรรมต้องเป็นนักฉวยโอกาส ต้องหมั่นฉวยโอกาสทุกเวลาทุกนาทีมาเป็นเวลาของการปฏิบัติ ไม่ว่าทำอะไร รวมทั้งเจออะไรก็ตาม เจออะไรมากระทบ ก็ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องเรียนรู้ เป็นเครื่องฝึกตน ถูกเขาว่า สูญเสียของรัก นี่คือโอกาสที่เราควรจะฉวยมาเพื่อฝึกตน เพื่อเรียนรู้สัจธรรมความจริง
ถ้าเรารู้จักฉวยโอกาสแบบนี้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่ขาดอาจารย์ ไม่ขาดกัลยาณมิตร สมัยที่หลวงปู่มั่นยังไม่มีชื่อเสียง ท่านก็ถูกมองด้วยความเข้าใจผิด จากคนจำนวนมากโดยเฉพาะพระผู้ใหญ่ พระที่เป็นผู้ปกครองเพราะว่าท่านชอบธุดงค์ ไม่อยู่วัดเป็นหลักแหล่ง แล้วก็เดินธุดงค์คนเดียวด้วย หนังสือหนังหาหรือพระปริยัติธรรม ท่านก็ไม่ค่อยเรียนเท่าไหร่ ขัดกับนโยบายของคณะสงฆ์ซึ่งตอนนั้นต้องการให้พระสงฆ์เรียนหนังสือหนังหาจะได้เข้าใจพระพุทธศาสนา
แต่หลวงปู่มั่นตอนนั้นยังเป็นญาคูมั่นอยู่ ท่านก็เดินธุดงค์แทบจะตลอดปีเลย พระผู้ใหญ่ก็ไม่พอใจ มีคราวหนึ่งพบท่านในงานแห่งหนึ่ง พระผู้ใหญ่ท่านนั้นเป็นถึงพระราชาคณะซึ่งตอนหลังเจริญสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก็พูดทักท้วงตักเตือนและตำหนิท่านว่ายาครูมั่น ท่านเข้าป่าธุดงค์แต่ผู้เดียวตามลำพัง จะมีสหธรรมิกมาช่วยตักเตือนหรือว่าสอนธรรมะให้กับท่านอย่างได้อย่างไร ทำอย่างนี้ถูกที่ไหน
หลวงปู่มั่นก็ตอบและชี้แจงว่าพระเดชพระคุณอย่าได้ห่วงกระผมเลย เพราะผมเข้าป่าแม้แต่ผู้เดียว แต่ก็ไม่ได้ห่างไกลจากสหธรรมิกเลย มีสัตว์สหธรรมิกที่สอนธรรมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกเสียงกาเสียงจั๊กจั่นเรไรช้างเสือ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสหธรรมิกที่สอนธรรมให้กับกระผมทั้งสิ้น กระผมจะสุขหรือทุกข์ก็รู้เพราะมีธรรมชาติมีสหธรรมิกเหล่านี้แหละที่มาสอนมาเตือนให้มีสติ ให้รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน อยู่อย่างไรและจะไปอย่างไร แล้วกระผมเห็นต้นไม้ที่เขียวเคลิ้ม บางต้นก็ตายซาก อันนี้ก็สอนธรรม ให้เห็นความจริงช่วยเตือนให้มีสติสัมปชัญญะ
เพราะฉะนั้น เกล้ากระผมแม้จะอยู่ในป่าตามลำพัง ก็ไม่ได้ขาดสหธรรมิกหรือกัลยาณมิตรเลย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า หลวงปู่มั่นมองรอบตัวท่านเป็นอาจารย์หมด สอนธรรมสอนความจริงสัจธรรม ไม่ให้หลงเพลินไปกับความสุขชั่วครู่ชั่วยาม คนเราถ้าหากว่ารู้จักเอาทุกอย่างทั้งที่อยู่รอบตัวและที่เกิดขึ้นกับเราเป็นอาจารย์ จิตก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า แม้ว่าบางอย่างจะทำให้ทุกข์ แต่ก็จะไม่ทุกข์ฟรีๆ ความเจ็บความป่วยก็เป็นอาจารย์ให้กับเราได้ เขาสอนไตรลักษณ์ให้เห็น และก็เป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้ฝึกดู เห็น ขันธ์ต่างๆมันแยกกัน กายกับใจมันแยกกัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันแยกกัน
ปกติเราไม่สนใจที่จะทำอย่างนั้น แต่พอมีทุกข์มาบีบคั้นให้เราต้องทำ เพราะถ้าเราเห็นกายกับใจแยกกันกายปวดใจไม่ปวดก็ได้ มันก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ไปได้เยอะ แล้วมันก็ทำให้เกิดปัญญาด้วย แทนที่จะป่วยแต่กาย ก็ได้ธรรมะ ของหายเงินหายแทนที่จะตีอกชกหัว ก็มองว่าเขามาสอนไปสอนเราเห็นความไม่เที่ยง ให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่น แม้แต่ความโกรธ ความเครียด ความหนักอกหนักใจที่เกิดขึ้นกับเรา ก็เป็นอาจารย์เราได้ อย่างปฏิบัติไป ยิ่งปฏิบัติยิ่งเครียด ความเครียดดูให้ดีสอนเราว่า วางใจผิด เป็นเพราะว่าเราตั้งใจมากไป เป็นเพราะว่าเราคิดเอาชนะกิเลส มุ่งบังคับจิต ก็เลยมีอาการแบบนี้ เขามาสอนเราให้วางให้ปล่อย เขามาสอนให้ทำสบายๆหรือว่าสอนให้เราไม่ไปจ้อง ไม่ไปเพ่ง
ถ้าเรารู้จักเอาความเครียดมาเป็นอาจารย์ การปฏิบัติของเราก็จะก้าวหน้ามากขึ้น แต่ถ้าเราวางใจผิดก็จะโมโห เครียด หนักขึ้น จนกระทั่งถึงขั้นท้อแท้ บางคนก็ถึงขั้นเลิกปฏิบัติไปเลย เพราะมันเครียดมาก ปวดหัว แน่นหน้าอก เป็นเพราะว่าเขาสอนเรา แต่เราไม่ฟัง เขามาเตือนเรา แต่เราไม่เชื่อ ก็เลยเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราฉลาด เอาเขามาเป็นครู ความเครียดมาสอนให้เราปล่อยวางให้มากขึ้น ยึดติดถือมั่นให้น้อยลง วางความอยากลง การปฏิบัติของเราก้าวหน้า สติก็เจริญเติบโต
ความโกรธก็เหมือนกัน มาสอนเรา มาเป็นอาจารย์ให้กับเราได้ ให้เห็นว่ามันก็ไม่เที่ยง โกรธอย่างไรพอมีสติ รู้ทัน มันก็ดับไป มันจะฉลาดแค่ไหน แต่ว่ามันก็แพ้ทางสติ ไม่ต้องกดข่มมัน และไม่จำเป็นต้องระบายมันออกไปอย่างที่คนมักจะทำกัน เพียงแค่เห็นมัน มันก็ดับไป มันละลายหายไป เราจะไม่เห็นอานุภาพของสติ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเครียด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการบ้าน เป็นเครื่องฝึกจิตให้ว่องไวปราดเปรียว แล้วก็เกิดปัญญา ให้เห็นความจริง
เพราะฉะนั้น ธรรมะหรืออาจารย์ มันจึงมีอยู่รอบตัวและอยู่ในตัวเรา ใช้เหตุการณ์ทุกอย่างเพื่อเป็นเครื่องสอนเรา เป็นเครื่องฝึกจิตให้กับเรา รวมทั้งความเบื่อที่เกิดขึ้น หลายคนเพิ่งมาวัด ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ อาจจะมีความเบื่อ ความเหงา ความฟุ้ง พวกนี้เป็นอาจารย์ให้กับเราได้ทั้งนั้น รวมทั้งคนที่ทำไม่ดีกับเรา พูดไม่ดีกับเรา ทำตัวไม่น่ารัก เขาก็เป็นอาจารย์ได้
แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้จักมอง เห็นเขาเป็นศัตรู เห็นเขาเป็นคนที่ต้องผลักไสออกไป ใจจะยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น แต่ความทุกข์เหล่านั้นมองให้ดี ก็ยังไม่สายที่จะใช้เป็นอาจารย์ ให้ตระหนักว่า สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงที่ใจเรา ไม่ใช่ไปเปลี่ยนเขา คนบางคนจะไปคาดหวังให้เขาเปลี่ยนแปลงนั้นยาก จะคาดหวังให้เขามองเราในทางที่ดี ก็อาจจะยาก หรือแม้แต่จะให้เข้าใจเรา ก็อาจจะยาก แต่ว่าสิ่งที่เราทำได้คือเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา หันมาเข้าใจเขาให้มากขึ้น เมตตาเขาให้มากขึ้น เกลียดให้น้อยลง ใจก็เป็นสุขสงบได้ เพราะรู้จักเอาคนเหล่านี้มาเป็นอาจารย์สอนธรรมให้กับเรา
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 5 มิถุนายน 2564