แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรามาวัดเพื่ออะไร ถ้ามาวัดเพื่อหาความสงบ อันนี้ได้ประโยชน์น้อย แต่ถ้าเรามาวัดเพื่อฝึกจิตให้สงบ อันนี้ได้ประโยชน์มากกว่า ถามใจตัวเองว่าเรามาวัดเพื่ออะไรกันแน่ ถ้ามาวัดเพื่อหาความสงบที่ว่า ได้ประโยชน์น้อย เพราะว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย รอให้ความสงบเกิดขึ้น แล้วเราก็รับ หรือเสพความสงบ
ซึ่งอาจจะไม่ต่างจากการที่เราไปรีสอร์ท ไปเที่ยวทะเล หรือว่าไปเกาะ มันก็มีความสงบรอเราอยู่ที่นั่น เราเพียงแต่มีเงินมีเวลา แล้วก็ไปเก็บเกี่ยวความสงบ แต่ว่ามันไม่ได้เกิดพัฒนาการอะไรขึ้นมากับจิตใจของเราหรือตัวเราเลย เพราะว่ามันไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ไปรอรับ เสพเก็บเกี่ยวความสงบ แต่พอกลับไปบ้าน กลับไปที่ทำงาน เจอความไม่สงบ เจอความวุ่นวาย ใจก็กลับไปเหมือนเดิม ทุกข์ว้าวุ่น กลุ้มใจ เครียด
ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราไปวัดเพื่อหาความสงบ หรือพบความสงบ มันก็เท่ากับเราต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมภายนอก พึ่งพาธรรมชาติที่จะช่วยกรอง ช่วยกลั่นเสียงดังอึกทึกจากภายนอก ไม่ให้มากระทบหูของเรา หรือว่าพึ่งพาผู้คนที่อยู่ในวัดว่า เขาจะทำตัวน่ารัก พูดดีกับเรา ไม่ทำอะไรที่ขัดใจเรา หรือว่ามากระทบจิตใจของเรา แต่ว่าเราจะมีสิ่งแวดล้อมแบบนั้นได้จริงหรือเปล่า สิ่งแวดล้อมที่สงบ ไม่มีเสียงอึกทึก ผู้คนที่เรียบร้อย ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเป็นมิตร ไม่ทำให้เราเกิดความขัดอกขัดใจขึ้นมา สิ่งแวดล้อมแบบนั้นจะว่าไป ไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่าย
แม้ว่ามาวัดแล้ว อาจจะไม่เจอหรืออาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดก็ได้ เพราะว่าที่ไหนมีคนเยอะหรือแม้คนไม่เยอะ คนไม่กี่คน มันก็ง่ายหรือพร้อมที่จะเกิดการกระทบกระทั่งขึ้นมาได้ นิสัยใจคอไม่ตรงกัน หรือว่าทำอะไรไม่พร้อมเพียงกัน มันก็ทำให้เกิดความไม่สงบในจิตใจได้ เกิดความไม่พอใจ เกิดความเครียด ยังไม่นับความจริงที่ว่า วัดหรือส่วนใหญ่ก็ได้ ก็ย่อมมีคนที่มีปัญหา คนที่ไม่น่ารัก หรือว่าคนที่จะเห็นแก่ตัว ไม่สนใจคนอื่น หรือไม่ฟังคนอื่น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะมาหาความสงบในวัด อาจจะผิดหวังก็ได้ มันไม่ใช่แค่ได้ประโยชน์น้อยเท่านั้น แต่อาจจะผิดหวัง ยังไม่พูดถึงว่า แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะถูกใจเรา ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ หรือผู้คน แต่วันดีคืนดีก็มีเสียงดังจากหมู่บ้าน เสียงรถ เสียงก่อสร้าง ซึ่งล้วนแต่เป็นความไม่สงบทั้งสิ้น
แต่ถ้าเรามาวัดเพื่อฝึกจิตให้สงบ อันนี้มีประโยชน์มากกว่า เพราะว่ามันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเรา ถ้าเรารู้จักทำจิตให้สงบ กลับไปบ้าน กลับไปที่ทำงาน กลับไปสู่โลกภายนอก เราก็สามารถที่จะพบความสงบได้ในทุกที่ไม่ว่าสถานที่แห่งนั้นมันจะอึกกระทึกวุ่นวายจอแจ เรามาวัดด้วยวัตถุประสงค์แบบนี้แหละจึงจะเกิดประโยชน์ ตั้งความหวังหรือจุดมุ่งหมายให้ถูกต้อง เพราะว่าถ้ามาวัดเพื่อจะหาความสงบหลายคนก็ผิดหวังกลับไป เพราะว่าไม่ได้สงบอย่างที่คิด ธรรมชาติ อาจจะสงบ แต่ผู้คนไม่สงบ เพราะว่ามาจากทั่วสารทิศ ความคิด จิตใจไม่ตรงกัน คนที่มีปัญหาก็มีไม่น้อย
ยังไม่นับประเภทที่ว่ามาวัดแล้วสงบก็จริงเพราะมาอยู่ชั่วคราว ทิ้งภารกิจการงานเอาไว้ที่บ้าน ที่ทำงาน ใจโปร่งเบา ผู้คนก็ต่างปฏิบัติ ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ ก็พบกับความสงบได้อย่างที่ต้องการ แต่พอกลับไปบ้านก็เกิดเครียดขึ้นมาเลย เกิดอาการหงุดหงิด เพราะว่าที่บ้านไม่สงบเหมือนที่วัด เกิดอาการประเภทหูร้อน โดยเฉพาะคนที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติหลายวัน มันสบาย แต่พอกลับไปบ้าน ไปเจอผู้คน ผู้ร่วมงาน หูร้อนขึ้นมาเลย เกิดความเครียดและไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่ได้ฝึกจิตที่จะรับมือสิ่งเหล่านี้
ในทางตรงข้าม ถ้าเราเพื่อฝึกจิตให้สงบ แล้วเราทำให้จิตสงบได้ เราก็จะเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ที่บ้านหรือที่ทำงานมันจะอึกกระทึกวุ่นวาย หรือคนไม่น่ารักแต่ใจก็ไม่เป็นทุกข์เพราะว่ารู้จักฝึกจิตเอาไว้ ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะสิ่งเหล่านี้ เกิดความสงบขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ว้าวุ่นวุ่นวาย เพราะฉะนั้น ต้องตั้งจุดมุ่งหมายให้ดี ถ้ามาวัดเพื่อหาความสงบ ก็เตรียมใจพบความผิดหวัง หรือว่าเตรียมใจพบกับความสงบที่ชั่วครั้งชั่วครู่ชั่วยาม
แต่ถ้าเรามาวัดเพื่อฝึกจิตให้สงบ และเราสามารถจะทำให้ใจสงบได้ เป็นวิชาที่มีคุณค่ามาก การทำจิตให้สงบ หลายคนก็นึกถึงการบังคับจิตไม่ให้มันคิดอะไรเลย หรือคาดหวังจิตจะไม่คิดไม่ฟุ้งตามอำนาจหรือความต้องการตามความปรารถนาของเรา ถ้าคิดแบบนี้ก็อาจจะผิดหวังได้ง่าย เพราะว่าจิตไม่ยอมอยู่ในอำนาจของเรา และจิตชอบคิดชอบฟุ้งเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
ที่นี่เราไม่ได้ฝึกให้จิตหยุดคิด ไม่ได้ฝึกห้ามคิด หรือไปกำกับความคิด แต่เราฝึกจิตให้สงบด้วยการมีสติ รู้ทันความคิด เมื่อมันฟุ้งเมื่อมันปรุงเราห้ามมันไม่ได้ ความคิดหรือจิตใจ ห้ามจิตไม่ให้คิด เราสั่งมันไม่ได้ ถ้าเราไปพยายามบังคับจิตไม่ให้คิดหรือห้ามคิด สุดท้ายเราเองก็จะเดือดร้อน เกิดความเครียด ปวดหัว แน่นหน้าอก หรือบางทีนอนไม่หลับเพราะว่าความคิดที่มันเก็บมันกดเอาไว้ในตอนกลางวัน มันพรั่งพรูออกมาตอนที่เราเผลอหรือตอนที่เรากำลังจะหลับหรือตอนเข้านอน ถ้าเราเก็บกดมากเท่าไหร่ก็พร้อมที่จะพรั่งพรูหรือระเบิดออกมา
ในยามที่เราเผลอ เราห้ามความคิดไม่ได้ เราบังคับจิตได้ยาก แต่ว่าเราสามารถที่จะรู้ทันความคิด และก็ปล่อยวางความคิด รวมทั้งอารมณ์ที่ตามมาได้ และนี่แหละคือจุดมุ่งหมายของการเจริญสติที่นี่ การเจริญสติที่นี่เราไม่เน้นการบังคับจิต หรือว่าปิดการรับรู้ เช่น หลับตา นั่งนิ่งๆ
แต่เปิดตา ขยับมือ เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว ซึ่งก็เกิดขึ้นควบคู่กับการมีสติ รู้การเคลื่อนไหวของกาย การฝึกเบื้องต้น เราจะเน้นที่การทำความรู้สึกตัว เน้นตัวรู้ รู้กาย แล้วต่อไปก็รู้ใจคือรู้ทันความคิด ไม่ใช่ให้จิตไม่รับรู้อะไรเลย หรือตัดการรับรู้ ซึ่งเป็นวิธีที่หลายคนคุ้น เช่น เวลาที่ทำให้จิตสงบก็ตัดการรับรู้ ปิดโทรศัพท์ อาจจะปิดประตูหน้าต่าง เก็บตัวอยู่ในห้องพระ ตัดขาดจากโลกภายนอกเพื่อจะได้ไม่รับรู้อะไรและปิดตา ไม่ต้องเห็นอะไร เราคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วจิตจะสงบ อันนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่เป็นความสงบเพราะไม่รู้
แต่ว่าในการปฏิบัติที่นี่ เราเน้นความสงบที่เกิดจากตัวรู้ รู้กาย และที่สำคัญคือรู้ใจ รู้ทันความคิดที่ฟุ้งปรุงแต่ง ความคิดนั้นถ้ามันเผลอคิดไปแล้วถูกรู้ถูกเห็น มันก็จะสลายหายไป อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้ามันถูกรู้ถูกเห็นเมื่อไหร่ มันก็จะละลายหายไป แล้วก็มีความสงบมาแทนที่ เป็นความสงบเพราะรู้ รู้ในที่นี้คือรู้ด้วยสติ สติในความหมายหนึ่งคือระลึกได้ ส่วนใหญ่ระลึกได้ในเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เรื่องที่เป็นอดีต
แต่ความระลึกได้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน เวลาเราเดินจงกรม ยกมือสร้างจังหวะ หรือว่ากำลังสวดมนต์ ฟังคำบรรยาย บ่อยครั้งใจก็เผลอคิดโน่นคิดนี่ ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่เรื่องอดีตก็เป็นเรื่องอนาคต ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็คือสิ่งที่เราคาดหวัง หรือคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นแต่ขณะที่ใจลอย เกิดระลึกขึ้นมาได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดิน กำลังยกมือ กำลังสวดมนต์ กำลังกินข้าว กำลังฟังธรรม ทันทีที่ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ จิตมันกลับมาเลย ที่คิดอะไรต่ออะไรมากมายมันวาง มันปล่อย ไม่ว่าอดีตหรืออนาคต กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา และขณะเดียวกันก็เกิดความสงบ เพราะว่าความคิดและอารมณ์ที่รบกวนจิตใจมันหายไป หรือถูกปลดเปลื้องออกไปจากใจ
การปฏิบัติ เราเน้นการรู้เท่าทันความคิด หรือเห็นความคิด เพราะฉะนั้นจะรู้เท่าทันความคิดได้ไวได้เร็วมันก็ต้องมีความคิด เกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อเป็นการบ้านให้กับใจในการฝึก หรือว่าเป็นอุปกรณ์ของการฝึก ถ้าไม่มีอุปกรณ์สำหรับการฝึก จิตก็ไม่พัฒนา จะรู้ทันความคิดได้ไว มันก็ต้องมีความคิดเกิดขึ้นบ่อยๆให้จิดได้ฝึกในการรู้ทัน แต่ถ้าไปห้ามจิตไม่ให้คิด แล้วจะมีอุปกรณ์อะไรให้จิตได้ฝึกเพื่อเจริญสติ ก็เหมือนกับทำให้เด็กฉลาด ต้องมีการบ้านให้ทำบ่อยๆ ถ้าไม่มีการบ้าน เด็กก็ไม่ฉลาด ไม่มีการพัฒนาทักษะ
เพราะฉะนั้น การที่มีความคิดเกิดขึ้น เป็นความคิดที่ไม่ตั้งใจคิด ในขณะที่เราเดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือภาวนา มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวร้าย หลายคนไม่ชอบ เพราะว่ามันคือความฟุ้งทำให้จิตไม่สงบ แต่ที่จริงความฟุ้งไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการไม่ชอบความฟุ้ง ความรู้สึกลบกับความฟุ้ง หรือพยายามขับไส ยิ่งพยายามผลักไสมัน ก็ยิ่งเป็นทุกข์ เพราะว่ามันไม่ยอมหาย ถ้าไม่ชอบมัน พอมันเกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะมันมีความทุกข์ แต่ว่าใจไม่ชอบมัน
เหมือนเสียงมันมากระทบเรา มันไม่ทำให้ทุกข์หรอก ต่อเมื่อเรารู้สึกไม่ชอบมัน จิตผลักไส ต่อต้าน ความทุกข์ก็จึงจะเกิดขึ้น อย่างที่เคยพูดไปแล้ว ความทุกข์เกิดจากการที่จิตผลักไส ไม่ยอมรับ แต่ทันทีที่จิตยอมรับ ไม่ผลักไส จิตจะสงบเลย เสียงดังก็ดังไป แต่ว่าใจสงบ เช่นเดียวกัน มันจะฟุ้งก็ฟุ้งไป แต่ใจไม่ทุกข์ ยิ่งถ้าเห็นว่ามันมาเพื่อสอนเราเพื่อฝึกให้เรามีสติ เราก็ยิ่งยินดีต้อนรับเข้าไปใหญ่ แต่ไม่ใช่ยินดีในลักษณะที่ไหลไปตามความคิดหรือตกอยู่ในอำนาจของมัน อันนั้นก็ไม่ถูก
ผลักไสก็ไม่ใช่ ไหลตามก็ไม่ถูก แต่เพียงแต่รู้มัน เห็นมัน การรู้การเห็นมีพลัง มันมีอานุภาพที่สามารถจะสกัดหรือหยุดความฟุ้งและอารมณ์ต่างๆได้ มันมีคำพูดที่สรุปได้ดีว่า สิ่งใดที่เธอผลักไส จะคงอยู่ อะไรที่ตระหนักรู้ จะหายไป ความคิดหรืออารมณ์ถ้าเราผลักไสกดข่มมันไม่ยอมหาย มันจะหลบชั่วคราว แต่มันจะโผล่ขึ้นมาใหม่ในยามที่เราเผลอ แต่ถ้าเราเพียงแค่ตระหนักรู้หรือว่ารู้ทันมัน มันก็จะหายไป ความรู้มีพลัง รู้ในที่นี้คือรู้ทัน ไม่ใช่ความรู้ทางโลก ถ้ารู้แบบนี้มันไม่ต้องใช้ความคิด แต่เกิดจากการปฏิบัติบ่อยๆ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนที่เราฝึกที่นี่ เราไม่เน้นการบังคับจิต แล้วพอไม่บังคับจิต การปฏิบัติก็จะเป็นเรื่องง่าย ก็คือ อนุญาตให้ใจคิดนั่นคิดนี่ได้ อนุญาตให้ความคิดเข้ามาได้ แต่ไม่ใช่หาเรื่องคิด มันคิดก็คิดไป แต่ว่าก็ไม่ได้ยินดียินร้ายกับมัน อนุญาตให้มันคิด ถ้ามีความคิดหรือเผลอคิดก็รู้ทัน ใหม่ๆกว่าจะรู้ทันหรือเห็นมันก็คิดไปแล้ว 7-8 เรื่อง ยาวเป็นขบวนรถไฟ แต่พอเราทำบ่อยๆ ทำแบบสบายๆ แต่ทำเรื่อยๆทำไม่หยุด ทำตลอดเวลา มันก็จะรู้ทันความคิดได้ไวขึ้น ความคิดก็จะหดสั้นลงๆ จาก 8 เรื่องก็เหลือ 6 เรื่อง เหลือ 4 เรื่อง แล้วเหลือ 3 ตอนหลังคิดไม่ทันจบเรื่องก็รู้ แล้วก็วางมันได้ พอวางลงได้ มันก็จะเกิดความสงบ
แต่มันก็สงบชั่วคราว คิดใหม่ ก็รู้ทัน แต่การที่จะรู้ทันความคิดได้ มันก็ต้องเริ่มจากรู้สิ่งที่ง่ายๆก่อน คือรู้กาย กายเคลื่อนไหว ใจก็รู้ ใจรู้เพราะใจอยู่กับเนื้อกับตัว ใจไม่ลอยไปไหน ไม่ไหลไปในอดีต ไม่ลอยไปอนาคต พอใจอยู่กับเนื้อกับตัว กายเคลื่อนไหวอะไร ใจก็รู้ เมื่อใจอยู่กับเนื้อกับตัวก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกตัวนี้ไม่ต้องหา มันอยู่กับเราอยู่แล้ว มันเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ว่ามันไม่ค่อยต่อเนื่อง
บางคนพยายามตั้งใจให้รู้สึกตัว ก็เลยไปบังคับจิตให้อยู่กับเนื้อกับตัว ก็กลายเป็นเพ่งไป และพอเพ่งก็จะรู้เฉพาะจุด เพ่งที่ท้องก็รู้เฉพาะที่ท้อง เพ่งที่ลมหายใจก็รู้เฉพาะที่ลมหายใจ เพ่งที่เท้าก็รู้เฉพาะที่เท้า มันไม่ใช่เพ่ง แค่ใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันก็จะรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทั้งตัว แต่มันจะรู้ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วมันก็ไปอีกแล้ว ไม่เป็นไร สติที่เราฝึกไปพัฒนา มันก็จะรู้ทันว่าใจเผลอไปแล้ว พอรู้ทัน จิตก็จะกลับมา มันก็จะปล่อยความคิดฝันฟุ้งปรุงแต่ง แล้วมันก็กลับมา ก็กลับไปกลับมาอย่างนี้แหล่ะ ทำบ่อยๆ มันก็จะกลับมาได้ไวขึ้น และจะอยู่กับเนื้อกับตัวได้นานขึ้นๆ ความสงบก็เกิดได้นาน
อันนี้เป็นวิชาที่สำคัญ ซึ่งไม่ใช่ทำเฉพาะเวลาเราเดินจงกรม สร้างจังหวะ แต่เวลาเราทำกิจอะไรก็ตามตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา เก็บที่นอน ล้างหน้าถูฟัน กินข้าว เดินมาศาลา เดินกลับกุฏิ กวาดใบไม้ร่วง พวกนี้เป็นโอกาสของการฝึกสติได้ทั้งนั้น เริ่มต้นด้วยการฝึกให้รู้กาย ระหว่างที่ทำ ใจเผลอคิดไป ใจก็รู้ว่ามันคิด รู้แล้วก็พาใจกลับมาโดยที่ไม่ไปบังคับจิตให้หยุดคิด ห้ามคิดหรือกฎข่มความคิด
แต่ใหม่ๆก็ยากเพราะว่านิสัยเรา ทีแรกก็ปล่อยใจไปตามความคิด แต่พอจะมาปฏิบัติ คิดแต่จะบี้ความคิดอย่างเดียว ไม่ชอบ ก็เลยพยายามกดข่มมัน ประเภทว่าจะปล่อยให้มันคิด โดยที่ไม่ไปแทรกแซง เพียงแต่ว่ารู้ทันมันให้เร็ว อันนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ถนัด ก็ต้องทำบ่อยๆ ทำเล่นๆไปแต่ทำไม่หยุด ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ
หลวงพ่อเทียนเคยสอนว่า ทำเล่นๆคือทำจริงๆ ทำเล่นๆคือไม่คาดหวังผลจากการปฏิบัติ มันจะฟุ้งก็ช่างมัน แต่ว่าก็ทำไม่หยุด ทำตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเลย ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบทใดก็ตาม อันนี้แหล่ะจะเป็นวิชาฝึกจิตให้สงบ โดยที่ไม่ไปพึ่งพาสิ่งแวดล้อม แล้วพอเราฝึกใจสงบได้ เราไปอยู่ที่ไหน เจออะไรมากระทบ ใจกระเพื่อมขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน ให้ใจกลับมาเป็นปกติ ใจที่ปกติมันจะมาซึ่งความสงบ เป็นความสงบคือรู้ทัน แล้วก็ไม่ตัดการรับรู้สิ่งภายนอก มันมีประโยชน์มากทีเดียว
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วันที่ 4 มิถุนายน 2564