แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีฝรั่งคนหนึ่งไปบวชที่ประเทศอินเดีย วัดที่บวชเป็นวัดแบบธิเบต ท่านเล่าว่า เวลาฉันไม่ได้ฉันอย่างบ้านเรา ที่นี่เวลาไปตักอาหาร สามารถเลือกได้ ว่าอาหารอะไรที่ชอบ ก็ตักเยอะ อะไรที่ไม่ชอบก็ตักน้อย แต่ที่วัดนั้น จะมีพระผัดเวียนมากันเสิร์ฟเรียกว่าภัตตุเทสก์ อาหารที่มาเสิร์ฟ วันหนึ่งๆก็มีไม่กี่อย่าง ข้าว ผัก แกง และจะซ้ำๆกัน พระก็จะเอาอาหารมาวางไว้ที่โต๊ะ มีเท่าไรก็ต้องฉันให้หมด ไม่มีสิทธิ์เติม ก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ เป็นปี อาหารก็ซ้ำๆ ดูจำเจ
แต่มีวันหนึ่ง ช่วงเพล มีพระนำไอติมมาเสริฟ เดินนำหน้ามาเลยพร้อมกับถ้วยไอติม พระฝรั่งไม่ได้เห็นไอติมมานาน พอเห็นแล้วก็ดีใจ แต่มื้อนั้นไม่ได้มีแต่ไอติม อาหารที่เคยฉัน แกง ก็ยังต้องฉันต่อไป เอาไอติมมาวางไว้บนโต๊ะ แต่ก่อนจะฉันไอติมก็ต้องฉันข้าว แกง ผักก่อน ประเพณีที่นั่นต้องฉันช้า และต้องเคี้ยวละเอียด คงจะมีการภาวนาไปด้วยในเวลายก เวลาตัก เวลาตักใส่ปาก ต้องทำแบบช้าๆ เคี้ยวช้าๆ กว่าจะฉันเสร็จก็หมดเวลาไปเป็นชั่วโมง
ระหว่างที่ท่านฉันก็เห็นไอติมที่วางอยู่ กำลังละลายเพราะเป็นช่วงกลางในหน้าร้อนด้วย ไอดิมกำลังละลาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าต้องฉันข้าวก่อน จะฉันเร็วก็ไม่ได้ เพราะว่าคนอื่นเขาก็ฉันช้ากัน เห็นไอติมละลาย ทีแรกก็เสียใจ ต่อมาก็เริ่มหงุดหงิด เพราะว่าถ้าไอติมละลาย มันก็ไม่อร่อย ยิ่งฉันไปก็ยิ่งโมโห ยิ่งหงุดหงิด เพราะว่าที่คาดหวังว่าจะได้ฉันไอติมอร่อยๆ มันกำลังจะกลายเป็นความผิดหวังไปแล้ว ทีแรกก็ร้อนรน แต่ตอนหลังเริ่มโมโหว่า ทำไมถึงให้ฉันไอติมทีหลัง ทำไมไม่ฉันไอติมก่อน ก็หมดท่า เพราะว่าไอติมละลายไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่เย็น
พระฝรั่งโกรธมากเลย แต่ระหว่างที่โกรธอยู่ ท่านได้สติขึ้นมาว่า ในเมื่อไอติมก็ละลายไปแล้ว รสชาติก็หมดไปแล้ว ทำไมไม่ยอมรับความจริง ว่าไอติมหมดรสชาติไปแล้ว มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง พอใจยอมรับได้ ใจสงบ ที่ร้อนรุ่ม ที่โกรธ มันหายไปเลย ไอ้ติมก็ยังเหมือนเดิม แต่ว่าความรู้สึกเปลี่ยนไปทีแรกโกรธ เป็นทุกข์มากเลย เพราะว่าใจยอมรับไม่ได้กับสิ่งที่เห็น ยิ่งไอติมละลายก็ยิ่งแค้นเข้าไปใหญ่เพราะว่ามันไม่เป็นไปดั่งใจ ความรู้สึกที่ยอมรับไม่ได้ ทำให้เกิดความทุกข์ ทำให้เกิดความโกรธมาก แต่พอใจยอมรับได้ ใจมันสงบเลย ท่านก็เลยได้คิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไอติมละลาย แต่ปัญหาอยู่ที่ใจ ใจที่ไม่ยอมรับ ใจที่ผลักไสสิ่งที่เห็น สิ่งที่ปรากฏต่อหน้า แต่ทันทีที่ใจยอมรับได้ มันเบาเลย
ก็เป็นบทเรียนที่จำได้แม่น แม้ว่าสึกออกมา ก็จำเหตุการณ์นี้ได้ว่า ความทุกข์ที่เกิดกับใจ มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ปรากฏต่อหน้า หรือเหตุการณ์ที่เกิดกับตน แต่มันอยู่ที่ใจที่ไม่ยอมรับ ผลักไส ไม่ยอมรับ แต่ทันทีที่ใจยอมรับได้แม้เหตุการณ์หรือสิ่งปรากฏไม่ได้แปรเปลี่ยนไป มันยังแย่เหมือนเดิม แต่ว่าใจสงบ
อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องของพระฝรั่งเหมือนกัน พระฝรั่งท่านนี้ก็คืออาจารย์พรหม วังโส ตอนนี้เป็นเจ้าคุณแล้วอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ท่านเป็นพระชาวอังกฤษ ท่านเล่าว่า ตอนที่มาบวชอยู่ใหม่ๆอยู่กับหลวงพ่อชาที่วัดหนองป่าพง เป็นวัดป่านานาชาติ ตอนนั้นมีการก่อสร้างโบสถ์อยู่บนเนิน สร้างเสร็จก็มีกองดินเหลืออยู่เยอะเลย หลวงพ่อชาก็บอกให้พระขนดินไปไว้หลังโบสถ์ ก็ต้องรวมพระทั้งวัด ช่วยกันขนดินตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึงค่ำ วันหนึ่งก็ยังไม่เสร็จ วันที่สองก็ยังไม่เสร็จ กว่าจะเสร็จก็วันที่สาม แดดร้อนเหนื่อยกันมาก
วันที่สามใกล้จะเสร็จ หลวงพ่อก็มีกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมที่วัดอื่น พอย้ายเสร็จ วันรุ่งขึ้นรองเจ้าอาวาสก็ประชุมพระแล้วก็บอกว่า ที่ย้ายมันย้ายผิดที่ ต้องย้ายไปอีกที่หนึ่ง พระได้ฟัง หลายท่านก็บ่นเลย เพราะว่า 3 วันก่อน ก็เหนื่อยกันมาก นึกว่างานจะเสร็จ ยังต้องย้ายกันอีกหรือ แต่คำสั่งก็ต้องเป็นคำสั่ง เพราะฉะนั้นก็ขนดินใส่รถเข็นย้ายไปอีกที่หนึ่ง 3 วันกว่าจะเสร็จ
พอย้ายเสร็จไปที่ใหม่ หลวงพ่อชากลับมาพอดี ท่านเห็นก็เลยถามว่าทำไมย้ายไปตรงนั้น ย้ายไปได้อย่างไรตรงนั้น มันผิดที่ ต้องย้ายกลับมาที่เดิม พระฝรั่งอาจารย์พรหม วังโส โมโหมาก แปลว่าที่ทำมา 6 วันนั้นมันสูญเปล่า ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ระหว่างที่ขนดินไปท่านก็บ่นไป ว่าทำไมพระผู้ใหญ่ไม่คุยกันให้รู้เรื่อง เสร็จแล้วต้องมาเดือดร้อนพระเด็กๆ อย่างนี้มันถูกที่ไหน
ขนดินไปก็บ่นไป ทีแรกบ่นในใจตอนหลังก็บ่นออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ท่านก็ตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งบ่น รถเข็นก็ยิ่งหนัก แต่ว่ายังไม่หยุดบ่น จนกระทั่งพระไทยรูปหนึ่งเห็นอาการของท่าน ก็เลยพูดขึ้นมาว่าปัญหาของท่านคือคิดมาก ท่านได้สติเลย ใจหยุดบ่นเลย ยอมรับงานที่กำลังทำอยู่ ยอมรับเหตุการณ์ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ท่านบอกว่ามันเบาเลย รถที่เข็นหนักๆมันเบาเลย ที่จริงรถหนักเท่าเดิมแต่ใจเบา พอใจหยุดบ่น ใจยอมรับได้กับงานที่ทำ
ท่านก็เลยพบว่า จริงๆแล้ว การขนหินหรือขนดินนั้นมันไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากสิ่งที่เป็นปัญหาคือความคิดหรือว่าจิตใจ ใจที่บ่น ใจที่โวยวาย ใจที่ไม่ยอมรับ ใจที่ผลักไส ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา คนเรามักจะคิดว่า ความทุกข์มันอยู่ข้างนอก เหตุแห่งทุกข์มันอยู่ข้างนอก ไอติมที่กำลังละลายเพราะว่าเจ้าอาวาสบอกว่าให้ฉันไอติมที่หลัง ไอติมละลาย มีความทุกข์เกิดขึ้นก็ไปโทษว่าเป็นเพราะไอติมถูกปล่อยให้ละลาย หรือว่าคิดว่าทุกข์เพราะขนดิน
ทุกข์กายอาจจะใช่ แต่ทุกข์ใจนั้นไม่ใช่ ทุกข์ใจเพราะว่ามันมีการผลักไส มีการต่อต้าน มีการไม่ยอมรับ แต่พอพลิกใจ ใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะเห็นว่าเป็นเพราะว่ามันก็เกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะบ่น ป่วยการที่บ่น ป่วยการที่จะโวยวาย หรืออาจมองว่าเหนื่อยกายแล้วอย่าไปซ้ำเติมใจด้วยการบ่น ด้วยการโวยวายเลย อย่างนี้เป็นการซ้ำเติมตัวเองเปล่าๆ ถ้ามันจะเหนื่อยก็ให้เหนื่อยแต่กาย แต่ใจไม่เหนื่อย อาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ ทำให้ได้สติขึ้นมา
จากเหตุการณ์ 2 เรื่องนี้ เป็นบทเรียนที่ทำให้ได้คิด ว่าจริงๆแล้ว เหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจ ใจที่ไม่ยอมรับ ใจที่ผลักไส จะว่าไปมันก็เป็นอุบายของอาจารย์ ทั้ง 2 กรณีเป็นอุบายของอาจารย์ เป็นความตั้งใจที่อาจารย์ให้พระในวัดเห็นไอติมละลายต่อหน้าต่อตา เป็นอุบายที่ทำให้เกิดความผิดหวัง ความผิดหวังเกิดขึ้นกับใจ เพื่อจะได้เรียนรู้ว่ามันทุกข์เพราะอะไร หรือว่าการที่ครูบาอาจารย์ออกอุบายให้ย้ายหินย้ายกองดิน อันนี้เป็นความตั้งใจของท่านที่จะให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้จากอุปสรรค จากความผิดพลาด หรือว่าความไม่ถูกต้องก็ได้ที่มันเกิดขึ้น
ถ้าเราลองพิจารณาดู เวลามีสิ่งกระทบเกิดขึ้นหรือมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น แล้วเราเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ลองสังเกตดูให้ดีๆ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เป็นเพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าเรา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา แต่เป็นเพราะใจที่ผลักไส ใจที่ไม่ยอมรับ หรือว่าเป็นเพราะจิตที่มันดิ้น โดยเฉพาะถ้ามีเหตุการณ์ที่มองว่าไม่ถูกต้อง
ยิ่งคนใฝ่ธรรมะมักยึดมั่นความถูกต้อง พอมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ใจจะดิ้นมากเลย ยิ่งยึดมั่นในความถูกต้องมากเท่าไหร่ พอเจอความไม่ถูกต้อง เกิดอาการขึ้นมาทันที เช่น มีเสียงริงโทนดังในศาลานี้ขณะที่กำลังฟังธรรม หรือมีคนพูดคุยกันในขณะที่คนอื่นกำลังนั่งปฏิบัติภาวนา หรือว่าเวลาอยู่ที่บ้าน มีเสียงดังมาจากบ้านข้างเคียง เสียงดนตรีเอะอะตึงตังในยามค่ำคืน ล้วนไม่ถูกต้องในสายตาของเรา พอเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า ลองสังเกตดูใจ ใจจะเกิดอาการกระเพื่อม เกิดความขุ่นมัว เกิดความหงุดหงิดขึ้นมาทันที
ความหงุดหงิดหรือความทุกข์ มันไม่ได้เกิดจากเสียงที่ได้ยิน หรือเสียงที่กระทบหู แต่มันเกิดจากใจที่ผลักไสไม่ยอมรับมากกว่า เสียงมันก็ดังของมันอย่างนั้น และบางทีเสียงอาจจะไม่ดัง เสียงเบา และก็ไม่ใช่เสียงที่หยาบ ไม่ใช่เสียงตึงตัง แต่เป็นเสียงเพลงที่ไพเราะ แต่พอดังผิดที่ ผิดเวลาหรือว่ามันดังในโมงยามที่ไม่ถูกต้อง ใจเรามีอาการที่ต่อต้านผลักไสทันที และตรงนี้แหล่ะคือเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่เสียง
โดยเฉพาะคนที่ยึดมั่นในความถูกต้อง มันจะมีอาการปฏิเสธ เวลาเห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เวลาฝนตกเสียงกระทบหลังคา มันดัง แต่ว่าหลายคนรู้สึกเฉยๆ แต่พอมีเสียงพูดคุยเล็กน้อยดังขึ้นมากระทบหูในศาลานี้ เสียงริงโทนดัง ใจเรามีอาการกระเพื่อมอย่างแรงเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ที่ความดังของเสียง เสียงฝนกระทบหลังคามันดังกว่าเสียงคุยในศาลานี้เย่อะ แต่ว่าที่เราไม่โกรธไม่หงุดหงิดก็เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติ มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะไปเอาความถูกต้องอะไรกับเสียงฝนฟ้า เพราะเป็นฤดูฝน มันก็ต้องตกเป็นธรรมดา
แต่เสียงดังในศาลาเพราะพูดคุยกัน หรือเสียงโทรศัพท์ มันผิดที่ผิดเวลา มันคือความไม่ถูกต้อง เราก็เลยเกิดความไม่พอใจ เจอความไม่ถูกต้องมาปรากฏต่อหน้า ก็เลยเผลอ ปล่อยให้ใจไม่ถูกต้องตามไปด้วย เคยเฉลียวใจไหมว่าเวลาใจมันโกรธใจโมโห นั่นแหล่ะ คือ ใจไม่ถูกต้อง หลายๆคนปล่อยใจให้ไม่ถูกต้องบ่อยมาก เวลาเจอความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นต่อหน้า ไปมัวสนใจความไม่ถูกต้องที่อยู่นอกตัว จนลืมดูหรือเห็นความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในใจ ความไม่ถูกต้องคือ ความโกรธ ความหงุดหงิด เพราะความผลักไส จะเจริญสติ เจริญสมาธิอย่างไร มันจะไม่มีทางที่จะได้พบความสงบหรือความรู้ตัวเลย ถ้าหากว่าไม่เห็น ไม่รู้เท่าทันอาการผลักไสของใจ ไม่ยอมรับ โวยวายตีโพยตีพาย ซึ่งที่จริงก็คือโทสะนั้นเอง
นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยยิ่งปฏิบัติธรรม โทสะยิ่งแรง เพราะว่า มันมีความยึดติดในความไม่ถูกต้องมาก พอเจอความไม่ถูกต้อง มันจะมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง รวดเร็ว ต่อต้าน ผลักไส ไม่ยอมรับ เกิดความลืมตัว ปล่อยช่องให้ความโกรธเข้ามา ที่จริงมันเป็นการบ้านอย่างดีที่จะมาฝึกให้เราเห็นอาการของใจ อันนี้คือเหตุผลที่ครูบาอาจารย์หาเรื่องมาสร้างความป่วนให้กับจิตใจ ด้วยการเอาไอติมมาเสิร์ฟกลางวันหลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว เป็นการล่อให้เห็นไอติมที่กำลังละลาย แต่ลูกศิษย์หลายคนเห็นไอติมที่ละลายแต่ไม่เห็นใจที่กำลังขุ่นมัว ทั้งๆที่ความขุ่นมัว ความหงุดหงิด มันท่วมท้นใจ แต่ไม่เห็น เห็นแต่ไอติมที่ละลาย อันนี้ถือว่าสอบตก
แต่ถ้าคนที่ไวหน่อย แม้จะเผลอไปปล่อยให้ความโกรธเข้ามา แต่ถ้าคนที่ไวหน่อย แม้จะเผลอไป ปล่อยให้ความโกรธเผารนแต่ก็ยังเห็น รู้ทันความโกรธ และเห็นไปถึงขั้นว่า เห็นใจไม่ยอมรับ ใจผลักไสเหตุการณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์สอนใจเราได้อย่างดี ที่ทำให้เห็นว่าเหตุแห่งทุกข์ที่แท้ มันอยู่ที่ใจ ไม่ใช่ใจที่ยึดใจที่อยากอย่างเดียว แต่รวมถึงใจที่ผลักไสด้วย ซึ่งที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกัน อยากกินไอติม มันจึงทุกข์มากพอเห็นไอติมละลายโดยที่ทำอะไรไม่ได้ จากความอยากมันก็กลายเป็นความผลักไสทันที
เวลาเราไปตักอาหาร เคยเห็นอาการอย่างนี้ของใจไหม เห็นอาหารไม่ถูกปาก เป็นอย่างนี้ไหม เห็นความโกรธเกิดขึ้นไหม บางคนไม่เห็น พอเห็นอาหาร เห็นกับข้าวไม่ถูกปาก ก็โยนช้อนโยนทัพพีทันทีเลย อันนี้เรียกว่าเผลอไปแล้ว แต่ถ้าหากว่ากลับมาดูใจ ก็จะเห็น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อาหารอยู่ข้างหน้า แต่อยู่ที่ใจที่ยึดใจที่อยาก ใจที่หลงไม่ทันเห็นความยึดความอยากนั้น รวมทั้งไม่เห็นอาการผลักไส จนกระทั่งโมโหโยนช้อนโยนทัพพี เสียงดังเลย เหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ขัดใจ มันเป็นสิ่งที่สอน ทำให้เราเห็นใจของเราได้ดีมาก อยู่ที่ว่าจะเฉลียวหรือฉลาดในการมองใจของตนหรือเปล่า
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 3 มิถุนายน 2564