แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาเคยพาคนเดินจงกรมตอนเช้า ตอนที่เดินจงกรมก็ให้ทุกคนถอดรองเท้า เพื่อให้เท้าสัมผัสกับพื้นกรวด พื้นดิน แล้วก็หญ้า บางช่วงก็มีมด ระหว่างที่เดินอาตมาอยู่ข้างหน้าได้ยินเสียงคนปัดขา ปัดกางเกงบ้าง หรือว่าปัดแขนบ้าง หรือบางทีก็ได้ยินเสียงกระทืบเท้า จนกระทั่งเดินเสร็จ ก็ชวนผู้ที่เดินจงกรมมาคุยกัน แล้วก็ถามเขาว่าเมื่อตะกี้นี้ได้ยินเสียงมีคนเอามือปัดแขน ปัดขากางเกง เพราะอะไร
บางคนก็ตอบว่ามดมันไต่ตามแขนตามขา อาตมาก็บอกว่ายังตอบไม่ถูก อะไรทำให้ปัดแขนปัดขาระหว่างที่เดินจงกรม สักพักก็มีคนตอบว่าเพราะมดกัด ก็เลยเอามือปัด อาตมาก็บอกว่ายังไม่ถูก ที่เอามือไปปัดเพราะมีความอยากก่อน และความอยากทำให้เป็นเหตุให้เอามือปัด ถ้าไม่มีความอยาก มันก็คงจะไม่ปัดแขนปัดขาแบบนั้น ถามต่อไปว่าอะไรทำให้เกิดความอยากปัดแขนปัดขา คนหนึ่งก็ตอบว่าเพราะว่ามันเจ็บเพราะมดมันไต่แล้วก็กัดแล้วเจ็บก็เลยเอามือปัดมดออกไป อาตมาก็ตอบว่ายังไม่ถูก เพราะว่าบางคนเขาเจ็บหรือรู้สึกเจ็บแต่เขาก็ไม่ได้เอามือปัด หรือไม่ได้เกิดความอยากที่จะปัด ที่อยากปัดแขนปัดขาหรือปัดมดออกไปเพราะอยากให้ความเจ็บความปวดหายไปต่างหากก็เลยเกิดความอยากที่จะให้มดออกไปจากตัว เพราะรู้ว่าถ้าได้ปัดแล้ว มันก็จะทำให้ความเจ็บบรรเทาหรือหายไป
ถ้าถามว่าทำไมจึงอยากจะให้ความเจ็บหายไป อันนี้ก็เป็นคำถาม อะไรทำให้เกิดความอยากให้ความเจ็บหายไป หลายคนตอบว่าเพราะมันเจ็บ ก็เลยอยากให้ความเจ็บมันหาย มันก็ยังไม่ถูกทีเดียว อยากให้ความเจ็บหายเพราะว่าไม่ชอบ หรือว่าทนความเจ็บไม่ได้ ไม่ชอบความเจ็บ รู้สึกยินร้าย เกิดทุกข์ขึ้นมาเมื่อรู้สึกเจ็บ มันต้องมีตัวนี้ก่อน ไม่ใช่พอเจ็บปุ๊บจึงจะเกิดความอยากให้ความเจ็บหาย ก่อนที่จะถึงตรงนั้นต้องมีตัวหนึ่งก่อน ความรู้สึกไม่ชอบความเจ็บ รู้สึกทนไม่ได้กับความเจ็บ
ถ้าดูดีๆตอนที่ระหว่างมดไต่ จนกระทั่งไปถึงเอามือปัด มันต้องผ่านอะไรหลายอย่าง ผ่านหลายขั้นหลายตอน ไม่ใช่ว่าพอมดไต่ปุ๊บ มันจะเอามือปัดแขนปัดขาหรือปัดมดออกไปจากตัวทันที ก็ไม่ใช่ ที่เขาพูดว่าที่เอามือปัดแขนปัดขาปัดมด เพราะมดมันไต่ อันนี้เป็นการพูดแบบเหมาคลุม ยังไม่ถูกต้อง เพราะมีอะไรเกิดขึ้นมากมายระหว่างที่มดไต่ตามตัว กับตอนที่เอามือปัดออกไป
ถ้าลำดับดูก็จะเห็น มดไต่ตามตัว แล้วมันก็กัด แล้วมันก็เจ็บ แล้วก็รู้สึกทนไม่ได้ หรือรู้สึกว่าไม่ชอบ รู้สึกอาการยินร้ายขึ้นมา มันก็ทำให้เกิดความอยาก ที่จะปัดมดออกไปจากตัว มันเกิดความอยากให้ความเจ็บบรรเทา ความเจ็บหายไป ก็เลยเกิดความอยากที่จะปัดออกไป พอเกิดความอยากก็ลงมือปฏิบัติ ที่จริงเราดูให้ละเอียดอีกที ความอยากเอามือปัด มันไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ลงมือปัดมดออกไปจากตัว เพราะบางคนมีความอยาก แต่ไม่ก็ทำ มีความอยากจะเอามือปัดแต่ก็ไม่ปัด ไม่ทำ เพราะอะไร เขารู้ว่ากำลังเดินจงกรมก็ต้องสำรวม
แต่บางคนหรือหลายคน พออยากเอามือปัดแล้วก็ปัดเลย เป็นเพราะมีตัวหนึ่ง เป็นตัวผลักดันก็คือความเผลอ ขาดสติ ลืมไปว่ากำลังเดินจงกรม พอมีความอยาก อยากจะปัด แล้วลืมตัว เผลอ ก็เลยเอามือปัดมัน ก็คล้ายกับที่หลายคนที่นั่งภาวนา นั่งฟังคำบรรยายอยู่บนศาลานานเป็นชั่วโมง บางคนจะรู้สึกเมื่อยรู้สึกปวด อยากจะยืดเส้นยืดสาย หรือบางคนอาจจะปวดเบา อยากจะลุกไปเข้าห้องน้ำ มีความอยากจะลุก แต่ทำไมไม่ลุก เพราะเขารู้ว่าไม่ใช่เวลา ยังไม่ให้หยุดพักหรือว่าเลิกปฏิบัติ การบรรยายก็ยังไม่หยุดยังไม่เลิก
เพราะฉะนั้นแม้มีความอยากจะลุกหรืออยากจะยืดเส้นยืดสาย อยากจะเข้าห้องน้ำ เขาก็ไม่ทำ เพราะเขารู้ว่ายังไม่ใช่เวลา ต่อเมื่อลืมตัว ขาดสติจึงจะลุกไปเข้าห้องน้ำหรือว่าเผลอยืดเส้นยืดสาย เพราะฉะนั้น ความอยากอย่างเดียวไม่พอ มีความอยากจะขยับอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเผลอด้วย มันก็นำไปสู่การขยับหรือลุกไปเข้าห้องน้ำ
ทำนองเดียวกัน มีความอยากจะปัดมดออกไปจากตัว แต่ว่าหลายคนเขายังมีสติอยู่ มีความอยากเขาก็ไม่ทำเพราะเดินจงกรมต้องสำรวม ทำอะไรอย่างที่อยากไม่ได้ แต่เป็นเพราะความลืมตัว ขาดสติจึงทำลงไปเพราะฉะนั้น ที่บอกว่าพอมีความอยากก็เอามือปัดเลย อันนั้นไม่ใช่ แต่มันมีเหตุปัจจัยอีกตัวหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูมันมีหลายขั้นตอนทีเดียว ระหว่างมดไต่ตามตัวจนกระทั่งเอามือปัด จะบอกว่าเอามือปัดเพราะมดไต่ มันไม่ถูกเลย ถ้ามองแบบนี้เป็นมองแบบคลุม แต่ถ้าเราสังเกตพิจารณาอย่างละเอียด มันมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่มดไต่ตามตัวจนกระทั่งเอามือปัด ลองมาลำดับดูใหม่ มดไต่ตามตัว แล้วมดกัด กัดแล้วรู้สึกเจ็บ รู้สึกเจ็บแล้วก็ไม่ชอบความเจ็บ ทนความเจ็บไม่ได้ ก็เลยอยากจะให้ความเจ็บมันหายมันบรรเทา ก็เลยเกิดความอยากที่จะเอามือปัด แล้วมีความหลงความเผลอประกอบด้วย หรือว่าเพราะเผลอเพราะหลง เพราะขาดสติก็เลยเอามือปัด
แต่ถามว่าแค่นี้หมดไหม ที่จริงยังไม่หมดทีเดียว ถ้าพิจารณาดูดีๆ โดยเฉพาะตอนที่มันเจ็บ ที่จริงความเจ็บเป็นความเจ็บทางกาย ก่อนที่จะถึงความรู้สึกว่าทนความเจ็บไม่ได้ หรือไม่ชอบความเจ็บ หรือเป็นทุกข์เพราะความเจ็บ มันมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนนั่นคือ กูเจ็บๆ เพราะฉะนั้นหลายคนรู้สึกเจ็บเมื่อมดกัดแต่เขาก็ไม่รู้สึกทุกข์กับความเจ็บ เพราะว่าเขาไม่มีความรู้สึกว่ากูเจ็บ เพราะเห็นความเจ็บเกิดขึ้นกับกาย กายทุกข์แต่ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้นแม้กายเจ็บแต่ความรู้สึกยินร้าย ทนไม่ได้กับความเจ็บมันก็เลยไม่เกิดขึ้น สามารถที่จะอยู่กับความเจ็บได้ด้วยใจที่ปกติ
ต่อเมื่อมีความรู้สึก กูเจ็บ หรือสำคัญมั่นหมายว่ากูเจ็บขึ้นมา แล้วไม่ชอบความเจ็บ รู้สึกลบต่อความเจ็บ จึงเกิดอาการทนไม่ได้กับความเจ็บ ไม่ใช่พอมดกัดแล้วรู้สึกเจ็บ เกิดความทุกข์ ทนไม่ได้กับความเจ็บ มันยังมีเหตุมีปัจจัยที่เกิดขึ้นก่อน เจ็บแล้วรู้สึกกูเจ็บ รู้สึกลบต่อความเจ็บ ก็เลยอาการอยากผลักไส ทนไม่ได้กับความเจ็บ ไปโทษความเจ็บ มันก็เลยอยากให้ความเจ็บบรรเทา พออยากให้บรรเทาก็เกิดความอยากที่จะเอามือปัดมดออกไป มีความอยากก็มีความหลง มีความเผลอ จึงจะลงมือปัดมดออกไป มันมีกระบวนการต่างๆเกิดขึ้นหลายกระบวนการ หลายขั้นตอนทีเดียว
แต่ถ้าเราไม่พิจารณาดีๆก็จะด่วนสรุปไปเลยว่า เอามือปัดเพราะมดไต่ตามตัว อันนี้เป็นการมองแบบเหมารวมหรือไม่ถูกต้องตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น การมองให้เห็นถึงปัจจัยอย่างถ่องแท้มันสำคัญ เพราะเราจะได้รู้ว่าเหตุแห่งทุกข์คืออะไร พุทธศาสนามองละเอียดมากเพื่อให้เราเข้าใจเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง อย่างเช่น คำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท 12 อาการ เริ่มตั้งแต่อวิชชาจนไปถึงเกิดชรามรณะ แล้วก็เกิดโสกะปริเทวะทุกข์โทมนัส เอาแค่ว่าเมื่อผัสสะแล้ว มันไม่ใช่ทุกข์ทันที
ผัสสะคือการกระทบการสัมผัส มีเสียงด่ามากระทบหู มีแดดร้อนมากระทบกาย หรือว่ามีหนามแหลมมาทิ่มเท้า อันนี้มันก็เกิดผัสสะ ไม่ใช่ทุกข์ทันที มันมีอะไรเกิดขึ้นหลายขั้นตอน กว่าจะเกิดทุกข์ เกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน นั่นก็คือเมื่อเกิดผัสสะ แล้วก็เกิดเวทนา เวทนาเสร็จแล้วก็เกิดตัณหา อุปทาน ภพชาติ ชรา มรณะ มีหลายขั้นตอนทีเดียว กว่าจะเกิดทุกข์ได้
ถ้าเราไม่สังเกตุ หรือไม่ละเอียด หรือไม่พิจารณาใคร่ครวญดีๆ ก็จะสรุปว่าเกิดผัสสะปุ๊บ เกิดการกระทบมีความทุกข์ทันที มีเสียงด่ากระทบหู โกรธทันที หรือของร้อนมากระทบกาย ทุกข์ทันที อันนี้ไม่ใช่ การรู้อย่างละเอียดทำให้เรารู้ว่าสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์คืออะไร เราเรียนพุทธศาสนามาเราก็ทราบดีอยู่แล้วว่าอริยสัจ 4 เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา และนอกจากพูดเรื่องทุกข์และพูดถึงเหตุแห่งทุกข์ สมุทัยด้วย
คนเราเมื่อเจอทุกข์แล้ว หาเหตุแห่งทุกข์ไม่เจอ หรือว่ามองเหตุแห่งทุกข์ไม่ถูกต้อง มันก็แก้ปัญหาผิด เช่น คนไปคิดว่าที่เป็นทุกข์ เป็นเพราะยังมีไม่พอ หรือมีน้อยไป ก็เลยพยายามมีเยอะๆหามาให้มากๆไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง เพราะคิดว่าไม่มีสิ่งนี้จึงเป็นทุกข์ แต่ว่าหามาเท่าไหร่ ยังทุกข์อยู่ จิตใจรู้สึกว่างเปล่า รู้สึกพร่อง อันนี้ไม่ใช่เพราะว่ามีน้อยหรือมีไม่พอ แต่เป็นเพราะความโลภความอยาก หรือความไม่รู้จักพอต่างหาก ซึ่งอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ข้าวของว่ามันมีน้อยหรือตัวเลขในบัญชีในธนาคารที่มีน้อย
คนไปเข้าใจว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ภายนอก อยู่ที่เพื่อนบ้าน อยู่ที่เพื่อนร่วมงาน อยู่ที่เจ้านาย หลายคนกลับบ้านทุกข์ใจ หูร้อนเพราะไปเข้าใจว่าเหตุแห่งทุกข์คือคนในบ้าน อยากจะหนีออกจากบ้าน อยากจะทิ้งบ้านไปเลย แต่ที่จริงเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัย มันอยู่ที่ใจ ใจของเขา ใจที่ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง ใจที่ยึดติดถือมั่น มองลบมองร้าย เดี๋ยวนี้แม้ว่าเราจะเรียนรู้พุทธศาสนามาเยอะ แต่เวลาพูดถึงสมุทัยเรามองผิดโดยเฉพาะสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ใจ มันเป็นเพราะสิ่งภายนอก เป็นเพราะใจที่ผลักไส ไม่ยอมรับความจริง
ถ้าเรารู้จักมองให้ถี่ถ้วน เราจะรู้ว่าอะไรคือเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง แต่ถ้าเรามองแบบคลุมๆ เราก็จะไปโทษสิ่งภายนอก แม้กระทั่งมดว่าทำให้เป็นทุกข์ ทุกข์กายก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้ทุกข์ใจ ทุกข์ใจเพราะวางใจไม่ถูก หรือการขาดสติ ที่จริงอย่าว่าแต่เหตุแห่งทุกข์เลย แม้กระทั่งเวลาทุกข์หลายคนก็ไม่รู้ทุกข์ การรู้ทุกข์เป็นกิจข้อแรกที่พึงทำต่ออริยสัจ อริยสัจข้อแรกคือทุกข์ สิ่งที่พึงทำคือรู้ทุกข์ ท่านใช้คำว่าปริญญา รู้ให้ทั่ว
หลายๆคนมีทุกข์ก็ไม่รู้ หรือไม่รู้ครอบคลุม เช่น คนที่นั่งนานๆ นั่งฟังหลายชั่วโมงโดยที่ไม่ได้พัก ไม่มีเบรค ถามเขาว่าทุกข์ไหม เขาบอกว่าทุกข์ ถามว่าทุกข์ที่ไหน เขาบอกว่ทุกข์ที่หลัง ทุกข์ที่ขา มันปวดเมื่อย ถามว่ามีทุกข์ที่ไหนอีกไหม เขาตอบว่าไม่มี มีแต่ปวดกาย เมื่อยหลัง คือทุกข์กายนั่นแหล่ะ ก็เลยถามว่าแล้วใจไม่ทุกข์หรือ ใจไม่รู้สึกหงุดหงิด ใจไม่รู้สึกงุ่นง่าน ใจไม่ได้บ่นไม่ได้โวยวายอะไรเลยหรือที่ต้องนั่งนานๆ พอจี้เข้าไปแบบนี้ หลายคนจึงบอกว่าใช่ ใจก็ทุกข์ด้วย ใจทุกข์แต่ไม่เห็น ใจทุกข์แต่ไม่รู้ ไปรู้แต่ทุกข์กาย
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่ารู้ทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องอริยสัจ 4 หลายคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไป คนเราเดี๋ยวนี้ทุกข์ใจ ไม่รู้ว่าทุกข์ใจ คือไม่เห็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าเข้าไปเป็นทุกข์เสียแล้ว พอเป็นทุกข์ ก็ไม่เห็นทุกข์ พอไม่เห็นทุกข์ก็ไม่รู้ทุกข์ ทุกข์กายนี่รู้ แต่ทุกข์ใจไม่ค่อยเห็น ถ้าเราหมั่นสังเกตดูใจของเรา ดูบ่อยๆ อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกายกับใจ เวลากายกระเพื่อม ใจมันหวั่นไหว ก็จะเห็น ก็จะรู้ ใจโกรธก็รู้ว่าโกรธ ใจมีความเกลียด ก็รู้ว่ามีความเกลียด มีความทุกข์ มีความหนักอกหนัก ใจก็รู้และเห็นมัน และการรู้อย่างนี้ ทำให้ใจถอนออกมาจากอารมณ์เหล่านี้ได้ แทนที่จะเข้าไปเป็น ก็ออกมาเห็นมัน แล้วพอรู้มัน ก็ไม่เผลอ ไม่หลงเข้าไปในทุกข์นั้น แล้วต่อไปก็จะเห็นเหตุแห่งทุกข์ ถ้าไม่รู้ทุกข์นี่ การที่จะเห็นหรือรู้เหตุแห่งทุกข์ก็ยาก
อย่างตัวอย่างที่ยกมา ส่วนใหญ่ก็มองไม่เห็น มันก็เลยไปโทษสิ่งภายนอกเช่น มดบ้างล่ะโทษแดดบ้างล่ะ โทษคนภายนอกบ้างล่ะ พอเห็นเหตุทุกข์ไม่ถูกต้อง จะไปแก้มันก็เลยผิดพลาดไปด้วยมันก็เลยมีทุกข์อยู่ร่ำไป ฝากเอาไว้ให้เราหมั่นสังเกตดูใจของเราให้ละเอียด มันก็จะเห็นเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง แล้วถึงตอนนั้นการแก้ทุกข์จึงจะเฉลยกับเราได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 4 มิถุนายน 2564