แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราคงทราบดีแล้วว่า ชาวพุทธควรเป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความอดกลั้น คือมีขันติ และมีความเพียร มีวิริยะ มีความสันโดษ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่าคุณธรรม ถ้าเราชาวพุทธหมั่นเสริมสร้างคุณธรรมเหล่านี้ก็จะทำให้ชีวิตมีคุณค่าสงบเย็น แต่นอกจากการสร้างเสริมคุณธรรมหรือการใฝ่ดีอย่างที่ว่ามาแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราควรจะมีควบคู่ไปด้วยคือความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ดี แต่ยังไม่พอ ควรจะมีความใฝ่รู้ด้วย
ใฝ่รู้หมายความว่าอย่างไร ความหมายก็คือหมั่นศึกษาหาความรู้ การมีความรู้การมีความคิดเห็นที่กว้างไกล เพราะได้ยินได้ฟังมาก ถือว่าเป็นมงคลชีวิต ในมงคลสูตรซึ่งท่านได้พูดถึงคน 38 ประการมี 2 ข้อที่เกี่ยวเนื่องกับความใฝ่รู้โดยตรง พาหุสจฺจญฺจ การได้ยินได้ฟังมาก สิปฺปัญฺจะ การมีศิลปวิทยา จะได้ยินได้ฟังมากต้องไปแสวงหา ขวนขวายก็ต้องอาศัยความใฝ่รู้ และเมื่อศึกษาค้นคว้ามากก็มีศิลปะวิทยา แต่ว่านอกจากความขยันในการศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าทั้งจากตำราหรือจากครูบาอาจารย์หรือจากผู้รู้ที่เรียกว่าเป็นพหูสูตหรือแม้แต่คนทั่วไปที่มีความรู้ความชำนาญในบางเรื่องที่ถนัด
ใฝ่รู้ยังมีความหมายขยันรู้ด้วย ขยันรู้คือ ขยันรู้สึกตัว ไม่ต้องอาศัยความคิด เราจะศึกษาหาความรู้ต้องอาศัยความคิด ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังมาก แต่ความรู้สึกตัวไม่ต้องอาศัยความคิด แต่อาศัยความตั้งใจ เพราะถ้าไม่ตั้งใจมันก็หลง มันก็ไม่รู้ตัว อันนี้เป็นความใฝ่รู้ที่คนมักมองข้าม ขยันรู้ ขยันรู้สึกตัว ขยันรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าไม่มีความขยันรู้แบบนี้ แม้จะรู้มากบางทีก็ไปไม่รอด อย่างที่เขาว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด เพราะจิตใจถูกรุมเร้าด้วยความทุกข์ ด้วยความโกรธ ความเกลียด ความโศก ความเศร้า ความห่อเหี่ยวแบบนี้ก็เอาตัวไม่รอดเหมือนกัน วิชาความรู้ก็ช่วยไม่ได้มาก จนกว่าจะมีความรู้สึกตัว รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งมันจะเกิดขึ้นชนิดที่ไม่เปิดโอกาสให้ความทุกข์เข้ามาครอบงำมันก็ต้องขยันรู้บ่อยๆ รู้สึกตัวบ่อยๆ
ขยันรู้ยังรวมไปถึงว่า เวลามีความทุกข์เกิดขึ้นกับตัวเราโดยเฉพาะกับใจของเราที่จริงกับกายด้วย ก็ต้องขยันรู้ ท่านเรียกว่ารู้ทุกข์ คนเราส่วนใหญ่เวลาเจอความทุกข์ ไม่ว่าทุกข์กายทุกข์ใจ มันจมเข้าไปในความทุกข์เลย กลายเป็นผู้ทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเรารู้ทุกข์ ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปเลย และการรู้ทุกข์ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพุทธที่ควรทำสม่ำเสมอ
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเรื่องอริยสัจ 4 ข้อแรกคือทุกข์ พระองค์สอนต่อไปว่าเราควรจะเกี่ยวข้องกับทุกข์อย่างไร นั่นก็คือรู้ทุกข์ เราอาจจะเคยได้ยิน ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ กำหนดไม่ใช่ที่เราไปเข้าใจว่าเป็นการเพ่งการจ้อง คำนี้มาจากคำว่าปริญญา ซึ่งก็หมายถึงการรู้รอบ รู้ทั่ว รู้ชัด ถ้าเราไม่รู้ทุกข์ เราก็เป็นทุกข์ทันที สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ปัจจุบันกล่าวว่า คนเรามีหน้าที่รู้ทุกข์ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ ถ้าเรารักตัวเองเป็นยิ่งต้องทำหน้าที่นี้ให้ดี เพราะถ้าเราไม่รู้ทุกข์ มันก็เข้าไปเป็นทุกข์เลย ซึ่งก็ไม่ใช่วิสัยของคนที่รักตัวเอง เพราะเป็นทุกข์ เป็นการซ้ำเติมตัวเองไม่น้อย ถ้าเรารักตัวเองเราก็ต้องพาตัวเองออกจากทุกข์ ซึ่งก็เริ่มต้นจากการที่เมื่อมีทุกข์แล้วก็รู้ทุกข์ อันนี้คือความขยันรู้อย่างหนึ่ง ที่เราต้องทำให้เกิดมีขึ้น หรือว่าทำบ่อยๆ จะศึกษาหาวิชาความรู้ อ่านมากฟังมากอย่างเดียวไม่พอ ต้องขยันรู้ทั้งรู้สึกตัวและก็รู้ทุกข์รวมทั้งรู้เมื่อมีอาการใดเกิดขึ้นกับกายและใจ แม้ไม่ใช่ความทุกข์ก็ตาม เช่น ความสุขก็รู้ มีความดีใจก็รู้ มีความเสียใจก็รู้ มีความฟุ้งซ่านก็รู้ รู้ความเป็นไปของใจ
รวมทั้งรู้ความเป็นไปของกาย กายเขยื้อนขยับก็รู้ รู้สึกตัว ทำอะไรก็รู้ ไม่ใช่แค่รู้ว่าคนอื่นทำอะไร แต่รู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ กินดื่มเคี้ยวลิ้มอุจจาระปัสสาวะ พระพุทธเจ้าก็สอนว่าให้ทำความรู้สึกตัวรู้เนื้อรู้ตัวขณะที่ทำสิ่งนั้น เดินไปข้างหน้าถอยไปข้างหลัง เหลียวซ้ายแลขวา เหยียดอวัยวะ ไม่ว่าจะคู้เหยียดเข้าออก ครองจีวรสะพายบาตรครองสังฆาฏิก็ให้รู้อันนี้เป็นพระ ถ้าเป็นฆราวาสแต่งเนื้อแต่งตัวสวมเสื้อกางเกงก็ให้รู้ตัวรู้ว่าทำอะไรอยู่ แม้กระทั่งอุจจาระปัสสาวะก็รู้ ยืนเดินนั่งนอนก็รู้ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้สึกตัว วันๆหนึ่งถ้าเราขยันรู้แบบนี้มันจะช่วยทำให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย อันนี้เป็นความใฝ่รู้ที่คนมักจะมองข้ามไป
พ่อแม่ก็อยากจะให้ลูกใฝ่รู้ในความหมายที่ขยันศึกษาหาความรู้ แต่ว่ามันต้องมีความขยันรู้ในความหมายที่ว่านี้ด้วย ขยันรู้สึกตัว ขยันรู้กายเมื่อเคลื่อนไหว ขยันรู้ใจเมื่อมีความคิดนึก และเมื่อถึงมีเวลามีความทุกข์ก็รู้ได้ไว ก็ช่วยให้ไม่เข้าไปเป็นทุกข์หรือเป็นผู้ทุกข์ ใฝ่รู้ยังหมายถึงเรียนรู้จากสิ่งต่างๆไม่ใช่ตำราเท่านั้นไม่ใช่ความเห็นของผู้รู้เท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของคนที่เราได้ยินได้ฟังมา หรือประสบการณ์ของตนเอง ประสบการณ์หรือความเป็นไปของชีวิตผู้คนมีอะไรให้เราเรียนรู้ได้มากคนที่มั่งมีร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แล้ววันดีคืนดีก็ตกอับยากจน หรือคนที่มีชื่อเสียงมีฐานะเป็นที่ยกย่องนับหน้าถือตาแต่วันหนึ่งก็ติดคุกติดตารางข้อหาคอรัปชั่น จากสูงลดลงต่ำเลยสอนเราได้เยอะในเรื่องของความไม่เที่ยง ในเรื่องของโลกธรรม 8 มีลาภเสื่อมลาภมียศเสื่อมยศ คนที่ได้รับการยกย่องเชิดชูสรรเสริญแล้ววันหนึ่งถูกรุมประนามทุกหยามเหยียดอันนี้ก็สอนเราได้ดีในเรื่องของโลกธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าเราใฝ่รู้ เราจะได้เรียนรู้ธรรมะความจริงจากผู้คน แม่้กระทั่งเวลาเห็นคนแก่คนเจ็บคนป่วย ถ้าใฝ่รู้ก็ได้อนุสติเตือนใจถึงเรื่องสัจธรรมชีวิตซึ่งสักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น คนที่ไม่ใฝ่รู้เห็นสิ่งเหล่านี้ก็แค่สนองความอยากรู้หรือสนองความตื่นเต้นหรือบางทีก็เห็นแบบผ่านๆไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย แต่แม้กระทั่งเห็นคนแก่คนเจ็บคนป่วยหรือคนตาย ถ้าเราใฝ่รู้จะได้บทเรียนชีวิตและสัจธรรมชีวิตมากมาย ช่วยเตือนใจไม่ให้เราประมาท
ท่านถึงเรียกว่าบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นเทวทูต เทวทูตไม่ได้เป็นเทวดาจากไหนปุถุชนคนธรรมดานี้แหล่ะ แต่ทันทีที่ใฝ่รู้หรือรู้จักมอง เราก็ได้อะไรดีๆจากเขามาก ะไม่ใช่แค่ประสบการณ์ชีวิตของคนอื่นเท่านั้น ประสบการณ์ของเราเองก็สำคัญ
ถ้าเราใฝ่รู้เราจะเรียนรู้อะไรได้เยอะ โดยเฉพาะประสบการณ์ในทางลบเช่น งานล้มเหลว เจออุปสรรค ใครๆก็ไม่ชอบ พองานล้มเหลวก็โวยวายตีโพยตีพายโทษนั่นโทษ แต่นั่นไม่ใช่วิสัยของคนใฝ่รู้ คนใฝ่รู้จะพิจารณาว่าความล้มเหลวความผิดพลาดเกิดจากอะไร เมื่อพิจารณาแล้วก็ได้ความรู้ เรียกว่าเรียนจากความผิดพลาด
เวลาเกิดทุกข์เช่น ความสูญเสียแทนที่จะตีโพยตีพาย ก่นด่าโชคชะตา ก็มาพิจารณาหาบทเรียนจากมัน อย่างบางคนก็พบว่าเหตุการณ์นั้นก็สอนเราว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ของที่เรามีมันก็อยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว เราไม่ได้เป็นเจ้าของ หรือถึงเป็นเจ้าของก็เป็นเจ้าของแค่ชั่วคราว วันดีคืนดีก็มีคนเอาไป ไฟไหม้น้ำท่วมพัดพาไปแทนที่จะคร่ำครวญเพราะสูญเสีย ก็กลับเป็นว่าได้กำไร ได้ปัญญา อันนี้เพราะความใฝ่รู้ เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต มีคนมาต่อว่าด่าทอกระทบหู แม้ว่าใจจะกระเพื่อม แต่ถ้าใฝ่รู้มันได้ประโยชน์ มันทำให้รู้ว่าคนนี้นิสัยอย่างไร บางคนก็ด่รรวนสรุป บางคนก็ใจคอคับแคบ เราก็ได้รู้จักเขามากขึ้น เรารู้จักคนไม่ใช่จากคำชื่นชมสรรเสริญ แต่เราจะรู้จักจากคำด่าตำหนิ ถ้าเขาตำหนิมีเหตุมีผลก็ได้เห็นว่าเขาเป็นคนมีวิจารณญาณ ถ้าเขาด่าแบบสาดใส่โดยที่ไม่ได้ฟังอะไรเลย แสดงว่าเขาเป็นคนหูเบาเชื่อง่าย หรือว่าเจ้าอารมณ์ เราก็ได้รู้จักเขา อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่ช่วยให้เราเกี่ยวข้องกับเขาได้อย่างถูกต้อง ไม่ได้รู้เพิ่มขึ้นเท่านั้น คำต่อว่าด่าทอก็ทำให้เรียนรู้ รู้จักตัวเองมากขึ้นว่ามีข้อผิดพลาดอะไรมีอะไรที่ควรปรับปรุง คนที่ด่าว่าเราเขาเป็นอาจารย์เราก็ได้ ถ้าเราใฝ่รู้แท้จริง
หลวงพ่อพุธเคยเล่าว่า ตอนที่ไปบิณฑบาตเห็นโยมผู้หญิงยืนรอใส่บาตรกับเด็กผู้ชายวัย 5 ขวบ ท่านก็เดินไปรับบาตร ยังไม่ทันถึง ลูกชายก็พูดขึ้นมาว่า มึงบ่แม่นพระดอก ๆ ท่านก็โกรธ แต่สักพักท่านก็ได้สติแล้วท่านก็ได้สตืขึ้นมาว่าถูกของมัน ถ้าเราไม่ใช่พระ เพราะถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ แล้วท่านก็ไปรับบาตรจากแม่ของเด็กด้วยอาการปกติ แทนที่ท่านจะโกรธซึ่งมีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ท่านกลับมองว่าเด็กมาสอนเราว่า เรายังเป็นพระไม่สมบูรณ์ เพราะถ้าเรายังมีความโกรธ ความหวั่นไหว มีความยึดถือตัวตนอยู่ อันนี้เป็นการบ้านที่จะต้องไปปรับปรุงแก้ไข จะคิดแบบนี้ได้ก็ต้องเป็นคนใฝ่รู้ สามารถที่จะเรียนรู้จากคำต่อว่าด่าทอ ตอนหลังเวลาท่านพูดถึงเด็ก ท่านก็เรียกว่าเป็นอาจารย์
พวกเราถ้าใฝ่รู้แบบนี้ จะมีอาจารย์อยู่รอบตัวเลย ไม่ใช่แค่คนที่ด่าว่าเรา สิงสาราสัตว์ก็เป็นอาจารย์ของเราได้ เพราะฉะนั้น การใฝ่รู้ แม้แต่สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในสายตา กลายเป็นดี เพราะว่ามันให้อะไรแก่เรามากมายโดยเฉพาะความรู้ ทั้งความรู้เกี่ยวกับตนเองและสัจธรรมของชีวิต คำนินทาว่าร้ายเป็นธรรมดาโลก อดีตเจ้าของเมืองโบราณ วันไหนไม่ถูกตำหนิวันนั้นเป็นวันอัปมงคล วันไหนถูกตำหนิถือว่าเป็นมงคลแล้วเพราะว่าได้รู้อะไรต่างๆมากมาย
และถ้าใฝ่รู้อย่างลึกซึ้ง มันก็จะพบว่าจิตใจมีอะไรให้เรียนรู้มากมาย ใจของเราเองมันมีอะไรให้เรียนรู้ได้เยอะยิ่งกว่าหนังสือตำรา คนที่ใฝ่รู้เขาหมั่นเรียนรู้จากใจของตนเช่น เห็นว่าใจอารมณ์ของคนเรามันเอาแน่เอานอนไม่ได้ เมื่อเช้ายังผ่องใสเบิกบานตอนบ่ายหม่นหมองแล้ว ทำไมจิตใจเราแปรเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าดินฟ้าอากาศเสียอีก เอาแน่เอานอนไม่ได้
ถ้าเราหมั่นสังเกตใจของเร เราก็จะเรียนรู้อะไรต่างๆเกี่ยวกับใจของเราได้มากมาย แล้วเราก็อาจจะรู้ต่อไปว่าใจเราสั่งไม่ได้ เวลามันโกรธจะสั่งให้มันหยุดโกรธ เวลาเศร้าสั่งให้มันหยุดเศร้า สั่งไม่ได้ มันฟุ้งซ่านสั่งให้มันหยุดฟุ้งซ่านมันสั่งไม่ได้ จะว่าฝึกได้หรือว่าโน้มน้าวรวมทั้งสร้างเหตุสร้างปัจจัยเป็นเหตุเป็นผลได้ เช่น เวลาโกรธเราแผ่เมตตา เมตตากรุณาที่เกิดขึ้นช่วยให้ใจสงบขึ้น เวลามีความฟุ้งซ่านขึ้นมาก็เอาใจน้อมไปอยู่ที่ใจ รับรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใจมาอยู่กับลมหายใจ เวลาห่อเหี่ยวเรานึกถึงความดีที่ได้ทำ นึกถึงพระรัตนตรัย จิตใจก็เริ่มกลับมาเป็นกุศล กลับมาเป็นปกติได้ ใจเราสามารถที่จะโน้มน้าวสร้างเหตุสร้างปัจจัยไม่ให้มันจมอยู่ในความทุกข์ ถ้าเราสังเกต เราจะเห็นความจริงของใจมากขึ้นเรื่อยๆ
รวมทั้งเห็นต่อไปว่า ความทุกข์ใจเกิดจากความคิด ที่เรานั่งอยู่สบายๆ การที่ใจไปนึกถึงงานที่กำลังรอ นึกถึงหนี้สินที่รอการชำระ หรือว่านึกถึงเพื่อนที่กำลังเจ็บป่วย ใจมันห่อเหี้ยวขึ้นมาเลยและบางเรื่องบางกรณีผ่านไปนานแล้วแต่พอนึกถึง ความแค้นก็ขึ้นมาเลย เช่น นึกถึงคำต่อว่าด่าทอของใครบางคนเมื่อเดือนที่แล้วปีที่แล้ว บ่อยครั้งทุกอย่างราบรื่นแต่เพราะใจนึกไปทางลบเช่น อยู่คนเดียวในห้องในกุฏิในที่พักกลางค่ำกลางคืน ไม่มีอะไรอันตรายแต่ว่าพอใจนึกถึงผีสาง นึกถึงสัตว์ร้าย นึกถึงตุ๊กแกหรือคนที่อาจจะมาลักลอบทำร้าย คิดไม่ดีกับเรา ความคิดแค่นี้ก็กลัว
ที่จริงเราไม่ได้กลัวผี กลัวสัตว์ร้าย แต่กลัวความคิดเกี่ยวกับผีเกี่ยวกับสัตว์ร้ายมากกว่า อันนี้ทุกข์เพราะความคิดถ้าเราไม่หันมามองดูที่ใจ เราก็ไม่มีทางรู้ความจริงอย่างนี้ ถ้าเราใฝ่รู้เราจะพบต่อไปว่าเราคิดอย่างไร คิดอะไร ใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าคิดลบใจก็เป็นลบ ถ้าคิดบวกใจก็เป็นบวก คิดถึงคนที่เกลียดเรา มันก็เกิดความขุ่นมัวขึ้นมาทันที
ในใจคิดถึงคนที่เรารัก หลานที่กำลังน่ารัก จิตใจก็เกิดผ่องใส เกิดความปลาบปลื้ม เกิดความยินดี อันนี้เรียกว่าทุกข์เพราะความคิด และขณะเดียวกันก็สุขจากทุกข์เพราะความคิดด้วย ความคิดเป็นปัจจัยสำคัญเลย เราคิดอย่างไรใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าอยากให้ใจเป็นกุศลก็ต้องคิดไปในทางกุศล เพราะไม่งั้น ใจจะคิดไปในทางลบ แล้วก็ทำให้เกิดความทุกข์ใจ
เหมือนกับโทรทัศน์หลายช่อง มันอยู่ที่ว่าเราจะเปิดช่องอะไรถ้าเปิดช่องที่เป็นหนังผีสยองขวัญ เราดูแล้วก็กลัว นอนไม่หลับ หรือเปิดช่องการเมืองซึ่งมีความขัดแย้งทะเลาะวิวาท ก็เกิดความเครียด แต่ถ้าเราเปิดดูช่องที่เป็นสัตว์โลกที่น่ารัก ใจก็เบิกบานผ่องใสหรือรู้สึกสบาย นั่นก็หมายความว่าเราเลือกได้ว่าจะเปิดช่องอะไร เราเลือกได้ว่าใจจะเป็นอย่างไรด้วย การที่รู้จักเลือก รู้จักคิด หรือรู้จักวางใจ ใจที่มาอยู่กับลมหายใจ ก็จะรู้สึกถึงความเบาเหมือนกับลมหายใจ ใจที่ไปอยู่กับความเจ็บปวดก็จะหนัก ซึ่งจะรู้สึกเป็นอกุศล
เราเลือกได้ว่าเราจะเอาใจไปรับรู้อะไรอยู่กับอะไร ถ้าเอาใจไปอยู่กับความรู้สึกตัว ใจก็จะเบาโปร่งนิ่งคือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้ได้จากใจของเรา
และนิสัยของผู้ใฝ่รู้ก็คือ หันมาเรียนรู้ใจของตนอยู่เสมอและเมื่อเราเรียนรู้ดูใจของตนว่า จะรู้วิธีว่าจะทำอย่างไรให้กลายเป็นปกติ หรือออกจากความทุกข์ได้ มันก็จะช่วยทำให้ได้ความรู้ เห็นทางออกจากทุกข์ชัดเจนขึ้น ความใฝ่รู้ในแง่นี้ มันไม่ใช่แค่รู้เฉยๆประเภทไปอวดใครได้หรือเอาไปทำมาหากินได้เท่านั้น แต่มันช่วยทำให้ออกจากทุกข์ได้ เพราะว่าทุกข์ที่แท้อยู่ที่ใจเรา
เพราะฉะนั้น จึงบอกว่าออกจากความใฝ่รู้ก็ต้องมีความใฝ่รู้ด้วย ช่วยทำให้มีความสุข แต่ก็ยังต้องเจรานนรนฝอกับทุกข์มากมายแต่ถ้ามีความใฝ่รู้ในความหมายที่ว่า ก็จะทำให้ใจออกจากทุกข์ได้ เกิดความสงบเย็นและก็มีกำลังที่จะไปเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ทำความดีต่อผู้อื่นต่อไป ชาวพุทธเราจึงต้องมีความใฝ่รู้ในความหมายที่ว่าด้วย อย่าใฝ่ดีอย่างเดียวก็อาจจะเอาตัวไม่รอดก็ได้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมทำวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 27 พฤษภาคม 2564