แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อ 40 กว่าปีก่อนมีกลุ่มผู็ใฝ่ธรรมกลุ่มหนึ่งชื่อว่ากลุ่มศึกษาปฏิบัติธรรม กลุ่มนี้มีความแข็งขันมากในการชักชวนคนหนุ่มสาวไปเจริญสติที่วัดสนามในบ้าง ไปทำภาวนาสมาธิที่สวนโมกข์บ้าง ตอนหลังก็พามิตรสหายมาปฏิบัติธรรมที่สุคะโต เป็นกำลังสำคัญในการอุปถัมภ์สุคะโตในเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงที่กันดารลำบาก น่าเสียดายที่ประธานกลุ่มอายุสั้น เสียชีวิตตั้งแต่อายุประมาณ 35 เพื่อนฝูงก็เลยร่วมออกทุนสร้างศาลาน้ำสุคะโต ซึ่งเกิดจากญาติมิตรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนวุฒิชัย
แต่ประเด็นที่จะพูดวันนี้ไม่เกี่ยวกับกลุ่มนี้โดยตรง ที่จะพูดเมื่อ 40 กว่าปีก่อน คำว่าปฏิบัติธรรมยังไม่ได้แพร่หลายเท่าไร หากจะรู้จักบ้างในกลุ่มคนที่สนใจเรื่องการเข้าวัดทำสมาธิภาวนาเจริญสติ ซึ่งตอนนั้นกลุ่มไม่ใหญ่ ต่างจากเดี๋ยวนี้คำว่าปฏิบัติธรรมเป็นคำที่แพร่หลายกว้างขวาง กลายเป็นคำสามัญไปแล้ว คล้ายๆกับคำว่าทำบุญ ถึงแม้จะไม่ได้แพร่หลายมากเท่ากับทำบุญ แต่เวลานี้คำว่าปฏิบัติธรรมไม่ต้องอธิบายมาก แต่ก็เช่นเดียวกับคำว่าทำบุญ พอแพร่หลายมากๆเข้า ความหมายก็เรียวลง อย่างเช่นการทำบุญสมัยนี้เป็นเพียงมีความหมายว่าการให้ทาน หรือว่าทำบุญเลี้ยงพระ ทำบุญให้ทาน คำว่าปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ความหมายแคบลง เหลือเพียงแค่การนั่งสมาธิ เวลาพูดถึงการปฏิบัติธรรมก็นึกถึงภาพคนนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดหรือเข้าคอร์ส มาทำกรรมฐานเจริญสติทำสมาธิและก็อาจจะมีภาพหลับตา ตามลมหายใจ อันนี้ก็ถูกแต่ก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด
การปฏิบัติธรรมมีความหมายมากกว่านั้น การปฏิบัติธรรมก็คือการเอาธรรมะมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นที่กายวาจาและใจ คำว่าธรรมะอย่างที่เราทราบมีความหมายกว้างขวาง การให้ทานก็เป็นการปฏิบัติธรรม การรักษาศีลก็เป็นการปฏิบัติ ทั้งนี้ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น อันนี้ก็รวมไปถึงการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่นก็เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นธรรมะที่ชื่อว่าอัตถจริยา อัตถจริยาเป็นหนึ่งในสังคหวัตถุ 4 การพูดด้วยวาจาที่สุภาพ นุ่มนวล อ่อนน้อม ปรารถนาดี หรือเรียกว่าปิยวาจา ปิยวาจาก็เป็นการปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมในความหมายนี้ การปฏิบัติธรรมก็มีความหมายกว้างมาก ไม่จำเป็นต้องนุ่งขาวห่มขาว ไม่จำเป็นต้องมาวัด ไม่จำเป็นต้องเข้าคอรส์ หรือว่านั่งหลับตา ที่จริงอย่างที่พูดไปว่าแล้ว เวลาเราทำงาน ถ้าเราทำงานอย่างมีสติ ทำด้วยความใส่ใจ ความขยันหมั่นเพียร ก็เป็นการปฏิบัติธรรม อย่างหนึ่งอาจารย์พุทธทาสสอนอยู่เสมอว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพทำงาน หรือว่าการทำงานเพื่อส่วนรวม หรือการทำงานชีวิตประจำวัน ซักผ้า กวาดบ้าน หรือว่าทำครัว ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ถ้าเอาใจใส่ลงไปในงาน ไม่ใช่ทำสักแต่ว่าทำ งานนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรม คือเป็นการเจริญสติหรือว่าเราทำอะไรก็ตามด้วยความรู้สึกตัว อันนั้นก็คือการปฏิบัติธรรม
อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ทำความรู้สึกตัว เวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เหลียวซ้ายแลขวาเวลาคู้หรือเหยียดอวัยวะ เวลาครองจีวร สะพายบาตร พาดผ้าสังฆาฏิ หรือถ้าเป็นฆราวาสก็แต่งเนื้อแต่งตัว ถ้าทำด้วยความรู้สึกตัวนั่นคือการปฏิบัติธรรม การกินดื่มเคี้ยวลิ้ม แม้กระทั่งอุจจาระปัสสาวะ ถ้าทำด้วยความรู้สึกตัว ไม่ปล่อยใจลอย ฟุ้ง นั้นก็คือการปฏิบัติธรรม จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมทำได้กว้างมากทำได้ทุกที่ทุกเวลา อยู่ที่ว่าจะเป็นธรรมะอะไรหรือธรรมะหมวดไหน
ความเพียร วิริยะ สติ สมาธิ ขันติ สันโดษ เมตตาพวกนี้ธรรมะทั้งนั้น ถ้าเรานำธรรมะมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หรือว่ามาปฏิบัติในโอกาสใด ตอนนั้นก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาหลายคนบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ที่จริงเขาเข้าใจผิดแล้วเพราะว่าเขาไปเข้าใจผิดว่าต้องมีเวลาปลีกตัวมาวัด ปลีกตัวมาคอร์ส ถ้าไม่มีเวลาปลีกเวลาไปก็เรียกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ไม่ใช่ ตราบใดที่เขายังมีลมหายใจ ตราบใดที่เขายังมีกิจทำนั่นทำนี่ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา เก็บที่นอน อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า เขาก็ปฏิบัติธรรมได้รวมทั้งถ้ามีเวลากินข้าว ก็มีเวลาปฏิบัติธรรมเหมือนกันรวมทั้งหายใจได้
แม้ว่าผู้คนทุกวันนั้นี้ ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถที่จะมาวัด เขาก็ยังสามารถปฏิบัติธรรมได้ ปฏิบัติธรรมกับชีวิตในบ้าน ปฏิบัติธรรมกับคนที่อยู่ในบ้าน รวมทั้งเรียนรู้ที่อยู่กับตัวเองให้เป็น อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม คราวนี้นอกจากการเข้าใจความหมายของปฏิบัติธรรมแล้ว เราจะปฏิบัติธรรมได้ถูกหรือเกิดประโยชน์ เราก็ต้องรู้จุดประสงค์หรือมุ่งหมายด้วยของธรรมะของการปฏิบัติแต่ละอย่าง อย่างที่พูดอยู่เสมอว่าทาน มีจุดมุ่งหมายนอกจากเพื่อเกื้อกูลผู้อื่นแล้วซึ่งเป็นประโยชน์ท่าน ทานยังนีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดเกลาตนเอง ลดความตระหนี่ ลดความยึดติดถือมั่นในทรัพย์ ก็คือลดความเห็นแก่ตัว หลายคนให้ทานแต่ไม่เข้าใจรู้จุดมุ่งหมาย ก็ไปหวังโชคหวังลาภจากการให้ทานเพราะให้แล้วจะได้บุญจะทำให้ได้โชคได้ลาภถูกลอตเตอรี่ ก็เกิดความโลภมากขึ้น กิเลสไม่เบาบางลง
การรักษาศีลก็เหมือนกันจุดมุ่งหายก็เพื่อลดโลภโกรธหลง ลดกิเลสลดความเห็นแก่ตัว เมื่อพอทำไปๆ บางคนทำแต่รูปแบบ เคร่งครัดในศีลก็จริง แต่ว่ากิเลสไม่ได้ลดลง เพราะเกิดความถือตัวถือตนว่าฉันมีศีลมากกว่าคนอื่น คอยเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าคนอื่นมีศีลน้อยกว่าฉัน เกิดอาการดูถูกเหยียดหยาม แม้แต่ภาวนาก็เหมือนกันเพื่อการลดการละเพื่อทำให้จิตสงบ แต่บางคนภาวนาไปก็ไปมองคนโน้นคนนี้คนรอบข้าง เขาไม่ภาวนา เขาไม่ปฏิบัติ เกิดความรู้สึกเหยียดหยาม เกิดความรู้สึกดูถูกเขาว่าสู้ฉันไม่ได้ ฉันภาวนาฉันปฏิบัติ อันนี้ไม่ถูก ที่ไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ ไม่เข้าใจธรรมของการปฏิบัติ
เวลาสวดมนต์ก็เหมือนกัน สวดเพื่ออะไร สวดมนต์เพื่อให้ใจมีสติ เพื่อให้ใจเกิดศรัทธา เพื่อให้ใจสงบ เพื่อให้ใจเกิดกุศล แต่บางคนสวดไป สวดแต่ปากใจลอย ยังไม่เท่าไร แต่ขณะที่สวดไปใจเกิดความขุ่นมัว เพราะว่าเขาสวดผิดๆถูกๆ สวดเสียงดังบ้าง เสียงสูงบ้าง ไม่เข้ากัน บางทีก็ไปรำคาญเสียงรถยนต์เสียงหมาเห่า แทนที่จิตใจจะสงบเย็น กลับรุ่มร้อน หรือเกิดความเกลียดความชัง ก็สวดได้ครบ สวดเป็นชั่วโมงแต่ใจไม่สงบ ใจไม่กุศลเลย เพราะว่าไม่เข้าใจ สวดมนต์เพื่ออะไร ไปเข้าใจว่าสวดแล้วก็เกิดสิริมงคล เกิดความขลัง อานิสงส์ของบทสวดจะทำให้อยู่รอดปลอดภัย เพราะฉะนั้นก็สวดไปให้ได้ปริมาณเยอะๆ ให้ได้ 108 จบ แต่ว่าคุณภาพจิตไม่มีเลย ปล่อยใจลอย หลง หรือเต็มไปด้วยความขุ่นมัว หงุดหงิด หรือว่าเร่งเร้า อยากจะให้ครบ 108 จบสักที อันนี้เรียกว่าได้ประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมน้อยเพราะว่าไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย
รวมถึงเวลาไปปฏิบัติที่นั่นที่นี่ ไม่เข้าใจว่าวิธีปฏิบัติที่สอนกันในสถานที่นั้นๆ จุดมุ่งหมายคืออะไร และบางทีตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร บางครั้งก็อยากจะได้ความสงบ แต่ว่าไปฝึกวิธีการที่เขาเน้นสติเน้นความรู้สึกตัว หรืออยากได้สติ ได้ความรู้สึกตัวแต่ไปฝึกไปใช้วิธีการที่ควบคุมความสงบ ควบคุมจิตไม่ให้คิด หรือให้จิตแน่นิ่ง มันก็เกิดปัญหา ได้ผลไม่ตรงกับที่ต้องการ อย่างเช่นหลายคนที่มาที่นี่ต้องการที่จะให้จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน แต่ว่าพอมาปฏิบัติที่นี่ ไม่รู้ว่าที่นี่มีวิธีการที่ทำให้เกิดความรู้สึกตัว ให้มีจิตรู้ทันความคิด เพราะฉะนั้นจึงไม่เน้นบังคับจิตสงบ หรือว่าห้ามคิด แต่ที่นี่ให้จิตคิดได้ แถมยังเปิดตายกมือเคลื่อนไหวด้วย อยากได้ความสงบแต่มาปฏิบัติแบบนี้ก็ผิดวัตถุประสงค์ ก็เกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจขึ้นมา เป็นต้น
หรือเวลาแผ่เมตตา ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมด้วย แต่ว่าบางคนทำแบบสักแต่ว่าทำ ได้แต่เอ่ย กล่าวคำภาวนาคำแผ่เมตตา แต่ว่าไม่ได้คิดเลยว่า เราแผ่เมตตาเพื่อให้ความโกรธความเกลียดมันทุเลาเบาบางลงเราไม่ได้แผ่เมตตาเพื่อส่งความปรารถนาดีให้กับคนที่เรารัก แต่ว่าคนที่เราเกลียดคนที่เราชัง เราก็ส่งความปรารถนาดีไปให้ มันเป็นวิธีที่จะบรรเทาความโกรธความเกลียดความพยาบาท เพราะฉะนั้นถ้าจะแผ่เมตตาให้ได้ผลก็ต้องนึกถึงคนเหล่านี้ด้วย นึกถึงคนที่เขาขุ่นข้องหมองใจกับเรา นึกถึงคนที่เราผิดใจกับเขา เห็นหน้าเขา เราก็แผ่เมตตาให้เขา ไม่ใช่ปากว่าไปปาวๆ แต่ใจไม่ได้น้อมนึกไปให้เขาที่จะทำให้ความโกรธความเกลียดความพยาบาททุเลาเบาบางลงเลย
นอกจากรู้จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมหรือธรรมแต่ละข้อ การปฏิบัติธรรมจะให้ได้ผลก็ต้องทำให้ถูกที่ถูกเวลาด้วย ถ้าทำผิดที่ผิดเวลานอกจากไม่ได้ผลยังเกิดโทษด้วย อย่างเช่นขณะที่กำลังข้ามถนนก็สวดมนต์ไปด้วย ซึ่งมีรถพลุพล่าน ทำสมาธิแน่วแน่อยู่กับลมหายใจ อันนี้ก็ทำผิดที่ผิดเวลา เพราะเวลาข้ามถนนสิ่งที่ควรทำคือการเจริญสติ มีสติในขณะที่กำลังข้ามถนน มีความรู้สึกตัว รู้ทันความคิดที่มาพาจิตออกจากการรับรู้ขณะที่กำลังข้ามถนน รู้ใน และรู้นอกคือรู้ว่ารถกำลังแล่นผ่านมาไหม ถนนโล่งไหม เจริญสติรู้ในรู้ทันความคิดพาจิตของเราออกไป จนลืมเนื้อลืมตัว และรู้นอกว่าถนนโล่งไหม ค่อยข้ามถนนได้ปลอดภัย แต่ถ้าเกิดว่าเราปฏิบัติธรรมผิดที่ผิดเวลา ไปสวดมนต์ขณะที่ข้ามถนนหรือว่าทำสมาธิ อยู่กับบริกรรมขณะที่ข้ามถนนเกิดอุบัติเหตุรถชนมา จะมาบ่นว่าทำไมบุญไม่รักษา ธรรมไม่คุ้มครองนั้นไม่ได้
บางคนขณะที่ขับรถแทนที่จะมีสติอยู่กับการขับรถ มีจิตจดจ่ออยู่กับถนนข้างหน้า ก็ไปนึกถึงเรื่องของการทอดกฐินทอดผ้าป่า หรือไปขบคิดข้อธรรมบางข้อเช่น ปฏิจจสมุปปบาท อริยสัจสี่ การขบคิดธรรมะก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งเรียกว่าธรรมวิจยะ แต่ถ้าทำผิดที่ผิดเวลามันก็เกิดอันตรายขึ้นมาได้แล้วจะมาโทษการปฏิบัติธรรมจึงเกิดอุบัติเหตุไม่ได้
นอกจากการปฏิบัติให้ถูกที่ถูกเวลาแล้ว ความพอดีก็สำคัญเหมือนกัน เช่น ความเพียรถ้ามากไปก็ไม่ดีโดยเฉพาะในยามที่จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว ขืนไปทำความเพียรยิ่งฟุ้งซ่านเข้าไปกันใหญ่ พระบางรูปในสมัยพุทธกาลทำความเพียรมาก แต่ยิ่งทำก็ยิ่งเกิดความหงุดหงิด เกิดความคับแค้น อย่างเช่น พระโสณะเดินจงกรมจนกระทั่งเท้าแตกก็ยังไม่เลิก จะต้องคลานก็ยอม แต่ก็ไม่เกิดผลจนท้ออยากจะสึก จนพระพุทธเจ้าต้องมาปรากฏ สอนให้ท่านรู้จักวางใจให้พอดีด้วยการยกอุปมาพิณสามสาย พระโสณะเป็นนักดีดพิณ ถ้าพิณขึงตึงไปก็เพราะหรือหย่อนไปก็ไม่เพราะ ต้องขึงพอดี พระพุทธเจ้าต้องการสอนให้ทำความเพียรแต่พอดี ถ้าทำมากไปก็ฟุ้งซ่าน
แต่คำสอนนี้เฉพาะบางคน เพราะคนส่วนใหญ่ความเพียรไม่ได้มากไปมันมีแต่น้อยไปมากกว่า ในประเด็นแบบนี้ต้องเพิ่มความเพียรให้มากขึ้นไม่ใช่ลดให้น้อยลง ในกรณีของพระโสณะ ท่านทำความเพียรพอดีท่านก็บรรลุธรรมได้ในที่สุด ความพอดีอันนี้เรียกว่าไม่ใช่ทางสายกลางแต่เรียกว่าความพอดีหรือวิริยสมาตา คือความเพียรแต่พอดี การปฏิบัติธรรมนอกจากจะเข้าใจความหมายว่าคืออะไร เราก็ต้องรู้จักจุดมุ่งหมายของธรรมะแต่ละข้อ หรือการปฏิบัติแต่ละอย่าง และทำให้ถูกที่ถูกเวลา รวมทั้งรู้จักความพอดี
โดยเฉพาะการใช้ความเพียร หรือแม้แต่ศรัทธา สมาธิ ปัญญา พวกนี้ก็ต้องพอดี ศรัทธามากไปไม่มีปัญญามาถ่วงมาคานก็ทำให้เป็นพวกที่ถือดีไม่ยอมลงให้ใคร การปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้าและที่สำคัญการปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ใช่ที่บ้านหรือที่วัด มันไม่ใช่ที่ไหน แต่ว่ามีอยู่ในทุกที่เลยโดยเฉพาะเวลาทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะทำงานทำการ ก็ให้เรารู้ว่าปฏิบัติธรรมแล้วในตอนนั้น และต้องเจออะไรด้วย ยิ่งเจออนิฏฐารมณ์คือเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา รูปรสกลิ่นเสียงที่ไม่น่าพอใจ แดดร้อน อากาศหนาว หรือว่าเจอเสียงบ่นคำติฉินนินทา เจอคนที่ทำอะไรไม่ถูกใจ อันนั้นคืออนิฏฐารมณ์ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม นั่นคือโอกาสสำคัญที่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่นั่งหลับตา ไม่ใช่เดินจงกรม แต่มันคือตอนที่เราเจอสิ่งต่างๆในชีวิตจริงในเวลาที่เราออกจากลานจงกรม ในเวลาที่เราออกจากลานปฏิบัติธรรม
หลายคนไม่เข้าใจไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือปฏิบัติธรรมในวัด แต่พอกลับไปถึงบ้าน มองข้ามว่านี่แหล่ะคือช่วงการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นตอนที่อยู่วัด อยู่คอร์ส จิตใจสงบ แต่พอกลับไปที่บ้าน คนในบ้านพูดเสียงดัง หรือว่าเขาทำอะไรไม่ถูกใจ ไม่ถูกต้อง ก็เกิดความไม่พอใจ หงุดหงิด มีการบ่นมีการต่อว่า มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เวลาแม่ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม กลับมาทีไรเตรียมงานเข้าเลย เพราะว่าแม่จะบ่นนั่นบ่นนี่ หนักกว่าปกติ พ่อก็เหมือนกัน บางครอบครัวบอกว่าตอนที่พ่อก็บ่นแต่พอกลับจากปฏิบัติธรรมจากคอร์ส ไม่ใช่บ่นแต่เทศน์เลย
ทำไมการปฏิบัติธรรมถึงเป็นอย่างนั้น แทนที่จะได้ความสงบ เย็น แต่นี่ปฏิบัติธรรมเสร็จ คนที่อยู่รอบตัวกลับรู้สึกรุ่มร้อน ก็เพราะว่าเวลาที่จะต้องปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษคือ ตอนที่เจอสิ่งกระทบ ตอนที่อยู่ท่ามกลางผู้คน เพราะว่าเมื่ออยู่กับผู้คนจะมีอะไรกระทบกระทั่งได้ง่าย เวลาปฏิบัติธรรมคือเวลานี้ เวลาที่เจอสิ่งกระทบ เวลาเจออนิฏฐารมณ์ ต้องเตือนตนอยู่เสมอ และเพราะเหตุนั้นเวลาใครต้องการปฏิบัติธรรมมากๆก็ให้ถือว่าช่วงเวลานี้แหล่ะคือช่วงที่เจอผู้คน หรือต้องทำงาน เป็นเวลาที่เราต้องเตรียมพร้อมที่จะเอาธรรมะมารับมือกับสิ่งต่างๆที่มากระทบ เพื่อรักษาใจไม่ให้กระเทือนไปด้วย
สมัยตอนที่อาตมาไปปฏิบัติอยู่ที่วัดสนามในใหม่ๆ ทีแรกไม่ได้สนใจปฏิบัติจริงจัง แต่พอปฏิบัติไปๆจริงจังมากจนไม่ยอมปล่อยเวลาเลยในขณะที่ปฏิบัติธรรม เดินจงกรมสร้างจังหวะ ไปเข้าใจแบบนั้นก็ทำทั้งวันทำแบบหน้าดำคร่ำเคร่งเลยก็ว่าได้ วันหนึ่งโยมพ่อโยมแม่มาที่ทางเข้าวัด พอเห็นเท่านั้นความไม่พอใจเกิดขึ้นมาทันทีเลย เพราะอะไร เพราะว่าเห็นว่าท่านจะมาขัดขวางการปฏิบัติธรรมของเรา เพราะถ้าท่านมา เราก็ต้องหยุดการเดินจงกรม ต้องไปต้อนรับสนทนากับท่าน รู้สึกขัดใจมาก เสียเวลาปฏิบัติ ต้องมาคุยกับโยมพ่อโยมแม่
หารู้ไม่ว่าการคุยกับโยมพ่อโยมแม่ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติได้ ไม่ใช่ว่าการปฏิบัติต้องสร้างจังหวะหรือเดินจงกรม แต่ที่จริงนั่นแหละคือเวลาสำหรับการปฏิบัติในขณะที่สนทนากับท่าน มันก็ปฏิบัติได้ นั่นคือการเจริญสติ คุยกับท่านอย่างมีสติ อยู่กับท่านด้วยใจเต็มร้อย ไม่ใช่ใจไปพะวงถึงการเดินจงกรม แล้วก็เร่งให้ท่านกลับไปเสียที ฉันจะได้ไปปฏิบัติต่อ อันนั้นคือความเข้าใจผิด การปฏิบัติธรรมสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เกี่ยวข้องกับผู้คน เกี่ยวข้องกับงานการ ดินจงกรม ยิ่งเจออะไรที่มากระทบแรงๆด้วยแล้ว นั่นแหล่ะคือเวลาการปฏิบัติ ถ้าหากเจอสิ่งที่มากระทบแล้ว หรืออนิฏฐารมณ์ จิตใจหงุดหงิด ไม่พอใจ นั่นแสดงว่าไม่ได้ปฏิบัติ นั่นแสดงว่าสอบตก
เพราะฉะนั้น ให้เราเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม ถึงที่สุดแล้วคือการที่เรารักษาใจปกติไม่ว่าทำอะไรก็ตาม หรือเจออะไรก็ตาม ชีวิตเราแต่ละวันๆ ก็มีแค่ 2 อย่างส่วนใหญ่คือ ทำกับเจอ ทำนั่นทำนี่ เจอนั่นเจอนี่ ขณะที่เราทำอะไรก็ตาม เราทำด้วยสติ ใจสงบ ไม่หงุดหงิด แม้งานจะมีปัญหา ใจไม่มีปัญหา แม้งานล้มเหลว ใจไม่ล้มเหลว เจออะไร ไม่ว่ารูปรสกลิ่นเสียงมากระทบ หรือว่าเหตุการณ์อนิฏฐารมณ์เกิดขึ้น แต่ใจก็ไม่กระเทือนเพราะรักษาใจเอาไว้ได้ นี่แหล่ะคือการปฏิบัติธรรมที่แท้
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 27 พฤษภาคม 2564