แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดถึงว่า จิตใจมีอะไรให้เราเรียนรู้มากมาย ถ้าเราเป็นผู้ใฝ่รู้เราก็จะได้อะไรดีๆจากการที่มาดูจิตดูใจของเรา หรือสังเกตอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับใจ มันเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ถือว่าเป็นห้องเรียนที่ให้ความรู้อะไรกับเราได้มากมาย แล้วก็เป็นความรู้ที่ช่วยให้เรารอดจากทุกข์ หรือว่าสามารถที่จะพาจิตพาใจออกจากความทุกข์ได้ ความรู้หลายอย่างที่เราได้รับจากหนังสือหรือจากตำรับตำราแม้จะมีประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ในการทำมาหากินหรือในการดัดแปลงสิ่งภายนอก แต่ว่ามันอาจจะไม่ช่วยในยามที่จิตใจเราเกิดความทุกข์หรือในยามที่มีเหตุร้ายที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นก็ได้
ใจเราให้ความรู้กับเรามากมายเลยทีเดียว ถ้าเราสังเกตความคิด อารมณ์ มันแปรเปลี่ยนไปอยู่เรื่อย เอาแน่เอานอนไม่ได้ ใจเราสั่งไม่ได้ ถึงแม้จะบอกว่า นี้คือใจของเราๆ แต่ถ้าเป็นของเราจริงๆก็ต้องสั่งได้ บังคับได้ แต่ในความเป็นจริงก็คือว่าสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ สั่งให้ใจจดจ่ออยู่กับการสวดมนต์ มันเชื่อเราไหม มันทำตามเราไหม ในระหว่างที่สวดมนต์ ใจอาจจะแวะไปโน่ไปนี่ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยครั้ง เวลาจะนอนบอกให้ใจหยุดคิด หยุดฟุ้ง มันเชื่อไหม มันก็ไม่เชื่อ มันคิดฟุ้งไปได้สารพัด จนนอนไม่หลับ เวลาโกรธเวลาโมโห สั่งให้ใจหยุดโกรธหยุดโมโห สั่งได้ไหม เวลาใจมันเศร้าห่อเหี่ยว สั่งให้มันสดชื่นเบิกบาน มันทำตามไหม มันก็ไม่ทำตาม ใจสั่งไม่ได้
แต่ว่าสามารถที่จะโน้มน้าวหรือฝึกได้ ด้วยการสร้างเหตุปัจจัย เช่น ใจมีความโกรธ แทนที่จะให้ใจไปจมอยู่กับเรื่องที่โกรธไม่พอใจ ก็ค่อยๆโน้มใจมาอยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับอิริยาบถเคลื่อนไหวบ้างซึ่งเป็นกลางๆ ใจก็สงบลงได้ หรือว่าน้อมใจแผ่เมตตาไปให้ นึกแผ่เมตตามันเกิดขึ้นในใจก็นำความเย็นหรือความสงบมาให้ มันก็ช่วยดับคลายทุกข์ร้อนไปได้ อันนี้เรียกว่าเราสร้างเหตุสร้างปัจจัยเพื่อให้ใจเป็นไปในทางที่ดีงามเป็นกุศล
ใจยังสอนให้เรารู้ว่า รับรู้อะไร คิดอะไร หรือคิดอย่างไร ใจก็เป็นอย่างนั้น รับรู้ในทางลบ ใจก็ลบตามไปด้วย รู้ในสิ่งที่เป็นบวก ใจก็เป็นบวกตามไปด้วย อย่างง่ายๆถ้าเห็นท้องฟ้าสว่างไสว หรือว่าท้องฟ้าที่งดงามไร้เมฆหมอก ใจก็พลอยผ่องใสเบิกบาน แต่ถ้าเกิดว่ารอบตัวมันคืนขุ่นมัว ฟ้าหลัว หรือว่าเป็นที่คับแคบ ใจก็พลอยหม่นหมองไปด้วย เราลองนึกถึงคนที่เราเกลียด จิตใจมันก็รุ่มร้อนหรือว่าหมองมัว แต่พอนึกถึงคนที่เรารัก คนที่เราศรัทธา จิตใจก็เกิดความยินดี เกิดความปราโมทย์ นึกถึงคำต่อว่าด่าทอ ก็เกิดความหงุดหงิด ความคับแค้น แต่ถ้าเป็นคำชื่นชม คำสรรเสริญ ใจก็ฟู เกิดความยินดีขึ้นมา
เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้แบบนี้ ถ้าหากอยากจะให้ใจผ่องใสเบิกบาน เป็นกุศล เราก็น้อมนึกถึงสิ่งที่มันดี สิ่งที่เป็นกุศล หรืออย่างน้อยก็สิ่งที่เป็นกลางๆ อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้ เราจะทำได้ ก็โดยการที่ให้เราสังเกตดูอาการของใจ ดูไปๆจะพบว่าทุกข์เพราะความคิดแท้ๆ ทั้งๆที่อยู่ในที่ๆ สบาย กินอิ่มนอนอุ่น แต่ก็ยังมีความทุกข์ คือความทุกข์ใจ ทั้งที่ปลอดภัย สันติภาพดี แต่ก็ยังมีความกลัว ความวิตก เป็นเพราะอะไร เพราะความคิด คิดไปในทางลบหรือเรื่องราวที่เจ็บปวดในอดีต คิดถึงปัญหาในอนาคต ก็ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ ทั้งๆที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ ชีวิตสะดวกสบาย ไม่มีภัยมาคุกคาม แต่จิตใจมันทุกข์ นี่เพราะความคิดแท้ๆ
แต่ความคิดนี้เราสามารถที่จะดัดแปลงหรือโน้มน้าวให้มันคิดไปในทางใดก็ได้ ถ้าหากเราฝึกจิตเอาไว้ดี ไม่ปล่อยให้ความคิดมาเป็นนายเรา หรือว่าถ้าเรามีสติเราก็หันเหความคิดไปในที่ดีงาม หรือว่าให้มันหยุดเสียเลย โดยให้อยู่กับความรู้สึกตัว อยู่กับปัจจุบัน ใจก็เป็นกุศลได้ มันมีอะไรให้เราเรียนรู้ได้มากมายจากจิตใจของเรา และที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ เวลามีอะไรมากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรือว่ามีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา แม้มันจะเป็นสิ่งที่ดูเหมือนไม่ดี แต่พอมากระทบกับกายก็ดี กระทบกับใจก็ดี ไม่ใช่ว่าเราจะทุกข์ทันที
ให้เราลองสังเกตให้ดีๆ มันจะต้องผ่านขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อต่อหรือเป็นสะพานที่ความทุกข์จะเข้ามาสู่จิตใจของเราได้ คนเรามักจะคิดว่า พอเจอเสียงดังปุ๊บ มันก็หงุดหงิดปั๊บ หรือว่าพอเจอความร้อนปุ๊บ ใจก็เป็นทุกข์ทันที มียุงกัดมีแมลงต่อย ทันทีที่มันสัมผัสกายสัมผัสเนื้อ ใจมันเป็นทุกข์ทันที ไม่ใช่ มันยังไม่ทุกข์ทันที มันจะผ่านขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่งก่อน เช่น การปรุงแต่งหรือการตีค่าการให้ค่าในสิ่งที่มากระทบ ให้เราลองสังเกตดู กลิ่นๆหนึ่ง ถ้าเราให้ค่าว่าเป็นกลิ่นหอม เราก็จะเกิดความยินดี แต่กลิ่นเดียวกันนั้น แต่อีกคนหนึ่งเขาให้ค่าว่าเป็นกลิ่นเหม็น เขามองว่าเป็นกลิ่นเหม็น เขาทุกข์เลย
อย่างเช่น กลิ่นกะปิ กลิ่นปลาร้า คนไทย คนอีสาน พอได้กลิ่นก็เกิดความยินดี เพราะว่ามีการตีค่าให้ค่าว่ามันเป็นกลิ่นหอม แต่ถ้าเป็นฝรั่งทันทีที่กลิ่นนี้มาสัมผัสจมูก เขาจะไม่ได้ทุกข์ทันที จนกว่าเขาจะให้ค่ากับมันก่อน พอบอกว่าเป็นกลิ่นเหม็น เขาก็เกิดความไม่ยินดีขึ้นมาเลย กินอาหารแล้วมีความสุข ไม่ใช่ว่าทันทีที่ลิ้นมาแตะ ทันทีที่รสชาติมาแตะลิ้นเราแล้วเรามีความสุข แต่เป็นเพราะมีการให้ค่า หรือมีการตีค่าเสียก่อนว่านี่คือรสอร่อย เราจึงจะมีความสุข มีความยินดี แต่อีกคนหนึ่งสัมผัสรสชาติเดียวกัน เขารู้สึกว่าไม่อร่อย เพราะว่ามันจืดมาก หรือมันหวานมาก เขาก็ไม่เกิดความยินดี อาจจะไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าไม่อร่อย
เสียงเพลงเมื่อมันกระทบหูเรา ไม่ใช่ว่าเราจะเกิดความสุขและความยินดีถ้าหากว่าเสียงเพลงดังนั้นมาในขณะที่เรากำลังประชุมกันหรือฟังคำบรรยาย ทันทีที่เสียงนั้นมากระทบหูเรา เราก็จะตีค่า ให้ค่าทันทีว่า เป็นเสียงรบกวน พอว่าเป็นเสียงรบกวนแล้วเป็นอย่างไร ก็เกิดความไม่พอใจ แต่เสียงเพลงเสียงเดียวกัน ตอนที่เรากำลังเอกเขนกอยู่ในบ้าน เราจะมีความสุข เราจะมีความยินดีเพราะเราให้ค่ากับมันว่าเป็นเสียงที่กล่อมใจ เป็นเสียงที่ไพเราะ
แต่เสียงด่าเสียงต่อว่าหรือเสียงที่ไม่ค่อยสุภาพที่มากระทบหูเรา ไม่ใช่ว่าพอมากระทบหูเราเราจะโกรธ ก่อนที่เราจะโกรธเราก็ต้องให้ค่าเสียก่อน หรือมองมันว่าเป็นเสียงด่า จึงเกิดความโกรธ แต่ถ้าเกิดว่าเรามองว่าเป็นเสียงหยอกล้อของเพื่อน เราจะโกรธไหม เราไม่โกรธ เพราะฉะนั้นเสียงเดียวกันมากระทบหู ไม่ใช่ว่าเราจะทุกข์ เราจะหงุดหงิด จะเกิดความไม่พอใจทันที มันต้องผ่านการตีความ ผ่านการให้ค่าเสียก่อน ว่าหอมหรือเหม็น หรือว่าอร่อย ไม่อร่อย
แม้กระทั่ง มากหรือน้อย เราทำงานได้เงินมา 100 ถ้าหากว่า เราตีค่าว่า 100 อันนี้คือมาก เพราะเราคาดหวังเพียงแค่ 50 ทันทีที่เห็นเงิน 100 เราดีใจเลย แต่สำหรับบางคน ทำงานเหมือนกัน ได้ 100 เหมือนกัน แต่เขาเกิดความทุกข์ขึ้นมาเกิดความไม่พอใจทันที เพราะว่าเห็นว่า 100 คือน้อย ไม่ได้มาก อันนี้ชี้ให้เห็นว่า ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือว่าจมูกได้กลิ่น มันไม่ใช่ว่าจะเกิดสุขหรือทุกข์ทันที มันต้องผ่านขั้นตอนซึ่งเป็นข้อต่อเลย ที่จะนำความสุขหรือความทุกข์มาสู่ใจของเรา อันนั้นคือการให้ค่า การตีความ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของเรา ถ้าเราไม่สังเกตเราก็ไม่เห็นตรงนี้
เราไปเข้าใจว่า เมื่อมีการกระทบปุ้บเกิดทุกข์ทันที มีเสียงดังกระทบหูก็เกิดความไม่พอใจทันที แต่ที่จริงก่อนที่จะเป็นเสียงดัง มันเป็นแค่เสียงเฉยๆ ดังหรือไม่ดัง ไม่ได้อยู่ที่การตีความของเราตอนที่ได้ยินเสียงนั้นแล้ว เสียงไพเราะหรือเสียงไม่ไพเราะก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าเสียงนั้นไม่ไพเราะอยู่ในตัว แต่ว่าไพเราะหรือไม่ มันอยู่ที่ใจของเราตอนที่ได้ยินเสียงนั้น เสียงรบกวนหรือไม่รบกวนก็เหมือนกัน มันอยู่ที่ใจเมื่อได้รับหรือได้ยินเสียงมากระทบ
อย่างแม่คนหนึ่ง ขับรถพาลูก 2 คนเข้ากรุงเทพฯ ลูกชายคนหนึ่งอายุ 9 ขวบ อีกคนหนึ่งอายุ 13 ขวบ พออยู่ด้วยกันก็หยอกล้อกัน หยอกล้อกันไปหยอกล้อกันมาส่งเสียงดัง แม่ซึ่งกำลังขับรถก็เลยหันมาเอ็ดบอกว่าหยุดเล่นกันได้แล้ว ส่งเสียงดังรบกวนแม่ ลูกก็เชื่อฟัง ก็เงียบ สักพักลูกตัวเล็กก็ยื่นหน้ามาหอมแก้มแม่ แล้วก็พูดว่าคุณแม่ครับ ลองมองว่าเป็นเสียงสวรรค์ เสียงความสุขของลูกดูสิครับ แม่ได้คิดเลย สักพักเด็กก็หยอกล้อ เล่นกันใหม่ ส่งเสียงดังอีก แต่แม่ไม่หงุดหงิดแล้ว เพราะแม่มองว่าเป็นเสียงสวรรค์เสียงความสุขของลูก ความรู้สึกเปลี่ยนไปทั้งที่เสียงเหมือนเดิม เพราะอะไร เพราะการให้ค่าของแม่ต่อเสียงนั้นมันเปลี่ยนไป
ตอนที่ไม่พอใจก็เพราะว่าพอเสียงมากระทบหูก็มองว่าเป็นเสียงรบกวนก็เลยเกิดความไม่พอใจแต่เสียงเดียวกันพอมากระทบหู มองว่าเป็นเสียงสวรรค์เสียงความสุขของลูก ก็เกิดความยินดีขึ้นมา หรือเกิดความรู้สึกพึงพอใจขึ้นมา ทีแรกได้ยินเสียงแล้วทุกข์ แต่ตอนหลังฟังเสียงแล้วมีความสุข เพราะว่าอะไร เพราะว่ามีการให้ค่าที่แตกต่างกัน มีการตีความที่แตกต่างกัน
เราเรียกการตีความ ให้ค่าว่า การปรุงแต่งก็ได้ เป็นการปรุงแต่งของจิตเมื่อมีการกระทบ ตัวนี้ต่างหากซึ่งเป็นตัวชี้ว่าจะสุขหรือทุกข์ และการปรุงเเต่งก็ปรุงแต่งได้หลายแบบ มันไม่ใช่เพียงแค่การให้ค่าว่า หอมหรือเหม็น ไพเราะหรือว่าไม่ไพเราะ มากหรือน้อย
การปรุงที่สำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือ การปรุงตัวกูขึ้นมา อันนี้เป็นขั้นที่สำคัญเลยที่ทำให้ทุกข์หรือไม่ทุกข์ เช่น เวลามีเสียงต่อว่ามากระทบ ทันทีที่เสียงมากระทบหู ยังไม่ทุกข์ แต่พอมีการปรุงตัวกูขึ้นมาว่า มีเสียงกระทบ ว่าตัวกูถูกด่า เขาด่ากูๆ ก็โกรธเลย หรือว่าเวลามีแดดร้อนมากระทบกาย อันนี้มันยังไม่ทุกข์ใจ แต่มันจะทุกข์ใจทันทีเมื่อมีตัวกูขึ้นมาถูกปรุงขึ้นมา แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า กูร้อนๆ กายไม่ใช่ร้อนอย่างเดียว กูร้อนด้วย พอกูร้อน ใจเป็นทุกข์เลย หรืออย่างที่พูดเมื่อวาน ของที่สูญไปของที่คนขโมยไป ทันทีที่รู้ ยังไม่ทุกข์ แต่พอไปปรุงตัวกูของกูขึ้นมา พอปรุงตัวกูขึ้นมาแล้วเกิดความสำคัญยึดมั่นหมายว่าเป็นของกู มันเกิดความเสียใจ เกิดความคับแค้นขึ้นมาเลย
เวลามีความปวดที่หลัง ปวดที่หัว อันนั้นยังไม่เท่าไร ไม่ทำให้ทุกข์ใจทันที ต่อเมื่อมีการปรุงตัวกูขึ้นมาว่า กูปวด กูเจ็บ พอปรุงขึ้นมาอย่างนี้ ใจเป็นทุกข์ดลย มันไม่ใช่ว่าพอมีอะไรมากระทบกับกาย เกิดความปวดทางกายแล้ว ใจจะเป็นทุกข์ทันที มันไม่ใช่ มันต้องมีการปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ทุกข์ ใจจึงจะทุกข์ตามไปด้วย ถ้าเราสังเกตใจของเรา มันจะเป็นอย่างนั้น การที่มีอะไรมากระทบแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่ว่าความทุกข์จะไม่ได้เกิดขึ้นกับใจเราทันที จนกว่าจะมีการปรุงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการปรุงหรือการตีค่าว่า ดีไม่ดี มากหรือน้อย แต่รวมถึงการปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้ปวด เป็นผู้สูญเสีย
ถามว่าทำไมปรุงตัวกูขึ้นมาได้ เป็นเพราะความหลง ความไม่มีสตินี้แหล่ะ มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆแล้วจะปรุง ตัวกูขึ้นมาได้ทันที ตราบใดที่หากเรายังมีสติ มีความรู้สึกตัว มันก็ไม่ปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ทุกข์ แต่เป็นเพราะเราไม่มีสติ เป็นเพราะเราไม่รู้สึกตัว มันก็ปรุงตัวนี้ขึ้นมา เราก็เลยเกิดความทุกข์ตามมา ถ้าเราศึกษาปฏิจจสมุปบาทดู เราจะพบเลยว่า พอมันเกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนาขึ้นมา แม้จะเป็นทุกขเวทนา มันไม่ใช่จะเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที มันต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนเลย ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ แล้วจึงจะเกิดทุกข์โทมนัส กว่าจะเกิดทุกข์โทมนัสหรือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ มันไม่ใช่ว่าจะเกิดทันทีที่มีผัสสะ มันต้องมีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติขึ้นมา พวกนี้เกิดจากการปรุงของใจทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อไม่มีสติตั้งแต่ตอนเกิดผัสสะ ไม่มีสติตอนเกิดเวทนา แต่ถ้ามีสติตอนเกิดผัสสะ ตอนเกิดเวทนา หรือมีสติเมื่อเกิดการกระทบขึ้นมา มันจะไม่มีการปรุงตัวกูขึ้นมาได้แก่ภพ ชาติ
หรือว่าไม่มีความยึดติดตั้งแต่ขั้นอุปาทาน ต้องมีการปรุง ต้องมีการยึดติดก่อน มันจึงจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา โดยเฉพาะความทุกข์ใจ อันนี้ชัดเจนมากเวลาปวด ทีแรกมันปวดกายก่อน แต่ถ้าใจไม่เข้าไปยึดเอาความปวดนั้นมาเป็นของกู มันก็ไม่ทุกข์เท่าไหร่ กายปวดไปแต่ใจไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์เพราะไม่ตัวกูเป็นผู้ทุกข์ ไม่มีตัวกูเป็นผู้ปวด คือไม่มีการยึดว่า ความปวดเป็นกูเป็นของกู ลองสังเกตดูว่าเวลาเราปวดเวลาเราเมื่อยหรือเวลาเราเจ็บ ทั้งที่เราไม่ชอบความปวดความเมื่อยความเจ็บ แต่ใจกลับยิ่งไปจดจ่อ ยิ่งไปยึดติด และตอนที่ไปยึดติดนั้นแหละมันก็ปรุงตัวกูขึ้นมาว่า เป็นกูผู้ปวด กูผู้เจ็บ ตรงนี้แหละที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ว่าพอเกิดความปวดแล้ว ใจจะเป็นทุกข์ทันที ไม่ใช่ มันต้องมีขั้นตอนตรงกลาง ระหว่างผัสสะกับความทุกข์ ตรงนี้แหล่ะคือการปรุงการยึด
คุณยายคนหนึ่ง เกิดหกล้ม ปรากฏว่า กระดูกหัก กระดูกแขนหักทิ่มออกมาข้างนอกเลย แต่คุณยายก็ไม่โอดครวญ สามารถที่จะเก็บความรู้สึกหรือว่าอยู่กับความนิ่งสงบ จนกระทั่งผ่าตัดเสร็จ ลูกสะใภ้ถามว่าคุณยายทำอย่างไรไม่ปวดหรือ อาการขนาดนี คุณยายก็บอกว่า มันก็เป็นสักแต่ว่าเวทนา เราก็อย่าไปยุ่งกับมัน การที่กระดูกหัก มันก็เกิดทุกขเวทนา แต่ว่ามันยังเป็นแค่ความทุกข์ทางกาย ยังไม่เป็นความทุกข์ทางใจ จนกว่าใจจะเข้าไปยึด คุณยายก็รู้ ว่าถ้าไปยุ่งอะไรกับเวทนา แม้จะมีความพยายามผลักไสมัน แต่ว่ายิ่งผลักไสก็จะยิ่งยึดติด ก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ แต่ถ้าใจไม่ไปยุ่งอะไรกับมัน ไม่ไปยึดมัน หรือไม่ไปปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นผู้ปวดผู้เจ็บ ใจก็ไม่เป็นทุกข์ กายทุกข์ก็ทุกข์ไปใจไม่เป็นทุกข์ อันนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา หรือเมื่อเกิดการกระทบขึ้นมา มันไม่ใช่ว่ากระทบปุ๊บ ใจเป็นทุกข์ปั้บ เปล่าเลย มันต้องผ่านขั้นตอนของการปรุงแต่ง ของการยึดติด หรือการปรุงตัวกูขึ้นมา
ซึ่งตรงนี้เกิดขึ้นตอนที่ใจเราไม่มีสติ ใจเราไม่มีความรู้สึกตัวหรือว่าไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าหากว่าเรารู้ตรงนี้เราก็พยายามทำความรู้สึกตัว มีสติ มันก็จะยุติการปรุงแต่งได้ ความทุกข์ก็ไม่กระเทือนมาถึงใจ มันก็กระทบแต่กาย แต่ไม่ต่อเนื่องมาถึงใจ
พูดง่ายๆก็คือว่า เราชักสะพาน หรือว่าทำให้ข้อต่อตรงกลางมันหายไป เมื่อข้อต่อหายไปหรือสะพานหายไป ความทุกข์มันก็ไม่สามารถที่จะข้ามจากกายมาสู่ใจได้ เวลามีการกระทบเกิดขึ้น การกระทบนั้นก็ไม่เกิดเป็นความทุกข์ที่ส่งสะเทือนมาถึงใจ เพราะว่าข้อต่อหรือสะพานมันขาดหายไป อันนี้คือสิ่งที่ให้เราลองสังเกตดู และเราก็จะพบว่าความทุกข์จริงๆไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรมากระทบกับเราแต่อยู่ที่ว่าเรามีการปรุงขึ้นมาเมื่อเกิดการกระทบหรือเปล่า เหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจ คือการปรุง และการปรุงเพราะความไม่มีสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เพราะฉะนั้น เวลามีการกระทบขึ้นมา หรือมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่น่ายินดี ถ้าเกิดว่าเราตั้งสติ มีความรู้สึกตัว รับรู้ รู้ทันอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ปรุง หรือไม่ให้ค่ากับมัน หรือว่าแค่รู้เฉยๆ ไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม มันก็ช่วยลดความทุกข์ไปได้เย่อะ มันช่วยจำกัดขอบเขตของความทุกข์ ไม่ให้ความสูญเสียข้าวของสิ่งของมากลายเป็นความสูญเสียทางจิตใจ หรือไม่ให้ความเจ็บปวดทางกายมาขยายกลายมาเป็นความเจ็บปวดทางใจ อันนี้เป็นความรู้ที่สำคัญที่เราสามารถที่จะเรียนได้จากใจของเราได้ ถ้าเราหมั่นสังเกต และมันจะเป็นความรู้ที่มีประโยชน์มาก
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 28 พฤษภาคม 2564