แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อ 2 วันก่อน มีข่าวเล็กๆอยู่ข่าวหนึ่งที่แพร่กระจายไปทั่วทั่วโลก มีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเยาวชนทั่วโลกอายุ 15 ปี หัวข้อที่ศึกษาคือว่า เยาวชนทั่วโลกมีความสามารถในการรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ข่าวลือ ข่าวลวงที่เรียกว่าเฟคนิวส์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเดี๋ยวนี้ เด็ก ที่จริงรวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย ใช้อินเทอร์เน็ต รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหลายแหล่ง ทั้งเว็บไซต์ Social Media สารพัด แล้วก็มีข่าวลือข่าวลวงข่าวเท็จมากมาย ก็อยากจะรู้ว่าเยาวชนทั่วโลกมีความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นเท็จได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็เยาวชนไทยก็อยู่ในการศึกษาของเขาด้วย
ปรากฏว่าเด็กไทยติดอันดับรั้งท้ายในเรื่องของความสามารถในการรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ เขาศึกษาประมาณ 77 ประเทศ เด็กไทยอยู่ในอันดับที่ 76 ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ประเทศที่รับมือกับข้อมูล ข่าวสารที่เป็นเท็จได้ดีที่สุดคือ อังกฤษ รองลงมาเป็นญี่ปุ่น แล้วก็เยอรมัน ส่วนสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเราติดอันดับ 8 ไม่ใช่ย่อยเลย แต่ประเทศไทยติดอันดับรั้งท้ายเรียกว่าโหล่สุดถ้าไม่นับอินโดนีเซีย
เขามีวิธีการศึกษา เช่น สอบถามเด็กทั่วโลกรวมทั้งเด็กไทยว่า มีความสามารถในการตัดสินว่า ข้อมูลใดน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อันนี้ข้อที่ 1 ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือไหม ข้อมูลที่ได้ยินได้ฟังมาหรือได้อ่านมา และข้อ 2 ความสามารถในการแยกแยะระหว่างความเห็นกับข้อเท็จจริง ซึ่งความเห็นกับข้อเท็จจริงมันต่างกัน เด็กสามารถแยกแยะได้ไหม และข้อ 3 เด็กสามารถบอกได้ไหมว่า อีเมลหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นจดหมายแบบสแปม สแปมคือส่งกราดไปทั่ว ส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลที่เท็จหรือลวง นั้น สามารถจะระบุได้ไหมว่า อีเมลอันนั้นเป็นอีเมลที่เป็นสแปม ซึ่งหมายความว่าเป็นจดหมายที่มีความน่าเชื่อถือน้อย ปรากฏว่าเด็กไทยได้คะแนนต่ำทั้ง 3 หัวข้อนี้
ที่จริงเขาศึกษาประเด็นอื่นด้วย เช่น ถามว่าเด็กมีความสามารถในการหาข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตได้มากน้อยแค่ไหน รู้จักใช้ search engine หรือว่าโปรแกรมในการหาข้อมูลได้เก่งแค่ไหน ได้รวดเร็วแค่ไหน อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง
แต่ประเด็นที่สำคัญ เด็กไทยได้คะแนนต่ำ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีความสามารถต่ำในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จที่เขาเรียกว่า เฟคนิวส์ อันนี้ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น รายงานชิ้นนี้เขาบอกว่า เป็นเพราะว่า มีการสอนเรื่องนี้น้อยในห้องเรียน ห้องเรียนเราสอนแต่เรื่องวิชาการ หรือวิชาชีพที่เอาไปใช้สอบต่อในมหาวิทยาลัย แต่ความสามารถในการรับมือข้อมูลที่เป็นเท็จนั้นเราไม่ค่อยได้สอนเท่าไร อาตมาว่ามันไม่ใช่แค่สอบในโรงเรียนน้อยเกี่ยวกับทักษะเรื่องนี้ พ่อแม่เองก็ไม่ค่อยสอนลูกเท่าไหร่ หรือว่าไม่ค่อยมีเวลาแนะนำลูกว่าจะรับมือข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือแยกแยะระหว่างข้อมูลจริงกับข้อมูลที่เป็นความเห็นได้อย่างไร พ่อแม่ก็ไม่ได้สอน พ่อแม่ก็ไม่ได้แนะนำด้วย
และที่จริง มันไม่ได้เป็นที่พ่อแม่อย่างเดียว ไม่ได้เป็นที่โรงเรียนอย่างเดียว แต่เป็นทั้งสังคมเลย สังคมที่ไหนๆคนก็เชื่อง่าย เด็กที่เติบโตในสังคมแบบนี้ พ่อแม่ก็เชื่อง่าย ไม่มีวิจารณญาณ คนทั่วไปในสังคมก็เชื่อง่าย เห็นอะไรทาง LINE ได้อ่านอะไรทาง Facebook ก็เชื่อ แล้วก็แชร์กัน เชื่อและแชร์ยังไม่พอ ยังมีความโกรธ มีความเกลียด หรือมีพฤติกรรมต่างๆที่สร้างปัญหาตามมาก็ไม่ใช่น้อย เช่น เขียนด่าหรือว่ารุมประณามต่างๆนานา อันนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา เดี๋ยวนี้ความเกลียดชัง หรือความโกรธแค้นในสังคมมากส่วนหนึ่งก็อิทธิพลจากข้อมูลที่เป็นลบหรือข่าวเท็จเฟคนิวส์นั้นแหล่ะ
ในส่วนที่ว่าเยาวชนไทย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามีการสอนเรื่องนี้น้อยในโรงเรียน หรือแม้แต่ในบ้าน แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่คือ เราไม่ค่อยได้สอนให้เด็กรู้จักคิดเท่าไหร่ วิชาที่สอนในโรงเรียนก็สอนให้ท่องจำ เด็กต้องตอบให้ตรงใจครู หรือว่าตอบให้ถูกใจครู แม้แต่วาดรูปก็ต้องวาดรูปแบบของครู ครูสอนอย่างไรก็ต้องวาดไปตามนั้น ถ้าสอนแบบนี้เด็กจะรู้จักคิดได้อย่างไร จะรู้จักใช้วิจารณญาณอย่างไร ครูสอนอะไรมา ถ้าเด็กถาม แล้วถ้าครูตอบไม่ได้ ครูก็โกรธเด็ก เด็กก็เลยไม่กล้าถาม ไม่กล้ามีความเห็น ไม่กล้ามีวิจารณญาณ เพราะฉะนั้น พอถึงเวลาได้ฟังข้อมูลข่าวสารอะไร ก็เลยเชื่อไปหมด แม้กระทั่งความเห็นกับข้อเท็จจริงก็แยกแยะไม่ออกว่ามันต่างกันอย่างไร ได้ยินได้ฟังความเห็นอะไรก็เชื่อ เหมือนกับว่ามันเป็นความจริงแล้วทั้งๆที่ มันเป็นแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความจริง
อันนี้เป็นสภาพของเด็กไทยที่น่าเป็นห่วง ทั้งๆที่เราอยู่ในสังคมชาวพุทธ ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนใจหนักแน่นอย่างในกาลามสูตรว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะได้ยิน หรืออย่าเชื่อเพียงเพราะถือสืบๆกันมา หรืออย่าเชื่อเพียงเพราะได้ฟังตามกันมา หรืออย่าเชื่อเพียงเพราะว่าผู้รู้พูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่า เราซึ่งเป็นชาวพุทธกลับเชื่อง่ายเหลือเกิน ใครพูดอะไรมาก็เชื่อ ได้เห็นได้ยินอะไรมาก็เชื่อ ไม่รู้จักแยกแยะ ไม่รู้จักกลั่นกรองไม่รู้จักไตร่ตรอง อันนี้เรียกว่าไม่สนใจคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ มีประโยชน์มากเลยทีเดียว อันนี้จะว่าไปไม่ใช่เป็นกับเด็กไทยอย่างเดียว ผู้ใหญ่ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน พอผู้ใหญ่เป็น เด็กก็เลยเป็นด้วย เพราะฉะนั้นจะไปโทษแต่เด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันแก้ไขทั้งพ่อแม่และ
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วัดป่าสุคะโต วันที่ 28 พฤษภาคม 2564