แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรามาปฏิบัติธรรมกันทำไม เชื่อว่าคำถามนี้คงเกิดขึ้นกับเรา ถ้าไม่ใช่เพราะคนอื่นถามเรา เราก็อาจจะถามตัวเองว่าปฏิบัติธรรมไปทำไม ที่จริงคำถามนี้ มันไม่ต่างจากถามว่าหายใจไปทำไม หายใจไปทำไม คือมันเป็นคำถามที่จะว่าไปก็ไม่ต้องการคำตอบเลยก็ได้ แต่ถ้าจะตอบว่าเราหายใจไปทำไม ก็อาจจะตอบว่า เพื่อที่จะได้มีชีวิตให้อยู่รอดไปได้ แต่ตอบแค่นั้นก็คงจะไม่พอ เพราะว่าหลายคนถ้าหากว่ามีชีวิตอยู่รอด แต่ว่ามันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ไม่อยากมีชีวิต ไม่อยากหายใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเราหายใจทำไม เราก็คงจะไม่ใช่ตอบเพียงแค่ว่าเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น แต่ว่าเพื่อให้อยู่แล้วมีความสุขด้วย
แต่ว่าเพียงแค่มีลมหายใจมันก็ไม่ได้แปลว่า จะมีความสุขไปได้ เพราะว่าอย่างที่เราประสบพบกับตัวเอง ว่าหายใจมา มีชีวิตมา ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบปี หรือนานกว่านั้น มันก็เจอความทุกข์มารบกวนรังควานจิตใจอยู่ไม่น้อย แล้วเราปฏิบัติธรรม ก็คงเหตุผลเดียวกันนั่นแหละ ก็คือว่าเพื่อที่เราจะได้มีความสุข ไม่ใช่แค่มีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น แต่ก็ต้องมีคุณค่า มีความหมายด้วย ถ้าหากว่าลมหายใจ เพียงแค่มีลมหายใจแล้วมันยังไม่มีความสุข ก็ต้องมาปฏิบัติธรรมเสริมเพิ่มเข้าไป บางคนก็จะสงสัยว่า หรือค้านว่า เราหายใจได้ทุกที่ แต่ปฏิบัติธรรม มันปฏิบัติได้ทุกที่หรือ คำตอบก็คือว่าใช่ ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับลมหายใจเหมือนกัน เราทำได้ทุกที่ ไม่ใช่ว่าต้องมาทำที่วัด ไม่ใช่ว่าต้องมาเข้าคอร์ส หลายๆ คน เมื่อพูดว่าปฏิบัติธรรม ก็นึกถึงการเข้าคอร์ส การมาวัด อันนี้เพราะไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม หมายถึงการมานั่งหลับตาบ้าง มายกมือบ้าง อันนั้นก็ถูกอยู่ แต่ยังไม่ถูกหมด
ปฏิบัติธรรมคือ การที่ทำให้มีสิ่งดี ๆเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา สิ่งดีๆ นั้นคือ อริยมรรคมีองค์แปด ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ไปจนถึงสัมมาสมาธิ การปฏิบัติธรรม ถ้าจะพูดให้มันตรงตามความหมาย และครอบคลุมจริงๆ ก็คือการเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ให้เพิ่มพูนงอกงามขึ้น คือการทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง การทำให้มีความดำริที่ถูกต้อง แต่ว่าส่วนใหญ่ต้องเริ่มต้นจากการทำสิ่งที่ง่ายก่อน คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ พูดง่ายๆ ก็คือศีลห้านั่นแหละ ก็เป็นเรื่องของกาย วาจา แล้วตามด้วย สัมมาอาชีวะ อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมที่ง่ายที่สุด ถือว่าเริ่มต้นได้เลย แล้วจึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเห็นให้ถูกต้อง นำไปสู่การทำให้ความคิดความดำริของเราไม่ถูกครอบงำด้วยตัณหา คือความอยาก ไม่ถูกครอบงำด้วยความโกรธ ความมุ่งร้าย หรือว่าคิดแต่ในเรื่องของการเบียดเบียน อันนี้ก็เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ แล้วก็ทำให้ละเอียดลงไปด้วยการเจริญเรียกว่าภาวนา การบำเพ็ญทางจิตก็คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรม เราทำได้ทุกที่ทุกเวลา ถึงแม้ว่าไม่ได้มาวัด ไม่ได้เข้าคอร์ส เราคงจะทำกันอยู่แล้ว แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ไปหนักด้านการให้ทาน หรือว่าการรักษาศีล แต่ว่าเรื่องการฝึกฝนจิตใจที่เราใช้คำว่าสมาธิภาวนา หรือภาวนาเฉยๆ ไม่ค่อยได้ทำกันเท่าไหร่ และนี่แหละก็ทำให้จิตใจมีความทุกข์ได้ง่าย
ทำความดีแล้วก็ยังทุกข์อยู่ เพราะว่าถ้าใจเรายังไม่ได้ฝึกฝน ทำดีแต่คนไม่เห็นความดีของเราก็ทุกข์ ทำดีแล้วแต่ก็ยังมีคนตำหนิ มีคนนินทาก็ทุกข์ หรือว่าทำดีแล้วเห็นคนอื่นดีกว่าเราก็ทุกข์ คืออิจฉา รู้สึกว่าเขาดีกว่าเรา เขาเด่นกว่าเรา ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เพื่อนร่วมงานขยันกว่าเรา มาทำงานแต่เช้า เช้ากว่าเรา เลิกงานหลังเรา บางทีเราก็เหล่โดยไม่รู้ตัวว่านั่นแหละก็ทำให้เกิดทุกข์เหมือนกัน เชื่อว่าความทุกข์ทางใจก็พาให้เรามาปฏิบัติธรรมกันที่นี่
การปฏิบัติธรรมที่นี่เราก็เน้นเรื่องการเจริญสติ สร้างสัมมาสติให้เกิดมีขึ้นในจิตใจของเรา สตินี่อย่าไปดูถูกดูแคลน สำคัญมาก ถึงแม้ว่าสติจะไม่ทำให้เหาะเหินเดินอากาศได้ หรือทำให้ทายใจคนได้ ทำให้เห็นสีเห็นแสง เกิดความสามารถทางจิต หลายคนอยากจะได้แบบนั้น หรือว่าอยากจะทำให้มีคนรัก มีมหาเสน่ห์ให้คนหลงใหล หลายคนอยากได้แบบนั้น แต่พอพูดเรื่องสตินี่ก็รู้สึกเฉยๆ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้พิเศษพิสดารอะไร แต่ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมมีอุปการะมาก มีสองประการก็คือสติ และสัมปชัญญะ เคยมีคนถามหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ว่าหลวงปู่ช่วยอธิบายธรรมสั้นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติที่จะกำจัด โลภะ โทสะ โมหะ ได้ เอาแบบที่มันกำจัดได้รวดเร็วทันใจ คนสมัยนี้ชอบอะไรที่เร็วๆ ธรรมะสั้นๆ ที่ช่วยกำจัด โลภะ โทสะ โมหะ ออกไปจากใจได้ หลวงปู่ท่านก็พูดคำเดียว เสียงดังฟังชัด สติ สติ เป็นทางลัด เป็นทางสายตรงที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ แต่ต้องมีสัมมาสติ
สัมมาสติ สติธรรมดาที่เราใช้ในชีวิตประจำวันคือความระลึกได้ อันนั้น มันยังไม่ใช่สัมมาสติ มันเป็นการระลึกได้ในเรื่องนอกตัว จำได้ว่าวางกระเป๋าไว้ที่ไหน จอดรถไว้ที่ไหน หรือว่ากลับบ้านนี่กลับยังไง ทางไหนดี วางรองเท้าไว้ที่ไหน มันเป็นเรื่องสติธรรมดา สติที่ใช้ในการดำเนินชีวิตซึ่งมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่สัมมาสติ สัมมาสติเป็นเรื่องของการที่เรารู้กาย รู้ใจ ระลึกได้ในเรื่องกายเรื่องใจ คือระลึกได้เรื่องตัวเองนั่นแหละ สัมมาสติอาศัยหลัก สติปัฏฐาน 4 ก็คือกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา
พื้นฐานข้อแรกคือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ทำความรู้สึกตัว เวลาก้าวไปข้างหน้า เวลาถอยหลัง เวลามอง เวลาเหลียว เวลาคู้ขา เหยียดขา ครองสังฆาฏิ สะพายบาตร ห่มจีวร เวลากิน เวลาดื่ม เวลาเคี้ยว เวลาลิ้ม ให้ทำความรู้สึกตัว อุจจาระ ปัสสาวะก็เช่นกัน รวมไปถึงว่าเวลาเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง จะเห็นได้ว่า มันก็คือทำความรู้สึกตัวในทุกการกระทำนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อเราใช้กายกระทำอะไรก็ตาม ก็ให้รู้ตัว ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะเวลาเราสร้างจังหวะ หรือเราเดินจงกรมเท่านั้น แต่ว่าทุกอย่างที่เราทำ หลังจากนั้นก็ให้มารู้การกระทำทางจิต ก็คือเวลาคิด หรืออาการที่เกิดขึ้นกับใจเช่นอารมณ์ รวมทั้งสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับกาย เช่นเวทนาที่เป็นนามธรรม เช่นความปวด ความเมื่อย ความเจ็บ อันนี้ มันรับรู้ที่ไหน ก็รับรู้ที่ใจ ก็ให้เรารู้ทันเวลาใจคิดนึก ซึ่งสรุปง่ายๆ ว่ารู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก ฉะนั้นจริงๆ แล้วทั้งสองอย่าง เราสามารถจะทำได้ตลอดเวลา เพราะว่าชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตายมันก็หนีไม่พ้นสองอย่างนี่แหละคือว่ากายเคลื่อนไหว ใจคิดนึก
ในเรื่องกายเคลื่อนไหว ใจคิดนึก ให้มีสติรู้ทัน มันก็คือการที่เรามีเอาสติเข้ามาดูของจริง ของจริงคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ส่วนสีแสง นิมิตต่างๆ นั้นไม่ใช่ของจริงอย่าไปสนใจ การเจริญสติคือการที่ฝึกให้เรามีตาในที่จะเห็นของจริง อะไรที่ไม่จริงก็ไม่สนใจ และถ้าดูของจริงคือกายกับใจไปเรื่อยๆ มันจะเห็นความจริง ความจริงของกายและใจว่า กาย มันก็สักแต่ว่ากาย มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ใจก็เหมือนกัน มันสักแต่ว่าใจ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อาการที่เกิดขึ้นกับกาย เช่น เวทนา เกิดขึ้นแล้ว มันก็หายไป อาการที่เกิดขึ้นกับใจ มันไม่เที่ยง ไม่ว่าจะยินดียินร้าย ไม่ว่าใจฟู ใจแฟบ เมื่อเราดูไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง แล้วมันก็ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เราเรียกว่าทุกขัง ไม่เที่ยงเราเรียกว่าอนิจจัง แล้วก็มันไม่ใช่ตัวเราของเรา อันนี้เขาเรียกว่าอนัตตา อันนี้มันทำให้การเห็นของจริง กลายเป็นเห็นความจริงไป ทีแรกเราดูกาย เห็นกาย ดูจิต เห็นจิต ดูเวทนา เห็นเวทนา อันนี้เรียกว่าดูของจริง ไม่ใช่ดูอะไรที่มันปรุงแต่งขึ้นมา
พอเห็นความจริงนั่นแหละ ก็คือว่าเริ่มเห็นธรรมแล้ว การเห็นกายเวทนาจิตนี่เขาเรียกว่าพูดง่ายๆ ว่าเห็นของจริง ของกาย ของสิ่งที่เราสมมติว่าเป็นเรา แล้วเมื่อเห็นไปเรื่อยๆ ความจริงมันก็แสดงขึ้นมาก็เห็นความจริง อันนี้ก็เรียกว่าเห็นธรรม เพราะว่าถ้าเราดูรายละเอียดแล้วเห็นธรรมในธรรมนี่คือเห็นอะไร ก็คือความเข้าใจในเรื่องนิวรณ์ นิวรณ์นี้ก็คือสิ่งที่มารบกวนจิตใจเวลาปฏิบัตินั่นแหละ เช่นความง่วงหงาว หาวนอน ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่าน รวมทั้งความยึดในกาม หลงใหล คิดถึง อาลัย รวมทั้งความข้องขัดใจที่เรียกว่าพยาบาท นิวรณ์ทั้งห้า มันก็คือสิ่งที่รบกวนจิตใจ แต่ถ้าเราดูมันไปเรื่อยๆ มันก็จะเผยความจริงให้เราเห็นว่า มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาลอยๆ มันมีเหตุมีปัจจัย มีเหตุก็เกิด พอเหตุดับมันก็ดับ อันนี้รวมไปถึงความจริงเกี่ยวกับขันธ์ ความจริงเกี่ยวกับอายตนะ ซึ่งอันนี้ก็เป็นรายละเอียดสำหรับนักปฏิบัติ
ใหม่ๆ นี่ก็อย่าเพิ่งไปสนใจว่าจะเห็นความจริงว่าอะไร ความจริงมันจะเฉลยยังไง ก็ให้ดูกายดูใจไปก่อน และการปฏิบัติ เรามาฝึกเพื่อให้เรารู้ทัน ว่าอาการของกาย เวลาทำอะไรใจก็รู้สึก ใจก็รับรู้ เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา เวลาใจคิดนึกไปก็รู้ทัน และถ้าเราเข้าใจ จับหลักได้ เราก็จะรู้ว่ามันทำได้ทุกที่ ไม่ใช่ว่าจะต้องมาทำเวลาเข้าคอร์ส เวลาเรากลับไปบ้าน ทำอะไร ก็ให้ใจรับรู้ เมื่อกายมันเขยื้อนขยับ ก็ให้รู้สึกตัว อยู่ที่บ้านตื่นเช้าขึ้นมาล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เก็บที่นอน ลุกขึ้นมาจากที่นอน อันนั้น มันก็คือการกระทำ มันก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำด้วยความรู้สึกตัว รวมไปถึงเวลาเราเดินไปที่ทำงาน ขึ้นลิฟต์ หรือว่าลงบันได ล้างจาน กินข้าว อันนี้มันธรรมทั้งนั้น มันไม่ใช่ทำด้วยอะไร ทำด้วยกาย แล้วก็มีสติรู้ รู้สึกตัว
ในทำนองเดียวกัน เวลาใจคิดนึกอะไรก็ให้รู้ทัน แต่ส่วนใหญ่ ใจเรามันคิดนึกได้ หรือว่ามีอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีผัสสะ เช่นมีตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือว่าลิ้นได้รับรส ถ้าเราดูอาการของใจ ใจมันจะขึ้นจะลง ฟูแฟบ ยินดียินร้าย มันล้วนแล้วแต่เกิดเพราะเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา บางครั้งผัสสะมันก็ ทุกขณะผัสสะมันก็กระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งใจด้วย หูกำลังได้ยินเสียง หรือขากำลังรู้สึกถึงความปวด ความเมื่อย อันนี้คือผัสสะ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ ถ้าจะว่าไปแล้ว ไม่ว่าเราทำอะไร หรือเจออะไรมันก็ปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะถ้ามันเป็นการเจริญสติ ให้จับหลักไว้เลย เจออะไร หากว่าเราทำแล้วเรามีความรู้สึกตัว และเมื่อเจออะไรใจมันกระเพื่อมขึ้นมา เราก็รู้ทัน อันนั้นแหละเราเรียกว่าการปฏิบัติแล้ว อย่าคิดว่ามันต้องมาเดินจงกรม นั่งหลับตา หรือว่ายกมือเคลื่อนไหวเท่านั้น เราทำอะไรที่บ้าน เราทำอะไรที่ทำงาน หรือทำอะไรที่กุฏิ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ อย่าตีกรอบการปฏิบัติธรรมให้มันแคบ หรือว่าอย่าไปจำกัดว่าการภาวนามันต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น
มีเรื่องเล่าสมัยที่หลวงพ่อชา ท่านยังเป็นพระหนุ่ม บวชได้ 8-9 พรรษา ท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์ เพราะท่านมุ่งพ้นทุกข์ ตอนพรรษาที่เก้าท่านก็ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี ที่นครพนม หลวงปู่กินรี เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นแรกๆ หลวงพ่อชาตอนนั้นเป็นพระหนุ่ม อายุยังไม่ถึงสามสิบ ท่านมีไฟแรงมาก ภาวนาทั้งวันทั้งคืนเลย โดยเฉพาะการเดินจงกรม ไม่นั่งก็เดิน เวลาเดินนี่ก็เดิน เรียกว่าไม่ได้หลับได้นอน จนกระทั่งทางจงกรมนี่เป็นรอย เป็นแถว เป็นแนวเลย แต่บางครั้งท่านก็ขัดใจ ไม่เข้าใจว่าทำไมหลวงปู่กินรี วันๆไม่ค่อยเดินเท่าไหร่เลย เดินประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็ทำนู่นทำนี่ ท่านก็สงสัยขึ้นมาว่าขนาดเราเดินทั้งวัน ปฏิบัติทั้งวันยังไม่ได้อะไรเลย ยังไม่เห็นอะไรเลย แล้วหลวงปู่นี่จะเห็นอะไร จะรู้อะไร
แต่หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากหลวงปู่กินรี ก็ได้เห็นว่าจริงๆ หลวงปู่นี่ ท่านมีปัญญามาก ท่านรู้มากกว่าเราเยอะ หลวงพ่อชาท่านคิดในใจว่าท่านรู้มากกว่าเราเยอะ ไปหลงดูแคลนว่าท่านไม่รู้อะไร ที่จริงท่านมีปัญญาลุ่มลึกมาก แต่แม้กระนั้นหลวงพ่อชาก็ยังมีความเข้าใจว่าจะภาวนาให้เกิดมรรคเกิดผลนี่มันต้องเดินจงกรม มันต้องนั่ง ท่านก็ทำไป ทำไป แต่ว่ามีอยู่วันหนึ่งจีวรท่านขาดรุ่ยแล้ว ท่านจำเป็นที่จะต้องมาปะ ชุน เย็บจีวรนั้น ใจท่านปะ ชุน นี่ก็ทำด้วยความรีบ อยากจะทำให้มันเสร็จๆ เพราะจะได้รีบไปภาวนา รีบไปเดิน หลวงปู่กินรีเห็นก็ทักขึ้นมาว่า นี่ท่านจะรีบร้อนปะ ชุน เย็บจีวรนั้นไปทำไม หลวงพ่อชาตอนนั้นท่านก็ตอบว่าอยากจะทำให้เสร็จๆ ไวๆ ครับ เสร็จแล้วจะไปทำอะไร ท่านว่าเสร็จแล้วจะไปทำนู่น ทำนู่นเสร็จจะทำไรต่อ ก็ทำนั่น พูดง่ายๆ ว่าท่านอยากจะทำให้เสร็จๆ จะได้ไปภาวนา
หลวงปู่กินรีท่านก็เลยท้วงขึ้นมาว่า ท่านชา เย็บจีวรผืนนี้มันก็ภาวนาได้ ก็ดูใจของท่านไปสิว่าตอนนี้เป็นยังไง แล้วก็แก้ไขให้มันถูก จะรีบร้อนไปทำไมเสียหายหมด ความอยากมันท่วมหัวแล้วยังไม่รู้ตัวอีก ความอยากอะไร คืออยากภาวนา มันก็ดี ถ้าหากว่ารู้ทัน แต่ถ้าไม่รู้ทันปล่อยให้มันเกาะกุมใจจนกระทั่งทำอะไรรีบๆ ไม่อยู่กับปัจจุบัน มือกำลังเย็บจีวรอยู่ แต่ว่าใจ ไปละ ไปที่ทางเดินจงกรม อันนั้นมันก็ไม่ใช่ภาวนา มันไม่ใช่ว่าดีเสมอไป รีบทำอะไรให้เสร็จๆ ไปเดินจงกรม ถ้ามองในแง่ของ สติปัฏฐาน นี่คือเราสอบตก เพราะว่าใจไม่อยู่กับปัจจุบัน อาจจะได้คะแนนความขยัน แต่ว่ามันไม่ได้ในเรื่องการเจริญสติ ก็ถือว่าสอบตก เพราะว่าไปมองว่าการเย็บจีวรนั้นมันไม่ใช่ภาวนา ที่จริงมันเป็นภาวนาได้ถ้าหากว่าเรามีสติ มีสติรู้ตัวขณะเย็บจีวร ในขณะเดียวกันใจมันลอยใจมันฟุ้ง หรือว่าใจมันเร่งรีบให้เสร็จไวไว ก็ให้รู้ทัน ถ้าไม่รู้ทันก็เรียกว่าไม่รู้ตัว ฉะนั้น ทำอะไร ก็ให้เราเตือนตัวเองเสมอว่า นั่นก็ภาวนาได้
และในทำนองเดียวกันเจออะไร ก็ถือเป็นภาวนาได้ เพราะว่าตามหลักการสติปัฏฐาน คือว่าให้รู้ทัน เวลาใจมันขึ้นมันลง มีทุกข์ มีโทมนัส หรือว่ามีความยินดียินร้าย มีราคะ มีโทสะ หรือไม่มีก็รู้ อันนี้ ใจมีอาการอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับมีผัสสะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง แม้ว่าเสียงนี้จะเป็นเสียงด่า เสียงต่อว่าด่าทอ ถ้ามีสติรู้ทันนี่ก็ถือว่าเราปฏิบัติธรรมแล้ว การปฏิบัติธรรม หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยนิยามสั้นๆ ว่าคือการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีนี่ไม่ได้หมายความว่าทำแล้วนี่เขาจะไม่ด่าเรา คนที่ยังต่อว่าเราก็ยังมีอยู่ และก็ห้ามไม่ได้ แต่ว่าเวลาใจเรามันทุกข์ ใจเรามันโกรธ อันนี้เรียกว่าเกิดความร้ายขึ้นมา ร้ายนี่มันเกิดขึ้นที่ใจ เราก็เปลี่ยนให้มันดี เปลี่ยนให้มันดีได้ยังไงก็อาศัยสติ พอสติรู้ทันความโกรธ ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น มันก็จะกลายเป็นปกติไป
หลวงพ่อคำเขียนท่านเน้นอยู่เสมอว่าเปลี่ยนความโกรธเป็นความไม่โกรธ วิธีหนึ่งที่จะเปลี่ยนได้คือ มีสติรู้ทันความโกรธ มันก็จะกลายเป็นความไม่โกรธขึ้นมา ความเศร้าก็เปลี่ยนเป็นความไม่เศร้า อย่างนี้เรียกว่าเปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี ไม่ใช่ว่าจะทำให้เขาหยุดบ่นหยุดว่า เพราะว่าอันนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เว้นแต่ว่าเราไปทำอะไรที่มันไม่ถูกต้อง เช่นไม่รับผิดชอบต่องานการ หรือว่าไม่มีศีล หรือว่าไปพูดจานินทาเขา อันนี้มันก็ธรรมดาที่เขาจะทำกับเราอย่างนั้น แต่ถ้าเกิดว่าเรามีศีลดี ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการกระทำ สัมมาวาจาเราก็ปฏิบัติ ไม่พูดปด ไม่กล่าวคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เราทำแล้ว สัมมากัมมันตะ เราก็ทำแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กินเหล้าเมายานี่เราก็ทำแล้ว แต่เขาก็ยังว่าร้ายเรา เขายังเบียดเบียนเรา อันนั้นก็ช่วยไม่ได้
แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เปลี่ยนร้ายที่มันเกิดขึ้นในใจกลายเป็นดี เปลี่ยนความโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนความหงุดหงิดให้เป็นความไม่หงุดหงิด ดังนั้นถ้าเราจับหลักการภาวนาได้ก็จะพบว่า ทำอะไรก็ภาวนาได้ ปฏิบัติธรรมได้ เจออะไรก็ปฏิบัติธรรมได้ แม้แต่ว่าสิ่งที่เราเจอนั้น มันจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ยุงกัด มันเกิดผัสสะขึ้นมาใช่ไหม แล้วใจเราเป็นยังไง ถ้าเราเห็นใจที่มันกระเพื่อม ใจที่มีปฏิฆะ มีความไม่พอใจ มีความมุ่งร้าย มีความโกรธ ถ้าเราเห็นมัน ก็เห็นมันด้วยสติ อันนี้ก็ถือว่าเราได้ภาวนา ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว
และการที่ได้เจอแบบนี้มันทำให้ใจเรา สติเราไว ตอนภาวนานี่ก็อย่าไปคิดว่าขอให้ฉันเจอที่สิ่งดีๆ เจอสิ่งดีๆ มันเป็นไปไม่ได้ ว่าเราจะเจอแต่สิ่งดีๆ แล้วมันก็แสดงถึงความอ่อนแอของเรา มันแสดงถึงความไม่รู้ ความโง่ของเราที่คิดว่ามันจะมีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ไม่ได้ตระหนักความจริงที่ว่า สิ่งที่ไม่ดีก็มีเหมือนกัน แล้วก็หนีไม่พ้น ขณะเดียวกัน มันก็แสดงถึงความอ่อนแอของเราว่า เราจะสุขได้ก็ต่อเมื่อใครๆ ทำดีกับเรา เราจะสุขได้ก็ต่อเมื่อดินฟ้าอากาศมันราบรื่น สะดวก เราจะสุขได้ก็ต่อเมื่อรถไม่ติด คนที่คิดแบบนี้ว่าจะสุขได้ก็ต่อเมื่อสิ่งรอบตัวเราดีหมด ราบรื่นหมด นี่ก็แสดงว่าอ่อนแอ เอาตัว เอาจิต เอาความสุขไปผูกติดกับสิ่งภายนอก การปฏิบัติธรรม หรือการภาวนา ทำให้เราเข้มแข็ง คือว่าสิ่งแวดล้อมข้างนอกจะเป็นอย่างไร ใจเราก็สงบ ใจเราก็ปกติมั่นคงได้ ใครเขาจะด่าว่ายังไงก็สงบได้ งานจะไม่สำเร็จ งานไม่ราบรื่น ลูกน้องไม่ทำตามคำสั่งใจก็สงบได้ ไม่ใช่ฉุนเฉียว คำแนะนำสั่งสอน การตักเตือนก็ควรทำไป แต่ใจเราก็เป็นปกติได้ แล้วเราจะปกติได้อย่างไร ใจเราจะสงบได้อย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น ก็เกิดจากการฝึก
ฝึกจากของจริง ไม่ใช่เกิดจากการคิดเอา ของจริงก็คืออะไร ของจริงก็คือสิ่งที่มันไม่ถูกใจเรา ไม่ว่าจะเป็นรูปที่กระทบตา หรือว่าเสียงที่กระทบหู รวมถึงเหตุการณ์ด้วย เหตุการณ์พลัดพราก สูญเสีย พวกนี้เรียกรวมๆ ว่าเจออะไร เราต้องฝึกให้ใจไม่ทุกข์ แล้วเราจะเจออะไรใจไม่ทุกข์ได้ก็เพราะเราถือว่าทุกอย่างที่เราเจอมันเป็นอุปกรณ์ในการฝึก ในการปฏิบัติ ในการภาวนา ถึงแม้ว่าเราจะพลั้งจะเผลอจนกระทั่งเกิดความโกรธขึ้นในใจ เกิดความขัดเคืองใจ เกิดความเศร้า เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปโมโหตัวเอง เรายังมีโอกาสแก้ตัวได้ด้วยการที่รู้ทันอารมณ์นั้น ถึงแม้ว่าเราจะเผลอให้มันเกิดขึ้นในใจ แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้ทันอารมณ์นั้น เห็นซะ ไม่เข้าไปเป็น เห็นอารมณ์นั้นเกิดขึ้นในใจ ไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความเศร้าไม่เป็นผู้เศร้า อันนี้ก็ถือว่าเราได้ปฏิบัติเหมือนกัน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือแม้แต่นอน หากว่ามีอกุศลเกิดขึ้นในใจก็ไม่ไปคล้อยตามมัน รู้จักปลดเปลื้องมันออกไปจากจิตใจ สามารถที่จะกำจัดมันออกไปจากใจได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ทำความเพียร เวลานอนนี่ก็ถือว่าทำความเพียร ก็ได้เหมือนกัน ถือว่าปฏิบัติได้ ตรงกันข้ามถ้าเกิดว่านั่งปฏิบัติในรูปแบบแต่ปล่อยใจลอยฟุ้งซ่าน ทำไปก็หงุดหงิดไป หงุดหงิดเสียงดัง ทำไปก็รำคาญคนที่นั่งอยู่ข้างๆ แล้วก็ไม่รู้ทันอย่างนี้ ไม่เรียกว่าภาวนา ไม่เรียกว่าปฏิบัติ ไม่เรียกว่าทำความเพียร สู้คนที่นอนอยู่แต่ว่าไม่ปล่อยให้อกุศลจิตมันครอบงำใจ
ให้เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรม หรือภาวนานี่มันทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ให้เราเตือนตัวเราอยู่เสมอว่าทำอะไร หรือเจออะไร ก็ให้ปฏิบัติ ให้ภาวนา อันนี้แหละมันจะทำให้การปฏิบัติของเรา มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ถ้าถึงตอนนั้นเราก็จะไม่มาถาม เราก็จะไม่บ่นว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ไม่มีเวลาภาวนา คนที่พูดอย่างนี้กับครูบาอาจารย์ ท่านก็จะตอบว่าแล้วเรามีเวลาหายใจไหม ไม่มีเวลาปฏิบัติแล้วมีเวลาหายใจหรือเปล่า ถ้ามีเวลาหายใจก็มีเวลาภาวนาได้เหมือนกัน เพราะว่าการภาวนานี่มันควรจะทำทุกลมหายใจ สุดท้าย มันก็กลับมาที่พูดตอนต้นว่า ทำไมต้องปฏิบัติธรรม มันก็เป็นคำถามเกี่ยวกับว่าทำไมต้องหายใจ