แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติธรรมสาระของมันก็คือการเปลี่ยน การพลิก การทวนกระแส เปลี่ยนอะไร ก็เปลี่ยนชีวิต พลิกอะไร ก็พลิกมุมมอง ทวนอะไร ก็ทวนกระแส ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วชีวิตเราไม่เปลี่ยน มุมมองเราไม่พลิก หรือว่าเรายังเดินตามกระแสโลกหรือว่ากระแสกิเลสอันนี้ก็ไม่เรียกว่าได้ปฏิบัติธรรม อาจจะปฏิบัติในรูปแบบเช่นเวียนเทียน ทอดผ้าป่า ใส่บาตร แต่ว่าเข้าไม่ถึงสาระของมัน ต้องถามตัวเราเองว่าเราปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เล็ก หรือว่าบางคนก็เข้าวัดตอนหนุ่มสาวหรือว่าเมื่อมีอายุแล้วจะอย่างไรก็แล้วแต่ ถามตัวเองใคร่ครวญตัวเองว่าชีวิตเราเปลี่ยนบ้างไหม มุมมองเราได้พลิกบ้างหรือเปล่า หรือว่าเรายังเดินตามกระแสโลกอยู่
กระแสโลกกระแสกิเลสนี้มันก็อันเดียวกัน ทวนกระแสนี้ทวนกระแสโลกทวนกระแสกิเลสเป็นอย่างไร ก็อย่างเช่นว่าเอาความถูกใจเป็นหลัก ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเราต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก เอาความถูกใจเป็นหลักก็เช่นว่า เห็นของตามห้าง อยากได้ ถูกใจก็ไปคว้ามา บางคนก็คว้าด้วยการขโมย แต่ว่าถึงแม้จะคว้ามาด้วยการซื้อมันก็อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ ไม่ถูกต้องในแง่ที่ว่ามีของเยอะแล้ว ไม่มีที่เก็บแล้ว ถ้าเอาความถูกต้องเป็นหลักมันก็ไม่ซื้อเพราะว่ามันมีเยอะแล้ว แล้วก็ไม่ได้ใช้ เปลืองเงิน แต่ถ้าเอาความถูกใจ เห็นก็คว้ามาเลย มีเงินก็ซื้อ ไม่มีเงินก็ไปกู้มาหรือไม่ก็ใช้เครดิตการ์ดเอาเงินจากอนาคตมาซื้อ ถ้าทำอย่างนี้เรียกว่าเอาถูกใจเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงความถูกต้อง เวลาใครพูดอะไร เขาวิจารณ์ แทนที่จะดูว่าเขาพูดถูกต้องไหม พูดถูกต้องก็ไปแก้ไข ก็เอาว่าถูกใจเราหรือเปล่า ถ้าไม่ถูกใจเราก็ด่ากลับ ทั้ง ๆ ที่ที่เขาพูดมาอาจจะถูกต้องมีประโยชน์
คนที่ปฏิบัติกับไม่ปฏิบัติธรรมมันต้องต่างกันตรงนี้ ก็คือใครว่าอะไรมา ถ้าปฏิบัติธรรมก็จะไม่โกรธง่าย จะไม่ตอบโต้ไป แต่จะกลับมาพิจารณาว่าถูกต้องไหม ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมเขาว่ามาก็ด่ากลับ หรือว่าเวลาเขาพูดนินทาใส่ร้ายคนบางคนที่เป็นคู่แข่งของเรา หรือว่าเป็นคนที่เราอาจจะไม่ชอบ ถ้าเอาความถูกต้องก็จะไม่เห็นดีเห็นงาม กับการพูดจาแบบนั้นเพราะว่าเป็นการใส่ร้าย แต่คนที่ไม่ปฏิบัติธรรมนี่พูดอย่างนั้นได้ยินอย่างนั้นก็ถูกใจ เขาใส่ร้ายคนที่เราไม่ชอบเราก็ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ ถูกใจเรา ถ้าคนที่มีความถูกต้องมีความเป็นธรรมก็จะไม่เห็นด้วย ก็จะทักท้วงว่าพูดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง มันใส่ร้ายเขา หรือว่าใครทำความดีมากกว่าเรา เด่นกว่าเรา ถ้าคนที่คำนึงถึงความถูกต้องก็จะอนุโมทนาหรือมีมุทิตาจิต เขาได้ดีก็มุทิตาจิตให้เขา แต่ถ้าเอาความถูกใจเอากิเลสเป็นหลัก ก็จะอิจฉาหรือไม่ พอใจเขาเพราะว่าเขาเด่นกว่าเรา ดีเกินหน้าเกินตาเรา นี่มันต่างกันระหว่างปฏิบัติธรรมกับไม่ปฏิบัติธรรม หรือว่าปฏิบัติธรรมแต่ในรูปแบบ แต่ไม่เข้าถึงสาระ คนที่ปฏิบัติธรรมก็จะเอาความถูกต้องเป็นหลัก คนที่เดินกระแสธรรมก็จะไม่เอาความถูกใจ แต่ถ้าเดินตามกระแสโลกก็จะเอาความถูกใจเป็นหลัก
อย่างที่พูดมาสักครู่มันก็เป็นเรื่องของพฤติกรรมที่แสดงออกมา เป็นเรื่องของความดีความชั่ว ถ้าถูกใจก็มักจะทำในสิ่งที่ไม่ดี ถ้าคำนึงถึงความถูกต้องมันก็จะทำแต่สิ่งที่ดี แต่ว่าที่จริงแล้วสาระของธรรมมันมีอานิสงส์มากไปกว่านั้น มันมีผลในการเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจของเรา เปลี่ยนมุมมอง คือถ้าไม่ปฏิบัติธรรม กระแสโลกก็คือว่าฝังใจอยู่กับอดีตหรือไม่ก็ใจลอยไปอนาคต นี่กระแสโลกเป็นอย่างนั้น คนส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้น หรือพวกเราเองก่อนมาปฏิบัติธรรมก็มักจะนึกถึงเรื่องอดีตหรือไม่ใจก็ลอยไปอนาคต อาจจะเป็นการฝันหวานถึงภาพอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือนึกถึงความทุกข์ภาระที่กำลังจะตามมาก็เกิดความวิตกกังวล คนเราทุกข์เพราะเหตุนี้ ใจลอยไปอดีตหรือว่าไปจมอยู่กับอนาคต แต่ถ้าเดินกระแสธรรมมันจะสวนทางกัน จะมาใส่ใจอยู่กับปัจจุบัน นักปฏิบัติธรรมเราจะให้ความสำคัญกับการอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันก็คือว่ารับรู้สิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ในแต่ละขณะ เช่น กำลังอยู่ที่ศาลานี้ กำลังฟัง ใจเราก็รับรู้อยู่กับการฟัง อดีตมันจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ อนาคตจะเป็นอย่างไรก็วางไว้ก่อน แต่ไม่ได้แปลว่าไม่สนใจอดีตไม่สนใจอนาคต อาจจะนึกถึงอนาคตแต่เพื่อมากระตุ้นให้ทำความเพียรในปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบันก็รวมถึงการทำความเพียรด้วยในขณะนี้ อย่างเช่นมีพุทธภาษิตว่า ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าแนะให้เจริญมรณสติก็คือนึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นกับเราในวันข้างหน้า นึกไปทำไม มันเป็นอนาคต นึกเพื่อจะให้เรามาเห็นความสำคัญของการทำปัจจุบันให้ดี จะได้เกิดความเพียรเสียแต่วันนี้
การอยู่กับปัจจุบันก็รวมถึงการรับรู้ รู้ทันกายใจที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน ไม่ต้องสนใจสิ่งนอกตัว มารับรู้กายและใจที่กำลังเป็นไป ทำอะไรใจก็รู้ถ้าเป็นการกระทำทางกาย หรือว่าใจคิดนึกไป เศร้าโศกเสียใจ โกรธ โมโห หงุดหงิดก็รู้ทัน รู้แล้วก็ดูมัน ไม่ต้องทำอะไรกับมันก็ได้ แค่รู้ ดูมันเฉย ๆ อย่างที่เราคงได้สาธยายบทสวดมนต์ตอนหนึ่ง ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ ถ้าเราเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั่นก็คือว่าเราอยู่กับปัจจุบัน เราไม่ต้องทำอะไรกับมันเลยก็ได้ แค่เห็นมันว่ามันปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า จะเป็นความปวด เวทนาที่เกิดขึ้นขณะนี้ หรือว่าเป็นอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นก็รู้ทันมัน แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว และถ้าพิจารณาดูก็รู้ว่าที่เศร้านี้เพราะใจไปอยู่กับอดีต ที่โมโหโกรธาหงุดหงิดก็เพราะว่ายังวางเรื่องเจ็บแค้นในอดีตไม่ได้ หรือที่หนักอกหนักใจเพราะไปวิตกกับเรื่องอนาคต ถ้าเอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่ทำ มันก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่มีความวิตกกังวลอะไรจะมารบกวน หรือถึงมันเกิดขึ้นก็ให้ถือว่า นี่คือธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็ให้สักแต่ว่ารู้ทันมัน รู้เฉย ๆ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว
เดินทวนกระแสโลกนี้ยังหมายถึงว่าการให้ความสำคัญกับการประกอบเหตุ กระแสโลกก็จะไปเน้นเรื่องผล ทำอะไรก็จะนึกถึงแต่ผลที่จะเกิดขึ้นว่าจะดีหรือไม่ดี จะชนะหรือแพ้ ถ้าแพ้ไม่ทำ แต่ถ้าชนะถึงจะทำ ชนะนี่ก็ไม่ได้พิจารณาว่ามันถูกใจหรือถูกต้อง แต่ว่านักปฏิบัติธรรมจะเน้นเรื่องการประกอบเหตุ ทำเหตุให้ดี ผลเป็นอย่างไรเอาไว้ก่อน ประกอบเหตุ เพราะฉะนั้นก็จะเน้นเรื่องความเพียร ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความเพียร ชื่อหนึ่งของพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลก็คือ วิริยวาท หรือวิริยวาทะ ก็คือคำสอนเกี่ยวกับเรื่องความเพียร พระพุทธเจ้าก็ตรัสอยู่เสมอว่าบุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ถ้าเราทำความเพียรเราจะเน้นในการประกอบเหตุ ทำเหตุให้ดี ส่วนผลเป็นเรื่องอนาคต ผลมันจะเป็นอย่างไรเอาไว้ก่อน เราขอทำเหตุให้ดี การประกอบเหตุให้ดีก็คือการอยู่กับปัจจุบันนั่นแหละ ก็คือการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อันนี้มันทวนกระแสโลก กระแสโลกก็จะเน้นแต่เรื่องว่าทำอย่างไรถึงจะให้ได้ผลออกมาอย่างที่ต้องการ อยากรวยก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะรวยเร็ว ๆ โดยที่ไม่ได้สนใจการประกอบเหตุ แทนที่จะขยันก็เอาแต่เล่นการพนัน หรือไม่ก็ไปบนบานศาลกล่าว ไปศาลพระพรหมบ้างไปศาลพระอินทร์บ้าง อันนี้เป็นพวกที่เน้นเรื่องผล หรือถ้าเป็นนักเรียนอยากได้คะแนนดีอยากได้เกรดดีก็ไม่เน้นการประกอบเหตุ ไม่เน้นการทำความเพียร แต่ว่าใช้ทางลัด เช่น ไปตัดแปะบ้างจาก google ทุจริตในการสอบบ้าง อันนี้เรียกว่าไม่เน้นการประกอบเหตุหรือไม่เน้นการทำเหตุให้ดี แต่ชาวพุทธเราจะทำเหตุให้ดี ผลนั้นเอาไว้ทีหลัง เพราะเชื่อว่าถ้าทำเหตุให้ดีแล้วผลมันออกมาดีเอง ถ้าอยากให้ผลดีก็ไม่ต้องไปใส่ใจกับผลมาก ให้ทำเหตุให้ดี เวลาลูกกลับมาจากการสอบก็จะถามลูกว่าเป็นอย่างไร แทนที่จะถามว่าได้คะแนนเท่าไรก็จะถามว่าตั้งใจเรียนไหม ขยันเรียนหรือเปล่า อันนั้นแหละคือคำถามตามแนวชาวพุทธคือเน้นเรื่องความขยันมากกว่าเน้นเรื่องผล เกรดไม่ดีก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าขยันหรือเปล่า ไปแข่งฟุตบอลมาก็ไม่ได้ถามว่าชนะหรือเปล่า แต่ถามว่าเป็นอย่างไร ตั้งใจเล่นไหม ขยันไหม สู้เขาไหวไหม แต่ว่าถ้าไปเน้นตามกระแสโลกก็จะถามว่าชนะเขาหรือเปล่า ถ้าลูกบอกว่าไม่ชนะ แพ้ ก็จะว่าลูกว่าไม่ได้เรื่อง ทั้งที่ลูกอาจจะขยันก็ได้ ทำเต็มที่ สู้ยิบตาจนนาทีสุดท้าย อันนี้ต่างหากที่ควรสรรเสริญ
กระแสโลกก็จะเน้นเรื่องการมี การได้ การครอบครอง มีมาก ๆ แต่กระแสธรรมจะเน้นเรื่องการสละ เริ่มต้นด้วยการให้ ก็คือทานนั่นแหละ ให้สิ่งของ ยิ่งได้มามากเท่าไรก็ยิ่งสละมากเท่านั้นเพราะว่าการสละเป็นที่มาแห่งความสุข การได้มาเยอะ ๆ มันทำให้มีความสุขกายแต่ว่าใจไม่สุข แต่ว่าการสละออกไป ยิ่งสละมากเท่าไรและสละอย่างถูกวิธีก็จะได้รับความสุข สละอย่างถูกวิธีคืออะไร ก็คือฝึกการปล่อยวาง ถ้าให้ทานแต่ว่าไม่รู้จักปล่อยวาง กับการให้ทานเพราะอยากจะได้มาก ๆ นี่ก็ไม่ถูกต้อง อันนี้ก็เรียกว่ายังทำตามกระแสโลกอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทานเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ ก็คือกำจัดความโลภนั่นแหละ ถ้าให้ทานแล้ว สละสิ่งของ แต่ความโลภมากขึ้นในใจ อันนี้เรียกว่ายังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ยังเป็นการเดินตามกระแสกิเลสอยู่ ถ้าเดินทวนกระแสกิเลสไม่ใช่เพียงแต่ให้ด้วยวัตถุ แต่ว่ายังสละออกไปที่ใจด้วย ก็คือปล่อยวาง ไม่ยึดติด ไม่ปรารถนาจะได้อะไร มุ่งที่กำจัดความโลภ ให้ทานแต่ว่ายังอยากจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินทอง เป็นความร่ำรวย ถวายสิบอยากได้ร้อย ถวายร้อยอยากได้ล้าน อย่างนี้แสดงว่าทานนั้นไม่ได้กำจัดความตระหนี่เลย มันยังไม่ได้เป็นไปเพื่อการละ แต่มันเป็นไปเพื่อการเอา อันนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมในรูปแบบแต่ว่าสาระเข้าไม่ถึง ก็คือว่ายังไม่ได้เน้นที่การสละการวางหรือว่าการให้อย่างแท้จริง
กระแสโลกไปเน้นเรื่องการแบกการยึด ทั้งที่สิ่งที่แบกมันก็ไม่ได้จำเป็นว่า จะต้องเป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเราเสมอไป เราไม่ได้แบกเฉพาะเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศหรือว่ายึดเอาไว้ไม่ยอมปล่อยเท่านั้น สิ่งที่ให้ความทุกข์กับเรานี่ก็ยึด ความเศร้าโศก ความโกรธ ความเสียใจ ความรู้สึกผิด ความอิจฉา เราก็รู้ใช่ไหมว่าอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้มันไม่ดี มันทิ่มแทงใจ มันเผาลนใจ แล้วแบกไว้ทำไม แต่ว่าวิสัยทางโลกก็จะแบกเอาไว้ โกรธใครก็จะไม่ยอมให้อภัย ยิ่งอิจฉาใครก็ยิ่งครุ่นคิดแต่ว่าจะเพิ่มพูนความอิจฉาให้มากขึ้น เวลาเศร้าโศกก็จะจมดิ่งอยู่กับความเศร้า ฟังแต่เพลงเศร้า นั่งเจ่าจุก อันนี้เรียกว่ายึด แบก แต่ว่ากระแสธรรมคืออะไร คือปล่อย ไม่เพียงแต่สละของดีได้แก่ทรัพย์สมบัติที่ให้ความสุขแก่ตนและผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังรู้จักปล่อยรู้จักวางสิ่งที่ทำความทุกข์ให้แก่จิตใจ คนเราถ้ารักตนรักตัวเองอย่างแท้จริงมันจะไม่ยึดเอาไว้ ไม่แบกเอาไว้ มีแต่จะปล่อยอย่างเดียว เพราะว่าการแบกการยึดเป็นของหนัก มันนำความทุกข์มาให้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลปัญญาทรามย่อมทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรู หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าไม่เพียงแต่ทำชั่วผิดศีลเท่านั้น แม้แต่คนที่ไม่ผิดศีลก็สามารถจะทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรูได้ ก็คือว่าเก็บความทุกข์เอาไว้ เก็บอารมณ์ที่เป็นอกุศลเอาไว้ มีความโกรธก็เก็บเอาไว้ หวงแหน ไม่ยอมปล่อย จนกระทั่งความดันขึ้นจนนอนไม่หลับ เวลามีความเศร้าโศกแทนที่จะรู้จักปล่อยรู้จักวาง ก็เก็บมันเอาไว้แบกมันเอาไว้ จนกระทั่งบางทีไม่ยอมกินไม่ยอมนอนไม่ยอมพักผ่อน เหมือนกับว่าจะทำร้ายตัวเอง คนเราถ้ารักตัวเองจะไม่ทำกับตัวเองแบบนั้น เมื่อรู้ว่าแบกของหนักก็จะต้องปล่อย ถ้าเดินตามกระแสธรรมมันจะปล่อย แต่ไม่ได้แปลว่าปล่อยปละละเลย ความเพียรยังทำอยู่ แต่ว่าใจปล่อย ทำความเพียรอย่างที่พูดไว้สักครู่นี้ ประกอบเหตุให้ดีให้เต็มที่ แต่ว่าวาง วางอะไร วางผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันจะเกิดอะไรขึ้นมาก็วางเอาไว้ก่อน จะได้รางวัลไม่ได้รางวัลก็ไม่สนใจ ทำปัจจุบันให้ดี ประกอบเหตุเต็มที่ด้วยความเพียร อย่าไปเข้าใจว่าวางคือปล่อยปละละเลย ที่ควรจะปล่อยวางก็คือความทุกข์ อารมณ์อกุศลที่มันเกาะกุมครอบงำจิตใจ
เดินตามกระแสธรรมยังหมายถึงหมั่นมองตนอยู่เสมอ ที่พูดมาทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นได้เพราะว่ารู้จักหมั่นมองตน แต่กระแสโลกเขาจะส่งจิตออกนอก มีปัญหาก็ไปโทษคนอื่นก่อน มีปัญหาก็โทษคนอื่นว่าเขาพูดไม่ดีกับเรา เขาไม่สนใจฉันเลย แต่ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าแค่นี้จะไปโกรธทำไม ทำไมต้องโกรธเพียงแค่เขาพูดอย่างนั้นกับเรา เพียงเพราะเขาทำอย่างนั้นกับเรา คนเราพอมีปัญหามักจะโทษคนอื่น ไม่ได้กลับมามองตน เราคิดแต่จะให้คนอื่นเขาทำดีกับเรา คิดแต่จะไปแก้ไขเขา แต่ลืมแก้ไขตนเอง ลืมมองมาว่าปัญหาอยู่ที่เรา หลวงพ่อชาท่านพูดไว้ดี ท่านบอกว่าเวลามีหลุมแล้วเราเอามือล้วงเข้าไปในหลุม ถ้ามือล้วงไปไม่ถึงก้นหลุมก็มักจะโทษว่าหลุมมันลึก แต่ไม่ค่อยมองว่าเป็นเพราะแขนเราสั้น เอาแต่โทษว่าหลุมลึก อันนี้มันสะท้อนอะไร สะท้อนว่าคนเราไม่ค่อยกลับมามองตนเท่าไร มีปัญหาก็ไปเพ่งโทษที่ข้างนอก เวลาทุกข์ใจก็ไปโทษเจ้านาย ไปโทษลูกน้อง ไปโทษเพื่อน โทษคนแวดล้อมว่าเขาพูดไม่ดีกับเรา เขาไม่สนใจเรา เขาไม่เข้าใจเรา แต่ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าแล้วเราเข้าใจเขาหรือยัง อย่าว่าแต่เข้าใจเขาเลย แม้แต่เข้าใจตัวเองนี่ เราเคยถามไหมว่าเราเข้าใจตัวเราเองหรือเปล่า
จริง ๆ แล้วถ้าเราหมั่นมองตนหรือว่าหมั่นดูแลจิตใจตัวเอง เราก็จะพบว่าที่ทุกข์นี้เป็นเพราะว่าเราไม่สนใจรักษาใจของเรา ไม่มีใครทำความทุกข์ให้กับเราได้ถ้าหากว่าใจเราไม่ร่วมมือด้วยหรือว่าไม่เออออห่อหมก ที่พูดนี้หมายถึงทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายนี่อีกเรื่องหนึ่ง ทุกข์กายอาจจะเป็นเพราะแดด อาจจะเป็นเพราะฝน อาจจะเป็นเพราะเชื้อโรค แต่ทุกข์ใจมันเป็นเพราะใจเราเปิดช่องให้ความทุกข์เข้ามาเล่นงานย่ำยีจิตใจเรา ถ้าหมั่นมองตนมันจะเห็นเลยว่าทุกข์เพราะวางใจผิด ทุกข์เพราะไปแบกเอาไว้ เวลาแบกหินหนักก็โทษว่าหินทำไมมันหนักแบบนี้ คนอื่นเขาแบกหินเบาทั้งนั้น ทำไมหินเราหนักเหลือเกิน แต่ไม่เคยถามเลยว่าแล้วแบกทำไม แบกทำไม ไปโทษว่าหินหนัก มันผิดตั้งแต่ว่าไปแบกมันแล้ว แบกไปแล้วก็ยังแก้ตัวได้ด้วยการวางมันเสีย ก็ยังไม่ยอมวาง นี่เราผิดสองต่อเลย ผิดที่ไปแบก แล้วก็ผิดที่ไม่ยอมวาง แล้วก็ยังไม่รู้อีก ก็ยังไปโทษว่าเป็นเพราะหินหนัก หลายคนบ่นว่าปัญหามันเยอะปัญหามันหนักเหลือเกิน แต่ไม่ค่อยถามว่าแล้วแบกไปทำไม ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม ถึงเวลานอนก็วางเสีย ถึงเวลากินก็วางเสีย ถึงเวลาอยู่กับลูก ถึงเวลาไปดูหนังฟังเพลงก็วางเสีย ไม่ใช่แบกเอาไว้ หนี้ก็เหมือนกัน หนี้มันก็ไม่ใช่เป็นของดีแต่ทำไมแบกมัน ไม่ได้แบกไว้ที่มือ แบกไว้ในใจ หนี้เขามีไว้ชำระ ไม่ได้มีไว้แบก ใช้ไม่เป็น ถ้าเราหันมามองตัวเองเราจะพบเลยว่ามันเป็นเพราะเราไม่ดูใจตัวเอง กระแสโลกมันเพ่งออกนอก กระแสธรรมเขากลับมาดูใจ ลองพิจารณาดู กระแสธรรมกับกระแสโลกมันสวนทางกัน ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วเรายังคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ชีวิตเราไม่เปลี่ยนเลย นี่แสดงว่าเราจับสาระการปฏิบัติธรรมไม่ได้ มาเข้าวัด 10 ปี 20 ปี 30 ปีก็ยังปล่อยชีวิตไปตามกระแสโลกมันก็ไม่มีทางที่จะเจริญได้ เจริญในที่นี้หมายถึงเจริญในความสุข เดินตามกระแสโลกอาจจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวย มีชื่อเสียง มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่ว่าความสุขไม่ได้มีเลย ส่วนเดินกระแสธรรมนี้อาจจะไม่ได้ร่ำรวย อาจจะไม่มีชื่อเสียง ไม่มีบริษัทบริวารมาก แต่มีความสุข
ลองถามตัวเราเองว่าที่พูดมาทั้งหมดนี้ชีวิตจิตใจเราไปทางไหน ไปให้ความสำคัญกับความถูกใจมากกว่าความถูกต้องหรือเปล่า ฝังใจกับอดีตหรือว่าปล่อยใจลอยไปในอนาคตแต่ไม่สนใจที่จะอยู่กับปัจจุบันหรือเปล่า คิดแต่จะเอา คิดแต่จะมี คิดแต่จะสะสม แต่ไม่รู้จักสละ ไม่รู้จักให้ เอาแต่แบกเอาไว้ ไม่ยอมวาง หรือว่ามุ่งโทษคนโน้นคนนี้ ส่งจิตออกนอก แต่ว่าไม่กลับมาดูใจของเรา คิดแต่จะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น จัดการคนอื่น เรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง แต่ว่าไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง หรือว่าไม่คิดแม้กระทั่งดูแลรักษาใจไม่ให้ความทุกข์เข้ามาย่ำยีบีฑา ถามตัวเอง หลายคนจะกลับไปวันนี้ กลับบ้านวันนี้ก็ลองถามตัวเราเองดูว่าที่ผ่านมาที่ว่าเราปฏิบัติธรรมนี่ทำถูกต้องไหม หรือถ้าอยากจะพิจารณาว่าเราปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้าแค่ไหนก็ให้มาดูตรงนี้แหละ เอาที่พูดมาทั้งหมดนี้มาเป็นเครื่องวัดว่า เอาจริง ๆ แล้วนี่เราทวนกระแสหรือเปล่า หรือว่าเราตามกระแส ตามกระแสโลก ตามกระแสกิเลส ถ้าปฏิบัติธรรมจริงจังมันต้องทวนกระแส ทวนกระแสโลก ทวนกระแสกิเลสอย่างที่ว่ามา