แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตอนเด็กๆ เคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 แล้วก็มาอ่านตรงที่ว่า เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ชาวไทยก็เศร้าโศกเสียใจกันมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตอนที่อ่านนั้นก็นึกภาพไม่ออก ส่วนหนึ่งเพราะยังเด็กด้วย และข้อที่สำคัญคือยังไม่เคยเจอ นั่นก็คือเมื่อ 106 ปีที่แล้ว แต่ว่ามาถึงวันนี้ ก็นึกภาพออก แล้วก็เข้าใจความรู้สึกของคนไทยสมัยนั้น เพราะว่าพอในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ผู้คนก็เศร้าโศกเสียใจกันทั้งแผ่นดิน
บรรยากาศอาจจะยิ่งกว่าเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วก็ได้ คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าสมัยก่อนคนที่ผูกพันกับในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพ เพราะสมัยก่อนเมืองไทยก็ไม่ได้มั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนสมัยนี้ สมัยนั้นเชียงใหม่ก็ยังถือว่าเป็นประเทศราช เพราะฉะนั้นความเศร้าโศกเสียใจก็จะจำกัดอยู่ในพื้นที่หนึ่ง ไม่เรียกว่าทั้งประเทศ แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผู้คนก็บันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นความเศร้าโศกเสียใจครั้งใหญ่หลวง แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราวันนี้ มันยิ่งใหญ่กว่า เพราะว่าคนไทยก็รู้สึกร่วมกันทั้งประเทศ ข้อมูลข่าวสาร โทรทัศน์ วิทยุ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ต มันก็ทำให้คนไทยทั้งประเทศ ตั้งแต่เหนือ ใต้ ออก ตก มีความรู้สึกผูกพันกับในหลวง อันนี้พอพระองค์สวรรคต ก็ย่อมเกิดความเศร้าโศกเสียใจเป็นล้นพ้น ยิ่งกว่าเมื่อ100 ปีที่แล้ว
อีกอย่างเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านก็ประชวรไม่กี่วัน อาจจะมีอาการมาหลายปี แต่ว่าก็ยังไม่ถึงกับพักรักษาตัว แต่พอประชวรจนถึงขั้นว่าต้องรักษาตัว ไม่กี่วันเท่านั้นก็สวรรคต ซึ่งค่อนข้างเร็วมาก ในความรับรู้ของคนไทยสมัยนั้น อีกอย่างหนึ่งก็ไม่มีการออกข่าวด้วย เพราะว่าไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ แต่ว่าในกรณียุคของพวกเรานี้ พวกเราก็รับทราบการประชวรของในหลวงมาหลายปี แล้วก็คอยเอาใจช่วย เราสวดมนต์ถวายพระพรเป็นพระราชกุศลนี่ก็หลายครั้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นในส่วนหนึ่งของจิตใจก็ยอมรับความจริงได้ ว่าสักวันหนึ่งวันนี้ก็ต้องมาถึง และพอมาถึงแล้วแม้เตรียมใจไว้แล้ว แต่ก็ยังมีเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ แต่คิดว่าคงจะไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่ช็อคความรู้สึกเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งอย่างที่บอก แม้กระทั่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ท่านก็ไม่ทันได้เตรียมใจ พระราชาคณะชั้นสมเด็จ พระราชาคณะที่มาสวดในพิธีสดับปกรณ์ในคืนแรกของในหลวงรัชกาลที่ 5 นี่ก็หลายองค์หลายท่านสวดไปก็ร้องไห้ไป บางท่านก็สวดไม่ออก บางท่านก็เสียงสั่นเครือ อันนี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 106 ปีที่แล้ว เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 สวรรคต
แต่ถึงอย่างไร ในวันนี้พวกเรามีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา บางคนอาจจะทำใจได้ ก็อย่าไปค่อนขอด ค่อนแคะ คนที่ยังเสียอกเสียใจบางคนอาจถึงกับร้องห่มร้องไห้ ว่าเธอปฏิบัติธรรมยังไงกันทำไมถึงยังร้องไห้อยู่ อันนี้ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะมาค่อนขอดกัน แต่เป็นเวลาที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกัน เราไม่เศร้าโศกเราทำใจได้ก็ดีแล้ว แต่ว่าคนที่ยังเศร้าโศกเสียใจ ก็เห็นใจเขา แล้วก็พยายามช่วยเหลือเขา มีเมตตาต่อเขา ในขณะเดียวกันคนที่เศร้าโศกเสียใจ ซึ่งก็มีมากมายทั้งแผ่นดิน ก็ต้องตระหนักว่าคนเราก็มีวิธีการแสดงความเศร้าโศกไม่เหมือนกัน มีวิธีการแสดงความเศร้าโศกไม่เหมือนกัน ก็เหมือนกับเวลาพ่อหรือแม่ตาย ลูกแต่ละคนก็แสดงความเศร้าโศกไม่เหมือนกัน บางคนก็ซึม ไม่เป็นอันทำอะไร แต่บางคนก็ยังสามารถไปทำงานได้ จะไปบอกว่าคนที่ไปทำงานได้ เขาไม่เสียใจที่พ่อแม่ตายหรือไง เขาก็เสียใจ แต่ว่า เขาทำใจได้ หรือถึงเขายังทำใจไม่ได้ แต่เขาก็ถือว่าการไปทำงานการใช้ชีวิตตามปกติเป็นสิ่งสำคัญ
การแสดงความเศร้าโศก มันก็มีเรื่องของประเพณีธรรมเนียมเข้ามาด้วย ซึ่งก็ช่วยทำให้เราสามารถจะแสดงความเศร้าโศกได้ อย่างเช่นการแต่งกาย อันนี้เรื่องของประเพณีมันก็มีความเห็นแตกต่างกันไป มีการประพฤติปฏิบัติแตกต่างกันไป ก็อย่าถือเอาเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน เช่นบางคน มีความเชื่อมีความคิดว่า การที่จะไว้ทุกข์หรือว่าถวายความอาลัยกับในหลวง ควรใส่เสื้อหรือชุดขาวตามประเพณีไทย แต่ว่าหลายคนก็คิดว่าควรใส่ชุดดำ เพราะว่าคุ้นเคยกับประเพณีนี้มา ก็อย่าไปถึงขั้นทะเลาะกัน ว่า ทำไมเธอไม่ใส่ชุดขาว ทำไมใส่เสื้อขาว ทำไมใส่เสื้อดำ อันนี้อย่าไปยึดติดกับประเพณีมากจนเป็นเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะนี่ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะมาทะเลาะกัน จะไปบอกว่าไม่เคารพในหลวง ไม่รักในหลวง อันนี้ก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูแลจิตใจของตัวเองให้ดี อย่าไปมองคนที่ เขาแสดงความเศร้าโศกแตกต่างจากเรา ว่าเป็นคนที่ไม่จงรักภักดี อย่างที่บอกคนเราก็มีการแสดงออกแตกต่างกันในช่วงเวลาเช่นนี้
ในสมัยพุทธกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระหลายรูปก็นั่งปรึกษากัน ปรับทุกข์กัน เพราะว่าทำใจไม่ได้ ในขณะที่มีพระรูปหนึ่งท่านก็เห็นว่ามีเวลาเหลือน้อยละ ต้องรีบปฏิบัติธรรมทำความเพียร พระที่เหลือพอรู้เข้าก็ตำหนิหาว่าไม่จงรักภักดีพระพุทธเจ้า ถึงกับไปทูลฟ้องพระองค์เลย พระองค์ก็ให้เรียกตัวมาแล้วก็สอบถาม พอทราบเหตุผล พระองค์ก็อนุโมทนาสาธุกาล ถือว่าดีแล้ว จะมามัวเศร้าโศกจนกระทั่งมาปรับทุกข์กัน แล้วก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำก็ไม่ถูก พระองค์ที่ท่านไปทำความเพียรนี่ท่านก็เศร้าเสียใจ แต่ท่านก็รู้ว่า นี่เป็นเวลาที่ต้องเร่งทำความเพียร ในขณะที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่
เพราะฉะนั้น ในกรณีของเราก็เช่นเดียวกัน คนเรามีความเศร้า แล้วก็แสดงความเศร้าด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ด้วยการประพฤติปฏิบัติที่แตกต่างกัน อย่าไปมองว่าใครที่เศร้าไม่เหมือนเรา ก็เป็นคนที่ไม่ภักดี หรือว่าใครที่ใส่เสื้อไม่เหมือนเรา หรือว่าไม่มีการติดสีดำในเฟสบุ๊คว่าไม่ภักดี ตอนนี้ก็เริ่มมีหลายท่าน ก็เปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นสีดำบ้าง หรือว่าเป็นภาพเกี่ยวกับข้อความแสดงความจงรักภักดี เช่นขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไปบ้าง อันนี้ทำก็ดีแล้ว แต่คนอื่นไม่ทำ ก็อย่าไปมองว่า เขาไม่เศร้าโศก เขาไม่ภักดี เขาก็มีวิธีการของ เขาในการที่จะแสดงความเศร้าโศก เมื่อไม่เหมือนกับเรา ก็อย่าไปค่อนขอด ต่อว่า เขา ตอนนี้มันก็มีเรื่องประเพณีเข้ามามาก ซึ่งคนไทยเราก็เดี๋ยวนี้ก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง ถ้อยคำบางอย่างก็มีการถกเถียงกันว่าควรใช้มั้ย เช่นส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย บางคนก็บอกว่าจะใช้ได้ก็ตอนที่จะมีการพระราชทานเพลิงศพ บางคนก็บอกว่าใช้ได้ อันนี้ก็เถียงกันไปเถียงกันมา เถียงกันก็พูดถึงเรื่องของวิชาการเหตุผลก็ดีแล้ว แต่ว่าอย่าถึงขั้นโกรธเกลียดกัน เพียงเพราะว่าคิดไม่เหมือนกันในเรื่องการแสดงความจงรักภักดี หรือการแสดงความเศร้าโศกต่อการที่ในหลวงสวรรคต เพราะนี่ไม่ใช่เวลา ไม่ใช่โอกาสที่จะมาทะเลาะกันเรื่องนี้
ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่า เขาจะไม่เศร้าโศกไม่เสียใจ ก็อย่าไปว่าเขาว่าไม่รักในหลวงหรือไง ถึงไม่เศร้าโศก ธรรมชาติของคนเราใครที่ทำอะไรไม่เหมือนเรา เราก็ว่า เขา คนที่ทำใจได้ ก็ไปว่าคนที่ยังทำใจไม่ได้ว่าปฏิบัติธรรมยังไง คนที่ทำใจไม่ได้ยังเศร้าโศก ก็ไปว่าคนที่ทำใจได้ ว่าไม่รักในหลวงหรือไง มันผิดทั้งคู่ เพราะว่ามันเป็นการที่ไม่รู้จักดูจิตดูใจของตัวเอง หรือว่าเป็นการไปด่วนตัดสินคนอื่น มันก็เหมือนกับเวลาเราปฏิบัติธรรม มาวัดปฏิบัติธรรม เห็นบางคน เขาไม่ยกมือสร้างจังหวะ ไม่เดินจงกรม ก็ไปตำหนิ เขาอาจจะพูดให้ เขาได้ยิน หรือว่าตำหนิในใจว่าทำไมไม่ปฏิบัติธรรม อันนั้นมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือเราก็ปฏิบัติธรรม ถ้าเขาไม่ทำหน้าที่ของเขา สมมติว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าเขาไม่ทำหน้าที่ของ เขา ก็เป็นเรื่องของ เขา อย่าเอาเรื่องของ เขามาเป็นปัญหาของเรา ใครจะแสดงความจงรักภักดีแตกต่างกันไป แสดงความเศร้าโศกไม่เหมือนเรา ก็เป็นเรื่องของเขา หรือว่าเขาจะไม่เศร้าโศกเลย เพราะเขาทำใจได้ หรือ เขาจะมีเหตุผลใดก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของเขา มันไม่ใช่เรื่องของเรา เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ในฐานะที่เป็นพสกนิกร