แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตอนนี้ 5 ทุ่มแล้ว เราผ่านมาได้ครึ่งคืนแล้ว นับจากที่เราเริ่มทำวัตรเย็น จนถึงตอนนี้ก็ 5 ชั่วโมงแล้ว อีก 5 ชั่วโมงเราก็จะทำวัตรเช้า รู้สึกเหมือนอาตมารึเปล่าว่า เวลามันผ่านไปเร็ว ตอนนี้ก็มาครึ่งหนึ่งของการปฏิบัติข้ามคืนแล้ว
เมื่อตอนบ่าย ก็ยังวาดภาพจินตนาการว่า เมื่อถึงคราว หรือถึงเวลาที่อาตมามาบรรยายคือ 5 ทุ่ม ก็นึกภาพว่าคนก็คงจะบางตา บนศาลาไก่ อาจจะมีแม่ชีอยู่บ้างนิดหน่อย แล้วก็โยมอีก 4-5 คน แล้วก็พระอีกจำนวนหนึ่ง แล้วก็ยังมีตุ๊กแก จิ้งหรีดอยู่บ้าง จิ้งจก แต่ก็ไม่คิดว่าคนจะหนาตาอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็แสดงว่าพวกเราก็มีความตั้งใจกันจริงๆ
เมื่อตอนเช้า ก็คงทราบกันดีว่าเรามีการปลูกป่ากันที่ภูหลง มีคนไปกันมากทีเดียว กว่าจะเสร็จประมาณบ่ายสาม อาตมาก็นั่งรถของพระใหม่รูปหนึ่ง ระหว่างที่นั่งรถมาที่สุคะโต น่าจะเป็นเจ้าของรถเปิดซีดีคำบรรยายของอาตมา ปกติถ้าอาตมาคุ้นเคยกับเจ้าของรถก็จะบอกให้เขาปิด เพราะว่าไม่ค่อยอยากฟังเท่าไร มันแปลกดี แต่ว่าไม่รู้จักเจ้าของรถเท่าไร ท่านคงอยากฟัง เราก็เลยฟังไปด้วย ระยะเวลาเดินทางจากภูหลงมาสุคะโตประมาณสักครึ่งชั่วโมงได้ อาตมาก็นั่งฟังไปเรื่อยๆ แล้วก็หลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ คือฟังแล้ว รู้สึกว่าเสียงโมโนโทนเลย เจ้าตัวยังหลับเลย มารู้สึกตัวตอนใกล้ๆถึงสุคะโต อันที่จริงไม่ถึงกับหลับทีเดียว แต่ว่าเคลิ้มๆ ก็เลยเข้าใจคนฟัง เวลาฟังอาตมาบรรยายก็คงจะรู้สึกอย่างเดียวกับอาตมา หรืออาจจะยิ่งกว่าก็ได้ ฟังแล้วชวนให้ง่วง โดยเฉพาะในบรรยากาศแบบนี้ และในเวลาแบบนี้ ซึ่งหลายคนก็คงจะง่วงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งได้มาฟังที่อาจารย์สมใจเล่า เรื่องโชเฟอร์กับพระว่าพระท่านอยู่ในสวรรค์ชั้นต่ำ เพราะว่าพูดให้คนหลับเป็นอาจิณ
ไม่เหมือนโชเฟอร์อยู่ในสวรรค์ชั้นสูงกว่า เพราะทำให้คนตื่น แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะว่ายังไงก็ยังได้ขึ้นสวรรค์ ถึงแม้จะต่ำกว่า หลายคนพอฟังไปนานๆเข้าอาจจะเริ่มง่วงมากขึ้น ก็ให้ถือว่ามันเป็นการฝึกใจของเรา การปฏิบัติธรรม ถ้ามันสบาย ถ้ามันราบรื่น จะไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไร ต้องเจออุปสรรค ต้องเจอสิ่งที่มารบกวนใจ สิ่งที่รบกวนใจตัวแรกๆ ก็คือ นิวรณ์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเทศน์ให้ฟังเมื่อตอนหัวค่ำว่า นิวรณ์ โดยเฉพาะความง่วง จะมารบกวนจิตใจเราเป็นตัวแรกๆเลย แต่ว่าเราอย่าไปมองว่า มันเป็นอุปสรรคเท่านั้น ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ฝึกใจเราด้วย เพราะว่ามันทำให้เรามีความฉลาด มีความเข้มแข็งมากขึ้น ถ้าหากว่าเราผ่านมันได้ แต่ถ้าเราผ่านไม่ได้เราก็จะอ่อนแอไปเรื่อยๆ คนที่ง่วงแล้วก็นอน ง่วงแล้วนอนตลอดเวลา ก็จะไม่มีทางที่จะผ่านความง่วงไปได้เลย ทั้งๆที่ความง่วงนี้ มันเป็นนิวรณ์ตัวแรกๆ ตัวที่เบา มันไม่ได้ทำให้เรา ไม่ได้สร้างปัญหามากเท่ากับนิวรณ์ตัวอื่น เช่น ความโกรธ ปฏิคะหรือพยาบาท ร้ายแรงกว่า เพราะว่ามันอาจจะทำให้เราป่วย อาจจะทำให้เราเป็นโรคหัวใจ หรือว่าเส้นเลือดในสมองแตก หรือมิฉะนั้นก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะว่าโกรธแล้วไปฆ่าเขา ทำร้ายเขา
ความง่วงเป็นนิวรณ์เด็กๆ เป็นนิวรณ์เบื้องต้นที่เราต้องเรียนรู้ที่จะผ่านมันให้ได้ และการที่เราผ่านมันได้ ก็เท่ากับว่าเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น เรามีความฉลาดมากขึ้น ในการที่จะรับมือกับนิวรณ์ตัวต่อๆไป เพราะฉะนั้นเมื่อเราเจอความง่วง ถีนมิทธะ เราต้องมองว่าเขามาฝึกเราให้เราฉลาด ให้เราเข้มแข็ง ให้เราปราดเปรียว ให้เรามีสติว่องไวมากขึ้น
นิวรณ์ตัวอื่นๆก็เหมือนกัน มีประโยชน์ อย่าไปมองว่าเป็นตัวขัดขวาง รบกวนจิตใจ สำหรับคนที่ต้องการฝึกเพื่อให้จิตสงบตามแนวทางสมถกรรมฐาน มักจะรู้สึกลบกับนิวรณ์ เพราะว่ามันเป็นตัวขัดขวางไม่ให้มีความสงบ ไม่ให้ใจเป็นสมาธิ แต่สำหรับนักภาวนาที่มุ่งการหลุดพ้น มุ่งให้เกิดปัญญา นิวรณ์เป็นประโยชน์ ถ้าเราเข้าใจว่านิวรณ์ ไม่ใช่แค่เวลาเกิดแล้ว เรารู้ว่ามันเกิด และเมื่อมันดับเรารู้ว่ามันดับเท่านั้น แต่เรายังรู้ต่อไปว่า มันเกิดเพราะอะไร มันดับเพราะอะไร อะไรเป็นเหตุให้มันเกิด อะไรเป็นปัจจัยให้มันดับ ถ้าเรารู้อย่างนี้แสดงว่า เรามีความก้าวหน้าในการเจริญสติปัฏฐาน 4 คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือการเห็นธรรมในธรรม เห็นธรรมในธรรมมีความหมายว่า เรามีความเข้าใจธรรม และธรรมเบื้องต้นที่เราจะต้องเข้าใจ และก็ผ่านให้ได้ ก็คือนิวรณ์ ใครที่อ่านพระสูตร สติปัฏฐาน ซึ่งที่จริงเราสวดเป็นประจำ แต่ว่าอาจจะไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า เห็นธรรมในธรรม
ธรรมที่ว่าหมายถึงอะไร ตัวแรกหรือกลุ่มแรกคือ นิวรณ์ 5 กลุ่มที่สองคือขันธ์ 5 กลุ่มที่สามคือ อายตนะ 12 เป็นตัวที่แสดงเหตุแห่งทุกข์ แล้วจึงมาเข้าใจธรรมฝ่ายกุศล ก็คือโพชฌงค์ 7 และ อริยสัจ 4 ถ้าเข้าใจอริยสัจ 4 อย่างถ่องแท้ ก็เรียกว่าสำเร็จจบกิจแล้ว แต่ว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ ต้องผ่านด่านแรก ก็คือนิวรณ์ ซึ่งมิได้หมายความว่า ต้องไม่มีมันมารบกวน มันรบกวนได้ แต่ว่าเรารู้ทันมัน เข้าใจหรือเห็นว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันดับเพราะอะไร เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ก็เท่ากับว่า การเห็นธรรมในธรรม เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว
นักภาวนาคงทราบ ว่าการเจริญสติปัฏฐานนี้มี 4 ขั้น ขั้นแรกคือว่า เห็นกายในกาย หรือว่าเมื่อกายเคลื่อนไหว ก็รู้ รับรู้ หรือว่า รู้สึก ต่อมาก็เวทนา เห็นเวทนาในเวทนา ก็คือ เมื่อมีสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี ก็รู้ทัน พูดอย่างภาษาหลวงพ่อคำเขียนก็คือว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น” มีความปวดความเมื่อยก็เห็นมัน ไม่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย เวลาสบาย ก็เห็นความสบาย ไม่ใช่เป็นผู้สบาย กินอาหารอร่อยเกิดสุขเวทนาขึ้น ก็ให้เห็นความอร่อย ไม่ใช่ผู้เอร็ดอร่อย เห็นจิตในจิตก็คือเห็น เห็นความเป็นไป อาการของใจ ซึ่งสรุปง่ายๆตามที่หลวงพ่อคำเขียนสรุปให้เราฟังว่า “เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก” อันนี้แหละเรียกว่าเป็นเบื้องต้น ของการปฏิบัติการเจริญสติปัฏฐาน และเมื่อเราเห็น เห็นกายกำลังหายใจ เห็นใจคิดนึก เห็นอกุศลที่เกิดขึ้นในใจ และรู้ทัน เห็นโดยไม่เข้าไปเป็น มันก็จะทำให้เราก้าวหน้าสู่ขั้นที่ 4 ก็คือ การเห็นธรรมในธรรม ก็คือ ไม่เพียงแต่รู้ว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้น มีความง่วงเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่เพียงแต่เห็นความง่วง ไม่เป็นผู้ง่วงเท่านั้น แต่ยังเห็นต่อไปว่า มันมีเหตุปัจจัยอะไรทำให้มันเกิด และมีเหตุปัจจัยอะไรทำให้มันดับ และในขณะที่เรากำลังปฏิบัติ
เมื่อเราเห็นความง่วง เมื่อความง่วงเกิดขึ้น ก็ให้มองว่า นี้เป็นของดี เป็นการบ้านที่มาฝึกเรา ฝึกอะไร ไม่ใช้แค่ฝึกความอดทนเท่านั้น แต่ฝึกสติด้วย ให้เราเห็นไม่เข้าไปเป็น ต่อไปหลังจากที่เห็นว่ามันมีอยู่ เห็นว่ามันดับไป ก็จะเห็นความจริงที่มันแสดงตัวออกมาว่า เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยถึงจะเกิดได้ ไม่มีเหตุปัจจัย หรือเหตุปัจจัยดับมันก็ดับ อันนี้แหละมันก็แสดงความจริง นิวรณ์สามารถจะสอนธรรม หรือแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนได้พูดให้เราฟังว่า “แม้กระทั่งความโกรธ ก็สอนธรรมให้กับเราได้ แล้วมันก็สามารถจะแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้” ท่านพูดตอนต้นๆเลย “แม้ถูกด่า แม้ถูกด่า ก็เห็นสัจธรรมได้”
คำว่า เห็นสัจธรรม เห็นได้หลายแง่ เช่น เบื้องต้นเลยก็คือเห็น หรือเข้าใจเรื่อง โลกธรรม 8 ได้แก่อะไรบ้าง มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็ต้องเจอนินทา สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน เวลาถูกด่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา มันคือสัจธรรมว่ามีคนชม ก็ต้องมีคนนินทา เราไม่ค่อยตระหนักเรื่องนี้เท่าไหร่ เวลาใครชมเราก็ปลื้ม แต่เวลาใครว่าใครด่า ก็โกรธไม่พอใจ แต่ที่จริงถ้าเราตั้งสติสักหน่อย เวลาถูกด่า คนที่เขาด่าเรา เขากำลังแสดงสัจธรรมให้เราเห็น ว่า นี้แหละโลกธรรม มีสรรเสริญก็มีนินทา เราต้องตั้งสติให้ดี เขากำลังแสดงธรรมให้เราเห็น
สมัยที่หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆของหลวงปู่มั่น ท่านมีนิสัยที่แปลกจากพระรูปอื่น ท่านเป็นคนที่โผงผาง ดูจากภายนอกไม่ค่อยเรียบร้อย เวลาท่านไปบิณฑบาต ท่านจะขออาหารจากโยม โดยเฉพาะโยม ท่านก็จะเจาะจงกับโยมที่ไม่ค่อยชอบใส่บาตร จะขอข้าวบ้าง ขอผักบ้าง แต่พอเขาถวายท่าน ท่านก็ไม่ฉัน เพราะว่าอาบัติ พระไม่สามารถขอได้ ถ้าฉันของที่ขอมาถือว่าเป็นอาบัติ ท่านจึงไม่ฉัน แต่ที่ท่านขอเพราะว่าต้องการฝึกเขา รู้จักให้ทาน รู้จักใส่บาตร แต่โยมจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจ วันหนึ่งท่านบิณฑบาต ก็มีโยมเขียนบัตรสนเท่ห์ ใส่ลงไปในบาตร ท่านรู้เลยว่าบัตรสนเท่ห์ ไม่ใช่คำชมแน่
พอท่านถึงวัด ท่านพาดสังฆาฏิแล้วก็เรียกพระเณรมา เวลาพาดสังฆาฏิหมายความว่า เป็นเรื่องทางการเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องพิธีการ เรียกพระเณรมาแล้วก็บอกว่า “วันนี้หลวงพ่อได้ อมฤตธรรมจากเทวดา แต่เช้าเลย ลูกเณรอ่านให้ฟังหน่อย” เณรก็อ่าน เสียงดังเลย “พระผีบ้า เป็นพระเป็นเจ้า ไม่มีศีล ไม่มีวินัย ไม่สำรวม ประจบสอพลอ ขออาหารชาวบ้าน พระแบบนี้ แม้เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ไม่น่านับถือ ให้ออกไปจากวัดเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นจะเอาลูกตะกั่วมาฝาก” คนที่เขียนเป็นคนที่ปรารถนาดี เขาคิดว่าพระดี ก็ควรจะเป็นพระที่เรียบร้อย เห็นหลวงปู่ทองรัตน์ ขอข้าวชาวบ้านแบบนี้ ก็ไม่เข้าใจ ก็พิทักษ์พุทธศาสนาหน่อย พระไม่ดีก็ต้องออกไป
แต่ว่าหลวงพ่อทองรัตน์ไม่โกรธเลย เณรอ่านจบ ท่านก็บอกว่า “โอย ของดี เก็บไว้ที่ฐานพระพุทธรูปเลย ไว้กราบไหว้ทุกวัน” ท่านบอกว่า “เคยได้ยินแต่คำว่า โลกธรรม 8 ว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้เพิ่งได้เห็นของจริง เป็นของดี หายาก เก็บเอาไว้ ” คือ นอกจากท่านจะไม่ทุกข์ ไม่โกรธแล้ว ท่านยังเห็นว่า มันเป็นของดีที่จะมาสอนญาติโยมได้ สอนพระเณรได้ ถือโอกาสมาสอนพระเณรว่า นี้ โลกธรรม 8 เป็นอย่างนี้ อันนี้เรียกว่า คำต่อว่าด่าทอ สอนธรรมได้ สอนเรื่องโลกธรรม 8 ท่านถึงเรียกว่าอมฤตธรรมของเทวดาเลย
ถ้าเราตั้งจิตแบบนี้ก็ดี ใครมาต่อว่าด่าทอเรา ให้เราระลึกว่า เขากำลังแสดงธรรม เป็นอมฤตธรรมเสียด้วย แล้วคนที่แสดงอมฤตธรรมให้เรา ต้องยกเขาให้เป็นเทวดาไปเลย ถ้าเราตามไม่ทัน ถูกคนด่าแล้วก็โกรธ ถ้าตั้งสติสักหน่อย ลองพิจารณาดูว่า เราโกรธเพราะอะไร ก็อาจจะเห็นสัจธรรมที่ลึกลงไปว่า เราโกรธเพราะอะไร เพราะเรายึดมั่น เราหวงแหนในหน้าตา ในภาพลักษณ์ของเรา อันนี้คือ อุปาทาน ถ้าเรามองเห็นตรงนี้ที่เราโกรธ มันก็เห็นสัจธรรมอีกขั้นหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เวลาทุกข์ เวลาโกรธ ก็ด่าเลย เวลาโกรธก็ตะหวาดใส่ เรียกว่าส่งจิตออกนอกเต็มที่ อย่างนี้ไม่เห็นสัจธรรมหรอก เพราะเป็นผู้โกรธเสียแล้ว เราจะเห็นสัจธรรมได้ว่ามันเป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นเพราะกิเลสในใจเราก็ต่อเมื่อเรามีสติ ความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะเป็นผู้โกรธ ก็เห็นความโกรธ แล้วก็สาวหาต่อไปว่าโกรธเพราะอะไร ไม่ใช่โกรธเพราะเขาว่าเรา แต่โกรธเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน เขาเรียกว่า อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นในตัวตน อันนี้มันก็แสดงสัจธรรมให้เราเห็น เพราะฉะนั้นอะไรเกิดขึ้นกับเรา มองดีๆ มองให้ถูก มองให้เป็น มันสอนธรรมให้กับเราได้ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรา หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา
ในสมัยพุทธกาล มีพระหลายรูปทีเดียว ที่ท่านบรรลุธรรม เพราะเห็น เพราะได้ยินในสิ่งที่เราไม่คิดว่ามันจะทำให้เห็นธรรมขึ้นมาได้ อย่างพระลกุณฏกภัททิยะ ท่านเป็นพระตัวเล็กๆ คล้ายๆโก๊ะตี๋ ตัวป้อมๆ พระ นึกว่าท่านเป็นเณร วันหนึ่งท่านเดินอยู่บนถนน แล้วก็มีรถม้าแล่นผ่าน คนที่อยู่ในรถม้านั้นเป็นหญิงคณิกา พอผ่านท่านลกุณฏกภัททิยะ เห็นท่านน่ารัก ก็ยิ้มให้จนเห็นฟันขาวเลย ท่านลกุณฏกภัททิยะ ก็เห็น แต่แทนที่ท่านเห็นแล้วนี้จะเกิดราคะ ปรากฏว่าท่านกลับมองว่า นี้คือบ่วงแห่งมาร สิ่งที่ล่อให้คนหลงติดในกาม พอท่านเห็นโทษของรูปว่าเป็นเสมือนบ่วงแห่งมาร ปรากฏว่าท่านบรรลุธรรมเลย เป็นพระอนาคามี กลางถนนเลย จากการที่ได้เห็นหญิงสาวยิ้มให้ ทั้งที่สำหรับคนทั่วไปแล้ว การเห็นภาพแบบนี้มีแต่จะกระตุ้นให้เกิดราคะ แต่ท่านเห็นอีกแบบหนึ่ง
ยังมีเกร็ดเล่าของท่านลกุณฏกภัททิยะ เมื่อท่านได้บรรลุนิพพาน เป็นพระอรหันต์ ท่านก็มีทำหน้าที่คล้ายพระที่ดูแลเรื่องการจัดสรรอาหาร สวัสดิการของวัด ท่านเป็นอรหันต์ แต่ว่าท่านทำหน้าที่เป็นฝ่ายสวัสดิการในวัด ท่านก็ทำหน้าที่ของท่านอย่างดี มีคราวหนึ่ง พระกลุ่มหนึ่งมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เห็นท่านลกุณฏกภัททิยะ เดินผ่านไป แล้วก็อมยิ้มกัน พระพุทธเจ้าเห็นพระกลุ่มนี้ก็เลยพูดขึ้นมาว่า “ท่านเห็นพระรูปเมื่อสักครู่นี้ไหม พระรูปนี้ ฆ่าพ่อฆ่าแม่ จึงได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เข้าถึงพระนิพพาน” พระกลุ่มนี้งงเลย ฆ่าพ่อฆ่าแม่ แล้วบรรลุนิพพานได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “ที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ คือ ฆ่าตัณหาเหมือนแม่ ฆ่าอัสมิมานะ เหมือนพ่อ” คือพ่อแม่นี้ทำให้เกิด แต่ว่า การเกิดในทางจิตคือภพชาติ มันเกิดได้เพราะตัณหา เพราะมานะ เพราะกิเลส พูดง่ายๆ พ่อแม่ทำให้เกิดมาทางโลก แต่ว่าตัณหา มานะ มันทำให้เกิดภพชาติขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดแล้วเกิดเล่า ไม่รู้จบ เรียกว่าต้องท่องเที่ยวในสังสารวัฏ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ก็ได้ตรัสว่า “โครงเรือนของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป เจ้าคือใคร คือ ตัณหา ตัณหาทำให้มี การเกิด เมื่อฆ่าตัณหาได้ ดับตัณหาได้ ก็เหมือนกับฆ่าแม่ ถ้าดับอัสมิมานะ ได้ก็เหมือนกับฆ่าพ่อ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ ยังฆ่า สัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิ ก็คือฆ่ากษัตริย์ทั้งสอง อุจเฉททิฏฐิ และ สัสสตทิฏฐิ ก็คือ มิจฉาทิฏฐิ
การที่ได้เห็นอะไรก็ตาม หากว่าเรามองเป็น ก็สามารถจะเห็นสัจธรรมได้ อย่างพระติสสะ ท่านกำลังเดินอยู่ได้ยินได้ฟังนางคณิการ้องเพลง ก็เกี่ยวกับความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงของรัก ความไม่เที่ยงของสังขาร ความไม่เที่ยงของชีวิต ท่านฟังแล้วปรากฏว่าตื่นเลย บรรลุธรรมเลย จากเสียงเพลงของนางคณิกา เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เราได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เห็น ไม่ว่าที่เราได้รับรู้มา เสียงที่ได้ยินทางหู ไม่ว่าจะบวกหรือลบ มันสามารถแสดงสัจธรรมให้เราได้ ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา เช่น ความโกรธ หรือนิวรณ์ตัวใดก็ตาม มันก็แสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ เพียงแต่ว่าเราอย่าเข้าไปเป็นมันก็แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็นความง่วง ความโกรธ ความเบื่อหน่าย เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นมัน ตอนแรกก็เห็นในแง่ที่ว่ารู้ทันว่ามันเกิดขึ้น อันนี้คือเห็นด้วยสติ ต่อมาเมื่อมีสติแล้ว เห็นมันเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วก็เห็นไปนานๆ ก็จะเห็นอาการของมัน เห็นลักษณะของมัน เห็นว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันไม่เที่ยง เห็นว่ามันมีเหตุ จึงเกิด ไม่มีเหตุ หรือว่าเหตุนั้นดับไป มันก็ดับไปด้วย ตรงนี้ถ้าเห็นบ่อยๆก็จะรู้เลยว่า มันเป็นทุกข์ ก็คือมันไม่สามารถตั้ง หรือทนอยู่ในสภาพเดิมได้ และถ้าเห็นไป ๆ ก็จะเห็นความจริงที่ลึกเลยว่า มันไม่มีตัวตนของมัน คือ มันต้องอาศัยสิ่งอื่นถึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่เกิด หรือมีเหตุแล้ว ถ้าเหตุนั้นดับไปมันก็เสื่อมสลายไป นั่นแสดงว่าอะไร แสดงว่ามันไม่มีตัวตนของมันเอง ก็คือ อนัตตา
เพราะฉะนั้น ที่หลวงพ่อคำเขียนเน้นมากว่า “อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความทุกข์ ล้วนสอนธรรมให้กับเราทั้งสิ้น” และพูดไว้อีกตอนหนึ่งว่า “เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เห็นความโกรธ มันก็สอนธรรมให้เราได้ แต่ถ้าเป็นผู้โกรธแล้ว ก็ไม่สามารถจะเห็นธรรมจากมันได้เลย” หมายความว่าอะไร หมายความว่า ให้เราอย่าไปหัวเสียหงุดหงิด รำคาญใจ เสียใจ เวลาที่เรามีอารมณ์ที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น นักปฏิบัติธรรมหลายคน เวลาที่ปฏิบัติ อยากได้ใจสงบ
พอความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นก็ไม่พอใจ พอความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็ไม่พอใจ พอความง่วงเกิดขึ้นก็ไม่พอใจ อันนี้เรียกว่าพลาดโอกาส พลาดโอกาสที่เราจะได้เห็นสัจธรรมจากสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น กุศล หรือ อกุศล สำหรับนักภาวนาที่เน้นวิปัสสนาแล้ว มันมีค่าเสมอกัน คือ มันสอนสัจธรรมอย่างเดียวกัน สอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ถ้าไปเน้นสมถะ เน้นความสงบ เราจะชอบฝ่ายกุศล จะไม่ชอบฝ่ายอกุศล ถ้ามีปีติ ก็ชอบ ถ้ามีปัสสัทธิ ก็ชอบ แต่ถ้ามีนิวรณ์ จะไม่เอา ใจของเราที่ไม่เป็นกลางต่อสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น มันทำให้เราพลาดโอกาสในการที่จะเห็นสัจธรรมจากสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วก็ ภายในก็คือ นิวรณ์ หรือว่าอกุศลธรรม ถ้าเป็นกุศลธรรม ถ้ามองเป็น มันก็สอนธรรมได้เช่นเดียวกัน อันนี้รวมไปถึงเวทนาด้วย ทุกขเวทนาความปวด ความเมื่อย อย่าไปรังเกียจ อย่าไปผลักไส อย่าไปมองว่าเขาเป็นศัตรู เขาสามารถแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ สามารถจะสอนอะไรเราได้มากมาย ไม่ใช่แค่สอนเรื่องความอดทน ไม่ใช่สอนให้จิตใจเราเข้มแข็ง อันนั้นมันยังเป็นเบื้องต้น แต่ว่าเขาสามารถจะให้เราได้มากกว่านั้น ก็คือ เผยสัจธรรมให้เราเห็น
เพราะฉะนั้น นักภาวนา ต้องพร้อมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจากภายนอก หรือว่าเกิดภายใน แดดร้อน อากาศหนาว ยุง มากก็ไม่รังเกียจ ไม่ผลักไส เพราะถือว่า มันเป็นการบ้านที่มาฝึกเรา เป็นโอกาสที่จะฝึกสติให้เกิดมีขึ้น