แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีอาจารย์คนหนึ่งเล่าว่า เคยไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้กับนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งก็ไม่ใช่มีแต่หนุ่ม ๆ สาว ๆ มีข้าราชการกรมกองต่าง ๆ มาเรียนด้วยเพื่อทำปริญญา บรรยายไป มีช่วงหนึ่งพูดถึงเรื่องหลักธรรมทางพุทธศาสนา อาจารย์ท่านนี้บอกว่า หลักธรรมที่สำคัญอันหนึ่งของพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่มีความสำคัญมาก ก็คือไตรลักษณ์ คือความจริง 3 ประการ พูดจบก็ถามนักศึกษาว่าไตรลักษณ์ ได้แก่อะไรบ้าง นักศึกษาก็เงียบ อาจารย์ก็เลยบอกว่า จะเฉลยให้ข้อหนึ่งก่อน ข้อแรกคือ อนิจจัง ต่อไปคืออะไร นักศึกษาก็เงียบ อาจารย์ก็เลยบอกว่าก็ทุกขังไง อนิจจัง ทุกขัง แล้วอะไรคือข้อที่ 3 คราวนี้นักศึกษาตอบพร้อมกันเลย พลัง
อาจารย์งงเลย จริง ๆ อนิจจัง ทุกขัง ก็ต้องอนัตตา แต่ว่านักศึกษาไปเข้าใจ ไปจำได้ว่าอายุ วรรณโณ สุขัง พลัง อาจารย์ก็อึ้งเลย เพราะว่าแสดงว่านักศึกษาไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งที่จริงก็คงไม่ใช่เป็นเฉพาะนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาตรีหรือว่าเดี๋ยวนี้คนทั่วไปก็ไม่รู้แล้วว่าไตรลักษณ์ คืออะไร หมายความว่าอย่างไร ศีลห้าบางคนก็จำไม่ได้แล้ว ก็น่าเห็นใจว่าศีลห้ามี 5 ข้อ แต่ไตรลักษณ์มีแค่ 3 ข้อ ยังจำกันไม่ได้ คำตอบของนักศึกษายังชี้ให้เห็น ว่าคนไทยเราคุ้นกับคำอวยพรมากกว่า อายุ วรรณโณ สุขัง พลัง บางทีก็เข้าใจคลาดเคลื่อน อาจารย์ถามว่าทุกขัง นักศึกษาก็ตอบว่าพลังเลย ทุกขังแล้วมันก็ต้องอนัตตา ถ้าสุขังจึงค่อยพลัง
คนไทยเป็นอย่างนี้จริง ๆ คือว่าคุ้นเคยกับอายุ วรรณโณ สุขัง พลัง หรืออายุ วรรณะ สุขะ พละมากกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าคนไทยชอบขอพร อยากได้พร แต่ที่จริงแล้วพร 4 ประการ มันสู้ความจริง 3 ประการไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าลักษณะของสิ่งต่าง ๆ คือสรรพสิ่งหรือเรียกว่าความจริงของสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ก็ได้ แต่ว่าคนทั่วไป ไม่ค่อยอยากจะรู้อยากจะฟังเรื่องความจริง โดยเฉพาะที่มันไม่ถูกอกถูกใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นความจริงที่อาจจะไม่ค่อยถูกใจคนเท่าไร มันทวนกระแสกิเลสของผู้คน เพราะคนอยากจะให้ทุกอย่างมันเที่ยง เช่นให้ร่างกายนี้เที่ยง ข้าวของทรัพย์สมบัติเที่ยง ทุกคนก็อยากจะมีความสุขแล้วก็ธรรมชาติคนเรามันก็มีความยึดติดในอัตตา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทวนกระแสกิเลส มันสวนทางกับความรู้ความเข้าใจของผู้คน ตั้งแต่เกิดจนโต ก็ไปคิดปักใจว่าทุกอย่างมันเที่ยง เป็นสุข มันเป็นตัวเป็นตน ความจริงที่ไม่อยากฟัง แต่ว่าอยากได้ อยากฟังพรมากกว่า พร 4 ประการ แต่ที่จริง ถ้าดูดี ๆ กูฏไตรลักษณ์ประเสริฐกว่าพร 4 ประการ เพราะว่าพร 4 ประการ ไม่รู้มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างเราทำบุญ เราก็ขอพร พระก็ให้พร อายุ วรรณะ สุขะ พละ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอายุยืนจริงไหม จะมีสุขภาพ มีผิวพรรณผ่องใส มีพลังจริงหรือเปล่า หรือว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ส่วนกฏไตรลักษณ์ มันแสดงให้เราเห็นตลอดเวลา นั่งอยู่อย่างนี้สักพักหนึ่ง มันก็เริ่มเมื่อยแล้ว อันนี้แสดงว่าทุกขัง ปรากฏแล้ว แสดงให้เราเห็นแล้ว เราต้องขยับเวลาเราเมื่อยมาก ๆ ก็เปลี่ยนท่าไม่สามารถนั่งในท่าใดท่าหนึ่งได้นาน ก็อนิจจัง ตลอดเวลา มันแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้เราเห็น ถ้าเราเห็น มันก็ช่วยทำให้เราคลายทุกข์ได้ คนเราเวลาเจ็บเวลาป่วย อนิจจา ระลึกถึงอนิจจังไว้บ้าง เวลาสูญเสียพลัดพรากจากข้าวของ สิ่งของ คนรัก ก็นึกถึงอนิจจังไว้บ้าง คนไทยเรานึกอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งคำว่าอนิจจา เคยเป็นคำที่ติดปากผู้คน สมัยก่อน อนิจจา เป็นคำที่ใคร ๆ ก็พูดกัน อุทาน เวลาได้ข่าวว่าคนประสบอุบัติเหตุหรือว่ามีคนล้มตายก็อนิจจา รวมทั้งเวลามันเกิดขึ้นกับตัวเองก็อนิจจา คือให้ทำใจได้ ไตรลักษณ์ทำให้เรายอมรับความจริงที่ปกติไม่ค่อยอยากจะให้มันเกิดเท่าไร
ความแก่ ความเจ็บ ความชรา ความป่วย ความพลัดพราก ความสูญเสีย พวกนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่พอเกิดแล้ว ถ้าเรานึกถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออย่างน้อยคำว่าอนิจจา นึกเอาไว้ มันก็ปล่อยวางได้ ทำใจได้ ส่วนอายุ วรรณโณ สุขัง พลัง ถ้าเราไปยึดติดถือมั่นมาก ๆ มันก็ทุกข์ มันทำให้ทุกข์ เพราะว่าคนที่ป่วยก็รอว่าเมื่อไหร่จะมีวรรณะ สุขะ พละสักที มาทำบุญก็หลายวัดแล้ว สุขภาพก็ยังไม่ดีขึ้นเลย เรี่ยวแรงกำลังวังชาก็ยังไม่ดีขึ้นเลย ความอยากได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทำให้ทุกข์ เพราะว่าทำบุญเท่าไหร่ ก็ยังไม่ได้มา ทำบุญเท่าไหร่ก็ยังไม่หายเจ็บหายป่วย ทุกข์แล้ว แต่ถ้าไตรลักษณ์ ถ้าเราเข้าใจ หมั่นพิจารณา หมั่นระลึกถึง มันป่วยมันก็เป็นธรรมดา ของหายก็เป็นธรรมดา มันไม่มีอะไรที่มันจะอยู่กับเราได้นาน ร่างกายก็เป็นก้อนทุกข์ เจ็บป่วยก็ทำใจได้ อันนี้มันเรียกว่าถ้าเราเจออะไรขึ้นมาที่ไม่ถูกใจ ที่ไม่สมหวัง โยนเข้าตะกร้านี้เลย สามตะกร้านี้คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ป่วยเป็นอนิจจา ของหายก็อนิจจา แก่ชราก็ทุกขัง หรือไม่ก็โยนให้ไปว่าเป็นเรื่องอนัตตา อนัตตาแปลว่าไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจที่เราจะควาบคุมบังคับบัญชาได้ ร่างกายนี้มันปวดหัวตัวร้อน เราจะสั่งให้มันหยุด หาย เราก็สั่งไม่ได้ สั่งให้มันหยุดแก่ก็สั่งไม่ได้ ข้าวของสิ่งของก็เหมือนกัน มันเสียสั่งให้มันกลับมาฟื้นคืนขึ้นมาก็ไม่ได้มีแต่ต้องลงมือทำ ของบางอย่างเช่นนาฬิกาตาย มันเป็นอนิจจัง แต่ว่าทำให้มันฟื้นได้ นาฬิกาตายทำให้นาฬิกาเดินใหม่ได้ เพราะว่ามันอยู่ที่ลาน ถ้าไขลานมันจนมันหย่อนมาก ๆ มันก็ตาย แต่นาฬิกาตายเราทำให้มันเดินใหม่ได้ อันนี้เพราะมันมีเหตุปัจจัยที่ฟื้นขึ้นใหม่ได้ แต่คนตาย มันไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้กลับมามีชีวิตใหม่ได้ เพราะมันเป็นอนัตตาคือมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้อยู่ที่ความหวัง ความตั้งใจ ความปราถนาของเรา
ถ้าเราเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ เจออะไรก็ไม่ทุกข์ ถึงแม้ว่าจะเจ็บจะป่วย ถึงแม้ว่าจะชราก็ตาม ส่วนอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นแค่ความหวัง พระให้พรเท่าไร ๆก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีอายุ วรรณะ สุขะ พละได้ หรือถึงจะเกิดขึ้น มันก็ต้องใช้เวลากว่าจะเห็น กว่าจะรู้ กว่าจะประสบผลก็อาจจะอีกหลายปี เอาของที่มันชัด ๆ เห็นผลทันทีดีกว่า ก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และถ้าเราระลึกถึง มันทำให้เราหมั่นทำความดี มันทำให้เราหมั่นทำความดี ไม่ประมาท หมั่นดูแลรักษาสุขภาพเพราะรู้ว่าร่างกายนี้ถ้าปล่อยมันไปไม่ดูแลมันก็เสื่อม มันก็ชรา มันก็โทรมเร็ว เราก็ต้องดูแลมัน
อนัตตา แปลว่าทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยที่ดีมันก็ดีขึ้นมาได้ แต่ว่ามันไม่ใช่มันจะดีไปได้ตลอด เหมือนเครื่องบิน ทำด้วยเหล็กแต่ว่าเราก็สามารถจะบังคับให้มันขึ้นฟ้าได้ เหล็กลอยอยู่บนฟ้าอยู่บนอากาศ ก็ทำได้ เพราะเหตุปัจจัย แต่ว่าไม่มีเครื่องบินลำไหนที่มันจะอยู่บนฟ้าได้ตลอด สักวันหนึ่งมันก็ต้องตกลงมา อยู่ที่ว่าจะตกแบบนิ่ม หรือจะตกมาแบบกระแทกพื้น เพราะเหตุปัจจัยหมด คือน้ำมันหมด มันก็ลง คนเราอาจจะทำให้ชีวิตเจริญขึ้น ๆ แต่ถึงจุดหนึ่งมันก็ต้องหยุด เพราะว่ามันเป็นอนัตตา มันก็ต้องเสื่อม เจริญไม่มีคำว่าเจริญไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ต้องเสื่อมลงเพราะเหตุปัจจัยมันหมด ร่างกายพอเป็นหนุ่มเป็นสาวมีกำลังวังชาเยอะ ๆ สุดท้ายก็ต้องแก่ต้องชรา อันนี้มันเป็นหลักอนัตตา ซึ่งก็แสดงออกมาเป็นอาการทุกขัง แล้วก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือไม่จีรังยั่งยืน
เข้าใจหลักไตรลักษณ์ให้ดี ๆ เป็นคาถาที่ช่วยทำให้ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่ได้แปลว่าไม่เจ็บไม่ป่วย เจ็บป่วยแต่ใจไม่ทุกข์ เพราะเราระลึกอยู่เสมอ เป็นอนิจจัง อย่าไปคิดแต่เรื่องของอายุ วรรณะ สุขะ พละ อย่างเดียว นึกแต่เรื่องนี้ มันทำให้ทุกข์ได้ เพราะว่าพอร่างกายแก่ชราลงไป ความอยากจะให้มีวรรณะ สุขะ พละดี ๆ มันก็ได้แต่ความหวังแต่มันไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเรายอมรับความจริงได้ตามหลักไตรลักษณ์ เราก็สบายใจ