แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไม่รู้ว่าพวกเราจะเห็นเหมือนอาตมาหรือเปล่าว่า เมื่อคืนที่ผ่านมานี้สวยงามมาก เป็นคืนที่สวยงามคืนหนึ่ง บนฟ้าก็มีแสงระยิบระยับของดวงดาวเต็มท้องฟ้าเลย รอบๆศาลาไก่หน้ากุฏิหลวงพ่อก็วาววับ แสงเรืองด้วยเทียนที่พวกเราจุด ในขณะที่เดินจงกรม หรือว่าสร้างจังหวะตลอดทั้งคืน ที่จริงไม่ได้สว่างด้วยแสงเทียนเท่านั้น ถ้าพวกเราสามารถที่จะหยั่งเห็นจิตของแต่ละคน ก็คงจะเห็นใจที่สว่าง จิตบางคนอาจจะระยิบระยับ บางคนอาจ สว่างเรืองไปด้วยความรู้สึกตัว บางครั้งความสว่างนั้นก็อาจดูแผ่วไปบ้าง เพราะความง่วงเข้ามาครอบงำ ก็คล้ายๆกับเปลวเทียน ที่บางครั้งก็เหมือนกับจะมอดเพราะว่าลมมาพัด แต่ว่าเปลวเทียนก็สู้แรงลม ไม่ยอมดับ ยังสว่างจนข้ามคืนได้จนสิ้นสุด
การปฏิบัติข้ามคืน ก็เหมือนกับใจของหลายคน ที่บางครั้งอาจจะเหมือนกับความรู้ตัวมันจะดับวูบไป เพราะว่าความง่วงความหลงเข้ามาแทนที่ แต่ว่าก็สู้ แล้วก็สามารถประคองความรู้ตัว จนกระทั่งมาถึงนาทีนี้ ก็เป็นอันว่าได้ร่วมกันทำภารกิจอาจาริยบูชาถวายหลวงพ่อด้วยการปฏิบัติข้ามคืน อันนี้เป็นการทำบุญที่มีอานิสงส์มาก ปกติเวลาครบรอบวันตาย ครบรอบปีการตายของผู้คน เช่นพ่อแม่ หรือแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า ครบปีที่สูญเสียก็มักจะมีธรรมเนียมคือการทำบุญเลี้ยงพระ แต่อันนั้น มันมีอานิสงส์น้อยกว่า สิ่งที่เราทำเมื่อคืนที่ผ่านมา การทำบุญเลี้ยงพระก็ดีอยู่หรอก แต่ว่าไม่เกิดอานิสงส์ในการปลุกใจให้ตื่นให้สว่าง แล้วก็เป็นการเพิ่มพละห้า อินทรีย์ห้าให้งอกงาม ขึ้นในใจของเรา ถ้าหากว่าเราหันมาให้ความสำคัญกับการทำบุญแบบนี้ ด้วยการปฏิบัติบูชาให้กับ ผู้มีพระคุณของเรา ไม่เพียงแต่การถวายอาหาร หรือทำบุญ เลี้ยงพระ ก็เชื่อว่าจะเกิดความเจริญงอกงามในจิตใจของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง
เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่นึกว่าตัวเองจะสามารถปฏิบัติข้ามคืนมาได้เพราะว่าอาจจะไม่เคยมาก่อน หรือว่า ไม่มั่นใจว่าจะสามารถเอาช ความง่วง เอาชนะอุปสรรค ได้หรือป่าว แต่ว่าหลายคนก็ทำได้ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เรามีศักยภาพ มีความสามารถที่จะทวนกระแส จะเรียกว่า กระแสกิเลส หรือกระแสความเคยชินก็แล้วแต่ บ่อยครั้งเราก็ยอมปล่อยใจไปตามความเคยชิน แต่ก่อนทำไม่ได้ แล้วก็คิดว่าวันนี้ก็ยังทำไม่ได้ หรือไม่คิดที่จะทำ เพราะมีความเชื่อว่า ทำไม่ได้หรอก แต่ว่าคนเราเมื่อวานทำไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าวันนี้จะทำไม่ได้เหมือนกัน
เคยสังเกตไหม หรืออาจเคยได้ยินเรื่องราวของช้าง ช้างตัวใหญ่ๆที่เขาถูกล่ามไว้ ด้วยเชือกหรือว่าโซ่เส้นเล็กๆ หรือเชือกและโซ่ก็ไปผูกไว้กับหมุด หมุดก็เป็นหมุดเล็กๆ ช้างตัวใหญ่เพียงแค่มันเตะขา หรือสะบัดเชือกก็จะหลุดจากหมุด หรือไม่เชือกก็จะขาดด้วยซ้ำ แต่ทำไมเชือกเส้นเล็กๆหมุดเล็กๆ สามารถที่จะตรึงช้างไว้ได้อยู่ ก็เพราะว่าช้างมันถูกตรึงอย่างนั้นตั้งแต่เล็ก ตั้งแต่มันยังเด็กอายุไม่กี่เดือนมันก็ถูกล่ามไว้ ด้วยเชือกด้วยโซ่เล็กๆ ผูกไว้กับหมุดเล็กๆ แล้วมันก็โตขึ้น โตขึ้นจนมันเป็นช้างที่ใหญ่ แต่มันก็ยังคิดเหมือนเดิม ว่ามันไม่สามารถจะทำอะไรกับหมุดนี้ได้ เพราะตอนที่มันเป็นเด็ก มันก็พยายามเตะ พยายามที่จะดึงเชือกก็ไม่หลุด หมุดก็ไม่หลุด มันเคยทำตอนเด็ก แล้วไม่สำเร็จ แล้วมันก็คิดว่าถึงวันนี้มันก็ทำไม่ได้
ทั้งที่จริงๆ ตัวมันโตขึ้นมาก มันก็ยังคิดเหมือนเดิมว่าฉันทำไม่ได้หรอก มันลืมไปว่าตัวมันใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก
คนเราก็เหมือนกันหลายคนทั้งที่มีศักยภาพมากขึ้น เพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่ว่าก็ยังคิดเหมือนเดิมว่า ฉันทำไม่ได้หรอก เอาประสบการณ์จากอดีตมาครอบงำ พันธนาการตัวเองไว้ แต่ถ้าเราไม่ลองก็ไม่รู้ อย่างเช่น วันนี้หลายคนได้ลอง แล้วก็พบว่าเราทำได้ ที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้มันเป็นแค่ความคิดแต่มันไม่ใช่ความจริง แล้วคนเรา จะไม่พบความจริง จนกว่าจะได้ลอง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าที่ หลายคนทำได้เพราะว่ามีหมู่มิตร มีหมู่มิตร เจ็ดสิบแปดสิบคน ร่วมๆร้อยมาร่วมปฏิบัติ เห็นคนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้สิ คนหนุ่มบางคน คนสาวบางคนก็รู้สึกว่าจะไม่ไหว แต่เห็นคนเฒ่าเขาทำได้ หรือว่าพระบางรูปก็คิดว่าไม่ไหวแต่เห็นโยมทำได้ ก็คิดว่าเขาทำได้ ฉันก็ต้องทำได้สิ อันนี้ก็เอามาใช้ประโยชน์ได้ คือทำให้ไม่ยอมแพ้ สามารถจะทำความเพียรจนกระทั่งทำในสิ่งที่ตัวเองไม่คิดว่าจะทำได้ อันนี้เรียกว่าก้าวข้ามตนเอง หรือว่าทวนกระแสความเคยชิน ซึ่งทำได้ เพราะอาศัยเพื่อน เพื่อนนี่สำคัญมาก ในการที่จะเป็นกำลังใจหนุน ให้เราสามารถจะทำในสิ่งที่ทำได้ยาก เป็นการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ หมายความว่าการการประพฤติธรรมอันประเสริฐจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกัลยาณมิตร อันนี้สำหรับปุถุชนทั่วไป พระพุทธเจ้าท่านเป็นข้อยกเว้น เพราะพระองค์ไม่มี กัลยาณมิตรเลย เรียกว่าสำเร็จอรหัตผล บรรลุพระสัมมาพระสัมโพธิญาณได้ด้วยพระองค์เอง แต่ที่จริงก็มีปัจจัยหนุนช่วยมากแต่เป็นเรื่องอดีต กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ หมายถึงว่าการที่เราจะทำสิ่งดีงามได้ ต้องอาศัยกัลยาณมิตรช่วยมาก อย่างไรก็ตามเราก็ต้องก้าวข้ามไปถึงจุดที่ว่า แม้ไม่มีกัลยาณมิตร เราก็ยังสามารถทำได้ นั่นก็หมายความว่าต่อไป ถึงแม้ว่าจะไม่มีหมู่มิตรมาร่วมเดินกับเรา แต่ถ้าหากว่าเราตั้งใจ จะเดินคนเดียวปฏิบัติเนสัชชิกข้ามคืนเรา ก็จะสามารถทำได้ อันนี้ก็เป็นแบบฝึกหัดที่เชิญชวนให้พวกเราได้ลอง ทำกันต่อไปว่า ถึงแม้ไม่มีเพื่อนมาเดิน ปฏิบัติธรรมข้ามคืนกับเรา เราก็จะทำที่กุฏิของเราคนเดียว แล้วก็จะทำให้ได้ อันนี้ก็ทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และจะทำให้เรากล้าที่จะทำในสิ่งที่ยากยิ่งกว่าเดิมได้
คนเราต้องเริ่มทำจากสิ่งง่ายไปหายาก แล้วก็ไม่อยู่กับที่ วันนี้ทำได้เท่านี้พรุ่งนี้ก็จะทำให้มากกว่านี้ เพื่อที่เราจะได้ มีประสบการณ์ มีความมั่นใจมากขึ้น ในการจะทำสิ่งที่ยากยิ่งกว่าเดิม ถึงจุดนี้เราก็จะเรียกว่าพึ่งตัวเองได้ ไม่มีเพื่อนเราก็ทำได้หรือว่าบางทีคนรอบข้างเขาไม่เอื้อเฟื้อไม่สนับสนุน เราก็ยังทำได้ สมัยที่หลวงพ่อคำเขียน ท่านเป็นโยมแล้วก็ไปปฎิบัติกับหลวงพ่อเทียนปี 2510 เดือนสิงหา เป็นเดือนที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตของหลวงพ่อคำเขียนมา ท่านเกิดเดือนสิงหาแล้วก็มาได้ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยน แปลงทางจิต นำไปสู่การบวชก็เดือนสิงหา ท่านมรณภาพก็เดือนสิงหา ตอนที่ท่านไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนตอนยังเป็นโยมอยู่ ส่วนใหญ่เป็นพระ แล้วก็พอพระเห็นโยม บางครั้งก็ขอให้โยมไปช่วยทำนั่นทำนี่หน่อย ช่วยไปเก็บหน่อไม้ให้หน่อย ไปช่วยเก็บมะขามป้อมให้หน่อย ท่านถูกพระใช้บ่อย จนกระทั่งรู้สึกมีความไม่พอใจขึ้นมา ถึงขั้นว่าพระเหล่านี้ ดูไม่มีศีลเลย เอาโน่นเอานี่ เรานี่เป็นฆราวาสยังมีศีลมากกว่า พอคิดแบบนี้จิตใจก็หมองแล้ว ทำให้เกิดท้อในการปฏิบัติ แต่ตอนหลังท่านได้สติได้คิดขึ้นมาว่าอย่าไปสนใจเลย พระจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของท่าน หลวงพ่อซึ่งตอนนั้น เป็นโยมบอกว่าจะขอดู แต่หลวงพ่อเทียนท่านั้นแหละ ไม่ดูคนอื่นดูเฉพาะหลวงพ่อเทียน ก็ทำให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติ
บางทีเราก็ต้องใช้วิธีนี้บ้าง ถ้าเกิดไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกื้อกูล อย่าไปหงุดหงิด กับผู้คนแวดล้อม เขาจะเป็นอย่างไรก็ไม่เอามารบกวนจิตใจ อยู่หลายคนเหมือนกับอยู่คนเดียว อันนี้พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ อยู่หลายคนก็ให้เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็เหมือนกับอยู่หลายคน อยู่คนเดียวเหมือนกับอยู่หลายคนหมายความว่า ไม่กลัว อยู่ป่า อยู่กุฎิคนเดียว ก็เหมือนกับอยู่หลายคน ก็คือทำให้เกิดความอบอุ่น อันนี้ถ้าเกิดเราได้มาเรียนรู้ จากประสบการณ์ของเราในค่ำคืนนี้ ก็เชื่อว่าจะมีอานิสงส์มาก ช่วงเวลานี้ถ้าย้อนถอยหลังไปหนึ่งปีเต็ม มันเป็นช่วงที่หลวงพ่อกำลังอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นช่วงที่ท่านมีทุกขเวทนามาก อาจารย์ตุ้มก็ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า ช่วงสิบนาทีสุดท้ายของหลวงพ่อเป็นอย่างไร แม้ว่าท่านจะมีทุกขเวทนามาก เพราะว่าโรคแล้วก็ประกอบ กับ เนื้อที่หลอดลมมันโตแล้วก็กำลังปิดหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก การหายใจไม่สะดวกเป็นทุกขเวทนามาก แต่หลวงพ่อท่านนิ่งมากมีสติโดยตลอด ไม่มีอาการ ทุรนทุราย
กิจสุดท้าย ที่ท่านทำก็คือเข้าห้องน้ำ ถ่ายหนัก แล้วก็ล้างมือ ล้างหน้า กลับขึ้นมาบนเตียงโดยไม่มีใครพยุง ท่านขึ้นมาของท่านเอง ส่วนลูกศิษย์ก็พยายามมะรุมมะตุ้ม เพื่อที่จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อ ที่มันหด ท่านจะได้หายใจสะดวก แต่ไม่เป็นผล ช่วงนั้นเป็นช่วงความเป็นความตายมาก และหลวงพ่อท่านก็รู้ว่าสังขาร ไม่สามารถจะไปต่อได้แล้ว และท่านก็ยอมรับความตาย เพราะท่านพร้อมเสมอ ท่านก็ขอกระดาษขอดินสอมา แล้วก็เขียนข้อความว่า พวกเราขอให้หลวงพ่อตาย อันนี้เขียนเพื่อให้ลูกศิษย์ได้ยอมรับว่า ทำอะไรไม่ได้แล้ว กับร่างกายนี้ ให้หลวงพ่อได้ตายดีกว่า ท่านวางดินสอยื่นกระดาษให้ลูกศิษย์ เสร็จแล้วท่านก็พนมมือ ที่จริงท่านพนมมือเป็นประจำ เพื่อแสดงความขอบคุณ แต่พนมมือวันนั้นคงมีความหมายถึง การลาด้วย แต่ว่าลูกศิษย์ผู้ดูแลก็ไม่เข้าใจ ข้อความ ที่ท่านเขียนก็อ่านไม่ค่อยออกด้วย อย่างที่อาจารย์ตุ้มเล่าว่า สังขาร ร่างกาย ตอนนั้นมันก็เขียนได้เท่านี้แหละ ก็คือเขียนหวัด พอท่านพนมมือเสร็จ ท่านก็หลับเหมือนกับหลับสบาย แล้วสักพัก ตาก็เหมือนกับว่าแข็ง ชั่วแวบเดียว หลังจากนั้น คอตก พูดภาษาชาวบ้าน คือว่าสิ้นลม
ท่านรู้ตัวเกือบตลอดแล้ว พอถึงเวลาที่จะต้องไปก็ไปอย่างสงบ ไม่มีการทุรนทุราย อันนี้เป็นการตายที่น่าประทับใจมาก จะเรียกว่าเป็นการตายที่งดงามก็ได้ แม้ว่าจะนำมาซึ่งความเศร้าโศกอาลัยของลูกศิษย์ แต่ว่าก็เป็นแบบอย่างของนักปฏิบัติธรรม
มีครูบาอาจารย์หลายท่านที่ท่านมรณภาพ ละสังขารด้วยอาการที่สงบ แล้วก็บางทีก็ด้วยอาการที่แปลก หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ท่านอาพาธตอนที่ธุดงค์แล้วก็อาพาธหนักก็ต้องหามท่าน เข้าเมืองเพื่อรักษา แต่ท่านไม่ตั้งใจจะรักษาเพราะรู้ว่า อาการหนักมาก ตลอดทางท่านก็หลับตาตลอด แต่ก็ไม่ได้ หมดสติ ก็คงจะทำสมาธิ พอเข้าเมืองท่านก็บอกพาท่าน ไปอุโบสถ เข้าไปในวัด ท่านเข้าไปทำไม ท่านเข้าไปเพื่อจะนั่งสมาธิ เสร็จแล้วก็กราบ กราบพระพุทธรูปสามครั้ง พอกราบสามครั้งเสร็จท่านก็นิ่งเลย นิ่งในท่ากราบนี่แหละก้มกราบ ลูกศิษย์ก็แปลกใจ ทำไมท่านกราบในท่านั้นนานเหลือเกิน ปรากฏว่าท่านละสังขารไปแล้ว มีความรู้ตัวเกือบตลอด แล้วก็สามารถจะกราบได้ คือถ้าไม่รู้สึกตัวก็กราบไม่ได้ และพอกราบเสร็จก็ไปเลย
หลวงปู่ดุลย์ ท่านอายุเก้าสิบหก ท่านป่วยแค่สองวันเองแล้วก็ท่านก็ไม่ไปโรงพยาบาล ด้วยบอกไม่ต้องไป เพราะท่านรู้ว่าไปคราวนี้ไม่หายแน่ ตีสองของวันสุดท้าย ท่านก็ยังให้พระสวดมนต์ แล้วท่านก็แสดงธรรม เรื่องนิพพาน แสดงธรรมยาวเลย เสร็จแล้วพอตีสาม ท่านก็หลับตาเหมือนกับหลับนิ่ง ลมหายใจหายใจเบาๆ พอตีสี่ปรากฎว่าลมหายใจหยุด หายไปแล้วไม่รู้หายไป ตอนไหน ไม่มีอาการทุรนทุราย แล้วก็เรียกว่ามีความรู้ตัว เกือบจะตลอด สามารถจะแสดงธรรมได้ จากประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องคนตายโดยเฉพาะ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เราจะพบว่าจำนวนมากตายแบบทุรนทุราย หรือมิฉะนั้นก็โคม่าพักใหญ่ อาจจะโคม่า 2-3 ชั่วโมง 1 วันกว่าจะสิ้นลม แต่ก็มีหลายท่านที่สามารถที่จะพูดได้ทำอะไรได้ด้วยความรู้สึกตัว แล้วช่วงเวลาผ่านไปแค่ไม่กี่วินาทีก็หมดลมไปแล้ว อันนี้มันไม่ใช่เป็นความบังเอิญ แต่ว่ามันเป็นผลแห่งการปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่แต่พระเท่านั้นที่ ทำได้ ญาติโยมถ้าปฏิบัติก็ทำได้เหมือนกัน
อุบาสิกาท่านหนึ่ง ชื่อว่าคุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร ท่านนี้สำคัญ เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักกันเมื่อไม่นานมานี้ ที่เป็นที่รู้จักก็เพราะว่าหนังสือของท่านที่มีการตีพิมพ์แพร่หลาย ในช่วงยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ก็เคยคิดว่าเป็น ปุจฉาวิสัชนาระหว่างลูกศิษย์กับหลวงปู่มั่น หลายคนคิดว่าผู้วิสัชนาคือหลวงปู่มั่น ก็พิมพ์กันใหญ่เลย เพิ่งมาค้นพบว่า ไม่ใช่หลวงปู่มั่น แต่เป็นคุณหญิงใหญ่ ที่เป็นอุบาสิกา ท่านเป็นคนที่มีความรู้ในทางปริยัติ และการปฏิบัติที่ก้าวหน้ามากทีเดียว แม้กระทั่งพระก็นับถือ พระผู้ใหญ่ก็นับถือ ว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงภูมิ แต่ว่าเขียนหนังสือก็ไม่ลงชื่อ ไม่ต้องการประกาศตัว หรืออาจจะเป็นเพราะว่าอคติของคน สมัยนั้นว่าผู้หญิงไม่รู้ธรรมหรอก ผู้หญิงก็ได้แต่ทำบุญ ใส่บาตร แต่ว่าเพิ่งมารู้เมื่อไม่กี่ปีนี้ว่า หนังสือธรรมหรือธรรมปฏิบัติที่คิดว่าหลวงปู่มั่น เป็นผู้วิสัชนาไม่ใช่
ตอนที่ท่านจะสิ้นลมอายุ 58 ป่วยหนัก บวชชีได้ 2-3 ปีหลังจากที่สามีเสียชีวิตก็บวชชีเลย วันสุดท้ายหมอมาตรวจ หมอก็บอกว่ายังอยู่ได้นาน แต่ว่าคุณหญิงใหญ่แม่ชี บอกหมอว่า อย่ามาปลอบใจฉันเลย คือรู้ตัวเองแล้วว่าคงจะใกล้มากๆด้วย ก็บอกว่าช่วยนิมนต์พระมาหน่อย นิมนต์พระที่รู้จัก พอพระมาท่านก็บอกว่าสวดมนต์ให้หน่อย แล้วท่านก็บอกบทที่สวดว่า ให้สวดบทไหนบ้าง บทยากทั้งนั้นแหละ ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร อนัตตลักขณสูตร ปฏิจจสมุปบาท พระสวดเสร็จก็สนทนาธรรมกัน สนทนาธรรมสักพักคุณหญิงใหญ่ ก็บอกว่าจะขอกราบพระ ระหว่างที่กราบพระก็บอกว่า ขอทิ้งสังขารไว้ที่นี่ ขอทิ้งสังขาร ไว้ตรงนี้ กราบสามครั้ง แล้วก็แน่นิ่งไปเลย พระนี่ทีแรกนึกว่าท่านเป็นลมไปหรือเปล่า พอรู้ว่าสิ้นลมแล้วยังพูดอุทานขึ้นมาเลยว่าตายจริงๆหรือ กราบพระเสร็จไปเลย อาการคล้ายหลวงปู่เสาร์
ฉะนั้นเรื่องการตายอย่างสงบ ตายในอาการแบบนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นพระ เป็นโยม เป็นแม่ชี ทำได้ทั้งนั้น ถ้าเราปฏิบัติ หลวงพ่อของเรา ท่านก็ได้แสดงให้เห็นถึงการที่ท่านได้เข้าใจ ในสัจธรรม ความจริง จนกระทั่งไม่มีความกลัวเรื่องความตายเลย ความตายสำหรับท่านคงไม่ต่างจาก หมาเห่าช้าง หลวงพ่อท่านเคยเปรียบเทียบเสมอหมาเห่าช้าง หมามันคิดว่ามันน่ากลัว มันมีอำนาจแล้วมันก็ขู่ช้าง แต่ช้างไม่สะดุ้งสะเทือน เพราะรู้ว่าหมามันเล็กน้อยมาก ความตายเปรียบเหมือนกับหมา หลวงพ่อเหมือนกับช้าง ท่านไม่มีความรู้สึกกลัวเลย ความตายมัน อาจจะดูน่ากลัว ในสายตาคนอื่นแต่ว่าท่านไม่กลัว แล้วก็เรียกได้ว่าท่านยอมรับได้ด้วยซ้ำ อะไรที่ทำให้ท่านสามารถที่จะละสังขาร ไปได้ด้วยอาการเช่นนี้ ถ้าตอบง่ายๆก็คือเพราะว่าเมื่อท่านป่วย ท่านก็รู้วิธีที่จะป่วยอย่างสงบ ท่านเคยพูดว่าสนุกป่วยด้วยซ้ำ ตอนที่ท่านป่วย ท่านนิ่งมาก แม้ว่าจะมีทุกขเวทนามาก ตอนที่ท่านป่วยครั้งแรก หมอเคยกดที่ท้องท่านซึ่งบวม หมอถามว่าเจ็บไหม หลวงพ่อบอกเจ็บ เกินร้อย แล้วทำไมไม่ร้องละหมอถาม หลวงพ่อก็ตอบว่าปวด แล้วจะร้องทำไมให้ขาดทุน ตอนหลังท่านก็อธิบายต่อว่า ความปวด มันไม่ลงโทษเราหรอก มันไม่เท่าไหร่หรอก ความเป็นผู้ปวดต่างหากที่มันลงโทษเรา ความปวดมันไม่ลงโทษเราเท่าไหร่ แต่ความเป็นผู้ปวด ลงโทษเรา แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า อาการปวด มันมี เอาไว้เห็น ไม่ใช่มีเอาไว้เป็น นี่ท่านรับมือความปวด รับมือความเจ็บป่วยด้วยอาการแบบนี้ เมื่อรับมือกับความเจ็บป่วยด้วยการเป็นผู้เห็นไม่ใช่ผู้เป็น
ถึงเวลาตาย ท่านก็สามารถจะตายในอาการอย่างที่ว่ามาได้ มันเป็นขั้นเป็นตอน มันมีความสืบเนื่อง ถ้าตายสงบได้ เพราะว่าป่วยตายตอนที่ป่วยก็ป่วย โดยถ้าพูดอีกสำนวน คือ ป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย และอะไรที่ทำให้ท่านสามารถ จะป่วยแบบนั้นได้ ก็ต้องตอบเพราะเวลาท่านอยู่ เวลาท่านเป็นปรกติ ท่านอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างเรียกว่าเห็นดูมีแต่ภาวะที่ดูภาวะที่เป็นภาวะที่เห็น ไม่เข้าไปเป็นกับอะไรเลย คือจะป่วยแบบนี้ได้ ป่วยโดยที่ใจไม่ป่วย มันก็ต้องเกิดจากการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จนกระทั่ง อยู่กับเนื้อกับตัวมีแต่ภาวะที่ดูภาวะที่เห็น ไม่เข้าไปเป็น บางคนอยากจะให้ตัวเอง เมื่อเวลาป่วย จะป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย แต่ตอนนี้ในชีวิตประจำวันก็ไม่ได้คิดที่จะฝึกเลย เข้าไปเป็นอย่างตะพึดตะพือ เวลาป่วยก็เป็นผู้ป่วย แล้วเวลาตายก็กลัว เพราะรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่ากูกำลังจะตาย หรือ มีความรู้สึกว่ามีผู้ตาย แต่สำหรับหลวงพ่อ ไม่มีผู้ตาย ไม่มีใครตาย เตียงของหลวงพ่อในค่ำคืนนี้พวกเราก็คงเห็นเป็นเตียงที่ว่างเปล่า ความว่างเปล่ามันบอกอะไรเรา มันเหมือนจะบอกว่าไม่มีใครป่วย ไม่มีใครตาย แล้วที่จริง มันไม่ได้เป็น ไม่มีใครป่วยไม่มีใครตายมันไม่ได้เกิดขึ้น
เมื่อหลวงพ่อท่านละสังขารไปแล้ว แต่ตอนที่ท่านป่วย ก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันป่วยด้วยซ้ำ พูดอีกอย่าง หนึ่งก็คือว่า ท่านไม่เป็นอะไรกับอะไร เมื่ออยู่ก็อยู่อย่างไม่เป็นอะไรกับอะไรครั้นป่วยก็ป่วยแบบ ไม่เป็นอะไรกับอะไร แล้วถึงเวลาตายก็ไม่เป็นอะไรกับอะไร ไม่มีใครตายไม่มีผู้ตายด้วยซ้ำ มีแต่กายที่แตกดับไป อันนี้ก็อยากจะให้เราได้ ถ้าหากว่าเราอยากจะจากไปอย่างหลวงพ่อ ก็ขอให้มองตลอดสายว่า ที่ท่านทำอย่างนั้นได้เพราะว่าเวลาท่านป่วย ท่านป่วยโดย ไม่เป็นอะไรกับอะไร หรือท่านป่วยแต่กายใจไม่ป่วย ท่านป่วยอย่างมีสติและ
ถ้าอยากจะป่วยอย่างท่านได้ก็ต้องสาวไปดูที่ว่าตอนที่ท่านอยู่ ตอนที่ท่านมีชีวิตปรกติ มีสุขภาพดี ท่านก็อยู่อย่างมีสติ นี่ก็เป็นเวลาตีห้า หลวงพ่อท่านก็มรณภาพช่วงนี้แหละ ช่วงเวลานี้แหละ จำได้ว่าวันนั้นอาตมาก็แสดงธรรม แสดงธรรมเสร็จโดยที่ไม่รู้ว่า เมี่ยวฉือรออยู่ เมี่ยวฉือถูกส่งมาเพื่อจะมาบอกอาตมาว่า หลวงพ่อหนักแล้ว ก็ไม่รู้ แสดงธรรมเสร็จ ลงไปข้างล่าง เมี่ยวฉือบอกว่า หลวงพ่อกำลังอาการหนัก ก็เลยรีบไปที่กุฏิ ไปถึงก็เจอโยมนิดบอกว่าหลวงพ่อไม่หายใจแล้ว จำได้ว่าตอนที่พูดจบ ประมาณนี้แหละตีห้า ที่จริงท่านไปก่อนหน้านั้นนาที สองนาทีแล้ว ก็คือประมาณนี้ จากที่อาจารย์ตุ้มเล่า ประมาณตีสี่สี่สิบเก้านาที ก็เป็นช่วงเวลานี้พอดี งั้นก็เมื่อถึงเวลาอย่างนี้ คิดว่า ถ้าเราทำความสงบใจสักพักเพื่อระลึกถึงคำสอนของหลวงพ่อ ระลึกถึงแบบอย่างที่ท่านได้ ให้กับเรา ก็คิดว่าจะเหมาะกับโอกาส ก็ขอนิมนต์ก็ขอเชิญชวนพวกเราทำความสงบใจสักพัก เพื่อระลึกถึงหลวงพ่อในแง่ดังกล่าว … แล้วก็พอสมควรแก่เวลา ตอนนี้ก็ได้เวลาที่ญาติโยมพ่ออกแม่ออกก็จากลาศีลแล้ว ขอเชิญ