แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสักสองสามปีก่อน นิ้วกลมซึ่งเป็นนามปากกาของนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งไปเยี่ยมไปสนทนาพูดคุยกับอ.โกวิท เอนกชัย อาจารย์โกวิทเป็นศิษย์สวนโมกข์ ท่านบวชมา16พรรษา ตอนหลังก็ไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน แม้สึกมาแล้วก็ยังปฏิบัติและสอนเรื่องภาวนาควบคู่กับการเป็นนักเขียนแล้วก็วาดภาพ อาจารย์โกวิทเป็นบุคคลที่ปั้นจำลองพระอวโลกิเศวร ที่สวนโมกข์ ท่านเป็นทั้งศิลปินและนักภาวนา มีตอนหนึ่งนิ้วกลมถามอ.โกวิทว่า มีความสุขกับการทำอะไรบ้าง อ.โกวิทตอบว่า ไร้ความกังวล สิ้นไร้ความทะเยอทะยาน ไม่มีศัตรูคู่อาฆาต ความอยากบรรลุธรรมก็ไม่มีแล้ว ผมว่านี่เป็นองค์ ประกอบของความสุข ก็ไม่ได้ตอบตรงๆว่าสุขกับการทำอะไร แต่ว่าเป็นสุขกับสภาวะที่ไม่มีความกังวล ไม่มีความทะเยอทะยาน แม้แต่ความอยากบรรลุธรรมก็ไม่มีแล้ว
ที่จริงดูเหมือนว่าอ.โกวิทปล่อยชีวิตไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ที่จริงไม่ใช่ท่านก็ปฏิบัติอยู่ ยังทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอตามที่หลวงพ่อเทียนท่านได้เน้นย้ำเอาไว้ แต่ว่าที่น่าสนใจคือที่ว่าความอยากบรรลุธรรมไม่มีแล้ว ธรรมดาคนที่ภาวนาก็อยากบรรลุธรรม แต่ถ้าภาวนาถึงจุดหนึ่ง ก็รู้ว่าความอยากนี่เป็นตัณหา ซึ่งมันเป็นอุปสรรคกีดขวางการบรรลุธรรมด้วยซ้ำ ยิ่งอยากได้อะไรมันก็ยิ่งห่างไกลจากสิ่งนั้น แต่ว่าสำหรับนักภาวนาหรือนักปฏิบัติธรรมจำนวนมากมีความอยากอยู่โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จะเห็นว่าการอยากบรรลุธรรมหรือความอยากสงบ ตรงนี้แหละที่ทำให้คลาดเคลื่อนออกไปจากธรรมะ หรือห่างไกลจากการบรรลุธรรมแม้แต่ความสงบมากขึ้น
ก่อนกลับ นิ้วกลมถามอ.โกวิทว่า จะมอบคำสอนอะไรให้แก่เขาบ้างไหม อ.โกวิทซึ่งตอนนั้นเป็นพาร์กินสัน ป่วย หูก็ฟังไม่ค่อยชัด เวลาจะถามก็ต้องเขียนคำถามใส่กระดาษ เวลาพูดก็พูดไม่ใช่ว่าคล่องแคล่วเท่าไหร่ เพราะว่าโรคพาร์กินสันมันมีผลต่อกล้ามเนื้อ พอนิ้วกลมถามอย่างนี้อ.โกวิทบอกขอให้นิ้วกลมยื่นมือมา อ.โกวิทบีบนิ้วถามว่ารู้สึกไหม นิ้วกลมก็พยักหน้า แล้วอาจารย์โกวิทก็ต่อ รู้สึกตัวครับ
ความรู้สึกตัวนั้นสำคัญมากเลย ผมรอดมาได้เพราะความรู้สึกตัว ให้หมั่นฝึกบ่อยๆ ฝึกเล่นๆ แต่ฝึกจริงๆ คือว่าจริงจังกับการฝึก จริงจังกับการปฏิบัติแต่ไม่คร่ำเคร่ง ให้ฝึกด้วยความตั้งใจ คนมักจะมองข้ามความรู้สึกตัวไป อันนี้เป็นข้อคิดที่ดีมาก ทั้งที่ว่าความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญ อ.โกวิทเน้นว่าผมรอดมาได้เพราะความรู้สึกตัว และท่านก็สะท้อนคำสอนหลวงพ่อเทียนที่ว่าฝึกจริงๆแต่ฝึกเล่นๆ คือจริงจังกับการฝึก แต่ว่าไม่คร่ำเคร่ง รวมทั้งไม่หวังผลด้วย ไม่หวังผล คือทำไปเรื่อยๆ ผลมันจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร มันจะหลงบ้างก็ไม่เป็นไร มารู้ตัวบ้างก็ไม่ได้ยินดีกับมัน เพราะถ้าเป็นอะไรกับมันแล้ว มันก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว เป็นอะไรกับมันเช่นหงุดหงิดฟุ้งซ่านอันนี้เขาเรียกว่าไม่รู้สึกตัวแล้ว หรือว่าดีใจที่รู้สึกตัวได้ต่อเนื่อง อันนี้ก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ยินดียินร้ายแล้วเข้าไปเป็นผู้ยินดียินร้ายนั้นก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว
ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ ความรู้สึกตัวนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมที่มีอานิสงค์มาก พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนั้น บุคคลที่มีความรู้สึกตัวอกุศลกรรมอกุศลธรรมใดที่มีอยู่ก็ดับไป กุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น บุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เสื่อมสูญ เพื่อความไม่อันตรธานของพระสัทธรรม พระสัทธรรมในที่นี้หมายถึง คุณธรรมในใจเราหรือสภาวะที่เป็นธรรมะที่เป็นกุศลธรรมในใจเรา กุศลธรรมทั้งหลายมีความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะปฏิบัติธรรมระดับเบื้องต้นขั้นกลางหรือขั้นสูงสุดต้องอาศัยความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนากรรมฐานที่ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ก็ต้องมีความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน เหมือนกับนักเรียนประถมไปจนถึงนักศึกษาปริญญาเอกต้องอาศัยการอ่านออกเขียนได้เป็นทักษะพื้นฐาน ถ้าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรืออ่านไม่คล่องเขียนก็ไม่คล่อง ไม่ว่าจะเรียนชั้นไหนก็ตามมันมีอุปสรรคไปหมด และทำให้การใฝ่รู้การเรียนรู้อย่างแท้จริงอย่างลึกซึ้งอย่างรอบด้านเป็นไปได้ยาก
ความรู้สึกตัวป็นสิ่งที่คนมักมองข้ามอย่างที่อ.โกวิทได้พูดเอาไว้ พอเวลาจะภาวนาส่วนใหญ่นึกถึงอยากได้ความสงบ ภาวนาเพราะต้องการความสงบ ส่วนใหญ่ไม่ได้นึกว่าจะมาภาวนาเพื่อความรู้สึกตัว แต่ว่าการปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนท่านเน้นเรื่องความรู้สึกตัว ความสงบนี่เป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป็นจุดมุ่งหมาย ที่จริงถ้าทำความรู้สึกตัวแล้วมันสงบเอง อาจจะสงบแม้กระทั่งในภาวะที่ยังมีความฟุ้งซ่านโผล่เข้ามาแพลมเข้ามา เพราะว่าถ้าหากรู้สึกตัวแล้วจิตมันจะเป็นกลาง มันจะเป็นแค่ดูแค่รู้แค่เห็นสิ่งต่างๆที่มันเกิดขึ้นมาในใจ แม้จะเป็นความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิดหรือลักคิดหรือที่เราเรียกว่าความฟุ้งซ่าน พอเห็นแล้วใจก็ไม่กระเพื่อม เพราะไม่ได้ไปสู้รบตบมือกับมันไม่ได้มีความยินร้ายกับมัน ความคิดลักคิดมีอยู่แต่ว่ามันทำอะไรจิตใจให้เป็นทุกข์ให้วุ่นวายไม่ได้ เพราะมีสติเพราะมีความรู้สึกตัว เวลามีความรู้สึกตัว สติมันเหมือนว่ามันจะเต็มร้อย ความรู้สึกตัวทำให้สติเต็ม และสติทำให้เกิดความรู้สึกตัว เพราะว่าสติมันช่วยให้รู้ทันความคิดอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น
ถ้าไม่มีสติ ใจมันจะพลัดหลงไปในความคิดในอารมณ์จมเข้าไปเหมือนเข้าไปอยู่ในกระแสน้ำ บางกระแสก็เชี่ยวบางกระแสก็ไม่เชี่ยวแต่ว่าจมน้ำไปแล้วหรืออยู่ในกระแสน้ำไปแล้ว ก็ถูกมันพัดไปเรื่อยๆ แต่พอมีสติก็เหมือนกับว่า สามารถจะหาทางขึ้นฝั่งได้ ถ้าคนที่มีสติ เวลาฟุ้งก็ฟุ้งไม่นาน เหมือนกับว่าลอยคออยู่ในกระแสน้ำก็ลอยคอไม่นาน น้ำมันพัดไปไม่นานก็ว่ายขึ้นฝั่ง แล้วขึ้นมาดูกระแสน้ำ เป็นผู้อยู่บนฝั่งไม่ใช่เป็นผู้อยู่ในกระแสน้ำ ถ้าไม่มีสติคืออยู่ในกระแสน้ำบางทีกระแสน้ำก็เชี่ยว เชี่ยวก็พัดไปไกลกว่าจะขึ้นฝั่งได้โน่นบางทีปากน้ำโน่น พอน้ำเริ่มอ่อนแรงลง จึงค่อยตะเกียกตะกายว่ายขึ้นฝั่งได้ ซึ่งหลังจากที่ถูกมันพัดไปไกลแล้ว แต่ถ้ามีสติปุ๊บเหมือนกับว่าแค่บางทีอยู่ในน้ำไม่ทันเต็มตัวแค่ครึ่งตัวก็สามารถที่จะเดินขึ้นฝั่งได้ คือพอมีความคิดเกิดขึ้นก็รู้ทัน รู้แล้วก็วางหรือว่ารู้แล้วก็หลุด หลุดแล้วจิตไปไหน จิตก็กลับมารู้เนื้อรู้ตัวกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้น และเพราะเหตุนี้มันเลยสงบ มันสงบเพราะว่าความคิดอารมณ์ต่างๆมันไปล่อหลอกหรือมันมีอิทธิพลต่อจิตใจไม่ได้
อิทธิพลต่อจิตใจมีสองแบบคือว่า ลอยไปตามกระแสน้ำลอยไปตามความคิดหลงไปตามอารมณ์ หรือมิเช่นนั้นก็ไปสู้รบตบมือกับมัน เพราะไม่ชอบมัน ไม่ชอบความฟุ้งซ่านเลยไม่สงบ เหมือนคนดูกระแสน้ำไหล น้ำก็ไหลไป แต่คนที่ดูกระแสน้ำก็อยู่ในความสงบเพราะเป็นเพียงแค่ผู้ดูผู้เห็น ไม่เหมือนกับการจมอยู่ในกระแสน้ำหรือลอยคอในกระแสน้ำ ต้องฝืนต้องสู้กับกระแสน้ำสำหรับคนที่ไม่ชอบความฟุ้งซ่านต้องสู้กับกระแสน้ำ เหนื่อย แต่บางคนก็ลอยไปตามกระแสน้ำคือไหลไปไม่มีสติ อันนี้ก็ไม่ดี ลอยไปตามกระแสน้ำ ก็ไม่ใช่ สู้กับมันกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ก็ไม่ใช่ ก็เพียงแต่ขึ้นฝั่งเท่านั้น ขึ้นฝั่งขึ้นมาอยู่บนริมตลิ่งอยู่บนฝั่งแล้วก็ดูกระแสน้ำอย่างนี้ดี สติ ความรู้สึกตัวมันเป็นอย่างนั้น
กระแสน้ำอาจเหมือนกับกระแสความคิดหรือว่าความฟุ้งซ่าน มีก็มีไปแต่ใจไม่ทุกข์ ไม่จำเป็นต้องไปสู้กับมัน สู้กับมันก็เหมือนว่ากำลังสู้กับกระแสน้ำ เหนื่อย บางทีก็สู้ไม่ได้ ดังนั้น การภาวนา ถ้าหากว่าเราเน้นความรู้สึกตัวหรือเน้นเรื่องการเจริญสติ อะไรเกิดขึ้นก็เป็นกลางกับมัน หรืออาจจะมองว่าเป็นของดีด้วยซ้ำเพราะว่าได้ฝึกสติ มีความคิดเกิดขึ้นมีอารมณ์เกิดขึ้น แม้จะเป็นความฟุ้งซ่านแม้จะเป็นอารมณ์ที่เป็นอกุศล มันก็ดีนะได้ฝึกสติได้ดูมัน มันมาเพื่อให้เราเรียนรู้ มันมาเพื่อให้เราฝึกสติ มันมาเพื่อให้เราได้รู้จักวางใจเป็นกลาง ไม่ใช่มาเพื่อที่ให้เราไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน ความทุกข์ใจเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะความฟุ้งซ่านแต่เป็นเพราะเราไปทะเลาะกับมัน เหมือนเวลามีเสียงกระทบหู เสียงคนคุย เสียงดนตรี เสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงช่างตอกตะปู มันไม่ทำให้ใจเราทุกข์ แต่ใจเราทุกข์เพราะไปทะเลาะกับมัน
อย่างที่หลวงพ่อชาท่านพูด โยมเข้ามาขอโทษที่มีเสียงดังจากผับบาร์ข้างนอกที่มาทำให้นั่งสมาธิไม่ได้ ขอโทษที่มีเสียง ดนตรีมารบกวน หลวงพ่อชาบอกว่า โยมไปคิดว่าเสียงดนตรีมารบกวนเรา ที่จริงเราต่างหากไปรบกวนเสียงดนตรี รบกวนคือ ไปทะเลาะกับมันมีความยินร้ายกับมัน เสียงดนตรีไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือใจที่ไม่รู้จักเป็นกลาง ใจที่ไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน ไม่ใช่เฉพาะเสียงที่อยู่ข้างนอก เสียงที่อยู่ข้างในใจเราด้วย คือ ความคิด มันก็ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ใจเราไปทะเลาะกับมัน ไม่ชอบมัน ทำไมไม่ชอบ เพราะอยากสงบ ความอยากสงบคือตัวดี เพราะมันทำให้เราหงุดหงิดไม่ชอบโน่น ไม่ชอบนี่ เสียงดังก็ไม่ชอบ ความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นก็ไม่ชอบและพยายามหาทางไปจัดการกับต้นเสียง เสียงดัง ใครทำเสียงดังก็อาจจะไปด่าเขาว่าหยุดส่งเสียงดังได้แล้ว หรือถ้ามันเป็นเสียงในใจก็ไปทะเลาะกับเสียงนั้น ไปพยายามกดข่มมัน
การบังคับจิตไม่ให้คิดโน่นคิดนี่ พยายามหาอุบายเพื่อที่จะผูกจิตไว้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันจะได้ไม่คิด แต่มันก็ยังคิดจนได้ พอคิดแล้วเป็นอย่างไร ก็เลยไม่พอใจหงุดหงิด และไปโทษเป็นเพราะความฟุ้งซ่านทำให้เราเป็นทุกข์ แต่ที่จริงเป็นเพราะใจที่ไปทะเลาะกับความฟุ้งซ่าน ใจที่ไม่ชอบความฟุ้งซ่าน ที่ไม่ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอยากสงบ ตรงนี้แหละคือกับดักและเป็นตัวปัญหาของนักปฏิบัติ อยากสงบก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้จิตมันสงบ ไปเพ่ง บังคับจิตให้มันไปเพ่งอยู่ที่เท้า ไปเพ่งอยู่ที่มือ ไปเพ่งอยู่ที่ลมหายใจ ไปเพ่งที่ท้อง มิฉะนั้นก็หาคำบริกรรมเพื่อที่จะผูกจิตไว้อยู่กับสิ่งนั้น แต่มันก็ไม่ยอม ก็ยังไป เผลอคิดโน่นคิดนี่ก็ไม่พอใจ โกรธ พอโกรธนี่ก็ยิ่งลืมตัว ความหงุดหงิดความรู้สึกตัวก็หายไป ตอนนั้นมันไม่มีสติแล้ว ยิ่งอยากกับยิ่งโกรธมันคู่กัน
ความอยากความโกรธนี่มันคู่กัน ที่จริงไม่ใช่ความโกรธอย่างเดียว ความเกลียดความกลัวมันคู่กัน มันมาพร้อมกับความอยาก อยากเมื่อไหร่อยากมากแค่ไหน พอไม่ได้อย่างที่อยากก็โกรธ พอใครมาทำไม่ให้ได้อย่างสมอยากก็เกลียด หรืออย่างน้อยๆพออยากก็กลัวว่าจะไม่ได้อย่างที่อยาก โกรธเกลียดกลัวมันจะมาพร้อมกับความอยาก คนเราทุกข์เพราะตัวนี้แหละ ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความโกรธน้อยๆแต่ก็หงุดหงิด คนที่ภาวนา นักปฏิบัติธรรม ถ้าไม่รู้ทันความอยาก หรือว่าความอยากสงบ มันก็จะเจอความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความหงุดหงิด ความวิตกกังวลรบกวนจิตใจ
แต่ที่จริงถึงแม้มันเกิดขึ้นถ้ามีสติรู้ทันก็ช่วยได้เยอะ เพราะว่าสติมันทำให้เห็นไม่เข้าไปเป็น เป็นเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น แต่เห็นมันไม่ทุกข์ เหมือนกับมีกองไฟอยู่ข้างหน้า แต่ถ้าเราเห็นมันเราไม่ทุกข์หรอก ที่เราเป็นทุกข์เพราะเราไปเป็น โดดเข้าไปกองไฟไปอยู่กลางกองไฟ ไม่ต้องดับกองไฟหรอกนะไม่ต้องพยายามดิ้นรนดับกองไฟ แค่ออกมาอยู่ห่างๆแค่นี้ก็พอแล้ว เดี๋ยวไฟมันดับเอง เพราะว่าเราไม่ไปเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน คนมักคิดจะพยายามไปดับกองไฟ แต่ไม่คิดว่าทำไมเราไม่ออกมาอยู่ห่างๆมัน ออกมาอยู่ห่างๆคือมาเป็นผู้เห็นนั่นแหละ ถ้าเห็นหรือเป็นผู้เห็นแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันดีทั้งนั้นมันสอนเรามันก็เรียนรู้ เราได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น
หลวงพ่อเทียนนี่ เวลาที่ใครสงบมากๆ ใครที่ความคิดไม่ค่อยออกมา ท่านจะแนะนำให้ทำอะไรเร็วๆ ยกมือเร็วๆ เดินเร็วๆ ท่านจะไม่ให้พอใจอยู่กับความสงบ เดินเร็วๆ ยกมือไวๆ เพราะอะไร เพื่อจะได้เร่งกระตุ้นให้ความคิดมันออกมา ขณะที่บางคนอยากจะให้มันสงบ ความคิดไม่ออกมา ดีแล้วดีแล้ว อย่าออกมาเลย แต่หลวงพ่อกลับเน้นเลยนะ ถ้าใครที่สงบมากๆ ต้องเดินเร็วๆ ยกมือเร็วๆ เพื่อให้ความคิดมันออกมา ออกมาเพื่ออะไร เพื่อจะได้ฝึกจะได้มีคู่ซ้อม ให้ถือว่าอะไรๆที่โผล่เข้ามาเป็นคู่ซ้อม นักมวยต้องมีคู่ซ้อมและคู่ซ้อมก็ต้องพอสมน้ำสมเนื้อกัน นักมวยถ้าไม่มีคู่ซ้อมฝีมือก็ตก กำลังก็ลดลง ดังนั้น คนไม่เข้าใจนะ คนนึกว่าสงบนี้ดีนะ คนคิดว่าสงบนี้ดีนะ หลวงพ่อเทียนบอกว่าไม่ได้ ต้องทำให้มันมีความคิดออกมามากๆ แต่ไม่ใช่ไปคุยกับคนโน้นคนนี้ไม่ใช่ไปคลุกคลี แต่ว่าให้ทำแรงๆขึ้น ทำเร็วๆขึ้น เพื่อจะได้ฝึกสติ หรือมิฉะนั้นระหว่างที่สงบท่านสอนให้พิจารณาไปเลย อย่าให้มันสงบเฉยๆมันจะขี้เกียจ ให้พิจารณารูปพิจารณานาม แต่ตอนที่ยังไม่สงบยังไม่ต้องพิจารณารูปนาม แต่พอสงบต้องหางานให้จิตทำ ไม่อย่างนั้นมันสงบแล้วมันจะติด มันจะเคยตัว มันจะขี้เกียจต้องให้พิจารณารูปนามว่า ที่เดินนี่เป็นรูป ที่คิดนั้นเป็นนาม
ที่จริงแม้กระทั่งหลวงปู่มั่นท่านก็สอนพระที่เป็นนักภาวนาว่าพอถึงจุดหนึ่ง อย่าไปทำให้ใจมันสงบ อย่าให้ใจสงบเหมือนที่เคยทำ ให้พิจารณาหรือว่าท่องเที่ยวไปตามร่างกายส่วนต่างๆ ท่านสอนว่าอย่าไปให้ใจมันสงบอย่างที่เคยทำ ให้ใช้จิตพิจารณา และท่องเที่ยวไปตามร่างกายส่วนต่างๆ เรียกว่า กายคตาสติ
กายคตาสติ คือ การพิจารณากาย คนคิดว่าภาวนาเพื่อสงบ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ภาวนาเพื่อรู้ ทีแรกก็รู้ตัวก่อนหรือว่ารู้สึกตัว จุดมุ่งหมายของการภาวนาเพื่อรู้สึกตัวเพื่อความสงบ และความรู้สึกตัวและความสงบมันมาเองเป็นผลพลอยได้ เหมือนกับเรียน เรียนเพื่อเอาความรู้อย่าเรียนเพื่อเอาคะแนน คนที่เรียนเพื่อเอาคะแนนนี่ทุกข์มากเลย ไม่มีความสุขนะ จะมีความสุขก็ตอนที่ประกาศผลสอบ แต่ไม่แน่ถ้าผลสอบไม่ดีก็ทุกข์ แต่คนที่เรียนเพื่อเอาความรู้มันมีความสุข เพราะได้ความรู้ตลอด เวลา ไม่ต้องรอให้ประกาศผลสอบ และผลสอบก็ไม่มีความหมายด้วย เพราะเขาได้ความรู้แล้ว และถ้าเรียนเพื่อเอาความรู้ คะแนนมันมาเอง ขณะเดียวกันถ้าเราปฏิบัติเพื่อรู้ ความสงบมันมาเอง และมันเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการที่ไม่มีอะไรมารบกวน ยังมีเสียงมารบกวน ยังมีเสียงมากระทบ ยังมีแดดร้อนมากระทบ แต่ว่าใจเป็นปรกติ เพราะว่ามีความรู้สึกตัว เวลาใจมันกระเพื่อม เพราะไปกระทบกับอารมณ์ใดก็ตามก็รู้ตัว รู้แล้วมันก็สงบเอง มันก็กลับมาเป็นปรกติ ไม่ใช่เฉพาะไปกระทบกับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส แม้แต่กระทบกับธรรมารมณ์หรือมีธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจ เช่น ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็รู้ รู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น อาจจะพลัดเข้าไปในกระแสน้ำแต่ขึ้นฝั่งได้เร็ว พลัดปุ๊บขึ้นปั๊บเลย ไม่ใด้ลอยไปตามกระแสน้ำหรือสู้รบตบมือตามกระแสน้ำ เหนื่อยเปล่า
การปฏิบัติเพื่อรู้ ทีแรกก็รู้ตัวก่อน รู้สึกตัว ต่อไปก็รู้ความจริงของรูปรสกลิ่นเสียงที่มากระทบ หรือรู้ความจริงเกี่ยวกับอารมณ์ ที่เกิดขึ้นในใจรวมทั้งรู้กายรู้ใจ รู้อะไร รู้ความจริงของกายและใจ ความรู้ก็เกิดการดูมันมองมันอยู่บ่อยๆเห็นมันอยู่บ่อยๆ พิจารณามันอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่ไปเพลินกับความสงบ เพลินกับความสงบนี่มันขี้เกียจ ต้องพิจารณาต้องมีความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐานของการพิจารณา การที่จะเห็นอะไรเห็นด้วยความรู้สึกตัว เห็นด้วยสติ มันถึงจะเห็นของจริง ถ้าไม่มีสติ อคติมันจะมาแทนก็จะเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เห็นไปตามอย่างที่อยากเห็น เห็นไปตามอคติ ฉันทาคติ ของบางอย่างมันแสดงตัวอยู่ข้างหน้าแต่มองไม่เห็น เพราะว่าความเคยชิน หรืออคติก็แล้วแต่
เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อน มีคนส่งรูปมาเป็นภาพสี่เหลี่ยมทั้งนั้นเลย และเขาก็ถามว่าในภาพนี้มีวงกลมกี่วงกลม ส่วนใหญ่หาไม่เจอเห็นแต่สี่เหลี่ยมเห็นแต่เส้นๆๆๆ ทั้งที่วงกลมมันโผล่มาเต็มเลยสิบสองวง คนมองไม่เห็น วงกลมที่มันอยู่ต่อหน้าแต่มันมองไม่เห็น จะเรียกว่าเพราะตามันหลอกหรือเพราะความคุ้นเคยกับภาพที่เห็นมันหลอกเราว่าเป็นภาพสี่เหลี่ยม ความจริงมันแสดงเหมือนสัจธรรมมันแสดงตัวอยู่ข้างหน้าเรา แต่ไม่เห็นใช่เพราะว่ามันไม่มี แต่เพราะใจเรานี่แหละมันไม่เปิดรับหรือใจมันมีอคติบางอย่าง อาจจะเป็นความคุ้นเคย คนที่ดูภาพบางทีดูทั้งวันก็ไม่เห็นวงกลม ทั้งที่วงกลมไม่ใช่มีแค่วงเดียวมีตั้งสิบสองวง มันก็ชัดแต่ไม่เห็น มันคล้ายๆกับเมื่อสักสามสิบปีก่อน มันมีภาพสามมิติ คนบางคนหลายคนดูภาพแล้วไม่เห็นเป็นสามมิติ คนบางคนดูแล้วมันมีภาพ มีความลึกซึ้ง ความจริงมันปรากฏต่อหน้า แต่ว่าใจมันไม่เปิดรับหรือว่าใจมันมีอาการบิดเบี้ยว ทำนองเดียวกัน สัจธรรมความจริงไม่ว่าจะแสดงตัวอยู่รอบตัวเราหรือแสดงผ่านอารมณ์ต่างๆ หรือธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น มันก็มีอยู่แต่ว่ามองไม่เห็น เพราะใจไม่มีสติเต็มร้อย มันมีอคติมากกว่า เพราะมันมีอวิชชาหรือความคิดปรุงแต่งไปว่าทุกอย่างเป็นตัวเป็นตนทุกอย่างมันเที่ยง ถ้าเห็นความไม่เที่ยงก็เห็นง่าย แต่เห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเห็นยาก ทั้งๆที่มันก็แสดงตัวอยู่ต่อหน้าหรือต่อใจ ให้ทำความเข้าใจให้ดีนะว่า เราปฏิบัติไม่ได้เพื่อความสงบ ปฏิบัติเพื่อรู้รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น รู้ทันความคิดที่ปรากฏ เพื่อความรู้สึกตัวเรียกว่าการรู้ความจริง
ถ้าไปเริ่มต้นที่ว่าปฏิบัติเพื่อความสงบ นอกจากจะหาความสงบได้ยากแล้วก็จะยังทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากการปฏิบัติอย่างเต็มที่ ให้ถือว่าทุกอย่างมาล้วนแต่ดีทั้งนั้น ทุกอย่างที่มาไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียง สัมผัสที่กระทบหรือธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ทุกอย่างถ้าสำหรับนักวิปัสสนาถือว่าดีทั้งนั้นเพราะว่ามันมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้สัจธรรม เรียนรู้เรื่องไตรลักษณ์ แต่ถ้าเป็นคนที่หนักสมถะ บางอย่างก็ชอบบางอย่างไม่ชอบ ความสงบชอบ เสียงดังไม่ชอบ หรือว่าจิตที่มันนิ่งสงบนี่ชอบ แต่จิตที่มันกระเพื่อมไม่ชอบ มันจะมีความรักความชังความยินดียินร้ายมีการเลือกที่รักมักที่ชัง ถ้าเลือกที่รักมักที่ชังจะหาความสงบได้ยาก เพราะว่ามันจะได้แต่สิ่งที่ชอบนี่ยาก มันก็ต้องเจอสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง
แต่ถ้าเราวางใจเป็นกลางกับทุกอย่าง หรือมองว่าทุกอย่างมันมาเพื่อให้เราเรียนรู้ จะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา นักเรียนที่แท้จริงนักศึกษาที่แท้จริง เขาจะเรียนรู้จากทุกอย่าง เขาจะเรียนทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว ทำการบ้านผิดเขาก็ได้เรียนรู้ เขาเรียนรู้ไม่ใช่จากตำราเขาเรียนรู้จากทุกอย่างที่อยู่นอกห้องเรียน แต่ถ้าจะเรียนเอาคะแนน มันจะสนใจแต่ความรู้ที่ครูจะสอบ หรือสนใจแต่ความรู้ในตำรา ความรู้นอกตำราความรู้นอกห้องเรียนไม่สนใจเพราะว่าครูไม่เอามาสอบหรอก ครูจะเอาแต่ความรู้ในตำรามาสอบ
ดังนั้น คนที่เรียนเพื่อจะเอาคะแนนจะรู้ไม่จริง แล้วก็เรียนด้วยความทุกข์เพราะว่ากลัวว่าจะไม่ได้คะแนน ไม่ได้เกรดอย่างที่ต้องการ เวลาสอบก็เกร็งเครียด ก่อนสอบก็วิตกกังวลเพราะใจอยากได้คะแนนดีๆ กลัวจะไม่ได้คะแนนที่ดี แต่ถ้าเรียนเพื่อเอาความรู้ มีความสุขนะ ทุกอย่างที่ได้เรียน ตลอดเวลามีความสุขเพราะได้เรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าในห้องเรียน นอกห้องเรียน ไม่ว่าในตำราหรือนอกตำรา เวลาสอบก็ไม่ได้เครียดอะไร ก่อนสอบก็ไม่วิตก สอบแล้วผลเป็นอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่าได้ความรู้แล้ว