แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
งานอาจาริยบูชาถวายหลวงพ่อคำเขียน ก็สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยดี ถึงแม้ว่าเป็นงานแรกที่เราทำในลักษณะนี้ ก่อนหน้านี้อาจมีธรรมยาตราที่จัดเพื่อเป็นอาจาริยบูชา แต่อันนั้น ก็เป็นงานที่ทำไว้แล้วแต่ดั้งเดิมมาแล้ว ส่วนที่เราได้ทำมาอัน เป็นของใหม่ เพราะว่า หลวงพ่อก็เพิ่งละสังขารไป งานนี้นี่ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เป็นงานที่ใช้เวลาไม่น้อยทีเดียวรวมแล้วก็ประมาณครึ่งเดือน เฉพาะการจัดงาน เริ่มตั้งแต่ 8-9 สิงหา และ 12 และก็มา 22,23 มันไม่ใช่แค่การจัดงานหรือว่าที่จัดอีเวนท์ที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ หรือว่าการจัดปฏิบัติธรรมที่นี่ มีรายละเอียดมาก การทำหนังสือหรือการทำพิพิธภัณฑ์ การจัดทำเส้นทางการเดินตามรอยหลวงพ่อ ซึ่งก็เป็นงานที่มีรายละเอียดมาก แต่พวกเราก็ช่วยกันคนละไม้ละมือ รวมทั้งงานหนุน เช่น งานด้านอาหาร งานเกี่ยวกับเรื่องรถรา และก็ช่วยกันทำให้จบลงด้วยดี อันนี้ก็ต้องขอบคุณทุกท่าน ทั้งพระ ทั้งแม่ชี และก็ญาติโยมทั้งที่วัดและที่กรุงเทพ ที่ได้ช่วยกันทำให้งานนี้จบลงอย่างราบรื่น
ที่จริงงานอาจาริยบูชาที่เราจัด เมื่อเทียบกับที่อื่นถือว่าเป็นงานที่เล็ก เป็นงานที่เล็กและก็ใช้เงินไม่มากซึ่งอันนี้ก็ตรงตามเจตนารมย์ของหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านปรารภอยู่เสมอว่าเราเป็นพระจน ก็ไม่ควรทำอะไรที่มันฟุ่มเฟือย แต่ว่าสิ่งที่เน้นหนักคือ การให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระ หนังสือที่ทำอาจจะเล่มเล็กๆราคาไม่แพง ไม่ได้ทำให้เป็นหนังสือใหญ่พิมพ์ 4 สี เล่มหนา อันนั้นก็เป็นเรื่องที่นิยมทำกัน เราไม่ได้ทำแบบนั้นแต่ว่าก็ไม่ทิ้งเรื่องเนื้อหาสาระ เรื่องการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เป็นเรื่องการใช้พลังศรัทธา ความเพียรพยายาม ถ้าจะวัดตามมาตรฐานทางโลก งานที่เราจัดก็เป็นงานเล็กๆ แต่ถ้าพูดถึงความหมายในทางธรรม มันก็มีสาระไม่น้อย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักไว้เสมอ ปีหน้า ถ้าหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุครบ 80 ปี เพราะฉะนั้นก็จะมีกิจกรรมซึ่งอาจจะใหญ่กว่าปีนี้ ในบางเรื่อง ในบางเรื่องก็เบาลง เพราะว่าหลายเรื่องก็ได้ทำไปแล้ว เช่น พิพิธภัณฑ์ เรื่องการทำเส้นทางตามรอยหลวงพ่อ แต่ว่าบางเรื่องก็คงจะเป็นงานใหญ่กว่าเดิม เช่นที่กรุงเทพฯอาจมีการจัดอบรมหรือการปฏิบัติธรรม ทางกรุงเทพฯก็บอกอยากจะได้สามวัน ไม่ใช่สองวัน 8,9 อย่างปีนี้ และก็หนังสือที่เป็นสมุดเป็นหนังสือภาพชีวิตและงานของหลวงพ่อ ก็ตั้งใจว่าจะทำให้เสร็จในปีหน้าทันงานนี้ แต่ว่าก็ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง
และคิดว่าคงจะมีต่อไปทุกปี โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม ต่อไปจะเป็นเดือนที่ค่อนข้างชุก งานชุกสำหรับพวกเราทั้ง วัดป่าสุคะโต ท่ามะไฟหวาน วัดภูเขาทอง และก็วัดป่ามหาวัน ภูหลง เดิมก็ชุกอยู่แล้ว เพราะเป็นงานที่ เพราะเป็นช่วงวันแม่คนก็นิยมมาปลูกป่ากัน ที่ภูหลง เดือนสิงหาคมก็หลายคณะและต่อจากนี้ไปก็จะมีงาน รำลึกถึงหลวงพ่อ ทั้งในเนื่องในวันเกิดของท่านและเนื่องในวันละสังขารของท่าน สิงหาคมก็จะเป็นเดือนที่ พวกเราก็จะจะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันเป็นประจำทุกปีก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ต้องคิดกันก็คือว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้งานแบบนี้เป็นประเพณีที่ลงร่อง คือทำไปเป็นประเพณีจนกระทั่งมันไม่มีชีวิตชีวา
การทำซ้ำๆ มันไม่ได้แปลว่าจะซ้ำซากเสมอไป ถ้าเราทำให้มันมีเนื้อหาสาระถึงแม้จะทำให้เหมือนกันทุกปีมันก็จะไม่ซ้ำซาก มันจะไม่ใช่เป็นเรื่องของรูปแบบ มีงานอาจาริยบูชาหรือรำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับในหลายที่ ผมสังเกตดูก็รู้สึกว่ามันเริ่มจะลงร่องแล้วก็ซ้ำซาก ทำสักแต่ว่าทำเพราะมันเป็นประเพณีไปเสียแล้ว อันนี้ก็น่าเสียดาย แต่ทำอย่างไรถึงจะให้มันไม่ลงร่องถึงแม้ว่าจะทำเหมือนกันปีแล้วปีเล่าแต่ว่าไม่ซ้ำซากอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องครุ่นคิดกัน ต้องใช้สติปัญญา สิ่งที่ทำซ้ำไม่จำเป็นต้องซ้ำซาก เหมือนกับเราสร้างจังหวะ เมื่อเราเดินจงกรม มันก็ซ้ำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เมื่อเรามีสติมันก็ไม่ซ้ำซาก มันจะเป็นความสดความใหม่อยู่ทุกครั้งที่เราเดินจงกรม ที่เราสร้างจังหวะ เราจะได้เห็นเราจะได้เรียนรู้ อะไรใหม่ๆตลอดเวลา ก็เหมือนการทำวัตรสวดมนต์เราก็ทำ ทุกวัน ทุกวัน เช้าเย็น เช้าเย็น
แต่ถ้าเราทำอย่างไม่มีสติ มันก็จะกลายเป็นซ้ำซาก มันก็จะเหลือแต่รูปแบบ หรือว่าเป็นรูปที่เหมือนกับว่ามันตายซากด้วย แต่ถึงแม้เราจะมาทำทุกวัน แต่ถ้าเราทำด้วยใจ ที่มีสติตื่นเต็ม เราจะได้อะไรใหม่ๆจากบทสวดมนต์อยู่เสมอ อาจจะไม่ถึงกับทุกวันแต่ก็จะได้ ได้ข้อธรรมใหม่ๆที่เตือนใจเราได้ ไอ้เรื่องของประเพณีก็เหมือนกัน ถึงแม้เราต่อไปนี้เราก็จะต้องทำทุกปี ทุกปี แต่อย่าให้กลายเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่ทำด้วยศรัทธา เพราะเห็นคุณค่า ซึ่งถ้าหากว่าเราใคร่ครวญเราก็คงจะพบว่า กิจกรรมที่ทำตั้งแต่วันที่ 8,9 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ มันก็มีคุณค่าหลายอย่าง มันไม่ใช่แค่ตอบแทนคุณบูชาครู คือหลวงพ่อ แต่มันยังเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนคำสอนของท่าน เมื่อได้ทบทวนคำสอนของท่าน มันก็จะเป็นข้อเตือนใจหรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่คอยช่วยตักช่วยเตือนก็ถือว่าเรามีโชค แต่ถ้าเกิดว่าครูบาอาจารย์ ไม่อยู่ที่จะตักเตือนเราได้
แต่อย่างน้อยการที่ได้ระลึกถึงท่าน ได้ระลึกถึงคำสอนของท่าน ถึงแบบอย่างการดำเนินชีวิตของท่าน มันก็ช่วยเป็นข้อเตือนใจและก็ให้แรงบันดาลใจต่อเราด้วย บางทีเราก็เผลอ บางทีเราก็ลืม อยู่กับครูบาอาจารย์ไปนานๆก็ลืม สิ่งที่ทำเห็นอยู่ทุกทุกวันมันก็กลายเป็นจำเจ ของใหม่ก็กลายเป็นเรื่องที่จำเจขึ้นมาหรือซ้ำซากไปเลย แต่ว่าถ้าได้มีการพูดการคุย ได้มีกิจกรรมทำนองนี้ อย่างที่เราได้ทำนี้ มันก็จะช่วยเตือนใจเราได้ แล้วก็ทำให้เรา มีความเพียร แล้วก็เป็นการตอกย้ำศรัทธา คนเราถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เลย มันก็เหมือนกับอาภัพ หรือว่าไร้โชค อันนี้พูดถึงคนทั่วๆไป
พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ธรรมโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้ที่ช่วยเหลือ หรือทำให้ท่านให้พระองค์มีข้อคิดสะกิดใจ อย่างน้อยน้อยเทวฑูต 3 นิมิต 4 คนแก่ คนป่วย คนตาย แล้วก็นักบวชที่พระองค์ได้เห็น ก่อนจะออกบวช ก็ถือว่าเป็นสิ่งเตือนใจ ที่มีคุณูปการอย่างยิ่ง ที่สำหรับคนทั่วไป ต้องมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ช่วยเตือน ช่วยให้กำลังใจ หรือว่าช่วยให้แนวทาง และถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็ถือว่าอับโชคอาภัพ และบางครั้งคนเรา หากจะทำอะไรเพื่อตัวเอง แม้จะเป็นสิ่งดีก็ไม่อยากทำ ถ้ามัน ถ้ามันเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่ถ้าเรานึกถึงคนอื่น ก็อาจทำให้เกิดความเพียรได้ และคนหนึ่งซึ่งจะกระตุ้นให้เราเกิดความเพียรนั่นคือครูบาอาจารย์ อย่างไรก็ตามครูบาอาจารย์ก็ เราก็ต้องตระหนัก ว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะคนที่เรา กราบไหว้นับถือหรือว่ามอบกายถวายชีวิตให้ ที่จริงครูบาอาจารย์ ก็มีมาก ผู้มีปัญญาต้องรู้จักแสวงหาครูบาอาจารย์ นอกจากครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ ที่เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ยังมีครูบาอาจารย์อีกหลายลักษณะ คนฉลาดหรือผู้มีปัญญา สามารถที่จะหาครูบาอาจารย์ได้จากทุกสิ่งรอบตัวก็ว่าได้ อันนี้ครูบาอาจารย์ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเสมอไป เป็นสิ่งของก็ได้
ในสมัยพุทธกาลก็มี ยาจกเข็ญใจ ขอทานถือกะโหลกกะลา ขอทานเป็นอาชีพ มีชีวิตที่ลำบากมากหาเช้ากินค่ำ ตอนหลังก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะศรัทธาหรือเพราะเห็นว่าการบวช มันง่าย สบาย ก็เลยมาบวช พระอานนท์ก็บวชให้ คงเห็นว่ามีศรัทธาด้วยแหละ เมื่อบวชแล้ว เสียดายเสื้อผ้า ทั้งที่เสื้อผ้าก็ปุปะขาดวิ่น แม้แต่จะกรองน้ำยังกรองไม่ได้เลยแต่ก็เสียดาย อาจจะยังคิดว่าอาจจะคิดว่าอาจจะกลับมาเป็นฆราวาสใหม่ เลยเอาเสื้อผ้าปุปะแขวนไว้ที่กิ่งไม้ในป่า
ต่อมาพอบวชแล้วก็รู้สึก มันลำบาก เกิดความอยากจะสึก ภาษาเขาเรียกว่ากระสันต์จะสึก เมื่อเกิดความกระสันต์จะสึก ก็จะเข้าไปในป่า แล้วก็พอเห็นเสื้อผ้า ก็ เดิมทีก็คิดว่าจะเอาเสื้อผ้ามาสวมใส่ แต่พอเห็นเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น ก็นึกถึงชีวิตที่ลำบากสมัยเป็นฆราวาส ก็จะอาจจะเกิดได้คิดขึ้นมาว่าทำไมเราโง่แบบนี้ อยู่เป็นพระนี้ก็สบายอยู่แล้วทำไมจะไปหาเรื่องลำบากกลับไปเป็นฆราวาส ก็เลยไม่สึก ออกมาจากป่า อยู่ไปไม่นานก็กระสันต์จะสึกอีก ก็เข้าไปในป่าก็อาศัยเสื้อผ้านี่แหละเป็นเครื่องเตือนใจ ทำให้ความคิดที่จะสึก หมดไป ทำอย่างนี้อยู่บ่อยๆ จนกระทั่งเพื่อนพระถามว่าท่านไปทำอะไรในป่า ท่านก็จะตอบว่าไปหาอาจารย์ ไปหาอาจารย์ เพื่อนพระก็ไม่ได้ถามต่อ ว่าอาจารย์ที่ว่าคืออะไร
ตอนหลัง ท่านก็ตั้งใจในการปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพื่อนก็ถามว่าเดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปหาอาจารย์แล้วเหรอ ท่านก็ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องพึ่งอาจารย์แล้ว เพื่อนพระก็หาว่าท่าน อวดตัวก็เลยไปฟ้องพระพุทธเจ้า อวดอุตริมนุสธรรม พระพุทธเจ้าก็เลยเรียกมาแล้วก็ตรัสถาม ก็เลยได้ความอย่างที่ว่า อันนี้ก็เรียกว่าแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่ปุปะมันก็เป็นอาจารย์ได้ เป็นอาจารย์ในความหมายที่ว่าเตือนใจ ให้กลับมาทำความดี ให้กลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อันนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาเหมือนกัน ผู้มีปัญญา รู้จักแสวงหาครูบาอาจารย์ สามารถที่จะเอา เอาสิ่งต่างๆมาเป็นครูบาอาจารย์เตือนใจได้ เวลามีเรื่องกระทบใจ มันก็ถ้ามองดูดีๆ ครูบาอาจารย์ก็สามารถจะปรากฏแก่เราได้
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านเคยเล่าวาสมัยที่ท่านเป็นพระหนุ่ม อยู่ที่อุบล วันหนึ่งก็ไปบิณฑบาตก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกชายอายุห้าขวบยืนรอใส่บาตรท่านก็เลยเดินเข้าไป พอใกล้จะถึงเด็กเห็นท่านก็พูดขึ้นมาเสียงดังว่า มึงไม่ใช่พระดอก มึงไม่ใช่พระดอก ทีแรก หลวงพ่อพุธท่านไม่พอใจ แต่ว่าสักพักท่านก็ได้สติแล้วก็ได้คิดขึ้นมาว่า เอ่อจริงของมัน เราไม่ใช่พระถ้าเราเป็นพระ เราต้องไม่โกรธ พอคิดแบบนี้ความไม่พอใจความโกรธก็หายไปเลย แล้วท่านก็ไปรับบาตรตามปกติ ไม่มีความรู้สึกโกรธเด็กคนนั้นเลย ภายหลังเวลาท่านพูดถึงเด็กคนนั้นท่านก็บอกว่าเด็กคนนั้นคืออาจารย์ของท่าน เด็กที่ด่าท่านที่พูดกับท่านด้วยถ้อยคำไม่สุภาพว่า มึงไม่ใช่พระดอก แต่ว่าสามารถจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อพุธได้ อันนี้เขาเรียกว่ารู้จักแสวงหาครูบาอาจารย์
คือว่าแม้กระทั่งคนที่ด่าเรา ก็สามารถจะเรียนจากเขาได้ หรือสามารถเห็นประโยชน์จากเขาได้ ก็คือเป็นอาจารย์เพราะว่ามาเตือนให้ท่านได้สติได้คิด ว่าเออเป็นพระเราต้องไม่โกรธ ถ้าเราโกรธ แสดงว่าเรายังไม่ได้เป็นพระ ก็เป็นการเตือนใจให้ รู้จักทำความเพียรรู้จักข่มใจรวมทั้งมีสติรู้ทันความโกรธด้วย แล้วคนที่ด่าเรา ถ้าเรามองให้ดีก็สามารถจะเป็นอาจารย์ของเราได้เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะคนหรือเหตุการณ์ เวลาเราทำอะไรผิดพลาด มันก็สอนเราได้มากมาย เราคงเคยได้ยินคำว่าผิดเป็นครู เวลาทำผิด แทนที่จะมาเสียใจ แทนที่จะหัวเสีย เออก็ลองมองว่า ความผิดมันเป็นครูเรา อุปสรรคความล้มเหลวก็เป็นครูเราได้ เป็นอาจารย์ของเราได้ อันนั้นถ้าเรารู้จักมองแบบนี้ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักแสวงหาครูบาอาจารย์ บางทีครูบาอาจารย์เราไม่ใช่ต้องไปแสวงหาที่ไกลๆ ดั้นด้นไปไปอินเดีย หรือว่าไปประเทศหรือเมืองต่างๆ บางทีอาจารย์ ก็อยู่ข้างหน้าเรา โดยเฉพาะเวลาเกิดการกระทบขึ้นมาทำให้ไม่พอใจ หรือแม้แต่อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นข้างในใจเรา ความโกรธ ความเจ็บ ความปวด ความทุกข์ ความเบื่อ มันก็เป็นครู เป็นอาจารย์ ให้กับเราได้เหมือนกัน เพราะว่า สิ่งเหล่านี้ มันก็สอนธรรมแสดงสัจธรรมให้เราได้เหมือนกัน
หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า เราสามารถจะเรียนสัจธรรมได้ จากความทุกข์ จากความโกรธ อันนี้ก็แปลว่าความทุกข์ ความโกรธก็เป็นอาจารย์ของเราได้ แต่เราต้องฉลาด ฉลาดในการที่จะหา หรือว่าเอาสิ่งต่างๆมาเป็นอาจารย์ของเรา โดยเฉพาะ เวลาเจอผัสสะที่มากระทบให้ เกิดความขุ่นเคืองใจ เกิดความไม่พอใจ ไอ้ตรงนั้นแหละที่ ถ้าเรามองดีๆ มันก็ สามารถจะเป็นครูเป็นอาจารย์ให้กับเราได้ การลองผิดลองถูก ก็เป็นอาจารย์เป็นครูของเรา
หลวงพ่อพุทธทาสยังบอกว่าอาจารย์ของท่าน ชื่ออาจารย์คลำ คลำคืออะไร ก็คือ ลองผิดลองถูก ไม่รู้ก็ทำไปคลำไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ มันก็เจอถูกทางเอง ท่านเรียนรู้ หลายเรื่อง จากอาจารย์คลำ ทั้งทางโลกและทางธรรม ทำครัว ก่อสร้างกุฎิ หรือว่าการเจริญกรรมฐาน ท่านก็อาศัยอาจารย์คลำมาก ไม่ใช่จากพระไตรปิฎกอย่างเดียว ที่สอนธรรมะให้กับท่าน การลองผิดลองถูก เวลาเราปฏิบัติ แล้วก็เกิดความเครียดขึ้นมาให้ลองมองดีๆ ความเครียด แหละสอนเรา ความเครียดกำลังเป็นครูสอนเรา สอนว่าอะไร สอนว่าเรากำลังทำผิด เวลามีความเครียดเกิดขึ้น เวลามีความเอ่อตึงที่หัว เอ่อที่ใบหน้าหรือว่าปวดหัว หายใจไม่ทั่วท้อง แน่นหน้าอก ตอนนั้นให้รู้ ว่าอาจารย์ กำลังมาเตือนเราแล้ว ว่าเรากำลังวางใจผิด วางใจผิดยังไงคือ ไปจ้องไปเพ่ง ไปจ้องไปเพ่งที่อวัยวะที่มือ ที่เท้าหรือไปดักจ้องความคิด อัน พอเราทำแล้วเครียดเมื่อไรก็ให้รู้ว่าเราวางใจผิดแล้ว ให้ลองทำใจปล่อยวางสักหน่อย ทำใจสบายๆ ทำเล่นๆไป ให้เราต้องรู้จัก รุ้จักหา รู้จักเอาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวแล้วที่เกิดขึ้นในตัวเราในใจของเราเป็นอาจารย์ แต่สุดท้าย อาจารย์ที่ดีที่สุดก็คือตัวเรานั่นแหละ หมายความว่าเราต้องรู้จักเตือนตน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า บุคคลต้องรู้จักเตือนตนด้วยตนเอง การที่มีตนเป็นอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่าเห็นว่าฉันแน่ ฉันเก่งแต่หมายความว่ารู้จักเตือนตน คนถ้ารู้จักเตือนตนรู้จักเฝ้ามองตน หรือว่าหัวเราะเยาะตนเอง อันนี้ก็ถือว่ามีตนเป็นอาจารย์ได้เหมือนกัน เราเคยหัวเราเยาะตนเองบ้างหรือเปล่า เวลาโกรธ เวลาเศร้าโศกเสียใจ เวลาอิจฉาใคร ลองหัวเราะเยาะตนเองบ้าง ที่จริงเรียกว่าหัวเราะเยาะกิเลสมากกว่า หัวเราะเยาะอัตตา ถ้ารู้จักเตือนตน ก็ถือว่าเรามีตนเป็นอาจารย์ มี มีสติคอยทักท้วง คนเราจะเตือนตนได้ต้องมีสติคอยทักท้วง ทักท้วงความคิดทักท้วงอารมณ์ ถ้าใครก็ตามที่ไม่ร็จักเตือนตน ก็ถือว่าอาภัพมากเลย เพราะว่าเรียกว่าขาดอาจารย์ไปแล้ว เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราโชคดี ที่มีหลวงพ่อคำเขียนเป็นครูบาอาจารย์ของเรา และก็อาจจะมีหลายท่าน ที่เรานับถือแต่ว่าก็อย่าไปพึ่งพาครูบาอาจารย์แต่อย่างเดียว เพราะว่าครูบาอาจารย์เหล่านี้ ถึงแม้ว่าท่านจะดีวิเศษอย่างไร ก็ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยงอนิจจัง ยังไงก็สักวันหนึ่งก็ต้องล้มหายตายจากไป แม้แต่พระพุทธเจ้า
ถ้าเรารู้จักหาอาจารย์จากทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่มีอยู่รอบตัวเรา ทั้งที่เกิดขึ้นในใจของเรา สามารถจะเอาทุกอย่างมาเป็นอุปกรณ์สอนธรรม หรือว่าเป็นเครื่องฝึกจิตฝึกใจให้มี ความอดทนเข้มแข็งมีขันติ มีวิริยะ มีปัญญา หรือสามารถที่จะเรียนสัจธรรมได้จากสิ่งเรานี้ ก็ถือว่าเราเป็นผู้มีปัญญา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นคนที่รู้จักแสวงหาครูบาอาจารย์เหมือนกัน คนเรา ถ้าไม่รู้จักแสวงหาครูบาอาจารย์ มันก็อาภัพ ยากที่จะเจริญงอกงาม ไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรม