แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเรามาที่นี่ เพราะว่าต้องการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคืออะไร ทำได้อย่างไร ก็ต้องทำความเข้าใจ ปฏิบัติธรรมหมายถึงการพัฒนา การฝึก กาย วาจา ใจ จะขาดอันใดอันหนึ่ง ไปไม่ได้ การฝึก การพัฒนา กาย วาจา ก็เรียกว่า การพัฒนาด้านศีล มีคำเรียกว่า ศีลภาวนา ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ ไม่ได้แปลว่านั่งหลับตา อันนั้นมันรูปแบบ วิธีการ การทำให้กาย วาจาของเรางดงาม ประกอบไปด้วยความดี ไม่เบียดเบียนใคร เมื่อพูดก็พูดด้วยวาจาที่ไพเราะ เมื่อกระทำก็ให้เกิดประโยชน์ เป็นผลดีทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นั่นเราก็เรียกว่าศีล ถ้าทำให้ศีลของเรางดงามเรียกศีลภาวนา การมีศีล การรักษาศีล ก็ถือว่าปฏิบัติธรรม และการรักษาศีล หรือว่าการมีศีล มันไม่ต้องอาศัยรูปแบบอะไรมาก คือไม่จำเป็นต้องมาสมาทานกับพระ ไม่รู้ว่าจะเอ่ยคำสมาทานศีลยังไง ก็ไม่เป็นไร บางคนก็จำไม่ได้ว่า มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง ต่อด้วยอะไร อันนั้นก็ไม่สำคัญ มันอยู่ที่ความตั้งใจ เมื่อเรามีเจตนาที่จะรักษาศีล แล้วก็พยายามทำ ดูแลกาย วาจาให้ดี ก็เรียกว่า เราเป็นผู้มีศีลแล้ว อย่าไปติดที่รูปแบบ หลายคนเวลาจะรักษาศีล ก็เข้าใจว่าต้องมีรูปแบบมาก เช่น ต้องนุ่งขาว ห่มขาว ต้องมากล่าวคำสมาทานศีล ต่อหน้าพระ ถ้าไม่มีพระ ก็ไม่รู้ว่าจะสมาทานอย่างไร อันนี้ไม่ใช่ หรือบางคนก็มาสมาทานต่อหน้าพระพุทธรูป แต่ไม่มีพระพุทธรูป ก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ
แม้ว่าศีลเป็นเรื่องกาย วาจา แต่ว่าอาศัยเจตนา แล้วเจตนาก็เป็นเรื่องของใจ นอกจากการฝึก การพัฒนากาย วาจาแล้ว การปฏิบัติธรรมรวมถึงการฝึกและพัฒนาจิตด้วย การพัฒนาจิต มันก็ทำได้หลายอย่าง เช่นพัฒนาจิตให้มีเมตตา พัฒนาจิตให้มีความอดทน ให้มีความขยันหมั่นเพียร ให้พอใจในสิ่งที่ได้มา อันนี้เรียกว่า สันโดษ หรือว่าพัฒนาให้มีความสงบ ให้มีสติ ความรู้ตัว ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า พัฒนา หรือภาวนาได้ทั้งนั้น จะเรียกว่ากรรมฐานด้วยก็ได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพิธีรีตอง ไม่ใช่ว่าจะทำกรรมฐาน จะต้องมีการนุ่งขาว ห่มขาว ต้องมาขอกรรมฐาน ถ้าไม่ได้ขอกรรมฐาน ก็ทำกรรมฐานไม่ได้ เข้าใจผิด
เดี๋ยวนี้เราไปติดที่รูปแบบกันมาก ไปติดที่พิธีรีตองมาก แม้แต่จะอุทิศบุญกุศล ส่วนบุญให้ใคร ยังต้องมีพิธีรีตองอีก เช่น ต้องให้พระว่าก่อน ยะถา วาริวะหา... ถึงจะกรวดน้ำได้ ไม่มีน้ำก็รู้สึกลำบากใจว่า แล้วจะอุทิศส่วนกุศลไปอย่างไร ที่จริงถ้าไม่มีน้ำ ก็ไม่สำคัญ ใช้ใจอย่างเดียวก็ได้ มีน้ำแล้วแต่ไม่มีพระจะมาสวด ยะถา วาริ วะหา ก็รู้สึกว่า เอ๊ะทำไม่ได้ เคยไปบิณฑบาต ชาวบ้านก็บอกว่า เดี๋ยวจะขอกรวดน้ำหน่อย พอเขาใส่บาตรเสร็จ อาตมาก็ว่าเลย อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ว่าจบเขาก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย พอว่าจบแล้วเขาก็บอกว่า ขอกรวดน้ำหน่อย ก็คือจะให้เรา ว่า ยะถา ที่จริง อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ก็เป็นส่วนหนึ่งของ ยะถา วาริวะหา นั่นแหละ คือเขาเข้าใจว่า กรวดน้ำจะได้บุญ ก็ต่อเมื่อพระว่า ยะถา ถ้าพระว่าบทอื่นนี่ ไม่ได้บุญ อันนี้แสดงว่าไม่เข้าใจ การทำบุญ เรื่องการกรวดน้ำ หรือว่าเรื่องการแผ่อุทิศส่วนกุศล พระจะสวดบทไหนไม่สำคัญ อยู่ที่เจ้าตัวนั่นแหละ ว่าเมื่อทำบุญแล้ว ใส่บาตรแล้ว ก็นึกถึงผู้ที่ล่วงลับ ก็ว่าไปเลย จะสวดได้ไม่ได้ ไม่สำคัญ อยู่ที่ใจ ถ้าหากว่าจะต้อง ยะถา วาริวะหา แล้วฝรั่งจะทำยังไง ฝรั่งอยากจะทำบุญ ไม่มีพระจะมาว่า ยะถา วาริวะหา หรือว่ากล่าวคำกรวดน้ำไม่ได้
การทำความดี ถ้ามันเป็นความดีจริง ใจก็เป็นบุญแล้ว อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับพิธีรีตอง พิธีรีตองเป็นแค่ตัวช่วย ตัวเสริม อย่างเช่น เมื่อเราจะถวายสังฆทาน ถวายผ้าป่าก็ได้ ก็จะมีพิธีสักหน่อย เช่นกล่าวคำไตรสรณคมน์ แล้วก็มีการรับศีล พิธีการเหล่านี้มีเพื่ออะไร มีเพื่อช่วยน้อมใจผู้ถวายให้สงบ เพราะว่าถ้าใจยังว้าวุ่น บางคนเจ้าภาพจัดงาน มีเรื่องอะไรต้องทำมาก รับแขกก็ดี ทำอาหารก็ดี วิ่งไปวิ่งมาสาละวน จิตใจว้าวุ่น ไม่สงบ เมื่อไม่สงบแล้ว การทำบุญก็จะได้บุญน้อย เพราะว่าทำบุญจะได้บุญมาก เมื่อก่อนจะทำจิตให้แจ่มใส ใจเบิกบาน หรือผ่องใส ความผ่องใสของใจ ทั้งก่อน ระหว่าง แล้วให้นั่นแหละ ก็เป็นตัวบุญ เพราะบุญเป็นชื่อของความสุข เมื่อจะถวายสังฆทาน ถ้าใจผ่องใส เบิกบาน อันนี้ก็ได้บุญมาก แต่ว่าถ้าใจว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน บุญก็น้อย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีพิธีกรรม เพื่อทำให้จิตใจสงบ จิตใจเจ้าภาพ หรือผู้ที่จะถวาย ที่ชื่อว่า ทายก
พิธีกรรม หน้าที่ของมันก็คืออันนี้ ช่วยน้อมใจให้สงบ ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบ เพราะว่าถ้าพระไม่เอ่ยคำ ไม่ตั้งโม บางทีเสียงโกลาหลวุ่นวาย ยังดังอยู่ เจ้าภาพหรือแขกส่งเสียง บรรยากาศไม่สงบเลย พอพระเริ่มตั้งโม บรรยากาศก็เริ่มสงบ พอสงบแล้ว ช่วยน้อมใจญาติโยม ผู้มีจิตศรัทธาให้สงบ ฉะนั้นเมื่อจะถวาย จิตก็ผ่องใส ถวายเสร็จ ใจก็เบิกบาน ก็เป็นบุญ เมื่อใจเป็นบุญแล้ว จะอุทิศส่วนบุญกุศลให้ใคร ก็ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มันเป็นเรื่องของใจล้วนๆ ไม่ใช่อยู่ที่พิธีกรรม แต่พิธีกรรมเป็นตัวเสริม แต่ถึงไม่มีเพราะความจำเป็น เพราะท่องไม่ได้ ไม่เป็นไร ขอให้ตั้งใจให้ดีๆ ให้เป็นบุญก็แล้วกัน
เรื่องภาวนาก็เหมือนกัน เรื่องการทำสมาธิ เรื่องการฝึกจิต มันไม่ได้อยู่ที่พิธีรีตอง ไม่ได้อยู่ที่ว่า ห่มผ้าสีอะไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วยซ้ำ ไม่รู้จักพิธีรีตอง ก็ไม่เป็นไร ตั้งใจว่าจะทำ ก็ทำเลย ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ตามลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างจังหวะ อันที่จริงแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับศรัทธาด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้ปฏิบัติ บางทีผู้ปฏิบัติอาจจะไม่ใช่ชาวพุทธ อาจจะเป็นชาวคริสต์ เป็นมุสลิม อันนั้นไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าวางใจถูกไหม ถ้าวางใจถูก ผลก็ย่อมเกิดขึ้น มันเหมือนกับขี่จักรยานอะ คนที่ขี่จักรยานเป็น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็น ผู้หญิง ผู้ชาย จะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นมุสลิม จะเป็นคนชาติไหน ภาษาไหน ถ้าทรงตัวได้ถูกต้อง ก็ขี่จักรยานได้ ขับรถ ใช้คอมพิวเตอร์ก็เหมือนกัน ถ้ารู้วิธีใช้ ก็สามารถควบคุมรถ สามารถจะใช้คอมพิวเตอร์ ให้เกิดประโยชน์ได้
มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า มีความเชื่อแบบไหน จะเป็นซ้ายเป็นขวา เป็นทุนนิยม คอมมิวนิสต์ เป็นพุทธ เป็นคริสต์ หรือว่าเป็น ไม่มีศาสนา ถ้ารู้จักใช้มัน รู้ว่าปุ่มไหนทำอะไร ก็สามารถบังคับควบคุมมันให้เป็นประโยชน์ได้ ใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักธรรมชาติของใจ หรือบางทีไม่รู้ แต่ว่าทำไปตามที่มีคนแนะนำ ทั้งๆที่ไม่มีความเชื่อ และบางทีไม่รู้ด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ถ้าทำถูกต้องตามเหตุปัจจัย ก็เกิดผลดีได้เหมือนกัน อย่าไปคิดว่าต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้นถึงจะทำสมาธิ เจริญสติ ได้ผล คนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ หรือว่าไม่รู้เรื่องพระรัตนตรัยเลย ไม่เคยได้ยินอริยสัจ 4 ไม่เคยเข้าใจว่า มรรคมีองค์ 8 คืออะไร แต่ถ้าวางใจถูก ปฏิบัติถูก มันก็เกิดผล จะเป็นความสงบ ความรู้สึกตัว ก็แล้วแต่
เมื่อสัก 70-80 ปีก่อน หลวงปู่มั่น ท่านธุดงค์ไปตามเขตป่าเขา บางทีก็ขึ้นดอย ท่านชอบธุดงค์ทางภาคเหนือ มีคราวหนึ่งธุดงค์ไปกับพระอาจารย์เทสก์ ตอนนั้นยังหนุ่มอยู่ (ต่อมา หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ก็ไปที่ดอยแห่งหนึ่ง ทางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นภูมิประเทศที่สงบ สงัด จึงเลือกพักที่นั่น เพราะว่าใกล้หมู่บ้านด้วย สามารถจะบิณฑบาตได้สะดวก ประมาณ 1-2 กิโลเมตร สมัยนั้นป่าเขายังมาก เป็นหมู่บ้านชาวเขา ก็มีกระจัดกระจาย หมู่บ้านเหล่านี้บางทีทั้งปีทั้งชาติ แทบจะไม่ได้เจอผู้คนจากภายนอก หรือว่าเขาไม่เคยเข้าไปในเมืองเลย คนเหล่านี้ไม่รู้จักพระ แต่รู้บ้างว่าคือพระ แต่ไม่รู้อะไรมากกว่านั้น
วันหนึ่งหลวงปู่มั่น กับพระอาจารย์เทสก์ก็ไปบิณฑบาต ถือบาตรเข้ามา เขาไม่รู้ว่าถือบาตรเข้ามาทำไม ถามว่ามาทำอะไร หลวงปู่มั่นก็ตอบว่ามาบิณฑบาต บิณฑบาตแปลว่าอะไร บิณฑบาตหาอาหาร อาหารนี้จะเอาอะไร เขาถาม จะเอาข้าวสุก หรือเอาข้าวสาร ท่านก็ตอบว่า ข้าวสุก ชาวเขาก็ใส่ข้าวสุกให้ ก็ใส่แต่ข้าวสุก ไม่มีกับ ท่านก็ฉันแต่ข้าวสุกนั่นแหละ หลายวันทีเดียว แต่ว่าก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เกิดระแวงสงสัย พระสองรูปนี้มาทำอะไร มีคนลือว่า จะเป็นเสือเย็นหรือเปล่า เสือเย็นก็คงคล้ายกับเสือสมิง เป็นเสือที่ปลอมตัวมาเป็นคน คอยจับมนุษย์เป็นอาหาร ก็เกิดความตื่นตกใจ ก็เลยมีการประชุมกัน ได้ความว่า ต่อไปนี้ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงอย่าไปเข้าใกล้ ตรงที่พระ หรือตุ๊เจ้า สองรูปนี้ปักกลดอยู่ ถ้าเป็นผู้ชายจะเข้าไปแถวนั้น ต้องมีอาวุธ และจะต้องมีคนไปด้วยหลายคน ขณะเดียวกันก็มีการส่งคนไปเฝ้ามองดูพฤติกรรมว่า พระสองรูปนี้ทำอะไรบ้าง ก็มีชายหนุ่มหลายคน รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านไปซุ่มดูพฤติกรรม เห็นว่าหลวงปู่มั่นกับลูกศิษย์ วันๆหนึ่ง ไม่ได้ทำอะไร นอกจากนั่งนิ่งๆ แล้วก็เดินกลับไปกลับมา เดินกลับไปกลับมาก็คือ เดินจงกรม ชาวเขาไม่รู้จักการเดินจงกรม หรือการนั่งสมาธิ เห็นอย่างนี้อยู่ทั้งวัน และทำอยู่หลายวัน ก็เลยรู้สึกว่าไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ คงไม่ใช่เสือเย็นล่ะมั้ง แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างนั้นทำไม
วันหนึ่งหัวหน้าหมู่บ้านเกิดกล้าขึ้นมา เดินเข้าไปถามหลวงปู่มั่นว่า ตุ๊เจ้าเดินกลับไปกลับมา ทำอะไร หลวงปู่มั่นตอบว่า ตามหาพุทโธ พุทโธเราหาย ชาวเขาก็สงสัยว่าพุทโธคืออะไร ท่านก็ตอบว่า คือดวงแก้วสว่างไสว แล้วมันเป็นยังไง มันดียังไง เห็นนรก สวรรค์ไหม ท่านก็บอกว่า ท่านมีดวงแก้วนี้ มีพุทโธแล้ว ก็จะเห็นนรก สวรรค์ เขาก็สนใจขึ้นมา ก็บอกว่าจะช่วยตามหาพุทโธให้ จะได้ไหม ชาวเขามีเมตตา พุทโธหายก็เลยอาสาว่าจะช่วยหา แล้วทำอย่างไร ท่านก็บอกว่า เวลาเดินก็ให้นึกถึงพุทโธไว้ จะทำนานเท่าไหร่ ชาวเขาถาม ท่านก็ตอบว่า ประมาณ 15-20 นาที เริ่มต้นเท่านี้ก่อน ช่วยกันหาพุทโธ เขาก็เลยไปช่วยกันหาพุทโธ กลับไปที่บ้านก็เดินกลับไปกลับมา ตั้งใจว่าจะช่วยหาพุทโธให้ตุ๊เจ้า ชาวบ้านคนอื่นก็สนใจ ก็ช่วยหา เดินจงกรมกันไป เดินจงกรมกันมา ไม่รู้ด้วยว่านั่นคือการเดินจงกรม
ปรากฎว่าทำได้ไม่กี่วัน หัวหน้าชาวเข้าจิตก็สงบ สงบแล้วก็เกิดนิมิตขึ้นมา เหมือนกับเห็นทั้งป่านี้สว่างไสว แถมกลางคืนฝัน ก็ฝันว่าหลวงปู่มั่นเอาความสว่างมาให้ ก็เกิดความสนใจมากขึ้น ก็เลยไปถามหลวงปู่มั่นว่า มันเป็นยังงี้ มันแปลว่าอะไร ท่านก็แนำเพิ่มเติมให้เรื่องการภาวนาพุทโธ แต่ท่านไม่ได้บอกว่า นี่คือการภาวนา เพราะว่าพูดไปชาวเขาคงไม่เข้าใจ แต่บอกวิธีการหาพุทโธให้ ปรากฎว่าไม่นาน หัวหน้าชาวเขานั่นก็จิตสงบ จนกระทั่งสามารถรู้วาระจิตของคนอื่นได้ เห็นวาระจิตแม้กระทั่งของหลวงปู่มั่น เห็นว่าจิตของท่านนั้นใส ไม่มีจุดด่างดำอะไรเลย ก็ยิ่งแปลกใจ เล่าให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านก็ยิ่งสนใจใหญ่ ก็กลายเป็นว่าหลายคนได้รับผลแห่งการตามหาพุทโธ กันไปตามๆกัน ก็กลายเป็นว่าเกิดศรัทธาในหลวงปู่มั่น
ทีแรกท่านตั้งใจจะอยู่แค่ไม่กี่วัน ปรากฎว่าชาวบ้านขอให้อยู่ต่อ ท่านอยู่เป็นปีเลย จำพรรษาที่นั่นด้วย แล้วก็ทำให้คนเหล่านั้นหันมาสมาทานพุทธศาสนา คนเหล่านั้นภาวนาพุทโธก่อน ก่อนที่จะมารู้จักพุทธศาสนา แล้วทั้งๆที่ไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่รู้จักพระรัตนตรัย แล้วก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังภาวนา แต่ว่าทำแล้วกลับได้รับความสงบ เพราะอะไร ก็เพราะว่าวางจิตวางใจถูก พอวางใจถูก คือจิตอยู่กับพุทโธ หรือว่าขณะที่เดินก็มีการบริกรรม จิตมันไม่ไปไหน มันก็อยู่กับพุทโธ มันก็สงบ ที่จริงจะเป็นพุทโธ หรือไม่พุทโธ ก็ได้ทั้งนั้น คนบางคนไปติดว่าจะต้องเป็นพุทโธ มันไม่จำเป็น จะเอาอะไรก็ได้ แต่ว่าถ้าหากสามารถจะให้จิตไปอยู่กับสิ่งนั้น อยู่กับคำบริกรรม จิตก็จะสงบได้ เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า การทำสมาธิ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่ากำลังทำสมาธิอยู่ แต่ว่าทำเพราะว่าอยากจะหาพุทโธให้หลวงปู่มั่น แต่ถ้าทำถูก ก็เกิดความสงบ อันนี้เรียกว่าเกิด สมถะ ถ้าสมถะถึงขั้น ก็สามารถที่จะมีความสามารถพิเศษทางจิตได้ ขณะเดียวกันถ้าเอาความสงบมาใช้ในการดูจิต เอามาใช้ในการดูกาย และใจ ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดปัญญา หรือเกิดวิปัสสนาขึ้นมาได้
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นเลยว่า แม้ว่าจะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังภาวนาอยู่ ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังปฏิบัติธรรมด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำสมาธิ แล้วดังนั้นจึงไม่มีความคาดหวังว่า จะพบกับความสงบ แต่เมื่อทำถูกวิธี มันก็เกิดความสงบจนได้ อันนี้เราพูดถึงความสงบ เราพูดถึงสมถะ การเจริญสติก็เหมือนกัน การเจริญสติ คือการทำให้จิตมันตื่น มันไม่ใช่แค่สงบอย่างเดียว แต่ก็ยังรู้ด้วยว่า สงบ และไม่สงบ ก็รู้ว่าไม่สงบ แล้วก็ไม่ติดในความสงบนั้น การเจริญสติก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ขึ้นอยู่กับว่า ต้องมีศรัทธาในพระรัตนตรัยหรือเปล่า บางคนก็ไม่มีความรู้ แล้วก็ไม่เข้าใจ แต่ว่าปฏิบัติถูกก็คือว่า ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น เวลาเดิน ขณะที่กายเดิน ใจก็อยู่กับการเดิน หรือว่าทำความรู้สึกตัวไป ในขณะที่ทำอิริยาบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนั่ง ยืน หรือว่ากิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม เดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เมื่อมีความรู้สึกตัว จิตก็ตื่นขึ้นมาได้เหมือนกัน
หลายๆคน ทั้งที่ไม่ได้มีศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ทำไปแล้วได้รับอานิสงส์ ความเครียดหายไป ความหนักใจหายไป ร่างกายที่ปวดเมื่อย หรือว่าเป็นโรคด้วยซ้ำ ก็หาย เขาก็เกิดความทึ่งในการปฏิบัติ ฝรั่งจำนวนมากทุกวันนี้ ในยุโรป อเมริกา หลายคนก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธ ไม่มีความเข้าใจในพุทธศาสนา แต่ว่าพอมาเจริญสติ การเจริญสติเดี๋ยวนี้ ก็มีการเผยแพร่อย่างแพร่หลาย โดยที่ไม่ใช้คำพุทธ แต่วิธีการเป็นวิธีการแบบพุทธ คนทำแล้วเขาก็ได้รับอานิสงส์ จิตตื่น เบา รู้สึกตัว ตอนนั้นแหละถึงค่อยมาสนใจ ว่าพุทธศาสนาสอนอะไร อันนี้เราต้องจับประเด็นให้ได้ว่า การปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ความเชื่อ และก็ไม่ได้อยู่ที่ความอยาก ไม่ได้อยากได้ความสงบ แต่ถ้าทำถูกวิธี มันก็สงบ อย่างชาวเขา ไม่ได้คิดเลย ไม่มีความอยากอยู่ในหัว เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำคือการทำสมาธิ แต่ถ้าทำถูกวิธี ก็เกิดความสงบขึ้นมาได้ ไม่มีความอยากจะให้จิตสว่าง แต่ถ้าทำถูกวิธี ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ใจมันก็สว่างขึ้นมาได้เหมือนกัน สว่างด้วยสติ
ในทางตรงข้าม ทำด้วยความอยาก ความอยากนี่เต็มหัวใจเลย ทำเท่าไหร่ใจก็ไม่สงบ ทำเท่าไหร่ใจก็ไม่ตื่น เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันมีความอยากเป็นเครื่องกีดขวาง เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่มีความอยาก จิตมันก็จะไม่เป็นปกติแล้ว จิตมันจะไม่อยู่กับปัจจุบัน และจิตมันจะไปอยู่กับอนาคต คอยชะเง้อว่าเมื่อไหร่จะได้ความสงบ เมื่อไหร่จะได้สติ เมื่อไหร่จะรู้รูปนาม มันไม่อยู่กับปัจจุบัน เมื่อมันไม่อยู่กับปัจจุบัน ก็คือทำผิดนั่นแหละ เมื่อทำผิดแล้วมันจะเกิดผลได้อย่างไร ยิ่งทำด้วยความอยาก ยิ่งไม่ได้ การปฏิบัตินี่มันแปลก การฝึกจิต ยิ่งอยากได้กลับไม่ได้ ยิ่งไม่อยากได้กลับได้ ยิ่งสละ กลับได้ ไม่ใช่ได้ความสุขเท่านั้น บางทีได้ทรัพย์กลับมาด้วย
พระพุทธเจ้าท่านสละราชสมบัติ แต่ว่ากลับได้รับความศรัทธา ได้รับปัจจัยต่าง ๆมากมาย ยิ่งอยากได้กลับไม่ได้ ยิ่งไม่อยากได้ หรือไม่คิดว่าจะได้ กลับได้ นักปฏิบัติต้องระลึกเสมอ เมื่อใดก็ตามที่ใจมันอยากได้ความสงบ อยากได้สติ อันนั้นแสดงว่าตั้งจิตผิดแล้ว ต้องกลับมาวางมันลง อยู่กับปัจจุบัน หรือว่าทำเล่นๆ หลวงพ่อเทียน ท่านจะสอนผู้ใหม่ว่าให้ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ ก็คือว่า มันจะฟุ้งบ้าง หลงบ้าง ก็ไม่เป็นไร เวลาเราทำอะไรเล่นๆ มันผิดพลาดอะไรไป เราก็ไม่ได้หงุดหงิด ไม่ได้เสียใจ แต่ถ้าเราทำจริงจัง มันจะเครียดง่าย ใจฟุ้ง ก็ไม่พอใจ คิดจะเอาชนะความฟุ้ง คิดจะพยายามกดข่มจิตไม่ให้คิด การทำเช่นนั้นทำให้จิตไม่เป็นปกติ ทำให้จิตเครียดได้ง่าย เสร็จแล้วก็เลยเข้ารกเข้าพงไปเลย เพราะฉะนั้นให้เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของเรา แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราทำถูกวิธีไหม ถึงไม่อยากแต่ทำถูกวิธี มันก็เกิดผล
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เหมือนกับไข่ไก่ ถ้าแม่ไก่มาฟักถูกวิธี แล้วก็ทำต่อเนื่อง ทุกวันทั้งวัน แล้วก็หลายวัน ไม่นานลูกเจี๊ยบก็จะออกมา ไข่ก็จะฟักเป็นตัว โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยาก หรือความปรารถนาของแม่ไก่ แต่ถ้าหากว่าแม้จะมีความปรารถนาอยากจะให้มันฟักเป็นตัว แต่ว่าไม่ทำอะไรเลยกับไข่นั้น หรือว่ามาฟักก็ประเดี๋ยวประด๋าว ถึงอยากแค่ไหนมันก็ไม่ออกมาเป็นตัวได้ การปฏิบัติไม่ต่างจากการฟักไข่ ต้องสร้างเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม มันถึงจะเกิดผล แล้วก็ผลนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความปรารถนา ความต้องการ ความอยากของเรา แล้วก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพิธีรีตองด้วย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราทำถูกวิธีไหม ถูกวิธีนี่ไม่ได้หมายถึงถูกพิธีรีตอง แต่หมายถึงการวางใจถูก ถ้าวางใจถูก แล้วทำความเพียรต่อเนื่องมันก็เกิดผล อย่างที่ควรจะเป็นในที่สุด