แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีนิทานเรื่องหนึ่งเป็นนิทานสั้นๆ ปกตินิทานสั้นๆก็มักจะเป็นของเซน แต่อันนี้เป็นของเต๋า คนแต่งก็คือจางจื๊อซึ่งเป็นปราชญ์จีนที่มีชื่อเสียงมาก เวลาสอนธรรมก็มักจะเอานิทานมาประกอบหรือสอนผ่านนิทานสั้นๆ ที่จริงเป็นอุปมาอุปไมยมากกว่า เรื่องหนึ่งที่ชอบมากก็คือเรื่องของชายคนหนึ่งซึ่งเกิดเบื่อเกิดรำคาญเงาแล้วก็รอยเท้าของตัว ก็อยากจะหนีเงา อยากจะหนีรอยเท้า เขาก็เลยพยายามวิ่งหนี เขาวิ่งตั้งแต่เช้าเลย แต่ยิ่งวิ่ง เงาก็ยิ่งตาม รอยเท้าก็ยิ่งติดตามเขาไปเช่นเดียวกัน เขาคิดว่ายังวิ่งเร็วไม่พอ ก็ยิ่งวิ่งเร็วขึ้นๆ ตั้งแต่เช้าจรดบ่าย เงาก็ยังตาม รอยเท้าก็ยังตามติดไป ที่ว่ายังไกลไม่พอ ก็วิ่งจนกระทั่งเรียกว่าพยายามวิ่งไปให้สุดขอบฟ้า แต่สุดท้ายก็หมดแรง หมดสภาพ แล้วก็ตาย ขณะที่เงา รอยเท้าก็ยังตามเขาไปจนถึงนาทีสุดท้าย ที่จริงเขาหารู้ไม่ว่าเพียงแต่เขานั่งอยู่ในร่มไม้ เพียงเท่านั้นแหละรอยเท้าก็หายไป เช่นเดียวกับเงา
อันนี้ก็เป็นนิทานที่จบเท่านี้ มันให้ข้อคิดที่ดีมาก มันเป็นอุปมาของคนที่อยากจะหนีทุกข์ คนทั้งหลายก็อยากจะหนีทุกข์ทั้งนั้น คนทั้งโลกอยากจะหนีทุกข์ และส่วนใหญ่ที่ทำก็คือพยายามวิ่ง พยายามแสวงหา พยายามหนีทุกข์ด้วยการแสวงหาความสุข ก็ดิ้นรนไปหาสิ่งต่างๆมาครอบครอง อยากจะหนีความยากจน อยากจะหนีความต่ำต้อย ก็พยายามไปหาทรัพย์สินเงินทอง แสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาด้วยความคิดว่าถ้าได้มาแล้วก็จะไม่มีทุกข์ แต่ว่าทุกข์ก็ยังตามเขาไป ไม่ว่าคนรวยหรือว่าคนมีชื่อเสียง คนมีอำนาจ ความทุกข์ก็ไม่เคยหายไป เงาแล้วก็รอยเท้านี้ก็เปรียบเหมือนความทุกข์ที่คนพยายามหนี แต่หนีด้วยการวิ่ง ก็คือการดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่คิดว่าเป็นความสุข คิดว่ามันต้องไปครอบครองให้มากๆมันจึงจะไม่ทุกข์ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ บริษัท บริวาร อำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ ฐานะ ตำแหน่ง แม้จะได้มาร้อยล้านพันล้านก็ยังทุกข์ ความทุกข์อันนี้ก็คือความทุกข์ว่ายังรวยไม่พอ อาจจะเป็นเพราะมีคนอื่นเขารวยกว่า หรือจะเป็นเพราะว่ามันยังไม่มีความสุข ยังมีความทุกข์ มันจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อมีทรัพย์สมบัติมากๆก็ต้องคอยหวงแหนต้องคอยรักษา กลัวคนจะขโมย คนรวยๆติดอันดับโลกนี่แค่อันดับมันลดลงก็ทุกข์แล้ว จากอันดับ 1 เหลือเป็นอันดับ 2 นี่ก็ทุกข์แล้ว รู้สึกเสียหน้า ต้องตะเกียกตะกายกระเสือกกระสนให้กลับมาเป็นที่ 1 ใหม่ มีตำแหน่งมีชื่อเสียงมีอำนาจก็ยังทุกข์เพราะว่าระแวงคนจะมาแย่ง
คนที่มีอำนาจมากๆจะมีโรคอย่างหนึ่งคือโรคหวาดระแวง เรียกว่า Paranoid กลัวคนนั้นคนนี้จะมาแย่ง กลัวคนนั้นคนนี้จะมาลอบฆ่า อย่างเผด็จการเช่น สตาลิน เหมาเจ๋อตุง หรือว่าพล พต พวกนี้มีอำนาจล้นฟ้าในประเทศของตัวแต่ว่าก็นอนไม่เป็นสุขเพราะว่ากลัวคนจะมาแย่งชิงอำนาจของตัวเองไป กลัวคนจะมาทำร้าย แล้วพวกนี้ก็ลงเอยด้วยการที่เพื่อนคนใกล้ชิดไปเข้าคุกบ้างไปฆ่าบ้างเหมือนกันหมดเลย คนรอบข้างที่เป็นเพื่อนจริงๆหายาก ก็มีแต่พวกประจบสอพลอจึงจะอยู่รอด แต่แม้กระนั้นก็อาจจะไม่รอด อันนี้มันก็บ่งว่านี่ไม่ได้มีความสุขเลย อันนี้ไม่ต้องพูดถึงว่ามันเกิดความผันผวนแปรปรวน รวยมากมายเสร็จแล้วหุ้นเกิดตก เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เงินมันลดค่าลง จากรวยกลายเป็นบางทีจนก็มีเพราะว่าล้มละลาย อย่างที่เราเห็นช่วงเศรษฐกิจปี 40 จากร่ำรวยกลายเป็นยาจกก็มาก หรือว่าคนที่มีฐานะมีตำแหน่งมีชื่อเสียงวันดีคืนดีก็ติดคุก ช่วงนี้ก็มีข่าวคนมีชื่อเสียงเป็นรัฐมนตรีมีหน้ามีตาก็เดินเข้าคุกกันเป็นแถว มันก็สอนให้เห็นเลยว่าพวกนี้มันไม่ได้เป็นหลักประกันแห่งความสุขอย่างแท้จริง
สิ่งที่จางจื๊อต้องการบอกคือว่ามันไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายแสวงหาอะไรต่างๆเพื่อจะหนีทุกข์หรอก เพียงแค่อยู่นิ่งๆ นั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้ รอยเท้าและเงาก็หายไป ต้นไม้นี้ก็อาจจะหมายถึงธรรมะก็ได้ เมื่อคนเราเลิกดิ้นรนตะเกียกตะกาย แต่หันมาอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งธรรมะ ความสุขก็เกิดขึ้นทันที ร่มเงานั้นอาจจะเจาะจงให้แคบลงไปหน่อยก็ได้แก่สติและปัญญา คนเราถ้าหากว่ามีสติเป็นเครื่องรักษาใจ มีปัญญาเป็นเหมือนแสวงสว่างสาดส่องมันก็เป็นสุขได้ ก็เป็นสุขที่เกิดจากความสงบ ความนิ่งในที่นี้นิ่งโดยที่ไม่วิ่ง ไม่ไปตะเกียกตะกาย มันเป็นสภาวะจิต ใจนิ่ง ใจไม่ดิ้นรน ความทุกข์คนเรามันไม่ได้เกิดจากอะไร มันเกิดจากจิตที่มันดิ้น จิตที่ตะเกียกตะกาย
ดิ้นมี 2 อย่าง ดิ้นเพราะอยากได้ อันนี้เรียกว่าโลภะ อยากได้นั่นอยากได้นี่ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ฐานะ ตำแหน่ง ถ้าเป็นพระก็จะหมายถึงสมณศักดิ์ รวมทั้งคำชื่นชมสรรเสริญ ดิ้นอยากได้นี่ก็ทุกข์เพราะว่ามันยังไม่ได้มา ความอยากมันทำให้จิตรุ่มร้อน แล้วความรุ่มร้อนก็ผลักให้เราไปแสวงหาสิ่งนั้น ดิ้นอีกอย่างหนึ่งคือดิ้นเพื่อหนีหรือผลักไส อันนี้เรียกว่าโทสะก็ได้ น้องๆก็คือความหงุดหงิด ความไม่พอใจ หรือว่าความยินร้าย ตรงนี้เป็นที่มาของความทุกข์มากกว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เราผลักไส แต่เป็นอาการผลักไสที่เป็นตัวการของความทุกข์ แต่คนมักจะมองไม่เห็น คนมักจะไปมองว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ทำให้ฉันทุกข์ เช่น เสียงดัง คำตำหนิติเตียน หรือว่าแดดร้อน อันที่จริงอันนี้ไม่ได้เป็นตัวการของความทุกข์ที่แท้จริง ตัวการของความทุกข์ที่แท้จริงคือจิตที่มันไม่ชอบ ไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบคำตำหนิติเตียน ไม่ชอบแดดร้อน หรือแม้กระทั่งถ้าเป็นนักปฏิบัติก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้ทุกข์ทำให้ไม่สงบก็คือความฟุ้งซ่าน แต่ที่จริงไม่ใช่ ความรู้สึกลบที่มีต่อความฟุ้งซ่าน ความไม่ชอบความฟุ้งซ่านต่างหากที่มันทำให้ทุกข์ นั่นก็คืออาการที่จิตมันดิ้นมันผลักไสสิ่งใดก็ตาม ตนนี่แหละที่ทำให้เป็นทุกข์ พอไม่สังเกตดูใจมันก็จะไปโทษนั่นโทษนี่
อย่างที่เคยเล่า ก็เหมือนกับลิงที่มันเกลียดกะปิ เอามือถูหินถูเปลือกไม้เพราะว่ามือมันเปื้อนกะปิจนเลือดไหล ถามว่าอะไรที่ทำให้ลิงเลือดไหล มันไม่ใช่กะปิ แต่มันเป็นความเกลียดกะปิ ความเกลียดกะปินี้ที่บงการลิงให้เอามือถูกับหินเอามือถูกับเปลือกไม้จนเลือดไหล นี่แหละคือที่มาของความทุกข์ที่แท้จริงคือจิตที่มันดิ้น จิตที่ไม่ชอบ จิตที่ผลักไส ฉะนั้นถ้าเราอยากจะหนีทุกข์ อยากจะมีความสุข ก็ทำให้จิตไม่ดิ้นไม่ว่าดิ้นเพราะอยากหรือว่าดิ้นเพราะไม่ชอบ กลับมาดูใจของเรา ถ้าใจเรามันเป็นกลางกับทุกอย่าง ไม่มีความชอบ ไม่มีความชัง ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มันก็สุขได้ แต่สังเกตจิตของคนเรามันก็พยายามดิ้น ดิ้นเพื่อจะมี แล้วก็ดิ้นเพื่อจะหลุด หรือผลักออกไป หนีให้ไกล มันก็ทุกข์ทั้งนั้น
พูดถึงการมีการได้ โดยเฉพาะการมีทรัพย์สมบัติหรือว่าได้เสพเวทนาที่น่าพึงพอใจไม่ว่าทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายที่เรียกว่ากามคุณหรือกามสุข อันนี้คนไปคิดว่ามันช่วยทำให้มีความสุขแล้วก็หนีทุกข์ได้ หลงง่ายเพราะว่ามันทำให้สุขได้รวดเร็ว พอได้เสพพอได้มีปุ๊บมันสุขเลย ดีใจ ได้ฟังเพลงไม่กี่วินาทีก็มีความสุขแล้ว ดูหนังดูคลิปวีดีโอไม่กี่นาทีก็เพลิน เครียดๆมา พอกินขนมกินช็อคโกแล็ตกินไอศกรีม สบาย ความสุขมันมาเร็ว แต่ว่ามันก็เกิดโทษซึ่งทำให้เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าเปรียบกามสุขหรือสุขที่เกิดจากการมีการได้การเสพรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสที่น่าพอใจว่าเหมือนกับความสุขของคนเป็นโรคเรื้อน คนเป็นโรคเรื้อนจะมีอาการคัน แล้วเวลาคันถ้าได้เกามันจะมีความสุขมากเลย คนเป็นโรคเรื้อนนี่มันคันดิ๊กๆเลย บางทีก็ต้องไปตากกองไฟให้ความร้อนมันช่วยบรรเทาความคัน แต่บางทีก็ไม่ทันใจ เกาดีกว่า ตอนที่เกานี่มันมีความสุข เรียกว่ามัน ยิ่งเกาก็ยิ่งมัน แต่ว่ามันก็มันได้ประเดี๋ยวเดียวก็จะคันใหม่ก็ต้องเกาอีก เกาไม่หยุด เพราะว่าเกาทีแรกนี่สบาย หายคัน แต่เสร็จแล้วมันก็คันใหม่ก็เลยต้องเกาใหม่ คนเป็นโรคเรื้อนไม่เคยมีคำว่าเกาครั้งเดียวแล้วจบ ครั้งเดียวไม่เคยพอ ต้องเกาๆๆๆ แล้วยิ่งเกามันไม่ใช่แค่ยิ่งคันอย่างเดียว หนังก็เริ่มถลอกก็ยิ่งเป็นแผล อันนี้มันก็แสดงให้เห็นว่ากามสุขที่ผู้คนดิ้นรนอยากจะได้ พอได้ก็มีความสุข แต่ว่ามันสุขประเดี๋ยวเดียวมันก็เบื่อแล้วมันอยากได้อีก อยากได้อีกก็ต้องไปดิ้นรนหามาอีก
อันนี้เปรียบเหมือนกับว่าเกาทีเดียวไม่พอ มันต้องเกาหลายๆครั้ง แล้วก็เกิดโทษตามมา พอไปดิ้นรนหามามันก็เหนื่อย ต้องไปสู้รบปรบมือกับคนโน้นคนนี้ กลางคืนก็วิตกกังวลว่าจะมีใครมาขโมยไหม คนที่มีสินทรัพย์เยอะๆก็ห่วงมาก ถ้าเศรษฐกิจมันแย่ ค่าเงินตก หุ้นก็อาจจะลดค่า ราคาทรัพย์สมบัติราคาสินทรัพย์ก็จะลดฮวบ อันนี้แหละก็เปรียบเหมือนกับโทษที่มันเกิดจากการเกา ก็คือว่าเกาไปแล้วหนังก็หลุดหนังก็ลอกเป็นแผล นี่เรียกว่าสุขชั่วคราวแต่ว่าทุกข์ตามมายาวนาน แต่ว่าถ้าเกิดเรารักษาใจให้มันหยุดดิ้นไม่ว่าดิ้นเพื่ออยากหรือดิ้นเพราะต้องการผลักไสมันก็จะสงบ การมีสติมันทำให้เรารู้เวลาใจมันกระเพื่อม เวลาใจมันดิ้นเพราะอยากได้หรือว่าอยากผลักออกไป สติมันทำให้เรารู้ทัน
นักปฏิบัติธรรม เรื่องความอยากได้อะไรต่ออะไรมันลดลงไปเยอะแล้ว แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่มากก็คือ ความอยากผลัก เวลามีเสียงดัง ไม่ชอบ มันรบกวนความสงบ เวลามีคนคุยกันก็ไม่ชอบ หรือว่าเวลามีงานมีการก็ไม่ชอบ มันรบกวนความสงบ เวลามีความฟุ้งซ่านก็ไม่ชอบ รำคาญ หงุดหงิด นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากจะมีความรู้สึกไม่ชอบหรือว่าโทสะเป็นเจ้าเรือนมากเพราะใจมันจะพยายามผลักไส ผลักไสอันนั้นผลักไสอันนี้ ไม่ชอบ เรายกมือสร้างจังหวะ คนข้างๆไม่ยกมือก็รู้สึกรำคาญเขา ทำไมเขาไม่ยกมือ ทำไมเขาไม่ปฏิบัติ อันนี้คืออาการจิตที่มันผลักไส หรือบางทีเราไม่ยก แต่คนอื่นยก เราก็รำคาญ ยกทำไม คนที่ใฝ่ธรรม นักปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ระวังมันจะมีอารมณ์แบบนี้มาก ไม่ชอบ บางทีเห็นคนนู้นคนนี้ทำอะไรผิดหูผิดตาไปหมด ไม่มีศีล แต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่ถูกระเบียบ ไม่นุ่งขาวห่มขาว ไม่ชอบ มีคนตั้งข้อสังเกตครูสอนศีลธรรมโรงเรียนต่างๆมักจะมีความเครียด หน้าตาไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส นักเรียนจะรู้สึกว่าครูสอนศีลธรรมไม่ค่อยน่าเข้าใกล้ ดูเครียด คงเพราะเห็นอะไรมันผิดหูผิดตา เห็นอะไรมันไม่ถูกต้องไปหมด ไม่ใช่แค่ไม่ถูกระเบียบอย่างเดียว ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกศีลไม่ถูกธรรม ส่วนคนที่ไม่สนใจธรรมะก็ทุกข์ไปอีกแบบ ทุกข์เพราะยังมีไม่พอ ทุกข์เพราะยังได้ไม่พอ ยังอยากได้มากขึ้นๆ แต่พอมาปฏิบัติธรรมก็จะทุกข์อีกแบบก็คือมันมีโทสะ มันมีความไม่ชอบอย่างโน้นไม่ชอบอย่างนี้ จิตมันผลักไส แม้รอบตัวสงบ ไม่มีเสียงดัง อยู่คนเดียว ก็ยังมีความหงุดหงิด เพราะว่ามันฟุ้งซ่าน ไม่ชอบ ไม่ชอบความฟุ้งซ่าน
อาจารย์พุทธทาสท่านพูดไว้น่าสนใจว่า ความสุขหรือความทุกข์มันขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับผัสสะได้ถูกต้องหรือเปล่า มันไม่ใช่ว่ามีอะไรมากระทบไม่ว่าทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายหรือทางใจ มันไม่ใช่ว่ามีเสียงดังมากระทบหู ไม่ใช่ว่ามีคนแต่งตัวไม่เรียบร้อยปรากฎแก่สายตา หรือมีแดดร้อนมากระทบกับผิว หรือว่ามีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นที่ใจ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะวางใจอย่างไร เราจะทำอย่างไรกับผัสสะอย่างนั้น ถ้าเราทำได้ถูกต้องมันก็สุข แม้สิ่งที่มากระทบเป็นผัสสะที่ไม่ดี เช่น เสียงดัง อากาศร้อน อาหารไม่อร่อย แต่ว่าเมื่อผัสสะมันเกิดขึ้นแล้ววางใจถูก ก็คือว่ามันมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็เห็นมัน รู้แล้ววาง หรือมองว่ามันเป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง เสียงดัง แดดร้อน ธรรมดา เป็นเช่นนั้นเอง สิ่งสำคัญมันไม่ใช่อยู่ที่ว่าไปควบคุมจัดการกับสิ่งภายนอกหรือไปจดจ่อกับสิ่งภายนอก ไม่อย่างนั้นถ้าไม่ระวังมันก็จะมีความอยาก อยากได้ หรืออยากผลัก ไม่รู้จักหยุดหย่อนสักที
แต่ถ้าหากว่าเรามีสติรู้ทันผัสสะแล้วก็มีปัญญาเข้าไปกำกับผัสสะนั้น หมายความว่าพอตากระทบรูป หูได้ยินเสียง ก็รู้ทัน ใจไม่กระเพื่อม มีเวทนาเกิดขึ้นก็รู้ทัน มันปวดเมื่อยก็ปวดเมื่อยแค่กาย แต่ว่าใจไม่ปวด ใจไม่ทุกข์ ใจมันก็สงบได้ หรือเห็นว่ามันเป็นธรรมดา เป็นเช่นนั้นเอง เมื่อมันแปรเปลี่ยนไปก็มีปัญญา รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีการปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้สุขผู้ทุกข์ ไม่มีการปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้โกรธผู้เครียด อาจจะเผลอปล่อยให้ความเครียดความโกรธเกิดขึ้น มีสติรู้ เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน หรือก็รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเอา รู้ได้อย่างไร ปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมันทำให้เราตระหนัก อย่างที่มีคนถามหลวงปู่ดูลย์ว่าหลวงปู่มีความโกรธไหม ท่านบอกมี แต่ไม่เอา ที่ไม่เอานี้สำหรับคนธรรมดาคือไม่เอาเพราะมีสติ พอมีสติปุ๊บมันก็วาง แต่ว่าสำหรับผู้ที่มีปัญญาแล้วมันเห็นเลยว่าพวกนี้มันเป็นโทษ ไม่น่าเอา หรือยึดไม่ได้ อย่าว่าแต่ความโกรธเลย ความดีใจมันก็ไม่น่าเอา เพราะว่ามันไม่สามารถจะเป็นที่ยึดมั่นถือมั่นให้กับใครหรือกับอะไรได้ ถ้าเรามีสติเรามีปัญญาก็จะช่วยรักษาใจให้สงบ จิตมันก็จะเลิกดิ้นไม่ว่าดิ้นเพราะอยากได้หรืออยากผลักไสก็ตาม เหมือนกับว่านั่งพักอยู่ในร่มไม้ สบาย มันไม่มีทุกข์เกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องหนีทุกข์
ลองที่จะให้จิตมันหยุดดิ้น เมื่อใดก็ตามที่ทุกข์ก็ให้รู้ว่าจิตมันทุกข์เพราะดิ้น ก็พยายามรู้ทัน ให้จิตกลับมาสู่ความสงบ เราจะไปบังคับหรือจะไปเรียกร้องให้จิตสงบมันก็ไม่ได้ แต่ว่าเราสร้างเหตุปัจจัยได้ จิตเป็นอนัตตาไม่ได้ แต่เราสร้างเหตุปัจจัยได้คือการที่มีสติมีปัญญา ถ้าไม่สร้าง จะไปบังคับจะไปเรียกร้องให้จิตสงบ พอจิตไม่สงบ เอาแล้ว หงุดหงิดเลย หลายคนก็จะทุกข์เพราะเหตุนี้แหละ จะไปบังคับให้มันสงบแต่มันก็ไม่สงบสักที มันก็ปรุง ฟุ้งมาเรื่อยๆ พยายามควบคุมหลายอย่าง พยายามบังคับจิตให้หยุดคิด พยายามเพ่งอยู่กับลมหายใจ ให้เพ่งอยู่กับคำบริกรรมแต่มันไม่ยอมนี่หงุดหงิดเลย ทุกข์ตามมาทันที แต่พอมีสติกลับมา เห็นว่ามันธรรมดา จิตเป็นอย่างนี้ก็ธรรมดา ช่างมัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านบอก คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง ลองช่างมันดูบ้าง ถ้าเราลองช่างมัน ความฟุ้งซ่านมันก็จะหมดพิษสง เป็นเพราะเราไปต่อล้อต่อเถียงไปตบตีโรมรันพันตูกับมันจึงทุกข์เพราะว่ามันอยากผลักไส แต่พอเราวางใจเป็นกลาง นิ่ง เดี๋ยวมันก็หายไป ถึงอยู่ก็อยู่ได้ไม่นาน ให้ลอง ลองมารู้ทันเวลาจิตมันดิ้นไม่ว่าดิ้นเพราะอยากได้หรืออยากผลักไส แล้วก็ยอมรับความเป็นธรรมดาของจิตมันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง แล้วความนิ่งความสงบจะกลับมา