แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่พิธีรีตอง ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยาก หรือความคาดหวัง และก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าศรัทธาในพระรัตนตรัย หรือมีความเข้าใจในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าหากว่าวางใจถูก มันก็เกิดผล เพราะผลขึ้นอยู่กับเหตุ อันนี้มันเป็นกฎธรรมชาติ ถ้าประกอบเหตุได้ถูก ผลก็ย่อมเกิดขึ้น
อย่างชาวเขาที่ช่วยหลวงปู่มั่นตามหาพุทโธ เขาก็ไม่เคยเห็นพุทโธ แล้วก็ไม่รู้จักการปฏิบัติธรรม การทำสมาธิ แต่ว่าพอเขากำหนดจิตอยู่ที่พุทโธ ระหว่างที่เดินกลับไปกลับมา จิตเขาก็เกิดความสงบได้ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ทั้งๆที่ไม่ได้รู้เลยว่าที่ทำนั้นคือการทำสมาธิ ไม่ได้คาดหวังจะเกิดความสงบ คิดแต่ว่าจะตามหาพุทโธให้หลวงปู่มั่น อันนี้มันก็ชี้ให้เห็นว่า การภาวนา หรือว่าการฝึกจิต มันไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอะไรมากนอกจากการวางจิตวางใจให้ถูกต้อง ไม่ต้องมีความเชื่อไม่ต้องมีความรู้ก็ได้ แต่ถ้ามีก็ดี ทำให้เกิดศรัทธา แต่ถึงแม้จะมี มีความรู้ทางด้านปริยัติเยอะๆ แต่ว่าวางจิตวางใจไม่ถูก เช่น พยายามบังคับจิต พยายามไปเพ่ง จับจ้องความคิดมันก็ไม่มีทางที่จะพบกับความสงบได้
ที่ประเทศอเมริกาสัก 50 ปีก่อน มีพระลามะพระทิเบตท่านหนึ่ง ชื่อลามะเยเช่ เมื่อสักเกือบ 60 ปีที่แล้ว จีนเข้าไปยึดทิเบต พระทิเบตก็เลยอพยพหนีมาอยู่ที่อินเดีย ตอนหลังก็ได้รับนิมนต์ไปอเมริกาบ้าง ยุโรปบ้าง ลามะเยเช่ได้รับนิมนต์ให้ไปอเมริกา ท่านไม่รู้ภาษาอังกฤษ แล้วก็แก่ชรามากเรียกว่าตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 50 60 ไม่เคยเห็นรถยนต์เลย ไม่ต้องพูดถึงเครื่องบิน เพราะทิเบตยังไม่มีรถยนต์ เรียกว่าออกจากโลกที่เก่าแก่ มาเจอโลกสมัยใหม่ คนละโลกกันเลย ปรากฎว่าท่านสามารถสอนหรือว่าชักชวนให้คนอเมริกันมาสนใจสมาธิภาวนาได้ น่าแปลก พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่ค่อยเข้าใจสังคมที่นั่นเท่าไหร่ แต่เขาสามารถทำให้คนอเมริกันซึ่งมีความรู้ หันมาสนใจทำสมาธิ
ท่านก็บอกว่ามันไม่ได้ยากอะไร เรื่องสมาธิ จะทำสมาธิก็มีแค่สองอย่างเท่านั้น คือ หนึ่ง_หายใจ มีลมหายใจรึเปล่า ถ้ามีลมหายใจอันนี้ก็ทำสมาธิได้แล้ว สอง มีความเมตตากรุณาไหม ท่านถามแค่นั้นแหละ ฝรั่งกลัวสมาธิภาวนาว่าจะเป็นเรื่องยาก ท่านก็จะบอกว่าถ้ามีสองอย่างนี้ก็ภาวนาได้ ท่านก็ได้อธิบายว่าลมหายใจมันก็ช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์กับตัวเอง ทำให้เกิดความสงบสันติในตัวเอง ส่วนความเมตตากรุณา มันช่วยทำให้เกิดความสงบสันติกับผู้อื่น การปฏิบัติธรรมก็มีอยู่แค่สองอย่าง ทำให้ใจสงบภายใน และมีความสงบ มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับผู้อื่น เพราะฉะนั้นมีสองอย่างก็ภาวนาได้แล้ว ทำสมาธิได้แล้ว ทำให้ทำสมาธิภาวนาเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตรองมาก นั่งสมาธิ นั่งขัดสมาธิเป็น นั่งขัดสมาธิไม่ได้ก็นั่งเก้าอี้ ไม่ต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ไม่ต้องรู้ประวัติพระพุทธเจ้า ไม่ต้องมีศรัทธาในพระรัตนตรัยก็ได้ ให้มาทำเลย ก็ปรากฎว่า คนหันมาทำสมาธิภาวนา ท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งๆที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย อันนี้ก็คล้ายๆกับที่หลวงปู่มั่น สอนให้ชาวเขารู้จักสมาธิ โดยที่ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมาก
สมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า มีพระกลุ่มหนึ่งจาริกจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ว่าเข้าพรรษาก่อน ไปไม่ถึงเชตวัน ก็เลยต้องหาที่พักแรมจำพรรษาก็ไปเจอหมู่บ้านหนึ่ง หมู่บ้านนี้มีที่สงบสงัด สืบความได้ว่าเป็นที่ของเศรษฐีนีคนหนึ่งชื่อว่านางมาติกะมาตา เป็นคนที่มีเมตตา จึงถามว่าจะขออาศัยจำพรรษาได้ไหม นางก็ยินดีแล้วก็ขออาสาหาอาหารมาถวาย พระที่มากันมาก ๖๐ รูป ได้มีการตกลงกันว่า จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติคนละทิศคนละทาง จะไม่มีการพบปะพูดคุยกัน ยกเว้นว่าเวลาอาหารก็มาบิณฑบาต แล้วแยกย้ายกันไปฉัน จะมาเจอกันต่อเมื่อมีเหตุที่ต้องมีประชุม ก็จะตีระฆังเมื่อมีเหตุมาพบปะกัน ก็เป็นไปอย่างนี้อยู่พักใหญ่ นางมาติกะมาตาก็ให้คนใช้ นำอาหารมาถวายวันละครั้ง วันหนึ่งนางอยากจะมาพบปะ มาไถ่ถามข่าวคราวว่า พระท่านอยู่กันสบายดีไหม ปรากฎว่าเงียบสงัด ไม่เจอใครเลย คนใช้บอกว่าต้องตีระฆัง พระถึงจะมา เมื่อตีระฆังเป็นสัญญาณ พระก็มากัน จากคนละทิศคนละทาง นางมาติกะมาตาเห็นว่าพระมาจากคนละทิศคนละทาง อดสงสัยไม่ได้ว่า พระคุณเจ้าไม่ถูกกันหรือ คือนางไม่รู้เกี่ยวกับธรรมเนียมของพระ หรือเรื่องการปฏิบัติ เพราะว่าเป็นคนที่ไม่เคยเจอพระมาก่อน พระก็อธิบายว่าไม่ได้มีเรื่องทะเลาะกัน เพียงแต่ว่าตั้งใจจะมาปฏิบัติธรรมด้วยความสงบสงัด ทำให้ต่างคนต่างอยู่ ไม่พบปะกัน เวลาสวดปาฎิโมกข์ก็มาประชุมกัน ปาฎิโมกข์เสร็จก็แยกย้ายกันกลับ
นางมาติกะมาตามีความสงสัยว่ามีการปฏิบัติด้วยหรือ ปฏิบัติอย่างไร พระท่านอธิบายว่า การปฏิบัติเป็นการพิจารณาอาการ 32 เรียกว่ากายคตาสติ มีการสวดเป็นประจำ การพิจารณาตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ฯลฯ นางสนใจซักถามถึงวิธีการ จากนั้นก็นำเอาไปปฏิบัติเอง ปฏิบัติได้ไม่นานปรากฎว่าบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี แต่ในส่วนของพระยังไปไม่ถึงไหน นางมีอภิญญา รู้วาระจิตของพระ หยั่งจิตไปพิจารณาดูว่าที่พระปฏิบัติเป็นอย่างไร ก็พบว่ายังเป็นปุถุชนอยู่ นางก็สงสัยว่าเอ๊ะ มีอะไรติดขัดไหม ทำไมถึงยังไม่เจริญก้าวหน้า พิจารณาไปก็อ๋อเป็นเพราะว่าอาหารไม่พอเพียง คงจะน้อยไป จึงสั่งให้คนใช้ให้เอาอาหารมาเพิ่มมากขึ้น ปรากฎว่าไม่นาน พระเหล่านั้นก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็น่าสนใจ ว่าอาหารก็สำคัญ ถึงแม้ว่าตั้งใจปฏิบัติ ถ้าหากว่าอาหารไม่พอเพียง การปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้าได้
เพราะฉะนั้น เวลาพระพุทธเจ้าแนะนำ พระหรือว่าผู้สนใจใฝ่ธรรมปฏิบัติ ท่านจะพูดถึงเรื่องสัปปะยะ แปลว่าสบาย แต่ไม่ใช่แปลว่านั่งเล่นนอนเล่น หมายถึงเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ ข้อหนึ่งก็คืออาหาร สถานที่โคจร หาอาหารบิณฑบาตสะดวก แล้วก็พอเพียง เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องขนาดคนที่ไม่รู้เรื่องธรรมะอะไร ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ไม่เคยได้ยินชื่อพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ แต่พอปฏิบัติ ปฏิบัติถูก ก็เห็นผลได้ทันทีเหมือนกัน ต่อจากนั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว พระกลุ่มเหล่านั้นซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้วนั้น เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปเล่าถึงนางมาติกะมาตา เรื่องนี้มีบันทึกในพระไตรปิฎก ว่าคนที่ไม่มีพื้นธรรมเลย ถ้าหากเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ก็เห็นธรรมได้เหมือนกัน ยังสามารถก้าวหน้ากว่าครูบาอาจารย์ด้วย อาจารย์ยังเป็นปุถุชนอยู่เลย แต่ลูกศิษย์ไปไกลแล้ว เป็นพระอนาคามี ชี้ให้เห็นว่าฆารวาสก็สามารถบรรลุธรรมได้ เป็นถึงพระอานาคามีได้
ฉะนั้น เรื่องการปฏิบัติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ วัย หรือประสบการณ์ด้วยซ้ำ แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราปฏิบัติได้ถูกไหม วางใจได้ถูกต้องไหม พุทธศาสนาจะมีคำๆหนึ่ง ธัมมานุธัมมปฏิบัติ แปลว่า ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม อันนี้เป็นคำที่สำคัญ เพราะว่าถ้าปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม มันก็เกิดอุปสรรค เกิดความลำบากขึ้นได้ ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม หมายความว่า ปฏิบัติธรรมก็รู้ว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร ปฏิบัติธรรมแต่ละข้อแต่ละเรื่อง ต้องรู้ว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร ถ้าไม่รู้ก็ปฏิบัติผิดได้ ถึงแม้รูปแบบจะถูก ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น การให้ทาน จุดมุ่งหมายคือ ลดความตระหนี่ เป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ ลดความโลภ ลดความเห็นแก่ตัว ลดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งของ เป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่ง
อีกข้อหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ถ้าทำถูกวางใจเป็นก็จะได้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์ท่านหมายถึง สงเคราะห์แก่ผู้ที่เดือดร้อนหรือผู้ที่สมควรได้รับทานนั้น ส่วนประโยชน์ตนก็คือว่าลด ละ ความเห็นแก่ตัว ถ้าวางใจไม่ถูก ไม่รู้จุดมุ่งหมาย การให้ทานก็อาจจะกลายเป็นการเพิ่มกิเลสก็ได้ อย่างเช่นทำบุญเพราะหวังรวย ทำบุญเพราะอยากให้คนชม หรือว่าทำบุญเอาหน้า มีคำที่ว่าทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล ก็คือว่า ภาวนาแบบต้องการโชว์ ว่าฉันเป็นนักภาวนา แต่ว่าจิตใจ กิเลสไม่ได้ลดเลย เรียกว่าไม่รู้จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ ศีลก็เพื่อขัดเกลาตัวเอง ไม่ใช่เพื่อไปกดข่มใคร ไม่ใช่เพื่อโชว์ว่าฉันเป็นผู้มีศีลแล้วก็ไปกดข่มคนอื่น อันนี้เรียกว่าผิดจุดมุ่งหมายของการรักษาศีล ขืนทำแบบนั้น ก็ไม่มีความสุข กุศลก็ไม่ได้เจริญงอกงาม ภาวนาก็เหมือนกัน ภาวนาก็เพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อลดละกิเลส เพื่อการมีปัญญา เห็นความจริงแจ่มแจ้งในสัจธรรม จนหมดความยึดติดถือมั่น ถ้าภาวนาเพื่อต้องการอวด เรียกว่าปฏิบัติผิดแล้ว หรือว่าต้องการเห็นสีเห็นแสง หลายคนก็ไปเข้าใจว่าภาวนาเพื่อจะได้เห็นสีเห็นแสง เห็นนิมิตเพื่อให้ได้ไปนรกสวรรค์ หรือ เพื่อจะได้มีอภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ อันนี้ผิดแล้ว ไม่ได้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ซึ่งคนปฏิบัติผิดแบบนี้มีมาก เรียกว่าไม่รู้จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ
อีกอันหนึ่งเรียกว่าสันโดษ สันโดษแปลว่าพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ รวมทั้งการอยู่แบบง่ายๆ อยู่แบบสมถะ มันช่วยเรื่องวัตถุประสงค์ ไม่เสียเวลาทำมาหาเงิน ฟุ้งเฟ้อ คนที่ไม่รู้จักพอกับการบริโภค จะเสียเวลาในการหาเงินหาทอง หรือไม่ก็เสียเวลาในการเสพการบริโภค เอาเวลาทั้งวันทั้งเดือน มาดูหนังเที่ยวเตร่ ทำให้ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมหรือทำความดี แต่ถ้าใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่ง่ายกินง่าย ความจำเป็นที่จะต้องหาเงินหาทองมันก็น้อยลง มีเวลาเหลือที่จะไปทำความดี หรือว่าศึกษาปฏิบัติธรรม แต่บางคนพอสันโดษแล้ว อยู่ง่ายกินง่าย ไม่มีความจำเป็นต้องหาเงิน วันหนึ่งก็อาจทำงานหาเงินสัก 2 - 3 ชั่วโมง ทำไป 2 – 3 วัน ก็พอแล้ว ที่เหลือทำอะไร นั่งๆนอนๆ นั่งเล่นนอนเล่นอันนี้ไม่ใช่ เราปฏิบัติผิดแล้ว คนที่ปฏิบัติสันโดษทำแบบนี้ มีมาก อยู่ง่ายกินง่าย ก็เลยไม่ต้องใช้เวลาในการหาเงินหาทองมาก เวลาที่เหลือก็ไม่ได้ทำอะไร นั่งเล่นนอนเล่น
แต่ที่จริงจุดมุ่งหมายของสันโดษ เพื่อเอาเวลาไปทำความดี ไปพัฒนาชีวิตจิตใจ หรือว่าไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ใช่นั่งเล่นนอนเล่น เพราะฉะนั้นถ้าสันโดษทำไม่ถูก จะกลายเป็นขี้เกียจ พระพุทธเจ้าย้ำว่าสันโดษต้องคู่กับวิริยะ บวกความเพียร เพียรทำความดี เพียรศึกษาปฏิบัติธรรม แล้วก็เพียรสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น ถ้าไม่มีวิริยะ มันจะกลายเป็นขี้เกียจได้ เรียกว่าสันโดษผิดทาง อันนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม ไม่ใช่ธัมมานุธัมมปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ยังมีความหมายว่าให้ปฏิบัติธรรมอย่างรู้จักพอดี หรือว่าสมดุล เพราะว่าธรรมะในพระพุทธศาสนา มีหลายข้อ แล้วก็หลายคู่ ถ้าปฏิบัติธรรมอันใดอันหนึ่งมากไป ก็อาจจะเกิดความเสียหายได้ อย่างเช่น สันโดษแต่ว่าไม่มีวิริยะ ก็จะมีปัญหา หรือว่าทำสมาธิมากไปแต่วิริยะอ่อน ก็เกิดปัญหาได้ กลายเป็นคนเฉื่อยเนือย ไม่อยากจะทำอะไร นั่งอยู่แต่ในบ้าน นั่งอยู่แต่ในห้องพระ อยากจะอยู่แต่ในกุฎิอย่างเดียว กิจส่วนรวมไม่ทำ ไม่อยากจะทำเพราะว่าติดความสงบ อันนี้ก็ไม่ได้ มันต้องมีความพอดีระหว่างสมาธิกับวิริยะ เช่นเดียวกันนี้
มีศรัทธามากไปก็อาจจะงมงาย ฉะนั้นต้องมีปัญญาด้วย ต้องมีปัญญาเข้ามากำกับ หรือว่าถ่วงดุลกับศรัทธาให้มีความพอดี ระหว่างศรัทธากับปัญญา ปัญญามากไปแต่ไม่มีศรัทธา มันก็จะกลายเป็นพวกหลงตัวลืมตน หรือว่าเป็นพวกที่เอาแต่กดข่มคนอื่น ไม่ปฏิบัติ ต้องทำให้เกิดความพอดีระหว่างธรรมะที่เป็นคู่ๆ ที่กล่าวมา ตัวที่สำคัญก็คือสติ สติในอินทรีย์ห้า เราจะพบว่าธรรมมะอยู่สองคู่ แล้วก็หนึ่งอัน สองคู่ก็คือว่า ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ แล้วก็มีสติอยู่โดดๆ ที่มีสติอยู่โดดก็เพราะสติจะช่วยทำให้ เกิดความพอดี สมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา ระหว่างวิริยะกับสมาธิ ถ้าไม่มีสติแล้ว มันก็จะเอียงไปอันใดอันหนึ่งมากไป เช่น ศรัทธามากไป หรือปัญญามากไป หรือไม่ก็วิริยะมากไป หรือไม่ก็สมาธิมากไป ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายได้ หรือว่าไม่ได้ผลในการปฏิบัติ
มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่พระอานนท์ ท่านได้รับมอบหมายให้มาร่วมสังคายนาครั้งที่ 1 หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ปฐมสังคายนามีเงื่อนไขว่า พระ 500 รูปที่จะมาร่วมสังคายนา ต้องเป็นพระอรหันต์ ก็ได้พระอรหันต์มาแล้ว 499 รูป อีกรูปหนึ่งก็คือพระอานนท์ แต่พระอานนท์เป็นโสดาบัน เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้ามาสังคายนาได้ต้องเป็นพระอรหันต์ และท่านก็ต้องเข้าร่วมด้วย เพราะท่านจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้มากเพราะว่าเป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ติดตามพระพุทธเจ้ามา 20-30 ปีได้ เพราะฉะนั้นจะทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี จึงจำเป็นที่จะต้องมาร่วมสังคายนา ด้วยเงื่อนไขว่าต้องเป็นพระอรหันต์ ท่านจึงทำความเพียรมาตลอดจนกระทั่งจะถึงวันสังคายนาและ ท่านก็ยังปฏิบัติไม่ถึงไหน ตกกลางคืนวันสุดท้ายท่านก็ทำความเพียรข้ามคืนจนถึงตอนเช้ามืด ก็ยังไม่บรรลุธรรม จนรู้สึกเหนื่อย กำลังจะพักสักหน่อย ระหว่างที่ท่านจะนั่งพักที่แคร่ ก้นก็สัมผัสแคร่แล้ว เท้าก็ยกจากพื้น ศรีษะยังไม่ทันจะถึงหมอน ปรากฎว่าพอท่านผ่อนคลาย ช่วงผ่อนคลายนั้นก็บรรลุธรรมเลย เป็นพระอรหันต์ในท่าที่ไม่เหมือนใคร ก็คือว่าไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน แล้วก็ไม่ใช่ท่ายืน หรือว่าท่าเดิน ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถทั้ง 4 เลย อยู่ในท่าครึ่งๆกลางๆ ก็มีคำอธิบายว่า ที่ท่านไม่บรรลุธรรม เพราะท่านทำความเพียรมาก จิตเลยฟุ้งซ่าน ท่านก็คงรู้ว่าทำความเพียรแล้วต้องการพักผ่อน อันนี้ชี้ให้เห็นว่าทำความเพียรมากไปก็ใช่ว่าจะดี ต้องมีความพอดี
ความเพียรที่พอดี ภาษาบาลี เรียกว่าวิริยะสะมาตา วิริยะสมตา ทำความเพียรแต่พอดี ทำความเพียรมากไปก็ไม่ถูกเพราะว่าจิตฟุ้งซ่านได้ พระอานนท์ท่านได้พัก จิตก็ผ่อนคลาย ที่เคยตึงก็กลับมาสมดุล จึงบรรลุธรรมเลย ก็เป็นอันว่าสามารถจะไปร่วมสังคายนาได้ เพราะฉะนั้นเรื่องปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติต้องเข้าใจ นอกจากต้องรู้จุดมุ่งหมายของธรรมะแต่ละข้อที่ปฏิบัติแล้ว ก็ต้องรู้ว่าการทำความพอดี ระหว่างธรรมแต่ละคู่ เป็นเรื่องสำคัญ และตัวที่จะทำให้เกิดความพอดี ๆ ก็คือสติ พระพุทธเจ้าเปรียบสติว่าเหมือนกับสารถีที่คุมรถม้าศึก ม้าศึกมีหลายตัว สมมติว่ามีอยู่ 4 ตัว แต่ละตัวก็ต้องพอดี ต้องวิ่งได้ประสานกัน และคนที่ทำให้วิ่งได้พอดีๆ ประสานสอดคล้องกัน ก็คือสารถี อันนี้ก็เปรียบได้กับสติ สติทำหน้าที่ทำให้ศรัทธา ปัญญา วิริยะ สมาธิ ไปกันได้อย่างประสานสอดคล้องกัน ทั้ง 5 เราเรียกว่าอินทรีย์ 5 หรือ พละ 5 มีสติเป็นตัวที่ทำให้เกิดความพอดี ให้ธรรมะไปได้อย่างสอดคล้องกัน ก็เป็นหลักปฏิบัติที่ต้องระลึกไว้เสมอ ไม่ใช่ว่าทำแบบไม่รู้ไม่ชี้ ทำแบบตะพึดตะพือ หรือว่าไปติดที่รูปแบบ สนใจแต่รูปแบบว่ามันต้องยกมือ ต้องนั่งหลับตา หรือต้องเดิน จงกรม จริงๆมันไม่ได้อยู่ที่รูปแบบเลย ไม่ว่าจะทำอะไร มีสติอยู่กับตัว แล้วก็มีความพยายามรู้เท่าทันกิเลส พยายามปล่อยวาง หรือว่าไม่ให้กิเลสเข้ามาครองใจ เป็นการปฏิบัติแล้ว ถึงแม้ว่ากำลังถูฟันอยู่ กำลังอาบน้ำอยู่ หรือว่ากำลังนอนอยู่ก็ตาม อย่างพระอานนท์ท่านก็ไม่ได้บรรลุธรรมขนาดเดิน จงกรม อยู่ หรือว่านั่ง ท่านก็บรรลุธรรมในขณะที่พักผ่อน ให้เราจับหลักให้ได้ของการปฏิบัติ มันถึงจะเกิดผล