แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สุขหรือทุกข์นี่เป็นคำสั้น ๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์เลย เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ใคร ๆ ก็อยากได้ความสุข อยากให้สุขเกิดขึ้นกับตน ปราศจากความทุกข์ แต่ส่วนใหญ่นี่เวลาพูดถึงสุขน่ะ ผู้คนก็คิดว่าอยากจะให้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับตน หรือว่ามีคนมาทำดีกับเรา คนที่ไปเข้าวัดเข้าโบสถ์ หรือไปมัสยิดนี่นะ ก็ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่อธิฐานขอให้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา โชคลาภ ความสำเร็จ การมีสุขภาพดี ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญนับหน้าถือตาจากผู้คน แต่ที่จริงแล้วนี่สำหรับชาวพุทธนี่นะ ความสุขมันต้องเกิดจากการกระทำของเรา สุขหรือทุกข์นี่มันอยู่ที่การกระทำของเรา มันไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา มันไม่ได้อยู่ที่ว่ามีใครทำอะไรเรา การกระทำของเราเป็นตัวกำหนดเลยนะว่าสุขหรือทุกข์นี่จะเกิดขึ้นกับเราหรือเปล่า ถ้าทำดีนะมันก็ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่ายนะ เมื่อทำไม่ดีมันก็เกิดทุกข์ได้ง่ายเหมือนกัน ทำดี ทำถูกนะ ทำถูกต้องตามเหตุตามปัจจัยมันก็ประสบความสำเร็จ กินอาหารถูกต้องนะ มันก็มีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย นี่อยู่ที่การกระทำของเราเป็นหลักเลยนะ ทำดีหรือทำถูก แต่ว่ามันไม่ใช่แค่การมีศีล มีคุณธรรม มีน้ำใจ หรือว่าการเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติ สิ่งของ ผู้คน แต่ว่ามันต้องทำถูกให้ลึกไปกว่านั้น
อาจารย์พุทธทาสท่านบอกนะว่าสุขหรือทุกข์นี่มันอยู่ที่ว่าเรากระทำถูกหรือกระทำผิดนะต่อสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้อยู่ที่ผลกรรมแต่ปางก่อน อันนี้ท่านเรียกว่ามองละเอียดเลยนะ มองลึกเข้ามาถึงเรื่องของผัสสะ ผัสสะก็คือการกระทบ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง หรือว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกสัมผัส หรือได้รับสัมผัส หรือว่าใจมันรับรู้ความคิด ความนึกอารมณ์ต่าง ๆ นี่ผัสสะนี่มันเป็นเรื่องที่ละเอียดนะ จริง ๆ ถ้าเราดูให้ดีนี่นะ สุขหรือทุกข์คนเรานี่ก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ ว่าเราทำถูกหรือทำผิดกับสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ เช่นเวลาพบว่าของหาย หรือเห็นหน้าตาตัวเองในกระจก แล้วมันเห็นรอยเหี่ยวย่น ผมหงอก แล้วเกิดความทุกข์ขึ้นมา อันนี้ที่จริงมันไม่ได้เป็นเพราะว่าผมหงอก หรือของหาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายนอกนะ แต่มันเกิดจากการที่จิตของเราไปยึดนะ ไปยึดเอารูป ไปยึดเอาทรัพย์สมบัติ ไปยึดให้มันเที่ยง ไปยึดว่ามันต้องเที่ยง ไอ้การยึดแบบนี้ มันเป็นการวางใจที่ผิดอยู่แล้วนะ แต่ก็เป็นการทำที่ผิดก็ได้เพราะว่ามันสวนทางความจริง ความจริงคือว่าทุกอย่างมันก็ไม่เที่ยง มันแปรเปลี่ยน มันเสื่อมไปพอเราไปยึด ไปอยากให้มันเที่ยง ให้มันคงที่ มันก็อันนี้เรียกว่าทำผิด วางใจผิด เพราะฉะนั้นนี่นะ เมื่อมันแปรเปลี่ยนไปก็เลยเป็นทุกข์นะ นี่คำว่ากระทำถูกกระทำผิดนี่นะ มันเริ่มตั้งแต่ตรงที่ว่าเราวางใจอย่างไรนะ ถ้าเราไปยึด อยากให้มันเที่ยง ให้มันคงที่นี่ก็เรียกว่าทำผิดนะ หรือว่าเวลานั่งนี่ แล้วก็นั่งไปนาน ๆ เมื่อมีความปวดเกิดขึ้น อันนี้ก็ผัสสะนะ เป็นเวทนาที่เกิดจากผัสสะ หรือตามมาจากผัสสะ ถ้าเรารู้ว่า อ๋อ! มันเป็นเช่นนั้นเองนะ มันมีทั้งสบาย มันมีทั้งปวด ทั้งเจ็บ ทั้งเมื่อย ถ้าเราไม่ได้ยึดอยากว่ามันต้องมีสุขเวทนาอย่างเดียว พอมีทุกขเวทนา มีความปวด ความเมื่อย มันก็ไม่ทุกข์อะไร แต่พอใจมันไปยึดไปอยากว่าจะต้องมีแต่สุขเวทนา ร่างกายนี่ต้องให้สุข หรือว่าให้ความสบายกับเรา พอมันมีความปวดความเมื่อยขึ้นก็ทุกข์เลย มันทุกข์ไม่ใช่เพราะตัวความปวดความเมื่อย แต่ทุกข์เพราะมันไม่เป็นไปตามความอยากของเรา มันไม่ได้เป็นไปตามความยึดอยากของเรา ก็เลยเป็นทุกข์นะ อันนี้เรียกว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อผัสสะ
เสียงก็เหมือนกันนะ เสียงมากระทบหู เสียงดัง เสียงแมว เสียงฝน หรือเสียงมอเตอร์ไซค์ พอหูได้ยินเสียงนี่ ถ้าหากว่าไม่ได้ยึด ไม่ได้อยากว่าจะต้องมีแต่ความสงบเท่านั้นนะ มันก็ไม่ทุกข์อะไร แต่พอไปยึดไปอยากว่ามันต้องสงบ ไอ้เสียงเหล่านี้พอได้ยินปุ๊บนี่ทุกข์เลยนะ เพราะมันไม่ได้เป็นไปตามความอยาก มันสวนทางกับสิ่งที่ยึดเอาไว้ อันนี้เรียกว่ากระทำผิดนะต่อผัสสะ กระทำผิดต่อผัสสะยังกินความรวมถึงว่าเวลามันเกิดผัสสะที่ไม่ชอบ ผัสสะที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา ไปจดจ่อไปใส่ใจกับมันหรือเปล่า ก็รู้ว่าไม่ชอบนะ แล้วไปยึดมันทำไม พอไปยึดปุ๊บนี่ก็ผิดแล้วนะ ไอ้นี่เรียกว่าเป็นการกระทำผิดแล้ว คนเราไม่ได้ยึดเฉพาะสิ่งที่ทำความสุขให้กับเรา สิ่งที่ทำความทุกข์ใจก็ไปยึดนะทั้งที่รู้ว่าไม่ชอบ ทั้งที่ไม่ชอบ ทั้งที่รู้ว่ามันทุกข์ก็ไปยึดเอาไว้ เสร็จแล้วก็ไปโทษเสียง อย่างตัวอย่างที่เล่าอยู่บ่อย ๆ กรณีหลวงปู่บุดดานี่ ท่านไป ?? เจ้าของบ้านที่นิมนต์ท่านมาฉันเพล ฉันเสร็จก็ให้ท่านพักอยู่ในห้องก่อนจะกลับวัด แต่ห้องนั้นก็ไปติดอยู่กับร้านของชำ เจ้าของเป็นอาซิ้ม สวมเกี๊ยะเวลาเดินก็เสียงดัง เสียงก็ดังเข้ามาในห้องที่หลวงปู่บุดดาจำวัดอยู่ ลูกศิษย์ซึ่งมานั่งเป็นเพื่อนได้ยินเสียงนั้นก็ไม่พอใจนะ พูดขึ้นมาว่านี่นะเดินเสียงดังจังเลยไม่เกรงใจกัน ปรากฎหลวงปู่ท่านไม่หลับ ท่านได้ยิน ท่านก็เลยพูดขึ้นมา นี่นะเขาเดินของเขาดี ๆ ไปเอาหูรองเกี๊ยะเขาเอาเอง เสียงเกี๊ยะนี่นะมันก็ดังของมันอย่างนั้น ถ้าไม่เอาหูไปรองเกี๊ยะมันก็ไม่ทุกข์ แต่นี่เอาหูไปรองเกี๊ยะก็เลยทุกข์ อย่างนี้เรียกว่ากระทำผิดต่อผัสสะนะ ก็คือแทนที่จะสักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่ารู้ว่า อ๋อ ! เอาหูไปรองเกี๊ยะซะด้วย
นี่นะปวดเมื่อยเหมือนกันนะ มันก็ปวดก็เมื่อยเป็นธรรมดา พอใจไปจดจ่อตรงที่ปวดที่เมื่อย ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ ไอ้ที่ไม่ปวดทำไมไม่ไปรับรู้ มันมีหลายจุด มันมีแทบทั้งตัวที่ไม่ปวด ส่วนที่ไม่ใช่ขา มันไม่ปวด ทำไมไม่อยู่ตรงนั้น ไปอยู่ตรงขาที่มันปวด นี่เรียกว่ากระทำผิดต่อผัสสะเหมือนกันนะ แต่ถ้าเราทำถูกนะ ว่า เออ! ปวดตรงไหนก็ไม่ไปสนใจตรงนั้น มันก็ไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ร้อนอะไร เวลาหนาวก็เหมือนกันนะ ร่างกายเรานี่นะ ถูกห่ม ถูกคลุมด้วยเสื้อ หมวก ถุงมือ ถุงเท้า บางทีก็แค่ส่วนเล็ก ๆ ที่ไม่มีอะไรปกคลุม เช่น ใบหน้า แทนที่ใจมันไปจดจ่อส่วนที่มันอุ่น เช่นหน้าอก มันก็ไปจดจ่ออยู่ตรงไอ้ส่วนที่มันหนาวนั่นแหละ เสร็จแล้วก็บ่น โอ๊ย! หนาว ๆ ทำไมมันหนาวอย่างนี้ ทำไมไม่ถามว่าแล้วทำไมใจไปจดจ่อตรงส่วนที่มันหนาว ทำไมใจไม่ไปรับรู้ส่วนที่มันอุ่นนะ นี่เรียกว่ากระทำผิดต่อผัสสะเหมือนกันนะ
ที่จริงถ้าเราลอง เออ! ยอมรับนะ การยอมรับมัน เวลามันเกิดผัสสะที่ไม่ดีไม่ชอบ ยอมรับมันซะ เช่นเห็นหน้าตาเหี่ยวย่น เห็นตีนกา เห็นผมหงอก ก็เลยยอมรับมัน มันธรรมดา การยอมรับนี่ก็คือเป็นการกระทำที่ถูกต้องนะ ยอมรับ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ตีโพยตีพาย โวยวาย ทำไมมันเป็นอย่างนี้ เวลาเจ็บเวลาป่วยก็บ่นว่าทำไมต้องเป็นฉัน จิตที่มันตีโพยตีพายไม่ยอมรับ จิตที่มันพยายามปฏิเสธผลักไส จิตที่มันดิ้นผลักออกไปนี่นะ ทั้งที่มันเกิดขึ้นแล้วก็ยังไม่ยอมรับ นี่เรียกว่ากระทำผิด แต่ถ้าหากว่ายอมรับมันได้ เออ! มันเกิดขึ้นแล้ว บางคนก็ไม่ได้คิดไปถึงขั้นว่ามันคือมันเป็นธรรมดา ไม่ได้คิดไปถึงขั้นนั้นเพราะไม่ได้เข้าใจธรรมะมาก ว่านี่นะมันเป็นธรรมดาเป็นเช่นนั้นเอง แต่เพราะเห็นว่า เออ! มันเกิดขึ้นแล้วบ่นไปก็ไร้ประโยชน์ ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น กลับมีแต่สร้างความทุกข์ รถติดนะ ก็เสียเวลาแล้วนะ จะไปเสียอารมณ์เสียสติอีกทำไมนะ ยอมรับมันซะ อันนี้เรียกว่ากระทำถูก กระทำถูกต่อผัสสะ แต่คนส่วนใหญ่กระทำผิดนะ เห็นรถติดหรือว่าได้ยินเสียงดัง มันยอมไม่ได้ มันยอมไม่ได้ มันไม่ยอมรับ แต่การที่ไม่ยอมรับนี่นะ ทั้งที่มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เรียกว่ากระทำผิดเหมือนกันนะ กระทำผิดต่อผัสสะ ผลเกิดขึ้นก็คือความทุกข์ แต่คนที่เขาทำถูกนะ เออ! เสียงดัง รถติด เจ็บป่วย มันก็เป็นแค่ปรากฎการณ์ แต่ไม่ได้ทำให้การปรุงแต่งหรือการให้ค่ามันเหมือนกันนะ มันก็ทำให้คนเราสุขหรือทุกข์ได้ เวลาเห็นเพชรเห็นพลอย โอ้! เห็นดอกไม้ เราให้ค่ามันเป็นบวก เห็นแล้วก็มีความสุข แต่พอเห็นขยะ เห็นขี้หมา เห็นกองขี้หมา เราก็ให้ค่าเป็นลบ พอให้ค่าเป็นลบ เป็นไง มันก็เกิดความทุกข์ที่เห็นสิ่งนั้น ไอ้การให้ค่าของเรานี่นะ ว่าบวกหรือลบ ที่จริงก็เป็นการที่เรียกว่าปรุงแต่ขึ้นมาเอง แต่ความเป็นจริงมันก็มันไม่มีบวกไม่มีลบ มันก็เป็นกลาง ๆ แต่เป็นเพราะการให้ค่าของเรา และไปติดกับการให้ค่านั้น หรือเรียกว่าติดสมมติ เราไปภัตตาคารกินอาหารที่อร่อย ไก่ย่าง หูฉลาม ไอศครีม พิซซ่านี่นะ เวลาเคี้ยวแล้วก็มีความสุข ได้สัมผัสต่อรสชาดอาหาร บางทีอยากเคี้ยวนาน ๆ แต่สมมติว่าเราคายสิ่งที่เคี้ยวอยู่ในปากออกมานี่นะ วางไว้บนจานนี่นะ ความรู้สึกเปลี่ยนไปเลยนะ จากสุขนี่กลายเป็นทุกข์เลย ไอ้สิ่งที่เห็นอยู่ข้างหน้านี่ เราทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าเราไปสมมติ เราไปให้ค่าว่ามันไม่ดี มันคือขยะ ถ้าจะให้ตักใส่ปากเข้าไปอีกครั้งหนึ่งนี่นะ ไม่เอา ทั้งที่เมื่อวินาทีที่แล้วนี่ยังรู้สึกว่าแหมมันอร่อย มันอร่อย อยากจะเคี้ยวนาน ๆ แต่พอคายออกมาแล้วนี่ จะให้กินเข้าไปใหม่นี่มันไม่เอาแล้ว อย่าว่าแต่กินเลย แค่เห็นนี่ก็ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปจากสุขนี่กลายเป็นทุกข์แล้ว เพราะอะไร เพราะเราให้ค่า เราไปตีค่า หรือไปสมมติว่านี่คือขยะ ไอ้ตอนที่อยู่ในปากเรามันคืออาหาร ออกจากปากเรากลายเป็นขยะทันที ทั้งที่มันก็ยังเหมือนเดิม รสชาดยังเหมือนเดิม แต่ให้กินเข้าไปใหม่ไม่เอาแล้ว อันนี้เรียกว่าเป็นการกระทำผิดต่อผัสสะก็ได้นะ คือการให้ค่าปรุงแต่งทั้ง ๆ ที่สิ่งต่าง ๆ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของมันอย่างนั้น
เสียงเพลงนี้เราก็ให้ค่าว่าดี ว่าเพราะ แต่เมื่อมันดังตรงนี้ ดังขณะนี้นะ ดังทางโทรศัพท์น่ะ หลายคนก็จะรู้สึกทุกข์ทันทีเลย ไม่ชอบทันทีเลย เพราะไปมองว่ามันคือสิ่งรบกวน เป็นเสียงรบกวนแล้ว ไอ้ตอนฟังในห้องคอนเสิร์ตมันคือเสียงเพลงที่ไพเราะ เวลาฟังคนเดียวมันคือเสียงเพลง แต่พอมันดังตรงนี้มันคือเสียงรบกวน ถามว่ามันต่างกันตรงไหน มันก็เสียงเดียวกันแหละ แต่เราให้ค่าต่างกัน ตอนไปได้ยินที่ในโรงในห้องประชุมนี่มันคือเสียงไพเราะ เสียงดนตรี เสียงคอนเสิร์ต แต่พอมันดังตรงนี้ เราไปตีค่ามัน ไปสมมติมันคือเสียงรบกวน เราก็เลยหงุดหงิดไม่ชอบ ไอ้การตีค่า หรือให้ค่าหรือสมมติแบบนี้ก็เป็นการกระทำผิดต่อผัสสะเหมือนกันนะ มันก็เป็นสักแต่ว่าเสียง พอเราไปให้ค่าว่าเสียงดนตรีก็สุข พอไปให้ค่าว่าเสียงรบกวนก็ทุกข์เลย ก็เหมือนกับน้ำ น้ำเยอะ ๆ นี่คนสมัยก่อนก็เรียกว่าน้ำหลาก กลับชอบด้วยว่าน้ำหลาก แต่สมัยนี้ไปมองว่ามันคือน้ำท่วม ความรู้สึกต่างกันเลย แต่จริง ๆ ปรากฎการณ์เดียวกันคือน้ำมันเยอะ น้ำหลาก โอ้! ชาวบ้านมีความสุข ออกไปพายเรือ ออกไปเล่น ไปสัมผัสกับธรรมชาติยามน้ำหลาก แต่ว่าพอไปมองว่ามันคือน้ำท่วมโอ้! มันน่ารังเกียจขึ้นมาทันทีเลย คนเรานี่นะ มันก็การตีค่าหรือให้ค่านี่นะ มันเป็นที่มาของความสุขหรือทุกข์นะ มันไม่ใช่เป็นเพราะสิ่งที่เราเห็นเรารับรู้ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เป็นกลาง ๆ ของมันอย่างนั้นแหละ แต่พอให้ค่า ตีค่าผิดนี่ หรือตีค่าทางลบนี่ก็ทุกข์เลย การมองบวกมองลบก็เหมือนกันนะ ก็คือว่าจัดอยู่ในประเภทที่เขาเรียกว่าทำถูกหรือทำผิดต่อผัสสะ ได้ยินเสียงตำหนิ ถ้ามองบวกก็เป็นสุข อย่างอดีตเจ้าของเมืองโบราณพูดไว้ คุณเล็ก วิระยะพันธุ์ นี่นะ วันไหนไม่ถูกตำหนิวันนั้นเป็นอัปมงคล ถูกตำหนิ อ้อ! มองว่ามันเป็นประโยชน์ มันเป็นเครื่องชี้แนะ หรือเป็นเครื่องฝึกจิตให้อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ลดอัตตา ใจมันก็เป็นปกติใจก็มันเป็นสุขเมื่อได้ยิน แต่ถ้าเอาอัตตาตัวตนไปรับ ไม่ได้ใช้ปัญญาไปตีค่า ไปมองว่ามันเป็นสิ่งลบ คำตำหนินี่มันเป็นสิ่งลบ ไม่ดี พอได้ยินเข้าก็เป็นทุกข์ โกรธ มองเห็นแต่ด้านลบของมัน ไม่เห็นด้านบวก คำด่า อย่าว่าแต่คำตำหนิเลย คำด่านี่มันแม่ชีสา ถูกพระด่าแต่กลับนิมนต์ให้มาด่าใหม่ อาจารย์คราวหน้าก็นิมนต์มาต่อว่า มาด่าว่าใหม่นะ กิเลสมันจะได้หมดไปซักที ไม่ใช่สักว่านี่นะ ฟังคำด่าแล้วซาบซึ้งใจเหลือเกินนะ เสียงด่าว่าคือเสียงธรรมะทั้งนั้นเลย อันนี้เรียกว่าทำถูกต่อผัสสะ คือหาประโยชน์จากมัน ผัสสะที่ใคร ๆ มองว่าลบหรือเป็นอนิษฐารมณ์ พอมองเห็นประโยชน์ของมัน ๆ ก็เป็นสุขได้ นิมนต์พระให้มาด่าใหม่
ในทำนองเดียวกันเวลามีผัสสะที่ดีนะ ถ้ารู้จักมองว่า เออ! มันก็ไม่เที่ยงนะ ก็ไม่เคลิ้มคล้อยกับมันมาก ได้โชคได้ลาภมาก็ไม่ได้ดีใจกับมันมาก เพราะรู้ว่า เออ! มันเป็นของชั่วคราว มันไม่เที่ยงหรือมองว่า เออ! มันก็เป็นเหมือนกับอสรพิษนะ ถ้าจับไม่ถูกนะมันก็กัดเอา คือมองเห็นโทษของมัน ก็ไม่หลงดีใจมาก คนบางคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งดีใจมากเลย โอ!ดีใจ ฝันฟุ้งปรุงแต่งไป ใจไม่อยู่กับปัจจุบันแล้ว ขณะที่ขับรถมันดีใจมากเลย ฝันเลยนะ จะเอาเงินสิบล้านยี่สิบล้านไปซื้ออะไร ปรากฎว่าไม่มองรถ ไม่มองถนนข้างหน้า ใจลอยนี่นะก็เลยเกิดอุบัติเหตุ ชนคน ชนเสา พลิกคว่ำ ตกคูตาย ไอ้นี่เรียกว่ากระทำผิดต่อผัสสะนะ คือไปหลง ไปเคลิ้มจนลืมตัว หรือคนที่เล่าวันก่อนนี่นะ ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ชูล็อตเตอรี่กระโดดโลดเต้นไปตามตลาด ประกาศให้ใครรู้ว่าถูกล็อตเตอรี่ ดีใจมาก ดีใจลืมตัว จู่ ๆ ก็เลยฉีกล็อตเตอรี่ ฉีกเป็นชิ้น ๆ เลย ตอนนั้นอาจจะเผลอคิดไปว่านี่นะ ต่อไปนี่ถูกไม่จนแล้ว ความจนจะหมดไปจากชีวิตกูซักที ไปได้เลยความจนนะ ไอ้ความคิดแบบนี้มันก็เผลอฉีกเข้าไป ฉีกเพื่อเหมือนกับว่ากำลังจะขับไล่ความจน แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นมือมันกำลังถือล็อตเตอรี่อยู่ พอฉีกไป พอรู้ไปว่า มาพบว่าล็อตเตอรี่ฉีกเป็นชิ้น ๆ แล้ว ไปขึ้นรางวัลไม่ได้ มันทรุดเลยนะ เสียใจทันทีเลย เสียใจเหมือนกับว่าสูญเสียสมบัตินับล้าน กลายเป็นบ้าเลย อันนี้เรียกว่ากระทำผิดต่อผัสสะนะ ทั้งผัสสะแรกก็คือที่เป็นอิฏฐารมณ์ ลืมตัว ดีใจลืมตัว ไม่มีสติ แต่พอรู้ว่าทำอะไรไปก็ลืมตัวอีกรอบหนึ่งนะ คราวนี้ลืมตัวไปในทางลบ จิตมันแฟบไปเลย รู้สึกว่าสูญเสียทรัพย์สมบัติมหาศาล ทั้งที่ไม่ได้เสียอะไรเลยนะ ไอ้ที่คิดว่าได้มันก็เป็นแค่ความคิดว่าได้ เพราะฉะนั้นไอ้ที่เสียไปก็ไม่ได้เสียอะไรเลย มันเท่าทุน ชีวิตยังเหมือนเดิม แต่ปรุงแต่งไปแล้ว ก็เลยเป็นบ้า ผิดหวังมาก อันนี้เรียกว่ากระทำผิดต่อผัสสะนะทั้งสองรอบเลยนะ ผัสสะฝ่ายบวกก็ปลื้มหลงไหล จนลืมตัว พอเจอผัสสะฝ่ายลบ จิตมันก็ดิ่งไปเลย ไปคิดว่ากูสูญเสียเงินมากมาย ทั้งที่ยังไม่เสียอะไรเลยแม้แต่แดงเดียว มันเป็นแค่ความคิดทั้งนั้น ก็ไปหลงเชื่อมัน ก็ทุกข์จนเป็นบ้า ที่จริงนี่นะ ถ้าเราเริ่มต้นจากการที่มันมีอะไรเกิดขึ้นก็แค่เห็นมัน เห็นมัน มันดีใจก็เห็นมัน มันเสียใจ ก็เห็นมัน ไอ้นี่แหละคือการกระทำที่ถูกนะต่อผัสสะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หูได้ยินก็สักแต่ว่าเห็น ที่หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนให้เห็นอย่าเข้าไปเป็น มันเป็นวิธีการที่ถูกต้องนะต่อผัสสะ ไม่ใช่เฉพาะรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนะแต่รวมถึงธรรมารมณ์ด้วย ความฟุ้งซ่าน ความเครียด ความหงุดหงิด เกิดขึ้นไม่ว่าดีหรือเลว มันอยู่ที่ว่าเรามีท่าทีอย่างไรกับมัน หรือว่าเราทำถูกหรือทำผิดนะ ความเครียดเกิดขึ้น ถ้าเราทำถูก มันมีประโยชน์นะ ดูมันซะ นอกจากมันจะทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็ยังได้ประโยชน์นะ ได้เห็น ได้เรียนรู้จากมันด้วย
คนเราก็เห็นไตรลักษณ์ได้จากความคิดที่ฟุ้ง ปรุงแต่ง หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นตามมา แต่เพราะกระทำผิดนะ วางใจไม่ถูกก็เลยมันหงุดหงิด เครียด ทำไมมันฟุ้งเหลือเกิน นักปฏิบัติธรรมหลายคนนี่จะพูดว่ามันฟุ้งมากนะ เวลาปิดตา เมื่อวานมีคนมาหาบอกว่าเวลาปิดตานี่มันสงบ แต่เวลาเปิดตาเมื่อไหร่ หลวงพ่อทำไมมันฟุ้งเยอะเหลือเกิน ก็ถามว่านี่นะ ก่อนมาปฏิบัตินี่เวลาฟุ้งทุกข์บ้างหรือเปล่า ก็ไม่ได้ทุกข์อะไร ตอนที่ยังไม่มาปฏิบัตินี่มันก็ฟุ้งนั่นแหละ แต่ไม่ได้ทุกข์อะไร แต่พอมาปฏิบัตินี่ความฟุ้งกลายมาเป็นปัญหา อันนี้เพราะอะไร เพราะอยากให้จิตมันสงบ และไปติดกับความอยาก อันนี้ก็วางใจผิดนะ นี่ปฏิบัติผิดนะ ไม่มองว่ามันเป็นธรรมดา แต่พอไปมองเป็นธรรมดาแล้วก็สักแต่ว่าเห็นมันเฉย ๆ มันก็ไม่ทำให้หงุดหงิดอะไร มันฟุ้งก็ฟุ้งไป แต่ใจก็เป็นปกติ ไม่ทุกข์อะไร และต่อไปก็รู้จักมอง รู้จักดู พิจารณา ก็จะเกิดปัญญาขึ้น การเห็นธรรมที่เกิดจากธรรมานุปัสสนานี่นะ ข้อหนึ่งคือเห็นนิวรณ์ นิวรณ์ห้า เข้าใจนิวรณ์ห้า การเข้าใจนิวรณ์ห้านี่นะก็ส่วนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของการเห็นธรรมที่ทำให้พ้นทุกข์ จะเข้าใจนิวรณ์ห้าได้อย่างไร ถ้ามันไม่เกิดขึ้นให้เราดู ให้เราเห็นจนเข้าใจ ไม่เข้าใจนิวรณ์ห้าก็ไม่เห็นธรรมนะ แล้วจะเข้าใจนิวรณ์ห้าได้อย่างไรถ้ามันไม่เกิดขึ้นให้เราเห็นนะ นี้เรียกว่าปฏิบัติถูกต่อนิวรณ์นะ ก็เกิดประโยชน์ เกิดสุข ปฏิบัติผิดต่อนิวรณ์มันก็ทุกข์นะ ความฟุ้งซ่าน อุทธัจจกุกกุจจะก็เป็นหนึ่งในนิวรณ์นะ อันนี้เพราะปฏิบัติผิดต่อนิวรณ์ ต่อความฟุ้งซ่าน ก็เลยทุกข์ ปฏิบัติถูก มันก็เกิดสุขเป็นรางวัล นี่นะถึงที่สุดแล้วนี่นะ มันที่ท่านอาจารย์พูดนี่มันกินใจความครอบคลุมได้มากทีเดียวนะ เกี่ยวกับสุขหรือทุกข์ คนเรามันไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่ได้มีใครทำอะไรเรา แต่อยู่ที่ว่าเราทำอะไรมากกว่า ไม่ใช่เฉพาะทำดีกับคนอื่น ทำถูกกับเหตุการณ์ หรือเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่แวดล้อม แต่ยังรวมถึงทำถูกต่อผัสสะที่มันเกิดขึ้นด้วย อันนี้เป็นเรื่องละเอียดข้างใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความถ้ายังยึดอยากไม่ยอมรับ มองลบ ให้ค่าในทางลบ หรือว่าผลักไส เข้าไปเป็น อันนี้ อันนี้เรียกว่ากระทำผิดก็ต้องเกิดทุกข์ตามมา แต่ว่าหากว่า เออ! เราไม่ยึดอยากที่มันสวนทางความจริง ปล่อยวางเห็นมันอย่างที่มันเป็น ยอมรับมันได้ ให้ค่าหรือตีค่าในทางบวก หรือว่าไม่ยึดติดในสมมติ เห็นมันอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เห็นด้วยอำนาจ อคติ รวมทั้งรู้จักหาประโยชน์จากมัน เห็นข้อดีของมัน รวมทั้งว่ามีสติเห็นนี่ เข้าไปเป็นนี่ พวกนี้นะ มันก็ทำให้ไม่ทุกข์ เป็นสุขได้ ก็เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการกะทำที่ถูก เพราะฉะนั้นนี่นะให้ฝึกเอาไว้นะ เราต้องฝึกการกระทำที่ถูกต่อผัสสะ ไม่ใช่ถูกหรือควรกับคนภายนอก เช่นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เบียดเบียนเขา อันนั้นก็สำคัญนะ กระทำถูกกระทำดีต่อผู้อื่น กระทำถูกต่อเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทรัพย์สมบัติ ใช้ให้ถูกใช้ให้เป็น กระทำถูกต่อร่างกายของเรา รู้จักพักผ่อนพอเพียง ยังไม่พอนะต้องกระทำถูกต่อผัสสะด้วย ที่มันมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ มันถึงจะเกิดสุขอย่างแท้จริง เอ้า! เช้านี้พูดแค่นี่นะ