แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตอนที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใกล้จะมีอายุครบ 80 มีลูกศิษย์คนหนึ่งไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตของท่าน ผลงานที่ท่านทำ ลูกศิษย์คนนั้นคือ พระประชา ปสนฺนธมฺโม บทสัมภาษณ์รวมพิมพ์เป็นเล่มหนา เล่าไว้ในวัยสนธยา ในตอนท้ายๆ เล่ม ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พูดถึงตัวท่านว่า ตอนนี้ไม่ได้สนใจแล้วว่าจะบรรลุนิพพานหรือไม่ จะเป็นอรหันต์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ในความสนใจ ไม่ได้อยู่ในความคิดตอนนี้ เพียงแค่ว่าอยู่อย่างไรไม่ให้เป็นทุกข์แค่นี้พอ
ท่านขยายความว่า คือช่วยผู้อื่นให้ไม่ทุกข์ และตัวเองไม่ทุกข์ด้วย ก็อยู่อย่างสุขสบาย แค่นี้ก็พอ จะเป็นอะไร จะเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรือพระอรหันต์ก็ไม่ได้สนใจแล้ว และท่านก็พูดคล้ายๆ ว่าจะสรุปว่า ใช้คำว่าสงเคราะห์ พอจะสงเคราะห์ได้ว่า ไม่มีความต้องการหรือปรารถนาภพหรือความเป็นอะไร ว่างจากภพแล้ว แล้วเล่าว่าตอนเป็นหนุ่มนี่มีความอยากที่จะบรรลุนิพพาน อยากจะเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าใคร ๆ เขาอธิษฐานกัน เราไม่ค่อยรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ตอนนี้มันไม่มีความอยากแบบนั้น ความอยากเป็นอะไร เพียงแค่อยู่อย่างไม่ทุกข์ก็พอ อันนี้เป็นคำพูดที่น่าสนใจ
ตลอดชีวิตที่ท่านอาจารย์พุทธทาสทำมา คุณุปการอันหนึ่งคือ การทำให้พระนิพพานเป็นอุดมคติสูงสุดของชาวพุทธ คือถ้าไม่นับสายท่านอาจารย์มั่น หรือว่าสายหลวงพ่อชาแล้ว คนที่ทำให้พระนิพพานได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษา ชนชั้นกลางคือท่านอาจารย์พุทธทาส เพราะว่าพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นิพพานถูกลดความสำคัญลง พอๆ กับนรกและสวรรค์ พุทธศาสนาถูกทำให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น สัมผัสได้ มีเหตุมีผล อธิบายได้ และไปเน้นเรื่องประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์ในชีวิตนี้ เรียกว่า (ภิกขุธรรมมิกธรรม) คือถ้าปฏิบัติธรรม รักษาศีล แล้วจะมีความสุข มีโชคมีลาภ หรือว่าได้รับความเคารพ ไม่มีคนเกลียดชัง ส่วนเรื่องที่ลึกไปกว่านั้น สูงไปกว่านั้น แม้กระทั่งสมาธิ ภาวนา ถูกลดความสำคัญลง ลงกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสที่มาพูดให้ เผยแพร่กันอย่างชัดเจน
ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งสูงสุดที่เราควรไปให้ถึงคือพระนิพพาน เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรจะไปให้ถึง ทำให้สิ่งที่เรียกว่าโลกุตรธรรมเป็นสิ่งที่คนรู้จักมากขึ้น แม้กระทั่งหนังสือเล่มแรกๆ ของท่าน คือตามรอยพระอรหันต์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหลักธรรมมุ่งไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ คำบรรยายของท่านพูดไว้มากเรื่องนิพพาน แต่พอถึงตอนท้ายๆ ของชีวิตท่าน ความคิดของท่านที่บอกว่าความสนใจที่จะบรรลุนิพพานหรือไม่ มันไม่มี จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ไม่อยู่ในความคิด ไม่ได้อยู่ในความรู้สึก อาจจะเป็นเพราะว่าท่านได้ตระหนักว่า ในความอยากบรรลุนิพพาน ความอยากเป็นพระอรหันต์ แท้จริงมันก็เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพระนิพพาน เพราะมันเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง มันเป็นตัณหา เขาเรียกว่าภวตัณหา คือความอยากเป็น เมื่อได้ศึกษาปฏิบัติมากๆ จะเห็นว่าความอยากบรรลุนิพพาน อยากเป็นพระอรหันต์ แท้จริงคือตัวกิเลส เป็นตัวก่อภพ เลยวางซะ
มองย้อนไปถึงชีวิตในวัยหนุ่ม ตอนนั้นที่ว่าอยากบรรลุนิพพาน คือทำตามเขา ไม่ได้รู้อะไรมาก เมื่อภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง จึงได้รู้ว่าความอยากนิพพาน อยากเป็นพระอรหันต์ เป็นอุปสรรคขัดขวางการที่จะเข้าถึงพระนิพพาน และที่ท่านพูดไว้ที่นี้คือว่า อยู่อย่างไม่ทุกข์ก็พอแล้ว แต่ท่านขยายความรวมถึงการช่วยเหลือคนอื่นด้วย ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น เราเองก็ไม่ทุกข์ อยู่อย่างไม่ทุกข์ก็พอแล้ว ทำให้นึกถึงคำพูดของอาจารย์โกวิท ในวัยชรา เคยเล่าให้ฟัง นิ้วกลมเคยไปสัมภาษณ์ สนทนากับอาจารย์โกวิทว่า อาจารย์มีความสุขกับอะไร มีความสุขกับการทำอะไร เมื่อ 3-4 ปี ก่อนที่อาจารย์ป่วย ป่วยเป็นสิบปีแล้ว พาร์กินสัน บอกว่า การไม่มีความทะยานอยาก ไม่มีศัตรูคู่อาฆาต ความอยากบรรลุธรรมไม่มีในความคิดแล้ว อย่างนี้พอจะเรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบของความสุข
อาจารย์โกวิททำความเพียรมามาก ตั้งแต่เป็นพระ แม้สึกมาแล้ว เป็นศิลปินแล้วยังสอนกรรมฐาน และทำความเพียร แม้จะมาเป็นลูกศิษย์ เดิมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์พุทธทาส ตอนหลังมาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน ที่สุดแล้วยังเดินตามทางของหลวงพ่อเทียนในเรื่องการสร้างความรู้สึกตัว เป็นท่านหนึ่งที่พูดถึงเรื่องของการบรรลุนิพพานไว้มาก ในงานบรรยาย ในงานสอน แต่พอถึงจุดหนึ่งบอกว่าความอยากบรรลุธรรมไม่มีในความคิดแล้ว เรียกว่าเป็นความคล้ายกัน เรียกได้ว่าโดยบังเอิญคงไม่ใช่ เรียกว่าเป็นความคล้ายกันโดยมิได้นัดหมาย เป็นความคล้ายกันโดยไม่ใช่บังเอิญ เพราะมีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยคล้ายๆ กันคือ เมื่อทำความเพียรภาวนาไปก็รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคือปัจจุบันขณะ อยู่กับปัจจุบันขณะ อยู่แบบไม่มีทุกข์ อันนั้นก็พอแล้ว ส่วนข้างหน้าจะเป็นอะไร จะไปถึงหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่าแรงผลักที่จะทำให้ความอยากไม่มี อยู่ด้วยความไม่ทุกข์ มีอะไรมากระทบก็แก้ แก้มันไป ทำความเพียร ลดกิเลส ลดตัณหา ลดอัตตาไปเรื่อย ๆ อาจารย์กำพลพูดไว้คล้ายๆ กัน ตอนที่ใกล้จะเสียชีวิต
ท่านบอกว่าบรรลุธรรมเป็นคำพูด แต่ความไม่ทุกข์เป็นของจริง คือคนสมัยนี้ไปสนใจเรื่องการบรรลุธรรมมาก อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่จนลืมไปว่า อันนั้นเป็นสมมติ เป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา อันนั้นเรียกสมมติ ของจริงคือความไม่ทุกข์ แต่ว่าคนไปติดกับสมมติ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ โดยที่ตัวเองยังทุกข์อยู่ คือว่ายังปล่อยให้ความทุกข์มันเผาใจ กิเลส อัตตา อันนี้ทั้งสามท่านพูดคล้ายๆกัน เนื้อหาสาระคล้ายๆ กัน คือ เอาความไม่ทุกข์ อยู่อย่างไม่ทุกข์นี่แหละ ส่วนจะนิพพานหรือไม่ เป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา พระอรหันต์หรือไม่ ไม่อยู่ในความสนใจของท่าน เรียกว่าเป็นภาวะที่ไกลจากภาวะตัณหามากขึ้นเรื่อย ๆ อันนี้ไม่ใช่ว่าท่านท้อถอย ท่านเลิกถอนความเพียรหรือเรียกว่าหมด ไม่มีไฟแล้ว ถ้าไม่มีไฟก็เป็นไฟตัณหานี่แหละ แม้จะเป็นไฟตัณหาอย่างละเอียด คือ อยากจะบรรลุนิพพาน อยากจะเป็นพระอรหันต์ อันนี้ไม่มี ที่จริงถ้าเรามาทำให้ความสนใจ ความสำคัญกับการไม่ทุกข์มากกว่าจะเป็นนั่นเป็นนี่ มันดีกว่า
นักภาวนาหลายคนอยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ ปล่อยให้ใจทุกข์ และไม่ได้คิดที่จะจัดการกับกิเลสที่มันทำให้ทุกข์เลย ตาก็ดี กิเลสก็ดี หรือเพราะภาวะตัณหา ความอยากเป็น ที่จริงสำหรับคนทั่วไป ในขณะที่ยังความเพียรไม่มากพอ การที่มีพระนิพพานเป็นจุดหมายมันดี ถ้าหากว่ามีความซีเรียส มีความตั้งใจจริงจัง เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเพียร การที่คนเรามีเป้าหมายที่สูงมันช่วยทำให้เกิดความพยายาม และทำให้ช่วยลดละอัตตาได้ สามารถช่วยให้กล้าทวนกระแสกิเลสได้ อย่าว่าแต่นิพพาน แม้กระทั่งสิ่งที่ต่ำกว่านั้น ถ้าหากว่า เรายึดถือเป็นเป้าหมาย มันช่วยลดอัตตา ทำให้อัตตาไม่พอไกลไปได้มาก ถ้าเราซีเรียสกับมันจริงจัง
ศาสตราจารย์คนหนึ่งในประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อสัก 60 ปีที่แล้ว แกเป็นศาสตราจารย์ด้านสรรพวิทยา มีชื่อมาก เป็นคนที่รักความรู้ ทำงานวิจัย งานเขียน งานบรรยายมากมาก และมีประเด็นหนึ่งที่แกให้ความสนใจ คือ ในเวลานั้นมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งเป็นชาวอิตาลี เขาบอกว่าในเซลล์ เซลล์ของคนเรามีองค์ประกอบชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า กอลจิแอพพาราตัส (golgi apparatus) มันคืออะไรอย่าไปสนใจ แต่ประเด็นก็คือว่า ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษคนนี้ แกไม่เห็นด้วย แกว่ามันเป็นทฤษฎีที่ไม่ได้มีหลักฐานรองรับ คือสมัยนั้นเราไม่มีกล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอน ไม่สามารถมองเห็นได้ละเอียด แกเขียน บรรยายเป็นเวลาสิบกว่าปีว่ามันไม่มี เรียกว่าเป็น เป็นคนที่เสียงแข็ง ค้านในเรื่องนี้มาก เป็นที่รู้กัน แล้ววันหนึ่งมีนักวิชาการหนุ่มชาวอเมริกัน คงยังไม่ค่อยดังเท่าไหร่ แกมาบรรยายที่คณะของศาสตราจารย์คนนี้ คณะวิทยาศาสตร์เชิงวิทยา แกเอาหลักฐานมายืนยัน เล่าเป็นฉากๆ เลยว่าที่จริงแล้ว กอลจิแอพพาราตัส มีจริง ศาสตราจารย์คนนั้นนั่งฟังด้วย แกนั่งฟังตลอดเลย แล้วพอนักวิชาการหนุ่มคนนั้นบรรยายจบ แกเดิน ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษเดินไปหาที่เวที ทีแรกคนคิดว่าคงจะไปวิจารณ์ คงจะไปค้าน คงจะไปฉีกเป็นชิ้นๆ แต่ที่ไหนได้ แกกลับยื่นมือไปเช็คแฮนด์ เขย่ามือ หนุ่มอเมริกันคนนั้น แล้วก็บอกว่าขอบคุณมากพ่อหนุ่ม ผมผิดพลาดมา 15 ปี คือยอมรับในความผิดพลาดของตัว และแสดงความยินดี และก็ขอบคุณ
แทนที่จะโกรธ เพราะว่าถูก คล้ายๆ ว่าความเห็นของตนเองถูกวิจารณ์ ถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ว่าได้ ธรรมดาของคนต้องรู้สึกว่าเสียหน้า ต่อหน้าธารกำนัล โดยคนหนุ่มซึ่งไม่มีชื่อ แถมเป็นอเมริกัน เป็นอาคันตุกะ แล้วมาวิจารณ์ผลงานฉันเป็นชิ้นๆ แบบนี้ ต้องจัดการ แต่ศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษคนนี้ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลย ธรรมดาคนเราต้องมีหน้ามีตา มีอีโก้ มีอัตตา ถ้าเจอแบบนี้ก็ต้องโกรธ แต่ทำไมศาสตราจารย์คนนี้ไม่โกรธ เพราะแกเป็นคนที่รักความรู้ เอาความรู้เป็นใหญ่ ตัวกูเลยเป็นเรื่องเล็ก เมื่อมีความรู้ก็เลยมีความสุข มีความยินดี แต่คนส่วนใหญ่แม้จะอ้างว่าเป็นนักวิชาการ แต่อาจจะไม่ได้ซีเรียสกับความรู้ ถ้าหากตัวกูถูกวิจารณ์ก็ต้องโกรธ แต่ศาสตราจารย์คนนี้เอาความรู้เป็นใหญ่ จึงไม่รู้สึกเสียหน้า ไม่รู้สึกว่าโกรธ ขนาดคนที่ไม่ได้มุ่งนิพพาน แค่เอาความรู้เป็นใหญ่ เขายังสามารถที่จะไม่ให้อัตตาเข้ามาอาละวาดได้ และยิ่งถ้าเราเอาพระนิพพานเป็นเป้าหมาย แค่มีคนมาพูดกระทบ มีคนมาวิจารณ์ แค่นี้โกรธแล้ว แล้วจะไปนิพพานได้ยังไง หรือว่าเวลาของหาย เงินหาย เสียใจ ของแพงด้วย โทรศัพท์เพิ่งซึ่งมา สามหมื่น เงินถูกโกงไปแสนหนึ่ง กลุ้ม เสียใจ แต่พอเรานึกถึงนิพพาน แค่นี้ยังไม่ผ่านแล้วจะนิพพานได้ยังไง หรือว่างานล้มเหลว ไม่สำเร็จ มีอุปสรรค ทำท่าจะไม่สำเร็จ ทำท่าจะพังขึ้นมา เสียใจมั่ง โกรธมั่ง คนที่เขาซีเรียส จริงจังเรื่องพระนิพพาน เขาจะปล่อยวางได้ แค่นี้เรายังไม่ผ่าน แล้วจะไปพระนิพพานได้ยังไง
หรือว่านึกถึงศาสตราจารย์คนนี้ได้ นี่ขนาดเขาไม่ได้ปฏิบัติธรรม มีคนมาวิจารณ์เป็นชิ้นๆ ต่อหน้าสาธารกำนัล เขายังไม่โกรธเลย เพราะว่าเขาดีใจที่เขาได้ความรู้เพิ่มเติม ใจเขาเปิดกว้าง เขาขอบคุณที่ทำให้เขาตาสว่าง ได้ความรู้มากขึ้น คนที่รักความรู้ เขาจะไม่โกรธ เรานี่รักนิพพาน จะไปโกรธได้ยังไง ขนาดเราเป็นนักปฏิบัติธรรมแท้ๆ ยังสู้ศาสตราจารย์คนนี้ไม่ได้ เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมแต่ว่าเขายังไม่โกรธเลย ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้มีความมุ่งมาดปรารถนานิพพานเลย แค่อยากจะมีความรู้ หรือว่าอยากจะเผยแพร่ความรู้ให้มากขึ้น
เพราะฉะนั้นการที่คนเราถ้าหากว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งดีงามและยึดถือเป็นคุณค่า ช่วยลดอัตตา ช่วยลดกิเลสได้ ยิ่งถ้าเป็นพระนิพพานด้วยแล้ว ถ้าซีเรียสจริง ๆ จริงจังกับมันจริง ๆ ซีเรียสในที่นี้คือจริงจัง เจออะไรมากระทบ เจอใครทำอะไรไม่ถูกใจ ก็จะปล่อยวางได้ เพราะว่ามีสติเตือนว่าจะโกรธไปทำไม แค่นี้ยังไม่ผ่าน แล้วจะไปนิพพานได้ยังไง แต่คนส่วนใหญ่คำว่าอยากนิพพาน อยากนิพพาน เป็นแค่คำพูด หรือแค่ความอยากของกิเลส ไม่ได้จริงจังกับมัน เพราะฉะนั้นเวลามีอะไรมากระทบก็โกรธ พอมีอะไรสูญเสียก็เศร้า พอประสบความไม่สำเร็จก็โมโห หรือว่าพอมีอุปสรรคก็กังวล แต่ถ้าเรานึกถึงคำของท่านอาจารย์พุทธทาสก็คืออยู่อย่างไม่ทุกข์ก็พอ ตอนนี้ทุกข์หรือเปล่า หรือคิดถึงแต่นิพพาน มองไปข้างหน้าจนลืมมองตนเองว่าทุกข์หรือเปล่าตอนนี้ ตอนนี้เรากำลังโกรธไหม ตอนนี้เรากำลังเกลียดไหม ตอนนี้เรากำลังเศร้าไหม ตอนนี้เรากำลังกลุ้มไหม กำลังวิตกหรือเปล่า แก้ตรงนี้แหละ
เพราะฉะนั้นที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่าความเป็นพระอรหันต์ไม่ได้อยู่ในความสนใจแล้ว ได้อยู่อย่างไม่ทุกข์ก็พอ สำคัญ มันไม่ใช่คำพูดของคนที่หมดไฟ แต่เป็นคำพูดของคนที่ทำความเพียรอย่างไม่เลิกรา ไม่หยุดหย่อน แต่แทนที่จะไปอยากโน่น อยากนี่ ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต มาอยู่กับปัจจุบัน ตราบใดที่ยังทุกข์อยู่ อยู่กับปัจจุบัน แก้ทุกข์ตรงนั้น จะทุกข์เพราะกามตัณหา ภวตัณหา หรือทุกข์เพราะวิภวตัณหา หรือทุกข์เพราะอัตตาแก้ตรงนั้นแหละ ความไม่ทุกข์นี่เป็นของจริง การบรรลุธรรมเป็นแค่คำพูด เป็นสมมติ ถ้าอยากเมื่อไหร่เป็นภพเมื่อนั้น ความปรารถนาภพทำให้ทุกข์ ความปรารถนาภพเป็นภวตัณหา ปรารถนาภพไม่ว่าจะเป็นภพหยาบหรือภพละเอียดมันคือทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี แต่อย่างว่า สำหรับปุถุชนมันต้องมีความอยาก แต่ถ้าเรามีความอยากในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นความดีงามและจริงจังกับมัน มันใช้เป็นเครื่องมือได้ เป็นอุบายที่ช่วยลดกิเลสได้
แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ปรารถนานิพพาน เป็นคนโลกๆ แต่เขาปรารถนาความรู้ อยากจะมีความรู้มากขึ้น เห็นความจริงของโลกมากขึ้น เช่น ความจริงของเซลล์ซึ่งมันเล็กๆ อยากจะรู้ให้มันมากขึ้น แล้วอยากขยายผลงานของความรู้ให้มันมากขึ้น อะไรก็ตามที่ทำให้เขาได้ความรู้มากขึ้น เขาก็ทำ แม้จะต้องเหนื่อย แม้จะต้องลำบาก อุปสรรคมากเขาก็ดิ้นรน ไม่ยอมแพ้ เพื่อให้มีความรู้มากขึ้น เพราะขยาย หรือต่อยอดความรู้มากขึ้น มันก็มีหลายคนที่เจอความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ยอมเลิก ทั้งที่กิเลสอาจจะบอกว่า โอ๊ย ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว เลิกสักที
ดูอย่างนักวิทยาศาสตร์ ชื่อริชาร์ด เอวารี่ เป็นคนที่พบว่าหวัดเกิดจากไวรัส แต่ก่อนคิดว่าหวัดเกิดจากแบคทีเรีย ประเภทเดียวกับที่ทำให้เกิดปอดบวม เขาใช้เวลาเป็นระยะเวลาสิบกว่าปีกว่าจะพบว่ามันไม่ใช่ มันเกิดจากไวรัส แต่ตอนนั้นมันค้นพบยากเพราะว่าไวรัสมันเล็กมาก มันเล็กกว่าแบคทีเรียมากเลย ตอนที่มีหวัดแพร่ระบาดทั้งโลก เมื่อร้อยปีที่แล้ว คือปี 1917 คนตายไป 40-50 ล้านคนหรืออาจจะมากกว่านั้น เขาเรียกหวัดสเปน แต่ที่จริงหวัดมาจากอเมริกามากกว่า เอวารี่ค้นคว้า แม้กระทั่งหวัด โรควิกฤติหวัดจะผ่านไปแล้วยังค้นไม่เลิก เขาทดลองใช้ตัวอย่างเป็นร้อยๆ ตัว กว่าจะพบความจริงต้องใช้ตัวอย่างตัวที่ 160 กว่า ซึ่งเป็นเวลาสิบกว่าปี แต่ก็ไม่เลิก เพราะอะไร เพราะเขารักในวิชาความรู้ ต้องหาให้ได้ ต้องค้นให้เจอ ก็ยอมเหนื่อย นี่ขนาดคนที่เขาไม่ได้มุ่งนิพพาน เขายังมีความเพียรมาก เพราะเขาจริงจังกับมัน กับความรู้ ยากลำบากยังไงก็ไม่ท้อถอย หรือว่าถูกวิจารณ์ยังไง แต่ถ้าได้ความรู้ ยอมรับด้วยความยินดี ไม่รู้สึกเสียหน้าอย่างศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ
เพราะฉะนั้นยิ่งถ้าเราเอาสิ่งที่เรียกว่านิพพานเป็นเป้าหมายไปแล้ว ถ้าเราใช้ให้ถูกมันช่วยลดอัตตาไปได้มาก เวลาที่เจออะไรมากระทบ ถ้าไม่นึกถึงนิพพาน มันโกรธ มันอยากจะด่า อยากจะตอบโต้ แต่พอนึกถึงนิพพาน โอ้ ก็รู้จักสงบอารมณ์ ต้องผ่านให้ได้ ต้องผ่านให้ได้ เพราะแค่นี้ไม่ผ่าน แล้วจะนิพพานได้ยังไง นิพพานนี่เส้นทางยาวไกล และลำบากกว่ามาก เจอของหาย เงินหาย จะไปโมโห จะไปเศร้าโศกเสียใจได้ยังไง นี่มันเป็นการบ้านชั้นประถม ต้องเจอการบ้านอุดมศึกษา ชั้นปริญญาเอกเลย การบ้านชั้นปริญญาเอกที่มันยากกว่าการบ้านระดับประถมมากเลย แล้วนี่การบ้านระดับประถมแล้วเราไม่ผ่าน แล้วจะไปหวังอะไรว่าจะผ่านระดับปริญญาเอก บางคนอยากนิพพาน แต่ว่าทำความเพียรแค่ไม่กี่นาทีก็ง่วง ง่วงแล้วก็ท้อ เดินจงกรมชั่วโมงหนึ่ง โอ๊ย ไม่ไหวละ ไม่ไหวละ เมื่อย ท้อ อยากได้นิพพาน นิพพาน แต่เจอนิดเจอหน่อยก็ไม่ไหวละ นี่แสดงว่าไม่ใช่คนจริงจัง แต่ถ้าคนจริงจังเรื่องแค่นี้ฉลุยเลย ผ่านไปได้ฉลุยมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย อัตตามันจะเล็กลงทันที ถ้าหากว่าเรามีพระนิพพานหรือสิ่งสูงสุดเป็นเป้าหมาย
ถ้าหากว่าเรามุ่งนิพพานด้วยอำนาจของกิเลส บางทีก็ทำให้ไม่ได้จริงจังกับมันมาก มันแค่อยากเฉยๆ จริง ๆ แล้วความอยากมีสองอย่าง อยากได้กับอยากทำ อยากได้เป็นตัณหาล้วน ๆ เลย ไม่ว่าจะได้อะไรก็ตาม ได้เงิน ได้ทอง ได้คำสรรเสริญ ได้ความสำเร็จ หรือว่าได้นิพพาน ได้เป็นพระอรหันต์ นี่เรียกความอยาก ความอยากได้ก็เป็นตัณหา สำคัญกว่าคืออยากทำ อยากทำที่ทำให้มีความสุขกับการทำ อยากได้คืออยากได้เฉยๆ แต่ไม่อยากทำ อยากทำเรียกว่าฉันทะ ถ้าเราทำความเพียรแล้วมีฉันทะ เราก็ยังทำไปได้เรื่อย ๆ ถึงหรือไม่ถึงฉันก็ยังทำเพราะฉันมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา เพราะฉะนั้นเปลี่ยนจากอยากได้เป็นอยากทำดีกว่า มีความสุขกับการทำความเพียร มีความสุข หรือว่ามีความใส่ใจกับการทำให้ไม่เป็นทุกข์ หรือแค่อยู่อย่างไม่ทุกข์ก็พอแล้ว อยู่อย่างไม่ทุกข์ ส่วนเดินจะถึงหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต แต่วันนี้มีทุกข์หรือเปล่า มีทุกข์ก็แก้ทุกข์ไป นี่ก็เป็นข้อคิดสำหรับนักปฏิบัติธรรม