แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
3-4 วันที่ผ่านมา พระที่วัดก็บางตา แม่ชีกับฆราวาสหลายคน ไม่ได้อยู่ที่วัด เพราะไปร่วมงานที่กรุงเทพฯ หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ จัดงานอาจาริยบูชาให้กับหลวงพอคำเขียน มีศิษยานุศิษย์ร่วมจัด เรียกว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกับหอจดหมายเหตุ อันนี้จะว่าไปก็ไม่ใช่เพียงแค่ไปร่วมงานอย่างเดียว ก็ไปช่วยสอนช่วยชักชวนให้กับญาติโยมที่ไปงานที่นั่นด้วย มีการปฏิบัติธรรม 3 วัน สนทนาธรรมอีก 1 วัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นงานส่วนหนึ่งของทางวัด ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการแสดงอาจาริยบูชากับหลวงพ่อคำเขียน ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของพวกเรา ซึ่งแม้ท่านจะไม่ได้อยู่แล้ว แต่คำสอนและคุณงามความดีของท่านก็ยังคงยู่ในหัวใจของพวกเรา เมื่อถึงวันในโอกาสสำคัญที่คล้ายวันเกิดของหลวงพ่อและคล้ายวันมรณภาพของท่าน เราก็ไปช่วยกันจัดงานไม่ใช่เพื่อระลึกถึงท่านอย่างเดียว แต่ว่าเพื่อให้ใช้โอกาสนี้แหละมาทำความเพียรปฏิบัติธรรมกันเหมือนที่ท่านได้เคยสอนหรือว่าได้เคยชักชวนให้พวกเราทำ
สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ พวกเราส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตอยู่ในป่า และเมื่อมีกิจ เราก็ลงไป กิจนั้นบางทีก็อยู่ในเมืองเราก็ไปช่วยกัน เพื่อชักชวนให้คนได้หันมาใส่ใจกับการทำความเพียร แล้วก็ช่วยชี้แนะเขาไปด้วยพอเสร็จธุระเสร็จกิจเราก็กลับมา กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในป่าเหมือนเดิม พอมีกิจถ้าเป็นกิจต้องเกี่ยวข้องกับคนในเมืองเราก็เดินทางเข้าเมืองใหม่ เสร็จกิจเราก็กลับมา ก็มาอยู่ป่าใช้ชีวิตแบบง่ายๆ มันเหมือนกับ 2 โลก โลกหนึ่งเป็นโลกที่สงบสงัดที่เราได้ฝึกจิตเพื่อประโยชน์ตน อีกโลกหนึ่งเป็นโลกที่มีความเจริญแต่ก็วุ่นวายเร่งรีบ แล้วบางทีก็ชุลมุน อันนั้นเราก็ไปเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพื่อไปทำกิจเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
สมัยที่หลวงพ่อคำเขียนมีชีวิตอยู่ ท่านก็เดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่าง 2 โลกนี้แหละ อยู่วัดป่าสุคะโต ท่านก็มาบุกเบิกสืบต่อจากหลวงพ่อบุญธรรม บางครั้งท่านก็อยู่วัดป่าสุคะโตรูปเดียว สมัยนั้นจะเรียกว่าวัดก็คงไม่ใช่ เป็นป่าสุคะโตแล้วก็อยู่รูปเดียวก็บ่อยไปแต่เมื่อหลวงพ่อเทียนจัดอบรมที่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการจัดอบรมในเมืองเช่น ขอนแก่น กรุงเทพฯ หาดใหญ่ หลวงพ่อคำเขียนท่านก็เดินทางไปช่วยงานด้วย เสร็จแล้วก็กลับมาอยู่ป่า อันนี้ก็ต่างจากลูกศิษย์ส่วนใหญ่ของหลวงพ่อเทียน ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ท่านก็จะพักอยู่ในวัดใกล้ ๆ เมือง วัดโมกข์ วัดสนามใน วัดป่าพุทธยาน สวนธรรมสากล สมัยก่อนก็มีที่สิงห์บุรี ที่แหลมสิงห์ด้วย เมืองจันทบุรี ส่วนใหญ่ก็เป็นวัดที่อยู่ใกล้ ๆ เมือง หรือวัดที่อยู่ในเมืองเลย และหลวงพ่อเทียนท่านจะอยากจะให้พระได้สอนญาติโยมได้สะดวก ก็เลยไปอยู่ใกล้ ๆ ชาวบ้าน แต่ก็ทำให้เป็นวัดแบบง่าย ๆ อย่างวัดสนามในก็คล้ายวัดป่าในเมือง อยู่ใกล้เมืองคนก็คนก็เข้าวัดได้สะดวกปฏิบัติธรรมก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
ไม่เหมือนสุคะโตที่อยู่ไกล อยู่ในป่า หลวงพ่อเทียนก็เคยขอให้หลวงพ่อคำเขียนไปอยู่ในเมืองวัดโมกข์ก็ได้ วัดสนามในก็ได้ อยู่แแบบต่อเนื่องเลย แต่หลวงพ่อคำเขียนท่านก็เลือกที่จะกลับมาอยู่ป่าเมื่อเสร็จงาน ที่มาอยู่ป่านี่ก็เพื่อรักษาป่าด้วยและก็เพื่อทำให้ที่นี่เป็นที่ ๆ เหมาะ เป็นที่สัปปายะสำหรับคนเมือง ที่อาจจะรู้สึกว้าวุ่นกับชีวิตในเมือง ก็ได้มาอยู่อาศัยที่สงบสงัดในการทำความเพียร อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อให้มีที่สำหรับชาวบ้าน เพราะบางทีชาวบ้าน ชาวชนบทก็ขาดโอกาสหลวงพ่อคำเขียนก็เห็นว่า นี่คนในเมืองโชคดี มีหลวงพ่อเทียนล้วก็มีครูบาอาจารย์มากมายหลายท่านอยู่ใกล้ และท่านก็รู้สึกว่าเป็นภาพที่ดีมากที่คนเมือง คนกรุงเทพเข้าวัด แล้วก็ไม่ใช่แค่ไปให้ทาน ถวายสังฆทาน แต่ว่าปฏิบัติธรรม ท่านก็อยากเห็นภาพอย่างนี้เกิดขึ้นในชนบทบ้าง มีชาวบ้านมาเข้าวัดปฏิบัติธรรม ได้โอกาสหรือใช้โอกาสจากพุทธศาสนา ไม่ใช่แค่มาทำบุญแล้วก็อ้อนวอนหรืออธิษฐานะนขอให้ได้โน่นได้นี่ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นแค่การปลอบประโลมใจหรือว่าสร้างความหวัง แต่ว่าความทุกข์จริง ๆ ที่อยู่ในจิตใจไม่รู้จักแก้ ไม่รู้จักหาทางออก แล้วท่านก็เลยมาอยู่ที่วัดป่าสุคะโตเป็นหลัก แต่ความรับผิดชอบในฐานะนะที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนก็มีหลวงพ่อเทียนจัดงานอบรมที่ไหน ท่านก็พร้อมจะไป
ไม่ว่าไกลแค่ไหน เพราะว่าหลวงพ่อคำเขียนเคารพหลวงพ่อเทียนมาก แล้วก็มีความกตัญญูรู้คุณ พวกเราที่นี่ก็เหมือนกัน เรามาอยู่ป่าแต่ว่าก็นอกจากการช่วยรักษาป่าแล้ว งานหลักของเราที่ว่าจะเป็นงานหลักงานแรกเลย คือการฝึกจิตพัฒนาตน อันนี้เป็นการทำประโยชน์ตน
แต่ว่าการทำประโยชน์ท่านก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ บางครั้งเราก็สอนญาติโยมที่นี่ บางคราวเราก็ไปสอนญาติโยมในที่อื่น ในเมืองบางครั้งไม่ใช่แค่เมืองไทยอย่างเดียวไปถึงต่างประเทศ หลวงพ่อท่านก็เคยพาทำมาแล้ว แต่ว่าท่านก็ทำไม่บ่อย ทำเป็นครั้งคราวไปสอนคนไทย ไปสอนคนต่างชาติที่อเมริกาบ้าง ไต้หวันบ้าง สิงคโปร์บ้าง ตอนหลังก็ไปเมืองจีน แต่ว่างานหลักก็คืองานที่เมืองไทย พวกเราเมื่อเราจะไปสอนญาติโยม อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งและเมื่อไปไหนก็ตามก็ให้เป็นการสอนจริง ๆ การสอนให้ญาติโยมได้รู้จักหนทางแห่งการดับทุกข์ในใจนี่มันเป็นสิ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาอย่างแท้จริงศาสนาคือคำสั่งสอนหรือคำสอน แต่สำหรับคนทั่วไปศาสนาในความเข้าใจหรือวามรู้สึกของเขา คือสิ่งปลอบประโลมใจ เป็นสิ่งที่ช่วยกล่อมใจ
อย่างเช่นเวลามีความทุกข์มา ก็มาวัดมาถวายสังฆทาน แล้วก็รู้สึกสบายใจ มีความทุกข์เรื่องครอบครัว มีความทุกข์เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย มีความกลัดกลุ้มใจเรื่องการสอบการเรียน พอมาวัดมาทำบุญ หรือบางคนก็มาสะเดาะเคราะห์ บางทีก็ขอให้พระมารดน้ำมนต์ ผูกสายสิญจน์ให้สบายใจ สบายใจ เพราะอะไร เพราะว่ามีความหวังว่า เดี๋ยวความทุกข์เหล่านั้นมันจะผ่านพ้นไป ความติดขัดก็จะหายไป สอบก็จะสอบได้ กิจการก็จะเจริญรุ่งเรือง
อันนี้มันเป็นการปลอบประโลมใจ เป็นการให้ความหวังซึ่งก็มีประโยชน์ มีประโยชน์ ศาสนาแต่ดั้งแต่เดิมมันก็ทำหน้าที่นี้แหละ สมัยคนยังอยู่ป่ายังอยู่ถ้ำ มีสิงสาราสัตว์ที่ดุร้าย เช่น เสือช้าง และก็มีภัยธรรมชาติ เช่นไฟป่า น้ำท่วม และก็ไม่รู้จะพึ่งพาอะไร สมัยนั้นความรู้ก็น้อย มีแต่หอก มีแต่ ธนูยังไม่มีเลย มีแต่ขวานก็สู้สัตว์พวกนี้ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยหรือหวังพึ่งพาอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เลยมีการบูชามีการบวงสรวง มีการสร้างพระเจ้าขึ้นมาหรือเทพเจ้าขึ้นมาเพื่อให้ความหวังหรือเป็นสิ่งปลอบประโลมใจ จะว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวด้วยก็ได้ ก็ทำให้ความกลัวน้อยลง ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
ศาสนาแต่ก่อนก็เกิดมาแบบนี้แหละ เป็นเครื่องปลอบประโลมใจให้ความหวัง แต่ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่อยางนั้น พุทธศาสนาเกิดมาทีหลังและก็ทำสิ่งที่มันดีกว่า ก็คือชี้แ บอกแนวทางในการออกจากทุกข์ ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ใจ ไม่ว่าจะความเจ็บป่วย ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ตาม เช่นปัญหาในการทำมาหากิน มีปัญหาความสัมพันธ์
สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ตัวการสร้างทุกข์อย่างแท้จริง ตัวการที่แท้จริงมันคือทุกข์อยู่ในใจ มันเป็นเพราะความหลง มันเป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นเพราะความไม่รู้ตัว ไม่รู้มี 2 อย่าง ไม่รู้ตัวกับไม่รู้ความจริง อันนี้เรียกว่าหลง ทางแก้ทุกข์มันต้องแก้ที่ใจ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง อันนี้ก็คือการไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ก็คือมีศีล มีศีลเสร็จก็ต้องอันนี้ก็ช่วยป้องกันทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าทุกข์ก็ยังมี
คนที่มีศีลพร้อม ไม่ว่าจะศีล 5 หรือศีล 227 แต่ว่าก็ยังมีความทุกข์ มีเหตุร้ายเกิดขี้น ถูกคนต่อว่าด่าทอ สูญเสียคนรัก พลัดพรากจากของรักของพอใจ เสร็จแล้วถ้าวางจิตวางใจไม่ถูก มันก็เป็นทุกข์เป็นทุกข์ที่ใจ ตรงนี้แหละที่การออกจากทุกข์เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่หวังว่าวันหน้ามันจะหายไป ความเจ็บป่วยจะหายไป ไม่ใช่หวังว่าเออ ธุรกิจมันจะเจริญรุ่งเรือง การเรียนจะประสบความสำเร็จ จบปริญญาโท จบปริญญาเอกได้ ไม่ต้องรอความหวังแบบนั้น มันแก้ทุกข์เดี๋ยวนี้เลย
คือแก้ทุกข์ที่ใจ ด้วยการมีสติ มีความรู้สึกตัว มีปัญญา สติและปัญญานี่เป็นเครื่องพาออกจากทุกข์ได้ อันนี้แหละคือหน้าที่ของศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่อย่างแท้จริง ซึ่งพวกเราก็ควรจะเข้าใจพระพุทธศาสนาในความหมายนี้ แล้วก็ใช้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาในการที่จะฝึกจิตฝึกใจ รวมทั้งปรับเปลี่ยนชีวิตของเรา เพื่อจะได้ออกจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง ด้วยการรู้ทุกข์เข้าใจทุกข์ อันนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ ส่วนสิ่งที่ต้องละคือเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเจอทุกข์แล้ว เราไม่หนีเราไม่กลัว แต่ว่าเรารู้จักพิจารณาใคร่ครวญจนเห็นเหตุแห่งทุกข์อันนี้ต้องใช้ปัญญา แต่สติก็สำคัญ เวลามันมีอารมณ์ใดที่มาทำให้ทุกข์ใจ เช่น โกรธเกลียด เศร้าวิตกกังวล ก็ให้รู้ทัน ให้รู้ว่า นี่มันเกิดขึ้นในใจ อันนี้หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่าเห็น เห็นมันอย่าเข้าไปเป็นมัน เพราะไม่เห็นจึงเข้าไปเป็น แทนที่จะมีแต่ความโกรธมันก็เป็นผู้โกรธ แทนที่จะมีแต่ตวามเศร้ากลายเป็นผู้เศร้า แทนที่จะมีแต่ความวิตกกังวลก็กลายเป็นผู้วิตกกังวล อันนี้เราเข้าไปเป็นแล้ว ไม่เห็น พอเห็นเท่านั้นแหละ มันก็ละลายหายไป อันนี้ก็เป็นการแก้ทุกข์ในระดับหนึ่งก็คือว่ามันจะเข้ามาบีบคั้นเผารนจิตใจเราไม่ได้ เรารู้ทันมัน แต่เผลอเมื่อไหร่มันก็มาอีก
เพราะว่ามันยังมีตัวหลงพื้นฐานะนอยู่ก็คืออวิชชา ซึ่งทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น พออะไรที่มันไม่เป็นไปอย่างที่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ทุกข์หรือถึงแม้ว่ามันเป็นไปอย่างที่ยึดมั่นเอาไว้ แต่ว่ามันไม่ถึงอกถึงใจก็ทุกข์ทุกข์เหมือนกัน เช่นอยากได้แล้วก็ได้ด้วย แต่ว่าได้น้อยไปก็เป็นทุกข์ อยากรวยแต่ว่ามันรวยน้อยกว่าคนอื่นก็เป็นทุกข์ อยากดังอยากมีชื่อเสียง แต่ว่าถ้ามันดังน้อยกว่าคนอื่นก็เป็นทุกข์ นี่เรียกว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์หรือได้แล้วแต่ได้ไม่ถึงใจ มันก็เป็นทุกข์ อันนี้แหละคือตัวการที่ทำให้เกิดความทุกข์ งั้นจะไปแก้ทุกข์ด้วยการบนบานศาลกล่าว หรือว่าไปสะเดาะเคราะห์นี่ มันไม่ใช่ มันไม่ใช่วิถีทางของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
พุทธศาสนาส่วนหนึ่งก็มีเครื่องปลอบประโลมใจให้ความหวัง เช่นทำบุญแล้ว เดี๋ยวจะมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ แต่พุทธศาสนายังมีอีกด้านหนึ่ง คือชี้ทางออกจากทุกข์ ไม่ใช่แค่รอหรือหวังว่ามันจะหายไปในวันหน้า แต่แก้ทุกข์เดี๋ยวนี้เลย แก้ทุกข์ที่ใจ ยังป่วยอยู่แต่ใจไม่ทุกข์ หรือว่างานยังมีปัญหาแต่ว่าใจไม่ทุกข์ ยังมีคนต่อว่าด่าทออยู่แต่ว่าใจเป็นปกติ อันนี้ต่างหากคือหน้าที่ของศาสนา และก็หน้าที่ของพระ หน้าที่ของพระไม่ใช่แค่ให้ความหวังหรือปลอบประโลมใจผู้คน โยมมีความเครียด มีความวิตกกังวล ก็เดี๋ยวรดน้ำมนต์ให้ ผูกข้อมือให้ ด้วยความหวังหรือให้ความหวังว่าเดี๋ยวมันจะดี เดี๋ยวมันจะหายหรือมาช่วยสะเดาะเคราะห์ อันนั้นก็มีประโยชน์ แต่ว่ามันยังไม่ใช่หน้าที่ของพระอย่างแท้จริง หน้ที่ของพระไม่ใช่ให้ความหวังหรือกล่อมใจแต่ว่าชี้ทางออกจากทุกข์ แค่ชี้ แต่ว่าคนออกจากทุกข์นี้จริง ๆ ก็คือเจ้าตัว ชี้เท่าไหร่แต่ว่าไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เกิดผล
เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าก็สอนคนมามากมายทำไมบางคนยังไมพ้นทุกข์ซักที ก็เหมือนว่าจะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดพลาดของพระพุทธเจ้าที่คนไม่พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า พระองค์เป็นเพียงแค่ผู้ชี้ทาง พระองค์เปรียบเหมือนกับว่ามันมีทางเดินไปสู่จุดหมาย พระองค์ชี้แล้วแต่คนไม่ไปหรือว่าไปแล้วก็หลงกลางทางจะโทษผู้ชี้ทางไม่ได้ เพราะพระพุทธองค์เป็นเพียงแค่ผู้ชี้ทาง พระเราก็เหมือนกัน ทำได้อย่างมากก็เป็นเพียงผู้ชี้ทาง แต่จะชี้ทางได้ก็ต้องเคยผ่านทางนี้มาก่อนหรือถ้าสามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้มาแล้ว อันนี้ก็ยิ่งมั่นใจใหญ่ว่าชี้ทางถูกแน่ คนที่เคยมาถึงวัดป่าสุตโตแล้ว เขาก็สามารถชี้ทางบอกทางได้ถูกต้อง สามารถจะบอกได้ว่าตรงไหนเป็นทางที่หลงง่ายหรือว่ามันมีทางแยก ตรงไหนควรเลี้ยวซ้าย ตรงไหนควรเลี้ยวขวา ตรงไหนตรงไปก็บอกได้
ถ้าเคยถึงจุดหมายปลายทางมาแล้วก็ยิ่งดี หรือถ้ายังไม่ถึงยังเป็นแค่ผู้เดินทาง แต่ก็เคยเป็นผู้ผ่านทางก็ชี้แนะให้คนที่ยังไม่เคยผ่านทางนั้น อาจจะไม่รู้หมด แต่ว่าก็สอนเท่าที่รู้บอกเท่าที่รู้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนชอบใช้คำว่าพี่รู้สองน้องรู้หนึ่ง พี่ก็ยังรู้ไม่ถึงสิบหรอก แต่ว่าถ้ารู้สองก็สอนน้องที่รู้หนึ่งได้ พวกเราก็เหมือนกันถึงแม้ว่าเราจะยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง คือความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง แต่ว่าในระหว่างเส้นทางนี้เราก็ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติ เราก็ชี้แนะคนที่ยังไม่เคยเลย อันนี้มันดีกว่าการไปให้ความหวังคนกล่อมคน พระหลายรูปก็บอกโยม ให้ควาหวังโยม ว่าเดี๋ยวก็จะรวย บางทีก็พูดในสิ่งที่โยมอยากได้ยิน รวย ๆ ๆ แต่ไม่ได้บอกความจริงว่ารวยก็ไม่ทำให้หายทุกข์ คนที่รวยแล้วก็ยังทุกข์มีเยอะ หรือว่าความรวยมันก็ไม่เที่ยง วันนี้รวยพรุ่งนี้อาจจนก็ได้ ต้องบอกความจริงแบบนี้ด้วย แต่โยมไม่อยากฟัง มันก็เลยหลงต่อไป
แต่ถ้าเราบอกความจริง ว่ารวยมันก็ไม่เที่ยงและรวยมันก็ไม่ใช่ทำให้ออกจากทุกข์ได้ เราก็ชี้แนะต่อไปว่า แล้วจะออกจากทุกข์ได้อย่างไร ก็ต้องมาฝึกให้จิตมันสว่าง ไม่ใช่แค่สงบชั่วครั้งชั่วคราว แต่สว่าง สว่างเพราะว่ามีปัญญา และมีปัญญาได้เพราะมีสติเป็นเครื่องเกื้อหนุน อันนี้แหละคือหน้าที่ของพระที่แท้จริง หรือหน้าที่ที่แท้จริงของพระ และก็เป็นบทบาทสำคัญ เป็นงานสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วย ซึ่งหลวงพ่อคำเขียนท่านก็ได้ทำเป็นแบบอย่าง วางแนวทางเอาไว้ เราก็ดำเนินตามพร้อม ๆ กับการเดินตามรอยของพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ได้ทำเป็นแบบอย่างเอาไว้อย่างดีอย่างชัดเจนอย่างประเสริฐที่สุด