แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติที่เราได้เรียนรู้กันมา หรือกำลังทำอยู่นี้ เป็นการปฏิบัติที่หลวงพ่อเทียนท่านได้วางแบบแผนเอาไว้ตามหลักสติปัฏฐาน 4 ลักษณะเด่นของการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนก็คือ ท่านจะให้เปิดตา จะไม่หลับตา และจะมีการเคลื่อนไหวไปด้วย คือเคลื่อนไหวมือ ที่ให้เปิดตาแทนที่จะปิดตา เพราะว่าหากปิดตาแล้วอาจจะติดสงบได้ง่าย และความสงบที่เกิดขึ้นก็จะเป็นความสงบแค่ชั่วคราว เมื่อเปิดตาหรือออกไปเกี่ยวข้องกับผู้คน ออกไปทำงานทำการก็กลายเป็นไม่สงบเหมือนเดิม แล้วถ้าปิดตา บางทีหนักกว่านั้น จากความสงบก็ค่อยๆผลอยหลับไปเลย หลายคนพอปิดตาทีแรกก็สงบ 5 นาทีแรก พอผ่านไป 10 นาทีเริ่มง่วง พอ 15 นาทีเริ่มโงก แล้วตัวก็โคลงไปโคลงมาโดยไม่รู้ตัวด้วย อันนี้เรียกว่าเป็นความหลงอย่างหนึ่ง
เราปฏิบัติเพื่อให้ตื่น ไม่ใช่เพื่อให้หลง ถึงแม้ว่าจะไม่ตื่นแต่ว่าสงบก็ยังดี แต่ว่าหลายคนพอหลับตาแล้วยิ่งไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย จะง่วงโงกไปเลย แล้วกลายเป็นสับปะหงกโดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว บางคนนั่งหลับตานึกว่าตัวเองนั่งกายตรง ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังโคลงกาย โงกไปเงกมา อันนี้เรียกว่าหลงเลย แต่บางคนหลับตาแล้วก็ฟุ้งซ่านได้ง่ายเหมือนกัน คือเข้าไปในความคิดได้ง่าย อันนี้หลวงพ่อเทียนท่านก็เตือนเอาไว้ว่าพอหลับตาแล้วมันจะเข้าไปในความคิดได้เร็ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า บางคนนั่งหลับตาทำสมาธิแต่ว่าความสงบไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งๆที่อยากจะได้ความสงบ แต่ว่าจิตไม่สงบเลยฟุ้งซ่าน เรียกว่าหลงเข้าไปในความคิด อันนี้ก็เป็นหลงอีกแบบหนึ่ง หลงเพราะเข้าไปในความง่วง นี่ก็เป็นหลงแบบหนึ่ง หลงเข้าไปในความคิดก็เป็นหลงอีกแบบหนึ่ง แล้วบางทีก็ไม่รู้อะไรเลย สงบก็ไม่ได้ ได้ความฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่ได้รู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นมา
เคยมีโยมคนหนึ่งเป็นนายตำรวจ มาหาหลวงพ่อเทียนแล้วก็บอกว่านั่งสมาธิมา 7 ปีแล้ว แต่ว่าไม่พบความสงบเลย หลวงพ่อเทียนก็ถามว่านั่งยังไง แกก็นั่งให้ดู นั่งหลับตาแล้วคงจะเอาจิตไปอยู่ที่ลมหายใจหรือไม่ก็ที่ท้อง ตอนที่เขานั่งหลับตาอยู่ เขาก็วางแว่นตาไว้ข้างตัว พอเขาวางแว่นตาไว้ข้างตัวหลวงพ่อเทียนก็หยิบแว่นตาเขาไปซ่อน แล้วก็บอกให้เขาลืมตาขึ้นมาแล้วถามว่า แว่นตาที่วางไว้สักครู่นี่หายไปไหน เขาตอบไม่รู้ หลวงพ่อเทียนก็เลยถามว่าแว่นตาหายนี่ดีหรือไม่ดี มีคุณหรือมีโทษ เขาบอกไม่ดีมันเป็นโทษ หลวงพ่อเทียนท่านชี้ว่านั่งหลับตามันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย คือเจ้าตัวเองใจก็ไม่สงบแถมแว่นตาก็ยังหายอีก อันนี้ท่านก็เหมือนจะชี้ว่า การปิดตามันนำไปสู่ความหลงได้ง่าย สู่ความไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องตัวเองเท่านั้ แม้กระทั่งแว่นตาก็ไม่รู้ว่าหายไปไหน ที่ให้เปิดตาเพื่อให้รู้ ให้รู้ทั้งข้างนอก เวลาเจริญสติในกุฏิในบ้านก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัวได้ง่าย จะมีคนเข้ามาในบ้านก็รู้ อันนี้เรียกว่ารู้นอก
หรือถึงแม้ว่าเราอยู่ในวัดก็รู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวบ้าง แต่สักว่ารู้ รู้แล้วก็วาง ส่วนอะไรเกิดขึ้นในใจก็รู้ รู้อะไร รู้ความคิด สิ่งที่หลวงพ่อเทียนท่านเน้นคือว่า ฝึกเพื่อให้รู้ทันความคิด ทำไมต้องรู้ทันความคิด ก็เพราะคนเราส่วนใหญ่มันทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะความคิด นั่งอยู่ตรงนี้ก็สบายดีอากาศไม่ร้อน ถึงแม้พื้นจะแข็งสักหน่อยก็ยังมีเบาะรอง ยุงก็ไม่ค่อยกวนมาก แต่หลายคนพอคิดไปถึงบ้าน คิดไปถึงงาน คิดไปถึงภาระที่คอยอยู่ คิดไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวก็เกิดความวิตกกังวล เกิดความเครียดขึ้นมาทันที แล้วบางทีก็คิดไปถึงสิ่งที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว ผ่านไปแล้วไม่สามารถจะหวนกลับมาได้ ก็ยังอดคิดถึงมันไม่ได้ คิดแล้วก็เป็นทุกข์ คิดแล้วก็เศร้า ลองสังเกตุดูเวลาเราเศร้า ไม่ใช่เพราะเราใจอยู่กับปัจจุบัน แต่เป็นเพราะใจไปคิดถึงอดีต ความโกรธบ่อยครั้งก็ไม่ใช่เพราะเรามีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน แต่เพราะเราไปคิดถึงคนที่เขาต่อว่าด่าทอเรา คิดไปถึงคนที่เขาหักหลังเรา โกงเรา บางทีก็ผ่านไปแล้วเป็นสิบยี่สิบปี ก็ยังลืมไม่ได้ พอคิดไปก็ทุกข์ เรื่องอดีตก็ทำให้เศร้า ทำให้โกรธ หรือบางทีก็ทำให้รู้สึกผิด ไม่ได้ดูใจแม่ตอนที่ท่านจากไป ไม่ได้ไปงานศพของญาติผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเรามา ผ่านไปสิบยี่สิบปีก็ยังนึกเสียใจ นึกตำหนิตัวเอง บางทีถึงขั้นโบยตีตัวเอง อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะใจมันคิดถึงเรื่องอดีต
หรือถ้าไปนึกถึงเรื่องอนาคตก็ทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง คือเกิดความกังวล เกิดความวิตกขึ้นมา หรือเกิดความกลัว ลองดูดีๆเวลาเราเศร้า เวลาเราโกรธรู้สึกผิด ส่วนใหญ่เป็นเพราะใจคิดถึงเรื่องอดีต เวลาเราวิตกกังวลเวลาเรากลัว เวลาเราเครียดขึ้นมา บ่อยครั้งก็เป็นเพราะการที่เราไปคิดถึงอนาคต รถติดเครียดเพราะอะไร เพราะกลัวว่าจะไปไม่ทันนัด กลัวว่าจะไปประชุมไม่ทัน กลัวว่าจะตกเครื่องบิน ทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่พอคิดเท่านั้นก็เครียด ก็วิตกกังวล ก็เป็นทุกข์ทันที บางทีเราก็ทุกข์เพราะว่าไปให้ค่า หรือไปตีค่ากับสิ่งต่างๆ อาหารที่วางอยู่หน้าเรา ถ้าเราคิดว่ามันอร่อยเรากินเราก็มีความสุข แต่ถ้าเราคิดว่ามันไม่อร่อยเราก็จะเสียดายเงินรู้สึกเป็นทุกข์กับการที่ต้องกิน อาจเพราะจ่ายไปเยอะ เสียเวล่ำเวลา การที่เราตีค่าว่าอย่างนี้ดีอย่างนี้ไม่ดี อย่างนี้อร่อยไม่อร่อย อย่างนี้เร็วอย่างนี้ช้า มันก็ทำให้เราทุกข์ แม้แต่กระทั่งการตีค่าว่าอย่างนี้น้อยอย่างนี้มาก เราคาดหวังว่าอยากได้พันแต่พอได้ห้าร้อยก็ทุกข์ทันที ห้าร้อยบางทีไม่ใช่ห้าร้อยธรรมดา มันคือห้าร้อยล้าน
มีคนหนึ่งเป็นอาสาสมัครสายด่วนฮอตไลน์ ซึ่งคอยแก้ปัญหาหรือคอยเป็นที่รับฟังความทุกข์ของคนที่กลุ้มอกกลุ้มใจอยากจะฆ่าตัวตาย มันมีสายด่วนแบบนี้ เขาเล่า วันหนึ่งมีนักธุรกิจคนหนึ่งโทรมา ที่ว่าเป็นนักธุรกิจเพราะเรื่องราวของเขามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจการขนาดใหญ่ เขากลุ้มอกกลุ้มใจมากเพราะว่ากิจการของเขามันไม่ดีเอาเสียเลย แย่ ซักไปซักมาก็พบว่ากิจการของเขากำไรแค่ห้าพันล้าน เขาทุกข์เพราะว่าปีก่อนหน้านั้นกำไรหมื่นล้าน ทีแรกนึกว่าขาดทุนถึงอยากจะฆ่าตัวตาย แต่เป็นเพราะว่ากำไรแค่ห้าพันล้าน ความคิดว่า แค่ แค่ห้าพันล้านก็ทำให้คนทุกข์ได้ ได้โบนัสมา 2 ล้าน แต่พอคิดว่าแค่ 2 ล้านมันทุกข์เลย เพราะอะไร เพราะไปรู้ว่าคนอื่นเขาได้ 3 ล้าน.. 2 ล้านจากที่เยอะกลายเป็นน้อยไปเลย ความคิดที่ว่าแค่นี้ แค่ห้าพันล้าน ก็ทำให้บางคนกลุ้มอกกลุ้มใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนอยากจะฆ่าตัวตายได้ นี่ก็เป็นเรื่องความคิดเหมือนกัน ไปตีค่าว่ามันน้อย เพราะมีการเปรียบเทียบ ห้าพันล้านนี่เยอะมาก พอไปเปรียบเทียบกับหมื่นล้านมันกลายเป็นน้อย มันกลายเป็นแค่นี้เอง ลองดูดีๆคนเราทุกข์เพราะความคิดกันมาก
จริงอยู่เวลาเราทุกข์ เป็นเพราะมีความโศกเศร้า ความโกรธ ความกังวล ความเครียด แต่อารมณ์เหล่านี้สาวไปให้ดีมันเกิดเพราะความคิด ถ้าไม่คิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันก็ไม่โกรธไม่เศร้า อย่างตอนนี้จะบอกให้โยมโกรธเราจะโกรธไหม บอกให้เศร้าตอนนี้เราจะเศร้าไหม มันเศร้าไม่ได้จนกว่าเราจะคิด ถ้าเราคิดถึงคนที่เราเกลียด คิดถึงคนที่เขาทรยศหักหลังเรา เราจึงจะโกรธ ถ้าเราคิดถึงความสูญเสีย ความพลัดพลากที่เกิดขึ้น คิดถึงคนที่จากเราไปเราจึงจะเศร้า ความทุกข์ใจมันเกิดขึ้นจากอารมณ์ แต่อารมณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความคิดเป็นจุดเริ่มต้นก่อน ที่จริงความคิดไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราใช้ความคิดเพื่อแก้ทุกข์ เวลาอากาศร้อน เราคิดว่าทำอย่างไรอากาศมันจะเย็น เช่น เปิดพัดลม ติดแอร์ หรือว่าไปอยู่ในร่มไม้ เวลาป่วยเราก็คิดว่า ก็ใช้ความคิดในการหาทางรักษาความเจ็บป่วย คนเราใช้ความคิดเพื่อแก้ทุกข์ แต่บ่อยครั้งความคิดกลับทำให้เราเป็นทุกข์เสียเอง เพราะอะไร เพราะมันเป็นการคิดที่เราไม่ได้จงใจคิด หรือพูดให้ถูกต้องคือเผลอคิด
ความคิดมี 2 แบบ คือตั้งใจกับเผลอคิด ส่วนใหญ่เราทุกข์เพราะการเผลอคิด นั่งอยู่ตรงนี้ถ้าคิดตามที่อาตมาพูด จะไม่ค่อยทุกข์หรอก แต่พอเผลอไปคิดถึงงานการที่ยังค้างคาอยู่ เผลอคิดไปถึงปัญหาที่ยังสะสางไม่จบ ถามว่าอยากคิดไหม ไม่ได้อยากคิดหรอกแต่มันเผลอคิดไปเอง ทำไมเผลอคิด เพราะมันเป็นนิสัยไปแล้วของจิต ใจเรามันเผลอบ่อย ความคิดไม่ใช่ว่าเป็นโทษ จะเป็นคุณถ้าเรารู้จักใช้มัน แต่ส่วนใหญ่พอเราไม่รู้จักใช้ มันก็มาใช้เราทันที มันใช้เราให้คิดเป็นวรรคเป็นเวร ถึงเวลานอนมันก็ไม่ยอมหยุดมันบอกขอคิดต่อ ขอคิดต่อ หาเรื่องคิดสาระพัด แล้วเราก็เลยนอนไม่หลับ แล้วเราก็กลุ้มใจ แล้วเราก็เลยเอามือก่ายหน้าผาก แล้วเราจะจัดการกับความคิดแบบนี้อย่างไร คำตอบคือรู้ทัน จริงๆแล้วจะพูดว่าเราทุกข์เพราะความคิดก็ไม่ถูกทีเดียว ต้องพูดว่าเราทุกข์เพราะเราไม่รู้ทันความคิด เราทุกข์เพราะหลงเข้าไปในความคิด คำว่าหลงนี้แปลว่าเราไม่ได้ตั้งใจ แสดงว่าเราเผลอ ที่เราตั้งใจคิดก็จะไม่ค่อยสร้างปัญหาเท่าไหร่ แต่บ่อยครั้งพอตั้งใจคิดไปสักพัก ก็จะเผลอเข้าไปในความคิด และวนคิดไปคิดมาไม่จบไม่สิ้นสักที คิดแล้วคิดอีก อันนี้แสดงว่าเผลอเข้าไปแล้ว บางเรื่องเราอาจจะเริ่มต้นด้วยการตั้งใจคิด แต่เผลอว่บเดียวมันเข้าไปในความคิด แล้วก็ถูกความคิดลากไป อันนี้แสดงว่าความคิดมันใช้เราแล้ว แสดงว่าเราไม่รู้ทันมัน
การเจริญสติเพื่อให้เรารู้ทันความคิด เมื่อรู้แล้วก็จะวางความคิดได้ เราสังเกตุดูเวลาเราเจริญสติ เผลอคิดไปเรื่องอื่นแล้ว แต่พอเรารู้ทันมันเมื่อไหร่ความคิดนั้นหยุดเลย เหมือนกับผู้ร้ายที่แอบเข้ามาในบ้านเราเพราะเราเผลอ แต่พอเราจ๊ะเอ๋กับโจรผู้ร้าย มันตกใจเลย หรือว่ามันอาย แล้วมันก็ค่อยๆล่าถอยหนีไป ไม่ต้องเอาไม้ไปไล่ตีมันไม่ต้องเอาปืนไปยิง แค่จ๊ะเอ๋เท่านั้นแหละ ความคิดที่มันแอบเข้ามาเพื่อที่จะครองจิตครองใจเรามันก็อับอายขายหน้า ละอายใจมันก็หนีไป ไม่ต้องไปหยุดไปห้าม ไม่ต้องไปกดข่มความคิด เพียงแค่รู้ทัน
แต่การที่เราจะรู้ทันความคิดได้นั้นต้องฝึกให้มารู้กายก่อน รู้ทันความคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรู้ใจ การที่เราจะรู้ใจได้ต้องรู้กายก่อน เพราะว่ากายเป็นของหยาบ ส่วนใจเป็นของละเอียด ถ้าเราไม่รู้ทันในสิ่งที่มันหยาบๆเราจะไปรู้สิ่งที่มันละเอียดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นในการฝึกเราจะเริ่มด้วยการที่เรารู้กาย รู้กายก็คือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่มองหน้าตัวเองในกระจกแล้วรู้ว่านี่คือเราเท่านั้น ไม่ใช่รู้ว่าเรามีมือมีแขนมีขา ไม่ใช่ว่าเห็นบางส่วนของตัวเรา เช่นเห็นแขนเห็นขาก็บอกได้ว่านี่คือแขนขาของเรา อันนี้ไม่ใช่รู้กายในความหมายที่อาตมาพูด
รู้กายหมายถึงว่าเวลากายทำอะไรก็รับรู้ การรับรู้มันไม่ใช่รับรู้ด้วยตา ต้องรู้สึก เช่นยกมือแล้วรู้สึกว่ามือยกมือ เดินก็รู้สึกว่าเท้ากำลังเคลื่อน หรือว่าตัวกำลังขยับ อันนี้คือรู้กาย คือรู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ และมันเป็นกายรู้ กายชนิดที่ว่าไม่ใช่ว่าเราทำนั่นทำนี่ ไม่ใช่ว่าเราเดิน ไม่ใช่ว่าเรายกมือ ไม่ใช่ว่าเราล้างหน้า แต่มันเป็นกายที่ทำ กายที่ยกมือกายที่เดิน กายที่ทำนั่นทำนี่ อันนี้เรารู้กาย บางที่เราเรียกง่ายๆว่ารู้ตัว
รู้ตัวคือรู้สองอย่าง คือรู้กายกับรู้ใจ เราเริ่มต้นด้วยการรู้กายก่อน เราจะรู้กายได้ใจต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวมันรู้กายไม่ได้หรอก ถ้าตัวอยู่นี่แต่ใจไปอยู่ที่บ้านก็ไม่รู้หรอกว่ากำลังนั่งอยู่ อาบน้ำอยู่ แต่ใจไปคิดถึงงาน หรือกำลังนึกว่าจะทำครัวอะไรดีวันนี้ ใจไปอยู่ที่ครัวแล้ว ตอนนั้นคือไม่รู้หรอกว่ากำลังอาบน้ำกำลังล้างหน้า หรือกำลังทำอะไร ใจต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ถึงจะรู้ตัว ถึงจะรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น หลักการเจริญสติก็ง่ายๆ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น และการที่ใจอยู่กับตัวไม่ต้องไปบังคับ บางคนพยายามไปบังคับ บังคับจิตโดยการกำหนดให้จิตอยู่ที่เท้า ให้จิตอยู่ที่มือ ให้จิตอยู่ที่ลมหายใจ อันนี้เรียกเพ่งแล้ว อันนี้เรียกว่าจ้องแล้ว อันนี้คือการบังคับจิต ซึ่งจิตจะสงบชั่วคราว จิตจะอยู่กับเนื้อกับตัวชั่วคราวแต่ว่าเผลอแว่บเดียวมันไปแล้ว แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือเครียด เพราะว่าจิตไม่ชอบการบังคับ เราไปบังคับเราเองก็เหนื่อย เพราะจิตเองก็พยายามสู้พยายามขัดขืน
จิตเราบางทีก็เหมือนหมา ลูกหมาที่เราอยากจะให้มันอยู่บ้าน แต่ว่ามันไม่ชอบอยู่ มันชอบวิ่งออกไปนอกบ้าน ทำยังไง ก็ผูกมันเอาไว้ ขังมันเอาไว้ ล่ามโซ่มันเอาไว้ ก็ได้ผล แต่ว่าชั่วคราว ถ้าเชือกขาดโซ่หลุดเมื่อไหร่มันก็วิ่งออกไปนอกบ้านแล้วก็เรียกกลับมาได้ยาก แต่ถ้าโซ่ไม่ขาดผูกไว้นานๆมันจะเครียดกลายเป็นหมากร้าวร้าว.. จิตเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไปบังคับ จะกลายเป็นจิตที่กร้าวหรืออย่างน้อยๆก็เป็นจิตที่เครียด แล้วเครียดนี้เป็นโทสะชนิดหนึ่ง จะทำให้เราหงุดหงิดง่าย คนเดินผ่านหน้าก็หงุดหงิดแล้ว คนพูดเสียงดัง บางทีเขาไม่ได้พูดเสียงดังเขาพูดเบาๆ แต่เข้าหูเรา เนื่องจากตอนนั้นเราหงุดหงิดเราก็จะโกรธเขา เจริญสติทำไม่ดีก็จะทำให้กลายเป็นคนที่หงุดหงิด โกรธ ก็เหมือนหมา หมาน้อยไปผูกมันนานๆมันก็จะกลายเป็นหมาที่กร้าวร้าว เราต้องให้อิสระเขา ให้อิสระ กับหมาน้อยที่มันจะเดินวิ่งออกไป แต่เราพยายามเรียกมันบ่อยๆ เรียกมันบ่อยๆ ใหม่ๆมันก็ไม่ค่อยยอมกลับมาหรอก แต่พอเราไม่ลดไม่ละในการเรียกมัน มันก็จะกลับมา แล้วก็จะกลับมาเร็วขึ้นเร็วขึ้น จนกระทั่งมันสามารถกลายเป็นหมาที่เชื่อง ก็คือว่ามันรู้ด้วยตัวของมันเอง มันเผลอออกไปนอกบ้านสักพัก พอได้ยินเสียงเห่า สักพักมันก็รู้ตัวแล้วมันก็กลับมา เพราะมันรู้ว่าบ้านของมัน ที่ของมันคืออยู่บ้าน เราไม่ต้องเรียกมันบ่อยๆ จิตของเราก็เหมือนกัน มันชอบวิ่งออกไป ท่องเที่ยวออกไปนอกตัว ไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเท่าไหร่
แต่เราก็เรียกมัน แต่เราไม่ใช่เรียกด้วยเสียง เราใช้การเคลื่อนไหวนี่แหละ เมื่อมีการเคลื่อนไหวที่มือ เมื่อมีการเดิน เขยื้อนขยับ การเคลื่อนไหวนั่นจะเหมือนกับเป็นเสียงเรียก ให้จิตกลับมา คล้ายๆกับเวลาเรากำลังนั่งอยู่เฉยๆแล้วใจเราลอย ใจเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้วตอนนั้น เกิดมีคนมาสะกิดเรา เกิดมีคนมาแตะเราที่มือ จิตเราจะกลับมาทันที จิตเราจะกลับมาอยู่กับปัจจุบันทันที เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันมีความรู้สึกเกิดขึ้น พอมีคนมาแตะเราเรารู้สึกตัว มีการสัมผัส มีการสะกิด การเจริญสติก็เหมือนกัน เราก็ไม่รอให้ใครมาสะกิด เราอาศัยการเคลื่อนไหวของกาย เมื่อมือเขยื่อนขยับ เมื่อเท้าเดินก็เป็นเหมือนกับการส่งสัญญาณไปสะกิดใจให้กลับมา ใจไปแล้ว ไปอยู่บ้านแล้ว บางทีก็ไปถึงอเมริกาเ พราะว่าลูกอยู่ที่นั่น แต่ว่าพอมีการเคลื่อนไหวที่มือ จะเหมือนเป็นตัวที่สะกิดใจ ความรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว จะไปสะกิดจิตให้กลับมา แล้วสติก็จะทำงานได้ดีขึ้น สติจะพัฒนาได้ดีขึ้น
สติคือการระลึกได้ ส่วนใหญ่เราระลึกได้ในเรื่องนอกตัว เช่น จำได้ว่ารถเรายี่ห้ออะไร ซื้อเมื่อไหร่ เลขทะเบียนอะไร ราคาเท่าไหร่ เราจำได้ว่าบ้านเราอยู่ไหน บ้านเลขที่อะไร เราจำได้ว่าโทรศัพท์ของเรายี่ห้ออะไร เวลาทำงานเราจะระลึกได้ว่าอาทิตย์ที่แล้วทำงานไปถึงไหน มีเรื่องอะไรค้างคา นี่คือสติที่ช่วยให้เราระลึกได้ และทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ แต่มันยังเป็นสตินอกตัว สติที่ระลึกได้ในเรื่องนอกตัว สิ่งที่เราต้องมีก็คือ สติที่ทำให้เราระลึกได้เรื่องตัวเอง ไม่ใช่รู้ว่าเราชื่ออะไร เกิดเมื่อไหร่ เลขทะเบียน เลขบัตรประชาชนคืออะไร แต่ที่มันสำคัญกว่านั้นคือรู้กายรู้ใจ ระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจ หลายคนมีความจำที่ดี จำศัพท์ภาษาต่างประเทศได้ 5000 คำ 10000 คำ เวลาเจอศัพท์ภาษาอังกฤษสามารถระลึกได้ทันที แม้ว่าจะไม่ได้ใช้มาเป็นปีแล้ว ระลึกได้ไว บางคนจำเบอร์โทรศัพท์เพื่อนได้เป็นร้อยๆเบอร์ สมัยที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ บางคนเล่นพระเครื่อง สามารถที่จะจำได้ว่าพระเครื่องที่ตัวเองมีเป็นร้อย มีรุ่นไหนบ้าง ถามปุ๊บก็บอกได้ปั๊บ พวกแฟนพันธ์แท้นี่ความจำดีมาก จำได้ว่าอัลบัมแรกของบีทเทิลอัดเสียงที่ไหน ใครเป็นโปรดิวเซอร์ ออกเมื่อไหร่วันใด อันนี้เป็นเรื่อง เป็นการจำได้ในเรื่องนอกตัวและบางคนจำได้ไว แล้วก็ลืมยาก วิชาความรู้ที่เรียนมาเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วยังจำได้ แต่คนที่จำเก่งเหล่านี้ พอเป็นเรื่องการระลึกได้เกี่ยวกับตัวเองมักจะลืมง่าย ลืมตัวง่าย ลืมตัวในที่นี้คือ ลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ หลายคนที่จำเก่ง จำแม่น จำเร็ว จำไว พอให้มาเจริญสติ สร้างจังหวะได้นาทีเดียวก็ลืมไปแล้วว่าตัวเองกำลังสร้างจังหวะ ให้กินข้าวเพียงไม่ถึงนาที ลืมไปแล้วว่ากำลังกินข้าว เพราะใจลอย อันนี้เรียกว่าลืมตัว
ลืมตัวนี่ไม่ใช่แปลว่าพวกวัวลืมตีนอย่างเดียว อันนั้นเป็นการลืมตัวแบบหยาบ ลืมตัวแบบละเอียดคือ ลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ และกว่าจะระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็ใช้เวลานาน คิดไปสักสิบเรื่องแล้วเพิ่งนึกได้ว่ากำลังเดินจงกรม กำลังสร้างจังหวะ คิดไปหลายเรื่องแล้วถึงมานึกได้ว่ากำลังนั่งฟังคำบรรยาย อันนี้เป็นธรรมดา เพราะว่าสติที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่เป็นสติที่ทำให้เราระลึกสิ่งภายนอกได้ ระลึกสิ่งนอกตัวได้ แต่การที่เราจะระลึกเรื่องตัวเอง คือรู้กายรู้ใจนั้นเป็นสติอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าสัมมาสติ หรือว่าสติปัฏฐาน สติชนิดนี้ประกอบไปด้วย ความรู้สึกตัว คือถ้ามีสติชนิดนี้จะมีความรู้สึกตัวขึ้นมา จะไม่ลืมตัว คนที่มีความจำแม่น จำอะไรได้มากมายสิบปีก็ไม่ลืม บางทีลืมตัวได้ง่ายมากเลย ใจลอย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราสามารถพัฒนาได้ ด้วยการไปเจริญสติหมั่นรู้สึกตัวบ่อยๆ หมั่นระลึกได้บ่อยๆ
แต่ใหม่ๆจะระลึกช้าก็ไม่เป็นไร อย่าไปหงุดหงิดหัวเสียกับใจของตัวเอง ต้องทำบ่อยๆทำเรื่อยๆ แล้วสติที่เป็นเรื่องการระลึกได้ เกี่ยวกับกายและใจคือ รู้ตัว ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องตั้งใจทำ เวลาเราจะนึกศัพท์ เราจะต้องใช้ความตั้งใจระลึกว่า ศัพท์ตัวนี้มันอะไร เวลาเราจะท่องบทอาขยาน โคลงโลกนิติ เราเรียนมาตั้งแต่สมัยมัธยม มาตอนนี้จะจำบางทีต้องใช้เวลา ตั้งใจนึก เช่นที่เขาว่า รู้น้อยว่ารู้มาก เริงใจ กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย บางคนนึกได้เท่านี้ จะนึกต่อต้องใช้ความตั้งใจจึงจะนึกได้ครบ จะนึกตัวเลข 13 หลักในบัตรประชาชนต้องตั้งหลักนึก ต้องตั้งใจนึก จึงจะจำได้ แต่ว่าการระลึกเรื่องตัวเอง หรือว่าการรู้กายรู้ใจมันเกิดขึ้นเอง จะตั้งใจก็ไม่ออกมา ความระลึกได้แบบผุดขึ้นมาเอง ในชีวิตประจำวันเราก็มีอยู่มาก เช่นเรากำลังอ่านนิยาย เล่นเฟสบุ๊ค เสร็จแล้วนึกขึ้นมาได้ว่านัดเพื่อนเอาไว้ ลืมไปเลย นึกมาได้ทันที การนึกขึ้นมาได้แบบนี้มันนึกขึ้นมาเอง การเจริญสติก็คือฝึกให้เรานึกขึ้นมาได้เอง ถามว่าจะทำได้ยังไง ทำเรื่อยๆ