แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ มหาเถรสมาคมได้ขอให้วัดทุกวัดทั้งประเทศแสดงธรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทร์เทพยวรางกูร โอกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 65 พรรษาในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยหัวข้อหรือกัณฐ์ที่จะแสดงทั้งประเทศในวันนี้ ทางมหาเถรสมาคมกำหนดว่า ให้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง “สุจริตธรรมกถา” ก็คือธรรมกถาว่าด้วยความสุจริต เรื่องสุจริตนี่ก็เป็นธรรมะที่สำคัญในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ตรัสเป็นภาษิตไว้ว่า “บุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต” คำว่า “ธรรมะ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคำสั่งสอน แต่หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เราประกอบกิจการงาน คำว่า ธรรม มีความหมายหลายอย่าง บางทีก็แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างเลยก็ว่าได้ อย่างเช่น ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่มีใจประเสริฐสำเร็จได้ด้วยใจ คำว่าธรรมในที่นี้ก็หมายถึงทุกอย่างหรืออาจจะหมายถึงเฉพาะเจาะจง เช่นไม่ว่าเราทำอะไรก็ให้มันเป็นธรรมะ ให้มันเป็นความสุจริต ที่พระองค์ตรัสว่า “บุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต” ก็หมายถึงการทำงานทำการ ทำหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าทำอะไรก็ให้เป็นไปอย่างสุจริต แต่ที่จริงถ้าเราจะแปล “ธรรมะ” ในที่นี้ว่าข้อควรประพฤติปฏิบัติก็ได้เหมือนกัน ข้อควรประพฤติปฏิบัติก็เช่นศีล หรือทาน หรือภาวนา เหล่านี้ก็เป็นธรรมะทั้งนั้น เมื่อเราทำแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะดีเสมอไปเพราะว่าหลายคนก็ปฏิบัติธรรม เช่นให้ทานรักษาศีลก็เพื่อสนองกิเลสก็มี เพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูงก็มี เพื่อสร้างภาพก็มี หรือไม่ได้ใช้ ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปเพื่อความดีงาม อันนี้ก็เรียกว่าประพฤติธรรมแบบไม่สุจริต แม้ว่าการให้ทานเป็นการรักษาศีลก็ตาม เช่นรักษาศีลเพื่ออวดคนอื่น หรือให้ทานเพื่อสร้างภาพ อย่างนี้เรียกว่าไม่สุจริต คือว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทาน คำพูดที่ว่า “ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล” เป็นสำนวนซึ่งสมัยนี้อาจจะไม่ค่อยได้ยินแล้ว แต่สมัยที่อาตมาเป็นเด็กยังเคยได้ยิน เป็นคำเตือน เป็นคำวิจารณ์ การให้ทานหรือการภาวนาว่ามันไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริต
แต่คราวนี้เราจะมาพูดถึงความหมายแรกก่อน ธรรม คือการทำการงานต่างๆ ก็ควรทำให้เป็นไปอย่างสุจริต สุจริตหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าความประพฤติชอบหรือว่าสิ่งที่มันถูกต้อง ถูกต้องตามธรรมะ ถูกต้องตามกฎหมายด้วย การทำอะไรที่มีการหลบเลี่ยงกฎหมายก็ถือว่าไม่สุจริตได้เหมือนกัน การที่คณะสงฆ์...ให้วัดทั่วประเทศแสดงธรรมเรื่องสุจริตธรรมกถานี้ ในด้านหนึ่งก็เพราะว่าเมืองไทยในตอนนี้ผู้คนทุจริตกันมาก คำว่าทุจริตมันตรงข้ามกับสุจริต ทุจริตก็คือความประพฤติมิชอบ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มันเป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือการคดโกงหรือคอรัปชั่น ตอนนี้เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นสูงมาก เป็นที่รู้กันทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ คอรัปชั่นก็หมายถึงการเบียดบังผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่ถูกต้องแต่การใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ถูกต้องมันก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการคอรัปชั่นเสมอไป ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีการเบียดบังผลประโยชน์ของหลวงหรือเรียกสินบนเสมอไป อาจจะหมายถึงการกลั่นแกล้งก็ได้ ใช้อำนาจหน้าที่ในการกลั่นแกล้งเช่น ไม่ชอบหน้าคนนี้ก็กลั่นแกล้ง บางทีก็ยัดยาให้แล้วใช้เป็นข้ออ้างในการจับ บางทีก็สร้างหลักฐานเท็จเพื่อจะได้จับกุมเอาเขาเข้าคุกเข้าตะราง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างไม่สุจริต เป็นการทุจริตในหน้าที่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วการกลั่นแกล้งกับการคอรัปชั่นเบียดบังผลประโยชน์ก็ไปด้วยกันได้เช่น แกล้งจับเขาเพื่อจะได้เรียกเอาเงิน ยัดยาให้เขาแค่เม็ดเดียวแค่นี้ก็เพียงพอที่จะให้ตำรวจจับกุมได้
เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อนไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำที่ภูเขียวไปกับคณะผู้พิพากษา มีการเชิญนักโทษเด็ดขาด คือนักโทษที่พวกเขาเรียกว่าตัดสินเรียบร้อยแล้วให้มาสนทนากัน เป็นเด็กวัยรุ่นทั้งนั้น 21..22..23 ทั้งหญิงและชาย หลายคนก็พูดว่าตอนที่ตัวเองถูกจับนั้นตำรวจก็หาหลักฐานไม่ได้ก็ยัดเลย...ยัดยาให้ไปสองเม็ด เท่านั้นไม่พอ บอกว่าถ้าอยากพ้นคดีก็ต้องหาเงินมาห้าหมื่นบ้าง แสนนึงบ้าง อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริตคือ หนึ่งกลั่นแกล้ง ที่กลั่นแกล้งก็เพราะหวังผลประโยชน์ บางคนถูกจับเพียงเพราะว่าผัวเสพยาหรือผัวอาจจะค้ายาด้วย เสพยาค้ายามันก็คนเดียวกัน เพราะว่าเสพมากๆ ก็ไม่มีเงิน พอไม่มีเงินก็ต้องหารายได้จากการค้ายา ซื้อมาสิบเม็ดขายไปแปดเม็ดก็คุ้มแล้วก็เท่าทุนแล้ว อีกสองเม็ดก็เอาไว้เสพเอง ถ้าอยากเสพก็ต้องไปขายยา ขายแปดเม็ดก็ได้สองเม็ด ตำรวจก็อยากจะจับผัวแต่ไม่มีหลักฐานจึงต้องจับเมียแทน ยัดยาให้เมียเดี๋ยวนี้ก็มี อันนี้เรียกว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบเป็นการกลั่นแกล้ง การกลั่นแกล้งนี้ก็เพื่อหวังประโยชน์ หวังเงินสินบนเพื่อให้เขาเป่าคดี อันนี้เป็นปัญหาซึ่งที่จริงไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในทางจำกุมเท่านั้น ข้าราชการทำหน้าที่อื่นก็เหมือนกัน ทำหน้าที่เซ็นต์แบบอนุญาต เมืองไทยมีกฎระเบียบมาก จะไปขออนุญาตขอต่อทะเบียนรถ สมัยก่อนต้องยัดเงิน หรือว่าจะไปทำบัตรประชา..ทำใบขับขี่บางทีไม่อยากเสียเวลาก็ยัดเงิน หรือว่าทำหน้าที่เซ็นต์ใบอนุญาตให้กับแรงงานต่างชาติ แรงงานต่างด้าวต้องมีต้องทำใบอนุญาตมากมายจากหลายกระทรวง เขาก็บ่นว่า กว่าจะได้ใบอนุญาตก็ต้องยัดเงิน อันนี้ก็เป็นเรื่องความไม่สุจริตที่เกิดขึ้นในวงราชการ แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะขณะนี้ความไม่สุจริตยังเกิดขึ้นนอกวงราชการด้วย บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน อำนาจอยู่กับใครก็มีโอกาสที่จะทำการทุจริตได้
ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ถ้าเป็นโรงเรียนดังก็สามารถจะทุจริตได้ จะรับเด็กก็ต้องให้สินบนหรือยัดเงินใต้โต๊ะ่ แล้วความทุจริตก็กระจายมาถึงวัด เวลานี้ก็มีข่าวเรื่องเงินทอน...ถ้าตามที่ลงข่าวเป็นเรื่องจริงก็เป็นการร่วมมือกันระหว่างเจ้าอาวาสกับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ เป็นการอวยประโยชน์กัน หาเงินหางบประมาณมาให้วัดสิบล้าน วัดเอาไปสองล้าน อีกแปดล้านก็ให้เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ไปใช้ส่วนตัวหรือจะไปใช้ทำอะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นความทุจริตที่ระบาดไปทั่ว เพราะฉะนั้นแล้วก็เป็นการสมควรที่จะตอกย้ำเรื่องความสุจริตในหมู่คนไทย ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าเรานับถือพุทธจริงๆ การทุจริตมันทำได้ยากเพราะว่าศีลจะค้ำเอาไว้ ศีลจะกำกับไม่ให้เราทำการทุจริต เพราะเวลาจะทุจริตได้ก็หมายถึงการคอรัปชั่น เป็นการโกงเป็นการขโมยชนิดหนึ่ง นอกจากการขโมยที่เรียกว่าอทินนาทาน จึงต้องโกหกเพื่อปิดบังความจริง ต้องใช้มุสาวาท แล้วพอมีเงินก็ไปเที่ยวผู้หญิงเรียกว่าผิดศีลข้อสามอีก...กาเม แล้วกินเหล้า...สุราเมรยะ คือคนเราถ้าหากว่ามีศีลอย่างแท้จริงมันทุจริตยาก มีแต่จะกำกับชีวิตให้เป็นไปโดยสุจริต
อันนี้ทางพุทธศาสนาท่านว่าการที่คนเราจะละเว้นจากการทุจริตได้มีสามปัจจัย ปัจจัยแรกท่านเรียกว่า “สัมปัตติวิรัต” คือการละเว้นการไม่ทำทุจริตเมื่อประสบเหตุเฉพาะหน้า เช่นมีคนลืมเงินเอาไว้หมื่นนึงหรือแสนนึงหรือล้านนึงบนโต๊ะหรือในรถแท็กซี่ คนขับรถเห็นเงิน หรือคนในสำนักงานเห็นเงินหรือจะเป็นทองก็ได้ หรือโทรศัพท์ก็ได้แต่ว่าไม่ขโมย สบโอกาสที่จะคอรัปชั่นเงินเป็นหมื่นเป็นแสนแต่ว่าไม่ทำ...ไปซื้อของให้กับบริษัท หรือซื้อของให้กับวัด ร้านค้าเขาให้ค่าคอมมิสชั่นหนึ่งแสน ถ้าซื้อกับเขาหนึ่งแสนเขาให้ค่าคอมมิสชั่นกับเจ้าหน้าที่หนึ่งหมื่น เขามายื่นผลประโยชน์ให้ก็ไม่รับเพราะว่ามีหิริโอตตับปะ หิริโอตับปะ..หิริ คือความอายชั่ว โอตตับปะ คือความกลัวบาป...อายชั่วกลัวบาป
หิริ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าระลึกถึงชื่อเสียงวงศ์ตระกูล หรือว่าภาษาสมัยใหม่เรียกว่ามีความเคารพตัวเอง แม้โอกาสอยู่ข้างหน้าแล้วแต่ไม่ทำ เพราะเคารพตัวเอง หรือเพราะรู้ว่าเรามีชื่อเสียงเรามีวงศ์ตระกูล พ่อแม่สั่งสอนมามีความละอายชั่วก็ไม่ทำ หรือกลัวบาป กลัวว่าทำไปแล้วจะเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจตามมา กลัวบาป ท่านบอกว่ามีสี่อย่าง อันแรก ท่านเรียกว่า “อัตตานุวาทภัย” คือกลัวที่จะตำหนิตัวเอง คือทำแล้วกลัวว่าจะมีเสียงบ่นเสียงตำหนิของตัวเอง คือความรู้สึกผิด คือกลัวว่าตัวเองจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ มันตำหนิตัวเองอยู่ข้างในจึงไม่ทำ หรือว่า “ปะราณุวาทภัย” คือกลัวคนอื่นเขาตำหนิ กลัวเขาจับได้แล้วจะประจานทางเฟซบุ๊ค ก็ไม่ทำ หรือกลัวสิ่งที่เรียกว่า “ทันทภัย” คือภัยที่เกิดจากกฎหมายบ้านเมือง เขาจับได้ก็ติดคุกถูกปรับ หรือกลัว “ทุคติภัย” คือกลัวว่าจะไปลงนรก อย่างนี้จึงไม่ทำ ละเว้นการทุจริต
อีกข้อนึง เป็นการละเว้นเหมือนกันวิรัติประเภทที่สอง ท่านเรียกว่า “สมาทานวิรัติ” คือการละเว้นเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว อย่างที่ได้บอกไว้เมื่อสักครู่ว่าศีลช่วยกำกับ เหมือนรั้วที่กันเราเอาไว้ไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดกติกา ผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือผิดศีลผิดธรรม คนเราแม้ว่ามีความอยาก เห็นเงินอยู่ข้างหน้าหรือเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้าแต่ไม่ทำเพราะว่ามีศีลค้ำเอาไว้ โดยเฉพาะข้ออทินนาทาน เพราะการโกงการคอรัปชั่นเป็นการขโมยแบบหนึ่ง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สาวไปจริงๆ ก็เป็นการขโมยชนิดหนึ่งก็ไม่ทำ ยิ่งถ้ามีศีลข้อสามข้อห้า ไม่หลงอบายมุขไม่ติดเหล้า แรงจูงใจที่ทำให้อยากมีเงินเยอะๆ เพื่อไปกินเหล้าไปเที่ยวผู้หญิงก็ไม่มี เมื่อแรงจูงใจที่อยากจะมีเงินเยอะๆ มันไม่มี กิเลสที่จะทำให้คอรัปชั่นคดโกงก็ไม่มี สมาทานวิรัติจึงเป็นตัวช่วยทำให้ละเว้นการทุจริตได้
ข้อที่สาม “สมุทเฉทวิรัติ” คือละเว้นการทุจริต เพราะว่าไม่มีกิเลสที่จะทำให้เกิดความอยากจะผิดศีล หมายถึงสภาวะจิตของพระอรหันต์หรือพระอริยะบุคคล สำหรับพวกเราสองข้อแรกนี้สำคัญคือ “สัมปัตติวิรัติ” กับ “สมาทานวิรัติ” ที่จริงหิริโอตตัปปะกับศีลมาด้วยกัน คนเราจะรักษาศีลได้มั่นคงต้องมีหิริโอตตัปปะ เพราะว่าถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะไม่มีความอายชั่ว กลัวบาป จะผิดศีลได้ง่ายรักษาศีลยังไงก็รักษาไม่ได้ถ้าไม่มีความละอายชั่วกลัวบาป คนสมัยนี้ไม่ค่อยกลัวบาปกันแล้ว เพราะคิดว่านรกไม่มีจริงและคิดว่าถ้าถูกจับก็เป่าคดีได้ เอาเงินยัดเรียกว่าเป่าคดี ดังนั้นทันทภัย ทุคติภัยจึงไม่มีอยู่ในจิตสำนึก ยิ่งความละอาย ละอายในบาปหรืออายชั่วก็ไม่มี ทำให้การตั้งมั่นอยู่ในศีลก็ยาก แต่คนเราถ้าฉลาดก็จะรู้ว่าการรักษาศีลเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนฉลาดท่านเรียกว่าคนชั่วหรือคนพาลปัญญาทรามเนี่ยย่อมทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรู ย่อมทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรูหมายความว่า...ทำร้ายตัวเอง หาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวด้วยการทำผิดศีล อย่างไรก็ตามศีลอย่างเดียวก็ไม่พอ หิริโอตตัปปะอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องมีธรรมะอย่างอื่นค้ำจุนด้วย ยกตัวอย่างเช่นคนเราถ้ารู้จักพอ มีสันโดษหรือสันตุษฐีธรรม แรงจูงใจที่อยากจะขโมย อยากจะคอรัปชั่นก็จะไม่มีน แต่เป็นเพราะคนเราปล่อยให้ความโลภครองใจ มีเท่าไรก็ไม่พออยากจะมีอีก เพราะฉะนั้นเวลาเห็นคนอื่นเขารวยเอาๆ แต่เรามีรถแค่คันเดียว คนอื่นเขามีสองคันราคาเป็นล้านหรือหลายล้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็พออยู่พอกินหรือพออยู่สบายแล้ว แต่พอเห็นคนอื่นเขามีมากกว่าเราก็เกิดโลภะ ความพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้มันก็หายไป อย่างนี้ถ้าสาวไปลึกๆ เป็นเพราะคนเรายังเอาความสุขไปผูกติดกับวัตถุ คนทุกคนต้องการความสุข มนุษย์ทุกคนต้องการความสุข แต่ว่าคนส่วนใหญ่ความสุขของเขาไปผูกติดกับวัตถุไปผูกติดกับสิ่งเสพซึ่งหมายความว่าก็ต้องมีเงิน เพราะมีเงินก็ทำให้มีวัตถุสิ่งเสพมาก เพราะฉะนั้นอยากจะมีความสุขก็ต้องไปหาวัตถุสิ่งเสพมาเยอะๆ ยิ่งเห็นคนอื่นมีเงินเยอะๆ แต่เรามีเงินน้อยกว่าเขาก็รู้สึกด้อย ต้องหาทางคอรัปชั่นหาทางคดโกง แต่ถ้าคนเราหาความสุข พบความสุขที่ใจ คนเราถ้าพบความสุขที่ใจมีความสุขที่ใจมาทดแทนความสุขทางวัตถุ ความพอใจในสิ่งที่มีหรือสันโดษจะเกิดขึ้นมาทันที ความคิดอยากขโมยจึงไม่มี เพราะว่ามีความสุขอยู่แล้วจะไปหาเรื่องใส่ตัวด้วยการคอรัปชั่นหรือไปทำทุจริตทำไม
คนเราถ้าไม่มีความสุขทางใจ การที่จะอยู่แบบสมถะอยู่แบบเรียบง่าย การที่จะอยู่อย่างซื่อตรงสุจริตในขณะที่เพื่อนๆ เค้ารวยเอาๆ มันทำยากเพราะว่าเราอิจฉาเค้าเราอยากจะรวยเหมือนเขา เขามีมากเราก็อยากจะได้บ้าง คนที่คิดแบบนี้เพราะว่าไม่มีความสุขภายใน ความสุขเขาต้องอาศัยการมีวัตถุ ต้องมีสิ่งเสพ ต้องมีรถต้องมีบ้านต้องมีเครื่องประดับประดา ถ้าตราบใดคนเรายังต้องอาศัยความสุขเช่นนี้ ก็ยังมีแรงจูงใจที่อยากจะรวย และถ้ารวยด้วยวิธีที่สุจริตไม่ได้ก็ต้องหาทางรวยด้วยวิธีที่ทุจริตเช่นโกง คอรัปชั่น ค้ายา หรือย่างเบาๆ ก็ไปเล่นการพนัน แทนที่จะทำให้รวยก็อาจจะจนมากขึ้นทุกที แรงจูงใจที่ทำให้คนคอรัปชั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่สามารถพบความสุขทางใจได้ เขารู้จักแต่ความสุขที่เกิดจากวัตถุที่เรียกว่า กามสุะ ถ้าเราพบความสุขทางใะเราจะไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเลย เราจะรู้สึกว่าใครเขาจะรวยก็รวยไปเราไม่ได้อิจฉาเขาเลย ใครที่ยังอิจฉาเพื่อนที่ยังรวยกว่าหรือมีชื่อเสียงมากกว่า แสดงว่าเขายังไม่เจอความสุขทางใจ แต่ถ้าเรารู้จักความสุขทางใจเมื่อไรนะเราจะไม่อิจฉาเขาเลย ใครจะรวยใครจะมีชื่อเสียงใครจะเด่นดังยังไงนะ บางทีเรากลับเห็นใจเขาด้วยซ้ำไป เพราะเรารู้ว่าเขาจะเจอทุกข์จากการที่เขาต้องรักษา ต้องประคับประคองเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศนั้นเอาไว้ ถ้าเราอยากจะประพฤติธรรมให้สุจริต ต้องสามารถเข้าถึงความสุขทางใจได้ ความสุขทางใจเบื้องต้นก็ต้องเกิดจากความรู้จักพอ เรียกว่าสันโดษ ประการต่อมาก็คือว่ารู้จักพบกับความสงบในใจ ความสงบก็คือถ้าเรามีแล้วจะมีความสุขยิ่งกว่าความสนุกสนาน หรือรสชาติเอร็ดอร่อยจากวัตถุเสียอีก แล้วความสงบสุขทางใจมาจากไหน ก็มาจาก การภาวนา โดยเฉพาะถ้าเรารู้จัก “สติ” การมีสติจะช่วยรักษาใจให้รู้จักความสงบได้เพราะอย่างที่พูดมาหลายครั้งว่า คนเราถ้าปล่อยให้อารมณ์ครอบงำเพราะถูกสิ่งยั่วยุหรือเย้ายวน ยั่วยุคือยั่วยุให้โกรธ เย้ายวนคือเย้ายวนให้โลภให้หลงให้อยาก จะไม่มีความสุขใจ จิตจะกระสับกระส่ายต้องดิ้นรนแสวงหาเงินทอง หรือไม่ก็ต้องแก้แค้นเพราะว่าถูกยั่วยุให้เกิดโทสะ จึงต้องตอบโต้ออกไป แต่ถ้าเรามีสติ อารมณ์ที่เกิดจากการเย้ายวนหรือยั่วยุจะมาครองใจไม่ได้ มีความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ทันมัน ก็วางมัน ก็เบาลง มีความโลภเกิดขึ้นอยากจะมีสิ่งเสพ แต่ว่าพอรู้ทันมันก็สงบลง ความสงบในใจนอกจากสมาธิแล้วสติก็สำคัญมาก ...
ถ้าเราหมั่นเจริญสติอยู่เสมอๆ หมั่นทำสมาธิภาวนาอยู่เป็นประจำ การที่เราจะพบกับความสุขทางใจจะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะว่าเรามีความสุขทางใจแล้ว เราก็ไม่เดือดร้อนเราก็ไม่แคร์ ใครเขาจะถือกระเป๋าหลุยส์วิตตองราคาหลายหมื่น ใครจะขับรถราคาเป็นล้านหรือสิบล้าน เราก็ไม่อิจฉาเขา ใครเขาจะร่ำรวยใครเขาจะมีชื่อเสียงเป็นซีอีโอบริษัทดังๆ เราก็ไม่ได้อิจฉาเขาเลย ไม่ได้รู้สึกด้อยเลย แม้ว่าเราจะเป็นข้าราชการเราก็สามารถมีความสุขได้แม้ชีวิตไม่ได้ร่ำรวยอะไร แม้พออยู่พอกินเราก็มีความสุขได้ แต่คนสมัยนี้มีพออยู่พอกินไม่มีความสุขแต่รู้สึกด้อย เพราะยังรู้สึกมีความสุขไม่พอ เพราะมีความรู้สึกว่าความสุขยังผูกติดกับวัตถุ มีมากก็เข้าใจว่าสุขมากโดยที่ไม่คิดว่าที่จริงแล้วมีมากก็อาจทุกข์มากได้เหมือนกัน เพราะว่าต้องเหนื่อยกับการรักษา ต้องเหนื่อยกับการดูแล และรู้สึกว่าไม่พออยู่เสมอ รู้สึกพร่อง อยากจะมีให้มาก...แล้วก็มาก...แล้วก็มาก..ก... คนสมัยนี้ไม่ใช่แค่อยากจะรวย แต่ต้องการรวยกว่า คือว่ารวยร้อยล้านแล้วแต่ถ้าเพื่อนๆ มันรวยพันล้านมันก็ไม่มีความสุข งั้นคนสมัยนี้ไม่ใช่แค่อยากจะรวยแต่ต้องการรวยกว่า แล้วไอ้ความต้องการรวยกว่ามันทำให้ไม่รู้จักพอไม่รู้จักหยุดสักที แต่ถ้าเราพบความสุขทางใจด้วยอานิสงค์ของสมาธิภาวนาหรือการเจริญสติ ก็ช่วยทำให้เราสามารถจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขแม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวยอะไร
พระอรหันต์หรือพระอริยะเจ้าหรือแม้แต่พระที่เป็นปุถุชนท่านก็มีอัฐบริขารไม่กี่ผืนไม่กี่อย่าง แต่ทำไมถึงมีความสุขได้ มีความสุขกว่าโยมซึ่งมีมากมาย เพราะว่าท่านมีความสุขทางใจ เข้าถึงความสุขทางใจแล้ว จึงพึ่งพาวัตถุน้อยลง มีแค่บริขารแปดก็มีความสุขได้ สุขยิ่งกว่าคนที่มีเงินมากมายร้อยล้านพันล้าน สติยังช่วยให้เราไม่ประพฤติผิดในทางอื่นได้ด้วย เพราะบางที คนเราทุจริตส่วนหนึ่งก็เพราะอยากจะกลั่นแกล้ง อยากจะกลั่นแกล้งเพราะมีความโกรธ อยากจะแก้แค้น แต่ถ้าเรามีสติ ความโกรธความพยาบาทมันก็ครอบงำไม่ได้ ความคิดที่จะไปกลั่นแกล้งใครโดยใช้อำนาจที่มีก็ไม่เกิดขึ้น ก็เป็นหลักประกันว่าเราจะใช้หน้าที่ไปในทางที่เที่ยงธรรมสุจริต ไม่ไปกลั่นแกล้งใคร บางคนทุจริตเพราะกลัว ไม่ใช่เพราะโกรธไม่ใช่เพราะโลภอย่างเดียว... กลัว...อย่างที่พูดไว้ว่าคนสมัยนี้กล้าทำชั่วกลัวทำดี กล้าทำชั่วเพราะอะไร เพราะเพื่อนๆ ชวน เวลาจะทำดีก็กลัว กลัวว่าจะเป็นแกะดำ ถ้าหากไม่รับสินบน ใครๆ เขาก็รับสินบนกันทั้งนั้น เราไม่รับสินบนเราจะเป็นแกะดำ ที่จริงมันเป็นแกะขาว กลัวที่จะเป็นแกะขาว ก็เลยต้องยอม...ยอมคอรัปชั่น ยอมเรียกสินบน ต้องยอมทุจริต แต่ถ้าเรามีความกล้า ความกล้าที่จะยอมทำชั่วก็เกิดขึ้นน้อยลง อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน การที่คนเราจะสุจริตได้นอกจากหิริโอตัปปะ นอกจากสติ นอกจากความสุข มันต้องมีความกล้านะ กล้าทำดี กล้าปฏิเสธคนที่จะมาชักชวนให้ทำชั่วแม้ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงเป็นพี่น้อง อย่างเช่นใครจะมาชวนกินเหล้าเราก็กล้าปฏิเสธเพราะเรารู้ว่าการกินเหล้าไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าปฏิเสธนะ กลัวที่จะมีศีล เพราะว่าพื่อนเขาดูถูกเหยียดหยาม เขาจะไม่คบ เขาจะไม่ยอมรับ การที่เรากลัวที่จะถูกปฏิเสธ กลัวที่จะไม่ได้รับการยอมรับก็เป็นเพราะเราไม่เห็นคุณค่าภายใน คนเราถ้ามีความสุขภายในเราก็จะเห็นคุณค่าตัวเอง ใครเขาไม่ยอมรับเรา เพื่อนไม่ยอมรับเพราะเราไม่ยอมกินเหล้า เพราะเราไม่โกง เราก็ไม่เดือดร้อน อยู่คนเดียวก็ได้ อยู่คนเดียวก็มีความสุขเพราะว่าเรามีตัวเองเป็นเพื่อนเรียกว่าเป็นมิตรกับตัวเอง
คนสมัยนี้ไม่เป็นมิตรกับตัวเองเพราะหามิตรในตัวเองไม่เจอ จึงต้องไปหามิตรจากคนรอบข้าง คนรอบข้างชวนให้ไปกินเหล้าชวนให้ไปค้ายาชวนให้คอรัปชั่นก็ไป ต้องยอม ไม่ได้อยากทำ หลายคนไม่ได้อยากทำ แต่มันกลัว...กลัวเขาจะไม่คบ กลัวเขาจะปฏิเสธ ความกล้ามันหายไปไหน ก็เพราะว่าเราไม่รู้จักเคารพตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง ไม่เห็นว่าคุณค่าตัวเองไม่ได้อยู่ที่ใคร มันอยู่ที่ตัวเราไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น ถ้าเราเห็นตรงนี้จะมีความกล้า กล้าที่จะทำดี กล้าที่จะปฏิเสธความชั่ว กล้าที่จะปฏิเสธการคอรัปชั่น แม้ว่าคนรอบข้าง เพื่อนๆ เค้าจะชักชวนเค้าจะข่มขู่ก็ตาม ที่จริงความกล้าเป็นส่วนหนึ่งของนักปฏิบัติธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และถ้าถึงคราวก็กล้าที่จะสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม พระอริยะเจ้าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายท่านก็กล้าสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ไม่ยอมทำชั่ว คนเราจึงต้องตระหนักตรงนี้เสมอถ้าเรายอมทำชั่วเมื่อไรมันจะได้สุขชั่วคราว อาจจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนจากคนรอบข้างแต่ว่าไม่มีความสุข มันจะคอย...ความผิด บาปจะคอยเกาะกินจิตใจ มีคนหนึ่งเคยเป็นตำรวจ แล้วครั้งหนึ่งไปจับเจ้าของร้าน เพราะว่าเขาขายอาหารเกินเวลา ที่จริงอาจจะเป็นเพราะเจ้าของร้านเขาไม่ได้ให้เงิน ไม่ได้ให้สินบน ไม่ได้ให้ส่วยจึงมีคำสั่งให้ไปจับ แต่เจ้าของร้านเขาก็หลบไปได้ แล้วมีคนอื่นมารับแทน ตำรวจก็รู้ว่าคนที่เขาจับได้ไม่ใช่เจ้าของร้านตัวจริง เป็นแค่หุ้นส่วนเล็กๆ แต่ที่เขายอมมาเป็นจำเลย เพราะเจ้าของร้านตัวจริงเขาให้คำมั่นสัญญาว่า จะมาช่วยให้หลุดเพราะสมัยนี้การใช้เงินเป่าคดีมันก็ไม่ได้ยากอะไร แต่ปรากฏว่าเจ้าของร้านตัวจริงก็ไม่ได้มาช่วย คนที่มาเป็นแพะก็ติดคุกไป ติดคุกก็เสีอยใจ เสียใจก็เลยฆ่าตัวตาย ผูกคอตายในคุก ตำรวจที่จับ...ที่ทำคดีก็เสียใจ คือเสียใจว่าตัวเองทั้งที่รู้ว่าเขาไม่ได้เป็นเจ้าของร้าน แต่ก็จับเขาเพราะคิดว่าจะได้ผลงาน มีผลงานไปเสนอเจ้านาย เจ้านายสั่งให้จับก็จับถึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวจริงแต่ก็ทำ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อเป็นที่ยอมรับ เพื่อเจ้านายจะไม่ลงโทษ แต่พอรู้ว่าคนที่ตัวเองจับเขาผูกคอตายก็เสียใจมาก เสียใจจนกระทั่งเลิกเป็นตำรวจ
อย่างนี้ก็เรียกว่าความผิด ความทุจริตที่ก่อก็มาหลอกหลอนจิตใจ อย่างนี้เรียกว่าอัตตานุวาทภัย ซึ่งสมัยนี้มีน้อยลงไปทุกทีแต่ก็สำคัญเพราะว่าถ้าคนเราทำชั่วทำทุจริต ยังไงๆ มันก็ต้องมีความรู้สึกนี้มาหลอกหลอน ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็วันหน้า ถ้าไม่ใช่วันหน้าคือวันที่กำลังจะตาย พอจะตายความชั่วที่ทำทุจริตที่ก่อมันจะมาหลอกหลอนทำให้ผวาทำให้ตายไม่สงบ ไม่คุ้มเลยกับผลประโยชน์ที่ได้จากการทำทุจริต ไม่มากเท่าไรแต่ว่าสุดท้ายหาความสุขไม่ได้ ความรู้สึกผิดมันมาหลอกหลอนทิ่มแทงใจหรือว่าอาจจะทำให้ถึงกับว่าตายไม่สงบ ดังนั้นเรื่องการสุจ..ไม่มีวิธีอะไรนะที่จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขได้นอกจากการที่เราบำเพ็ญสุจริตธรรมนะ ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า...Honest... ภาษาฝรั่งนี้เขามีคำพูดของนักธุรกิจซึ่งหลายคนก็ยึดถือเป็นหลัก เขาใช้ว่า “Honesty is the best policy” ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นนโยบายที่ดีที่สุด เป็นนโยบายทำธุรกิจที่ดีที่สุด ที่จริงมันไม่ใช่แค่นโยบายทางธุรกิจที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับการมีชีวิตอย่างผาสุกและถ้ามีภพหน้าก็ได้ไปสุคติ...พอสมควรแก่เวลาแล้วขอยุติการแสดงธรรมกฐาแต่เพียงเท่านี้