แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลวงพ่อโตชาวพุทธที่สนใจพระเครื่องล้วนแล้วแต่รู้จักกันทั้งนั้น เพราะว่าเป็นผู้สร้างพระเครื่องที่เป็นที่นิยมและราคาแพงมากคือสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จก็คือหมายถึงสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ก็คือสมณศักดิ์ของท่าน แต่ที่จริงชีวิตของท่านจริยาวัตรของท่านน่าสนใจแล้วก็ประเสริฐกว่าพระเครื่องหรือสมเด็จวัดระฆังเสียอีก เพราะว่าเป็นชีวิตที่ประกอบไปด้วยธรรมแล้วก็สอนธรรมได้อย่างลึกซึ้ง ถ้าเจริญรอยตามท่านปฏิบัติตามท่านก็จะมีความสุขความเจริญ อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัยไกลทุกข์ ยิ่งกว่าอานุภาพที่จะได้จากสมเด็จวัดระฆังเสียอีก
มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับหลวงพ่อโต มีคราวหนึ่งท่านกำลังจำวัดอยู่ ก็มีโจรมีขโมยมาเจาะพื้น เจาะพื้นเพื่ออะไร เพื่อจะล้วงเอาของในกุฏิของท่าน ท่านตื่นขึ้นมารู้ว่ามีขโมยกำลังจะเอาของของท่านไป เผอิญโจรมือสั้นมั้ง ก็ไม่สามารถที่จะล้วงเอาของในกุฏิได้ หลวงพ่อท่านก็เลยเอาเท้าเขี่ย เอาเท้าเขี่ยเพื่อว่าขโมยจะได้หยิบได้สะดวก อันนี้ก็เป็นความเมตตาของท่าน เท่านั้นยังไม่พอ ขโมยยังอยากจะเอาเรือไปอีก เรือของท่านอยู่ข้างล่างอยู่ใต้ถุน เป็นเรือลำเล็กๆ เรือพายเรือสำปั้น ขโมยก็พยายามเข็นเรือแต่ว่ามีเสียงดัง หลวงพ่อท่านก็เลยเปิดหน้าต่างออกมาแล้วก็พูดกับขโมยว่าเข็นเรือเบาๆหน่อย อย่าเข็นให้มันเสียงดังนัก เดี๋ยวพระรู้จะมาตีเจ้า ท่านมีเมตตาขนาดนี้ ขนาดโจรจะมาขโมยเอาเรือของท่านไปท่านก็ยังมีเมตตา เท่านั้นไม่พอ ยังแนะนำว่าเข็นเรือในที่แห้งเสียงดัง จะเข็นให้ได้ดีต้องเอาหมอนมารองไว้ตรงท้าย หัวมันจะได้โด่งๆหน่อยเชิดหน่อย จะได้เข็นหรือกลิ้งได้สะดวก บอกขนาดนี้เลย บอกวิธีการเข็นเรือให้กับขโมย ขโมยคงรู้สึกละอายใจมั้ง ว่าอุตส่าห์มาขโมยของหลวงพ่อแล้วหลวงพ่อก็ยังไม่โกรธไม่เกลียด หลวงพ่อยังมีเมตตาแนะนำให้เข็นเรือได้สะดวก ก็เลยเอาแต่ของไป แต่ว่าเรือก็ทิ้งเอาไว้
ความเมตตาของท่านเมตตาอย่างไร ก็คือเมตตาไม่อยากจะให้เขาเป็นขโมย เพราะถ้าเขาเป็นขโมยแล้วมันผิดศีล ท่านก็เลยให้ความร่วมมือ การให้ความร่วมมือของท่านเช่นเอาเท้าเขี่ยหรือว่ายอมให้เข็นเรือไปก็เท่ากับว่าเป็นการแสดงว่าให้แล้ว ให้แล้วชายคนนั้นถ้าเอาไปก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นขโมย ก็เป็นอันว่าไม่ผิดศีล ความเมตตาของท่าน คือไม่อยากให้เขาผิดศีลก็เลยช่วยเขา แต่จะทำอย่างนี้ได้ก็เพราะไม่มีความหวงแหนด้วย ไม่มีความหวงแหนในทรัพย์สมบัติ มีก็จริงแต่ว่าไม่ยึด คนอยากได้ก็ให้เขาไป ถ้าเขาอยากจะขโมยก็ให้เขาไปเสียเขาจะได้ไม่เป็นขโมย เพราะว่าของที่ได้ก็เจ้าของอนุญาตแล้ว ก็มีหลายครั้งบางทีท่านไปเทศน์ได้กัณฑ์เทศน์มาเยอะแยะก็ขนใส่เรือ ขนใส่เรือ ลูกศิษย์สองคนก็เป็นคนพายเรือ พายไปพายมาลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันว่าใครจะเอาบริขารชิ้นไหน ทะเลาะกันทั้งๆ ที่เขาถวายของให้หลวงพ่อแต่ว่าลูกศิษย์มาแย่งกันทะเละกัน ท่านก็ไม่ว่าอะไร ท่านก็แบ่งให้เขา แบ่งให้ลูกศิษย์สองคนนั้นจนกระทั่งท่านไม่เหลืออะไรเลย ก็เรียกว่ากลับวัดตัวเปล่าสบายใจ อันนี้เป็นความเมตตาของท่าน
นอกจากไม่ยึดในทรัพย์แล้วท่านก็ไม่ยึดติดในสมณศักดิ์ ไม่ได้มีความยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นพระผู้ใหญ่ ผู้คนจะต้องให้ความเคารพจะต้องหมอบกราบ ท่านถ่อมตัวมาก มีคราวหนึ่งท่านไปเทศน์ที่เมืองนนท์ ขากลับก็จ้างผัวเมียสองคนพายเรือกลับมาส่งท่านที่วัดระฆัง ปรากฏว่าผัวเมียคู่นี้พายเรือไปพายเรือมาทะเลาะกัน ทะเลาะกันไม่เกรงใจหลวงพ่อเลย หลวงพ่อท่านอาจจะพูดเตือนก็ไม่ฟัง เพราะว่าคนเราพอโกรธแล้วก็หน้ามืด ยิ่งทะเลาะกันยิ่งอยากเอาชนะกัน เป็นอันว่าสองคนนั้นไม่ได้พายเรือ เอาแต่ทะเลาะกัน หลวงพ่อก็เลยปล่อยให้เขาทะเลาะกัน แล้วหลวงพ่อก็พายเรือแทน พายเรือมาถึงวัดระฆังเลย อุตส่าห์จ้างผัวเมียมาช่วยพายเรือให้แต่สุดท้ายท่านก็พายเรือเอง ท่านก็ไม่ถือว่าฉันเป็นคนจ้างเธอสองคนมาพายหรือว่าฉันเป็นสมเด็จ ฉันเป็นพระมีสมณศักดิ์สูง ท่านไม่คิดอย่างนั้น เพราะว่าท่านไม่ได้ถือไม่ได้ติดในสมณศักดิ์ ไม่ได้ยึดมั่นว่าฉันเป็นพระผู้ใหญ่
มีอยู่คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ในสวนแถวราษฎร์บูรณะฝั่งธน ต้องเข้าไปทางคลองเล็กๆ แล้วช่วงนั้นก็พอดีเป็นน้ำลงแล้วก็คงเป็นหน้าแล้งด้วย ท่านนั่งเรือไปกับศิษย์วัด แต่ว่าเรือไปติดไปเกยเพราะว่าน้ำคลองแห้งมาก เข้าไปไม่ได้ ลูกศิษย์ก็เลยลงไปเข็นเรือ แต่เข็นเท่าไรก็เข็นไม่ไป หลวงพ่อก็เลยลงมาเข็นกับเขาด้วย ลืมบอกว่าตอนนั้นท่านไปแบบเป็นทางการ มีพัดยศติดไปด้วย เป็นพัดยศชั้นสมเด็จ ท่านก็ลงไปเข็นเรือในคลอง ชาวบ้านผ่านมาเห็นก็ตะโกนว่าสมเด็จเข็นเรือโว้ยๆ ท่านได้ยินท่านก็พูดขึ้นมาว่า ฉันไม่ใช่สมเด็จจ้ะ ฉันชื่อขรัวโตจ้ะ สมเด็จอยู่ในเรือ แล้วท่านก็ชี้ไปที่พัดยศ ชาวบ้านเห็นเข้าก็เลยมาช่วยหลวงพ่อเข็นเรือ คือท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จ สมเด็จพุฒาจารย์ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้ยึดมั่นสำคัญหมายว่าท่านเป็นสมเด็จ ท่านก็ยังคิดว่าหรือยังระลึกว่าตัวเองเป็นแค่พระธรรมดาหรือเป็นแค่ขรัวโต ที่จริงท่านใช้คำว่าชื่อขรัวโต ก็ไม่ได้ยึดว่าเป็นขรัวโตด้วยซ้ำ แต่ว่าขรัวโตเป็นชื่อของท่านแต่เดิม ขรัวโต “ขรัว” แปลว่าพระผู้ใหญ่ หลวงพ่อ พระอายุมากๆ สมัยก่อนเขาเรียกว่า “ขรัว” คำนี้มันก็ลืมกันไปแล้ว หลวงพ่อท่านใครๆ เรียกท่านสมเด็จโต แต่ท่านก็ไม่ได้ยึดว่าท่านเป็นสมเด็จ ก็ยังเป็นพระธรรมดา ถึงเวลาเรือมันติดเกยตื้นก็ต้องลงมาช่วยศิษย์วัดเข็นเรือ
อันนี้แหละคือความหมายหรือตัวอย่างของคำสอนของหลวงพ่อคำเขียนที่ว่า “ไม่มี แล้วก็ไม่เป็นอะไรกับอะไร” “ไม่มี” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีข้าวของไม่มีบริขารอยู่กับตัวเลย ก็มี แต่ว่าไม่ยึด ใครอยากได้ก็ให้เขาไป ไม่ต้องมาขโมย ของหายของเสียไปก็ไม่ทุกข์ อันนี้เรียกว่ามีแบบไม่มี มีแบบไม่มีคือไม่ยึดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา อันนี้คือการปล่อยวางอย่างแท้จริง นักพรตนักบวชบางลัทธิเขาต้องการฝึกหรือต้องการแสดงว่าฉันไม่มีอะไรเลยหรือว่าฉันไม่ยึดอะไรเลย เขาก็เลยเดินตัวเปล่า ตัวเปล่าจริงๆ คือไม่มีเสื้อ ไม่มีกางเกง เดินเปลือย ไม่มีข้าวของ ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีกุฏิที่พัก ไม่มีบาตร ไม่มีอะไรเลย เพื่อแสดงว่าฉันปล่อยวางแล้ว ฉันไม่มีอะไรแล้ว แต่ว่าอันนี้ก็ยังไม่แน่เพราะในใจอาจจะยึดก็ได้ แต่ว่าถ้า “ไม่มี” ในพุทธศาสนาหรือ “ไม่ยึด” ก็คือว่ามีแต่ไม่ยึดว่าเป็นของฉัน ใครอยากได้อะไรก็ให้ไป “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ตัวอย่างก็คือว่าไม่ได้คิดว่าฉันเป็นสมเด็จ ไม่ได้คิดว่าฉันเป็นพระผู้ใหญ่ “อะไรกับอะไร” คำว่า “อะไร” ก็คือสิ่งของหรือว่าอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจรวมทั้งตัวกายและใจด้วยก็ไม่เป็น ไม่ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่เป็นเจ้าของ ไม่เป็นมัน ตัวอย่างแบบหลวงพ่อโตท่านเป็นตัวอย่างที่ชัดมากว่าคำว่า “ไม่มี ไม่เป็นอะไรกับอะไร” คืออันนี้ คำว่าเป็นนั่นเป็นนี่เป็นสมมติ ใครเขายกย่องถ้าเราไปคิดว่าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าเข้าไปเป็นมันแล้ว ไม่ได้คิดว่ามันเป็นสมมติ แล้วพอไปยึดว่าเป็นมันก็ทุกข์ เพราะว่าคิดว่าฉันเป็นผู้ใหญ่ ฉันเป็นเจ้าอาวาส ฉันเป็นเจ้านาย ฉันเป็นรัฐมนตรี พอไปคิดว่าฉันเป็นนั่นเป็นจริงๆ ก็จะเกิดกิเลสอยากให้คนเคารพอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเป็นเจ้านาย ถ้าลูกน้องไม่เคารพก็เป็นทุกข์ ถ้าเป็นเจ้าอาวาสคนในวัดเขาไม่พูดจาสุภาพอ่อนน้อมก็ไม่พอใจ แบบนี้เรียกว่า “เป็น” แล้ว
มีนักเขียนคนหนึ่งชาวอินเดียชื่อ R. K. Narayan เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อมาก แล้วแกก็ชอบเล่าชอบอวดว่าฉันเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอินเดีย เป็นนักเขียนดัง เป็นนักเขียนที่มีฝีมือดีที่สุดในอินเดีย ในแง่หนึ่งแกก็ภูมิใจ แต่มีคราวหนึ่งเขาเชิญแกไปออกรายการวิทยุกับนักเขียนคนอื่นๆ ก็มีนักเขียนหลายคนไปให้สัมภาษณ์ทางรายการวิทยุ พอสัมภาษณ์เสร็จเขาก็ให้ค่าวิทยากร ก็ให้ทุกคนเท่ากัน แกไม่ยอม แกบอกว่าฉันเป็นนักเขียนดังกว่าคนอื่น ต้องให้ฉันมากกว่า ทางสถานีวิทยุก็บอกว่าอัตรามีแค่นี้ ทุกคนต้องได้เท่ากัน แกก็ไม่ยอม บอกว่าต้องให้ฉันมากกว่า อย่างน้อยให้ฉันมากกว่า ๅ รูปีก็ยังดี ขนาดนี้ คือได้เท่ากันไม่ยอม ได้มากกว่า 1 รูปีก็พอใจแล้ว อย่างนี้เรียกว่าโง่หรือฉลาด เสียเวลาแล้วก็เป็นทุกข์เพียงแค่ว่าต้องการเงิน 1 รูปีเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้แสดงว่าฉันเป็นนักเขียนที่เหนือกว่าคนอื่น อันนี้เรียกว่าเข้าไปเป็นแล้ว แล้วเป็นก็เป็นทุกข์