แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีคำกล่าวว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ" คำกล่าวนี้ยังไม่ครบถ้วน มนุษย์เราจะเป็นสัตว์ประเสริฐได้ ต้องมีการฝึกฝน มนุษย์เราถ้าไม่ได้ฝึกฝน มันเป็นสัตว์ประเสริฐไม่ได้ โดยเฉพาะการฝึกฝนจิตใจ ถ้าไม่ฝึกฝนไม่ขัดเกลา ก็อาจจะทำความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่นหรือว่าสร้างความหายนะยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย เช่นสงครามที่เกิดขึ้น สงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 แล้วก็อีกหลายครั้ง มีคนตายกันเป็นสิบๆ ล้าน มีการเอาคนยิวไปเข้าค่ายกักกัน รมควันตายกว่า 6 ล้านคน อันนี้ไม่มีสัตว์ชนิดใดทำได้ นอกจากคน การที่คนทำอย่างนี้ได้ ก็เป็นเพราะใช้เทคโนโลยีวิชาความรู้ไปในทางที่ผิด อันนี้ก็ถือว่าไม่ได้ฝึกฝนจิตใจให้ประเสริฐ การฝึกฝนมันทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐได้ พูดถึงการฝึกก็มีสองอย่างใหญ่ๆ คือการฝึกฝนกายกับการฝึกฝนใจ การที่จะฝึกฝนกายและใจได้ ก็ต้องรู้ถึงธรรมชาติของกายและใจซึ่งก็มองได้หลายแง่ มองในแง่หนึ่งกายกับใจจะมีธรรมชาติที่ตรงข้ามกันก็ว่าได้ กายมันมีน้ำหนัก ชั่งตวงวัดได้เป็นกิโลๆ จับต้องได้ แต่ใจมันไม่มีน้ำหนักจับต้องก็ไม่ได้ อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ จะบอกว่าอยู่ที่สมองมันก็ไม่ใช่ เราไม่รู้ว่าใจอยู่ไหนแต่ว่ามันมีอยู่ นิสัยของกายมันชอบอยู่เฉยๆ ชอบนิ่งๆ ถ้าได้นั่งได้นอนกายจะชอบมาก แต่ใจจะตรงกันข้าม ใจมันชอบทำนู่นทำนี่ มันอยู่นิ่งไม่เป็น จะให้ใจอยู่นิ่ง มันจะทรมานมาก มันต้องทำโน่นทำนี่สารพัด การฝึกกายกับการฝึกใจ มันจะไปกันคนละทาง เวลาเราจะฝึกกาย เราต้องฝึกให้มันทำ เช่น ฝึกออกกำลังกาย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่อยากทำ แต่อยากนั่งนิ่งๆ นั่งดูโทรทัศน์ หรืออยากนั่งเฉยๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง การฝึกกายต้องฝึกให้กายทำนู่นทำนี่ เช่น ออกกำลังกาย เป็นต้น ถ้าไม่ออกกำลังกาย ร่างกายก็จะแย่ เดี๋ยวนี้มีโรคมากมายที่เกิดจากการไม่ออกกำลังกาย เรียกรวม ๆกันว่าโรคขี้เกียจ โรคที่เกิดเพราะการไม่ออกกำลังกาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อาจจะรวมถึงโรคมะเร็ง โรคปวดเมื่อย ซึ่งจะเรียกรวมๆว่าเป็นโรคขี้เกียจ
ดังนั้นการฝึกกายต้องเคี่ยวเข็ญให้ออกกำลังกาย ส่วนการฝึกใจจะตรงกันข้าม คือต้องฝึกใจให้รู้จักนิ่งบ้าง เพราะใจมักจะทำนู่นทำนี่สารพัด แล้วก็มักจะเอาความทุกข์มาใส่ตัว เรื่องที่ควรจะลืมก็เก็บมาคิดอยู่นั่นแหละ เรื่องที่ไม่ควรคิดก็เอามาคิดวกวน คิดซ้ำคิดซากจนนอนไม่หลับ คนที่นอนไม่หลับจะรู้ดีเลยว่า จิตมันทำโน่นทำนี่ มันไม่ยอมอยู่นิ่ง กายอยู่นิ่งแล้วแต่จิตไม่ยอมอยู่นิ่ง ดังนั้นการฝึกจิตคือการฝึกให้ทำตรงข้ามกับนิสัยของมัน คือฝึกให้มันนิ่งเสียบ้าง เรารู้ดีว่า ทั้งการเคี่ยวเข็ญให้กายออกกำลังก็ดี หรือว่าการฝึกจิตให้อยู่นิ่งก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องยากเพราะเป็นการทวนกระแสความเคยชินของมัน กายมันจะชอบวางเพราะมันไม่ชอบทำอะไร จะให้มันแบกอะไรมันก็ไม่ชอบแบก การออกกำลังกายก็เป็นการฝึกให้กายแบก เช่นแบกน้ำหนักยกน้ำหนัก ซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่กายไม่ชอบ ส่วนใจชอบแบกชอบยึด แบกปัญหาสารพัด แม้เรื่องราวจะผ่านไปแล้ว ก็ยังเก็บมาแบกเอาไว้ เรื่องที่ยังมาไม่ถึงก็ยังจะเอาแบกไว้ แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดความทุกข์ การฝึกจิตด้านหนึ่งก็คือการฝึกให้มันปล่อยให้มันวาง ซึ่งก็ยากอยู่เหมือนกันเพราะว่าใจมันชอบแบก และเราก็คงรู้ว่ามันไม่ง่ายที่จะทำให้ใจปล่อยวางแต่ก็จำเป็นและสำคัญ ในขณะที่เราฝึกกายให้แบกโน่นแบกนี่เพื่อให้มีพละกำลัง การฝึกใจให้ปล่อยให้วางกลับช่วยให้จิตมีพลัง มันแปลก มันตรงกันข้ามกัน ร่างกายต้องแบก ต้องทำนู่นทำนี่มันถึงจะแข็งแรงมีกำลังวังชา แต่ใจต้องปล่อยต้องวางให้มากขึ้น จริงอยู่ที่เราต้องใช้ใจทำนู่นทำนี่เหมือนกัน แต่ที่ผ่านมามันมักจะทำนอกคำสั่ง ทำเกินเลยไป เราบอกให้หยุดสักที จะนอนแล้วไม่ต้องคิดแล้วมันก็ยังคิด คิดสารพัด หรือแม้แต่เวลาที่เรามาเดินจงกรม มาสร้างจังหวะ ถ้ากราบมันได้ก็อยากจะกราบนะให้มันหยุดคิดได้แล้ว ให้อยู่นิ่งๆ แต่มันไม่ยอมหยุด มันยังจะคิดเรื่อยเปื่อย มันทำเกินสั่ง เพราะเป็นธรรมชาติของ และการปฏิบัตินี้จะเป็นการทวนกระแส ทวนนิสัยของจิต มันชอบทำนู่นทำนี่ ก็ให้มันนิ่งบ้าง มันชอบแบกก็ให้มันปล่อยให้มันวางบ้าง แล้วมาดูมาสังเกตคนเราในขณะที่ใจเรามันแบก มันไม่ค่อยวาง ปัญหาของคนเราความทุกข์ในจิตใจคนเราเกิดจากการที่ใจชอบแบก ไม่ค่อยปล่อยค่อยวาง
แต่ในด้านหนึ่งปัญหาทางโลกที่เกิดขึ้นกับผู้คนบนโลกจำนวนมาก เกิดขึ้นเพราะว่ากายเวลาวางแล้ววางไม่เป็นที่ คนเราส่วนใหญ่เวลาหยิบอะไรไม่ค่อยมีปัญหา หยิบข้าวหยิบของไม่ค่อยมีปัญหา คือรู้ว่าจะหยิบอะไร ยกเว้นคนที่มือไว พวกนี้หยิบโน่นหยิบนี่จนกระทั่งไม่รู้ตัวก็มี อันนี้ก็ยกไว้เพราะเป็นคนกลุ่มน้อย เวลาเข้าไปในห้าง แต่ส่วนใหญ่เวลาเราหยิบ เราจะรู้ตัว เวลาเราถือ เรารู้ตัว แต่ปัญหาคือเวลาเราปล่อยเราวางของ เรามักจะมีปัญหาการวางคือไม่รู้ว่าเราวางไว้ไหน ปัญหาคนเราในชีวิตประจำวันของคนเราเกิดจากการวางเรื่อยเปื่อย วางกุญแจ วางกระเป๋าเงิน วางโทรศัพท์ แล้วไม่รู้วางไว้ตรงไหน ถึงเวลาจะหาก็หาไม่เจอ อันนี้เรียกว่ามีปัญหาจากการวาง ไม่รู้ตัวเวลาวาง แต่ใจมันมีปัญหาคือมันแบกโดยไม่รู้ตัว แบกนู่นแบกนี่สารพัด แบกก็เป็นทุกข์ แต่ก็ยังแบก เพราะอะไร เพราะไม่รู้ตัว เมื่อลองดูดีๆ มันตรงกันข้ามกัน กายเราวางของโดยไม่รู้ตัวแล้วเกิดปัญหา ส่วนใจชอบแบกอะไรต่ออะไรโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น หากเราจะฝึกกายฝึกใจ ในด้านหนึ่งต้องฝึกใจให้รู้จักวาง หรือว่าฝึกใจอย่าให้แบกอะไรพร่ำเพรื่อ จะยึดจะถืออะไรก็ให้รู้ตัว และถ้าวางได้เป็นดี แต่ถ้าไม่อยากมีปัญหาเรื่องการวางก็ควรจะฝึกตั้งแต่เรื่องการแบก อะไรบ้างที่ควรแบก เช่นเวลาเราทำงานใจเราก็อยู่กับงานข้างหน้า ส่วนงานที่รออยู่ที่ค้างคาอยู่กี่สิบชิ้นก็ไม่ต้องเก็บเอามาคิด ยังไม่ต้องแบกมัน หลายคนเวลาทำงาน งานที่กำลังทำอยู่ก็ยากอยู่แล้ว ยังไปห่วงกังวลถึงงานอีก 7-8 ชิ้นที่รออยู่ นักศึกษาก็เหมือนกัน ทำรายงานทำไปกลุ้มไป ไม่ใช่สิ่งที่กำลังทำมันยาก แต่เพราะมันมีอีก 7-8 ชิ้นที่รออยู่ อันนี้เรียกว่า แบก แบกโดยไม่รู้ตัว แล้วก็เป็นทุกข์ เครียด ท้อ นั่นคือความทุกข์ใจที่เกิดจากการแบกโดยไม่รู้ตัว ใจแบกโดยไม่รู้ตัว
แต่ปัญหาอีกด้านหนึ่งก็เกิดจากมือเรามันวางอะไรต่ออะไรโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน การฝึกอีกอย่างที่อยากจะแนะนำให้เราฝึกคือ เวลาที่เราจะวางของอะไรก็ตามให้วางด้วยความรู้ตัว ให้กำหนดสักหน่อย ไม่ว่าสิ่งที่วางจะเป็นเสื้อผ้า ยาสีฟัน นาฬิกา ก่อนจะวางกำหนดสักหน่อยแล้วก็วาง ถ้าทำอย่างนี้ เวลาจะนึกว่าเราวางของไว้ที่ไหน มันมีโอกาสที่จะจำได้ง่ายกว่า จะไม่มีปัญหาว่าวางของไว้ที่ไหน กุญแจ กระเป๋าเงิน หรือโทรศัพท์ นี่เป็นปัญหาของคนในเมืองมากเพราะว่าเดี๋ยวนี้เราวางของกันเรี่ยราดมาก แล้วบ้านก็เต็มไปด้วยข้าวของ เวลาจะหาก็หาไม่เจอ ไม่รู้วางไว้ตรงไหน ถ้าบ้านไม่มีอะไร มีทรัพย์สมบัติไม่กี่อย่างมันหาง่าย ถึงแม้ว่าจะวางโดยไม่รู้ตัวแต่เวลาหามันก็จะหาง่าย แต่เดี๋ยวนี้ของเยอะ บ้านก็รก ถึงเวลาจะหาก็ไม่รู้จะหาตรงไหนเพราะจำไม่ได้ว่าวางไว้ตรงไหน ที่นี้เวลาเราจะวางของเราก็กำหนดสักหน่อย ก่อนจะวางช้อน วางกระเป๋า วางนาฬิกาหรือว่าวางเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ก็อย่าเพิ่งทำไปโดยอัตโนมัติ กำหนดสักหน่อย ลองช้าลงสักนิด แล้วก็วาง มันจะเป็นวิธีการฝึกสติได้มากทีเดียวนอกเหนือจากการที่ช่วยทำให้ปัญหาในชีวิตประจำวันของเราน้อยลงจากการที่หาข้าวหาของไม่เจอ ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ เราจะหาของเราจะนึกได้ว่าวางไว้ที่ไหน แล้วก็เป็นการฝึกสติด้วย เพราะว่าเวลาเราวางแต่ละครั้งเราจะมีสติกับการวาง แล้ววันหนึ่งๆ เราวางของกี่ครั้ง ถ้านับดู มีเป็นร้อยครั้งวางปากกา วางนาฬิกา วางช้อน วางส้อม วางสบู่ แค่เราฝึกให้มีสติจากการวาง มันก็จะสร้างตัวรู้ขึ้นมา รู้...รู้...รู้ สร้างความรู้สึกตัวขึ้นมาได้เยอะ อันนี้เรียกว่าฝึกสติด้วยการวางของอย่างมีสติ วางให้เป็นที่
ส่วนใจก็ต้องฝึกให้รู้จักแบก ให้รู้จักยึด ให้รู้จักถืออย่างรู้ตัวสักหน่อย เวลาจะทำอะไรใจอยู่กับสิ่งนั้น อย่าเพิ่งไปถืออะไรมากมาย อย่าเพิ่งไปแบกอะไรมากมาย เดินที่ละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง อันนี้มันเป็นวิธีฝึกใจได้ดี ถ้าเราพิจารณาในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการฝึกใจ มันคือการทวนกระแสความเคยชิน ใจมันชอบคิดสารพัด เราก็ฝึกให้มันรู้จักวางบ้าง หยุดคิดบ้าง ใจมันชอบทำนู่นทำนี่ ก็ฝึกให้มันนิ่งๆ บ้าง ใจมันชอบแบกชอบยึดก็ฝึกให้มันวาง การเจริญสติ สาระหรือแก่นแท้คือการฝึกให้รู้จักวาง ทีแรกวางด้วยสติ คือที่ไปยึดที่ไปแบกเพราะไม่รู้ตัว พอมีสติปุ๊บมันวางเลย เช่น จะสังเกตได้ว่าเวลาเราเดินจงกรม สร้างจังหวะ ใจมันจะคิดสารพัดเลย คิดเป็นเรื่องเป็นราว อันนั้นเรียกว่ายึด จิตมันยึดเอาไว้ แล้วมันก็ปรุงต่อไป พอเรามีสติรู้ทันว่าเราเผลอคิดไป มันวางได้เอง แต่อีกเดี๋ยวเดียวมันอาจจะคิดต่อ เพราะว่าเรื่องที่เราคิดมันมีกำลัง มันมีแรงแต่สติเรายังอ่อน เหมือนรถที่กำลังวิ่งเร็วๆ เมื่อเราแตะเบรคครั้งเดียว มันจะชงักนิดเดียวแล้วมันก็ไปต่อ เราต้องแตะเบรกหลายครั้ง บางครั้งเรื่องที่เราคิดมันมีเรื่องอารมณ์ผูกพันเข้ามามากมันก็เลยคิดมีเรื่องมีราวในการคิดมาก มันเกิดโมเมนตัม สติอ่อนๆ จะยังเบรคมันไม่ได้ ทำได้แค่ชลอ แต่ถ้าเรามีสติรู้บ่อยๆ ก็จะทำให้มันหยุดลงได้ หรือว่าวางลง มันไม่ใช่เป็นการห้ามคิด มันเป็นแค่การวางความคิด อันนี้เป็นการฝึกให้วาง แรกๆ จะเป็นการวางด้วยสติ ต่อไปจะวางด้วยปัญญา คือปัญญาที่มองเห็นว่า มันไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่าง บางทีเราเสียดายของที่หาย เงินที่ถูกโกง แล้วเราก็ครุ่นคิดถึงมันอยู่นั่นแหละ แต่เมื่อไรที่เรามีปัญญามองเห็นว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยสักอย่าง
อย่างที่บทสวดเมื่อสักครู่ ว่า "เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน เป็นธรรมอันหมดจด" คือพอเห็นด้วยปัญญามันก็จะวางได้เอง ที่จริงจะเรียกว่าวางก็ไม่ได้ ก็คือมันจะไม่ยึด เพราะรู้ว่ายึดไม่ได้และไม่น่ายึดเลย มันก็ไม่ยึด เมื่อไม่ยึดก็ไม่มีความจำเป็นต้องวางแล้ว การเจริญสติ ไม่ว่าจะเป็นขั้นไหนก็ตาม ถ้าทำถูกมันจะทำให้ใจเราวาง จะมีนิสัยที่วางได้ง่าย ไม่ใช่วางตะพรึดตะพรือ พอถึงเวลาต้องคิด มันก็คิดได้ ถึงเวลาจะใคร่ครวญ จิตมันก็เหมือนกับว่าเอาสิ่งที่จะมาศึกษาพิจารณา เหมือนกับว่าเราถือของอยู่ในมือ เราก็ดูมัน เวลาเราจะดูอะไรสักอย่าง เช่น ดูของก็ถือไว้ในมือ แล้วเราก็หมุนไปรอบๆ ดูมันไปรอบๆ อันนี้แปลว่าเรากำลังถือมันเพื่อพิจารณา ถึงเวลาที่จะใช้จิตทำงานเพื่อพิจารณาอะไรมันก็พิจารณาได้ เวลาจะคิดเรื่องงานเรื่องการก็คิดได้ คิดได้รอบด้าน เหมือนกับเราดูของรอบด้าน แต่เมื่อถึงเวลาที่เราจะวางเช่น พอเสร็จงานแล้ว เราจะวางเรื่องการเรื่องงานแล้ว เราก็วางได้ มันคิดต่อเมื่อตั้งใจคิด และมันจะวางเมื่อเสร็จกิจ การภาวนา การเจริญสตินี้มันช่วยให้เรามีนิสัยแบบนี้ เป็นนิสัยใหม่ ไม่ใช่แบกตะพรึดตะพรือ จนวางไม่เป็น ถึงเวลาเราจะวางเราก็วางได้ นิสัยอย่างหนึ่งของจิตที่เป็นปัญหาคือว่าชอบมองไปข้างนอกตัว มีปัญหาอะไรก็มองไปข้างนอกอย่างเดียว จนกระทั่งลืมกลับเข้ามาดูข้างใน มีปัญหาอะไรเอะอะก็จะมองไปข้างนอก หรือโทษสิ่งนอก หลวงพ่อชาท่านพูดว่า คนเป็นร้อยเป็นพัน เวลาเอามือล้วงเข้าไปในหลุม ถ้าล้วงไม่ถึงก้นหลุมก็มักจะพูดว่าหลุมมันลึก ไม่เคยมีใครบอกเลยว่าแขนเรามันสั้น เรามักโทษว่าหลุมลึก ไม่เคยโทษว่าแขนเราสั้น อันนี้มันสะท้อนถึงวิธีคิดของคนหรือนิสัยของคนว่าชอบไปเพ่งข้างนอก โทษข้างนอก การปฏิบัติคือการกลับมาดูใจ กลับมาดูตัวเอง
มันมีเรื่องเล่า ซึ่งเป็นเกร็ดประวัติของท่านเว่ยหล่าง เมื่อปีที่แล้วก็ได้ไปที่วัดกวงเสี้ยวซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อมาก เมื่อประมาณหนึ่งพันห้าร้อยปีที่แล้วท่านเว่ยหล่างได้มาที่วัดนี้ ตอนนั้นท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ แต่ภูมิธรรมท่านเป็นที่ยอมรับของอาจารย์ ถึงกับยกตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ที่หกให้ แต่ท่านต้องหนีภัยก็มาที่กวางโจว และมาที่วัดกวงเสี้ยว ตอนที่มาถึงก็กำลังมีการแสดงธรรมโดยอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง คนก็แน่นศาลาจนล้นออกมาข้างนอก ระหว่างที่อาจารย์แสดงธรรม คนที่อยู่ข้างนอกเห็นธงมันไหว มันพริ้วก็มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ธงมันไหว อีกคนหนึ่งเถียงว่าไม่ใช่ธงไหว ลมมันไหวต่างหาก ทีแรกก็เถียงกันแค่สองคน ตอนหลังก็มีคนมาร่วมกันโต้เถียง แต่ละฝ่ายก็มีเหตุผล ฝ่ายหนึ่งบอกธงไหว อีกฝ่ายบอกลมไหว เถียงไปเถียงมา คนก็แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คราวนี้ไม่ใช่แค่โต้เถียงแล้ว มันเริ่มจะทะเลาะกันแล้ว สรุปไม่ได้สักที ว่าธงไหวหรือลมไหว จู่ๆ ก็มีเสียงดังจากท่านเว่ยหล่างว่า "ใจท่านต่างหากที่ไหว" คนกลุ่มนั้นก็ได้สติขึ้นมาทันที คือตอนนั้นลืมดูใจมัวแต่เถียงกันว่าธงไหวหรือลมไหว ลืมดูใจที่มันกระเพื่อม ใจที่มันเต็มไปด้วยความโกรธ มัวแต่เถียงกันว่าธงไหวหรือใจไหวจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่รู้ว่าใจไหว ไม่รู้ว่าใจกำลังมีโทสะ สิ่งที่ท่านเว่ยหล่างพูด มันเป็นการเตือนให้คนหันกลับมาดูใจ อย่าไปส่งจิตออกนอกจนกระทั่งลืมตัว ให้กลับมาดูใจ เป็นเพราะว่าเราไม่ค่อยดูใจ เราถึงมีความทุกข์ได้ง่าย แล้วพอมีความทุกข์ เราก็จะไปโทษสิ่งนอกตัว
เช่น ทำไมรถมันติดอย่างนี้ วันอาทิตย์ก็ยังจะติด มันโมโห แต่ถ้าเราฝึกใจเราดี เราก็จะกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเราโกรธทำไม เราโมโหทำไมเพราะรถติด ทำไมเราต้องหงุดหงิดด้วย หลายคนมักจะโกรธว่า เขาไม่เข้าใจเราเลย ไม่เข้าใจฉันเลย แล้วเราเคยถามตัวเองมั้ยว่าเราเข้าใจเขาหรือเปล่าหรือว่าเราเข้าใจตัวเองบ้างมั้ย ในขณะที่เราเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจเรา แล้วเราเข้าใจตัวเองบ้างรึเปล่า เราอยากให้คนอื่นรู้ใจเรา เขาไม่รู้ใจเราเลย ทำไมเขาทำแบบนี้ แล้วเราถามตัวเราเองบ้างมั้ยว่าเรารู้ใจตัวเราเองบ้างรึเปล่า เรามักจะบ่นว่า ทำไมเขาพูดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ได้ยังไง แต่เราเคยถามเคยท้วงตัวเราเองบ้างไหม ว่าทำไมเราต้องโกรธเพียงเพราะคำพูดแบบนี้ของเขา ถ้าเราเคยถามเคยท้วงตัวเราเองบ้างเราจะพบว่า ที่โกรธที่โมโห มันไม่ใช่ใคร แต่เป็นเพราะตัวเราเอง เป็นเพราะเราไม่ค่อยทักไม่ค่อยท้วงตัวเอง พอมีความทุกข์ก็ไปโทษคนนั้นคนนี้ ฝนตกก็โมโห ทำไมฝนตกไม่เป็นเวลา แต่ถ้าเราลองถามตัวเองว่าทำไมต้องไปทุกข์เพราะฝนตกไม่เป็นเวลาด้วย เราจะพบว่าหลายครั้งความทุกข์ของเราเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะทุกข์ เราเรียกร้องคนอื่นตลอดเวลา แต่เราไม่เคยเรียกร้องตัวเอง เราเรียกร้องคนอื่นว่าอย่าทำอย่างนั่นอย่างนี้ เพราะทำแล้วจะทุกข์ แต่เราไม่เคยเรียกร้องหรือทักท้วงตัวเองว่าทำไมเราถึงทุกข์เพราะเหตุนั้น ทำอย่างไรเราจะไม่ทุกข์เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น แล้วถ้าเรากลับมาดูใจของเราเรื่อยๆ เราจะพบว่า ความทุกข์ใจมันล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยหลักอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ใจเรา เสียงดังไม่ทำให้เราทุกข์ แต่เป็นเพราะใจเราต่างหาก แทนที่จะโมโห โวยวาย ว่าทำไมถึงเปิดเสียงดังแบบนี้ เราควรกลับมาถามตัวเองงว่าทำไมเราต้องทุกข์เพราะเสียงแบบนี้ด้วย แล้วเราจะพบว่าที่เราทุกข์ มันเพราะว่าใจของเรา ไม่ใช่เพราะเสียง ไม่มีใครขโมยความสุขไปจากใจเราได้ ถ้าใจเราไม่ร่วมมือ หรือไม่เปิดทาง อย่างที่บอกไว้แล้วว่าเมื่อไรที่เกิดการกระทบ หรือเกิดผัสสะ ไม่ว่าจะทางตาทางหู ไม่ว่ารูปหรือเสียง เมื่อเกิดการกระทบขึ้นแล้วมันหยุดอยู่ที่ตัวรู้ มันก็ไม่มีทางจะกระเทือนมาที่ใจของเราได้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เห็นก็รู้ว่าเห็น ได้ยินก็รู้ว่าได้ยิน มันก็จะหยุดอยู่ตรงแค่นั้น มันจะไม่พุ่งเข้ามากระแทกใจเรา แต่เพราะเราไม่มีตัวรู้ไปรับมือ เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา มันก็เลยกระแทก อันนี้เรียกว่า ใจเราเปิดช่องให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง เป็นสำนวนแปลว่าทำฝ่ายเดียวไม่เกิดผล หรือว่ามีเหตุปัจจัยเดียวย่อมไม่เกิดผล ถ้ามีมือข้างเดียวเสียงมันไม่ดังจนกว่าจะมีมือสองข้าง ถ้าฝ่ายหนึ่งด่า อีกฝ่ายหนึ่งเงียบ มันก็ไม่เกิดการทะเลาะกัน ต่อเมื่อฝ่ายหนึ่งด่าแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็เถียงด้วย มันก็เกิดการทะเลาะกันขึ้นมา ในขณะเดียวกันถ้าอีกฝ่ายหนึ่งด่าแล้วอีกฝ่ายหนึ่งเฉย ไม่ต่อล้อต่อเถียง มันก็ไม่ทุกข์ อย่างที่เคยเล่าที่หลวงพ่อชาเคยพูดว่า โยมอย่าไปคิดว่าเสียงมันรบกวนเรา แต่เราไปรบกวนเสียงต่างหาก ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อใจไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียง พอใจไปทะเลาะกับเสียง มันก็ทุกข์เลย ถ้าเสียงมาแต่ใจไม่ทะเลาะด้วยมันก็ไม่ทุกข์ใจ เพราะฉะนั้นเวลาทุกข์ใจอย่าไปโทษเสียงต้องไปโทษ ว่าเราไปทะเลาะกับมันทำไมคือใจเราไปทะเลาะกับเสียงทำไม เขาเรียกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง ถึงแม้ว่าเสียงเกี๊ยะมันจะดังแค่ไหนแต่ถ้าเราไม่เอาหูไปลองเกี๊ยะมันก็ไม่ทุกข์ อันนี้หลวงปู่บุดดาท่านสอนเอาไว้ ท่านเตือนลูกศิษย์ว่าเป็นเพราะเอาหูไปลองเกี๊ยะเอง ถึงจะทุกข์ เสียงไม่ใช่ปัญหาไม่ใช่ตัวการแต่เป็นเพราะใจต่างหากใจที่ไม่มีสติมันก็เลยเอาหูไปลองเกี๊ยะ ใจที่ไม่มีสติก็เลยไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียง เพราะฉะนั้นเราต้องลองทำใจให้นิ่งดู ให้ใจสงบดู แต่อย่างที่บอกไว้แล้วว่าปัญหาธรรมชาติของใจมันไม่ชอบอยู่เฉย มันชอบทำนู่นทำนี่ มีเสียงเกี๊ยะดังมันก็เลยเอาหูไปลองเกี๊ยะ มีเสียงดังก็ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงเสร็จแล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้น ดังนั้นถ้าเราเพียงแต่ทำให้ใจนิ่งมันก็จะไม่เกิดความทุกข์ใจ แต่ว่าธรรมชาติของใจมันก็ชอบไปโต้เถียง ชอบไปมีปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่สัมผัส ไม่ว่ารูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสธรรมารมณ์ เวลาปวดเวลาเมื่อยก็เหมือนกัน กายมันปวดมันเมื่อยก็ธรรมดาของมัน แต่ว่าใจไปสู้รบตบมือกับความเจ็บปวดมันก็เลยไม่ได้แค่ป่วยกายเท่านั้น ป่วยใจด้วย ใจก็ทุกข์ เกิดโทสะ ถ้าเพียงแต่เราฝึกใจให้ดูเฉยๆ กายจะป่วยอย่างไร ใจก็แค่ดูเฉยๆ ใจก็จะไม่ทุกข์
แต่ว่าใจมันไม่ยอมดูเฉยๆ ใจมันจะไปร่วมวงด้วย มันจะไปร่วมทุกข์ด้วย มันไปจมทุกข์ด้วย อันนี้ก็แปลก เวลามือเราถูกของแหลมหรือถูกไฟหรือถูกหนาม มันรีบถอนนิ้วถอนมือออกมาจากหนาม จากไฟ แต่ว่าใจ เวลามันเจอไฟโทสะ ไฟโกรธไฟพยาบาท มันจะคลุกเคล้าอยู่กับไฟนั่นแหละ มันจะโกรธเป็นวันเป็นคืน ทั้งๆ ที่โกรธเป็นทุกข์นะ แต่ว่ามันไม่ยอมที่จะดึงจิตออกมาจากความโกรธ ในขณะที่ร่างกายไม่ต้องสั่งมันทำทันที โดนไฟ โดนน้ำร้อน โดนหนาม ไม่ว่าจะโดนที่มือที่เท้า มันรีบถอนทันที แต่ใจมันกลับเข้าไปคลุกเคล้าด้วยความเมามันในอารมณ์ เสร็จแล้วก็โทษคนอื่นว่าทำไมพูดกับเราอย่างนั้น ทำไมทำกับเราอย่างนี้ แล้วเราก็ปล่อยใจให้ไปจมอยู่กับความทุกข์ความโศกความแค้นทำไม ทำแล้วมันได้อะไร ความดันก็ขึ้น นอนก็ไม่หลับกินข้าวก็ไม่อร่อย ฟังเพลงก็ไม่เพราะ ซึ่งปัญหานี้มันจะไม่เกิด ถ้าหากเรากลับมาดูใจของเรา เราก็จะเห็นว่าใจมันกำลังทำร้ายตัวเอง กำลังซ้ำเติมตัวเอง สติจะช่วยทำให้ใจถอนออกมาจากไฟโทสะ ถอนออกมาจากความเศร้า เคยสังเกตไหมว่าเวลาคนเศร้าจะชอบฟังแบบไหม เพลงสนุกไหม เพลงมาร์ชไหม เปล่านะ ชอบเพลงเศร้า ซึ่งมันก็จะยิ่งคลุกเคล้าอยู่กับความเศร้า จมอยู่หลุมความเศร้ามากยิ่งขึ้น ความโกรธก็เหมือนกัน ยิ่งโกรธก็จะยิ่งคิดถึงความไม่ดีของเขา เขาอาจจะทำไม่ดีกับเราไม่กี่อย่าง แถมผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ก็ยังเก็บเอามาคิดอยู่นั่นแหละ ความดีที่เขาทำมีมากมาย แต่เรามองไม่เห็น พอยิ่งคิดยิ่งคุ้ยก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งแค้น ยิ่งโกรธ เสร็จแล้วก็ไปโทษเขาว่า เป็นเพราะเขาที่ทำให้เราทุกข์
เพราะฉะนั้น การเจริญสติ การภาวนา คือการทวนกระแส กระแสนิสัยความเคยชินของจิต จิตมันชอบทำนู่นทำนี่ก็ให้มันอยู่นิ่งบ้าง มันชอบแบกก็ให้มันวางบ้าง มันชอบส่งจิตออกนอก ก็ให้มันกลับมาดูใจบ้าง การปฏิบัติธรรมคือการเปลี่ยนโหมดเลยก็ว่าได้ จากโหมดหรือจากความเคยชินเดิมๆ ที่เราใช้ชีวิตตามปกติ มันกลับ 180 องศาเลย ความสุขที่เกิดจากการมีการได้การเสพ พอมาปฏิบัติธรรมมันจะพาเราไปพบกับความสุขอีกแบบหนึ่งคือความสุขจากการสละ ไม่ใช่เกิดจากการได้การมีการสะสม แต่เกิดจากการสละ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณากันดีๆ การปฏิบัติธรรมมันคือการทวนกระแส การพลิก การเปลี่ยนโหมด เปลี่ยนความเคยชินของจิต ไปคนละทางกันเลย ซึ่งมันทำให้เกิดการเปลี่ยนชีวิตได้ พอพลิกจิตชีวิตก็เปลี่ยนได้ แต่ถ้าปฏิบัติแบบไม่ยอมพลิกจิตเลย ยังคงทำตามความเคยชินเดิมๆ แล้วจะหวังให้ชีวิตเปลี่ยนมันยาก มันต้องกล้า ต้องใจถึงที่จะพลิกเปลี่ยนทวนกระแส จิตมันชอบทำอะไรต้องพลิกไปอีกทาง มันยิ่งเจ้าคิดเจ้าแค้นก็ยิ่งต้องเมตตา ต้องให้อภัยให้มากขึ้น มันยิ่งคิดจะเอาก็ต้องยิ่งสละยิ่งต้องให้มากกว่าเดิม มันยิ่งแบกก็ยิ่งต้องปล่อยต้องวาง มันยิ่งชอบท่องเที่ยวก็ต้องยิ่งฝึกให้มันนิ่ง ยิ่งมันชอบหนีออกจากตัวเองมากเท่าไหร่ยิ่งต้องฝึกให้มันอยู่กับตัวเองให้มากๆ อย่าตามใจมัน เพราะที่จริงมันคือตามใจกิเลสนั่นแหละ แล้วชีวิตก็จะไม่เปลี่ยน จิตใจก็จะไม่พัฒนา