แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสักครู่เรา ได้สาธยายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าปฐมเทศนา คำสอนนี้เป็นคำสอนแรกสุดของพระพุทธเจ้า เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงธรรม ของพระพุทธเจ้าที่สืนเนื่องมาถึง 45 พรรษา แล้วก็จบลงด้วยคำสอนที่เรียกว่า ปัจฉิมโอวาท สองบทนี้หัวท้ายมีความสำคัญมาก และมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ปฐมเทศนานี้ยาว ยาวเป็นสิบๆ กว่าหน้า ส่วนปัจฉิมโอวาท มีความยาวแค่สองสามบรรทัดเอง มีข้อความว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด หรือบางทีก็แปลว่า ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด แต่ที่จริงแล้วปัจฉิมโอวาท ก็จะเรียกว่าเป็นการสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด รวมถึงคำสอนในปฐมเทศนา
ในปฐมเทศนาจะเน้นเรื่องความทุกข์ หรือ (ทุกขัง) แต่ในปัจฉิมโอวาทจะเน้นเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง ถ้าเราสังเกตุสักหน่อย พระพุทธเจ้าได้ปรารภถึงความไม่เที่ยง เพื่อเป็นเหตุผลให้เราทำความเพียร ด้วยความไม่ประมาท แต่ว่ามีคำสอนบางแห่ง ที่พระพุทธเจ้าพูดถึงความไม่เที่ยงเหมือนกัน แต่ว่าสรุปอีกแบบหนึ่ง ที่เด่นชัดก็คือคาถาบังสกุลตาย ที่เริ่มต้นด้วยว่า อนิจาวัตสังขารา ที่พวกเราไปงานศพ เราก็จะคุ้นเคยมากเวลาพระท่านบังสกุล เรียกว่าชักอนิจจา ข้อความก็ไม่ยาว พอๆ กับปัจฉิมโอวาท เนื้อหา ใจความก็คือว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเสี่อมเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ว่าตอนสรุปจะแตกต่างกับปัจฉิมโอวาท
สรุปก็คือว่า ท่านสรุปตอนท้ายว่า ความสงบระงับด้วยการปล่อยวางสังขาร เป็นสุขอย่างยิ่ง สังขารในที่นี้ก็คือความคิดปรุงแต่ง ก็คือท่านสอนให้ปล่อยวาง ปล่อยวางอย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับอะไร เพราะว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง บทสรุปนี้ไม่เหมือนกันปัจฉิมโอวาท กับคาถาบังสกุลตายก็ปรารภถึงความไม่เที่ยงเหมือนกัน ปัจฉิมโอวาทให้เร่งทำความเพียร ส่วนคาถาบังสกุลบอกให้ปล่อยวาง ถามว่าขัดแย้งไหม ก็ไม่ขัดแย้งเป็นการเสริมมากกว่า ปัจฉิมโอวาท เน้นการทำกิจ สรุปง่ายๆ ในการทำกิจคือการทำความเพียร กิจหน้าที่ใดที่ยังไม่ได้ทำ ทำไม่ครบให้รีบทำ เรียกรวมๆ ก็คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เพราะว่าเวลามีน้อย จะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ ให้เร่งทำความเพียร โดยตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ส่วนบังสกุลตายเน้นเรื่องการปล่อยวาง ในที่นี้คือการ ทำจิต ปล่อยวาง จิตไม่เกาะเกี่ยวไม่ยึดมั่นกับสิ่งใด ไม่ได้ขัดแย้งกันเพียงแต่ว่าเน้นกันคนละจุด คำสอนหนึ่งเน้นเรื่องการ ทำกิจ อีกคำสอนหนึ่งเน้นเรื่องการ ทำจิต 2 อย่างนี้ ควบคู่กัน
คำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจะสอนให้ทำกิจและทำจิตเสมอ ควรจะทำควบคู่กัน อย่างยกตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าสอนเรื่องพรหมวิหาร 4 อันนี้เป็นเรื่องของการทำจิต เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ว่าถ้าทำจิตแต่ไม่ทำกิจก็ไม่ถูกต้อง เช่น เอาแต่แผ่เมตตา แต่เห็นคนทุกข์ไม่ช่วย ไม่แบ่งปัน ไม่ให้ทาน ไม่เกื้อกูล อันนี้เห็นว่ายังปฏิบัติธรรมไม่ครบถ้วน จะครบถ้วนด้วย ต้องทำกิจด้วย ให้ทาน คำพูดไพเราะด้วยปิยวาจา ลงมือทำด้วยอัตถจริยา และสมานัตตตา อย่างนี้เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 เรียกรวมๆ ว่า แต่ว่าการสอนพุทธศาสนาของบ้านเรา บังคับเรื่องการทำจิตมากไป เช่นให้บำเพ็ญพรหมวิหาร 4 แต่ว่าตกหล่นเรื่อง สังคหวัตถุ 4 ไป ก็เลยเกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า ที่เขาพูดจาแบบเหมือนกับวิพากษ์วิจารณ์แบบว่า คนไทยหรือชาวพุทธไทยชอบแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง คือว่า ไม่ได้ลงไปช่วยหรือออกไปช่วยใครได้แต่แผ่เมตตา อันนี้ที่เขาวิจารณ์ก็ถูกบางส่วน เพราะว่าชาวพุทธไทยจำนวนมากก็เข้าใจแบบนั้น เพราะว่าเราสอนเรื่องพรหมวิหาร 4 ตกหล่นเรื่องสังคหวัตถุ 4 อันที่ถูกก็คือว่าต้องทำกิจและทำจิตให้พร้อมๆ กัน
การเจริญสติก็เหมือนกัน เวลาเจริญสติเราก็ทำกิจไป จะเป็นการทำงาน กินข้าว หั่นผัก ซักผ้า ขณะเดียวกันก็ทำจิตไปด้วยกันเราเจริญสติ เรามีสติ เรามีความรู้สึกตัวอยู่กับการทำ จิตใจไม่ล่องลอยวอกแวกไปไหน ให้ดึงกลับมาอยู่ที่การกระทำนั้น อันนี้เรียกว่า ทำกิจและทำจิตไปพร้อมๆ กัน มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าตัวทำกิจและไม่รู้ใจไปไหน อันนี้ก็ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม ความหมายมันก็คืออันนี้ คือว่าทำกิจด้วยทำจิตด้วย
พอพูดถึงเรื่องการทำจิตก็มีคำสอนอีกข้อหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ปรารถ คำสอนเรื่องการปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะอะไร ปล่อยวางเพราะว่าไม่มีอะไรยึดมั่นถือมั่นเป็นของเราได้ ก็คือเรื่องอนัตตา อันนี้เป็นคำสอนใหญ่อีกข้อหนึ่ง เรื่องอนัตตาที่ว่าไม่มีอะไรยึดมั่นเป็นของเราได้ แม้กระทั่งร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ทรัพย์สมบัติที่มีก็สมมุติว่าเป็นของเรา แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ของเรา เพราะว่าเราบังคับไม่ได้ ร่างกายนี้เราก็สั่งไม่ได้ สั่งให้ไม่แก่ สั่งให้ไม่ป่วยก็ทำไม่ได้ มันป่วยแล้วจะสั่งให้มันหายมันก็ไม่ได้ จะหายหรือไม่ก็อยู่ที่เราทำเหตุทำปัจจัยได้ถูกต้องหรือเปล่า และในบางกรณี ยังไงก็ไม่หายเพราะว่า มันเจ็บป่วยมาก เวลาปวดเวลาเมื่อย เราก็สั่งไม่ได้ว่าให้หายปวด หายเมื่อย อันนี้ เพราะฉะนั้นต้องปล่อยวาง ไม่ใช่ของเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา สมบัติบ้านเรือนไม่ใช่ของเรา รถก็ไม่ใช่ของเรา แต่ทีนี้คำสอนแบบนี้ทำให้คนเข้าใจผิดเยอะ แต่ว่า คนไม่ใช่เข้าใจผิดหรอก คนตีความผิดไปเอง ไปคิดว่าเป็นการปล่อยปะละเลย ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นมันป่วย มันเจ็บก็ไม่ต้องสนใจดูแล อันนี้เรียกว่า ปล่อยปะละเลย อันนี้เรียกว่าไม่ทำกิจ
ปล่อยวางที่พระพุทธเจ้าสอนปล่อยวางเป็นเรื่องการทำจิต จิตไม่เกาะเกี่ยวไม่ยึดมั่น แต่ทำกิจ ทำหน้าที่ยังทำอยู่ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราแต่ว่าต้องดูแลรักษา เพราะว่า มันเป็นเสมือนอุปกรณ์ที่จะช่วยทำให้เรา ทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล หรือว่าฝึกฝนพัฒนาจิตใจได้ ไม่ใช่ของเราก็จริง แต่เราต้องเอาใจใส่ดูแล อย่างนี้เรียกว่าเราต้องรับผิดชอบ ก็เหมือนกับว่าเราไปยึมโทรศัพท์ ยืมรถของเพื่อน มันไม่ใช่ของเราก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้อย่างไรก็ได้ เราจะใช้ปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้เพราะคิดว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใช่ไหม ถึงแม้ว่าไม่ใช่ของเรา เราก็ต้องดูแลรักษา รับผิดชอบ คนเข้าใจผิดว่าไม่ใช่ของเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นไม่ต้องรักษา ไม่ต้องดูแล สนใจ ลูกไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่ลูก บ้านไม่ใช่ของเราไม่ต้องดูแล เพราะถ้ามันรั่วมันพังก็ไม่ต้องซ่อม อันนี้ผิด เข้าใจว่าการปล่อยวางคือไม่ทำกิจ ไม่ทำหน้าที่
ปล่อยวางหมายถึงเป็นเรื่องการทำจิต แต่ ส่วนการทำกิจต้องทำต่อไป ไม่ใช่ว่าปล่อยปะละเลย การปล่อยปะละเลยแสดงว่าเป็นการไม่ทำหน้าที่ ร่างกายไม่ใช่ของเราแต่เราต้องรับผิดชอบดูแลรักษาเหมือนกับเราไปยืมโทรศัพท์ ยืมโทรทัศน์ ยืมรถยนต์ของใครมา มันไม่ใช่ของเราแต่เราต้องมีความรับผิดชอบต้องดูแล ฉันใดก็ฉันนั้น ร่างกายนี้ เราต้องรับผิดชอบด้วยใจที่ปล่อยวาง พูดง่ายๆ คือปล่อยวางอย่างรับผิดชอบ ดูมันเหมือนกับขัดแย้งแต่มันไปด้วยกัน การที่พระดูแลป่า ก็ไม่ใช่เพราะว่าป่าเป็นของเรา ไม่ใช่เพราะป่าเป็นของฉัน แต่ก็เพราะว่าป่านี้มีประโยชน์ เราต้องตอบแทนบุญคุณของป่า ไม่ใช่ของเราก็จริงแต่เราต้องดูแล ปกป้องให้เขาปลอดภัย เพราะว่าเขามีบุญคุณกับเรา เพราะว่าเขามีประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ แต่มีบางคนก็ไม่เข้าใจ
เคยมีชาวบ้านบางคนแอบเข้ามาตัดสมุนไพร ไม่รู้จากไหน มาตัดสมุนไพรบ้าง มาตัดไม้ในวัดบ้าง สมัยนั้นไม่มีกำแพงล้อมรอบวัด ก็มีคนมาบอก อาตมาก็บอกให้พระไปตามหา ไม่ใช่ไปจับเขา เพียงแต่ให้รู้ว่าพระดูแล เขาจะได้หนีไป ก็มีพระรูปหนึ่งท่านก็ไม่ได้สนใจจะไปช่วย ท่านบอกว่าปล่อยวางแล้ว คือในเมื่อปล่อยวางแล้วไม่ใช่ของเรา ก็เลยไม่ทำอะไร ไม่ใช่ ปล่อยวางเป็นเรื่องของการทำจิต การทำกิจก็ต้องทำด้วยตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็การที่เรารักษาป่าเพราะว่าป่าเป็นของเรา ไม่ใช่เหตุผลแค่นั้น เหตุผลมีอื่นๆ อีกมากมายอย่างที่บอกก็คือว่า เขามีบุญคุณกับเราเราต้องตอบแทนเขา ช่วยเขา รักษาเขา หรือเพราะว่ามันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เราก็ช่วยดูแลรักษา คนก็มักเข้าใจว่าเราจะทำอะไรกับสิ่งใดก็ต่อเมื่อมันเป็นของเรา อะไรที่ไม่ใช่ของเรามักปล่อยปะละเลย อันนี้เรียกว่าปฏิบัติผิด ไม่ทำกิจ
สมัยที่หลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เคยเล่าว่า มีคราหนึ่งก็เคยไป มีเกิดฝนตกหนัก มีพายุ กุฎิบางหลังโดนพายุพัด จนกระทั้งหลังคาแหว่งหายไปครึ่งหนึ่ง ท่านก็เดินตรวจแล้วก็เห็นพระที่เป็นเจ้าของกุฎิหรือที่อาศัยกุฎินั้น ก็ไม่ได้ทำอะไรกับกุฎิหลังนั้น หลังคาก็ไม่ซ่อม พอฝนตกฝนมันก็รั่ว ท่านก็หลบไปอีกทางหนึ่ง รั่วตรงไหนก็หลบไปอีกทางหนึ่ง หลวงพ่อชาท่านก็ถามว่าท่านทำอะไร ทำไมไม่ซ่อมหลังคา ท่านก็ตอบว่าผมกำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่นครับ กำลังฝึกปล่อยวางครับ หลวงพ่อชาท่านก็บอกว่า ปล่อยวางต้องใช้ปัญญา ไม่ใช่วางเฉยแบบวัวแบบควาย ท่านเข้าใจว่าปล่อยวางคือการไม่ทำอะไร ปล่อยวางเป็นเรื่องของการทำจิต ส่วนการทำกิจ ก็ต้องทำ ตามเหตุตามปัจจัย หลังคารั่วก็ต้องซ่อม ป่วยก็ต้องรักษา อันนี้ต้องเข้าใจเรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนา ท่านปล่อยวางไม่ได้แปลว่าปล่อยปะละเลย อะไรที่ยังรับผิดชอบ อะไรที่สมควรทำก็ต้องทำ
เรียกง่ายๆ ว่าปล่อยวางอย่างรับผิดชอบ หรือเรียกว่ารับผิดชอบด้วยใจปล่อยวาง มันดูเหมือนเป็นสิ่งตรงข้าม แต่ที่จริงมันไม่ใช่ เป็นการเสริมกัน เพราะว่า เรารับผิดชอบให้มันดี มันก็เกิดประโยชน์ และถ้าถึงเวลาที่มันต้องเสื่อม ต้องโทรม แก้ไขไม่ได้ ใจก็ไม่ทุกข์ เรื่องของการทำกิจและทำจิต มันก็รวมไปถึงเรื่องการทำงานด้วย เพราะว่า เวลาทำงานก็คือการทำหน้าที่ แต่ต้องรู้จักวางใจให้เป็น ทำกิจไปด้วยทำจิตไปด้วย ทำไปพร้อมๆ กัน และที่จริงแล้วเวลาทำกิจนั้นเราสามารถทำด้วยใจปล่อยวางได้ ถ้าเข้าใจตรงกันว่าปล่อยวางไม่ใช่การปล่อยปะละเลย ก็หมายความว่าเราก็สามารถทำกิจด้วยจิตที่ปล่อยวาง ถามว่าปล่อยวางอะไร บางคนอาจจะทำใจไม่ได้ ถึงขั้นปล่อยวางว่านี้ไม่ใช่งานของเรา แต่ว่าสามารถปล่อยวางอย่างหนึ่งได้คือปล่อยวางผลที่จะเกิดขึ้น หลายคนทำงานแล้วเครียดเพราะใจนึกถึงผลคิดถึงผล เมื่อไหร่จะเสร็จซักที เสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร คนจะคิดว่างานนี้เป็นอย่างไร มองว่างานนี้เป็นอย่างไร หรือบางทีก็นึกถึงงานที่ยังค้างคาอยู่อีกมากกมาย อันนี้เรียกว่าวางใจไม่ถูก ก็พลอยทำให้ไม่สามารถทำกิจได้ดี เพราะว่าเกิดอาการพะวง และก็เครียด
เวลาทำงานเราปล่อยวางได้ ปล่อยวางตามระดับความสามารถของเรา เริ่มจากใจที่อยู่กับปัจจุบัน ปล่อยวางอดีต ปล่อยวางอนาคต อย่าไปสนใจจุดหมายปลายทางหรือผลสำเร็จมากไป จริงอยู่เราทำงานเพื่อหวังผลสำเร็จ เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อหวังความสงบเย็น แต่ทันทีที่เราลงมือปฎิบัติเราต้องวาง วางความคาดหวัง วางผลสำเร็จที่คาดหวังลง เพราะว่าถ้าเราจดจ่ออยู่กับผล ใจเราไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจเราไปอยู่กับอนาคต แล้วมันก็ทำให้เราเกิดความทุกข์ในการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ทุกข์อย่างเดียว ไม่สำเร็จ ไม่สัมฤทธิ์ด้วย เพราะว่า พอใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ปฎิบัติเท่าไหร่สติมันก็ไม่เกิด เครียดก็เครียดแถมไม่ได้สติด้วย บางคนก็หน้ามืด บางคนแน่นหน้าอก บางคนก็ปวดไหล่ เพราะว่าเกร็งเพราะว่าเครียด เพราะจิตนี้ไปจดจ่อที่เป้าหมายหรือผลสำเร็จมากเกินไป ที่จริงอย่าว่าแต่การทำงานทางธรรม การทำงานทางโลกก็เหมือนกัน
มีนักปีนเขาคนหนึ่ง แกชื่อว่า บรูซ เบริคบี้ เป็นนักปีนเขา ที่โชกโชนมาก ผ่านการปีนเขาที่สูงที่สุดของทุกทวีปมาแล้ว รวมทั้งในเอเวอเรสต์ แล้วแกก็สรุปประสบการณ์การปีนเขาเป็นบทเรียนว่า แกบอกว่าทุกอย่างมันน่ากลัวกว่าความเป็นจริงเสมอเมื่อมองจากที่ไกล เวลาจะปีนเขาเอเวอร์เรส ถ้าใจไปจดจ่อกับจุดหมายคือยอดเขา จะท้อง่าย มันเป็นทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ทันจะปีน เพราะว่าเห็นความลำบาก ไหนจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะถึง แกพบว่าเทคนิคการปีนเขาที่ทำให้แกสำเร็จมานักต่อนักคือ สนใจแต่เพียงพื้นดินใต้ฝ่าเท้าแล้วเดินไปข้างหน้า ไม่ต้องสนใจยอดเขา ไม่ต้องสนใจจุดหมายปลายทาง ลืมมันไปก็ได้ สนใจแต่พื้นดินใต้ฝ่าเท้า หรือพื้นดินที่อยู่ข้างหน้า แล้วก็เดินไปทีละก้าว ทีละก้าว ถ้าเดินไม่หยุดและถูกทางถึงแน่ การปีนเขาที่ว่าเป็นเรื่องยาก แกทำเป็นเรื่องง่าย ซึ่งทำให้ปีนเขาได้ด้วยใจที่มีสุขสามารถทำสำเร็จได้ แต่ถ้าวางใจไม่เป็น หรือสายตาชะเง้อมองที่ยอดเขา มันก็จะทุกข์ การที่ใจวางจุดหมายปลายทางไว้ก่อน แล้วทำปัจจุบันให้เต็มที่ ก็คือทำความเพียร อันนี้ก็เรียกว่าทำงานด้วยใจปล่อยวาง และตรงนี้แหละมันทำให้ การทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียสเกิดขึ้นได้ ทำเต็มที่แบบไม่ซีเรียส เกิดขึ้นได้ มันไปด้วยกันได้ เพราะว่า การทำเต็มที่คือการทำกิจ ส่วนพอเราวางจิต ทำจิต เช่นการปล่อยวางจุดหมายปลายทาง ใจก็จะเครียดน้อยลง จิตมันก็เป็นสมาธิมากขึ้น
จางจื่อ ปราชญ์ชาวจีนแกพูดถึงนักยิงธนูคนหนึ่ง ซึ่งยิงธนูได้แม่นมาก แกมีหลักในการยิงธนู ก็คือว่า แกมีข้อเตือนใจในการยิงธนูก็คือว่า เวลายิงธนู ถ้าคิดถึงโล่ห์รางวัล อยากได้โล่ห์รางวัล ตามันก็จะพร่ามัว ถ้านึกถึง คิดว่าจะเอาทองเป็นรางวัลตาก็จะมืดบอด และก็จะยิงไม่ถูก มองเป้าเป็นสองเป้าไปเลย ต่อเมื่อลืมรางวัล ลืมผลสำเร็จ การยิงนั้นก็จะสำเร็จได้ ก็คือการยิงได้ถูกเป้า ก็เหมือนกับอีกคนหนึ่งที่เป็นช่างแกะสลักระฆัง แกก็แกะสลักระฆังได้สวยมากด้วยไม้ แกบอกว่าก่อนแกะสลักแกต้องทำสมาธิ ทำสมาธิได้ 3 วัน วันที่ 3 ก็จะลืม ลืมความสำเร็จ หรือความล้มเหลว นั่งสมาธิถึงวันที่ 5 ก็จะลืมคำชม คำวิจารณ์ และนั่งต่อไปสักพักจะลืมตัวตน จิตมันเป็นหนึ่งเดียวกับระฆังแล้วก็เริ่มต้นไปหาไม้ ก็จะเจอไม้ที่เหมาะกับการทำระฆัง อันนี้คือเคล็ดลับของช่างสมัยก่อน ก็คือว่า เขาจะวางใจ ปล่อยวางผล ปล่อยวางความสำเร็จ เขาจะปล่อยวางรางวัล หรือว่าสิ่งที่จะทำให้จิตใจวอกแวก อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำงานด้วยใจที่ปล่อยวาง ซึ่งมันก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะทำกัน
ถ้าเกิดว่าเรา จับหลักได้ การทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียสก็จะไม่ใช่เรื่องยาก เวลาปฏิบัติธรรมใหม่ๆ หลวงพ่อเทียนท่านก็จะสอน อาตมาก็ได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อเทียน ว่าให้ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ ทำเล่นๆ ความหมายคือว่าไม่ต้องหวังผล ผลจะเป็นอย่างไรไม่ต้องสนใจ แต่ให้ทำเต็มที่ ทำตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน อันนี้ก็ตรงกับที่ อันนี้ทำให้อาตมาเห็นว่าการทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียสมันเกิดขึ้นได้ และก็เป็นสิ่งที่ไม่เกินวิสัยที่พวกเราจะทำ คนส่วนใหญ่แทนที่จะทำเต็มที่และไม่ซีเรียส กลับกลายเป็นว่าทำไม่เต็มที่แต่ซีเรียส คือเครียดเสียก่อน คือเครียด กลุ้มใจ แต่ไม่ทำอะไรเลยเพราะว่าท้อ แต่ถ้าเราทำอีกแง่หนึ่งคือทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส ก็คือว่าทำเหตุให้ดี ประกอบเหตุเต็มที่ ใช้ความเพียรพยายามด้วยใจที่ปล่อยวางผล ผลมันจะเป็นอย่างไรอย่าเพิ่งไปสนใจ ทำให้เต็มที่แล้วกัน แล้วเราจะพบว่าความเครียดมันลดลง
เรื่องนี้ก็พระมหาชนกท่านก็เป็นแบบอย่าง เราคงจำได้พระมหาชนกฉากที่สำคัญคือฉากที่เรือสมุทรจมลงไป เรือแตก พระมหาชนกก็ลอยคลออยู่ในทะเล มีไม้อยู่แผ่นหนึ่ง ก็พยายามที่จะว่ายเข้าฝั่ง ว่ายผ่านไป 1 วันก็ยังไม่ถึงฝั่ง ผ่านไป 2 วันก็ยังไม่เห็นฝั่ง ก็ยังว่ายไม่หยุด จนถึงวันที่ 7 ร้อนถึงเทวดา เทวดาร้อนถึงอาส ต้องสั่งนางมณีเมฆขลาให้ลงมาช่วย เพราะนางมณีเมฆขลาจะช่วยคนที่เดือดร้อนในทะเล นางมณีเมฆขลาเมื่อเห็นพระมหาชนกก็แปลกใจ สงสัย ก่อนจะช่วยก็ถามก่อนว่าท่านว่ายไปทำไมในเมื่อมองไม่เห็นฝั่ง ทำไม่จึงว่ายไม่หยุด พระมหาชนกตอบว่าเพราะข้าพเจ้าเห็นประโยชน์ของความเพียรสิ ถึงแม้ว่าจะมองไม่เห็นฝั่ง ก็จะว่าย นางมณีเมฆขลาก็ถามต่อไปว่า เพียรไปทำไม ทำไปก็ตายเปล่าเพราะว่าไม่เห็นฝั่ง ฝั่งอยู่ไกลมาก พระมหาชนกก็ตอบว่า เมื่อทำความเพียรแม้จะตายก็ถือว่าไม่เป็นหนี้ไคร ก็ไม่เป็นหนี้ใคร ไม่เป็นหนี้เทวดา ไม่เป็นหนี้ใครทั้งสิ้น ไม่เป็นหนี้เทวดาและญาติมิตรก็ต่อว่าไม่ได้ ท่านก็บอกว่า เมื่อรู้วัตถุประสงค์ของสิ่งที่ทำ และทำความเพียรอย่างไม่หยุด จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ผลของความเพียรนั้นจะปรากฏแก่ตน นางมณีเมฆขลาก็เลยจำนน และช่วยพระมหาชนก อันนี้พระมหาชนกท่านทำความเพียรทั้งที่ไม่รู้เลยว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ท่านก็ทำ อันนี้ก็เรียกว่าท่านมุ่งการทำเหตุให้ดี ทำความเพียรโดยที่จิตปล่อยวางผล หมายความว่าสำเร็จไม่สำเร็จไม่เป็นไร อันก็จะทำ ไม่ใช่ว่าทำแบบไม่หวังผล เมื่อลงมือทำแล้วใจก็วางเรื่องผล ไม่ใช่ว่าสำเร็จจึงทำ ไม่สำเร็จก็ไม่ทำ อันนี้ไม่ใช่วิสัยชาวพุทธ วิสัยชาวพุทธเรามุ่งประกอบเหตุ ส่วนผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราลองทำอย่างนี้ดูการทำงานจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น งานก็สามารถสำเร็จได้ อย่างที่ท่านอาจารย์ท่านพรหมคุณาพรท่านพูดว่างานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข ได้ผลเพราะว่าทำเต็มที่ และเป็นสุขเพราะว่าใจไม่ซีเรียส
มีตัวอย่างหนึ่งที่ประทับใจมาก เป็นตัวอย่างของคุณป้าชาวเกาหลี ชื่ออะไร ชื่อ (ชา ซา ซุน) ตอนที่ เป็นข่าวตอนที่แกอายุ 68 ปี เป็นข่าวเมื่อปี 52 เป็นข่าวก็เพราะว่า เรื่องของเรื่องคือแกเป็นแม่ค้าขายผัก แต่ก่อนก็มีรถที่ว่าจ้างขนผักให้แก ตอนหลังแกต้องขับรถเอง แกจะขับรถแกต้องมีใบขับขี่ แกก็สอบใบขับขี่มาครั้งแล้วครั้งเล่ามา สอบภาคปฏิบัติได้ แต่สอบขอบเขียนไม่ได้ แกไม่เคยสอบถูกได้ 30 ข้อ หรือ 60 คะแนนได้เลย สอบไม่ถึง 30 ข้อนี้ เป็นข่าวเพราะว่า แกสอบมาแล้ว 775 ครั้ง เดือนกุมภา ปี 52 คนตกใจมากสอบ 775 ครั้งเลยเหรอ แบบนี้ในเมืองไทยเป็นไปไม่ได้เลยเพราะว่า ถ้าสอบ 3 ครั้งไม่ได้ก็ซื้อแล้ว หรือไม่ก็ใช้เส้น ใช่ไหม ไม่ซื้อก็เส้น มีสองอย่าง เกาหลีทำแบบนี้ไม่ได้ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่คุมสอบอยากจะช่วยใจจะขาดแต่ทำไม่ได้เพราะว่า เขาเข้มงวดมาก ซื่อตรงมาก คุณป้าแกไม่ละความพยายาม สอบแล้วสอบอีก จนกระทั้ง พฤจิกายน ปี 52 แกก็สอบได้ หลังจากที่สอบไปแล้ว 950 ครั้ง เกือบพันครั้ง แกบอกว่าสอบแทบทุกวันตั้งแต่ปี 48 สี่ปีที่แกสอบ อันนี้แสดงถึงความเพียร คนที่ทำความเพียรมาก ถ้าลองคิดอีกหน่อยว่าถ้าแกเป็นคนที่ยึดมั่นถือมั่นกับผลสำเร็จว่าต้องสอบให้ได้ สอบให้ได้ แกสอบให้ได้สัก 10 ครั้งก็เลิกละ คือท้อ เพราะว่า ยิ่งยึดมั่นถือมั่นกับความสำเร็จมากเท่าไหร่ พอไม่สำเร็จมันจะผิดหวังง่าย ผิดหวังมาก แล้วก็จะทำให้ท้อจนเลิกทำความเพียร การที่แกสอบขนาดนั้นได้แปลว่าแกขยันมาก และในอีกแง่หนึ่งแกปล่อยวางในผล หมายความว่าสอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สอบใหม่ สอบไม่ได้อีกก็ไม่เป็นไร สอบใหม่ แกต้องมีคำว่าไม่เป็นไร จึงทำให้แกสอบได้เกือบพันครั้ง คนที่ไม่เป็นไรแสดงว่าเป็นคนไม่ซีเรียสในผล ดูเหมือนว่ามันขัดแย้งกัน ไม่ซีเรียสแล้วสอบได้อย่างไรเป็นพันครั้ง แต่มองในแง่หนึ่งว่าการสอบแต่ละครั้งแกไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในผล เมื่อผลไม่สำเร็จไม่เป็นไร แกก็สอบทุกวัน เพราะแกเชื่อว่าทำความเพียรต้องสำเร็จจนได้ ในแง่นี้แกก็หวังผลแต่ในขณะที่สอบแกก็ปล่อยวาง ปล่อยวางในระดับหนึ่ง เราไม่ต้องเพียรอย่างคุณป้าคนนี้ก็ได้
ถ้าเราเอาตัวอย่างของแกมาใช้ในการทำงาน อาตมาเชื่อว่างานที่เราทำมันจะได้เป็นอย่างที่เจ้าคุณพรหมคุณาพรท่านได้บอกไว้ว่า งานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข เรามาใช้คำว่า ทำงานเต็มที่แต่ไม่ซีเรียสเอามาใช้กับการปฏิบัติธรรมก็ได้ เอามาใช้กับการทำงานก็ได้ เอามาใช้กับทางโลกและทางธรรมก็ได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราวางใจให้เป็น อยู่ที่ว่าเราเอามาให้ความสำคัญในการประกอบเหตุ ส่วนผลนั้นเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย อย่างที่ภาษิตจีนที่ว่า ความพยายามเป็นของมนุษย์ ส่วนความสำเร็จเป็นของฟ้า อันนี้พูดแบบจีน แบบเต๋า หรือแบบพุทธก็พูดว่า ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เราทำเหตุให้ดี ไม่ต้องสนใจผล เพราะว่าถ้าเราทำเหตุดี ทำเหตุถูก ผลย่อมแสดงตัวมาเอง เพราะฉะนั้นเวลาทำก็วางผลซะ ใจเราวางผล เอากำลังมาทุ่มกับการประกอบเหตุ อันนี้แหละจะช่วยให้การทำเต็มที่แบบไม่ซีเรียสเป็นจริงขึ้นมาได้