แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธคุณ 100 บท ที่เราได้สาธยายเมื่อสักครู่ เป็นคำสรรเสริญของอุบาสกท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล ท่านมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็เลยสรรเสริญจำแนกพุทธคุณถึง100 ประการ ซึ่งคงจะจำได้ยาก แต่ถ้าจะสรุปย่อๆ ก็เหลือแค่สอง คือ ปัญญาและกรุณา
ปัญญาคือความรู้ความเข้าใจในสัจธรรมโดยเฉพาะความจริงเกี่ยวกับกายและใจจนกระทั่งหมดทุกข์ไม่มีความเห็นแก่ตัวอีกต่อไป เพราะว่าอัตตาตัวตนที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่ามี มันก็สลายไป เมื่อไม่มีความเห็นแก่ตัวก็สามารถที่จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลสรรพสัตว์ได้อย่างไม่มีประมาณเกิดจิตใจอันกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต เพราะถ้ายังมีอัตตาตัวตน หรือมีความเชื่อว่ามีแล้วก็ยึดมั่น มันก็จะจำกัดจิตให้คับแคบเหมือนคุกที่ขังใจเอาไว้ พอไม่มีตัวนี้ ไม่มีกิเลสและไม่มีอวิชชาด้วย จิตก็แผ่กว้างไม่มีประมาณ เกิดความเมตตากรุณา ปัญญานี้ทำให้สงบเย็น ส่วนกรุณาทำให้สามารถบำเพ็ญประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง
อันนี้จะว่าไปก็เป็นอุดมคติของชาวพุทธ ชาวพุทธเราไม่ใช่เพียงแค่กราบไหว้พระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธา แต่ว่ายังพยายามพัฒนาตนหรือเจริญรอยตามพระพุทธเจ้า ก็คือมีทั้งปัญญาและกรุณา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเข้าถึงซึ่งความสงบเย็นและก็เป็นประโยชน์ อันนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสได้สรุปไว้ว่า ชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่ดีงามชีวิตที่ประเสริฐ ได้แก่ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สั้นๆ แต่ว่ากินความครอบคลุมถึงอุดมคติของชาวพุทธและสิ่งที่ควรบำเพ็ญปฏิบัติ การพัฒนาตนเพื่อให้จิตเกิดปัญญาเข้าถึงความสงบเย็นซึ่งสูงสุดคือนิพพาน พูดอีกอย่างก็คือเป็นการทำจิต ส่วนการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลด้วยความกรุณาไม่มีประมาณเป็นการทำกิจ พูดไปแล้วเมื่อวานว่าทางพุทธศาสนานี้ท่านสอนทั้งเรื่องการทำจิตและการทำกิจ อย่าเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องการทำจิตอย่างเดียวอันนั้นแคบไป
ชีวิตที่ดีหรือการบำเพ็ญตนที่ดีต้องมีทั้งสองอย่างทำจิตด้วย จุดหมายคือให้เกิดปัญญาพาจิตเข้าถึงความสงบเย็นและขณะเดียวกันก็บำเพ็ญตนเพื่อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ พูดแบบนี้อย่าไปเข้าใจว่าต้องสงบเย็นก่อนจึงจะเป็นประโยชน์ได้ หรือจะต้องมีปัญญาก่อนจึงจะบำเพ็ญกรุณาเพื่อเพื่อนมนุษย์ได้ มันทำไปด้วยกันได้ อย่าเข้าใจว่าต้องนิพพานก่อนจึงจะไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ บางทีก็มีคำพูดมีความเข้าใจว่าต้องบรรลุนิพพานก่อน ประโยชน์ตนสิ้นสุดแล้วจึงจะทำประโยชน์ท่านได้ ถ้าพูดแบบนี้หรือเข้าใจแบบนี้ก็เหมือนกับว่าต้องเรียนจบปริญญาเอกก่อนจึงจะไปสอนอนุบาลได้ เราก็รู้ใช่ไหมว่าคนสอนอนุบาลไม่จำเป็นต้องจบปริญญาเอกหรือจบอุดมศึกษาก่อน ไม่มีเรื่องต้องเรียนแล้วจึงมาสอนอนุบาล คนที่สอนอนุบาลอาจจะจบ ป.1 ก็ได้ จบ ป. 4 ก็สอนอนุบาลได้ เพราะว่าความรู้ที่มีก็มากพอที่จะสอนอนุบาล คนจบมัธยมก็สอนประถมได้ ไม่ใช่ว่าต้องจบปริญญาเอกก่อน
ฉันใดก็ฉันนั้น แม้เราจะยังไม่บรรลุนิพพาน ปัญญาเรายังไม่ถึงที่สุด แต่เราก็ยังสามารถเกื้อกูลผู้อื่นได้ขอให้มีกรุณาก็แล้วกัน กรุณานี้ก็มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ว่ามันอาจจะออกมาได้ไม่เต็มที่เพราะว่าความเห็นแก่ตัวหรือว่าความยึดมั่นในอัตตาตัวตนมันครอบเอาไว้ มันสกัดเอาไว้ แต่ยังมียังมีอยู่ กรุณา เราก็ใช้กรุณานี้บำเพ็ญ ที่จริงแล้วเราบำเพ็ญช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกรุณา ก็จะช่วยลดตัวตนด้วยช่วยละลายคลายความยึดมั่นในตัวตน คือความเห็นแก่ตัวซึ่งจะเปิดช่องให้ปัญญาเจริญงอกงามขึ้นในใจได้ มันสัมพันธ์กัน ปัญญาก็ช่วยให้เกิดกรุณาที่บริสุทธิ์และก็แผ่กว้าง ขณะเดียวกันกรุณาก็ช่วยในการทำให้จิตใจของเราประณีตสงบเกื้อกูลต่อการเกิดปัญญา
และขณะเดียวกันถ้าเราเกี่ยวข้องช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักคิด ก็ช่วยให้เราเกิดปัญญาได้เหมือนกัน เช่นเวลาไปช่วยผู้อื่นแล้วเห็นเขามีความทุกข์ มันก็สอนใจตัวเราเองว่าที่เขาทุกข์เพราะเขายึดมั่นถือมั่น เขาทุกข์เพราะเขาหลงเขาลืมตัว อันนี้มันก็สอนใจ สอนธรรมให้กับเรา ทำให้เราเกิดความเข้าใจในความทุกข์ของตัวเอง เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น อันนี้ก็นำไปสู่การพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นในใจของเราและเข้าถึงซึ่งความสงบเย็น กรุณาเป็นเรื่องของการมองออกไปข้างนอกไปช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนปัญญานี้เป็นเรื่องการมองกลับเข้ามาเพื่อฝึกฝนตนมันเกี่ยวกัน คนเราต้องมีทั้งสองมิติออกไปด้านหนึ่งออกไปข้างนอกไปช่วยเหลือผู้อื่น แต่อีกด้านหนึ่งก็กลับเข้ามาที่ตนเอง มันจะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง มีชายตาบอดในประเทศจีนเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ชายตาบอดคนนี้วันหนึ่งก็ไปเยี่ยมเพื่อนก็สนทนากันออกรสออกชาติจนกระทั่งค่ำ ได้เวลา ชายตาบอดก็ลาเพื่อนเพื่อจะกลับ ก่อนจะกลับเพื่อนก็ยื่นโคมไฟให้เป็นโคมกระดาษ ชายตาบอดบอกว่า มาให้ฉันทำไม เพราะว่าฉันไม่ต้องการ ตาบอดอยู่ในความมืดก็ไม่ต้องการโคมไฟ เพื่อนบอกว่าถึงคุณไม่ใช้โคมนี้ แต่ว่ามันก็มีประโยชน์สำหรับคนอื่น เพราะว่าถ้าคุณถือโคมไปตามถนนคนอื่นก็จะมองเห็นทาง แล้วเขาก็จะไม่เดินชนคุณ ชายตาบอดก็เลยถือโคมแล้วก็เดินกลับบ้าน เดินไปพักใหญ่ จู่ๆ ก็มีคนวิ่งมาชนตัวเองจนล้มลง ล้มลงทั้ง 2 คน ชายตาบอดโกรธมากและก็หลุดปากขึ้นมาว่า แกตาบอดหรือไงไม่เห็นหรือไงว่าฉันถือโคมอยู่ คนที่วิ่งมาชนก็ขอโทษขอโพยและบอกว่า โคมของท่านนั้นน่ะ มันดับไปนานแล้ว เรื่องนี้ก็จบเท่านี้
เราฟังแล้วเขาสอนอะไรเราไหม สอนอะไรเรารึเปล่า ถ้าพิจารณาให้ดีเขาให้แง่คิดกับเราว่า เวลาเราจะทำอะไร อย่านึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว ชายตาบอดไม่จำเป็นต้องใช้โคม แต่ว่าเพื่อนก็แนะนำให้ถือ ถือเพื่ออะไร เพื่อคนอื่น คนที่เขาไม่ตาบอดเขาต้องการความสว่าง การถือโคมก็เป็นการเอื้อเฟื้อคนเดินถนนด้วย ถึงแม้ตัวเองไม่ต้องการใช้โคมก็ตาม และประโยชน์นั้นก็ไม่ได้เกิดแก่คนอื่นอย่างเดียวก็เกิดกับตัวเองด้วย เพราะว่าเมื่อคนอื่นเขาเห็นทางเขาก็ไม่มาชนเรา ในขณะเดียวกันเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา เช่นมีคนวิ่งมาเดินชนชายตาบอดจนล้ม ชายตาบอดก็โทษคนอื่นทันทีว่าซุ่มซ่ามตาบอดมาเดินชนได้ยังไง ฉันถือโคมอยู่ แต่ว่าชายตาบอดไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเป็นเพราะโคมของตนดับไปแล้ว ชายตาบอดไปโทษคนอื่นจนไม่เห็นความผิดพลาดหรือความบกพร่องของตัวเอง คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น
คนส่วนใหญ่เวลาจะทำอะไรก็นึกถึงตัวเอง มองตัวเองเป็นหลัก ไม่สนใจคนอื่น แต่เวลาเกิดปัญหาก็จะโทษคนอื่นทันทีไม่ได้กลับมามองตนว่าเราบกพร่องผิดพลาดหรือเปล่า นี่เป็นวิสัยปุถุชนคนทั่วไป ในยามปกติก็นึกถึงแต่ประโยชน์ตนไม่นึกถึงประโยชน์ท่าน แต่ในยามที่เกิดปัญหาจิตก็จะเพ่งออกไปที่ข้างนอกไม่กลับมามองตน แต่สิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าคือในยามปกติก็นึกถึงคนอื่นช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น แต่เวลาเกิดปัญหาให้กลับมาดูตน เรื่องนี้บอกเป็นนัยว่าใครที่เวลามีปัญหาแล้วไม่กลับมามองตนก็คือคนตาบอด คนตาบอดจะไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง มีอะไรก็โทษคนอื่นไว้ก่อน แล้วถ้าเราไม่อยากเป็นคนตาบอดเราต้องทำตรงข้าม คือเวลาเกิดปัญหาขึ้นมาแทนที่จะโทษคนอื่นทันทีต้องกลับมาดูตัวเองว่าเราทำอะไรผิดพลาดไหม ปัญหาเกิดจากเราอยู่ที่เราหรือเปล่า แต่เวลาปกติไม่มีอะไร ราบรื่นให้มองไปถึงคนอื่นไว้ก่อน
จะว่าไปก็เป็นท่าทีของชาวพุทธก็คือนึกถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น แต่เวลามีปัญหาก็ให้กลับมามองตน มันเป็นการทวนกระแส ทวนกระแสจิตใจของคนทั่วไป คนทั่วไปนึกถึงตัวเองก่อน แต่เวลามีปัญหาก็ไปโทษคนอื่น ถ้าเราต้องการฝึกใจ อันหนึ่งที่เราต้องฝึกคือ เราต้องกลับมาต้องมองตนเวลาเกิดปัญหา ปัญหาที่ว่านี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการงานอาจรวมถึงเวลาเกิดความทุกข์ในจิตใจด้วย เพราะความทุกข์ก็คือปัญหาอย่างหนึ่ง เวลามีความทุกข์ใจคนทั่วไปมักโทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุ เสียงดังบ้างล่ะ แดดร้อนบ้างล่ะ เจ้านายไม่เป็นธรรมบ้างล่ะ แฟนไม่เข้าใจบ้าง เราจะโทษคนโน้นคนนี้ตลอดเวลา แต่ว่าไม่กลับมามองตน ทั้งที่คนเราเมื่อใดก็ตามมีความทุกข์ใจนั่นเป็นเพราะเราวางใจไม่ถูกเป็นสำคัญ ไม่มีใครขโมยความสุขไปจากเราได้ หากใจไม่ร่วมมือหรือว่าไม่เออออไปด้วย
อาจารย์ชยสาโรบอกว่า ไม่มีใครมาบังคับให้เราทุกข์ให้เราไม่พอใจได้ มีแต่เขามาชวนให้เราไม่พอใจ อยู่ที่ว่าเราจะรับคำชวนหรือเปล่า แต่ว่าถ้าเราทุกข์ก็แปลว่าเราไปรับคำชวน ถ้าเราไม่พอใจเราก็ไปรับคำชวนของเขา มันเป็นการเลือกของเราเอง เพราะฉะนั้น เราจะไปโทษใครไม่ได้ต้องโทษตัวเองว่าเราไปรับคำชวนเขาทำไม ไปรับคำเชิญเขาทำไม เขาไม่ได้บังคับเรา เสียงที่ดังเพียงแค่ชวนให้เราไม่พอใจ ชวนให้เราหงุดหงิด ไม่ได้บังคับ แต่ถ้าเราหงุดหงิดเราไม่พอใจคือเรารับคำชวนคำเชิญของเสียงอย่าโทษเสียงต้องโทษใจเรา ความทุกข์ใจของเราในเรื่องใดก็ตาม จะเป็นความโศก ความเศร้า ความพยาบาท ความอิจฉา ล้วนแต่มีสาเหตุหลักอยู่ที่ใจของเราเปิดช่องให้ความทุกข์มันเข้ามา หรือไปร่วมมือกับปัจจัยภายนอก ทำให้เกิดความทุกข์มาเล่นงานจิตใจหรือซ้ำเติมตัวเอง
พระพุทธเจ้าตรัสว่ามือที่ไม่มีแผลจับต้องยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย ยาพิษเป็นอันตรายแต่ถ้ามือไม่มีแผลถูกมันสัมผัสอย่างไรก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามือมีแผลเมื่อไหร่จับยาพิษก็เป็นอันตราย เพราะฉะนั้นยาพิษไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยสำคัญคือมือที่มีแผล ใจของเราถ้ามีแผล เจออะไรเข้ามากระทบก็ทุกข์ เจอเสียงมากระทบหูก็ทุกข์ กายไม่เป็นไรแต่ใจเป็นทุกข์ คำด่าคำว่าก็เหมือนกันมันทำอะไรใจเราไม่ได้ ถ้าใจเราไม่เปิดช่องให้ หรือถ้าเราไม่ร่วมมือกับเขาด้วย บ่อยครั้งที่เราร่วมมือกับคนที่ด่าเรา ร่วมมือด้วยการไปเอาคำด่าเขามาทิ่มแทงใจตัวเอง เขาด่าเพื่อให้เราทุกข์ เราก็ทุกข์สมใจเขา เพราะเรายอมร่วมมือเขา มีส่วนร่วม
หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก บอกว่า คนที่ด่าเราก็ลืมไปแล้วว่าเขาด่าเรา เราก็ทุกข์มันเหมือนกับว่าเขาทิ้งเศษอาหารลงพื้นแล้วเราก็ไปเก็บมาใส่ปากเรา หรือพูดให้หนักเหมือนเขาถ่มน้ำลายหรือเขาอ้วกลงพื้นแล้วเราก็ไปเก็บมาใส่ปากเราแล้วเราก็ท้องเสีย คำด่าก็เป็นแบบนั้นแหละ ถ้าเราไม่เก็บเอามาคิด ใจเราก็ไม่ทุกข์ใช่ไหม เวลาเราทุกข์เราต้องถามตัวเราเองว่า เราเอาคำด่าเขามาทิ่มแทงจิตใจทำไม เราต้องกลับมาโทษตัวเอง ใครทำอะไรเราไม่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้อย่างมากก็ทุกข์กาย หรือข้าวของเสียหาย แต่ใจไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์เมื่อไหร่ให้รู้ให้ตระหนักว่าว่า นั่นเป็นเพราะใจเราสำคัญ
มีพระทิเบตท่านหนึ่งเมื่อประมาณสัก 50-60 ปีที่แล้วท่านถูกทหารจีน พวกเราคงทราบว่าจีนเคยไปยึดครองทิเบตทุกวันนี้ก็ยังยึดครองอยู่ เมื่อประมาณเกือบ 60 ปีมาแล้วมีการจับพระทิเบตทรมานอาจเพื่อให้บอกขุมทรัพย์หรือเปลี่ยนศาสนา มีลามะท่านหนึ่งถูกทรมาน ขังคุกอยู่ประมาณเกือบ 20 ปี ตอนหลังท่านถูกปล่อยตัวมาและลี้ภัยมาอยู่ที่อินเดีย มีคนไปสัมภาษณ์ท่านว่าช่วงที่ท่านถูกจับที่ทิเบต มีช่วงไหนมีเหตุการณ์ไหนที่ย่ำแย่ มันเลวร้ายที่สุดสำหรับท่าน แทนที่จะตอบว่าตอนที่ถูกทรมาน ท่านกลับตอบว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุดคือช่วงที่อาตมามีความโกรธ โกรธต่อผู้ที่ทำร้ายอาตมา อันนี้น่าคิด แทนที่จะบอกว่าเลวร้ายที่สุดตอนที่ถูกทุบตี ถูกเอาไฟลน เปล่า ท่านบอกว่าตอนที่ท่านแย่ที่สุดคือตอนที่โกรธคนที่ทำกับท่านอย่างนั้น ทำไมถึงโกรธ ทำไมถึงบอกว่ามันเป็นช่วงที่แย่ เพราะว่าถ้าโกรธแล้วก็อาจจะทำให้ผิดศีลได้ อาจทำให้หลุดปากด่าออกไปหรือว่าทำร้ายเขา ซึ่งก็จะเป็นบาปเป็นวิบากกรรมแก่ตัวท่านเอง
อันนี้ท่านไม่ได้อธิบายแต่ความหมายเหตุผลมันอยู่ตรงที่ว่า ตอนที่โกรธเป็นช่วงแย่ที่สุดเพราะเป็นช่วงที่อาจทำบาปทำชั่วกับผู้อื่นได้ ซึ่งจะส่งผลเสียกับตัวเอง คนอื่นที่เขาทำร้ายเราเราไม่บาป แต่ถ้าเราไปทำร้ายเขามันบาป แต่คิดว่าประการที่สองที่สำคัญที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือว่า เวลาเขาทำร้ายท่านแล้วท่านไม่โกรธ เขาก็ได้แต่ทำร้ายร่างกายแต่ใจไม่ทุกข์ แต่เวลาที่ท่านโกรธความทุกข์ใจเกิดขึ้นกับท่านและนั่นคือสิ่งที่แย่ที่สุด ทุกข์กายไม่เป็นไรแต่ทุกข์ใจนี้มันแย่ อันนี้คิดว่าเราคงจะเห็นด้วยกับท่าน ทุกข์กายไม่เท่าไหร่แต่ทุกข์ใจมันแย่ ความทุกข์ของคนเราที่ทนได้ยากคือความทุกข์ใจ ทุกข์กายอย่างเดียวไม่เป็นไร ยังไหว
แต่คนส่วนใหญ่เวลาทุกข์กายไม่ได้ทุกข์กายอย่างเดียวทุกข์ใจไปด้วยคือ โกรธ โวยวาย ตีโพยตีพาย หรือไม่ก็ไปยึดเอาความป่วยของกายเป็นความปวดของใจ คนธรรมดาไม่แค่ป่วยกายแต่ปวดใจด้วย รู้สึกว่ากูปวด กูปวด นั่นคือทุกข์ใจ ความปวดของคนเราทุกครั้งไม่เคยมีแต่ปวดกายอย่างเดียวแต่ปวดใจด้วย แต่ชาวพุทธที่ปฏิบัติท่านสามารถจะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้กายป่วยก็ป่วยไป ทหารจีนจะทรมานท่านอย่างไรก็ปวดแต่กาย แต่บางครั้งท่านเผลอโกรธก็จะปวดใจตามไปด้วย อันนี้มันแย่กว่า แย่กว่าอาการที่ปวดกายอย่างเดียว อันนี้คือเหตุผลหนึ่งที่อาตมาพอจะเดาได้ว่า ทำไมท่านจึงบอกว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุด เพราะสามารถทำให้ท่านผิดศีลก็ได้ หรือทำให้ท่านมีความทุกข์ยิ่งกว่าเดิม คนเราทำอะไรถ้าหากว่า มันเหนื่อยแต่กายแต่ใจไม่เหนื่อยมันก็ทำงานได้เต็มที่
สังเกตไหมเวลาที่เราทำงานเหนื่อยกายอย่างไรแต่ใจไม่เหนื่อยแถมใจสนุก ทำเท่าไหร่เท่ากัน หลายคนพบความสุขแม้กายจะเหนื่อย นั่นเพราะว่าในภาวะนั้นตอนนั้นใจไม่ทุกข์ด้วย แต่คนบางคนไม่ทำอะไรเลยแต่ใจมันทุกข์ใจมันท้อ มันทรมานมาก มันทำได้แม้ว่ากายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย เราก็เคยผ่านเคยพบประสบการณ์แบบนี้ ถ้าเราสังเกตโดยเฉพาะเวลาเราไปช่วยเหลือใคร มันเหนื่อย อย่างไปปลูกป่าเหนื่อยแดดร้อน แต่ว่าใจไม่ทุกข์เลยใจมีแต่ความปิติ อันนี้ก็เพราะเราพบกับความพึงพอใจในสภาพเช่นนั้น กายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อยทำได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ว่าที่กายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อยเพราะมีเพื่อนไปร่วมทำด้วย
หลายคนเวลาไปเดินธรรมยาตราเดินกันเป็นร้อย บางช่วงบางวันเดินกันหนักมาก อย่างปีที่แล้วเดิน 25 กิโล แดดก็ร้อน แต่ว่าส่วนใหญ่ไม่บ่น ไม่บ่น เพราะว่าสนุก สนุกเดินไปก็บางทีก็กระเซ้าเย้าแหย่กันไป ที่จริงเขาให้เดินด้วยความเงียบแต่ก็อดไม่ได้ พอกระเซ้าเย้าแหย่แล้วก็เกิดเพลินขึ้นมา กายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อยแล้วก็ไม่เข็ด อยากจะมาเดินอีก อันนี้หลายคนก็พบว่าแม้กายเหนื่อยแต่ใจไม่ทุกข์ก็ทำได้ แต่นั่นเป็นเพราะอาศัยสิ่งแวดล้อมเช่นเพื่อน แต่ถึงแม้เราเดินคนเดียว ถ้าเราเดินเป็นมันก็เหนื่อยแต่กายแต่ใจไม่เหนื่อย เพราะว่าเรารู้จักกลับมาดูใจ ใจมันเหนื่อยเพราะมันบ่น มันมัวแต่จดจ้องถึงจุดหมายปลายทาง แล้วมันก็บ่นว่าเมื่อไหร่จะถึงๆ หรือว่าใจเหนื่อยเพราะว่าแดดเผา พอกายร้อนเผลอสติไม่มีสติจิตก็ไปปักตรึงอยู่ที่ความร้อนของกาย มันก็เลยทุกข์ใจไปด้วย หรือไม่ก็ไปปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ร้อนผู้เหนื่อย กายก็เลยไม่ได้เหนื่อยอย่างเดียว มันก็เหนื่อย กูผู้ร้อนตรงนี้ทำให้ใจเป็นทุกข์ ถ้าเรามีสติไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะอยู่ที่ไหน เจออะไรมันก็สงบได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องสงบเวลาอยู่ในวัดสงบแต่เฉพาะเวลาอยู่กุฏิ สงบเมื่อไม่มีเสียงดัง สงบเมื่อไม่ต้องทำงาน
เราสามารถจะสงบได้ทุกที่ สามารถสงบได้ในทุกการกระทำและในทุกสถานการณ์ เพราะว่ารู้จักวางใจถูก การที่เรารู้จักวางใจเป็นโดยเฉพาะมีสตินี่สำคัญมาก เวลาเราทำงานถ้าเราทำงานอย่างมีสติมันก็จะเหนื่อยแต่กายใจไม่เหนื่อย และทำให้ทำได้นานและทำได้ดีด้วย มีเพื่อนของอาตมาเป็นพระเซนชาวอเมริกัน เล่าถึงอาจารย์ของอาจารย์ของเขาซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นและไปสร้างวัดเซนแห่งแรกในอเมริกาที่ซานฟรานซิสโก ซื่อท่าน ชุนเรียว ซูซูกิ ชื่อนี้มีชื่อเสียงมากในหมู่นักปฏิบัติธรรมสายเซนในยุโรปในอเมริกา มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่สร้างวัดเซนในซานฟรานซิสโกใหม่ๆ ท่านต้องลงมือสร้างเอง แต่ว่าโชคดีมีลูกศิษย์มาช่วยสร้าง ลูกศิษย์เป็นหนุ่มสาวชาวอเมริกันอายุไม่ถึง 20 หรือ 20 ต้นๆ เป็นพวกฮิปปี้ พวกนี้เขาเริ่มปฏิเสธวัตถุนิยมและศาสนาคริสต์ หันมาสนใจศาสนาตะวันออกโดยเฉพาะเซน หนุ่มสาวมาช่วยสร้าง แบกอิฐแบกหินแบกไม้ทำไปได้ครึ่งวันก็เหนื่อย ส่วนอาจารย์ชุนเรียวยังทำอยู่เรื่อยๆ อาจารย์อายุ 80 แล้วตัวก็เล็กกว่าลูกศิษย์มากเลย แต่ทำได้ทั้งวัน ลูกศิษย์ก็แปลกใจ ก็เลยถามว่าอาจารย์ทำได้อย่างไร อาจารย์ก็ตอบว่าก็ผมพักตลอดเวลานี่ ลูกศิษย์นี่งงอาจารย์ทำตลอดเวลาแล้วบอกว่าพักได้อย่างไร กายน่ะทำแต่ใจไม่ได้ทำ กายแบกหินแต่ใจดูเฉยๆ กายแบกไม้แต่ใจไม่ได้แบกด้วย
ใจแค่ดูเฉยๆ ส่วนใหญ่นี่เวลากายแบกใจก็แบกด้วย เวลากายทุกข์ใจก็ทุกข์กับกายด้วย คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าไม่รู้จักมองตนไม่รู้จักกลับมาดูใจ ปล่อยให้ใจไปร่วมไปจมทุกข์กับกายด้วย กายแบกหินใจก็แบกความทุกข์ เมื่อไหร่จะเสร็จเมื่อไหร่จะเสร็จ หรือไม่ก็แบกความเหนื่อย ไปยึดความเหนื่อยของกายเป็นความเหนื่อยของกูไป วันนี้เพราะไม่มีสติเพราะว่าไม่รู้จักดูใจทั้งที่ถ้าหากว่าเราดูใจให้เป็นมันก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง คนเราบอกว่ารักตัวๆๆ พูดกันทุกคน ว่ารักตัวๆ แต่ว่าซ้ำเติมตัวเองหาความทุกข์มาใส่ใจโดยไม่รู้ตัว แม้แต่เวลาทำงานแทนที่จะเหนื่อยแค่อย่างเดียวคือเหนื่อยกายก็เหนื่อยใจด้วย เพราะว่าไม่รู้จักใช้ใจเป็นผู้ดู
เวลากายทำอะไรใจก็ดูเฉยๆ แค่นี้มันก็ช่วยทำให้ลดความทุกข์ไปได้เยอะ ใจไม่ชอบอยู่นิ่งๆ มันชอบทำโน่นทำนี่ ที่และทำหลายครั้งก็เป็นการหาทุกข์มาใส่ตัว ไปหยิบเอาความเหนื่อยของกายมาเป็นความเหนื่อยของใจ หรือไปเอาคำด่าของเขามาทิ่มแทงใจตัวเอง มันซ้ำเติมตัวเองแท้ๆ อย่างนี้เราเรียกว่ารักตัวเอง หรือเปล่า หรือว่ากำลังทำร้ายตัวเอง อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลปัญญาทรามย่อมทำกับตัวเองเหมือนศัตรู ความหมายคือแบบนี้แหละคือการทำร้ายตัวเอง แต่ถ้าคนที่มีปัญญาเขาจะไม่ทำร้ายตัวเอง มีอะไรมากระทบก็สักแต่ว่าสักแต่ว่า เวลากระทบกายแต่ว่าไม่สะเทือนมาถึงใจ ถึงเวลาทำงานกายทำแต่ใจอยู่เฉยๆ ซักผ้า กวาดบ้าน ขนหิน แบกไม้กายทำไปแต่ใจดูเฉยๆ สบายมั้ย แบบนี้เรียกว่าสามารถจะสงบเย็นได้เป็นประโยชน์ไม่ทำให้จิตใจว้าวุ่น ไม่คิดว่าคนอื่นไม่ช่วยงานการ มันทำให้ใจว้าวุ่นเพราะไม่รู้จักวางใจ เราสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ทำกิจที่เกื้อกูลได้โดยใจสงบ เพราะว่ากายทำแต่ใจเป็นผู้ดูเฉยๆ หรือแค่รู้เฉยๆ
นี่เป็นศิลปะของการทำงานและศิลปะในการดำเนินชีวิต เกื้อกูลทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าใจเป็นผู้ดูเฉยๆ มันก็สงบได้ ไปอยู่ที่ไหนแดดร้อนเสียงอึกทึก คนว้าวุ่น พลุกพล่านใจเราก็ส่งใจเข้าไปดูเฉยๆ ไม่ใช่ไปร่วมวงกับเขาด้วย นี่แหละที่ทำให้เกิดความสงบที่แท้จริง ความสงบที่แท้จริงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไร หลายๆ คนไปนึกถึงและรู้จักแต่ความสงบที่อาศัยสถานที่ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม ต้องไม่มีเสียงดังต้องไม่มีใครมายุ่งกับฉันและฉันก็จะไม่ยุ่งกับเขาด้วยใครเดือดร้อนอะไร มีงานของส่วนรวมฉันก็ไม่ทำ เพราะว่าเดี๋ยวทำให้ใจฉันไม่สงบ คนที่รู้จักความสงบแบบนี้ ที่อาตมาเรียกว่าความสงบเพราะไม่รู้หรือตัดการรับรู้ ทำให้อ่อนแอได้ง่าย เป็นคนเห็นแก่ตัวได้ง่ายเขาทำอะไรกันทั้งวัดทั้งชุมชนแต่ตนเองก็หลบ เป็นความอ่อนแอเป็นความไม่รู้ตัวและเห็นแก่ตัวแต่ก็สงบทั้งๆ ที่รู้สงบเพราะรู้เกิดอะไรขึ้นกับใจก็รู้ใจ กับเพื่อนก็รู้ ใจแฟบก็รู้ โกรธก็รู้ มันก็ทำให้กลับมาเป็นปกติ ทำงานใจก็เป็นผู้ดูเฉยๆ กายทำไปใจดู ต่อไป เวลาปวดกายใจก็ดูเฉยๆ ใจไม่ร่วมปวดกับเขาด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกเพราะว่าสักวันหนึ่งเราต้องเจ็บต้องป่วยและถ้าไม่ฝึกใจเลยมันไม่ใช่แต่ป่วยกายแต่มันป่วยใจด้วย กูปวดหัวกูปวดหัวกูปวดบางทีก็บอกว่าอยากตาย ๆๆทำไมถึต้องเป็นกู อันนี้เพราะว่าเราไม่รู้จักรักษาใจให้ดีปล่อยให้ใจไปร่วมทุกข์กับกายด้วย ปล่อยให้ใจปรุงตัวกูมาเป็นผู้ทุกข์ผู้ป่วย
แต่ถ้าเรารักษาใจดีใจมีสติและมีปัญญา กายป่วยอย่างไรใจก็แค่ดูเฉยๆ มันก็พอทนไหว และนี่แหละก็คือสิ่งที่เราควรทำและทำได้ อันนี้เพราะว่าเราทำจิต เราทำจิตควบคู่ไปกับการทำกิจด้วย โดยเฉพาะทำจิตที่เป็นการเจริญสติ ให้กลับมาดูใจของเราในยามทุกข์ก็กลับมาดูใจ ที่จริงในยามสุขก็เหมือนกัน ยามสุขก็ต้องกลับมาดูใจ อย่าไปเพลิน อย่าไปเคลิ้ม เพราะว่าถ้าไปเคลิ้มกับความสุขเวลาความสุขหายไปใจก็ทุกข์ เวลาเขากดไลค์เราดีใจปลื้มพอเขาไม่กดไลค์เท่านั้นเราก็ห่อเหี่ยว เขายังไม่ถึงกับคอมเมนต์อะไรเราก็ทุกข์ไปแล้ว ยิ่งดีใจในความสุขก็ยิ่งทุกข์เมื่อมีคำตำหนิหรือเมื่อเขาไม่สรรเสริญเรา ดังนั้นดูใจบ่อยๆ ทำอะไรก็กลับมาดูใจ อย่ามองข้าม โดยเฉพาะเวลาเกิดความทุกข์ใจก็กลับมาดูใจ สำรวจใจ สำรวจตัวเราว่า มีปัญหาตรงไหนหรือไม่ อย่าไปโทษคนอื่นตะพึดตะพือ