แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อประมาณ 70 ปีก่อนที่วัดบวรฯ มีสังฆราชพระองค์หนึ่งเป็นสังฆราชเจ้าเพราะท่านเป็นเจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นกันเองกับผู้คนแล้วก็ไม่ค่อยมีพิธีรีตองเท่าไหร่ วันหนึ่งค่ำแล้ว หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พวกเราคงรู้จักหลายคน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ก็ไปเยี่ยมสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ไปถึงก็ประมาณค่ำแล้ว ก็พอดีกับที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเพิ่งกลับมาจากหัวหิน ตรงหน้าประตูกุฏิ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ก็เห็นต้นไม้ต้นเล็กๆ อยู่ในกล่อง อยู่ในกระป๋องนม วางอยู่ข้างหน้า ขนาดประมาณสักแค่คืบ ก็คือกล้าไม้นั่นแหละ เห็นอยู่ต้นเดียว
ก็ถามสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า “ต้นอะไร?”
พระองค์ก็ตอบว่า “ต้นพะยอมว่ะ สมภารวัดหัวหินให้มา”
เท่านี้แหละหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ก็ร้องโอ้โฮ
ท่านก็ถามว่า “โอ้โฮทำไม?”
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ก็ตอบว่า “ต้นพะยอมต้องปลูก 40 ถึง 50 ปีมันถึงจะออกดอก แล้วก็สมเด็จก็แก่จะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว จะได้ทันเห็นดอกพะยอมเหรอ?”
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เป็นศิษย์ที่เคยบวชกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เขาเรียกว่า “สัทธิวิหาริก” ก็ไปมาหาสู่กับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นประจำก็เลยคุ้นเคย ก็เลยพูดได้ตรงๆ ว่าสมเด็จจะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว จะได้ทันเห็นดอกพะยอมเหรอ
ท่านก็ถามว่า “อะไร 50 ปีเชียวเหรอ?”
“ใช่สิ 50 ปี”
พอได้ยินอย่างนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็รีบบอกไวยาวัจกรเลย บอกทำไม บอกให้รีบเอาต้นพะยอมนี้ไปลงดิน ท่านบอกไวยาวัจกรว่า “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์บอกว่าปลูกตั้ง 50 ปีกว่าจะออกดอก เพราะฉะนั้นต้องรีบปลูกเลย รีบปลูกเสียแต่เดี๋ยวนี้ อย่าให้ช้า อย่าประมาท”
นี่เป็นเกร็ดตอนหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ที่ชวนให้คิดว่า คนบางคนถ้ารู้ว่าต้นไม้กว่าจะโต 50 ปี ก็จะยิ่งไม่ค่อยอยากปลูกเท่าไหร่ อีกตั้งนานกว่ามันจะออกดอก เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบปลูกเลย ปลูกพรุ่งนี้ ปลูกอาทิตย์หน้าก็ได้ แต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ท่านคิดไม่เหมือนคนอื่น ท่านบอกว่า “คือถ้ามันยิ่งให้ผลช้ายิ่งต้องรีบทำ ต้องรีบทำทันทีเพราะว่าผลมันก็จะได้เร็วขึ้นอีกหน่อย”
อะไรที่มันให้ผลช้ายิ่งต้องรีบทำไม่ใช่เป็นเหตุให้ผัดผ่อน คนส่วนใหญ่พอรู้ว่าผลมันจะเกิดขึ้นช้า ปฏิบัติธรรมกว่าจะให้ผลก็อีกนานหลายปี เรียนหนังสือกว่าจะเรียนจบก็อีกหลายปี 4 ปีบ้าง 6 ปีบ้าง เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบ บางทีก็เป็นโอกาสให้ผัดผ่อน เป็นข้ออ้าง แต่ว่าอะไรก็ตามที่มันยิ่งให้ผลช้าแล้วเราอยากจะให้มันเห็นผลเร็วๆ ก็ต้องรีบทำ อย่าผัดผ่อน คนทุกวันนี้มีข้ออ้างในการผัดผ่อนได้มากมาย เช้าไปบ้างหรือว่าสายไปบ้างก็ผัดผ่อน ไม่ทำ จะมาปฏิบัติธรรมก็ผัดผ่อนว่าเอาไว้ให้แก่ก่อน จะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ก็ผัดผ่อนไปก่อนว่าค่อยปีหน้าแล้วกัน ค่อยวันปีใหม่ก็แล้วกัน แล้วเชื่อเลยพอวันปีใหม่แล้วก็ผัดผ่อนไปอีก
มันมีคำอยู่ 2 คำที่ดูใกล้กันมากเลย คือคำว่า “เดี๋ยว” กับ “เดี๋ยวนี้” แต่ความหมายต่างกันไกลเลยแล้วผลก็ต่างกันด้วย คำว่า “เดี๋ยว” กับ “เดี๋ยวนี้” ตัวคำมันใกล้กัน เพียงแต่ว่าคำหลังมัน 2 พยางค์ “เดี๋ยวนี้” คำแรกพยางค์เดียว แต่ว่าความหมายหรือผลที่ตามมาต่างกันเยอะเลย ถ้าเราให้ความสำคัญกับคำว่า “เดี๋ยวนี้” เราก็จะทำทันที แต่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า “เดี๋ยว” เดี๋ยว เดี๋ยวอ่านหนังสือ เดี๋ยวทำการบ้าน เดี๋ยวไปปฏิบัติธรรม เดี๋ยวนั่งสมาธิ เดี๋ยวออกกำลังกาย ปรากฏว่าไม่ได้ทำเลย ผัดผ่อนไปเรื่อย คนทุกวันนี้ถ้าให้คำว่า “เดี๋ยว” มันมาเป็นใหญ่ ก็จะไม่ประสบความสุขความเจริญเท่าไหร่ และบางทีจะเกิดความเสียหายด้วย หลายคนก็อยากไปเยี่ยมแม่ มาทำงานที่กรุงเทพ แม่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมเท่าไหร่ จะไปทีไรก็ “เดี๋ยวๆ ” ปรากฏว่าสุดท้ายแม่ประสบอุบัติเหตุตาย เสียใจ “ไม่น่าเลย เราน่าจะไปเยี่ยมท่านตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว” มีแบบนี้เยอะ
มีคนหนึ่งไปเยี่ยมยายได้ข่าวว่ายายป่วยหนัก แกก็เดินทางจากกรุงเทพก็ไปถึงหน้าบ้านของยายประมาณค่ำ ทีแรกก็คิดว่าจะเดินตรงเข้าไปในบ้านเลย แต่เผอิญหน้าบ้านในซอยเป็นบ้านเพื่อน เพื่อนเก่าก็เลยไปเยี่ยมเพื่อน ไปคุยเล่นกับเพื่อน คุยเสร็จแล้วก็ติดลม ในใจก็นึกว่า “เอ๊ย เรามาเยี่ยมยาย” แต่อีกใจหนึ่งก็บอกว่า “เดี๋ยวน่า เดี๋ยว” ก็คุยกันเสร็จแล้วก็กินกัน กินเหล้ากันไปด้วย ยาวไปเลยจนถึงดึกเลย เสร็จแล้วค่อยเข้าไปในบ้านยาย ไปถึงก็ปรากฏว่าเขามีทำอะไรกัน ปรากฏว่ายายเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้ว 2 ชั่วโมงที่แล้วตัวเองยังสนุกสนาน ยังเฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนอยู่เลย ก็เสียใจว่าไม่ทันได้ดูใจยาย แค่ชั่วโมง 2 ชั่วโมงเท่านั้นแหละ ที่จริงก็มาถึงก่อนแล้วตั้งแต่หัวค่ำ แต่เพราะคำว่า “เดี๋ยว” คำว่า “เดี๋ยว” นี่แหละที่มันทำให้เสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ ผ่านไปหลายปีก็ยังเสียใจว่า ไม่ได้มาดูใจยาย ยายอุตส่าห์เลี้ยงเรามาตั้งแต่เล็ก พอเราโตแล้วเรามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพก็ไม่ได้ไปเยี่ยมยายเท่าไหร่ เรียนจบมหาวิทยาลัย ทำงาน ก็ไม่ได้ไปเยี่ยม ยายป่วยยังไม่ไปเยี่ยมเลย ยายจะตายก็อยากจะไปเยี่ยม สุดท้ายยายตายก็ไม่ได้ไปเยี่ยม ไม่ได้ไปดูใจ เพราะคำว่า “เดี๋ยว” นั่นแหละ
อีกรายหนึ่งป้าเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก ตอนหลังตัวก็ไปเรียนในเมือง จบมัธยมก็ไปเรียนพยาบาล จบพยาบาลก็ไม่ค่อยได้มีเวลากลับมาบ้าน ไม่ค่อยได้มีเวลามาหาป้าเท่าไหร่ เสร็จแล้ววันหนึ่งป้าก็ป่วย ป้าป่วยป้าก็มารักษาที่โรงพยาบาลที่ผู้หญิงคนนี้เป็นพยาบาล ก็ดีใจว่าจะได้ดูแลป้า แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยได้ดูหรอกเพราะว่าป้าอยู่ในห้องไอซียู ตัวเองอยู่คนละแผนก ป้าเข้าห้องไอซียูไปเป็นอาทิตย์แล้วยังไม่มีเวลาเยี่ยมเลย มารู้ตัวก็ผ่านไป 1 อาทิตย์แล้วก็เลยตั้งใจว่า “เดี๋ยวเสาร์อาทิตย์นี้หยุดงานจะไปเยี่ยมป้าสักหน่อย” ห้องไอซียูโรงพยาบาลเดียวกัน พอถึงเช้าวันศุกร์เพื่อนชวนไปพัทยา เจ้าตัวอยู่ราชบุรี ไม่เคยไปพัทยา ไม่เคยเห็นน้ำทะเลเลย ก็เลยคิดว่า “เที่ยวกับเพื่อนสักหน่อยเสาร์อาทิตย์ อาทิตย์กลับมาค่อยไปเยี่ยมป้า มีเวลา เดี๋ยวๆ ” ก็ไปเที่ยวพัทยาตั้งแต่เย็นวันศุกร์ กลับมาถึงโรงพยาบาลค่ำวันอาทิตย์ ก็เดินตรงไป เข้าโรงพยาบาลจะไปห้องไอซียู จะไปเยี่ยมป้า ก็เจอเพื่อนพยาบาลเดินสวนมา แล้วเพื่อนพยาบาลก็ถามว่า “ยังไม่รู้อีกเหรอ ป้าเสียชีวิตแล้ว เสียเมื่อกลางวันนี้เอง” พอแกรู้แกเข่าทรุดเลย เข่าทรุดเพราะว่าตั้งใจจะมาเยี่ยมป้า เดี๋ยวอยู่หลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ว่าจะไปเยี่ยมจริงๆ ปรากฏว่าสายไปแล้ว เสียใจ ป้าเลี้ยงดูตัวเองมาตั้งแต่เล็ก ตัวเองพอโตขึ้นก็ไม่เคยได้ไป อย่าว่าแต่ตอบแทนบุญคุณเลย แค่ไปเยี่ยมยังไม่ค่อยได้มีเวลาเลย ถึงเวลาป้าป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลของตัวเองแท้ๆ ก็ยังไม่มีเวลาไปเยี่ยม ที่จริงมีเวลาแต่ว่าไม่สนใจเพราะว่าผัดผ่อน
จนกระทั่งล่าสุดผัดผ่อนว่า “เดี๋ยว เที่ยวก่อน ไปเล่นน้ำทะเลพัทยาก่อน” ก็เลยกลายเป็นตราบาปในจิตใจ ผ่านไป 10 ปีก็ยังเสียใจว่าไม่ได้ตอบแทนบุญคุณของป้าหรือแม้แต่ดูใจป้าก็ยังไม่ได้ทำด้วยซ้ำ คำว่า “เดี๋ยว” มันทำให้เกิดความรู้สึกผิดติดค้างใจเป็น 10 ปี แต่เหตุอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเกิดเราให้ความสำคัญกับคำว่า “เดี๋ยวนี้ๆ ” ทำเดี๋ยวนี้เลยไม่ผัดผ่อน แล้วคำว่า “เดี๋ยว” กับ “เดี๋ยวนี้” ถึงแม้มันเป็นคำที่ใกล้กันมาก แต่ว่าความหมายและก็ผลที่ตามมาห่างกันเหมือนกับฟ้ากับเหวเลย “เดี๋ยวนี้” อาจจะเป็นคำ คำว่า “เดี๋ยวนี้” อาจจะยาวกว่ามัน 2 พยางค์ยาวกว่าคำว่า “เดี๋ยว” แต่ว่าผลที่ได้ตามมามันดีกว่ากันเยอะเลย
เรื่องของสมเด็จพระสังฆราชเจ้านี้ยังให้แง่คิดอีกอย่างหนึ่ง นอกจากการกระตุ้นเตือนไม่ให้เราประมาท ให้เรารีบทำ ไม่ผัดผ่อน ไม่เอาข้ออ้างว่าอีกนานกว่าจะได้ผลเพราะฉะนั้นผัดผ่อนไปก่อน ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อย่างที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์บอกจะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว แต่ท่านก็ยังให้ความสำคัญกับ “การปลูกต้นไม้”
มีหลายคนที่แก่แล้ว แต่ก็ยังปลูกอยู่ เด็กน้อยไปถามปู่ว่า
“ปลูกต้นไม้หลายๆ ต้น ปลูกแล้วปลูกอีก อีกกี่ปีกว่าต้นไม้มันจะโต กว่ามันจะให้ร่มเงา?”
ปู่ก็บอกว่า “20 ปี 30 ปี”
เด็กก็เลยถามปู่ว่า “แล้วปู่จะได้ใช้ประโยชน์เหรอ?”
“ไม่ได้ใช้หรอก ถึงตอนนั้นก็คงตายก่อน”
“อ้าว แล้วปลูกทำไม?”
ปู่ก็เลยบอกว่า “ปลูกเพื่อคนรุ่นหลัง ปลูกเพื่อคนรุ่นเธอนั่นแหละ”
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าดอกพะยอมกว่าจะออกดอกก็ 50 ปี แต่ว่าท่านก็ไม่ได้สนใจ เพราะว่าท่านไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อผู้อื่น อย่างพวกเราที่มาปลูก หลายคนก็คงจะไม่ได้เห็นผล มาปลูกแล้วอาจจะไม่ได้กลับมาที่พลูหลวงอีก แต่ว่าถ้าเราคิดถึงผู้อื่น มันก็ทำให้เรามีเหตุผลที่จะต้องปลูก แล้วก็อยากจะปลูก คนเราเวลาทำอะไรอย่าคิดถึงแต่ตัวเอง คิดถึงผู้อื่นด้วย คิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ประโยชน์เราก็เลยไม่ทำ อันนี้ไม่ถูก การรักษาสิ่งแวดล้อมเรารักษาไม่ใช่เพื่อตัวเราเท่านั้นแต่เพื่อผู้อื่นด้วย เหมือนกับคนรุ่นก่อนเขาก็ทำเพื่อเรา ถึงเวลานี้เรามา เราโต เราก็ทำเพื่อรุ่นต่อไป ให้คิดแบบนี้ซะบ้างอย่าคิดถึงแต่ตัวเราเอง ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ แม้จะทำให้เราสะดวกสบายน้อยลง แต่ว่ามันทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์เราก็ทำ ให้เราทำตั้งจิตแบบนี้ บางคนก็บอกว่าปลูกทำไม ฉันไม่ได้เป็นคนตัดต้นไม้ ไม่ได้ตัดทำลายป่า ถึงแม้ไม่ได้ทำ ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์กับผู้อื่นก็ควรทำ ให้เราน้อมจิตตั้งใจแบบนี้ในการปลูกป่าในวันนี้ มันถึงจะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจและมีความสุข