แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่วัดแห่งหนึ่ง เด็กวัดเห็นหลวงพี่ที่คุ้นเคยสีหน้าหมองเครียดเหมือนกับว่าไม่สบาย เด็กวัดก็เลยถามว่า “หลวงพี่ไม่สบายเหรอ” พระก็สั่นหน้าสั่นหัว พอซัก พระก็หลุดปากขึ้นมาว่า “แย่..ไม่ดีเลย” เด็กวัดก็เลยถามว่า “อะไรไม่ดี” พระก็ตอบว่า “พูดไม่ดี” เด็กวัดก็ถามต่อว่า “ไม่ดีอะไร” พระก็ตอบว่า “เทศน์เมื่อเช้าน่ะ เทศน์ไม่ค่อยดีเลย ตั้งใจเทศน์นะ แต่เทศน์ไม่ค่อยดี” เด็กวัดก็ถามต่อว่า “เทศน์เรื่องอะไร” พระก็ตอบว่า “เทศน์เรื่องการปล่อยวาง” ฟังแล้วได้แง่คิดอะไรไหม ที่จริงท่านไม่ได้เทศน์ไม่ดี แต่ท่านวางใจไม่ดีต่างหาก ท่านเทศน์เรื่องปล่อยวาง แต่ว่าใจท่านยังไม่ปล่อยไม่วาง เทศน์ไปผ่านไปตั้งหลายชั่วโมงแต่ก็ยังแบกยังยึดสิ่งที่ได้เทศน์ไป อันนี้เรียกว่า “ปัญหามันอยู่ที่วางใจ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พูดไม่ดี เทศน์ไม่ดี แต่อยู่ที่วางใจไม่ถูก” เทศน์เรื่องการปล่อยวาง แต่ใจยังยึดติดอยู่
ถ้าจะเทศน์เรื่องปล่อยวาง ใจต้องปล่อยวางจริง ๆ คือว่าผลมันจะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องเก็บมาคิด บ่อยครั้งที่ผู้คนก็เป็นอย่างนี้แหละ พูดเรื่องปล่อยวาง แต่ใจปล่อยวางไม่ได้ มีหลายคนที่ดูแลแม่ แม่ป่วยไม่ค่อยสบาย ที่แม่ป่วยแม่ไม่สบายเพราะว่าแม่มีความกลัดกลุ้ม กลุ้มใจเรื่องอดีต เรื่องครอบครัว ลูกก็บอกให้แม่ปล่อยวาง แต่ว่าลูกก็ไม่ปล่อยวาง เพราะลูกก็เครียด เครียดเรื่องแม่ เครียดที่แม่ไม่ปล่อยวาง มันขัดแย้งกัน ลูกบอกให้แม่ปล่อยวางแต่ว่าลูกกลับยึดติดถือมั่นเสียเอง คือปล่อยวางเรื่องแม่ไม่ได้ พูดไปก็ไม่มีน้ำหนักเพราะคนพูดไม่ปล่อยวาง เวลาทำอะไรก็ตาม เมื่อทำแล้วก็ต้องรู้จักปล่อย รู้จักวาง ไม่ได้แปลว่าเอามาคิดทบทวนไม่ได้ เราก็กลับมาทบทวนว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบ้าง อย่างนี้เรียกว่า “ใคร่ครวญ” เป็นการย้อนกลับมาพิจารณาด้วยสติด้วยปัญญา
แต่ส่วนใหญ่เวลานึกถึงอดีตก็จะคร่ำครวญมากกว่า คร่ำครวญกลุ้มใจ เพราะไปเกี่ยวข้องกับอดีตที่ไม่ถูกต้อง ก็คือว่าทำด้วยความหลง ทำด้วยความลืมตัว เรื่องอนาคตก็เหมือนกัน อนาคตนี้ก็ถ้าเราเกี่ยวข้องให้มันถูก มันก็ดี เช่น พิจารณาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อจะได้วางแผนการทำงาน 1 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า หรือว่าเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อย่างปีนี้เขาก็ตื่นเต้นที่ว่าจะเปิด ASEAN, AEC หรือว่ามันจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราก็ต้องมาดูว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร เรียกว่าเกี่ยวข้องกับอนาคตอย่างมีสติด้วยปัญญา แต่ว่าถ้าไม่ใช้สติและปัญญา ความหลงก็มาแทน พอนึกถึงอนาคตก็วิตกกังวล กลัว หลายคนเวลานึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า แทนที่จะเกิดความตื่นตัว เพื่อจะได้ทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายไม่พรุ่งนี้” พิจารณาถึงความตายเพื่อให้เร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ เสียแต่ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า สังเวฆะ หรือ สังเวชะ แปลว่าความตื่นตัว เป็นการกระตุ้นเตือนให้กระตือรือร้น ความหมายเดียวกับสังเวชนียสถาน
สังเวชนียสถาน คือสถานที่ทำให้เราเกิดความสังเวช แต่สังเวชในที่นี้ไม่ได้แปลว่าหดหู่ แต่ว่าเกิดความกระตือรือร้น เกิดความตั้งใจที่จะทำความเพียรเพื่อการพ้นทุกข์ แต่ถ้าพิจารณาความตายไม่ถูกต้องก็จะเกิดความหวาดกลัว เศร้าหมอง กังวล หรือหดหู่ อย่างนี้เรียกว่าทำไม่ถูก ก็ได้พูดไปแล้วเรื่องการปล่อยวาง เป็นเรื่องของการทำใจ ไม่ได้หมายถึงการปล่อยปละละเลย หรือว่าการวางเฉย ปล่อยวางคือการทำใจไม่ให้ยึดติด ไม่ให้แบก ความทุกข์ของคนเรา ทุกข์กายก็เรื่องนึง แต่ทุกข์ใจนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องการแบกการยึด ไปยึดเรื่องที่ผ่านไปแล้วด้วยความอาลัยอาวรณ์ หรือไปแบกสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ทำให้เกิดความหนักอกหนักใจ ถ้าวางได้ใจก็เป็นสุข ใจก็โปร่งเบา การยึดของคนเราส่วนใหญ่เพราะไม่มีสติ เวลาเราไปยึดเอาอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ หรือที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา อารมณ์ในที่นี้หมายถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมถึง ธรรมารมณ์ด้วย เห็นภาพที่ไม่น่าดูก็ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็น ก็เก็บเอามา บางคนเห็นภาพสยดสยอง ก็เกิดความหวาดกลัวไม่ยอมสลัดไปจากใจก็เก็บเอามาคิดกลางคืนก็เลยนอนไม่หลับ หรือว่าได้ยินเสียง เสียงต่อว่าด่าทอ ก็เก็บเอามาคิด ทั้ง ๆ ที่มันทิ่มแทงใจ เผาลนจิตใจ เสียงนั้นอาจไม่ใช่เสียงที่เข้าทางหู แต่มันอาจมาทางตา ข้อความที่อ่านทาง Facebook หรือทาง Line บางคนจำได้แม่นเลย ว่าเขาด่าว่าอะไร เขียนว่าอะไร ทั้ง ๆ ที่มันไม่น่าจำเลยเพราะจำแล้วมันทำให้ทุกข์ ทำให้ร้อน ทำให้เจ็บปวดแล้วจำมันทำไม อันนี้เรียกว่ายึดเพราะลืมตัว ก็คือไม่มีสติ รูป รส กลิ่น เสียง ที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ
เมื่อมันทุกข์แล้วก็น่าจะวาง แต่ว่ามันไม่ยอมวางเพราะว่าลืมตัว อันนี้รวมถึงเวลาเกิดอารมณ์ขึ้นมาภายในใจ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความแค้น มันเกิดขึ้นทีไรมันก็เผาใจ บีบคั้นใจ กรีดแทงใจ แต่ทำไมไม่วาง ทำไมไม่สลัดออกไปจากใจก็เพราะลืมตัว มันก็เลยทำให้ความทุกข์มันไม่ยอมจางคลายไปจากใจ ความทุกข์ใจมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าอารมณ์ใด แต่ว่าที่มันเกิดขึ้นแล้วยืดเยื้อเป็นวัน เป็นคืน เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ก็เพราะเราไปต่ออายุให้มัน โดยการคิดถึงมันบ่อย ๆ คิดบ่อย ๆ คิดซ้ำคิดซาก ซึ่งอันนี้ก็เรียกว่าเป็นความยึดติดแบบหนึ่ง อารมณ์ที่เศร้าหมอง หรือว่าอกุศล เกิดขึ้นกับใจทีไรก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ แต่ทำไมเราถึงประคบประหงมมันนัก ทำไมเราถึงแบกมันเอาไว้ เลี้ยงมันเหมือนเลี้ยงไฟให้เผาจิตเผาใจอยู่เรื่อย ๆ อันนี้เพราะลืมตัว
คนเราเวลาโกรธนี่ไม่รู้ตัวนะ เวลาโกรธไม่รู้ตัวหรอก ไม่ใช่ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป ไม่รู้ตัวว่าโกรธด้วยซ้ำ คนที่เครียดก็ไม่รู้ตัวว่าเครียด มารู้ตัวอีกที มาผิดสังเกตตอนที่มันเริ่มแน่นหน้าอก ปวดหัว นักปฏิบัติหลายคนเดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือปฏิบัติด้วยความเครียด หน้านิ่วคิ้วขมวดก็ไม่รู้ตัว มาเริ่มเอะใจตอนที่มันแน่นหน้าอก มันปวดหัว บางคนก็ปวดหลัง ที่จริงถ้ารู้ว่าตัวเครียดเนี่ย อาการเหล่านี้มันก็ไม่เกิดขึ้นหรอก เมื่อพอรู้ว่าเครียดก็จะผ่อนคลาย แต่เพราะว่าปล่อยให้มันเครียดอยู่นานจากความเครียดที่ใจก็เลยเป็นความเครียดที่กาย อันนี้เป็นเครื่องชี้ว่าตอนที่เครียดนี่ไม่รู้ตัว บางทีมีคนทักว่าหน้าตาเธอเครียด ยังเถียงยังแย้งว่าฉันไม่เครียด เพื่อนก็ยืนยันว่าเธอเครียด ฉันก็บอกว่าฉันไม่เครียด บางทีเพื่อนก็บอกว่านี่เธอโกรธแล้วนะ ยังเถียงว่ากูไม่โกรธ ไม่ได้โกรธ แต่มันบอกอยู่ในตัว ฟ้องอยู่ในตัวแล้วว่าโกรธอยู่ แล้วคนเวลาโกรธเนี่ยไม่รู้ตัว เวลาเศร้าก็ไม่รู้ตัว จึงปล่อยใจจมดิ่งลงไปในความเศร้า ในความโกรธ เพื่อนมาชวนไปเที่ยวก็ไม่ยอมไป บางทีดุเพื่อนอีกว่ามายุ่งอะไรกับฉัน เพราะตอนนั้นจิตกำลังจมดิ่งกับอารมณ์เศร้า อารมณ์โกรธ อารมณ์ผิดหวัง
มีเพื่อนคนนึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สมัยนั้นก็ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต สื่อสารกันทางจดหมาย ได้จดหมายจากเพื่อนผู้ชาย เธอก็รักเขาแต่เขาไม่มีใจให้ ก็แค่คบเป็นเพื่อน อ่านจดหมายแล้วเธอก็เสียใจนั่งซึมอยู่ที่บ้าน พอดีมีเพื่อนกลุ่มนึงมาที่บ้านมาถึงก็เรียกที่หน้าประตูและกดกริ่งด้วยชวนไปเที่ยว พอเธอได้ยินเพื่อนเรียก เธอฉุนขึ้นมาในใจเลย ในใจก็นึกว่าเวลาจะสุขก็ไม่สมหวัง เวลาจะทุกข์ก็ยังมีคนมาขัดขวางอีก อยากจะทุกข์ต่อไป อยากจะเศร้าต่อไป คนที่มีสติคนที่มีความรู้สึกตัวเขาไม่ทำอย่างนี้นะ แต่ตอนนั้นไม่มีสติลืมตัวไป จิตมันเลยยิ่งยึด ยึดในความเศร้าอยากจะรักษาเอาไว้ หวงแหนความเศร้า เวลาเปิดเพลงก็ไม่เปิดเพลงสนุกเพลงร็อค แต่เปิดเพลงเศร้า อันนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นโดยไม่รู้ตัว คือไม่มีสติ แต่พอมีสติมันวางเลย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใด ความโศก ความเศร้า ความโกรธ คนที่โกรธ ๆ อยากจะทำร้าย อาจกำลังจะทำร้ายเพื่อน ทำร้ายลูก เตรียมจะฟาดอยู่แล้ว พอมีคนมาพูดเตือน ได้สติเลย มันหายโกรธ มือที่กำลังจะฟาดก็วางเลย ชะงักเลย หรือถ้าจะเอาข้าวของปานี่ก็หยุดเลย พอมีความรู้ตัวปุ๊บ มันวางเลยความโกรธ อารมณ์ที่เกาะกุมใจ หรือว่าที่ปล่อยใจเข้าไปจมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น สติช่วยทำให้ปล่อยวาง ปล่อยวางอารมณ์ที่บีบคั้น เผาลนจิตใจ หรือพูดง่าย ๆ ว่าอารมณ์ที่สร้างความทุกข์ให้
แต่คนเราไม่ได้ยึดติดแต่สิ่งที่ให้ความทุกข์หรือสร้างทุกข์กับเรา ที่เห็นเด่นชัดกว่านั้นคือ การไปยึดติดกับสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ให้สุขเวทนา อันนี้ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ทำให้สบายเนื้อสบายตัว หรือสินค้าแบรนด์เนมที่ทำให้รู้สึกปลื้ม ที่ทำให้รู้สึกเท่ อันนี้มันให้ สุขเวทนา ทั้งกายและใจ และธรรมดาที่คนเราจะยึดมันเอาไว้รวมทั้งความสุขหรือว่าสุขเวทนาที่เกิดขึ้น ความพอใจ ความยินดี ความปิติ รวมทั้งความสงบ พอเกิดขึ้นแล้วก็จะยึด จิตมันจะคว้าหมับเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว
ปัญหาก็คือสิ่งที่เรายึด มันไม่เที่ยง มันเป็นของชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันก็ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงกับเรา เสพไปเสพไปนาน ๆ ก็เบื่อ อาหารที่อร่อย ถ้าเรากินอาหารจานนั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกินทุกมื้อ จะเป็นไก่ย่างส้มตำ จะเป็นหูฉลามก็ดี หรือว่าอาหารในภัตตาคารหรู 3 ดาว 5 ดาวมิชลิน ตอนนี้คนไทยก็ตามล่าอาหาร 3 ดาวมิชลิน ราคาแพงมาก ก็เริ่มมาเปิดภัตตาคารที่เมืองไทย กินช้อนแรกหรือว่าจานแรกก็อร่อย แต่ถ้ากินไปเรื่อย ๆ กินทุกมื้อ ๆ เกิดอะไรขึ้น มันก็เริ่มเบื่อ ๆ ถ้ากินต่อไปเรื่อย ๆ มันก็เริ่มเอียน แล้วถ้ากินต่อไปก็อาจอาเจียนได้ อันนี้แสดงว่ามันมีความไม่อร่อยแฝงอยู่ ความไม่อร่อยมันก็แทรกอยู่ในความอร่อย แล้วความไม่อร่อยก็จะแสดงตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราเสพบ่อย ๆ เพลงก็เหมือนกัน เพลงที่ฟังเพราะหรือฟังสนุกสนาน ฟังทีแรกก็สนุกสนานไพเราะ แต่ฟังซัก 10 เที่ยว หรือ 100 เที่ยว มันก็เริ่มจะไม่ไพเราะแล้ว ก็จะเริ่มน่าเบื่อแล้ว ยิ่งเสื้อผ้ายิ่งชัดใหญ่ เสื้อผ้าราคาแพง หลายคนซื้อมาใส่แค่ครั้งสองครั้งก็เบื่อแล้ว หรือบางทีซื้อมาแล้วยังไม่ทันใส่แขวนไว้ในตู้เห็นบ่อย ๆ เห็นบ่อย ๆ มันก็เบื่อไปเอง เสน่ห์ของมันก็จืดจางไป ที่จริงที่มันชัดกว่านั้นก็คือท่า อิริยาบถของเรา อิริยาบถใดที่คิดว่ามันสบาย ลองอยู่ในอิริยาบถนั้นนาน ๆ เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ รู้สึกว่ามันเมื่อยเราคิดว่าถ้านั่งยืดขาหรือว่านั่งเก้าอี้แล้วจะสบาย แต่พอนั่งไปได้สักชั่วโมงหนึ่งก็เริ่มรู้สึกเมื่อยแล้วคราวนี้ก็ต้องนั่งท่าใหม่ เช่น พิงเสา หรือไขว่ห้าง แต่ก็สบายได้ประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็เมื่อยแล้ว สุดท้ายก็นอนดีกว่า แต่นอนทีแรกก็สบาย แต่พอนอนไปสักพัก 2-3 ชั่วโมง ก็จะเริ่มเมื่อย เริ่มมีการพลิกตัว ที่จริงอาจจะพลิกตัวก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้ ที่พลิกตัวนี้เพราะอะไร เพราะมันเมื่อย แต่บางทีเราไม่สังเกตว่าเราพลิกตัวโดยไม่รู้ตัว มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าความสบายมันก็มีความไม่สบายซ่อนอยู่ ความไม่สบายพอเวลาผ่านไปนาน ๆ มันก็แสดงตัวชัดเจนจนกระทั่งทนไม่ได้ พอทนไม่ได้ เราก็เรียกว่าทุกข์
ทุกข์ แปลว่า ภาวะที่ทนไม่ได้ ทนได้ยาก แต่ที่จริงทุกข์มันมีอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในปริมาณที่เล็กน้อย แต่มันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป พูดสรุปก็คือว่าทุกข์มันก็แฝงอยู่ในสุข ในสุขก็มีความทุกข์แฝงอยู่ อันนี้เรียกว่า “ทุกขัง” ก็ได้นะ ไม่ว่าเรายึดอะไร สิ่งที่เรายึดไม่นานเนี่ย มันก็ไม่ใช่แค่แปรเปลี่ยน ถึงแม้มันไม่แปรเปลี่ยน ถึงแม้มันยังอยู่กับที่ แต่เราก็จะเริ่มพบกับความทุกข์ที่มันแสดงตัวออกมา และเพราะเหตุนั้นก็เลยต้องเปลี่ยน แต่ว่าถ้าเกิดไปยึดมั่นถือมั่นมาก พอมันแปรเปลี่ยนไปเราก็ทุกข์ เราก็เสียใจ เงินหาย ของหาย หรือว่าร่างกายมันเสื่อม แก่ตัวลง ผิวหนังเหี่ยวย่น เราทุกข์เพราะอะไร เพราะเราไปยึดมันเอาไว้ ยึดอย่างไร คือยึดให้มันเที่ยงยึดอยากให้มันสุข พอมันป่วยพอมันเจ็บก็ทุกข์แล้ว ทุกข์ใจนะ ทุกข์กายนี่มันชัดอยู่แล้ว แต่ทุกข์ใจเพราะไปยึดเอาไว้ ยึดว่ามันเที่ยง ยึดว่ามันเป็นสุข ยึดว่ามันเป็นของเรา พอมันไม่ใช่ของเราก็เสียใจผิดหวัง การยึดแบบนี้เรียกว่ายึดเพราะความหลง เรื่องการยึดสิ่งที่ให้ทุกขเวทนากับเรา ยึดเพราะว่าความลืมตัว คือไม่มีสติ
ส่วนสิ่งที่ให้ความสุขแก่เรา เรายึดเพราะเราหลงว่ามันเที่ยง มันจะให้สุขแก่เราอย่างถาวร อันนี้เรียกว่าไม่มีปัญญา จะทำอย่างไรเราก็ต้องเพิ่ม เมื่อเราไม่มีสติ เราไม่รู้ตัว เราก็ต้องเติม เติมสติเข้าไป เมื่อใดก็ตามที่เรามีสติ เราก็จะวางสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเรา รวมทั้งอารมณ์ที่เป็นอกุศล ขณะเดียวกันที่มันหนักกว่านั้นก็คือการไปยึดสิ่งที่มันให้ความสุขกับเราชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเรายึดมากเท่าไหร่เราก็ทุกข์มากเท่านั้นเมื่อมันแปรเปลี่ยนไป แต่ถ้าเกิดว่าเรามีปัญญา ปัญญาก็จะมาแทนความหลง หลงก็จะทำให้ยึดในสิ่งที่คิดว่ามันเที่ยงมันเป็นสุข แต่พอเรามีปัญญาเห็นว่ามันไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ถาวรทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันก็จะทำให้เราวางได้
สติทำให้เราวางอารมณ์ที่สร้างความทุกข์กับเรา ที่เห็นชัด ๆ ส่วนปัญญาช่วยทำให้เราวางสิ่งที่เราหลงคิดว่ามันให้ความสุขกับเรา ก็คือกามสุขนั่นแหละ หรือพูดรวม ๆ ก็คือทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ พวกนี้เป็นหลุมพรางที่ละเอียดมาก เพราะว่ามันล่อเราด้วยความสุข มันให้ความสุขกับเรา ทางลิ้น ทางตา ทางจมูก รวมไปถึงทางใจด้วย แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไปยึดมัน เราก็จะไม่ต่างจากปลา มันเห็นเหยื่อ มันเห็นหนอน มันก็คว้าหมับ มันก็ฮุบทันทีเลย ฮุบทีแรกก็อร่อย ได้กินหนอน ได้กินไส้เดือน แต่สักพักก็เจ็บเพราะโดนเบ็ดทิ่มคอ สุดท้ายก็เลยโดนชาวประมงเขาจับไป แต่ถึงแม้เขาไม่จับไปก็เจ็บอยู่แล้วเพราะเบ็ดมันทิ่มคอทิ่มปากเอา หนอนหรือว่าแมลงที่ใช้เป็นเหยื่อจับปลา ก็เหมือนกามสุข มันให้ความสุขทีแรกเมื่อได้เสพ แต่หลังจากนั้นก็จะตามมาด้วยความทุกข์ ทุกข์เมื่อมันแปรเปลี่ยนไป ทุกข์เพราะมันแสดงทุกขังออกมาให้เราประสบ เพียงแต่ว่าเวลาที่มันจะแสดงตัวหรือทำความทุกข์ให้กับเรา มันไม่เร็วเหมือนกับปลาที่ฮุบเหยื่อแล้วมันโดนเบ็ดทิ่ม อันนั้นแทบจะทันทีเลย
ส่วนกามสุข รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ ทีแรกมันให้ความสุข แต่ว่ามันตามมาด้วยความทุกข์ หลายคนพอต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป สูญเสียบ้าน บ้านถูกยึด รถถูกยึด เพราะว่าเป็นหนี้ มีเงินเท่าไหร่ก็ไปเล่นหุ้น หุ้นราคาตก ก็ไปกู้เงินมาหวังจะช่วยพยุงสถานการณ์ ปรากฎว่ายิ่งแย่ลง ก็เลยเป็นหนี้มาก เขาก็ยึดสิ ยึดบ้าน ยึดรถ เป็นข้าราชการนี่ เป็นข้าราชการชั้นสูงก็อับอาย ทำใจไม่ได้ก็ฆ่าตัวตายก็มี ทีจริงมันไม่ใช่บ้านไม่ใช่รถที่สูญ แต่ว่าหน้าตาเกียรติยศก็กำลังจะสูญไปด้วย มันเคยให้ความสุขกับเราแต่ตอนนี้กำลังสูญเสียมันไป ทำใจไม่ได้ก็เลยทำร้ายตัวเอง อันนี้เรียกว่าเป็นโทษ โทษของความยึดติด แต่ถ้าเกิดเรามีปัญญาเสียแต่แรก รู้ว่ามันไม่เที่ยงนะของพวกนี้ แล้วมันก็ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มันเจือไปด้วยทุกข์ กามสุขนี้ให้ความสุขชั่วคราวแต่ว่าตามไปด้วยความทุกข์ที่ยาวนาน มีทุกข์น้อยแต่สุขมาก
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่า กามสุขเปรียบเหมือนกับไต้ที่ทำด้วยหญ้าแห้ง เวลาจุดก็ให้แสงสว่างแต่ว่าควันก็เยอะทำให้ระคายเคือง มันไม่ใช่แสงสว่างที่ใสเหมือนไฟ LED มันให้ความสว่างก็จริงนะไต้เนี่ย แต่ว่ามันทำให้ระคายเคืองมาก แล้วก็ถ้าไม่รีบวางในที่สุดก็จะไหม้มือ อันนี้เปรียบเหมือนกามสุขที่ว่ามันให้สุขอาจจะ 30% แต่ 70% นี่คือทุกข์ ถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้เราก็จะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับมัน ใช้มันแต่ว่าใช้มันในยามที่เป็นประโยชน์ หรือยามที่จำเป็น แต่ก็รู้จักวางเหมือนเราถือไต้ เมื่อเราใช้มันเสร็จเราก็วางมันลง อันนี้เรียกว่าเราใช้มัน แต่ส่วนใหญ่พอไปยึดมัน ยึดว่ามันเป็นของเรา เรากลายเป็นของมันทันที ไปยึดว่าเงินเป็นของเรา เราก็กลายเป็นของเงิน ไปยึดว่าเพราะเพชรพลอยเป็นของเรา เราก็เป็นของมัน ไปยึดว่าบ้านเป็นของเรา เราก็เป็นของมัน พอจะเสียบ้านจะถูกยึด โอ้ยตายดีกว่า..ฉันยอมตายดีกว่าจะเสียบ้าน มันก็น่าแปลกคนเรายอมทิ้งชีวิต แต่ไม่ยอมทิ้งบ้านไม่ยอมทิ้งรถ ทั้ง ๆ ที่ถ้ามีชีวิตมันก็พอจะหาบ้านใหม่ รถคันใหม่ได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยกล้าทิ้งชีวิต แต่ว่าไม่ยอมทิ้งรถ ไม่ยอมทิ้งบ้าน หรือไม่ยอมทิ้งหน้าตา มันก็แปลกดี ทั้งที่ชีวิตมันมีค่ากว่าบ้าน มีค่ากว่ารถ แต่ทำไมคนเรายอมทิ้งชีวิตแทนที่จะทิ้งบ้านทิ้งรถ นั่นเพราะไม่รู้ตัว มันไม่มีสติ ก็เลยทำในสิ่งที่คนปกติเขาไม่ทำกัน จริง ๆ ถ้ากล้าที่จะตายก็น่าจะกล้าทิ้งรถทิ้งบ้าน เสียรถเสียบ้านไปช่างมัน หาใหม่ แต่พอคนเราหมดสติ หรือไม่มีสติก็สามารถจะทำในสิ่งที่เป็นโทษกับตัวเอง ทำร้ายตัวเองได้
ที่เรามาปฏิบัตินี่เพื่อว่าให้เรามีสติ เราจะได้ไม่ไปยึดไม่ไปเกาะเกี่ยว หรือไม่ไปจมอยู่กับอารมณ์ที่ทำให้ทุกข์ ความเศร้า ความเสียใจ ความโกรธ รวมทั้งเหตุการณ์ที่มันผ่านไปแล้ว หรือว่าเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง ที่ย่ำแย่ ที่เจ็บปวดก็ปล่อยวางมัน ในขณะเดียวกันถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็ไม่ได้พอใจแต่ความสงบที่เกิดจากการปล่อยวางด้วยสติแต่ว่าเราสามารถที่จะพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาเห็นว่าสังขารทั้งปวงนี้มันไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ เราก็จะปล่อยวางได้ง่าย ของที่เคยเห็นว่ามันสวยมันให้ความสุขแก่เรา ตอนนี้เห็นแล้วว่าที่จริงมันไม่ใช่ เห็นความจริงของมันและเห็นธาตุแท้ของมัน เหมือนเคยแบกกล่องหีบสมบัติ เพราะคิดว่าในนั้นเป็นเพชร แต่พอรู้ความจริงว่าในนั้นมีแต่หินหรือพบว่าในนั้นมีงู พอรู้ว่าในนั้นมีหินหรือมีงู มันวางทันทีเลย วางทันที หรือแบกหีบสมบัติที่มีเงินมีธนบัติมากมายแน่นเต็มไปหมด แต่พอรู้ว่าในนั้นคือแบงค์กงเต็ก มันวางเลย ปัญญามันทำให้วางแบบนั้นแหละ ก็คือทำให้ไม่ยึดอีกต่อไป ที่เคยคิดว่ามันเป็นของดีของวิเศษมาพบความจริงว่ามันไม่ใช่
พระพุทธเจ้าตอนที่ใกล้จะตรัสรู้ คืนก่อนตรัสรู้ พระองค์มีนิมิตอยู่ 5 ประการ และนิมิตประการหนึ่งก็คือ พระองค์เดินไปเจอภูเขาแต่ไม่ใช่ภูเขาธรรมดาเป็นภูเขาอุจจาระ อุจจาระกองเป็นภูเขา และพระองค์ก็เดินย่ำ แต่ว่าไม่แปดเปื้อน เดินอย่างไรก็ไม่แปดเปื้อน อันนี้เป็นนิมิตว่าพระองค์จะตรัสรู้ ภูเขาอุจจาระนั่นคืออะไรทราบไหม คือทรัพย์สินเงินทองหรือว่าสิ่งของพวกกามสุข กามสุขก็หนีไม่พ้นเรื่องสิ่งของ กามสุขที่คนแสวงหา แต่พระองค์พบความจริงว่า มันไม่ต่างจากอุจจาระ คือว่ามันมีแต่โทษ แต่ว่ามันไม่แปดเปื้อนพระองค์แล้ว หมายถึงว่าพระองค์เนี่ยใจไม่ยึดติดเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น เป็นนิมิตว่าพระองค์จะเอาชนะกามสุขได้ กิเลสจะไม่สามารถฉาบเปื้อนพระองค์ เหมือนกับดอกบัวที่น้ำไม่สามารถจะฉาบให้เปียกได้ เป็นนิมิตหมายว่าพระองค์จะตรัสรู้เห็นความจริงว่า กามสุขนั้นมันไม่งาม มันเต็มไปด้วยโทษ สิ่งที่คนหมายปองแท้จริงก็คือไม่ต่างจากอุจจาระ ไม่น่าที่จะเอาเลย เมื่อมีปัญญาเห็นความจริงก็จะปล่อยวางเอง และนั่นทำให้เกิดความหลุดพ้น หลุดพ้นปล่อยวางอย่างแรกเกิดเพราะสติ แต่ปล่อยวางที่ลึกซึ้ง ปล่อยวางอย่างยั่งยืนถาวรคือเกิดปัญญาขึ้นมา นี่คือสิ่งที่เราควรพากเพียรปฏิบัติ อย่างน้อยก็ต้องทำให้เกิดสติก่อน แล้วสติจะทำให้เกิดปัญญาจนกระทั่งปล่อยวางได้อย่างแท้จริง