แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ความดีเป็นสิ่งที่น่าจูงใจ ใครทำความดีแล้วหรือว่ายึดมั่นในความดีเอามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ก็จะทำให้มีความสุขมีความอิ่มเอม มีความปีติ มีความภาคภูมิใจในชีวิต แต่ว่าสิ่งที่ต้องระวังก็คือ มันชวนให้ยึดติดถือมั่น เวลาใครเขาคิดต่างจากเรา เขาไม่เห็นว่าสิ่งที่เรายึดถือมันเป็นสิ่งที่ดีก็เกิดความทุกข์เกิดความไม่พอใจ อันนี้ยังไม่นับถึงว่าการเอาความดีไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เอาไปเป็นข้ออ้างในการทำชั่วทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เพราะบางทีกิเลสมันก็หลอกเราว่าที่ทำนี่เพราะว่าเพื่อความดีเพื่อความถูกต้อง เช่น คอร์รัปชันเพื่อชาติ หรือว่าคดโกงเพื่อเอาเงินไปใช้ทำประโยชน์ส่วนรวม อันนี้เป็นการใช้ในทางที่ผิด แต่สมมติว่าไม่ได้ใช้ไปในทางที่ผิดลักษณะนั้น แต่ว่าสิ่งที่มันเป็นกับดักที่สำคัญคือความดีมันชวนให้เรายึดติดถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู
เวลาคนวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราคิดว่าดีสิ่งที่เรายึดมั่นว่าถูก ที่เราโกรธเพราะว่ามันไปกระทบกับตัวกู เหมือนกับคนที่เขารักรถหรือว่ารักพระเครื่อง เวลามีคนตำหนิหรือวิจารณ์รถวิจารณ์พระเครื่องของตนก็จะเกิดความโกรธขึ้นมาเหมือน กับว่าตัวเองถูกกระทบไปด้วย ทั้งที่เขาไม่ได้พูดถึงเราสักหน่อย เขาพูดถึงรถพูดถึงพระเครื่องของเรา แต่เราทุกข์เราเจ็บปวดเราโมโหเพราะว่าสิ่งนั้นมันกลายเป็นตัวเราไปเสียแล้ว อันนี้ก็เป็นอันหนึ่ง ส่วนอีกอันคือความดี คนเราทำความดีก็อดไม่ได้ที่จะนึกว่าฉันเป็นคนดี พอเชื่อว่าฉันเป็นคนดีก็ทำให้อัตตาฟูฟ่องและบางทีก็เป็นช่องให้มานะมันเข้ามาแทรก
“มานะ” คือ ความถือตัว ความรู้สึกว่าฉันดีฉันแน่ฉันเก่งแล้วมันก็มักจะมาพร้อมกับการที่ไปเหยียดคนอื่นให้ต่ำลง ตัวกูมันจะสูงเด่นได้มันก็ต้องไปเหยียดคนอื่นให้ต่ำลงมันจะได้เกิดความเปรียบเทียบหรือเกิดระยะห่างที่ชัดเจนมากขึ้น ตรงนี้มันก็นำไปสู่การเบียดเบียนการดูถูก บางทีก็ใช้ความดีของตัวเองไปปิดปากคนอื่นว่าไม่ต้องเถียงไม่ต้องพูด ฉันถือศีลมากกว่าเธอ เธอแค่ศีลห้าฉันศีลแปดอย่ามาเถียงฉัน อันนี้ก็เรียกว่าถูกอัตตามันหลอกใช้แล้ว มันอ้างความดีอ้างศีลเพื่อจะได้กำจัดคู่แข่งที่จะมาท้าทาย อันนี้คือกับดักส่วนหนึ่งของความดีหรือของความเป็นคนดีซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่แค่ไปโวยวายใส่เขาแต่มันอาจจะหมายถึงการไปทำร้ายหรือไปฆ่า การฆ่าผู้อื่นในนามของความดีปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์หรือเพื่อพระเจ้าหรือแม้แต่เพื่อความมั่นคงยั่งยืนของพุทธศาสนามันก็เคยมีมาแล้ว
ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองก็มีการเข้าไปยึดครองจีนแล้วก็เกาหลี เพื่ออ้างว่าจะนำเอาพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ของญี่ปุ่นไปให้กับจีนกับเกาหลี ซึ่งก็ถือว่าเป็นพุทธศาสนาที่ไม่บริสุทธิ์ อันนี้ก็เป็นข้ออ้างอย่างหนึ่ง ที่จริงก็คือการขยายอำนาจของอัตตานั่นเอง ขยายตัวกูให้มันกว้างออกไป ไม่ใช่ทำเพื่อศาสนา มันทำเพื่อขยายตัวกูหรือว่าการไปทำร้ายฆ่าฟันผู้คนเป็นล้าน ๆ อย่างในเขมร ในจีน ในรัสเซีย ก็อ้างความถูกต้องเพื่อจะทำให้เกิดสังคมยูโทเปียเกิดสวรรค์บนดินเกิดความสมบูรณ์พูนสุขความเท่าเทียมกัน ดีทั้งนั้น แต่ว่ามันเป็นการสร้างความฉิบหายให้กับผู้คนในนามของความดีความถูกต้อง อันนี้ก็เรียกว่าทำไปด้วยอำนาจของอัตตาหรือความยึดมั่นถือมั่น
คราวนี้เราจะก้าวข้ามกับดักแห่งความดีไปอย่างไร คือทำอย่างไรถึงจะไม่ติดกับดักของความดีหรือความเป็นคนดี สิ่งสำคัญก็คือการมีสติรู้ทัน เวลาจิตมันไปยึดมั่นถือมั่นกับความดีความถูกต้องหรือไปยึดมั่นสิ่งที่เราคิดว่ามันดีมันถูกต้อง เช่น ทฤษฎี อุดมการณ์ คุณค่าบางอย่างรวมทั้งความรู้หรือข้อเท็จจริงบางอย่างด้วย เวลามันยึดมั่นถือมั่นมันทำให้หลงหนักขึ้น ถ้าเรามีสติมันจะทำให้เห็นว่าตอนนี้จิตมันกำลังยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งเปิดช่องให้อัตตาเข้ามาเล่นงาน ตัวอัตตาหรือตัวกิเลสนี้ถ้าคนเราไม่หมั่นไตร่ตรองไม่หมั่นมองตนมันไม่เห็นหรอก มันก็จะหลงเชื่อไปตามอำนาจของอัตตาหรือข้ออ้างของกิเลสได้ มันไม่มีสิ่งอื่นที่จะช่วยเราได้ดีกว่าสติ ก็คือเห็นใจที่มันกำลังมีอกุศลครอบงำโดยเฉพาะเวลามันโกรธ เมื่อความคิดความเชื่อหรือสิ่งที่ตัวเองยึดว่าเป็นความดีงามมันถูกวิจารณ์ถูกท้าทายหรือคนไม่เห็นด้วย
จริง ๆ แล้วทุกครั้งที่เราโกรธทุกครั้งที่ทุกข์ใจมันล้วนแล้วแต่เกี่ยวโยงกับเรื่องของอัตตาหรือตัวกูของกูทั้งนั้น เช่น พอถูกกระทบเข้าอัตตามันก็สะดุ้งหรือกระเทือนขึ้นมาก็เกิดความทุกข์ขึ้น เวลาการมีสติมันช่วย นอกจากช่วยทำให้เรารู้ทันอารมณ์อกุศลที่มันเกิดขึ้นในใจเพราะความยึดมั่นถือมั่นหรือเพราะตัวกูของกูแล้ว มันยังช่วยยับยั้งไม่ให้เราเผลอทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วย แต่บ่อยครั้งเราก็เผลอทำไปแล้วและอ้างว่าทำเพื่อความถูกต้อง แต่สิ่งที่ทำคือไม่ถูกต้อง เช่น ไปด่าเขา ไปทำร้ายเขา ไปทุบตีเขา หรือว่าไปคดโกงคอร์รัปชันก็เหมือนที่ทำในนามของความดีปกป้องความดีหรือเพื่อความถูกต้อง ก็ให้มีสติ มาทบทวนและตั้งคำถามว่า..เราอ้างความถูกต้องแต่ทำไมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น เราอ้างว่าเราจะปกป้องศาสนา แต่ทำไมเราทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้าม เช่น ไปทำร้าย ไปฆ่าเขา อย่างชาวพุทธในพม่าที่ไปฆ่าหรือไปปลุกปั่นให้มีการฆ่าชาวมุสลิมในยะไข่ ก็อ้างว่าเพื่อปกป้องศาสนากลัวว่าอิสลามจะมายึดครองพุทธศาสนาในพม่าก็เลยปลุกปั่นปลุกระดมให้คนเกลียดชังอิสลามหรือชาวมุสลิม ถึงขั้นไปปล้นสะดม ไปทำร้าย ไปข่มขืน ไปเผาบ้านเรือนเขา คือถ้ามีสติก็จะเห็นว่าเราปกป้องศาสนา แต่ทำไมเราทำสิ่งที่มันตรงข้ามกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจะทำให้ศาสนามีความมั่นคงเข้มแข็งได้อย่างไร ปกป้องศาสนาได้อย่างไร ในเมื่อรักษาศีลยังไม่ได้เลย
แต่ถ้าคนเรารู้จักหมั่นไตร่ตรองแล้ว มันก็จะฉุกคิดขึ้นมาว่าสิ่งที่เราทำมันถูกแน่หรือ หรือผู้ที่เชิดชูประชาธิปไตย แต่ว่าใครที่พูดจาสนับสนุนเผด็จการแค่แสดงความคิดเห็นว่าเผด็จการมันดีก็ไปหาทางปิดปากเขา หรือว่าหาทางข่มขู่เขา เช่น การประท้วง ทำท้วงและรุมด่าว่าคิดแบบนี้มันไม่ถูกคิดได้อย่างไรว่าเผด็จการมันดีกว่าประชาธิปไตย การทำแบบนี้ถ้าไตร่ตรองดี ๆ ก็พบว่ามันไม่ถูกเพราะว่าถ้าเราเชิดชูประชาธิปไตยก็ต้องรักษาสิทธิ์ของคนที่คิดเห็นต่างจากเราด้วย เขาจะคิดอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ตราบใดที่ยังไม่ได้กระทำในสิ่งที่มันผิดกฎหมาย หรือไปละเมิดสิทธิ์คนอื่น เขาจะเชียร์เผด็จการเขาจะชูฮิตเลอร์เขาก็มีสิทธิ ตราบใดที่เขายังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือผิดกฎหมาย ฉะนั้นถ้าเรามีสติเราก็จะไตร่ตรองว่าสิ่งที่เราทำมันถูกแน่หรือ มันจะมีการทักท้วงที่ทำให้เราไม่เผลอทำในสิ่งที่เลวร้าย
ท่าทีหรือว่าหลักการอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้คือ สัจจานุรักษ์ คือการคุ้มครองสัจจะ คือการคุ้มครองความจริง หมายถึงว่าการไม่ด่วนสรุปว่าใครที่คิดต่างจากเราหรือเห็นต่างจากเราหรือว่าไม่ถูกต้องหรือว่าชั่ว เราคิดอย่างไรเราเชื่ออย่างไร แน่นอนเราก็ต้องเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดหรือเรานับถือมันถูกต้องมันดี แต่ก็ไม่ด่วนสรุปว่าคนที่คิดต่างจากเราเห็นต่างจากเราเนี่ยมันผิดมันไม่ถูกต้อง เขาอาจจะถูกก็ได้ เราถูกเขาก็ถูกเหมือนกันเพราะว่ามันก็เหมือนกับตาบอดคลำช้าง คนที่ตาบอดคลำช้างแต่ละคนเขาก็คิดว่าสิ่งที่เขาคลำนี้มันคือช้างและสิ่งที่เขาอธิบายมันก็ถูก คนที่คลำได้คลำหางของช้าง คนที่คลำขาของช้างก็คลำสิ่งที่เป็นช้างทั้งนั้นแหละ แต่ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดของช้าง ทุกคนก็ถูกทั้งนั้นแต่ถูกกันคนละมุม อันนี้เป็นเรื่องของท่าทีที่จะช่วยให้เราไม่ด่วนสรุปตัดสินว่าคนที่คิดต่างจากเรามันผิดหรือว่าชั่วหรือว่าเลว แต่สัจจานุรักษ์ก็เป็นหลักการที่ชาวพุทธเราไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ มันก็น่าเสียดายที่เรามองข้ามหลักการนี้ไป คนเราถ้าหากว่าเรายึดมั่นหรือว่าเราเอาความจริงเป็นตัวตั้งเอาความดีเป็นตัวตั้งจริง ๆ การที่อัตตามันจะมาครอบงำเล่นงานเราก็ทำได้ยาก ถ้าเราไม่ไปผูกขาดว่าความรู้ของเราเท่านั้นที่ถูกหรือว่าสิ่งที่เรายึดถือเท่านั้นที่มันดีเราก็จะเปิดใจกว้าง แม้ว่าสิ่งที่ได้ยินมานั้นอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ แต่ว่าอย่างน้อยมันก็จะมีการรับฟังแล้วก็จะพบว่าสิ่งที่เขาพูดมามันจริงก็ได้
ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อยู่คณะสัตววิทยา เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อซัก 60 70 ปีที่แล้วสมัยนั้นมันยังไม่มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน เขาก็ศึกษาเรื่องเซลล์ มันก็มีนักวิชาการคนหนึ่งบอกว่าในเซลล์มันมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “กอลจิแอปพาราตัส” (Golgi apparatus) แต่ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษคนนี้แกไม่เชื่อ แกก็ยืนยันทั้งเขียนทั้งบรรยายตลอดเวลา 10 กว่าปีมาว่ามันไม่มีจริงมันเป็นแค่ทฤษฎีที่ไม่มีหลักฐานรองรับ คนก็คล้อยตามแกมากทีเดียว แต่วันหนึ่งมีนักวิชาการหนุ่มชาวอเมริกันคนหนึ่งมาบรรยายที่คณะของศาสตราจารย์คนนี้ แล้วก็เอาหลักฐานมายืนยันว่าในเซลล์มันมีกอลจิแอปพาราตัส ศาสตราจารย์คนนี้ก็นั่งฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
พอนักวิชาการอเมริกันพูดจบ ศาสตราจารย์คนนี้แกก็เดินไปที่เวทีไปที่โพเดียม คนก็นึกว่าแกคงจะไปโต้แย้งหรือไปต่อว่านัก วิชาการอเมริกันคนนั้น ปรากฏว่าแกเดินไปเชคแฮนด์แล้วก็บอกว่าขอบคุณมากเลยพ่อหนุ่ม ผมเพิ่งรู้ว่าผมผิดพลาดมาตั้ง 15 ปี แทนที่เขาจะรู้สึกเสียหน้าที่ทฤษฎีของเขาซึ่งสอนมา 10 กว่าปีมันผิด ธรรมดาคนเราถ้าเอาอัตตาขึ้นหน้ามันจะรู้สึกเสียหน้ามากแล้วจะรู้สึกโกรธแล้วก็จะหาทางฉีกทฤษฎีของคน ๆ นั้น แต่แกกลับไปยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าผิด เพราะอะไร เพราะแกเอาความจริงเป็นตัวตั้งเอาความรู้เป็นตัวตั้ง เพราะถ้าเราเอาความรู้เป็นตัวตั้งแล้วพอได้ความรู้ใหม่ก็จะมีความสุขความยินดีแม้จะเป็นความรู้ที่ขัดแย้งกับที่ตัวเองเคยเชื่อ
ก็เหมือนกับคนที่เอาธรรมะเป็นตัวตั้งเวลาถูกตำหนิถูกวิจารณ์ ก็จะทำให้เราได้เห็นตัวเราเอง มันช่วยลดละขัดเกลากิเลสตัวเราเอง เราก็จะยินดีไม่โกรธ อย่างแม่ชีสาที่เคยเล่าหลายครั้งว่าถูกพระมาต่อว่า แกกลับไม่โกรธแล้วก็ยินดีนิมนต์ให้พระมาว่าใหม่กิเลสจะได้หมด อันนี้เรียกว่าเอาธรรมะเป็นตัวตั้งเรียกว่า “ธรรมาธิปไตย” เพราะฉะนั้นการทำงานก็ในปาฐกถาที่พูดว่าเวลาจะทำอะไรเพื่อความดีความถูกต้อง แม้จะทำเพื่อส่วนรวมเพื่อสังคมก็ต้องไม่ลืมที่จะทำงานกับอัตตาของตัว เพราะอัตตามันเป็นตัวที่พร้อมจะฉวยโอกาสชักใบให้เรือเสียหรือชักนำให้เราทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีของเรา ความถูกต้องที่เรายึดถือได้
ดังนั้น ต้องกลับมามองแล้วก็รู้ทันอัตตา รู้ทันอุบายของอัตตา อุบายของอัตตามันมีเยอะแยะ เช่น เวลามันเจอข้อมูลข้อเท็จจริงหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องกับสิ่งที่มันยึดถือมันจะปฏิเสธไว้ก่อน ปฏิเสธคือไม่สนใจ ไม่มอง ไม่รับรู้หรือว่าปัดไปเลย อันนี้ก็เกิดขึ้นกับคน เวลาหมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็ง ปฏิกิริยาแรกของคนคือไม่ยอมรับปฏิเสธไว้ก่อน หรือพอมีข่าวมีคนมาบอกว่าคนรักตาย ลูกตาย ปฏิกิริยาแรก ๆ คือปฏิเสธมันจะไม่ยอมรับไม่จริงเป็นข่าวลือ คนบางคนถึงกับป่วยเลย ตาบอดเลย
อย่างในสมัยพอลพตที่มันมีการทรมานฆ่าคนอย่างโหดร้ายใช้จอบทุบหัวฟาดตัวจนตายข่มขืนอะไรต่าง ๆ ก็เพราะว่าคนเขมรที่ลี้ภัยไปเมืองไทยสมัยพอลพตหลายคนจะตาบอด อัตราการตาบอดมากผิดปกติ เขาก็สงสัยมันเป็นเพราะอะไร ทฤษฎีหนึ่งก็คือคนเห็นความทุกข์ยากกับตาเห็นความทรมานกับตา มันก็เลยร้องห่มร้องไห้จนตาเสียไป แต่ก็พบว่าบางคนตาก็ปกติหาอะไรผิดพลาดก็ไม่เจอ สันนิษฐานว่าก็เชื่อว่าเห็นแล้วมันก็ยอมรับไม่ได้มันโหดร้ายมาก จิตมันก็เลยสั่งให้ตาบอดไปเลยจิตมันสั่งให้ตามันบอดจะได้ไม่ต้องไปรับรู้ อันนี้ก็เป็นกลไกของร่างกายของจิตใจและก็ของอัตตาด้วย ความรู้สึกที่บอกปัดปฏิเสธนี่มันแรง คนเวลากลัวอะไรก็ไม่อยากที่จะเห็นสิ่งนั้นหรือไม่ยอมรับ ชาวยิวที่ถูกกักกันอยู่ในค่ายนาซีทั้ง ๆ ที่เห็นห้องรมแก๊สและก็เห็นควันมันพุ่งออกมาเพราะว่าเป็นที่ที่เผาศพก็ยังไม่ยอมรับเลยว่ามันมีการฆ่ากันในนั้น เพราะถ้ายอมรับแล้วตัวเองจะทุกข์ทรมานมาก ปฏิเสธว่าไม่มีการฆ่ากัน นี่คือปฏิกิริยาแรกของจิตคือ มันปฏิเสธโดยเฉพาะถ้าอัตตาครองใจมันจะปฏิเสธแรงมาก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่ไม่ตรงกับความเชื่อของอัตตาเราจะปฏิเสธไว้ก่อน
แต่ถ้าเกิดมันปฏิเสธไม่ได้เพราะว่าเห็นแล้วเห็นเล่ามีคนมายืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่า จิต อัตตามันก็จะใช้อุบายใหม่ก็คือตีความให้เข้ากับความเชื่อเดิมของตัว เช่น สมัยที่กาลิเลโอบอกว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก คนชาวคริสต์จำนวนมากก็ไม่เชื่อเพราะมันขัดกับคำสอนของคริสต์ศาสนา ก็พยายามปฏิเสธอ้างว่าหลักฐานที่กาลิเลโอมาแสดงเป็นเพราะเลนส์ เลนส์กล้องโทรทัศน์มันไม่ดีมันคลาดเคลื่อน แต่ว่าพอข้อเท็จจริงมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามันไม่ใช่เป็นความผิดพลาดของเลนส์แต่มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในระบบสุริยจักรวาล คนเหล่านี้ก็จะตีความให้เข้าข้างตีความไปในทางที่สนับสนุนความเชื่อเดิมของตัวก็คือว่าข้อมูลที่นำเสนอมามันล้วนแล้ว แต่ยืนยันว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกคือเอาหลักฐานมาอย่างไรก็ไม่เชื่อ
เหมือนกับที่คนอเมริกันจำนวนมากหรือว่าฝ่ายริพับลิกัน ไม่ว่าเราจะมีหลักฐานอย่างไรว่าโลกร้อนน้ำแข็งกำลังละลาย พวกนี้ก็ยังบอกว่าไม่จริงโลกไม่ร้อน หลักฐานทั้งหมดล้วนแล้วแต่ยืนยันว่าที่โลกร้อนมันเป็นเรื่องเฉพาะเหตุการณ์เฉพาะปี เอาข้อมูลมายืนยันอย่างไรก็ไม่สามารถจะหักล้างความเชื่อของคนเหล่านี้ว่าไม่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าโลกร้อน อันนี้เรียกว่ามันก็พยายามตี ความหรือตอนที่เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็มีคนเอาข้อมูลมายืนยันว่าฟองสบู่กำลังจะแตก หลายคนที่เล่นหุ้นและก็ได้ผลประโยชน์จากฟองสบู่ก็ไม่ยอมรับว่าฟองสบู่กำลังจะแตกไม่ฟังไม่อ่านไม่สน แต่พอข้อมูลมันมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาก็จะตีความว่าทั้งหมดที่พูดมามันแล้วแต่ยืนยันว่าฟองสบู่จะต่อเนื่องไปได้อีกหลายปี ปรากฏว่าพอปี 40 มันก็แตก ก็เจ็บตัวกันไปเยอะแยะ พวกนี้ก็เป็นเพราะไม่ยอมรับความจริง
อุบายของอัตตาอย่างหนึ่งคือมันจะเลือกรับเลือกปฏิเสธอะไรที่เห็นด้วยสอดคล้องกับความเชื่อของตัวก็จะรับเต็มที่ อะไรที่มันไม่เข้ากับความคิดของตัวก็ปฏิเสธตัดทิ้งไปเลย อันนี้เลือกรับ เลือกปฏิเสธ อันนี้เราก็เห็นบ่อย เวลาคนมีความเชื่ออะไรสักอย่างมันจะรับฟังแต่สิ่งที่ตัวเองเห็นด้วย สิ่งที่ตนเองไม่เห็นด้วยก็บางทีก็ไม่เอา ก็เคยมีการทดลองเอาคนที่มีความเห็นแตกต่างกันสองขั้ว พวกหนึ่งก็เห็นด้วยกับการประหารชีวิต อีกพวกหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต เขาก็เอามาแล้วก็ให้เอาข้อมูลมาให้ดูเป็นข้อมูลทั้งที่สนับสนุนการประหารชีวิตและเป็นข้อมูลที่พูดถึงข้อดีของการมีโทษประหารชีวิตและข้อเสียของการมีโทษประหารชีวิต ทั้งสองฝ่ายก็ได้รับข้อมูลอย่างเดียวกัน ซึ่งมีทั้งบวกและลบ คนทดลองก็คิดว่าถ้าหากว่าคนเหล่านี้ได้เห็นทั้งบวกและลบของโทษประหารชีวิต ความคิดเห็นจะใกล้เคียงกันมากขึ้น จะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้นเพราะว่าได้เห็นทั้งสองแง่มุมแล้ว ปรากฏว่าความเห็นของสองกลุ่มนี้ยิ่งแตกกันเป็นคนละขั้ว เพราะคนที่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตมันก็จะรับรู้แต่ข้อมูลข้อดีของการมีโทษประหารชีวิต ส่วนข้อเสียนี่ไม่สนใจไม่อ่านไม่มอง พวกที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตก็จะรับรู้ อ่านแต่ข้อเสียของโทษประหารชีวิต ข้อดีของโทษประหารชีวิตก็ไม่สนใจ ก็กลายเป็นว่ายิ่งมีความเห็นแตกแยกเป็นคนละขั้วแรงขึ้น นี่ก็แสดงว่าคนเราให้ข้อมูลอย่างเดียวไม่พอ ให้ข้อมูลไปเท่าไหร่ ๆ แต่ว่าถ้าอคติมันยังมีอยู่หรือว่าอัตตามันยังครองใจ มันจะไม่มีประโยชน์เลยหรือมีประโยชน์น้อยเพราะว่าอัตตามันก็จะรับฟังแต่สิ่งที่ถูกใจมัน สิ่งที่ไม่ถูกใจก็ตัดทิ้งไม่รับรู้ อันนี้คือเป็นอุบายหลัก ๆ ของอัตตา รวมทั้งการพยายามอ้างเหตุผลสนับสนุนความเชื่อของตนด้วย บางทีทำไปแล้วถึงค่อยหาเหตุผลสนับสนุน
อย่างที่เราเคยได้ยินคำว่า สำนวนว่า “องุ่นเปรี้ยว” มันเป็นนิทานอีสป ก็จิ้งจอกมันก็อยากจะกินองุ่นแต่องุ่นมันอยู่สูง มันพยายามกระโดดงับอย่างไรก็ไม่ได้ สุดท้ายมันก็เลยเลิกโดยอ้างว่าองุ่นมันไม่อร่อยมันเปรี้ยวอย่าไปกินมันเลย คืออันนี้มันเป็นธรรมชาติของอัตตา คือมันไม่ได้อ้างเหตุผลเวลาทำอะไรเท่านั้น แต่เวลาทำไปเสร็จแล้วถึงค่อยอ้างเหตุผลก็มี ทำไปแล้วค่อยอ้างเหตุผลว่าที่ทำไปเพราะว่าองุ่นมันเปรี้ยว อย่างที่เคยเล่า เขาให้แม่บ้านผู้หญิงมาดูของใช้ในครัวของใช้ในบ้าน แล้วก็ให้คะแนนว่าของชิ้นไหนน่าใช้ คะแนนก็เต็ม 10 เสร็จแล้วเขาก็ให้คนทดลอง ก็จะให้ผู้หญิงแต่ละคนให้คะแนน เขาจะดึงของที่ผู้หญิงให้คะแนนเท่ากัน เช่น ให้คะแนน 9 เท่ากันมาทั้ง 2 ชิ้นแล้วก็ให้แต่ละคนเลือกว่าในสองชิ้นนี้จะเลือกอะไร พอเลือกเสร็จก็จะสอบถามความเห็นว่าชอบของชิ้นนั้นมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าทุกคนเลยเนี่ยจะให้คะแนนของที่ตัวเองเลือกมากกว่าของที่ตัวเองไม่เลือก ทั้ง ๆ ที่เมื่อครู่ยังบอกเลยว่ามันน่าใช้เหมือนกัน มันน่าใช้เท่ากัน แต่พอเลือกไปแล้วก็จะคล้าย ๆ ว่าเปลี่ยนท่าทีมีความชอบของตัวเองมากกว่าของที่ไม่เลือก หรือว่าเวลาซื้อของอะไรไปแล้วถ้าหากว่าไปคืนไม่ได้ คนเรามีแนวโน้มที่จะชอบของชิ้นนั้นมาก แต่ถ้าสามารถจะคืนได้ความชอบก็จะลดลงและก็มีแนวโน้มจะไปเปลี่ยนเอาของชิ้นใหม่มาแทน คือถ้าได้ถ้าเลือกมาแล้วหรือซื้ออะไรมาแล้ว ถ้าหากเปลี่ยนไม่ได้เราจะบอกตัวเราเองว่าของชิ้นนี้ดีมากเลย แต่ถ้าเกิดว่าเลือกได้คืนได้เมื่อไหร่ ความชอบมันจะค่อย ๆ น้อยลง และหลายคนก็เลือกที่จะไปเปลี่ยนเอาของชิ้นใหม่มาแทน อันนี้มันก็เป็นธรรมชาติของคนเรา ซึ่งมันเป็นเรื่องของอัตตามากเลยก็คือว่าไม่ว่าทำอะไรก็ตามต้องมีเหตุผลรองรับหรือว่าเป็นข้ออ้าง ก่อนทำอาจจะไม่มีข้ออ้างเท่าไหร่ไม่มีเหตุผลเท่าไหร่ แต่เมื่อทำแล้วมันต้องมีเหตุผลให้รู้สึกสบายใจให้รู้สึกว่าฉันทำถูกฉันคิดดีแล้วฉันเลือกถูกแล้ว นี่แหละมันคืออุบายของอัตตาซึ่งมันทำให้คนเรายึดมั่นถือมั่นในความคิดความเชื่อเดิมมากขึ้น แล้วก็การที่จะเปลี่ยนความคิดหรือการที่จะเปิดรับความคิดที่มันแตกต่าง ไม่ถูก ไม่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมมันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้ทันอุบายของอัตตาเราก็จะเปิดกว้างใจมันก็จะเปิดกว้างแล้วก็ยอมรับความเห็นข้อมูลที่แตกต่างจากตัวเองได้ อันนี้ก็เป็นวิธีการที่ช่วยลดหรือคลายความยึดมั่นถือมั่นในความดีความถูกต้องและก็ทำให้จิตใจมันกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ยอมรับคนอื่นที่คิดต่างไปจากเราได้มาก
ที่จริงแล้วมันยังมีสิ่งอันหนึ่งที่พูดเอาไว้ค่อนข้างมาก ก็คือว่าธรรมชาติคนเรานี้อัตตามันก็พยายามหาทางที่จะยืนกรานในสิ่งที่มันเชื่ออยู่แล้วว่าถูก แต่ปัจจุบันคนเรามีความสามารถในการที่จะเสริมอัตตาให้มั่นคงมากขึ้น นั่นก็คือโซเชียลมีเดีย (social media) หรือว่าสื่อออนไลน์ ทุกวันนี้มันช่วยตอกย้ำอคติของคนให้รุนแรงแน่นหนามากขึ้น เพราะสมัยก่อนเวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์มันจะมุ่งสู่คนมุ่งขายคนที่หลากหลายในสังคม เพราะ ฉะนั้นมันจะมีอะไรที่หลากหลายในหนังสือพิมพ์ แต่ปัจจุบันนี้ไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้ว คนจะอ่านแต่เว็บ (web) เว็บข่าวซึ่งจะเลือกอ่านเฉพาะที่มันถูกใจตัวเอง จะเป็นเว็บข่าวที่จะเอียงข้างใดข้างหนึ่งจะไม่มีข้อมูลหรือความเห็นที่หลากหลาย อย่างเช่น ใครชอบเสื้อเหลือง ใครเป็นเสื้อเหลืองก็ไปอ่านแต่เว็บที่เป็นเว็บเสื้อเหลือง ใครเป็นเสื้อแดงก็อ่านแต่เว็บของเสื้อแดง ซึ่งก็จะมีความเห็นที่คนละข้างคนละขั้วกัน พอเสพข่าวอันนี้มากขึ้น ความเห็นก็ยิ่งเอียงมากขึ้น มีอคติมากขึ้น นี้เป็นลักษณะของเว็บข่าว ซึ่งมันแตกต่างจากหนังสือพิมพ์สมัยก่อนที่กำลังจะตายในปัจจุบัน มันแบ่งข้างแบ่งขั้วมากขึ้น
อีกประการหนึ่ง โซเชียลมีเดีย เดี๋ยวนี้มันก็มีเครื่องมือในการกรองเรียกว่า ฟิลเตอร์ (filter) กรองข่าวที่เราชอบข่าวที่เราไม่ชอบมันก็ทิ้งไป และธรรมดาคนเราก็จะเลือกฟังแต่ข่าวหรือข้อมูลที่มันถูกใจ คำว่า“ชอบ”ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ก็คือมันถูกใจไม่ใช่ถูกต้อง ฉะนั้นพอเราใช้โซเชียลมีเดียมาก ๆ เข้ามันจะรับรู้แต่เรื่องเดียวด้านเดียว เพื่อนหรือเฟรนด์ (friend) ที่เราติดต่อด้วยมันก็จะเป็นประเภทพวกคอเดียวกัน คนที่คิดต่างจากเรา เราก็ไม่คบตัดทิ้งไม่แอด (add) หรือว่าอันเฟรนด์ (unfriend) หรือบางทีฟิลเตอร์มันก็จะกรองออกไป คนไหนที่เราไลค์ (like) หรือแชร์ (share) น้อยฟิลเตอร์มันก็ไม่ค่อยแสดงผลเท่าไหร่ คนไหนที่เราแชร์มากลิงค์มากไลค์มากมันก็จะโผล่มาให้เราเห็นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ไลค์หรือแชร์คนที่คิดคอเดียวกับเรา ดังนั้นก็จะเห็นแต่นิวฟีด (news feed) ของคนที่คิดตรงกัน มันก็จะยิ่งทำให้คนคิดหรือมองอะไรเป็นคนละมุมคนละขั้วมากขึ้น อันนี้ก็เป็นผลกระทบของอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ที่มันทำให้ทุกวันนี้คนคิดกันคนละขั้วมากขึ้นแตกแยกกันมากขึ้น แทนที่จะทำให้คนมีความเห็นที่กว้างมีมุมมองที่หลากหลายเพราะเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร แต่มันตรงข้ามคนรับรู้แต่เรื่องเดียวด้านเดียวตลอดเพราะว่าเดี๋ยวนี้เราเลือกได้ว่าเราจะฟังเราจะดูหรือเราจะเห็นเรื่องอะไรไม่เหมือนสมัยก่อน ถึงแม้ไม่อยากไม่ชอบแต่มันก็โผล่ให้เราเห็น เช่น โทรทัศน์มันก็มีหลากหลาย หนังสือพิมพ์ก็มีหลากหลาย ถึงไม่ชอบแต่ก็ต้องเห็นต้องดูก็ทำให้ได้รับอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง
นี้คือสภาพที่ตอกย้ำว่า อัตตาหรืออคติของคนมากขึ้น ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน เราก็จะยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเชื่อในตัวเองมากขึ้นว่ามันถูก และจะถอนตัวออกจากกับดักแห่งความดีไม่ได้ หรือถอนตัวจากกับดักความยึดมั่นถือมั่นได้ยาก