แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วิถีชีวิตและกิจวัตรของที่นี่ มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว ก็จะเป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็คือตื่นตีสาม ตีสามครึ่ง ตีสี่ทำวัตร ฟังธรรม เสร็จแล้วถ้าเป็นพระก็เตรียมบิณฑบาต ถ้าเป็นญาติโยม แม่ชีก็ทำความสะอาดเสนาสนะ ทำอาหาร จากนั้นก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติ แล้วก็ถึงเวลาอาหารเย็นอาหารเพล เสร็จแล้วก็ปฏิบัติจนถึงเย็นก็ทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรม แล้วก็ปฏิบัติจนเข้านอน แล้วกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ เหมือนเดิมเป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า ไม่ว่าวันจันทร์หรือวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ไม่เหมือนกับชีวิตของพวกเราที่บ้าน อย่างน้อย ๆ วันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่เหมือนวันจันทร์ถึงศุกร์ ที่นี่ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันตรุษจีน วันคริสต์มาส วันสิ้นปี กิจวัตรก็ยังไม่แตกต่างไปจากที่พูดมา เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หลายคนตอนที่มาใหม่ ๆ ก็รู้สึกว่าวันแต่ละวันผ่านไปอย่างเชื่องช้า จากเช้ากว่าจะถึงบ่ายก็นาน จากบ่ายไปจนถึงเย็นก็นาน แล้วก็รอคอยว่าเมื่อไหร่จะเข้านอน แต่เมื่อเข้านอนเสร็จก็ต้องตื่นมาพบกับความจริงว่าถึงเวลาตีสามก็ต้องกลับมาทำกิจวัตรเหมือนเดิมเพื่อจะอยู่ให้ถึงค่ำ เข้านอน แล้วก็ตื่นขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้ หลายคนก็จะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ยิ่งการปฏิบัติก็ไม่ได้มีอะไรนอกจากยกมือเป็นจังหวะไปมา 14 หรือ 15 จังหวะซ้ำแล้วซ้ำเล่า เดินจงกรมก็ไปกลับไปกลับ สิ่งที่เห็นก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เช้า กลางวัน เย็น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหมือนเดิมตลอดทั้งวัน ไม่เหมือนกับชีวิตของเราในเมือง แต่ละชั่วโมงมันมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ มีการเคลื่อนไหว มีความเปลี่ยนแปลง มีข้อมูลข่าวสารเข้ามาอย่างน้อยทุกต้นชั่วโมง เรียกว่ามากันทั้งวัน ถ้าใครมีไลน์ก็ได้ยินเสียงปิ๊ง ปิ๊ง ปิ๊ง ดังทั้งวัน แต่ที่นี่ก็ไม่มีอะไรนอกจากการปฏิบัติ ยกมือไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เดินจงกรมกลับไปกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายคนก็จะรู้สึกเบื่อ มาแค่สองสามวันก็เบื่อแล้ว โดยเฉพาะสมัยนี้เราชอบอะไรที่ใหม่ ๆ อะไรที่ซ้ำเดิมเราจะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เสื้อผ้าก็ต้องเปลี่ยนอยู่เรื่อย เคสใส่โทรศัพท์มือถือก็ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ แม้แต่หน้าโปรไฟล์ในเฟสบุคก็เปลี่ยน บางคนเปลี่ยนกันแทบทุกอาทิตย์
สมัยนี้เรานิยมสิ่งใหม่ ๆ อะไรที่มันเหมือนเดิม เรารู้สึกว่ามันซ้ำซากจำเจ เราไม่ค่อยให้ความรู้สึกที่ดีกับสิ่งที่ทำอะไรซ้ำ ๆ เท่าไหร่ แต่ที่จริงชีวิตคนเราอยู่ได้เพราะความซ้ำไปซ้ำมานี่แหละ เราอยู่ได้เพราะลมหายใจ และลมหายใจเราก็มีแค่เข้ากับออกเท่านั้น หัวใจของเราก็เหมือนกัน มันก็เต้นเข้าเต้นออก เข้าออกเข้าออกนั่นแหละ ถ้าหากว่าลมหายใจของเราเกิดแปรเปลี่ยนไป อันนี้แหละเป็นปัญหา หรือการที่หัวใจของเราเกิดเต้นผิดปกติไม่เหมือนเดิม อันนี้ปัญหาแล้ว เราต้องขอบคุณความซ้ำ ซ้ำเดิม เพราะมันทำให้เราอยู่ได้ มันทำให้เรามีชีวิตได้ต่อไป กินข้าวเราก็กินทุกวัน ไม่กินก็ไม่ได้ เรากินข้าวมาตั้งแต่เล็ก แล้วก็ต้องกินข้าวต่อไปจนแก่ตาย ถึงแม้บางครั้งอาจจะเลี่ยงไปกินขนมปัง ไปกินก๋วยเตี๋ยว แต่หากว่าจะต้องกินข้าว เราก็กินได้ ถ้าชีวิตเราต้องเปลี่ยนไปกินโน่นกินนี่ไม่ให้มันซ้ำวันก็คงจะยุ่งยาก เราเป็นหนี้บุญคุณความซ้ำเดิมนี่แหละ ถ้ามีความผิดแปลกไปจากเดิมเมื่อไหร่ นี่แหละคือปัญหา
ในการเรียนรู้ของคนเราก็ต้องอาศัยการทำอะไรซ้ำ ๆ สมัยที่เราเรียนก.ไก่ ข.ไข่ กว่าจะเขียนก.ไก่ ข.ไข่ได้ เราต้องเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่สิบหรือกี่ร้อยครั้ง ลองนึกภาพตอนเราเป็นเด็กเริ่มเขียน ก.ไก่ กว่าจะเขียนเป็นตัวและตรงต้องเขียนแล้วเขียนอีกเป็นร้อยครั้ง แล้วก็ต้องเขียนให้มากกว่านั้นเพื่อจะเขียนให้ได้สวย ตอนเด็ก ๆ เรียนอนุบาลแยกไม่ออกระหว่าง ว.แหวน กับ อ.อ่าง เพราะว.แหวน กับ อ.อ่างมันเหมือนกันเลย แต่พอเราลงมือเขียนก็รู้ว่า ว.แหวน กับ อ.อ่างมันต่างกันมากทีเดียว การเรียนรู้ของคนเรา ความรู้ของคนเรา เกิดจากการทำอะไรซ้ำ ๆ สูตรคูณกว่าจะจำได้ขึ้นใจได้ก็ต้องท่องแล้วท่องอีก ภาษาต่างประเทศอย่างภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ศัพท์แต่ละตัวกว่าจะจำได้ก็ต้องเปิดพจนานุกรมซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้กี่สิบครั้ง ไม่ต้องพูดถึงการเขียนให้เป็นตัว เราเป็นหนี้บุญคุณการทำอะไรซ้ำ ๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาที่นี่ก็ให้เรามองกิจวัตร วิถีชีวิต และการทำอะไรซ้ำ ๆ ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำให้ชีวิตจิตใจของเราเจริญงอกงาม และยิ่งการปฏิบัติทางจิตลึกด้วยแล้ว มันจำเป็นมากเลยที่ต้องทำซ้ำ ๆ การยกมือหรือการเดินมันก็เป็นเพียงแค่อุบาย เป็นตัวช่วยเพื่อทำให้ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว และทำให้ใจเรามีแบบฝึกหัดในการที่จะรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ อย่างที่ได้บอกไว้วันแรก ๆ ว่านิสัยเดิมของใจเรา มันเป็นนิสัยที่พาไปสู่ความหลง ถ้าเปรียบเหมือนกับกระแสน้ำก็เป็นกระแสที่นำไปสู่ความทุกข์ แล้วเราทำอย่างนั้นสะสมนิสัยแบบนั้นจนกระทั่งมันเหมือน กับร่องน้ำใหญ่มันกลายเป็นแม่น้ำไปแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนทิศทางของกระแสจิตจากที่ไหลไปสู่ความหลงให้มันไหลไปสู่ความรู้ตัว จากที่ไหลไปสู่ความทุกข์ให้มันไหลไปสู่ความสุข ร่องน้ำนี้เราต้องทำเอง ร่องน้ำใหม่เราจ้างใครมาทำไม่ได้ ต้องขุดแล้วขุดอีกมันก็ต้องทำซ้ำไปซ้ำมานี่แหละ การขุดร่องน้ำสายใหม่ไม่มีเครื่องทุ่นแรง ขุดไปจอบทีละจอบทีละจอบ วันหนึ่งอาจจะได้สัก 200-300 จอบ วันหน้าก็ทำใหม่จนกระทั่งร่องน้ำใหม่ค่อย ๆ ใหญ่และลึกขึ้นแล้วมันก็จะชักนำให้กระแสจิตซึ่งเปรียบเหมือนกระแสน้ำมันไหลไปสู่ร่องใหม่ ร่องแห่งความรู้ตัว ร่องแห่งความสุข และร่องมันก็จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นทางเดินของจิต เกิดเป็นนิสัยใหม่ขึ้นมา ของแบบนี้ต้องทำเองทั้งนั้น ต้องทำเอง แต่ขอให้เราทำด้วยความใส่ใจ จะไปนึกเบื่อมันง่าย ๆ เอาใจใส่ลงไปในขณะที่เรายกมือแต่ละจังหวะ เอาใจใส่ลงไปในขณะที่เราเดินแต่ละก้าว จริง ๆ แล้วแต่ละขณะที่เรายกมือ แต่ละก้าวที่เราเดินมันไม่เคยซ้ำเดิมเลย ถ้าเราไม่สักแต่ว่าทำ เอาใจใส่ลงไปด้วย มันจะเป็นแต่ละขณะที่ใหม่เสมอ
เมื่อเช้าได้อ่านเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งเขาถือว่าเป็นเซียนหรือเป็นเทพด้านเทมปุระ แกทำเทมปุระตั้งแต่อายุ 15 จนถึงปัจจุบันก็ 60 กว่าแล้ว ใช้เวลา 50 ปี แล้วแกก็ทำได้เยี่ยมยอดมาก คนก็ชม เสิร์ฟแต่ละคราวก็ 3,000-4,000 บาท แกบอกว่าแกทำเทมปุระมาประมาณ 20 ล้านครั้ง คำนวณดูก็อาจจะเว่อร์ไปสักหน่อย 20 ล้านครั้งสำหรับเวลา 50 สิบปี เอาว่าแค่ 2 ล้านครั้งหรือ 1 ล้านครั้งก็พอแล้ว แต่แม้กระนั้นก็ถือว่าเยอะ คน ๆ หนึ่งทำเทมปุระ 1 ล้านครั้ง ทำได้อย่างไร เรายกมือสร้างจังหวะ ผ่านไปสองสามวันยังไม่รู้จะถึงหมื่นครั้งหรือเปล่า เขาทำไปแล้ว 2 ล้านครั้งในเวลา 40-50 ปี แต่เขาทำอย่างมีความสุข ทุกเช้าก็ทำเหมือนเดิมนั่นแหละ เช้าจรดเย็นทำเทมปุระอย่างเดียวเลย ไม่ได้ย้ายไปทำซูชิ ไปทำก๋วยเตี๋ยว อูด้งอะไรเลย แต่เขาก็มีความสุขและทำได้ดีด้วย เพราะแต่ละจานที่เขาเสิร์ฟคนก็ชม เพราะเขาใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่ วัสดุ อุปกรณ์ วิธีการแล่ วิธีการชุบแป้ง เขาทำได้อย่างไรในเมื่อทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ๆ เพราะเขามี “ฉันทะ” เขาใส่ใจลงไป เอาใจใส่ลงไปมันก็เกิดความสงบเกิดความเพลิน แล้วก็คอยดูแลคอยสอดส่องว่าจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นกว่าเดิมเรียกว่ามี “วิมังสา”
อันที่จริงการเจริญสติของเรามันทำง่ายกว่านั้น เพราะเราไม่ได้มีเดิมพันอะไรเท่าไหร่ เราจะทำดีทำไม่ดีก็ไม่ต้องห่วงว่าจะมีคนต่อว่าหรือเปล่า ไม่เหมือนทำอาหาร ทำไม่ดีก็มีคนต่อว่า เราก็ต้องคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน แต่นี่เราทำแบบสบาย ๆ พยายามเติมฉันทะลงไปในการปฏิบัติของเราแต่ละขณะ ๆ เติมใจใส่ลงไปในแต่ละขณะ มันจะไม่ใช่กลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ แต่ใหม่ ๆ ก็ธรรมดาที่เราอาจจะเบื่อ เพราะว่าจิตของเราเรียกว่าถูกกระตุ้นเร้ามาจนกระทั่งมันติดแล้ว มันติดสิ่งกระตุ้นเร้า เราเสพติดสิ่งกระตุ้นเร้าโดยเราไม่รู้ตัว สิ่งกระตุ้นเร้าก็หมายถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใหม่ ๆ ที่มันระดมใส่เข้ามาสู่การรับรู้ของเราตลอด 18 ชั่วโมงที่ตื่นก็ว่าได้ โดยเฉพาะชีวิตคนในเมืองจะมีสิ่งใหม่ ๆ มากระตุ้นเร้า แม้บางอย่างเราจะไม่ชอบ เช่น เสียงดัง หลายคนรำคาญมากเลยนะอยู่ในกรุงเทพฯ เสียงมันดัง แต่พอมาอยู่ที่นี่ใจมันจะโหยหาเสียงดัง ไม่มีเสียงดังแล้วนอนไม่หลับ จึงรู้ว่าคนเราก็ติดเสียงดัง หลายคนรู้สึกว่าข้อมูลข่าวสารมันเยอะท่วมท้นไปหมด ไม่เอาแล้ว มาอยู่วัดดีกว่ามาปลีกตัวมาอยู่ป่าดีกว่า แต่พอไม่มีข้อมูลข่าวสารเข้ามาสู่การรับรู้เลย มันหงอย เราเสพติดรูป รส กลิ่น เสียง หรือว่าแสงสีโดยที่ไม่รู้ตัว มันเร้ามันกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งวัน เราบอกว่ามันวุ่นวายแต่พอเรามาที่นี่พอไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้ามันเป็นอย่างไร เราก็จะหงอย เราก็จะง่วง เราก็จะเริ่มเบื่อ อย่างนี้อาตมาเรียกว่าเป็นการลงแดงเป็นอาการลงแดงทางผัสสะ คนที่ติดบุหรี่พอไม่ได้เสพบุหรี่ ไม่ได้สูบบุหรี่ คนที่ติดกาแฟพอไม่ได้กินกาแฟ คนที่ติดเหล้าพอไม่ได้กินเหล้ามันจะมีอาการบางอย่าง หงอยเหงาหรือกระสับกระส่าย ทุรนทุราย คนที่ติดในผัสสะสิ่งเร้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย พอมาอยู่ในที่แบบนี้มันก็จะมีอาการคล้ายกับคนที่ลงแดง พอไม่ได้เสพแล้วมันก็จะหงอยจะเหงา มันก็จะมีอาการว้าวุ่นกระสับ กระส่าย ให้รู้ว่ามันธรรมดาอาการลงแดงไม่นานก็จะหายไป แล้วเราก็จะเริ่มคุ้นกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีสิ่งเร้า แต่ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านมันจะไม่ง่ายเสมอ
การเปลี่ยนผ่านทุกอย่างมันเป็นเรื่องยาก คนที่นอนดึกตื่นสายกว่าจะนอนตื่นเช้าได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านมันยาก มันต้องต่อสู้กับนิสัยความเคยชินเดิม ๆ แต่ว่าในที่สุดพอผ่านมาได้มันก็จะรู้สึกสบาย การตื่นเช้ากลายเป็นเรื่องง่าย ใจเรามันติดอารมณ์หมายถึงติดผัสสะที่มากระตุ้นเร้า พอไม่มีผัสสะใหม่ ๆ ไม่มีสิ่งเร้าใหม่ ๆ เสียง สี ข้อมูลข่าวสาร จิตมันก็จะเริ่มในแง่หนึ่งมันก็ง่วง แต่มันก็จะหาทางกระตุ้นเร้าตัวมันเองโดยการนึกโน่นนึกนี่ ถ้าไม่มีของใหม่เข้ามา มันก็จะเอาของเก่ามากระตุ้นเร้าจิต เพราะฉะนั้นหลายคนพบว่าพอมาปฏิบัติที่นี่คิดเยอะแยะไปหมดเลย อันนี้เป็นอาการคล้าย ๆ กับจิตมันเบื่อ แล้วมันก็พยายามแก้ความเบื่อ พยายามที่จะสร้างความแปลกใหม่กระตุ้นให้คลายความเบื่อด้วยการหาเรื่องคิด เอาเรื่องเก่ามาคิดบ้าง เอาเรื่องใหม่มาคิดบ้าง หรือไม่ก็ปรุงแต่งขึ้นมา แล้วมักจะเป็นเรื่องเก่าก็ไม่น้อย หลายคนก็จะคิดย้อนไปถึงสมัยเป็นเด็กเลยก็มี บางอย่างที่เราเคยคิดว่าลืมไปแล้วมันคิดใหม่เอากลับมาคิดได้ คงคล้าย ๆ กับวัวควายพอไม่มีหญ้าอ่อนมากิน ธรรมดามันชอบกินหญ้าอ่อนหญ้าใหม่ พอไม่มีของใหม่กินมันก็จะเอาของเก่าที่เก็บสะสมไว้ออกมากินเรียกว่าเคี้ยวเอื้องสำรอกออกมาสำรอกจากกระเพาะมาเคี้ยวใหม่ในเวลาที่ไม่มีอะไรใหม่ ๆ มากิน
จิตเราก็เหมือนกัน พอไม่มีผัสสะใหม่ ๆ มาให้เสพ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือทางใจ มันก็จะเอาของเก่าคายออกมา ก็คือความทรงจำในอดีตเพื่อมาทำให้มันตื่นตัวขึ้นมา เพราะว่ามันเสพติดก็ต้องหาของมาเสพมาสนองเพื่อให้คลายความอยากรวมทั้งคิดปรุงแต่งสารพัด เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเวลาหลายคนมาปฏิบัติแล้วมันฟุ้งซ่านยิ่งกว่าตอนที่ไม่ได้มาปฏิบัติเสียอีก มันเป็นอาการของใจเป็นธรรมชาติของใจซึ่งมันจะเป็นแบบนั้นไม่นาน สุดท้ายมันก็จะค่อย ๆ เริ่มปรับตัวได้ เริ่มคุ้นเริ่มชินกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีสิ่งเร้าเท่าไหร่ แล้วเราก็จะเริ่มตื่นแล้วทีนี้จากที่เคยง่วงในบรรยากาศที่ไม่มีอะไรมาเร้าเลย หลังจากนั้นพอผ่านไปสามสี่ห้าวันก็จะเริ่มตื่นแล้ว อันนี้ก็จะช่วยทำให้การปฏิบัติของเราราบรื่นขึ้น
เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลอย่าไปวิตกว่าทำไมมันฟุ้งซ่านเหลือเกิน บางทีเปรียบได้เสมือนบ้านหรือว่าศาลาที่ปล่อยให้ฝุ่นมาเกาะเต็มหนาเป็นเซ็น ถึงเวลาที่เราจะกวาดก็ต้องยอมให้ฝุ่นมันฟุ้ง อยากให้ศาลาสะอาด อยากบ้านสะอาดก็ต้องยอมเจอกับความฟุ้งเพราะฝุ่นมันเกาะไว้นาน บางคนกลัวฟุ้งก็เลยปล่อยให้ฝุ่นเกาะอยู่อย่างนั้นและถ้ามันเกาะหนามันก็มีปัญหาส่งผลเสียต่อใจของเรา ต้องยอมที่จะเจอกับความฟุ้งของใจ ถ้าเราต้องการให้ใจสะอาด เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อทำให้จิตสะอาดผ่องแผ้ว แต่ในเมื่อมันมีฝุ่นฟุ้งที่เกาะมานานก็ต้องยอมที่จะให้มันฟุ้งแล้วมันฟุ้งไปสักพักสุดท้ายก็จะได้บ้านที่สะอาด พื้นที่เป็นมันวาวเพราะเรากวาดเราถู การเจริญสติภาวนาก็ทำอย่างนั้นแหละ
แต่ว่าสิ่งที่เราเน้นคือการทำความรู้สึกตัวให้มีสติรู้ทัน หน้าที่ของสติคือความระลึกได้ เมื่อวานก็พูดค้างไปหน่อยว่า สติคือ ความระลึกได้มันมีอยู่ 2 อย่างคือ ระลึกได้เกี่ยวกับสิ่งนอกตัว เช่น จำได้ว่ารถของเรากท.อะไร สีอะไร ยี่ห้ออะไร บ้านเราสร้างเมื่อไหร่ บ้านเรามีกี่ชั้นหรือว่าเรามีลูกกี่คน ลูกเราตอนนี้อยู่ไหน อันนี้มันเป็นเรื่องของความระลึกได้ ซึ่งเราใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน สติอีกอย่างหนึ่งคือ สติที่ระลึกได้เกี่ยวกับเรื่องตัวเอง ไม่ใช่จำได้ว่าเราชื่ออะไร เกิดพ.ศ.อะไร แต่หมายถึงการระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจ ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบันเน้นที่ตัวปัจจุบัน เช่น รู้ว่าตอนนี้กำลังนั่งอยู่หรือถ้าใจลอยเผลอไปก็รู้ทัน รู้ว่าตอนนี้กำลังเครียด รู้ว่าตอนนี้กำลังวิตก มีคนจำนวนไม่น้อยถ้าไม่รู้อารมณ์ของตัวว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นมากขึ้น ถามว่ารู้สึกอย่างไรตอนนี้ ตอบไม่ได้ เอาความคิดมาตอบ รู้สึกว่าตอนนี้อากาศมันอ้าวไปหน่อย อันนั้นมันไม่ใช่ความรู้สึก ตอนนี้รู้สึกอย่างไร เครียด เบาสบาย ง่วง หงุดหงิดหรือว่าหนาวเย็นก็ว่าไป คนเดี๋ยวนี้ตอบความรู้สึกหรืออารมณ์ไม่ได้ว่ารู้สึกหรือมีอารมณ์อย่างไร เพราะว่าเหินห่างแปลกแยกกับตัวเองมากไปสนใจเรื่องนอกตัวเสียเยอะ ความระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจ ระลึกว่ากำลังทำอะไรอยู่ ระลึกว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไรต้องอาศัยความระลึกได้ที่เรียกว่าสติและส่วนใหญ่จะระลึกได้ช้า หลายคนมีความจำแม่นในเรื่องวิชาการวิชาความรู้ จำได้แม่นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเมือง จำเบอร์โทรศัพท์เพื่อนได้ จำวันเกิดของเพื่อนได้ทุกคนเลย แต่ว่าพอให้มาเจริญสติจะเผลอบ่อยมาก จะลืมตัวอยู่บ่อย ๆ เดินจงกรมทีแรกก็รู้ตัวดีแต่เดี๋ยวลืมไปแล้ว ลืมว่ากำลังเดินจงกรมใจลอย ลืมว่ากำลังสร้างจังหวะ รู้แต่ว่าสร้างจังหวะได้แค่ไม่ถึง 10 วินาทีไปเสียแล้ว อันนี้เกิดขึ้นแม้แต่คนที่มีความจำแม่น บางคนเห็นหน้าใครบางคนแค่ครั้งเดียวสนทนาไม่ถึงสองนาที เจอกันอีกครั้ง 5 ปีผ่านไปจำได้ว่าเคยเจอกันที่นั่นที่นี่ อันนี้เรียกว่าสติดี ความจำแม่น
แต่พอเป็นเรื่องสติที่เกี่ยวกับความระลึกได้ในเรื่องกายเรื่องใจก็มักจะลืมง่ายลืมตัวได้ง่าย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะมันเป็นสติคนละประเภท สติประเภทแรกเป็นสติที่เป็นสติธรรมดาสามัญ แต่สติประเภทที่สองโดยเฉพาะสัมมาสติหรือสติปัฏฐานซึ่งประกอบไปด้วยความรู้สึกตัว ในสัมมาสติหรือสติปัฏฐาน ท่านจะบอกว่ามีคำว่า “อาตาปี สัมปชาโน สติมา” ก็แปลว่าสติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัวและความเพียร ถ้ามีสติชนิดนี้แล้วมันจะมีทั้งความเพียรด้วยและมีความความรู้สึกตัวมันจะไม่หลงง่าย อันนี้คือสติปัฏฐานหรือสัมมาสติไม่ใช่สติธรรมดา
ทีนี้ลักษณะความระลึกได้มันจะมีอยู่อีก 2 ประเภทเหมือนกัน การระลึกได้บางอย่างเราต้องตั้งใจนึกถึงจะนึกได้ เช่น ถ้าถามพวกเราว่าเมื่อเช้านี้เรากินอะไรหรือเมื่อวานนี้อาตมาพูดเรื่องอะไรต้องตั้งใจนึกถึงจะระลึกได้ อย่าว่าแต่เมื่อเช้าเลย เมื่อกลางวันเรากินอะไรก็ต้องตั้งใจนึกถึงจะระลึกได้ แต่ความระลึกได้อีกอย่างหนึ่งมันเกิดขึ้นเอง เมื่อวานนี้ก็ยกตัวอย่าง เช่น กำลังอ่านหนังสือเพลิน ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่าเรานัดเพื่อนเอาไว้ว่าจะโทรไปหาเพื่อน 4 โมงเย็น นี่ 5 โมงเย็นแล้ว หรือนึกขึ้นมาได้ว่าเราตั้งน้ำเอาไว้ตั้งเป็นชั่วโมงแล้วลืมตั้งน้ำร้อนเอาไว้ มันนึกขึ้นมาได้เองไม่มีใครบอกหรือกำลังทำงาน กำลังเล่นเฟสอยู่นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ล็อคประตูบ้าน มันนึกขึ้นมาได้เอง อันนี้คือความระลึกได้ซึ่งเราต้องการฝึกให้เกิดกับเรา
ในการปฏิบัติถ้าเราตั้งใจจะนึกจะไปจ้องไปเพ่งนั่นไม่ใช่แล้ว เราจะฝึกเพื่อให้มันระลึกขึ้นมาได้เอง ระลึกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ขณะที่ใจลอยคิดเรื่องนั่นเรื่องนี้ไปเจ็ดแปดเรื่องแล้วจู่ ๆ มันนึกขึ้นมาได้เองว่านี่เรากำลังฟังคำบรรยายอยู่ นี่เรากำลังสร้างจังหวะอยู่หรือว่าเรากำลังกินข้าวอยู่ การระลึกได้แบบนี้ถามว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตอบง่าย ๆ มันเกิดขึ้นเอง แปลว่าเราไปบังคับบัญชามันไม่ได้ จะใช้ความตั้งใจก็ไม่ได้ไม่เหมือนกับตั้งใจนึกว่าตอนเช้าเรากินอะไร อันนี้ตั้งใจนึกก็นึกออกหรือเห็นคำศัพท์คุ้น ๆ นึกสักหน่อยก็นึกได้แล้วคำนี้แปลว่าอะไรอันนี้คือตั้งใจนึก แต่ว่าการระลึกได้แบบผุดขึ้นมาเองอันนี้เราตั้งใจอย่างไรก็ไม่ได้ แต่ว่าเราทำให้มันเกิดขึ้นได้ไวด้วยการปฏิบัติด้วยการเจริญสติซ้ำ ๆ การเจริญสติเราไม่เน้นไม่ได้วัดความก้าวหน้าว่าใจสงบมากหรือน้อย บางคนเข้าใจว่าถ้าใจไม่คิดอะไรแสดงว่าก้าวหน้า
แต่การเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน ท่านเน้นว่ารู้ทันได้ไวหรือเปล่า คิดฟุ้งไป 10 ครั้งแต่รู้ทันได้ไวทุกครั้งก็ถือว่าก้าวหน้า ถือว่าการปฏิบัติมีความก้าวหน้า แต่ถ้าเกิดว่าปฏิบัติไป 10 นาทีแล้วไม่คิดเลยหรือคิดแค่ 2 อย่าง คิดแค่ 2 เรื่อง แต่ว่าทั้ง 2 เรื่องนั้นไม่รู้ทันเลย แล้วกลายเป็น 2 เรื่องที่ยาวเสียด้วย อันนี้ไม่ได้แปลว่าก้าวหน้า หรือแม้แต่สงบแล้วไม่รู้ตัวว่าสงบก็ไม่ถือว่าดีเท่าไหร่ สงบแต่ไม่รู้สงบนี่ไม่ดี โกรธหงุดหงิดแต่รู้ทัน รู้ว่าโกรธ รู้ว่าหงุดหงิดอันนี้กลับดี อะไรเกิดขึ้นกับใจไม่ว่าบวกหรือลบ กุศลหรืออกุศล รู้ทันรู้ไวถือว่าดี อย่าไปโมโหตัวเองหงุดหงิดตัวเองว่าคิดมากเหลือเกิน อันนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าคิดแล้วรู้ทันได้ไวไหม แล้วคำว่าไวถามว่าทำอย่างไรไว ก็ตอบยากเพราะว่ามันเกิดขึ้นเอง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นเองในความหมายที่ไม่มีเหตุปัจจัย มันมีเหตุปัจจัยคือจากการที่เราฝึกซ้อมบ่อย ๆ มันคล้ายกับการท่องศัพท์แล้วเราท่องบ่อย ๆ หรือท่องอาขยานบ่อยหรือท่องสูตรคูณบ่อย ๆ พอเห็นปุ๊บเรานึกได้เลย มันเกิดจากการทำซ้ำ ๆ เราท่องศัพท์บ่อย ๆ ทีแรกก็นึกออกตั้งใจนึก แต่พอเราท่องจนมันจำใส่ใจพอเห็นปุ๊บมันนึกออกเลย อาขยานสูตรคูณก็เหมือนกันแต่ก่อนก็ต้องท่องเหมือนกับเด็ก ๆ สองแปดสิบหก ๆ สองเก้าสิบแปด แต่พอเราจำจนคล่อง พอไปซื้อของราคา 9 บาท 2 ชิ้นเท่าไหร่ มันออกมาเองเลย 18 อันนี้คล้าย ๆ กัน คือมันระลึกรู้ได้ไวเพราะอาศัยการฝึก และการฝึกต้องทำแบบสบาย ๆ อย่าไปทำด้วยความอยาก
หลวงพ่อเทียนท่านบอกให้ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ ทำเล่น ๆ คือว่าทำโดยไม่หวังผลหรือว่าไม่คาดหวัง มันจะฟุ้งก็ไม่เป็นไร ฟุ้งไปก็เอาใหม่ทำใหม่ เหมือนกับเวลาเราเล่นกีฬา เล่นแพ้ก็ไม่เป็นไรก็ทำใหม่ก็เล่นใหม่ ใจมันจะเผลอจะลอยไปอย่างไรก็ไม่เป็นไรเริ่มใหม่ ทุกอย่างเริ่มใหม่หมดช่างมันไม่เป็นไร อันนี้ก็เหมือนกันเป็นคาถาที่ควรเอามาใช้บ่อย ๆ “ช่างมัน ไม่เป็นไร” อย่าไปโกรธตัวเอง อย่าไปหงุดหงิดตัวเอง ทำไปเรื่อย ๆ และอย่าทำด้วยความอยากเพราะทำด้วยความอยาก จิตมันจะคอยจ้องจะคอยบังคับจะคอยเพ่ง อยากให้อะไร อยากให้สงบอยากให้สงบก็ต้องพยายามบังคับใจไม่ให้คิด พยายามไปจ้องไปเพ่งเพื่อว่าจิตมันจะได้ไม่ไปฟุ้งซ่านเหมือนกับไปมัดจิตมันเอาไว้เหมือนกับไปล่ามหมาน้อยเอาไว้ไม่ให้ออกนอกบ้าน ทำไปนาน ๆ ก็จะเครียด ปัญหาของนักปฏิบัติคือว่าจริงจังมากไป ต้องทำเล่น ๆ มันจะฟุ้งบ้างก็ไม่เป็นไร มันจะหลงบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ก็ค่อยทำ
ทำตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน นี่เราทำจริง ๆ ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ หรือว่าถ้าพูดแบบภาษาอาตมาก็คือว่า “ทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส” ทำเต็มที่ ไม่ใช่แค่เอาใจใส่อยู่กับปัจจุบันแค่นั้น แต่ทำมันทั้งวันเลย ทำเต็มที่ ทำทั้งวันเลย แต่ไม่ซีเรียส ก็คือว่าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อย ๆ ประกอบเหตุให้ดี ผลมันย่อมทนไม่ได้ต้องออกมาเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปสนใจผล ให้ประกอบเหตุดีกว่า ที่เราเครียดในการทำเพราะเราไปสนใจผล เราไปสนใจสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ใจเราไม่ได้อยู่กับอนาคต ให้ใจเราอยู่กับปัจจุบัน ปลูกฉันทะใส่ฉันทะลงไปในการยกมือสร้างจังหวะ ปลูกฉันทะใส่ฉันทะลงไปในการปฏิบัติ เติมใจใส่ลงไปในทุกการกระทำไม่ว่าสร้างจังหวะเดินจงกรม อาบน้ำ ล้างหน้า ถูฟัน กวาดพื้น เก็บที่นอน แม้ว่าจะเป็นงานเล็กงานน้อยก็อย่าไปดูถูกดูแคลน เอาใจใส่ลงไปในทุกอย่าง อะไรก็ตามถ้าเราเอาใจใส่ลงไปแล้วมันกลายเป็นการปฏิบัติธรรมขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นการเก็บที่นอน ไม่ว่าจะเป็นการกวาดพื้น ถูศาลาหรือถูฟัน การปฏิบัติธรรมมันไม่จำเป็นว่าต้องทำที่นี่หรือที่วัด ไม่ว่าทำอะไรเอาใจใส่ลงไปเอาฉันทะใส่ลงไปเติมลงไปก็จะกลายเป็นการปฏิบัติธรรมทันที