แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีเรื่องเล่าว่า วัยรุ่นคนหนึ่งไปซื้อบุหรี่ ลุงซึ่งเป็นเจ้าของร้านทอนเงินให้สี่สิบบาท ตอนที่วัยรุ่นซื้อบุหรี่ ก็ยื่นเงินไปให้หนึ่งร้อย บุหรี่มันก็เจ็ดสิบที่จริงก็น่าจะทอนไปสามสิบ แต่แกคงเผลอ ทอนไปสี่สิบ วัยรุ่นคนนั้น ทีแรกก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ กำลังจะเดินออกจากร้าน ก็ได้ยินเสียงลุงตะโกนบอกมาว่า “กลับมาก่อน แกลืมบุหรี่เอาไว้ ลืมซองบุหรี่เอาไว้” วัยรุ่นคนนั้นก็กลับไปเอาบุหรี่ แล้วก็เห็นว่า ลุงคนนี้คนดีนะ มีน้ำใจเลยคืนเงินสิบบาทบอกกับลุงว่า “เมื่อกี้ลุงทอนเงินเกินมาสิบบาท ซาบซึ้งน้ำใจที่ลุงอุตส่าห์เรียกมาเอาซองบุหรี่ เลยคืนให้สิบบาท”
ลุงก็เห็นว่า เออ วัยรุ่นคนนี้คนดีนะเลยบอกว่า “งั้นเอาบุหรี่คืนมา ที่ให้ไปเมื่อกี้นี้เป็นของปลอม เอาของจริงไปก็แล้วกัน” ก็ยื่นบุหรี่ของจริงให้ วัยรุ่นก็ยิ่งซาบซึ้งใหญ่ ซาบซึ้งในน้ำใจของลุงคนนี้ ก็ขอบคุณใหญ่ แล้วจะเดินไป ลุงก็บอกว่า “ให้ระวังนะ ของมีค่านี่ให้ระวังเอาไว้” แล้วก็คืนกระเป๋าเงินมาให้ ลุงไปล้วงกระเป๋าเงินจากหนุ่มคนนั้นไปเมื่อไหร่ไม่รู้ วัยรุ่นก็ยิ่งซาบซึ้งใหญ่ เลยหยิบสร้อยมือทองคืนให้ลุง และบอกว่า “ลุงก็ระวังเหมือนกันนะของมีค่าเนี่ย เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพมันเยอะ” คือต่างคนต่างก็ทันกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าที่เขาส่งเผยแพร่กันทางไลน์ เอาไว้อ่านกันตลก ๆ แต่มันก็มีสาระของมัน เพราะว่าพอคนหนึ่งเขาเริ่มทำความดีให้กับอีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็เริ่มทำความดีเป็นการตอบแทน
ตอนที่ลุงจ่ายเงินทอนเกินไปสิบบาท แทนที่จะทอนสามสิบก็ทอนสี่สิบ หนุ่มคนนั้นก็คิดจะโกงแล้ว แต่ว่าเปลี่ยนใจ พอลุงมาบอกว่าลืมซองบุหรี่เอาไว้ให้มาเอาคืน พอได้ไปแกก็ เออ ลุงเขาดีนะ เลยคืนเงิน สิบบาทให้ พอลุงได้สิบบาทคืนก็ดีใจ เออไอ้นี่เป็นคนดีแฮะ เลยบอกความจริงให้แล้วกันว่าบุหรี่ที่เอาไป มันบุหรี่ปลอมยื่นบุหรี่จริงให้ หนุ่มคนนั้นก็ซาบซึ้งน้ำใจ เลยบอกว่าแบงก์ที่ให้ไป แบงก์ร้อยเมื่อกี้มันก็ปลอมเหมือนกัน ขอคืนนะ แล้วก็ยื่นแบงก์จริงให้
ลุงก็ยิ่งดีใจใหญ่ เออ ไอ้นี่มันคนดี เมื่อกี้ล้วงกระเป๋าเงินก็เลยคืนให้ พอล้วงกระเป๋าคืนให้ หนุ่มคนนั้นก็ยอมคืนสร้อยมือทองของลุง ต่างคนต่างคิดจะหาประโยชน์จากกัน แต่สุดท้ายก็ยอมเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะว่ามีคนหนึ่งเริ่มทำความดีก่อน อีกคนเลยทำความดีต่อ พอได้ความเอื้อเฟื้อเขาก็เลยตอบแทนด้วยความดีมากขึ้น อันนี้สอนว่าความดีของเรา สามารถจะดึงความดีของคนอื่นออกมาจากใจเขาได้ แม้สองคนนี้คิดจะเอาประโยชน์จากกัน แต่สุดท้ายก็ช่วยเหลือกัน ถ้าเราหาสาระจากเรื่องแบบนี้ ก็เป็นคติสอนใจว่าคนเราควรทำดี ต่อกัน แม้กับคนที่เขาเอาเปรียบเราก็เช่นเดียวกัน ควรใช้ความดีของเราเอาชนะใจเขา เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ เอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้ เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เอาชนะคำเท็จด้วยความจริง ที่เราสวดพาหุงเมื่อสักครู่นี้เป็นเรื่องชัยชนะของพระพุทธเจ้า 8 ประการ ชัยชนะของพระองค์ที่กระทำต่อคน สัตว์ มาร พญานาค ยักษ์ และพระพรหม คนก็มีตั้งแต่องคุลีมาล นางจิญจมาณวิกา สัตว์ก็ช้างนาราคีรี
นาราคีรีหมายจะทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงตาย แต่พระองค์ก็ชนะด้วยเมตตา นางจิญจมาณวิกาพยายามใส่ร้ายพระพุทธเจ้าว่าทำให้ตัวเองท้อง ทำลายชื่อเสียงกะว่าจะทำให้ป่นปี้ แต่พระองค์ก็ไม่โกรธ ใช้ความสงบ ใช้สันติสามารถเอาชนะนางจิญจมาณวิกาได้ หรือองคุลีมาลก็เหมือนกัน พระองค์ก็ใช้ธรรมะเอาชนะ ฉะนั้นเวลาเราสวด ไม่ควรสวดเพื่อเอาความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ บางคนมีความเชื่อว่าสวดทุกวัน ๆ จะรอดพ้นจากอันตราย เอาชนะมาร เอาชนะศัตรูได้ ที่จริงอานิสงส์ของการสวดก็มีอยู่ในบทสวดนี้ อย่างที่เมื่อวานที่เราแปล ก็มีข้อความตอนสุดท้ายว่า ถ้าสวดทุกวันสามารถจะมีชัยชนะเหนือศัตรู ประสบความสุขความเจริญได้
ที่เขาสวดเพื่อให้ใจสงบ แต่ถ้าเรารู้ความหมายแล้วเราทำตามก็จะได้บทเรียนได้ข้อเตือนใจว่า ต้องใช้ธรรมะเอาชนะศัตรู ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีฤทธิ์อย่างพระพุทธเจ้า ที่สามารถเอาชนะพญานาคได้ แต่ว่าเอาแค่คนด้วยกัน หรือสัตว์เราก็สามารถใช้ธรรมะ ใช้เมตตา ใช้ขันติ หรือว่าใช้สติ ใช้ความนิ่งเอาชนะเขา มันเป็นเรื่องที่ ไม่ยาก ถ้าเราฝึกเอาไว้ หรือเราทดลองทำบ้างในชีวิตประจำวัน คนที่เขาเห็นแก่ตัว คนที่เขาเอาเปรียบ คนที่เขาดุด่าว่ากล่าว มีเพื่อนคนนึงชื่อโจน จันได ตอนนี้เขามีชื่อมาก เป็นคนที่บุกเบิกเรื่องการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ด้วยการพึ่งตัวเองปลูกผัก ทำบ้านดิน และพยายามเก็บพันธุ์พืชเอาไว้ เพราะว่ากำลังจะสูญพันธุ์หายไป จากเกษตรพันธสัญญา เกษตรเชิงพาณิชย์ที่ปลูกพืชไม่กี่อย่าง พันธุ์ไม้พันธ์ุพืชที่มีค่าหลายอย่างกำลังจะสูญหายไป เพราะคนไม่ปลูกกัน ที่ไม่ปลูกเพราะว่าขายไม่ออก
โจนเขาเล่าว่า ตอนที่เขาเป็นหนุ่มอยากร่ำอยากรวย ก็ไปหากินในเมืองได้ไปเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม เป็นโรงแรมหรู แต่ว่าเจ้านายของเขาที่เป็นผู้หญิง ซึ่งไม่เคยเจอกันมาก่อนเลย พอเห็นหน้าเขาก็ด่าเลย ด่า ๆ ไม่มีใครชอบสักคนแต่ก็ต้องยอมทน วันหนึ่งผู้หญิงคนนี้ให้โจนไปขัดลูกบิดประตูในห้องพัก ของแขก ลูกบิดเป็นทองเหลือง แม่บ้านคนนี้บอกให้ใช้บรัสโซขัด แกก็ขัด ขัดด้วยความตั้งใจ ใกล้จะเสร็จแล้ว ผู้จัดการโรงแรมเดินผ่านมา พอเห็นโจนทำอะไรอยู่ก็ตกใจ แล้วก็ว่าทำอย่างนี้ได้ยังไง ใช้บรัสโซขัดลูกบิด มันขัดไม่ได้ ก็ว่าโจน แม่บ้านซึ่งเป็นคนสั่งให้โจนทำ แทนที่จะแก้ต่างให้โจนก็ผสมโรงด้วย ด่าโจนว่าโง่ ทำอย่างนี้ ได้ยังไง
ทีแรกโจนเขาก็ฉุน แม่บ้านสั่งเขาทำ แต่ว่าตอนนี้มาด่าเขาแล้ว แต่สักพักชั่วขณะนั้นโจนก็ยิ้มให้ ยกมือไหว้ ขอโทษครับ ขอบคุณครับที่แนะนำ และหลังจากนั้นแกก็ไหว้แม่บ้านตลอดเลย ทุกครั้งที่แม่บ้านด่าแก แกก็ไหว้ ขอโทษครับ ไม่ได้ไหว้อย่างเดียวยิ้มให้ด้วย คนก็ไปว่าโจนว่า “บ้าหรือเปล่า ถูกด่าแต่กลับไหว้คนด่า ยิ้มให้ด้วย โง่หรือเปล่า ไปให้เขาข่มให้เขาขี่” แต่ว่าโจนไม่สนใจก็ทำไปเป็นเดือน จนกระทั่งวันหนึ่งแม่บ้าน เรียกเขาไปถามว่า “ฉันสงสัย เวลาฉันด่าเธอ ทำไมเธอถึงยกมือไหว้ฉัน แล้วก็ยิ้มให้ฉัน” โจนบอกว่าที่ไหว้ เพราะขอบคุณ ที่แม่บ้านทำให้เขาหันมาดูจิตดูใจตัวเอง หันมารักษาจิตรักษาใจตัวเอง เพราะเวลาถูกว่า คนธรรมดาก็ย่อมโกรธ แต่ถ้าหากเรามารักษาใจของตัวเราเอง ก็ไม่มีอะไรที่ต้องทุกข์ แกบอกว่าขอบคุณแม่บ้านที่มาช่วยฝึกใจแก ปรากฏว่าหลังจากนั้นแม่บ้านก็เลิกว่าโจนอีกเลย
เรียกว่าใช้ความดีเอาชนะ ใช้ความเมตา ใช้ความถ่อมตัวความอ่อนน้อม แล้วใช้สันติ คนส่วนใหญ่ ถ้าหากถูกด่าก็ด่ากลับ ถ้าไม่ด่าด้วยคำพูดก็ด่าในใจ แต่ถ้าด่าด้วยคำพูด ก็ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน หนักขึ้น เวลาเราศึกษาธรรมะเราสวดบทพาหุง ให้เราระลึกอยู่เสมอว่า ชัยชนะของพระพุทธเจ้าสามารถเป็น ชัยชนะของเราได้ ถ้าเราทำตามพระองค์ ด้วยการใช้ธรรมะด้วยการใช้ความดี ความดีสามารถเอาชนะ ความชั่วได้ ที่จริงเราอาจจะเริ่มต้นจากการให้ทานก็ได้ การให้ทานเป็นวิธีง่ายในการที่จะชนะใจผู้อื่น
มีเพื่อนคนหนึ่งเขาเล่าว่า เขาขายของที่จตุจักรก็ไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้ค้ารายใหม่ ย้ายเข้ามาตรงร้านที่ติดกับเขา มาได้แค่วันสองวันก็เริ่มออกฤทธิ์เอาป้ายขนาดใหญ่ ไม่รู้เป็นป้ายโฆษณา หรือป้ายขายของมาบังร้านเขา บังหน้าร้านหนึ่งในสาม หรือเกือบครึ่งเลย เห็นแบบนี้ก็รู้แล้วว่าคนนี้เป็นคนที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ เพื่อนคนนี้ชื่อพร เขาก็ไม่ออกไปด่า เพราะเขารู้ว่าไม่มีประโยชน์อะไร
วันรุ่งขึ้นเขาออกไปข้างนอก กลับมาเขาก็ซื้อผลไม้ ส้ม องุ่นสองกิโล พอมาถึงก็แวะมาเยี่ยมเพื่อนใหม่ แล้วบอกว่า “ผมออกไปข้างนอก เมื่อสักครู่เห็นผลไม้น่ากินเลยซื้อมาฝาก คิดว่าคุณคงชอบ” เจ้าหมอนั่นชื่อเปี๊ยก สมมติชื่อเปี๊ยก ทีแรกก็ตกใจทำหน้าไม่ถูกเพราะไม่เคยรู้จักกันเลย แต่อยู่ดี ๆ มีเพื่อนซื้อของมาให้ ก็หลุดปากว่า “เกรงใจเฮีย” พรก็บอกว่า “ไม่ต้องเกรงใจเราเพื่อนบ้านกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกันเหมือนเป็นพี่ เป็นน้องกัน” พอพูดแบบนี้แถมซื้อผลไม้ให้ เลยคุ้นเคยกันคุยกันสนิทสนมเหมือนกับรู้จักกันมานาน
วันรุ่งขึ้นพรมาเปิดร้านปรากฏว่า ป้ายโฆษณาที่เคยบังหน้าร้านเขาหายไปแล้ว พรเลยไปถามเปี๊ยก เจ้าของร้านที่อยู่ติดกันว่า “เฮีย ป้ายที่ตั้งไว้หน้าร้าน ตอนนี้มันหายไปแล้ว มันไปไหนเหรอ” เปี๊ยกก็เลยบอกว่า “ไม่ได้ไปไหนหรอก มันก็อยู่ในร้าน” แล้วก็ชี้ให้ดู เอาป้ายเก็บเข้าไปในร้านแล้ว “อ้าว ทำไมเฮียไม่มาวางไว้เหมือนเก่าที่หน้าร้าน” เปี๊ยกบอกว่า “เกรงใจ บังหน้าร้านเฮีย ลูกค้าจะมองไม่เห็นวางไว้อย่างนั้นมันน่าเกลียด เอามาเก็บไว้ในร้านดีกว่า” กลายเป็นว่าคนที่เขาเห็นแก่ตัว แต่พอเขาได้รับความเมตตา ได้รับความเป็นมิตรจากอีกคนหนึ่งเขาก็เปลี่ยนใจ กลับมาแสดงความเมตตาด้วย แสดงความเอื้อเฟื้อด้วย
เรื่องทานนี่สำคัญสามารถเป็นเครื่องสมานน้ำใจได้ และสามารถเอาชนะใจคนที่เขาเห็นแก่ตัวได้ บางทีคนเราที่เห็นแก่ตัว ก็ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนเลว แต่เป็นเพราะความใฝ่ดีในใจเขายังมีพลังน้อย ความเห็นแก่ตัว มีพลังมากกว่า การจะทำให้เขาเป็นคนดีได้หรือทำความดี นั่นก็คือการปลุกพลังฝ่ายดีให้เบ่งบานขึ้นในใจ มีพลังขึ้นมาในใจ และวิธีที่ทำได้คือทำความดีกับเขา พอเราทำดีกับเขามันก็ไปปลุกพลังความใฝ่ดีในใจเขาขึ้นมา ทำให้อยากจะทำดีด้วย เหมือนกับที่วัยรุ่นคนนั้นคืนเงิน พอวัยรุ่นคนนั้นได้ซองบุหรี่จากลุง ก็อยากจะทำความดี ตอบแทน จึงคืนเงินสิบบาทให้ นี่เป็นเรื่องที่เราสามารถเจอได้ในชีวิตประจำวัน ทานเป็นเรื่องช่วยสมานน้ำใจ ช่วยดึงความดีออกมาจากใจของผู้อื่น แล้วก็ดึงความสุขออกมาจากใจเราด้วย เมื่อเราทำแล้วเราก็มีความสุข เรื่องทานควรทำกันทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะฆราวาส พระเองก็ควร อย่าไปคิดว่าพระให้ทานไม่ได้ ยิ่งต้องให้ใหญ่ เพราะพระเป็นผู้รับ ถ้าเราเป็นผู้รับมากเกินไปไม่รู้จักให้ มันจะเห็นแก่ตัว ถึงแม้ไม่มีเงินก็ให้อย่างอื่นได้ ให้ด้วยสิ่งของหรือให้อาหาร
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านน่าสนใจนะตอนที่ท่านเป็นเณร ท่านบวชเรียนตั้งแต่เล็ก เป็นเด็กกำพร้า ยากจนมาบวชเณร วันหนึ่งฉันข้าวเสร็จกำลังล้างบาตรอยู่ ก็มีหมาผอมจรจัดโซซัดโซเซมา เหมือนกับว่าไม่ได้กินอาหารมานาน ท่านไม่รู้จะเอาอาหารที่ไหนให้ เพราะว่าล้างบาตรเสร็จแล้ว ขยะก็ไม่มีอาหาร สงสารก็สงสารหมา ท่านทำยังไงรู้ไหม ท่านเอามือล้วงเข้าไปในคอให้อาเจียนออกมา อาหารที่อยู่ในท้องทั้งอาหารเก่าอาหารใหม่นี่ออกมากองอยู่บนพื้น หมามันเห็นมันก็ดีใจ มาฟุบลงตรงกองอาหารนั้นพอดี มันก็กิน ๆ จนมีเรี่ยวมีแรง แล้วมันก็รู้สึกขอบคุณเณรพุธ เณรไปไหนมันก็เดินตาม มันมีเรี่ยวมีแรงแล้ว เณรเขามีเมตตามากเลย อาหารไม่มีก็พร้อมที่จะสละอาหารในท้องให้หมา เป็นอันว่าวันนั้นทั้งวันเณรก็หิวเลย เพราะว่าอาหารเก่าอาหารใหม่ออกมาหมดแล้ว แต่นี่แสดงถึงน้ำใจ ไม่มีอะไรให้ก็เอาอาหารนี่แหละ นี่ก็เป็นเครื่องฝึกใจได้เหมือนกัน ยิ่งถ้า มีเงินแล้วยิ่งต้องให้
เมื่อสักสี่ห้าปีก่อนมีข่าว พระรูปหนึ่งเป็นเกจิอาจารย์มรณภาพ ปรากฏว่าพอไปเก็บของในกุฏิ พบเงินเป็นธนบัตรแบงก์เล็กแบงก์น้อย สิบบาท ยี่สิบบาท ร้อยบาท ห้าร้อยบาท สมัยนั้นคงยังไม่มีแบงก์พัน ซุกซ่อนอยู่ในกุฏิรวมแล้วประมาณยี่สิบกว่าล้านบาท ใช้เวลานับเป็นวัน หลายคนฟังแล้วสงสัย ท่านเอาเงินมาจากไหน แต่ที่จริงที่น่าสงสัยมากก็คือ ทำไมท่านมีมากขนาดนั้นถึงไม่แบ่งไม่ทำประโยชน์ เก็บเอาไว้ทำไม เป็นเกจิ อาจารย์ก็คงมีคนมาถวายเยอะ มีมากมายขนาดนั้นไม่ใช้ แล้วก็ไม่ทำประโยชน์ด้วย
อันนี้ก็ทำให้นึกถึงในสมัยพุทธกาลที่มีเศรษฐีคนหนึ่ง แกอยู่อย่างยาจก มันไม่ใช่ประหยัดนะ ถึงขั้นตระหนี่เลย กินข้าวปลายหัก อยู่อย่างกระเบียดกระเสียน เสื้อผ้าก็ปุปะ พอตายนี่มีเงินเยอะมาก แต่ไม่มีลูกไม่มีหลานก็เลยถูกเก็บเข้าเป็นของคลังหลวง เรื่องนี้พอพระพุทธเจ้าได้ทราบก็ทรงตรัสว่า นี่คนโง่ มีทรัพย์ไม่รู้จักใช้ประโยชน์ มีทรัพย์ก็ต้องรู้จักใช้เพื่อเลี้ยงตัวหนึ่ง และเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้ทาน แต่พระรูปนี้เกจิอาจารย์มีเงินมากมาย เรียกว่ามหาศาลยี่สิบกว่าล้านบาท แต่ไม่แบ่ง ไม่เกื้อกูล ไม่ทำประโยชน์ เพราะว่ารับอย่างเดียว พอรับอย่างเดียวไม่รู้จักให้ ก็กลายเป็นนิสัยที่ให้ไม่เป็น เก็บอย่างเดียว ถือว่าเป็นคนโง่ชนิดหนึ่ง เป็นคนพาลชนิดหนึ่ง มีทรัพย์แล้วไม่รู้จักใช้ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ฉะนั้นการให้ทานเป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้แต่เป็นพระก็ต้องรู้จักให้ทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของฆราวาสเท่านั้น
นอกจากทานแล้วศีลก็สำคัญ ศีลที่เรามาถือศีลกันก็เพื่อฝึกฝนตน การถือศีลในวันพระไม่ใช่แค่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเจริญเนกขัมมะบารมีด้วย บารมีของพระพุทธศาสนามี 10 ข้อ 3 ข้อแรก ก็คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ
ศีลกับเนกขัมมะต่างกันอย่างไร ศีลคือไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนเนกขัมมะจะว่าไม่เบียดเบียนตัวเองก็ได้ เพราะเสพมากไปกินมากไป มันก็เบียดเบียนตัวเอง คนที่หมกมุ่นแต่ในกาม ถึงแม้ว่าจะไม่ผิดศีลห้า เพราะว่าการเสพกามก็เสพกับคู่ครองของตัวเอง แต่ถ้าไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักหย่อน ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพการกินก็เหมือนกัน กินวันละหลายมื้อ ห้ามื้อ ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เดี๋ยวนี้คนเราเจ็บป่วย เพราะการเสพมากเกินไปนี่แหละ
ศีลห้าเป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่ศีลแปดเป็นเรื่องของการฝึกตนให้อยู่แบบเรียบง่าย ไม่ไปพึ่งพิง ไม่ไปพึ่งความสุขจากกาม ไม่พึ่งกามสุข มีคนหนึ่งเขาเขียนจดหมายมาถามว่า การถือศีลแปดโดยเฉพาะข้อที่สามการไม่เสพเมถุน หรือว่าเมถุนวิรัตนี่เพื่ออะไร เพราะได้ยินว่ามีคนหนึ่งเขาถือศีลแปดไม่ยุ่งกับเมีย ในวันพระ เขาบอกว่าทำแล้วทำให้มีพลัง การที่ไม่เสพเมถุนทำให้เกิดพลังขึ้นมา มีพลังชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะถ้าเสพเมถุนมันเสียพลังไป
ที่จริงจุดมุ่งหมายของการถือศีลแปด โดยเฉพาะข้อสามมันไม่เกี่ยวกับพลัง แต่เป็นเรื่องของการฝึกจิตไม่ให้ไปพึ่งพิงกับกามสุข คนเราต้องการความสุข แต่ถ้าไปพึ่งพิงความสุขจากกามมันไม่เจริญ เพราะมีความสุขที่ปราณีตกว่านั้น คือความสุขที่ออกจากกาม หรือว่าเนกขัมมะ เป็นความสุขที่ปราณีต เป็นความสุขที่เกิดจากการอยู่แบบเรียบง่าย ความสุขจากสมาธิภาวนา ความสุขจากการที่รู้จักสละ รู้จักปล่อยรู้จักวาง คนเราถ้ายังมัวเสพสุข ยังมัวเสพกามสุขอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสุขทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ยากนักที่จะไปพบกับความสุขที่ปราณีต คือ เนกขัมมะสุข ต่อเมื่อเราลองละลองวางกามสุข จะทำให้เราได้มีโอกาสพบกับเนกขัมมะสุขได้ง่ายขึ้น
ใหม่ ๆ ก็ยาก เพราะว่ามันโหยหา ถือศีลแปดก็หิว อยากจะดูหนังฟังเพลง อยากจะเห็นของสวยของงาม ยังมีความหลงความใหลอยู่ แต่พอได้อยู่กับความเรียบง่ายจากการถือศีลแปด จิตใจก็เริ่มสงบลง แล้วก็พบว่าการที่อยู่แบบง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเป็นศีลข้อสามอะพรัหมมะจะริยา ศีลข้อหกการไม่วิกาละโภชะนา การไม่กินอาหารในเวลาวิกาล หรือว่าโดยเฉพาะข้อที่เจ็ดนัจจะคีตะ เรื่องความบันเทิงเริงรมย์ เรื่องเที่ยวเรื่องเล่นก็วางลง ปล่อยวางก็จะเริ่มสัมผัสความสุขที่ประณีต
สมัยนี้ศีลข้อเจ็ดต้องขยายความให้กว้างขึ้น ไม่ใช่หมายถึงการไม่ร้องรำทำเพลง ไม่ดูการละเล่น ไม่ดูละคร รวมไปถึงไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ดูหนังแล้ว ควรจะรวมไปถึงที่เราเคยติดเรื่องอะไรก็ตาม เช่น ติดเฟซบุค ติดไลน์ ติดเกมออนไลน์ พวกนี้ก็ต้องลองเลิกดู หลายคนเลิกไม่ได้ ถ้าไม่ได้เล่นเกมออนไลน์ ไม่ได้เล่นเฟซบุค ก็กระสับกระส่าย วัยรุ่นหลายคนเป็นอย่างนี้ ผู้ใหญ่ก็เริ่มเป็นแล้ว
ถ้าเราไม่รู้จักห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่มีโอกาสพบกับความสุขที่ปราณีตได้ ความสุขที่ไม่ต้องพึ่งรูป รส กลิ่น เสียง ที่น่าพอใจ แต่เป็นความสุขที่เกิดจากชีวิตที่เรียบง่าย เรียกว่าเนกขัมมะสุข ที่ให้ถือศีลแปด ไม่ใช่เพื่อเพิ่มพลังชีวิต หรือว่าเพื่ออะไร แต่เพื่อให้เราได้มีโอกาสเข้าถึงความสุขที่ปราณีต และความสุขที่ปราณีตจะส่งเสริมการทำความดี
ตรงข้ามกับกามสุขถ้าเราไปติดมัน อาจจะส่งเสริมให้ทำชั่วได้ เช่น อยากได้ของก็ไปขโมยเขา เห็นผู้หญิงสวยเกิดราคะขึ้นมาก็ไปชำเราเขา แต่ถ้าเกิดว่าปรารถนาความสุขที่ปราณีต แล้วได้สัมผัสมัน จิตจะเป็นกุศล จะคิดถึงแต่การทำความดีไม่อยากทำชั่ว เพราะว่าทำชั่วแล้ว ทำให้จิตกระด้างจิตหยาบไม่สามารถสัมผัสกับความสุขที่ปราณีตได้
เพราะฉะนั้นการถือศีลอุโบสถ ถือศีลแปดให้เราเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของความขลัง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการสะสมบุญ เพื่อไปเกิดเป็นเทวดาในชาติหน้า หรือเพื่อจะได้มั่งมี มีโชคมีลาภ แต่เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจของเราให้ปราณีต ให้เราไม่เสพติดในกามสุข รู้จักวางมันลง เพื่อจิตใจเราจะได้เป็นอิสระ และสามารถเข้าถึงความสุขที่ปราณีตที่เป็นกุศล ช่วยส่งเสริมการทำความดีให้งอกงามมากขึ้น แล้วมันก็จะไปส่งเสริมภาวนา พอได้พบกับเนกขัมมะสุขแล้ว ก็จะมีแรงส่งให้อยากจะภาวนา ที่ภาวนาไม่ได้ เพราะว่ามันยังติดในกามอยู่ ติดในของอร่อย อยากจะฟังเพลง อยากจะไปเที่ยวห้าง อยากจะเล่นเกม มันเลยนั่งนิ่ง ๆ ภาวนาไม่ได้ ก็ต้องฝึกนะ ศีลแปดช่วยได้ ทำให้ใจเราสงบ ทำให้ใจเราเย็น เป็นพื้นฐานสำหรับการภาวนา