แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีญาติโยมหลายคนหลายคณะเวลามาเยี่ยมอาตมา คุยกันได้สักพักเขาก็จะขอให้แสดงธรรม เขาอยากจะฟังธรรมก็เรียกว่ามีความตั้งใจ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเกิดว่าก่อนจะมาก็เตรียมตัวสักหน่อย ทำการบ้านว่าอยากจะฟังเรื่องอะไร บางทีไม่ได้คิดพอมาถึงมีเวลาไม่นาน ขอให้อาตมาแสดงธรรมเหมือนกับเป็นเทป เปิดปุ๊บติดปั๊บ ควรจะเตรียมตัวมาสักหน่อย อยากจะฟังเรื่องอะไรหรืออย่างน้อย ๆ ก็เตรียมคำถามมาว่าอยากจะถามเรื่องอะไร ส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมมา อุตส่าห์เดินทางไกลจากกรุงเทพฯก็มี พอถามว่าอยากจะให้แสดงธรรมเรื่องอะไรก็ตอบไม่ได้ มาสนทนากันแบบนี้ก็ควรจะได้ฟังเรื่องที่สนใจ ทีนี้บางคณะอาตมาก็ไม่ได้สนองศรัทธาเต็มที่ ก็อยากจะให้แสดงธรรมก็ไม่แสดง แต่ถามกลับว่ามีอะไรอยากจะรู้หรือว่ามีคำถามไหม หลายคณะพอเจอคำถามนี้ก็ตอบไม่ได้ว่าจะถามอะไร เพราะคนไทยเราก็ไม่ได้ชอบตั้งคำถามเท่าไหร่ อาจจะติดนิสัยมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน อาจารย์บรรยายอย่างเดียว อันนี้เหมือนกับว่าต้องรอให้คนมาป้อน ที่จริงแล้วถ้าจะมาหาพระ อยากจะมาฟังธรรมก็ควรจะคิดสักหน่อยว่าอยากจะฟังเรื่องอะไร หรือถ้าให้ดีก็เตรียมคำถามมา เพราะว่าโอกาสที่จะได้มาถึงวัดป่าสุคะโตไม่ใช่ว่าง่ายเสียเวลาหลายชั่วโมง แล้วก็บางทีก็ได้แค่รูปถ่ายกลับไป แล้วก็ได้บุญที่เกิดจากการถวายสังฆทาน อันนั้นมันก็ดีแต่น่าจะได้มากกว่านั้น เตรียมคำถามมาอยากจะรู้เรื่องอะไรหรือว่ามีความทุกข์เรื่องอะไร
ก็มีคณะหนึ่งก็เป็นคณะเล็ก ๆ สามสี่คน พออาตมาบอกว่ามีอะไรจะถาม เขาก็อึ้งสักพักแล้วคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่ามีปัญหาเรื่องลูก ห่วงลูก เรียกว่าเป็นทุกข์เพราะลูกก็ได้ เพราะลูกพ่อสอนอย่างไรก็ไม่ฟัง ลูกชอบกินเหล้าเรียกว่ากินเป็นอาจิณ อายุคงจะเป็นวัยรุ่นคงเป็นหนุ่มอาจจะเพิ่งจบหรือว่าอาจจะกำลังเรียนอยู่ก็ได้ อันนี้ก็เป็นปัญหาของอีกสองคนที่มาด้วย มีปัญหาเรื่องลูก ก็เป็นทุกข์ว่าสอนลูกอย่างไรลูกก็ไม่เชื่อฟัง อาตมาก็เลยบอกเขาไปว่าลูกจะฟังพ่อหรือฟังแม่ก็ตาม มันต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่ฟังลูกก่อน ส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่ค่อยฟังลูก ตอนลูกเด็ก ๆ พ่อแม่ก็สั่งสอนอย่างเดียวหรือห้ามอย่างเดียวหรือบังคับอย่างเดียว พอลูกโตขึ้นลูกก็ไม่ฟังพ่อแม่ อันนี้มีให้เห็นเป็นประจำ
ตรงข้ามกับครอบครัวบางครอบครัวที่พ่อแม่เขาฟังลูก มีเวลาคุยกับลูก พอลูกเป็นวัยรุ่นมีปัญหาอะไรลูกก็มาคุยกับพ่อแม่ หรือว่าพ่อแม่มีอะไรจะแนะนำลูก ก็พูดไปลูกก็ฟัง มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ถ้าพ่อแม่ไม่ฟังลูก พอโตขึ้นลูกก็ไม่ฟังพ่อแม่ หรือบางทีไม่ต้องรอให้ลูกโต ลูกขณะที่ยังเด็กเก้าขวบสิบขวบก็เริ่มไม่ฟังพ่อแล้วไม่ฟังแม่ เราอยากจะให้ใครฟังเราก็ต้องเริ่มต้นจากการที่เราฟังเขาก่อน อันนี้เป็นเรื่องที่คนมักจะมองข้าม แทนที่จะสอนก็คุยกัน
พ่อแม่ไม่ค่อยได้คุยกับลูกเท่าไหร่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ใช้วิธีการสอนอย่างเดียวสั่งอย่างเดียว การพูดคุยกันมันก็หมายความว่าฝ่ายหนึ่งพูดฝ่ายหนึ่งฟัง แล้วถึงเวลาอีกฝ่ายหนึ่งพูดอีกฝ่ายหนึ่งก็ฟังบ้าง เรียกว่าเป็นการสนทนา ซึ่งมันจะช่วยเวลาลูกมีปัญหา คนแรกที่ลูกจะมาบอกมาคุยมาเล่าให้ฟังก็คือพ่อแม่ แต่ว่าลูกเดี๋ยวนี้มีปัญหาอะไรก็ตามเขาจะไม่คุยหรือไม่บอกเล่าพ่อแม่ก่อนเพราะว่าในบ้านไม่เคยมีการคุยกัน มีแต่การพูดทางเดียวเรียกว่า “สอน” ก็บอกเขาไป
เดี๋ยวนี้วัยรุ่นเขาจะเชื่อเพื่อนมากกว่า โยมก็เห็นด้วยว่าจริง ลูก ๆ เขานั้นเชื่อเพื่อนมากกว่า ก็ถามไปว่ารู้ไหมทำไมลูกถึงเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เขาก็ไม่รู้ ก็เลยตอบไปเพราะว่าเพื่อนนั้นไม่สอนสั่ง ไม่สั่งสอนลูก ไม่สั่งสอนเขา ลูกเชื่อเพื่อนเพราะว่าเพื่อนไม่สั่งสอนลูกแต่คุยกัน ลูกคบเพื่อนเพราะเพื่อนไม่เอาแต่สอนแต่คุยกัน ลูกเชื่อฟังดาราเพราะว่าดาราไม่ได้สั่งสอนเขา อันนี้เป็นสิ่งที่คนที่เป็นพ่อแม่มักจะมองข้าม ทีนี้ถ้าเริ่มต้นจากการฟัง ถึงเวลาจะพูดก็พูดอย่างมีการใคร่ครวญสักหน่อย จะพูดให้มันได้ผลก็ต้องรู้จักคิดใคร่ครวญ ถึงเวลาจะแนะนำก็ต้องแนะนำให้เป็นให้มันโดนใจเขาให้เขารับฟัง ส่วนใหญ่ก็อย่างที่ว่า สั่งแล้วก็ว่า แต่ที่จริงมันมีวิธีการสื่อสาร การสื่อสารกับการสั่งสอนไม่เหมือนกัน การสื่อสารคือการพูดกันดี ๆ พูดโดยเอาความรู้สึกของพ่อแม่มาถ่ายทอด มาสื่อสารให้ลูกฟัง ตอนนี้พ่อแม่รู้สึกอย่างไรการที่ลูกกินเหล้า หรือว่าถ้าเป็นเด็กเล็กหน่อย พ่อรู้สึกอย่างไรที่ลูกไม่ทำการบ้าน ลูกนอนตื่นสาย
มีแม่คนหนึ่งมีความทุกข์มากเลยลูกอายุ 10 ขวบ ตื่นสายเป็นประจำปลุกแล้วก็ไม่ยอมตื่น ตื่นแล้วก็โยกโย้ แม่ว่าแล้วว่าอีกก็ไม่สนใจ บางทีแม่ตี ทุบตีลูกเลย เพราะลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เพราะลูกไม่เชื่อฟังแม่แล้วแม่ก็เสียใจ วันหนึ่งแม่ก็ไปเข้าคอร์สเกี่ยวกับการสื่อสาร เขาก็แนะนำว่าเวลาจะคุย เริ่มต้นก็นับ 1-100 ก่อนค่อยว่าลูก เขาก็ทำนะ เวลาจะว่าลูกเขาก็นับ 1-100 พอนับ 1-100 ใจมันก็เย็น เขาก็ได้รับการแนะนำว่าเวลาคุยกับลูกให้พูดความรู้สึกของตัวเองว่า เช่น แม่กับลูก ตอนนี้แม่ไม่สบายใจ แม่วิตกกังวลที่ลูกตื่นสาย เพราะว่าถ้าลูกตื่นสาย ลูกก็จะไปโรงเรียนสาย แม่ก็จะไปทำงานช้า ขอให้ลูกรีบลุกขึ้นมาอาบน้ำแปรงฟัน ปรากฏว่าพอแม่พูดแบบนี้กับลูก ลูกฟังลูกอาจจะแปลกใจ แต่ก่อนนี้แม่ด่าอย่างเดียวเลย ว่าอย่างเดียวหรือขู่ แต่วันนี้แม่พูดดีแม่ไม่ได้ว่าตัวเอง แต่แม่พูดถึงความรู้สึกของตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรถ้าลูกนอนตื่นสาย แล้วก็แม่อยากจะให้ลูกทำอะไร อยากจะให้ลูกรีบลุกขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน เด็กร่วมมืออย่างดีเลยเพราะว่าแม่พูดดีกับลูก ตอนหลังความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกก็ดีขึ้น
จนกระทั่งวันหนึ่งลูกก็บอกแม่ว่า “แม่ ลูกรักแม่นะ มาถ่ายรูปด้วยกัน” ก่อนหน้านั้นไม่เคยพูดเลย ลูกไม่เคยพูดแบบนี้กับแม่ ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปเพราะว่าแม่เริ่มฟังลูกแล้วก็มีวิธีการสื่อสารกับลูก ไม่ใช่สั่ง ไม่ใช่ห้าม ไม่ใช่ด่า ไม่ใช่ว่า สมัยนี้เด็กเขาไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนไม่ว่าพ่อแม่หรือครูจะว่าอย่างไร เด็กก็ไม่ถือสาหรืออาจจะยอม แต่เดี๋ยวนี้เขามีความเป็นตัวของตัวเองมาก แล้วพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ เอาความรักของตัวเองเป็นตัวตั้ง เพราะคิดว่าตัวเองรักและปรารถนาดี หวังดีแล้ว ทำอะไรมันถูกทั้งนั้น นี่ก็ไม่จริง ความปรารถนาดีถ้ายึดมั่นถือมั่นมากมันก็ก่อให้เกิดผลเสียผลร้ายได้ หญ้าคาที่จับไว้ไม่ดีมันก็บาดมือเอา ก็บอกญาติโยมกลุ่มนี้ว่าถ้าเรารักเขา เราอย่าเอาตัวเราเป็นตัวตั้ง เอาเขาเป็นตัวตั้ง ก็คือพยายามเข้าใจเขา เข้าใจว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ยิ่งเป็นวัยรุ่นยิ่งต้องเข้าใจความรู้สึกของเขาเพราะถ้าไม่พยายามเข้าใจเขา คำพูดของเรามันก็อาจจะไปเกิดผลเสียกับเขาได้
เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่ค่อยได้พยายามเข้าใจจิตวิทยาของเด็กหรือของลูกของตัวเอง เอาแต่ความต้องการของตัวเองความปรารถนาดีของตัวเองเป็นหลัก ถ้าเรารักเขาเราต้องพยายามเข้าใจเขา รู้จักเขาให้มาก อย่าว่าแต่อะไรเลยแม้แต่ศัตรู ซุนวูก็ยังบอกเลยว่า รู้เราอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้เขาด้วย ขณะทำศึกสงครามก็ต้องรู้จักศัตรู รู้เรารู้เขาร้อยศึกก็บ่พ่าย ลูกไม่ใช่ศัตรูเป็นยอดรักของเราก็ต้องยิ่งต้องเข้าใจเขายิ่งต้องรู้จักเขา พยายามฟังเขาให้มากจะรู้จักเขาได้ก็ต้องรู้จักถาม เช่น ลูกกินเหล้า ลูกตื่นสาย ก็ถามลูกเลยว่าทำไมถึงชอบกินเหล้า กินเหล้ามันดีอย่างไร ถามด้วยความอยากจะรู้คำตอบของลูกก็จะทำให้พ่อแม่เข้าใจลูกหรือรู้จักลูกมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าจะสื่อสารกับลูกได้อย่างไร
เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่ค่อยถามลูกเท่าไร เพราะอย่างที่บอกเพราะว่าไม่ค่อยคุยกันเท่าไร แล้วพ่อแม่ก็คิดว่ารู้จักลูกดี เพราะว่าพ่อแม่เคยเป็นวัยรุ่นเหมือนลูก อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าประสบการณ์ของลูกกับประสบการณ์ของเราจะแตกต่างกัน หลายคนมักจะมองว่าฉันรู้จักลูกดีเพราะว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนแก อันนี้ก็ทำให้ไม่ฟังลูกไม่พยายามเข้าใจลูก เพราะคิดว่าฉันรู้จักลูกดีแล้ว ความคิดว่าฉันรู้จักลูกดีแล้วนี่อันตรายมากเลยเพราะว่ามันทำให้ไม่ฟังเขา ทำให้เราคิดว่าเราตัดสินล่วงหน้าเรียบร้อยไปแล้ว การตัดสินล่วงหน้าการสรุปล่วงหน้ามันทำให้เราไม่ฟังไม่รับรู้และมันทำให้การสื่อสารมีปัญหา เพราะเราคิดว่าเรารู้แล้ว แทนที่จะสื่อสารกลายเป็นการสั่งสอนไป วัยรุ่นเจอแบบนี้เขาก็ยิ่งต่อต้าน
ฉะนั้น พยายามรู้จักเขาให้มากแล้วก็เอาเขาเป็นตัวตั้ง อย่าเอาเราอย่าเอาประสบการณ์ของเราเป็นตัวตั้งอย่าเอาความหวังดีของเราเป็นตัวตั้ง ว่าถ้าเราหวังดีแล้วลูกเราต้องทำตามทุกอย่าง ก็ฉันรักลูกฉัน ฉันหวังดีกับลูก ความคิดแบบนี้มันทำให้พ่อแม่เสียใจมาเยอะแล้ว เพราะมันทำให้ลูกเตลิดเปิดเปิงไป ถ้าเราพยายามทำทุกอย่างแล้ว พยายามฟังแล้ว พยายามคุยแล้ว พยายามสื่อสาร ถามก็ถามแล้ว พยายามเข้าใจเขาแล้ว เขาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็ต้องปล่อยวางแล้ว
ต้องปล่อยวาง ปล่อยวางในที่นี้ หมายความว่าต้องยอมรับความจริงว่าเราสอนเขาไม่ได้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ทุกข์เพราะคิดจะไปบังคับลูกให้เป็นไปตามใจตัว ลูกไม่ใช่ของเราบังคับให้เป็นไปตามใจไม่ได้ อย่าว่าแต่ลูกเลย ร่างกายของเรา เรายังบังคับมันไม่ได้เลย บังคับไม่ให้ป่วย บังคับไม่ให้เมื่อยเรายังบังคับไม่ได้ ใจก็เหมือนกัน บังคับไม่ให้ฟุ้งบังคับไม่ให้โกรธก็ยังบังคับไม่ได้ ก็ขนาดร่างกายจิตใจเรายังบังคับไม่ได้จะไปบังคับลูกได้อย่างไร เราจะบังคับลูกให้เป็นไปตามใจเราได้ก็ต่อเมื่อเราบังคับกายและใจของเราได้ เราคิดแต่จะไปบังคับคนอื่นไปสั่งคนอื่น แต่เราสั่งกายก็ไม่ได้สั่งใจก็ไม่ได้ ในเมื่อเราสั่งกายสั่งใจของเราเองไม่ได้แล้วจะเราจะไปสั่งลูกได้อย่างไร
มีเพื่อนอาตมาคนหนึ่งไปเจออาตมาในงานศพของพ่อเพื่อน พอไปถึงเขาก็มาขอบคุณ อาตมาก็งงว่าขอบคุณเรื่องอะไรเพราะไม่ได้เจอกันนานทีเดียว รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คบกันมา 50 ปี แต่ไม่ค่อยได้เจอกัน นาน ๆ ครั้ง เจอกันในงานศพพ่อเพื่อนเขาก็มาขอบคุณ เขาก็เล่าว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ฟังคำบรรยายของอาตมาก็ได้ฟังอาตมาก็พูดถึงเรื่องว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย อย่าว่าแต่สิ่งของเลยแม้กระทั่งร่างกายของเราจิตใจของเราก็ไม่ใช่ของเรา บังคับควบคุมให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้
ลูกก็เหมือนกัน ลูกไม่ใช่ของเรา เราเลี้ยงได้แต่ตัว เดี๋ยวนี้เลี้ยงได้แต่ตัวก็ไม่ถูกแล้ว เราเลี้ยงไม่ได้แม้กระทั่งตัวเขา เราอยากจะให้เขาผอม เขาอ้วนมาก เขาก็ไม่ยอมผอมสักที ความอ้วนก็ไม่ลด หรือบางคนเราอยากจะให้ลูกอ้วน ลูกก็ไม่อ้วน ลูกก็ยังผอม คำว่าเลี้ยงได้แต่ตัวก็ยังไม่ถูก ตัวก็เลี้ยงไม่ได้ ใจยิ่งแล้วใหญ่ ก็ได้ฟังเขาก็ได้คิด เพราะเขามีปัญหากับลูกชายที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ตัวเขาเป็นนักธุรกิจ เคยทำธุรกิจระดับพันล้านเลยเป็นคนเก่งขยันเรียนมีวินัย แต่ลูกไม่ค่อยสนใจการเรียน การเรียนก็ไม่ค่อยดี วินัยก็ไม่ต้องพูดถึง พ่อก็พยายามจ้ำจี้จ้ำไชลูก บางทีก็ถึงกับต่อว่าลูก ลูกก็ยิ่งต่อต้าน เขาเองก็เครียด ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับเขาก็ห่างเหิน พอเขาได้ฟังที่อาตมาพูด เขาก็ได้คิดเขาก็เริ่มปล่อยวาง ดุด่าว่ากล่าวน้อยลง ก็พบว่าเขาผ่อนคลายมากขึ้น
เรื่องที่เขาแปลกใจอย่างไม่น่าเชื่อก็คือว่า เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิด ความสัมพันธ์กับลูกดีขึ้น วันหนึ่งลูกมาบอกเขาว่า “พ่อเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้พ่อฟังลูกมากขึ้น” แกงงเลยเพราะว่าแกไม่คิดว่าแกจะทำอะไรมาก แกก็แค่เพียงแค่ปล่อยวางไม่ได้คิดที่จะฟังลูกให้มากขึ้นเลยแต่มันฟังเอง พอปล่อยวางใจก็เปิดกว้างความเปลี่ยนแปลงก็ปรากฏโดยที่ไม่ตั้งใจด้วยซ้ำ แต่มันเริ่มต้นที่ใจก่อน พอใจเปลี่ยน อากัปกิริยาความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ลูกตอนนี้ก็เริ่มทำตัวดีขึ้นแล้ว ทำตัวดีขึ้นโดยที่พ่อก็ไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไช เพียงแค่พ่อปล่อยวางเท่านั้นแหละ ลูกก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของพ่อ แล้วก็เริ่มฟังพ่อมากขึ้น เขาก็เลยมาขอบคุณ
ก่อนเลิกอาตมาก็แนะนำเขาไปว่าอย่าคาดหวังในตัวลูกแต่มีความหวังในตัวเขา อันนี้อาตมาก็ฟังมาอีกทีหนึ่ง รู้สึกจะเป็นคุณแม่เทเรซ่า แกเคยพูดเอาไว้ ซึ่งก็จริงเพราะว่าหลายคนพอเปลี่ยนจากความคาดหวังมาเป็นความหวัง ความสัมพันธ์ดีขึ้น เวลาเราคาดหวังใครคนนั้นก็อึดอัด เราเองก็ทุกข์เพราะเขาไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังสักที คนที่ถูกคาดหวังก็อึดอัดเพราะว่าพอไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเรา เราก็ว่าเขา แต่ถ้าเกิดว่าเราเปลี่ยนจากความคาดหวังเป็นความหวัง คนที่รู้สึกว่าพ่อแม่มีความหวังกับเราก็จะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่ก่อนรู้สึกแย่ทำอะไรก็ไม่ถูกใจพ่อแม่ทำอะไรก็ผิดไปหมด เพราะพ่อแม่คาดหวังสูง แต่พอพ่อแม่เปลี่ยนจากความคาดหวังเป็นความหวัง ลูกรู้สึกดีขึ้นเพราะว่าเรายังมีอะไรดีให้พ่อแม่ได้หวัง เช่น หวังในตัวลูกว่าไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรลูกก็จะเป็นคนดีพึ่งพาตัวเองได้ ลูกจะเรียนอะไรจะเรียนที่ไหนไม่เป็นไร ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็ยังมีความหวังในตัวลูกเสมอ มีความทุกข์มีความผิดหวังอย่างไร อย่าลืมมีพ่อแม่ที่ยังคอยช่วยเหลือลูกอยู่หรือคอยให้ความหวังแก่ลูกอยู่ ก็บอกเขาไป
แม้แต่ลูกจะกินเหล้าแต่ยังให้มีความหวังกับลูก อย่างไรเขาก็เป็นคนดีสามารถจะเป็นคนดีแล้วก็สามารถที่จะนำพาชีวิตตัวเองไปในทางที่ถูกต้องได้ ถ้าเราพูดแล้วพยายามแนะนำแล้วซักถามเขาแล้ว เขาก็ยังกินเหล้าเหมือนเดิมก็ให้มีความหวังในตัวเขา อันนี้ก็เป็นข้อคิดซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นคำตอบสำเร็จรูป แต่ว่ามันช่วยพ่อแม่หลายครอบครัวได้มากทีเดียว