แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เช้านี้หลายคนร่างกายคงอิดโรย แต่เชื่อว่าจิตใจคงแช่มชื่นเบิกบานเกิดปีติปราโมทย์ เพราะว่าได้ทำ ในสิ่งที่ทำได้ยาก อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วก็ไม่คิดว่าจะทำได้นั่นคือ ปฏิบัติธรรมตลอดทั้งคืน เพื่อเป็นอาจาริยบูชาถวายหลวงพ่อคำเขียน ระหว่างร่างกายอิดโรย แต่ว่าจิตใจมีปิติปราโมทย์ กับร่างกายเข้มแข็งมีกำลังวังชา แต่ว่าจิตใจห่อเหี่ยวเราจะเลือกแบบไหน อาตมาเชื่อว่าหลายคนคงจะเลือกอย่างแรก คือว่า อิดโรยก็จริง แต่จิตใจเบิกบานร่าเริง มีความภูมิใจที่ได้ทำสิ่งดี ๆ ถวายครูบาอาจารย์ ภูมิใจที่ว่าเราเอาใจนำกายไม่ใช่ปล่อยให้กายนำใจ อาตมาได้เห็นเมื่อคืนนี้มีผู้มีอายุผู้เฒ่าหลายคนยืนหยัดอยู่ค้างคืน ร่างกายผู้เฒ่าจริง ๆไม่ได้แข็งแรงอะไรเท่าไหร่ แต่ว่าจิตใจนี่เข้มแข็ง อันนี้ตรงข้ามกับคนที่ร่างกายเข้มแข็ง แต่บางทีจิตใจอาจจะอ่อนแอ หรือจิตใจอาจจะเล็กก็ได้ ถ้าร่างกายเข้มแข็ง แต่จิตใจเล็กก็กลายเป็นว่า กายมันนำใจจะทำอะไรก็คงจะยาก เพราะว่าใจไม่สู้ไม่มีความเพียร ถึงแม้ว่าร่างกายจะพร้อมก็ตาม
แต่ถึงแม้กายจะบอบบางไม่มีเรี่ยวแรง เพราะว่าชราบ้าง เพราะว่าเป็นเพศหญิงบ้าง หรือว่าอาจเป็นเด็กก็ได้ แต่หากว่าในกายที่เล็กมีใจที่เข้มแข็ง ทำให้ใจนี้สามารถนำกายให้ทำสิ่งดี ๆ ที่ทำได้ยากได้ เมื่อคืนนี้ก็ได้เห็นว่า แม้กายจะบอบบางอ่อนแอด้วยความชรา หรือด้วยความอ่อนเยาว์ แต่เมื่อมีใจที่เข้มแข็งก็สามารถชักนำกายให้ยืนหยัดได้ทั้งคืน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรม ผลที่ได้เชื่อว่าเราคงจะภาคภูมิใจ ให้พวกเราไปให้คะแนนตัวเอง คนที่ได้ปฏิบัติธรรมข้ามคืน ลองไปให้คะแนนตัวเองไม่ต้องไปเทียบกับใคร เทียบกับตัวเองว่าก่อนหน้านี้กับเมื่อวานนี้ เราทำได้ดีขึ้นแค่ไหน ก่อนหน้าที่จะมาปฏิบัติธรรมถวายหลวงพ่อ เรามีขีดจำกัดยังไงบ้าง แล้วเราได้ก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นบ้างหรือเปล่า ถ้าก้าวข้ามได้ก็ให้คะแนนตัวเองมาก ๆ หน่อย แต่ถ้ายังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คราวหน้ายังมีอีก
เมื่อคืนนี้บรรยากาศงดงามมาก งดงามด้วยแสงเทียนที่มีผู้คนเดินจงกรมข้างล่าง ข้างบนก็นั่งภาวนา สร้างจังหวะ ท้องฟ้าดูเกื้อกูลกับการปฏิบัติ ยกเว้นตอนตี 3 ที่ฝนค่อย ๆ เทลงมา ความงดงามของบรรยากาศเมื่อคืน ทำให้อาตมานึกถึงเรื่องราวในสมัยพุทธกาลตอนหนึ่ง มีพระ 7 รูป สนทนากันในป่าที่ชื่อว่าป่าโคสิงค สาละวัน ทั้ง 7 รูปนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น เช่น พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระมหากัสสปะ ระหว่างที่สนทนากันพระสารีบุตรก็ถามขึ้นมาว่า ป่าแห่งนี้สวยงามสำหรับภิกษุเช่นไร หรือว่าสวยงามเพราะภิกษุเช่นไร แต่ละท่านก็ตอบแตกต่างกันไป
พระเรวตะตอบว่า ป่างามสำหรับภิกษุที่หลีกเร้นบำเพ็ญเจโตสมถะ พระอานนท์ก็ตอบว่า ป่างามสำหรับผู้ที่สดับฟังมากก็คือพหูสูต พระอนุรุทธะซึ่งเป็นผู้มีทิพยจักขุท่านก็ตอบว่า ป่างามเพราะภิกษุผู้มีอภิญญาคือทิพยจักษุ พระมหากัสสปะก็ตอบว่า ป่างามสำหรับภิกษุที่ชอบอยู่ป่าเที่ยวบิณฑบาตอยู่โคนไม้ พระโมคคัลลานะก็ตอบว่า ป่างามเมื่อพระ 2 รูป ได้มาสนทนากันเรื่องพระอภิธรรม ส่วนพระสารีบุตรก็ตอบอีกทางหนึ่งว่า ป่างามสำหรับภิกษุที่ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจตนได้ คือแต่ละท่านมีคุณวิเศษอย่างใด ท่านก็ตอบไปในแนวนั้น เช่น พระอานนท์เป็นพหูสูต ท่านก็ตอบว่าป่างามเพราะภิกษุผู้มีพหูสูต หรือเป็นผู้ที่สดับตรับฟังมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากคำตอบที่แตกต่างกัน ทั้ง 7 ท่าน ก็เลยไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ที่ข้าพระองค์แต่ละคนว่าอย่างนี้ พระบรมศาสดาว่าอย่างไร พระองค์ก็ตอบรับรองว่าถูกทุกข้อหรือว่าถูกทุกด้าน แต่พระองค์จะตอบของพระองค์เองบ้าง พระองค์บอกว่าป่างามสำหรับหรือป่างาม เพราะภิกษุเมื่อบิณฑบาตรแล้ว ก็มาขัดสมาธินั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นทำความเพียร และจะไม่ละเลิกทิ้งความเพียรจนกว่าอาสวะกิเลสจะหมดไป อันนี้พระองค์ตอบไม่เหมือนทั้ง 7 รูป ทั้ง 7 รูปนี้จะตอบในลักษณะที่คล้ายกันว่า ป่างามสำหรับภิกษุผู้มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เป็นพหูสูต เป็นผู้อยู่ป่า เป็นผู้มีทิพยจักษุ แต่พระองค์กลับตอบว่าป่างามสำหรับภิกษุผู้ทำความเพียร หมายความว่าแม้จะไม่มีคุณวิเศษใด ๆ แต่ถ้าหากได้ทำความเพียร ที่ท่านพูดเป็นรูปธรรมว่าตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นทำความเพียร เพื่อจะละอาสวะกิเลสให้หมดไป แม้จะไม่ใช่พระอรหันต์ยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่ถ้ามีความเพียรเช่นนั้น ก็ถือว่าทำให้ป่างามได้ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับเรื่องความเพียร คุณวิเศษเป็นเรื่องรอง ความเพียรเป็นเรื่องหลัก
และเมื่อคืนวานนี้ สิ่งที่พวกเราได้ทำอย่างมาก คือการระดมความเพียร คนเป็นร้อยนะเมื่อคืน พระก็ 20-30 ญาติโยมซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีอายุ รวมแล้วอาจจะเป็นร้อยทั้งข้างบนข้างล่าง เชื่อว่าหลายท่านไม่เคยทำความเพียรแบบนี้ แต่ก็ทำได้ตลอดทั้งคืน แม้จะมีความลำบากมีความง่วงมีทุกขเวทนา แต่สิ่งที่ได้แน่นอน และสิ่งที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ก็คือความเพียร ส่วนจะรู้หรือจะหลงมากกว่ากันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางท่านอาจจะรู้มากกว่าหลง บางท่านอาจจะหลงมากกว่ารู้ อันนั้นไม่สำคัญแต่ขอให้ทำความเพียรไว้ก่อน
ในทางพุทธศาสนาท่านให้ความสำคัญกับความเพียร จะทำอะไร จะทำความดีอะไรก็ตาม ต้องเริ่มต้นจากความเพียร เพราะฉะนั้นความเพียรหรือวิริยะ จึงเป็นบารมีข้อหนึ่งในทศบารมี บารมี 10 ประการ ก็จะมีวิริยะบารมี การที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับความเพียร ก็ทำให้พุทธศาสนามีอีกชื่อหนึ่งว่า วิริยะวาท
วิริยะวาท หรือวาทะนี่ คำว่าวาทหรือวาทะแปลว่าคำสอน เป็นคำสอนที่เน้นเรื่องความเพียร ที่ชัดเจนคือพุทธสุภาษิตที่ว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คนเราจะทำความดี หรือจะพ้นทุกข์ได้ต้องมีความเพียร เรียกว่าเป็นทัพหน้าก็ได้ เพราะฉะนั้นที่พวกเราทำคือการระดมความเพียรเป็นเบื้องต้น เมื่อมีความเพียรแล้วต่อไปค่อยสร้างธรรมะข้ออื่น เช่น สัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ 3 องค์ธรรมนี้เป็นหัวใจเป็นธรรมะยืนพื้น ในอริยมรรค มีองค์ 8 ต้องมี 3 ตัวนี้เป็นพื้นฐาน คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ และสัมมาสติ
ถ้าเกิดว่าเราระดมความเพียร เมื่อคืนนี้เราได้มา 1 ตัวแล้ว ก็ใช้ความเพียรนี้สร้างสัมมาสติขึ้นมา ซึ่งนำไปสู่สัมมาทิฏฐิได้ หรือว่าใช้สัมมาทิฏฐิเป็นตัวหนุนให้เกิดสัมมาวายามะ คือความเพียร มีความเพียรแล้ว ก็ต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ เพียรมากไปมีปัญหา ความเพียรถ้ามากไป เช่น ปฏิบัติธรรมประเภทว่าจะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้นี่อันนี้มีปัญหา ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์แห่งการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อจะทำความเพียร ต้องมีตัวหนึ่ง คือความเพียรแต่พอดี วิริยะสมตา แต่ก่อนอื่นต้องทำความเพียรก่อน เหมือนกับเราต้องสะสมเงินเอาไว้ก่อน หรือว่าไปหาเงินหาทองไว้ก่อน เสร็จแล้วต้องรู้จักใช้เงิน การใช้เงินหรือใช้ความเพียรให้ถูกทิศถูกทางก็คือ สัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ
เมื่อคืนนี้หลายคนได้ระดมความเพียร ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญมาก อย่างที่บอกว่ามันเป็นทัพหน้า ในการเอาชนะความทุกข์ เอาชนะมาร เอาชนะกิเลส แต่ทัพหน้าอย่างเดียวยังไม่พอ ยังต้องมีทัพหลวง ยังต้องมี ทัพหลัง อันนี้ต้องอาศัยสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ทำความเพียรข้ามคืนจนถึงเช้านี้แล้ว ให้ถือว่าเรามีความสามารถที่จะทำได้มากกว่านี้ คนเราจะต้องมีพัฒนาการ เพราะฉะนั้นขอให้เอาความเพียร ที่เราได้สร้างมานี้ ไปใช้ในการเจริญสติ และให้สตินั้นเป็นตัวกำหนดความเพียรของเรา ให้ทำความเพียรแต่พอดี
ทำความเพียรแต่พอดีหมายความว่า เพียรแบบวางจิตวางใจถูกต้อง ทำความเพียรเกินพอดีไป ก็มีปัญหาอย่างพระโสณโกฬิวิสะเดินจงกรมจนเท้าแตก เลือดนี้เรียกว่าแปดเปื้อนทางจงกรม พอเดินไม่ไหวก็ยังคลานเอา ก็ไม่บรรลุสักที จนกระทั่งเกิดความท้อแท้ พระพุทธเจ้าจึงเตือนให้ระลึกถึงพิณสามสาย เพราะว่า พระโสณโกฬิวิสะเคยเป็นนักดนตรีดีดพิณสามสาย รู้ว่าพิณถ้ามันตึงไปก็ไม่เพราะ ถ้ามันหย่อนไปก็ไม่เพราะ ต้องขึงพอดี ๆ อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าพาไปสู่ข้อสรุปว่าความเพียรต้องพอดี
พอดีในที่นี้ ที่จริงอยู่ที่ใจคือถ้าคิดจะเอา ๆ เอาให้ได้ ๆ นี่มันตึง อย่างที่เมื่อคืนมีการพูดหลายคนว่า คิดจะเอา ๆ อย่างอาจารย์ตงหมิงก็เล่าว่า พอคิดจะเอา มันตึงไปหมดเลย ทำความเพียรมันอยู่ที่ใจด้วย ทำความเพียรมากแต่ใจรู้จักปล่อยรู้จักวาง หรือว่าทำเล่น ๆ อย่างที่หลวงพ่อเทียนได้บอก ทำเต็มที่แต่ว่าใจไม่ซีเรียส อันนี้แหละคือความหมายหนึ่งของเพียรแต่พอดี คือว่าใจไม่คิดจะเอา ถ้าคิดจะเอา มันซีเรียสมันเครียด แต่พอไม่คิดจะเอา เพราะมีสติปล่อยวางความอยาก ความเพียรนั้นก็จะนำไปสู่ผลได้