แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา เราสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และชัยมงคลคาถารับปีใหม่ และตอนนี้เรารับอรุณด้วยการสวดมนต์ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และน้อมใจนึกถึงพุทธภาษิต พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถือว่าเราเริ่มต้นปีใหม่ และรับอรุณด้วยสิ่งที่เป็นสิริมงคล ช่วยเติมความสงบเย็นเป็นกุศลให้กับจิตใจของเรา ตอนนี้ผู้คนจำนวนมากมายกำลังหลับใหล บางคนอาจเรียกว่าสลบไสลไปเลย ไม่ใช่แค่หลับใหล เพราะว่าส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยการกิน การเที่ยว การเล่น สนุกสุดเหวี่ยง จนหมดเรี่ยวหมดแรงไปก็มี หลายคนเรียกว่าส่วนมาก ยังหลับอยู่ แต่เราตื่นขึ้นมาทำสิ่งที่เป็นมงคลต่อชีวิตจิตใจของตนเอง เพื่อพร้อมรับวันใหม่ และปีใหม่ที่จะมาถึง
เมื่อเราจะเริ่มต้นสิ่งใดก็ตาม ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการทำความดี ทำสิ่งที่เป็นมงคล ก็ถือว่าเรามีความพร้อม ในการทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ อันนี้แหละที่เรียกว่าเป็นฤกษ์ดี ฤกษ์ดีเกิดขึ้นเมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ดี เป็นธรรมเป็นมงคล อย่างที่เราสวดชยันโตหรือชัยมงคลคาถา ความหมายในท่อนท้ายจะพูดว่า เมื่อใดก็ตามที่เราทำดี เมื่อนั้นก็เป็นฤกษ์ดี เป็นยามดี เป็นวาระที่ดี เมื่อเป็นฤกษ์ดีแล้วก็หมายความว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ หรือว่าผ่านพ้นสิ่งต่าง ๆ ไปด้วยดีก็มี มากขึ้น บางคนอาจจะเลือกเริ่มรับปีใหม่ด้วยการทำบุญใส่บาตร ก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นเดียวกัน เราเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำความดี ด้วยการให้ทาน เติมความสงบเย็นให้แก่จิตใจ ความปิติทำให้ใจเป็นบุญ เอาบุญนั้นมาเชื่อมความสุข เมื่อเราเริ่มต้นทำสิ่งที่ดีแล้ว ต่อจากนั้นไปก็มีโอกาสที่จะราบรื่น เป็นไปได้ด้วยดีเช่นเดียวกัน
ตอนนี้ถือว่าเราได้เข้ามาสู่ปี 2558 ศักราชใหม่ อย่าให้มันใหม่แต่ปี ใจเราต้องใหม่ด้วย ใจเราอย่าเก่าค้างปี ถ้าใจเราเก่าค้างปี ปีใหม่ก็ไม่มีความหมาย ก็เป็นแค่เปลี่ยนตัวเลขของศักราชเท่านั้นเอง ใจเราต้องใหม่ตามไปด้วย การที่ใจเราจะใหม่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราได้ทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ การสวดมนต์ การทำบุญใส่บาตรก็เป็นการชำระใจให้สะอาด แต่ถ้าเราสวดมนต์แล้ว เราทำบุญแล้ว ใจเรายังหวนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์เก่า ๆ ในปีที่เพิ่งผ่านไป หรือว่าเหตุการณ์ในปีก่อนหน้านั้น สองปีก่อนหน้านั้น หรือว่าสามปีที่แล้ว อันนี้ก็เรียกว่าใจไม่ได้ใหม่ตามไปด้วย ตัวอยู่ ปี 2558 แต่ว่าใจอยู่ปี 2557 หรือว่าอยู่ปี 2547 อยู่เลยก็มี
หลายคนเป็นอย่างนั้น ตัวอยู่ปีใหม่แต่ใจยังอยู่ปีเก่า เพราะมันข้องมันติดขัดอยู่กับเหตุการณ์เก่า ๆ ที่ทำให้เจ็บปวด ผิดหวัง โกรธเคือง หรือบางทีถึงขั้นพยาบาทเคียดแค้นเลยก็มี หรือไม่ก็เศร้าโศกเสียใจ รู้สึกผิด ติดค้างใจ ถ้าตัวอยู่ปีใหม่ แต่ใจอยู่ปีเก่า มันก็ไม่เข้าท่าเหมือนกัน ต้องพาใจของเรานั้นกลับมา ออกจากปีเก่าไม่ว่าเก่าแค่ไหนก็ตาม มาอยู่ที่ พ.ศ. นี้ 2558 นั่นคือเราสลัดการวางเรื่องราวเก่า ๆ ให้มันออกไปจากใจ ไม่แบกเอาไว้ อย่าให้เรื่องราวในอดีตพันธนาการจิตใจของเรา ลากจิตลากใจของเราจนกระทั่งไปต่อไม่ได้ บางคนใจอยากมาอยู่ปี 2558 แต่ว่าถูกล่ามไว้ด้วยเรื่องราวในอดีต จะไปข้างหน้าได้ก็อย่างที่หลวงพ่อโตท่านพูดไว้ “ถ้าโซ่ยังไม่แก้ ประแจยังไม่ไข จะไปได้อย่างไร” ใจมันถูกล่ามโซ่ไว้ ถูกกักขังไว้กับเรื่องราวในอดีต ไม่มีใครทำ เราทำตัวเราเอง ไม่มีใครที่จะล่ามใจเราไว้กับเหตุการณ์ที่ย่ำแย่เลวร้ายได้ แม้แต่ศัตรูที่เลวร้ายที่สุดก็ทำอย่างนั้นไม่ได้กับเรา มีแต่ใจของเราที่ทำ
เพราะฉะนั้นก็ให้รู้จักแก้โซ่ไขกุญแจ ปล่อยใจของเราให้เป็นอิสระจากอดีต หยุดให้มันกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับปีใหม่ รวมไปถึงการปลดเปลื้องอารมณ์เก่า ๆ ที่หมักหมมในจิตใจด้วย ที่จริงก็เรื่องเดียวกัน ถ้าหากว่าใจเราไปปักติด หรือข้องติดอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต อารมณ์ที่เป็นปฎิปักษ์ เป็นปฏิกูลต่อจิตใจก็ย่อมเพิ่มพูนตามมาด้วย ความโกรธ ความเศร้า ความเคียดแค้น ต้องวางลงระบายถ่ายเทมันออกไปจากจิตใจ ซึ่งทำได้ด้วยการที่ใจเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับ พ.ศ. ศักราชใหม่ ถ้าใจเรายังไปวนเวียนข้องแวะติดขัดอยู่กับเรื่องเก่า ๆ อารมณ์หมักหมมก็เกิดขึ้นตามมา เพราะอารมณ์สัมพันธ์กับความคิด คิดเรื่องร้ายใจก็เป็นอกุศล เพราะมีอารมณ์โกรธ เสียใจ คับแค้น ขุ่นเคือง น้อยเนื้อต่ำใจเกิดขึ้นมา สะสมวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่าทำให้ใจเราหม่นหมองเก่าคร่ำคร่า
เพียงแค่เราไม่ปล่อยใจให้ไปนึกถึงเรื่องราวในอดีต ในลักษณะของการคร่ำครวญ หรือว่าเคียดแค้นอาลัย อารมณ์อกุศลก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในจิตใจเราได้ จะทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยสติ ต้องมีสติ ต้องมีความรู้สึกตัว เพราะถ้าไม่มีสติเมื่อไหร่ ใจก็ย้อนถอยหลังกลับไป ไปข้องแวะติดขัดอยู่กับเหตุการณ์ในอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใจเราจะอยู่พ.ศ. นี้ ศักราชใหม่ ก็เพราะว่าเรามีสติกำกับรักษาใจเอาไว้ สตินี้จะทำให้เรารู้ทันอารมณ์ที่มันครอบงำใจ อารมณ์ที่เศร้าหมอง อารมณ์ที่โกรธแค้น อารมณ์เก่า ๆ ไม่มีสติมันก็วางไม่ได้ เพราะฉะนั้นใจเราจะใหม่ได้ก็ต้องมีสติ
สติเป็นเครื่องรักษาใจให้ปกติ ใจเรายังจะใหม่ได้ด้วยการรู้จักให้อภัย การให้อภัยนี้เป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถปล่อยวางได้ ถ้าไม่ให้อภัย ใจมันก็ยังข้องแวะติดขัดอยู่กับอดีตซ้ำซาก ไปต่อไม่ได้ การให้อภัยเป็นสิ่งที่ช่วยปลดโซ่ ปลดล็อคให้ใจของเราได้หลุดออกจากเรื่องที่มันเจ็บป่วยซ้ำซาก ถ้าไม่รู้จักการให้อภัย ใจมันก็สดใหม่ได้ยาก คิดวนเวียนอยู่แต่เรื่องเก่า ๆ ผ่านไป 20 ปี 30 ปี มันก็ยังดูสดดูใหม่ แต่ที่จริงแล้วกลับทำให้จิตใจย่ำแย่ลง
ให้อภัยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะให้อภัยผู้อื่นเท่านั้น แต่รวมถึงให้อภัยตัวเองด้วย ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต เราต้องตระหนักว่ามันเป็นธรรมดาของมนุษย์ คนอื่นเขาก็ผิดพลาดได้เพราะมนุษย์เราอ่อนแอ ความอ่อนแอทำให้บางคนทำร้ายเรา ทำร้ายจิตใจของเรา ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของเรา ทำให้เราเสื่อมศรัทธา นั่นไม่ใช่แค่คนอื่นเท่านั้นที่อ่อนแอพลั้งพลาด เราเองก็เหมือนกัน เราก็อ่อนแอ บางทีเราก็เห็นแก่ความสนุกชั่วคราว หรือเห็นแต่ประโยชน์ระยะสั้น ทำให้เราละเลยสิ่งที่ควรทำ เช่น สิ่งที่ควรจะทำกับผู้มีพระคุณ ทำกับคนที่มีคุณค่า อาจเป็นเพราะอารมณ์ชั่ววูบของปุถุชน ทำให้เราได้ทำสิ่งที่น่าละอายน่ารังเกียจออกไป แต่เพราะเราเป็นมนุษย์ ก็ต้องมีผิดมีพลาด ถ้าเรารู้จักเอาความผิดพลาดเป็นครู จะช่วยทำให้เรารู้จักปลดเปลื้องบาดแผล ปลดเปลื้องความรู้สึกผิดติดค้างใจได้ สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้เหมือนกัน การให้อภัยผู้อื่น การให้อภัยตัวเอง เพื่อทำให้เราสามารถเป็นอิสระจากอดีต อดีตจะขังเราไม่ได้อีกต่อไป ทำให้เราสามารถมองไปข้างหน้า และก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ ด้วยใจที่โปร่งโล่งเบาสบาย
การทำใจให้ใหม่ ที่จริงมันควรจะทำได้ตลอดแวลา ไม่ต้องรอให้ปีใหม่ แต่ปีใหม่เหมือนกับเป็นตัวกระตุ้นเตือน หรือเป็นตัวตอกย้ำกับเราว่า เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ นี้คือประโยชน์ของวันปีใหม่ หรือการเริ่มต้นปีใหม่ว่าทุกอย่างเริ่มต้นได้ใหม่ เริ่มต้นใหม่ได้อีก ชีวิตเราก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีก จิตใจเราก็สามารถทำให้มันใหม่ได้อีก ที่แล้ว ก็แล้วกันไปปล่อยให้มันเป็นอดีตไป กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ หรือว่าที่ทำดีอยู่แล้วก็ทำให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ใจเราใหม่อยู่เสมอ การที่ใจใหม่หมายถึงการมีคุณภาพใหม่ด้วย มีคุณภาพใหม่เพราะว่ามีสติ มีเมตตา มีการรู้จักให้อภัย
สิ่งที่จะทำให้ใจเราใหม่อยู่เสมอ อย่างที่เมื่อกี้พูดไปแล้ว คือการมีสติ สติจะช่วยปลดเปลื้องอารมณ์ต่าง ๆ ยิ่งถ้าเรามีสติอยู่ต่อเนื่อง มีความรู้สึกตัวทุกขณะ ใจเราจะใหม่อยู่เสมอ และทำให้เรามีพลังก้าวไปข้างหน้าต่อไป เรามุ่งหวังอะไรในชีวิต เราจะทำอะไรกับเวลาที่เหลืออยู่ อันนี้ก็ควรเป็นการบ้านสำหรับพวกเรา เป็นคำถามที่เราควรจะหาคำตอบ เพราะว่ามันไม่ใช่วิสัยของผู้มีปัญญาที่จะอยู่ไปวัน ๆ จริงอยู่เราควรอยู่กับปัจจุบัน แต่การอยู่กับปัจจุบันไม่ได้แปลว่าอยู่ไปวัน ๆ อย่างไร้อนาคต ไร้จุดหมาย มนุษย์เราต้องมีจุดหมาย แต่ว่าทันทีที่ลงมือทำ หรือก้าวเดินไปสู่จุดหมายนั้น ก็ต้องอยู่กับปัจจุบัน เหมือนกับนักปีนเขา แม้เขาจะรู้ว่ายอดเขาคือจุดหมาย แต่นักปีนเขาที่เก่ง ทันทีที่เริ่มเดินทางเริ่มปีนเขา ใจก็จะอยู่กับพื้น ที่ทอดอยู่ข้างหน้าคิดแต่เพียงว่าเราจะก้าวไปข้างหน้า แต่ละก้าว ๆ อย่างไรให้ปลอดภัย
บางทีชีวิตของคนเราก็ไม่ต่างจากการเดินไต่ลวด เคยดูสารคดีของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง แกเป็นคนที่ประหลาด มีความใฝ่ฝันที่จะเดินบนเส้นลวดที่ขึงระหว่างยอด World Trade Center ตึกแฝด มีความฝันตั้งแต่ตึกนั้นยังไม่สร้าง ตั้งแต่เขายังเล็ก พอตึกสร้างใกล้จะเสร็จ เขาก็ฝันอยากจะเดินบนเส้นลวดที่ขึงระหว่างตึก ยอดตึกสองตึกนั้น เขาเก็บ หอมรอมริบแล้วเดินทางมาอเมริกา มากรุง New York เมื่อรู้ว่ามันสร้างใกล้จะเสร็จ วางแผนเป็นแรมเดือน แล้วเขาก็ทำสำเร็จ
สามารถแอบขึ้นไปบนยอดตึก ขึงลวดสองลวดโดยการใช้ธนูยิง เพื่อให้เชือกมันสามารถขึงตึงระหว่างสองยอดได้ พอรุ่งสางเขาก็เริ่มเดิน ตึกนี้สูงจากพื้น 450 เมตรเกือบครึ่งกิโล ตกลงมาก็ตายแน่ แต่ก็สามารถเดินบนเส้นลวดระหว่างตึกสองตึกนี่ได้อย่างสบาย ประมาณ 45 นาที เดินกลับไปกลับมา 7-8 ครั้ง ไม่มีเครื่องช่วยอะไรมาก นอกจาก ไม้ยาว ๆ ที่เอาไว้ถือสำหรับคอยสร้างสมดุล มีคนเห็นก็ไปเรียกตำรวจ ตำรวจก็มารออยู่ที่ปลายลวด แต่เขาก็ไม่ยอมให้จับ พอถึงปลายลวดเขาก็หันหลังกลับเดินไปอีกยอดหนึ่ง ทำอย่างนี้ 7 ครั้งได้ พอเขาพอใจแล้วหนำใจแล้ว ก็ยอมให้ตำรวจจับ มีคนถามว่าเขาทำอย่างไร เขาบอกว่าตอนที่เดินอยู่บนเส้นลวด ใจเขาไม่ได้นึกถึงยอดนึกถึงจุดหมายที่อยู่อีกปลายทางของลวดเลย เขาคิดแต่เพียงว่าขยับเท้าไปแต่ละข้าง ๆ ขยับเท้าซ้ายให้ไปอยู่ข้างหน้าเท้าขวา ขยับเท้าขวาให้ไปอยู่ข้างหน้า เท้าซ้าย คิดแค่นี้ สิ่งที่ยากท้าทาย แต่ว่าสำเร็จได้ด้วยหลักง่าย ๆ แค่นั้น คืออยู่กับปัจจุบัน อยู่กับแต่ละขณะ ๆ เขาพูดว่าชีวิตคนเราก็ไม่ต่างจากการเดินบนเส้นลวด คือว่ามันเสี่ยง และสามารถตกลงไปได้ทุกเวลา
นี่ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนว่า คนเราสามารถจะตายได้ทุกเวลา บุคคลพึงระลึกว่าเราสามารถจะตายได้ทุกขณะ ทุกลมหายใจ แม้แต่การคิดว่าเราจะอยู่ได้จนถึงเย็นนี้แล้วก็ตายในตอนค่ำ ก็ยังถือว่าประมาท หรือคิดว่าเราจะอยู่ได้จนถึงกลางวันนี้เราก็ตาย ก็ยังประมาทอยู่ คิดว่ากินข้าวเสร็จแล้วจะตายก็ยังประมาท ต้องคิดว่าแม้ขณะที่กินข้าว ก็อาจจะตายได้ กินข้าวไปสี่ห้าช้อนก็อาจจะตายได้ ขณะที่กำลังเคี้ยวข้าวก็อาจจะตายได้ หรือขณะที่หายใจเข้าอยู่นี้ ไม่ทันหายใจออกก็ตายได้ หายใจออกไม่ทันหายใจเข้าก็ตายได้ คนเรามีโอกาสที่จะตายได้ตลอดเวลา ถึงได้มีคำพูดว่า “ระหว่างลมหายใจถัดไปกับชาติหน้า ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะมาก่อน” ไม่ใช่แค่ว่าระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน แม้แต่ลมหายใจถัดไปกับชาติหน้า อย่าไปคิดว่าชาติหน้าจะมาทีหลังลมหายใจถัดไป อาจจะไม่มีการหายใจในขณะถัดไปก็ได้ เพราะว่ามันตายเสียก่อน แล้วชาติหน้าก็มาอีกที
ในแง่นี้ชีวิตเราก็เหมือนกับการเดินอยู่บนเส้นลวด คือสามารถจะตายได้ทุกเวลา ดังนั้นการอยู่กับปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีจุดหมาย จุดหมายของชาวพุทธคืออะไร จุดหมายของผู้มีปัญญาคืออะไร การทำมาหากิน การมีทรัพย์สมบัติ มีงานการ มีฐานะอาชีพยศถาบรรดาศักดิ์ก็เป็นจุดหมายของผู้คนมากมาย ทางพุทธศาสนามิได้ปฏิเสธสิ่งนี้ แต่ถือว่าเป็นตัวช่วย ไม่ใช่เป็นจุดหมายในตัวมันเอง เพียงแต่ช่วยทำให้การดำเนินชีวิตไม่มีความทุกข์ความยาก เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ดำเนินชีวิตได้ดีมากขึ้น สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นมากขึ้น อย่างอนาถปิณฑิกเศรษฐีมีเงินทองมหาศาลก็ไม่ได้ใช้เพื่อปรนเปรอตัวเอง แต่ช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยในการบำรุงพระศาสนา จุดหมาย ของเราควรจะไปให้มากกว่านั้น ไม่ใช่ร่ำรวยมีชื่อเสียง ไม่ใช่การมีชีวิตที่ยืนยาว อันนั้นเป็นแค่ส่วนเสริม
ที่เราสวดเมื่อสักครู่นี้ จงไปถึงที่ไม่มีน้ำจากที่มีน้ำ จงละกามเสียเป็นผู้ไม่มีความกังวล จงยินดีต่อเฉพาะ ต่อพระนิพพานอันเป็นที่สงัด ซึ่งสัตว์ยินดีได้โดยยาก อันนี้ต่างหากที่น่าจะเป็นจุดหมายของพวกเราทุกคน มาถึงที่ไม่มีน้ำจากที่มีน้ำ จงละกามเสียเป็นผู้ไม่มีความกังวล จงยินดีเฉพาะต่อที่สงัด จงยินดีเฉพาะต่อพระนิพพานอันเป็นที่สงัด ซึ่งสัตว์ยินดีได้โดยยาก นิพพานความสงบเย็น สัตว์ยินดีได้โดยยากหรือสัตว์ไม่ค่อยยินดี ความหมายหนึ่งก็คือมันไปถึงได้ยาก อีกความหมายหนึ่งคือว่าคนก็ไม่ค่อยได้อยากจะไปเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่ไปยากอย่างเดียว แต่ไม่อยากจะไปด้วย เพราะไม่เห็นว่ามันดีเด่นยังไง คนที่ไม่มีปัญญา หรือคนที่มองไม่พ้นจมูกของตัวเอง ก็เห็นแต่ว่ายศถาบรรดาศักดิ์นี่สุดยอดแล้ว เขาไม่รู้ ว่าการได้มันมานี่เหนื่อยยากขนาดไหน ได้มาแล้วต้องทุกข์กับการรักษา แถมต้องเศร้าโศกเสียใจเมื่อสูญเสียมันไป เพราะใคร ๆ ก็เอาไปได้ แต่ถึงแม้เอาไปไม่ได้ไม่มีใครขโมยไป สักวันหนึ่งก็ต้องวางมัน หรือจากมันไปเพราะว่าตาย
เมื่อตายแล้วเอาไปไม่ได้สักอย่าง มีเงินร้อยล้านพันล้านก็เอาไปไม่ได้สักอย่าง แล้วต้องกลับไปเวียนเกิดเวียนตายใหม่ ไปเริ่มต้นกันใหม่ ไปดิ้นรนกันใหม่ ไปเหนื่อยกันใหม่ แล้วก็ทุกข์ทรมานกันอีกครั้งหนึ่ง เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ไม่จบไม่สิ้น อันนี้เป็นชะตากรรมหนึ่งที่เห็นว่าทรัพย์สินเงินทองยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นจุดหมายของชีวิต และคนเหล่านี้เขา ไม่ยินดีในพระนิพพาน หรือในความสงบเย็น อาจจะรู้ว่ามันดี แต่ไม่อยากไป แต่คนที่ไคร่ครวญอย่างรอบด้านจะพบว่า ไม่มีอะไรที่ประเสริฐไปกว่าพระนิพพาน ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องพยายามละกามเสีย ทำลายซึ่งความยึดติดถือมั่นในตัวตน และไม่อาลัยทั้งอดีต หรือว่าไม่กังวลกับอนาคต ที่ใช้คำว่าเป็นผู้ไม่มีความกังวล คือไม่มีความห่วง ไม่มีความยึดติดในสิ่งใด เพราะถ้ายังยึดติดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม หรือคนใดคนหนึ่งก็ตาม ก็ยังมีความกังวล กังวลว่าจะสูญเสียไป แต่พอไม่มีความยึดติดแล้ว มันก็ไม่มีความกังวล
คนเราแม้ว่าจะละกามได้ ก็ยังมีความยึดติดในอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะยึดติดในตัวตน ยึดติดในตัวกูของกู ยอมสละสิ่งของต่าง ๆ มากมาย เวลาจะตายแม้ไม่มีอะไร ไม่มีทรัพย์สมบัติเหลือหลอ เพราะยากจน แต่ยังไม่อยากตาย ก็ยังทุรนทุราย เพราะว่ายังมีตัวหนึ่งอยู่ ยังมีสิ่งหนึ่งที่เหลืออยู่ คือตัวกูของกู มีความยึดมั่นในตัวกูอยู่ ทำให้ไม่ยอมตาย สักที เพราะรักตัวจึงกลัวตาย ที่รักตัวเพราะยังมีตัวกูอยู่ให้หวงแหน ถ้าเราเห็นว่าเป็นความยึดติด อันเป็นที่มาของ ความทุกข์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยที่จะวาง จุดหมายปลายทางคือการนำพาชีวิตเข้าถึงความสงัดซึ่งสัตว์ยินดีได้ยาก ถึงพระนิพพาน จะถึงได้ก็ต้องปล่อยวางสิ่งทั้งปวง แม้กระทั่งตัวตน
มีคำอวยพรอันหนึ่งที่บางคนฟังแล้วก็สะดุด บอกว่า “ขอให้เธอไร้อนาคต หมดเนื้อหมดตัว อย่าได้ผุด อย่าได้เกิด” คนทั่วไปไม่เอาคำอวยพรนี้ แต่ถ้าไปถามนักปฏิบัติเขาเอา ถ้าทำได้ ไร้อนาคตคืออยู่กับปัจจุบัน หมดเนื้อ หมดตัวคือไม่มีตัวตนหลงเหลืออยู่ อย่างต่ำ ๆ ก็คือละสักกายทิฏฐิได้ สักกายทิฏฐิก็เป็นสังโยชน์ เป็นสังโยชน์เครื่องร้อยรัดที่ทำให้สัตว์ยังวนเวียนเกิดเวียนตาย ไม่สามารถพ้นจากวัฏสงสารได้ สักกายทิฏฐิคือความยึดติดถือมั่นว่า ในกายนี้รวมทั้งใจด้วย เป็นเราเป็นของเรา ยึดกายยึดใจเป็นเราเป็นของเรา ยังมีความเห็นสำคัญผิดอยู่ การหลุดพ้นเริ่มต้นจากการที่ ละความเห็นผิดได้ ว่ากายนี้ใจนี้มันเป็นเราเป็นของเรา แต่ละอย่างแท้จริงได้คือละอัตตวาทุปาทาน ซึ่งต้องเกิดจากการ ละอวิชชาได้ เมื่อละอวิชชาได้ ก็ละซึ่งอัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นในความเชื่อว่ามีอัตตา
หมดเนื้อหมดตัว คือไม่มีตัวตนหลงเหลืออยู่ อันนี้พูดแบบให้เข้าใจง่าย แต่ในความหมายเดียวคือว่า ไม่มีความ ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เพราะว่าตัวตน หรือตัวกูของกู มันไม่มีตั้งแต่แรก เมื่อไม่มีตั้งแต่แรกแล้วจะไปยึดอะไร มันก็มีแต่ไปยึดในความเชื่อว่ามี พอเชื่อว่ามี มันก็ดันมีจริง ๆ เหมือนคนที่กลัวผี ผีไม่มีนะ แต่พอเชื่อว่ามีผี ก็เกิดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาหลอกหลอนให้นอนไม่เป็นสุข ผวา สิ่งที่ไม่มีจริง แต่พอเชื่อว่ามีจริง มันก็มีอิทธิพล รวมทั้งตัวกูของกู พอไปเชื่อว่ามีจริง หรือไปปรุงแต่งมันขึ้นมา ก็กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลครอบงำจิตใจเรา ปรุงแต่งว่ามีผียังไม่ร้ายเท่ากับปรุงแต่งว่ามีตัวกูของกู เพราะว่ามันตามติดไปทั้งในยามหลับยามตื่นทุกขณะเลย เพราะฉะนั้นที่เขาบอกว่า ขอเถอะนะ ไร้อนาคต หมดเนื้อหมดตัวได้เป็นดีที่สุด เพราะทำให้ไม่ต้องผุดไม่ต้องเกิด ไม่ผุดไม่เกิดคือไม่มีเหตุที่ต้องไปเกิดอีก เพราะว่ากรรมและวิบากหมด จบ อันนี้เขาเรียกว่านิพพาน
นิพพานคือภาวะที่สงบเย็น พ้นจากทุกข์ วัฏสงสาร เพราะว่าไม่มีเหตุให้ไปเกิดได้อีก ถ้าพรที่อยากจะได้ ก็พรนี้แหละ หมดเนื้อหมดตัว ไม่ต้องผุดไม่ต้องเกิดจะเอาไหม? สำหรับคนทั่วไปเป็นคำสาปแช่ง แต่ว่าสำหรับชาวพุทธนี่ ธรรมะของพระพุทธเจ้าทวนกระแสอยู่แล้ว ชาวโลกเขาต้องการร่ำรวย ต้องการมีมาก ๆ ต้องการครอบครองเยอะ ๆ แต่ว่าพุทธเราสอนให้สละ ยิ่งสละเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความสุข ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข ต้องสละไป เริ่มจากการสละเงิน สละทอง สละทรัพย์สมบัติที่เรียกว่าทาน นี่เป็นคุณธรรมข้อแรกเลย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการก็เริ่มต้นที่ทาน บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการก็เริ่มต้นที่ทาน บารมี 10 ก็เริ่มต้นที่ทาน ทศพิธราชธรรมก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทานเป็นข้อแรก เพราะว่าเป็นบันไดขั้นต้นของความสุข
โลกยุคปัจจุบันต้องมีมาก ๆ ต้องเอาเยอะ ๆ แต่ว่าชาวพุทธเราต้องสละออกไป โดยมีพระเวสสันดรเป็นแบบอย่าง เริ่มต้นด้วยการให้วัตถุสิ่งของ ต่อไปก็สละสิ่งที่เป็นเรื่องนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักให้อภัย หรือว่าการรู้จักสละอารมณ์ สิ่งเศร้าหมองออกไปจากใจ สละกิเลส สละความเห็นแก่ตัว สละแม้กระทั่งความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู เมื่อสละหมด มันก็เรียกว่ามีไม่หมดสักที ยิ่งสละจนหมดก็กลายเป็นว่ามีไม่หมด อย่างพระพุทธเจ้าท่านสละหมด แต่ก็มี เรียกว่าใช้ไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ที่คนเขามอบให้ หรือว่าทรัพย์สินปัจจัยสี่ เพราะว่าสละหมด จึงมีไม่รู้จักหมด แต่เพราะอยากได้ อยากได้ไม่รู้จักหยุด เลยรู้สึกพร่องไปตลอดเวลา ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งรู้สึกพร่อง แต่พอสละ กลับรู้สึกเต็มอิ่ม ธรรมะของพระพุทธเจ้าคำสอนของพระองค์ทวนกระแสอยู่แล้ว ทวนทั้งกระแสโลก กระแสกิเลส ทวนกระแสทุกข์
ฉะนั้นปีใหม่นี้ ถ้าหากเราต้องการใจที่ใหม่ ก็ต้องมีจุดหมายชีวิตที่ถูกต้อง แล้วพยายามน้อมนำธรรมะ นำมาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจของตัว มีสติเป็นเครื่องรักษา มีความรู้สึกตัวที่จะช่วยปกป้องใจไม่ให้หม่นหมอง เก่าคร่ำคร่า หรือว่าอ่อนล้า แต่ละปี ๆ ร่างกายเราเก่าไปเรื่อย ๆ คือความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่ละปี ๆ ร่างกายเราก็เก่าลง ๆ แต่ว่าใจเราใหม่ได้เสมอ ในขณะที่กายมันเก่าลง แต่ใจสามารถที่จะใหม่ได้เสมอ ในทำนองเดียวกันปีใหม่ ชีวิตใหม่ก็เกิดขึ้นได้เสมอเหมือนกัน ไม่ต้องรอ 1 มกรา ถึงจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือว่าจะแก้ตัวใหม่ เราทำได้ทุกเวลาทุกขณะ ที่จริงถ้าเราตื่นขึ้นมาด้วยใจที่มีสติรู้สึกตัว เปี่ยมไปด้วยกุศล ก็ถือว่าชีวิตใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ทำให้วันนั้นกลายเป็นวันใหม่ และแต่ละวัน ๆ เมื่อกลายเป็นวันใหม่ ก็กลายเป็นปีใหม่ได้ในที่สุด ถึงปีใหม่ใคร ๆ ก็อยากจะได้พร พรที่จะให้ก็คงหนีไม่พ้นจากที่พูด ไปแล้ว เป็นการปิดท้าย “ไร้อนาคต หมดเนื้อหมดตัว ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด” และขอให้พรนี้บังเกิดขึ้นกับเราในที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็ชาตินี้เลย