แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีโยมคนหนึ่งมาปฏิบัติธรรมช่วงเข้าพรรษาที่วัดแห่งหนึ่ง อยู่ได้ประมาณเดือนเศษก็มาปรึกษาว่า ที่วัดของตนไม่ค่อยมีบรรยากาศแห่งความเป็นมิตรเท่าไหร่ ใช้คำว่าบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ก็คือว่าต่างคนต่างอยู่ เช่น พอทำวัตรเสร็จก็ต่างคนต่างขึ้นกุฏิ ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน ไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรร่วมกัน บางคนมีปัญหาก็เก็บไว้ในใจไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ไม่ค่อยมีความสุขกับการปฏิบัติ รู้สึกเหงา เคว้งคว้าง เลยบอกเขาไปว่า สิ่งแวดล้อมจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ ไม่สำคัญเท่ากับเราดูใจของเราเอง ดูใจรักษาใจของเราให้เป็นปกติ คนอื่นจะไม่เป็นมิตรอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สำคัญเท่ากับเราเป็นมิตรกับตัวเองหรือเปล่า
ที่จริงถ้ามองให้ดี การที่ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้มารบกวน ไม่ได้มารังควานเรา ไม่มีคนมาต่อว่าด่าทอเราน่าจะถือเป็นโชคดี เขาอยู่ของเขาไปไม่ได้มายุ่งอะไรกับเรา น่าจะมองว่าเป็นความโชคดีด้วยซ้ำ เพราะบางคนไม่ได้อยู่เปล่า ๆ มีคนมาต่อว่ามีคนมาตำหนิติเตียนอยู่ อันนั้นสิน่าจะทุกข์มากกว่า ไม่มีใครมายุ่งกับเราก็ดีแล้วพูดไปอย่างนี้ เขาตอบมาว่าก็เห็นด้วยในบางส่วน แต่เขาก็ถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นกัลยาณมิตรมีไว้ทำไม ? ที่ถามเช่นนี้ เพราะเธอรู้สึกว่าในวัดที่เธออยู่ไม่ค่อยมีความเป็นกัลยาณมิตรเท่าไหร่ หมายถึงว่าไม่ค่อยมีความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ต่างคนต่างอยู่ ถ้าเช่นนั้นกัลยาณมิตรมีไว้ทำไม ? ก็ตอบไปว่ากัลยาณมิตรมีไว้เพื่อให้เราพึ่งตนเองได้ ถ้าเราพึ่งแต่กัลยาณมิตรจนพึ่งตัวเองไม่ได้ แสดงว่าใช้กัลยาณมิตรไม่ถูก
อันนี้สำคัญพระพุทธเจ้าตรัสว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ หมายความว่าหน้าที่ของกัลยาณมิตรคือช่วยส่งเสริมให้เราได้เข้าสู่การปฏิบัติ แต่สุดท้ายเราก็ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ หน้าที่ของกัลยาณมิตรคือช่วยให้เราพึ่งตัวเองได้ ไม่ใช่พึ่งแต่กัลยาณมิตร มีอะไรก็คาดหวังว่าเขาจะมาช่วยเราอย่างโน้นอย่างนี้ หรือถ้าไม่มีใครมาช่วยเหลือเรา ก็เป็นทุกข์ เขาก็ถามต่อไปว่า แล้วการพึ่งพาแต่กัลยาณมิตรนี่หมายความว่าอย่างไร ที่ถามแบบนี้เพราะอาตมาบอกเขาไปว่า คนเราถ้าพึ่งพาแต่กัลยาณมิตร แต่ไม่รู้จักพึ่งพาตัวเองเสียที ก็เท่ากับว่าใช้กัลยาณมิตรไม่ถูกต้อง พึ่งพาแต่กัลยาณมิตรหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ไปไหน ๆ อยู่ไหนก็ตาม ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรก็รู้สึกเหงารู้สึกว้าเหว่ แสดงว่าเราพึ่งพาเขามากไปแล้ว จะอยู่ไหนก็ต้องมีกัลยาณมิตร ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรจะรู้สึกเคว้งคว้าง เหงา โดดเดี่ยว อ้างว้าง อันนี้เป็นสัญญาณว่า เรามัวพึ่งพาแต่กัลยาณมิตร จนลืมพึ่งพาตัวเอง หรือว่าเวลามีปัญหาอะไร ก็คิดแต่จะให้กัลยาณมิตรช่วย มีปัญหาอะไรก็คิดว่าอยากจะให้เขาแก้ แต่ว่าเราไม่คิดที่จะแก้ตัวเราเอง ไม่คิดที่จะแก้ที่ใจของเรา เรียกว่าพึ่งพาแต่กัลยาณมิตร
อันนี้เป็นปัญหาของคนจำนวนไม่น้อย รวมทั้งนักปฏิบัติธรรมด้วย คือว่าเวลาอยู่ไหนมักจะมีความคาดหวังว่าคนนั้นคนนี้ หรือว่าหมู่คณะจะดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ จะเพียบพร้อม จะมีความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูล จะพูดจาไพเราะ หรือว่ามีความเอาใจใส่ แต่พอเจอสิ่งแวดล้อม หรือเจอผู้คนที่ไม่ได้เป็นไปดังใจก็ทุกข์ ที่ทุกข์เพราะว่าลืมดูใจตัวเอง ไม่ได้คิดที่จะรักษาใจตัวเอง อย่างที่บอกไว้สิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่สำคัญเท่ากับเราดูใจ รักษาใจของเราหรือเปล่า อย่าไปมัวมองคนอื่น อย่าไปมัวคาดหวังคนอื่นจนลืมหน้าที่ของเราเอง คนอื่นเขาจะไม่เป็นมิตรกับเราอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับเราเป็นมิตรกับตัวเราเองหรือเปล่า คนที่ไม่เป็นมิตรกับตัวเอง เวลาอยู่คนเดียว หรืออยู่ท่ามกลางผู้คนที่เขาไม่สนใจ ไม่ใยดีอะไรกับเราเลย จะรู้สึกเหงา รู้สึกเคว้งคว้าง ก็แปลกนะผู้คนเรียกร้องให้คนอื่นมาเป็นมิตรกับเรา หรือมาเป็นกัลยาณมิตรของเรา แต่กลับไม่เป็นมิตรกับตัวเอง แสดงว่าไปมองคนอื่นไปคาดหวังคนอื่นจนลืมหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราอย่างแรก คือเป็นมิตรกับตัวเองให้ได้
ไม่ใช่แค่ดูแลร่างกายของเราเท่านั้น คนส่วนใหญ่เอาแต่ดูแลร่างกายของตัวเอง ดูแลให้สวยให้งาม ดูแลไม่ให้หิว ไม่ให้ปวด ไม่ให้เมื่อย ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ป่วย ไม่ให้ร้อน สิ่งนี้มันก็เป็นหน้าที่ แต่ว่าหน้าที่เราไม่ได้มีแค่นั้น ที่กล่าวไปเป็นหน้าที่แค่อย่างเดียวคือหน้าที่ต่อร่างกาย เรายังมีหน้าที่ต่อจิตใจด้วย และคนที่จะเป็นมิตรกับตัวเองก็ต้องดูแลเอาใจใส่กับจิตใจ รักษาใจไม่ให้ความทุกข์มาบีบคั้นเผาลนจิตใจของเรา แต่ถ้าหากว่ามองข้ามไม่สนใจตรงนี้ไป มันก็จะมัวแต่เรียกร้องคาดหวังจากคนอื่น มาเป็นมิตรกับฉัน มาดูแลฉันดี ๆ มาให้กำลังใจฉัน แต่ว่าจิตใจตัวเองกลับไม่สนใจ กลับไม่รักษา
อีกคนหนึ่งมาปฏิบัติธรรมที่นี่ ตอนปฏิบัติธรรมก็สบายใจดี เพราะว่าห่างไกลจากบ้าน ที่บ้านมีปัญหา ผู้คนในบ้านไม่ค่อยเอื้อเฟื้อเท่าไหร่ มาปฏิบัติธรรมที่นี่ 7 วันก็สบาย ไม่มีเรื่องอะไรที่จะมาทำให้รู้สึกรำคาญ หรือว่าหนักใจ แต่พอกลับไปบ้าน ถึงบ้านแค่วันสองวันก็บ่นแล้วว่า สิ่งแวดล้อมยังเหมือนเดิมเรื่องปัญหาเก่า ๆ ยังมีอยู่ บอกเขาไปว่าสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ หรือสิ่งแวดล้อมมันจะเหมือนเดิมอย่างไรก็ไม่สำคัญ สำคัญว่าใจเราเหมือนเดิมหรือเปล่า ใจเราใหม่กว่าเดิมไหม ใจเราแตกต่างกว่าตอนที่เราอยู่ที่บ้านหรือเปล่าก่อนที่จะมาปฏิบัติ
ไม่พอใจที่สิ่งแวดล้อมยังเหมือนเดิม แต่ว่ากลับไม่พยายามทำให้ใจของตัวเองเป็นใจที่ใหม่ ไม่พอใจที่สิ่งแวดล้อมที่บ้านยังเหมือนเดิม แต่ไม่ได้ดูใจว่า ใจเรายังเหมือนเดิมหรือเปล่า สิ่งแวดล้อมที่บ้านมันเปลี่ยนแปลงยาก ใจเราเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า แต่คนก็ไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจ อยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม อยากจะให้สิ่งแวดล้อมผู้คนที่บ้านเขาเปลี่ยนแปลงกลับมามีน้ำใจ กลับมามีความเอื้อเฟื้อ อันนี้หวังเกินจริงไป แล้วไปคาดหวังในสิ่งที่มันเป็นไปได้ยาก หน้าที่ที่เราควรจะทำกับตัวเอง ไม่ทำ กลับไปเรียกร้อง ไปคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง
ถ้าใจเราใหม่เสียแล้ว สิ่งแวดล้อมมันจะเก่ายังไงแย่กว่าเดิมยังไง มันก็ไม่ทุกข์ ผู้คนมักเรียกร้องให้ คนอื่นเปลี่ยนแปลง แต่ว่าตัวเองไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ที่จริงมาปฏิบัติธรรมก็ถือว่าได้โอกาสแล้ว ได้ช่องทาง เห็นลู่ทางที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ใจตัวเองก่อน เช่น มีมุมมองที่ใหม่ขึ้น หรือว่ามีจิตใจที่รู้ทันโทสะ รู้ทันอาการกระเพื่อมที่เกิดขึ้นเวลาเจอสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกใจ เวลาเกิดความไม่พอใจขึ้น ก็เห็นใจเห็นความยินร้าย ไม่ปล่อยให้ความยินร้ายลุกลามกลายเป็นความหงุดหงิด กลายเป็นความโกรธ การปฏิบัติธรรมต้องก่อให้เกิดประโยชน์แบบนี้กับเรา คือทำให้เรามีใจที่ใหม่ ทำให้เราสามารถเป็นมิตรกับตัวเองได้ ทำให้เราสามารถพึ่งตนเองให้ได้ ไม่ใช่เอาใจไปผูกติดกับสิ่งแวดล้อม คอยคาดหวังกัลยาณมิตร อยากให้คนอื่นเป็นกัลยาณมิตรกับเรา แต่เราไม่เป็นกัลยาณมิตรกับตัวเอง อันนี้มันก็ไม่เข้าท่า
ที่จริงหน้าที่ของกัลยาณมิตรอย่างที่บอกไว้แล้วคือ ต้องช่วยให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ หลายคนเจอกัลยาณมิตร เจอคนดี ๆ เจอเพื่อนที่ดี เจอครูบาอาจารย์ที่ดีแล้วกลับเป็นโทษ คือพึ่งพาเขาติดกัลยาณมิตร ถ้าไปที่ไหนที่ไม่มีคนดี ๆ ไม่มีคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีคนที่เป็นกัลยาณมิตรอันนี้ทุกข์แล้ว คำว่ายึดติด ไม่ว่ายึดติดอะไรก็ตาม มันมีข้อเสียไม่ดีทั้งนั้น ติดสุขก็ไม่ดี ติดสบายก็ไม่ดี ติดกัลยาณมิตรก็ไม่ดี แต่ว่าคนก็มักจะติด เพราะว่าพอเจอคนดี ๆ เข้าก็ชอบ พอเจอคนที่เอื้อเฟื้อไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ เพื่อนร่วมปฏิบัติ เขาดีเราก็พลอยติด ถ้าไม่เจอคนอย่างนั้นในชุมชนอื่นในวัดอื่นก็ไม่สบายใจ อันนี้เรียกว่าใช้กัลยาณมิตรไม่ถูกต้อง คือว่าไม่รู้จักพึ่งตนเองเสียที
พระพุทธเจ้าตรัสไว้นานแล้วว่า ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องพึ่งพาใคร ใหม่ ๆ ก็ต้องพึ่งพาก่อน ตอนเด็ก ๆ เราก็ต้องพึ่งพาพ่อแม่ พ่อแม่ทำให้เราเดินได้ ทำให้เราสามารถที่จะช่วยตัวเองได้ ทีแรกก็ช่วยตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอนหลังก็ทำอย่างอื่นได้มากขึ้น มีครูบาอาจารย์ช่วยทำให้มีวิชาความรู้ ทำให้สามารถทำมาหากินด้วยตัวเองได้ แต่สุดท้ายเราก็ต้องพึ่งตัวเอง เพราะพ่อแม่ต้องจากเราไป ในที่สุด ครูบาอาจารย์ก็ต้องตายจากเราไปในที่สุด หน้าที่ของเราคือพึ่งตัวเองให้ได้ ไม่ใช่แค่พึ่งรายได้ที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเท่านั้น แต่รวมถึงการพึ่งในเรื่องความสุขด้วย คือมีสุขได้ด้วยตัวเอง อยู่คนเดียวก็มีความสุขได้ไม่ต้องมีคนมาเอาอกเอาใจอยู่รอบ ๆ ไม่ต้องมีเพื่อนที่พูดดีทำดีกับเราก็ได้ ก็อยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการเป็นมิตรกับตัวเองให้ได้นี้สำคัญมาก
จะไปในที่ที่มีกัลยาณมิตรอันนี้ก็ดีอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การอยู่ในประเทศที่สมควรข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด ประเทศอันสมควรคือประเทศที่มีกัลยาณมิตร มีเพื่อน มีคนเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีครูบาอาจารย์ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเติบโต ไม่ใช่ยังเป็นเด็กเหมือนเดิม เมื่อเราเติบโตคือเราพึ่งตัวเองได้ เป็นมิตรกับตัวเองได้ และเป็นเรื่องสำคัญนะการเป็นมิตรกับตัวเอง เพราะว่าสุดท้ายแล้ว เราก็ไม่มีที่พึ่งพาอาศัย นอกจากตัวเองจะไปคาดหวังให้ใครต่อใครมาเป็นมิตรกับเรา มาเอื้อเฟื้อกับเรา มันเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพราะว่าคนเหล่านั้นในที่สุดก็ต้องตายจากเราไป ส่วนคนใหม่ที่จะมาแทนที่ อาจจะไม่เป็นมิตรกับเรา อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ต่อไปร่างกายนี้ก็จะกลับมาเป็นศัตรูกับเรา ไม่เป็นมิตรกับเราแล้วในอนาคต ตอนที่ร่างกายมันมีโรคมีภัยที่เคยให้ความสุขกับเรา กลายเป็นให้ความทุกข์ให้ความเจ็บปวดกับเรา แล้วคนที่ไปคาดหวังมิตรจากคนรอบตัว มักลืมไปว่าสักวันหนึ่งร่างกายนี้ก็จะไม่เป็นมิตรกับเรา
เมื่อวาน ก่อนที่จะกลับมาที่นี่ ก็ไปเยี่ยมโยมคนหนึ่งที่บ้านตาดรินทองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก่อนเข้าพรรษายังใส่บาตรอยู่เลย ผ่านไปแค่เดือนเศษ ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายนอนซมปวดที่ท้อง ร่างกายก็แย่ ทนอยู่ในสภาพนี้เป็นเดือน แล้วก็ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน เรียกว่ากำลังจะตาย นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ คือป่วยด้วยโรคร้ายแล้วก็ค่อย ๆ ตายทีละนิด ๆ จะมีความเจ็บปวดคอยบีบคั้นทิ่มแทงจิตใจ ร่างกายที่เคยพาเราไปเที่ยว เคยพาเราไปกินของอร่อย พาเราไปฟังเพลง พาเราไปดูหมอลำดูหนังดูละคร พาเราไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ วันดีคืนดีมันกลับแปรเปลี่ยนไป เป็นเสมือนหอกข้างแคร่ของเรา เป็นที่มาของความเจ็บความปวดความทุกข์ทรมาน บางคนไปมองว่าร่างกายมันทรยศกับฉัน เคยให้ความสุขกับฉัน ตอนนี้มาเป็นศัตรูกับฉัน เสียแล้ว อันนี้คือความจริงที่ทุกคนต้องเจอ
ถ้าเราไม่รู้จักที่จะเป็นมิตรกับตัวเอง โดยเฉพาะการรักษาใจให้ดี ไปคอยเรียกร้องความเป็นมิตร จากคนนั้นคนนี้ สุดท้ายแม้กระทั่งร่างกายนี้ก็หวังความเป็นมิตรจากมันไม่ได้ ที่จริงร่างกายก็ส่งสัญญาณอยู่ เป็นระยะ ๆ อย่างเช่นเวลาเรานั่งนาน ๆ มันก็ปวดก็เมื่อย บางคนปวดเมื่อยจนทนไม่ได้ บางทีมันก็ปวดหนัก ปวดเบา มันส่งสัญญาณมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว แต่หลายคนก็คิดว่าไม่เป็นไร ปวดเมื่อยฉันก็เขยื้อนขยับเดี๋ยวก็หาย ปวดหนักปวดเบาเข้าห้องน้ำเดี๋ยวก็หาย ปวดหัวตัวร้อนกินยาคิดว่าจัดการได้ แต่ลืมไปว่ามาถึงจุดหนึ่งมันจะปวดตลอดเวลา เขยื้อนขยับไปไหนความปวดก็ตามไป จะมาวัดมันก็ตามมาถึงวัด
ไม่ใช่ว่าเจอคนไม่ชอบที่บ้านเราก็หนีมาวัดอันนี้สบายใจ เจอคนไม่น่ารักที่วัดนี้ ก็ย้ายไปวัดอื่นสบายใจหนีได้ แล้วทุกคนก็ใช้วิธีหนีไปตลอด เวลาร่างกายมันเจ็บป่วยก็กินยาหาย แต่มาถึงจุดหนึ่งสิ่งที่ไม่ถูกใจไม่พอใจ เราหนีไม่พ้น จะย้ายไปไหนจะหนีไปจากบ้านมาวัด หนีจากวัดไปบ้าน หนีข้ามประเทศ ความปวดความทุกข์ทรมานก็ยังตามติดตัวไป เพราะมันเกิดขึ้นกับกาย แล้วทีนี้จะทำยังไง ความทุกข์ทรมานมันตามเราไปตลอด ถึงตอนนั้นต้องอาศัยใจ ถ้าเรามีใจเป็นเพื่อนเราฝึกใจอยู่เสมอ แม้กายจะปวดยังไงใจก็ไม่ปวด ต้องระวัง ต้องคิดอยู่เสมอ อย่าประมาท จะไปเรียกร้องให้อะไรต่ออะไรมันถูกใจเราเป็นมิตรกับเรา ถ้าตรงไหนไม่เป็นมิตร เราหนีไปหาที่ที่เป็นมิตร คนนี้ประมาทมากเลย เพราะในที่สุดแล้วหนีไม่พ้น ความไม่เป็นมิตรมันตามติดเราไปตลอด เพราะร่างกายกลายเป็นศัตรูกับเราไปเสียแล้ว จะว่าเขาเป็นศัตรูก็ไม่ได้ มันก็เป็นธรรมดาของเขา เหมือนบ้านที่แข็งแรง แล้วสักวันหนึ่งก็ต้องผุพังไป
ที่จริงน่าจะสงสารเขาเห็นใจเขา เพราะว่าเขาก็รับใช้เรามานาน แทนที่จะเกลียดโกรธร่างกายนี้ ที่มันกลายมาเป็นตัวทุกข์ หรือสร้างความทุกข์ให้กับเรา ต้องสงสารเห็นใจและขอบคุณเขา อย่างที่พูดไป เมื่อวาน เขาจะเป็นยังไงก็เป็นเรื่องของเขา หน้าที่เราคือตอบแทนบุญคุณเขา กตัญญูรู้คุณเขา ร่างกายนี้เคยดี กับเรามาก่อน แล้ววันหนึ่งหรือในวันข้างหน้ามันจะไม่ดีกับเรา เหมือนพระที่พูดเมื่อวานนี้ตอนหลังก็สึกไปกลายเป็นขี้เหล้านั่นเป็นเรื่องของเขา ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน วันดีคืนดีกลายเป็นมะเร็ง กลายเป็นโทษเสียแล้ว ก็อย่าไปโกรธเขามันเป็นเรื่องของเขา หน้าที่เราคืออะไร หน้าที่เราคือขอบคุณเขา สำนึกในบุญคุณของเขา แผ่เมตตาให้เขาไป อันนี้เป็นหน้าที่ต่อกาย อย่าไปเกลียดเขา
ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ต่อใจเราด้วย คือรักษาใจอย่าให้ทุกข์ กายจะทุกข์ยังไง ใจก็ไม่เจ็บไม่ปวด นี่ต้องฝึก จะทำอย่างนี้ได้ต้องฝึกตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เจอสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกใจ เจอคนที่ไม่น่ารักก็ไม่ว่าอะไร ถือว่าเขามาเป็นครูสอนเรา ให้เรารู้จักดูแลใจของเรา ให้เรารู้จักรักษาใจของเรา ไม่ใช่ไปเรียกร้องเขาให้ดีกับเราอย่างโน้น ให้ดีกับเราอย่างนี้ หรือหนีไปที่อื่นที่มันจะถูกใจเรา ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เราจะรู้จักรักษาใจของเราได้อย่างไร เรียกร้องแต่สิ่งแวดล้อมให้เปลี่ยนแปลง เรียกร้องแต่คนอื่นให้เขาเปลี่ยนแปลง แต่ใจเราไม่เปลี่ยน ใจเราไม่พัฒนา ถึงเวลาที่เราต้องเจ็บต้องป่วยหนีไม่พ้นแล้ว ทีนี้จะทำยังไง การที่สิ่งแวดล้อมมันไม่ถูกใจเรา บ้านมีปัญหา วัดไม่มีความเป็นกัลยาณมิตร ถือว่าเขามาฝึกเรา มาฝึกให้เราดูแลจิตใจให้ดี ให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อะไรจะเปลี่ยน อะไรมันจะย่ำแย่ยังไงก็ตาม แต่ว่าใจเราเป็นปกติได้เป็นปกติอยู่เสมอ วิชานี้สำคัญมาก เพราะทำให้เราเป็นสุขได้ทุกที่ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเจ็บต้องป่วย เราก็ยังมีใจที่เป็นปกติสุขได้
เมื่อกี้ก็เพิ่งสวดไปว่า สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยงมีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือว่าทำเผื่อให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มองไปไกล ๆ แบบนี้บ้าง ไม่ใช่มองเพื่อให้กลัว แต่มองเพื่อให้เราได้ตระเตรียม เพื่อให้เรารู้ว่า วันข้างหน้านี่มีการบ้านชิ้นใหญ่รออยู่ มีบททดสอบที่เรียกร้องให้เราต้องรู้จักพึ่งตนเองให้ได้ มันเป็นการบ้านที่เรียกร้องให้เราต้องรักษาใจตัวเองให้ได้ พอถึงวันนั้นสังขารร่างกายนี้จะแปรเปลี่ยนไป จะเต็มไปด้วยความเจ็บ ความป่วย ความทุกข์ทรมาน หนีไม่พ้นแล้ว แต่ก่อนหนีพ้น มีอะไรไม่ถูกใจก็หนีตลอดเวลา หรือไม่ก็เรียกร้องให้เขาเปลี่ยนแปลงให้ถูกใจเรา แต่มาวันหนึ่งมันจะ หนีไม่พ้น ถ้าเราไม่รู้จักพึ่งตนเอง ไม่รู้จักรักษาใจของตัวเองก็จะทรมาน ไม่ใช่มีแต่ความเจ็บความปวด ไม่ใช่มีทุกขเวทนาเท่านั้น จะทุกข์ทรมานด้วย
มีทุกขเวทนาแต่ไม่ทุกข์ทรมานนี่ทำได้ ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องของใจ กายมันจะมีทุกขเวทนาอย่างไร ใจก็ไม่ทุกข์ทรมาน ไม่ต้องคิดไปไกลถึงนิพพานหรอก บางคนก็ไม่ได้สนใจนิพพานหรือความพ้นทุกข์ แต่ว่าอย่างน้อยก็คิดไปให้ถึงจุดที่ว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องตาย หนีไม่พ้นแล้ว ทำยังไงเราถึงจะอยู่กับมันได้ ทำยังไงจะอยู่กับความเจ็บความปวดได้ โดยที่ใจไม่ทุกข์ ก็ต้องฝึก กับการอยู่กับชุมชนสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกใจเรา ไม่ถูกใจเราก็ไม่เป็นไรเราก็อยู่ได้ ผู้คนไม่เป็นกัลยาณมิตร ไม่เป็นไร เราก็อยู่ได้ แล้วอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วย สิ่งแวดล้อมมีปัญหายังไง ไม่เป็นไรเราอยู่ได้ หรือเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้
ถ้าอยู่กับมันได้นี่ ถึงเวลาที่ความทุกข์มันติดตามเราไป เพราะว่าร่างกายเจ็บป่วย เพราะความแก่ชรา เพราะความพิกลพิการเราก็ไม่ทุกข์ ใจอยู่ได้กับมัน อันนี้แหละเรียกว่าพึ่งตัวเอง ยิ่งสามารถฝึกใจจนเห็นสัจธรรมความจริง จนกระทั่งไม่มีความยึดติดถือมั่นได้ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ถึงตรงนั้นก็จะไม่รู้สึกว่าร่างกายนี้มันทิ่มแทงเรา เพราะว่าปล่อยวางร่างกายนี้แล้ว ปล่อยวางแม้กระทั่งทุกขเวทนา ไม่ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ใจก็เป็นปกติ ผ่องใสอยู่ได้